(๓๘) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 30 กันยายน 2010.

  1. anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๔๖
    บรรยายวันจันทร์ทีี่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๐๖
    เรื่อง

    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า จิตตานุปัสสนา)
    (^)(^)(^)


    วันนี้จะได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐานวว่าด้วยจิตตานุปัสสนาสืบต่อไป

    ถ. จิตตานุปัสสนา แปลและหมายความว่าอย่างไร?

    ต. แปลว่า ปัญญาตามพิจารณาเห็นจิต หมายความว่า อารมณ์ของวิปัสสนานั้นมีอยู่ ๔ อย่าง คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เฉพาะในที่นี้ได้แก่ผู้ปฏิบัติธรรม ใช้สติกำหนดจิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จิตมีราคะ จิตปราศจากราคะ เป็นต้น จนเห็นจิตนั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดนิพพิทา วิราคะ วิมุติ หลุดพ้นจากอาสวกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน

    ถ. คำว่า จิต กับ วิญญาณ ต่างกันหรือเหมือนกัน?

    ต. ต่างกันแต่ตัวหนังสือเท่านั้น ส่วนใจความเป็นอันเดียวกัน

    ถ. คำว่า จิต หมายความว่าอย่างไรบ้าง?

    ต. หมายความได้หลายอย่าง เช่น
    ๑. จิต หมายความว่า คิดอารมณ์ รู้อารมณ์

    ๒. จิต หมายความว่า สังคม คือ สั่งสมบุญและชั่ว เช่นสั่งสมกิเลส ๑๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘ และสั่งสมบุญ เช่นกามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล โลกุตตรกุศล

    ๓. จิต หมายความว่า วิจิตร เพราะจิตวิจิตรจึงมีสัญญาคือความจำสิ่งต่างๆ ไว้ เพราะสัญญาวิจิตรจึงมีตัณหา ๑๐๗ เพราะตัณหาวิจิตร จึงมีกรรมต่างๆ เช่น กรรมดี กรรมชั่ว เพราะความวิจิตรแห่งกรรมดี กรรมชั่วที่ตนทำไว้นั้นเป็นเหตุ จึงมีกำเนิด เพราะกำเนิดคือที่เกิดอันวิจิตร หมู่สัตว์จึงมีมากมายเหลือล้นพ้นประมาณ

    ถ. จิตมีเท่าไร อะไรบ้าง?

    ต. จิตมี ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวงคือ
    กามาวจรจิต คือจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามภูมิ มี ๕๔ ดวง
    รูปาวจรจิต คือจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูปภูมิ มี ๑๕ ดวง
    อรูปาวจรจิต คือจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปภูมิ มี ๑๒ ดวง
    โลกุตตรจิต คือ จิตเหนือโลก มี ๘ หรือ ๔๐ ดวง
    ถ. จิตที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน ในมหาสติปัฏฐานนั้น มีเท่าไรอะไรบ้าง?

    ต. เมื่อจะกล่าวตามหัวข้อใหญ่ๆ แล้วมีอยู่ ๑๖ อย่างคือ
    ๑. สราคจิต แปลว่า จิตที่มีราคะ ได้แก่ โลภ มูลจิต ๘ ดวง
    ๒. วีตราคจิต แปลว่า จิตปราศจากราคะ ได้แก่ กุศลจิต ๑๗ ดวงกับวิบากจิต ๓๒ ดวง
    ๓. สโทสจิต แปลว่าจิตมีดทสะ ได้แก่โทสมูลจิต ๒ ดวง
    ๔. วีตโทสจิต แปลว่า จิตปราศจากโทสะ ได้แก่ กุศลจิต ๑๗ ดวง กับวิบากจิต ๓๒ ดวง
    ๕. สโมหจิต แปลว่า จิตปราศจากโมหะ ได้แก่ โมหมูลจิต ๒ จิต
    ๖. วีตโมหจิต แปลว่า จิตปราศจากโมหะ ได้แก่ กุศลจิต ๑๗ ดวง กับวิบากจิต ๓๒ ดวง
    ๗. สังขิตตจิต แปลว่า จิตหดหู่ เซื่องซึม ท้อถอยจากอารมณ์ ได้แก่จิตมีถีนะและมิทธะ
    ๘. วิกขิตตจิต แปลว่า จิตฟุ้งซ่าน ได้แก่จิตที่สหรคตด้วยอุทธัจจะ
    ๙. มหัคคตจิต แปลว่า จิตถึงความเป็นใหญ่ ได้แก่รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต
    ๑๐. อมหัคคตจิต แปลว่า จิตไม่ถึงความเป็นใหญ่ ได้แก่ กามาวจรจิต
    ๑๑. สอุตตรจิต แปลว่า จิตที่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ได้แก่ กามาวจรจิต
    ๑๒. อนุตตรจิต แปลว่า จิตที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ได้แก่ รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต แม้ในจิตทั้ง ๒ อย่างนั้น ในอรรถกถามหาสติปัฏฐาน ท่านแก้ไว้ว่า
    รูปาวจรจิต จัดเป็นสอุตตรจิต
    อรูปาวจรจิต เท่านั้นจัดเป็นอนุตตรจิต

    ๑๓. สมาหิตจิต แปลว่า จิตตั้งมั่น ได้แก่ จิตเป็นอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ
    ๑๔. อสมาหิตจิต แปลว่า จิตไม่ตั้งมั่น ได้แก่ จิตเว้นจากสมาธิทั้ง ๒ นั้นคือเว้นจากอุปจารสมาธิ เว้นจากอัปปนาสมาธิ
    ๑๕. วิมุตตจิต แปลว่า จิตที่หลุดพ้น ได้แก่จิตที่หลุดพ้นด้วยตทังควิุมุติ และวิกขัมภนวิมุติเท่านั้น มิได้หมายความถึงสมุจเฉทวิมุติ ปฏิปัสสัทธิวิมุติ และนิสสรณวิมุติเลย
    ๑๖. อวิมุตตจิต แปลว่า จิตไม่หลุดพ้น ได้แก่ จิตที่ปราศจากทังควิมุติและปราศจากวิกขัมภนวิมุติทั้ง ๒ อย่างนั้น
    ถ. เมื่อจิตทั้ง ๑๖ อย่างนี้เกิดขึ้นจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร จึงจะถูกต้องตามหลักของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน?

    ต. ให้มีสติกำหนดรู้ เช่นจิตมีราคะ ก็ให้รู้ชัดว่า จิตมีราคะ สมดังพระบาลีที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ได้ตรัสไว้ว่า สราคํ วา จิตฺตํ สราคํ จิตฺตนุติ ปชานาติ จิตที่มีราคะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีราคะ

    ถ. ในเวลาปฏิบัติจริงๆ จะต้องภาวนาว่าอย่างไร ในเมื่อราคะหรือโทสะเกิดขึ้นจึงจะได้ผลดี?

    ต. ให้ภาวนาโดยวิธีที่จะัทันอารมณ์ปัจจุบัน เช่นภาวนาว่า ราคะหนอๆ ปักสติลงไปที่หทยวัตถุ เรียกว่า โยนิโสมนสิการ ทำไว้ในใจจนถึงที่เกิดของจิต ถ้าโทสะเกิดขึ้น ก็ให้ภาวนาว่า โกรธหนอๆปักสติลงไปที่หทยวัตถุเช่นเดียวกัน

    ถ. เมื่อปฏิบัติถูกต้องตามหลักนี้ จะได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง?

    ต. ได้ผลตามขั้นของศีล สมาธิ ปัญญา คือถ้าศีล สมาธิ ปัญญาแก่กล้า สามารถจะเห็นความเกิดดับของราคจิต โทสจิต ได้เป็นอย่างดี เมื่อเห็นความเกิดดับแล้ว ถ้าเพียรพยายามทำต่อๆ ไปสามารถจะเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมาโดยลำดับๆ จนถึงมรรคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณได้ ถ้ายังไม่ถึงก็จะทำให้ผู้นั้นได้ตทังควิมุติ วิกขัมภนวิมุติ คือมีจิตหลุดพ้นจากกิเลสด้วยองค์ของพระกรรมฐานนั้น และหลุดพ้นด้วยการข่มไว้ด้วยอำนาจของขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

    ถ. คนที่เอาความโกรธเป็นอารมณ์ ตายแล้วจะไปไหน?

    ต. ไปมนุษย์ก็ได้ ไปสวรรค์ก็ได้ ไปพรหมโลกก็ได้ ไปนิพพานก็ได้ ทั้งนี้สุดแท้แต่กำลังของการปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา หมายความว่า ผู้นั้นเอาความโกรธเป็นอารมณ์ของพระกรรมฐาน ตามพระพุทธพจน์ที่สมเด็จพระบรมสุคตได้ตรัสไว้ว่า
    สโทสํ วา จิตฺตํ สโทสํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ
    จิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโทสะ ดังนี้

    เมื่อกำหนดถูกต้องตามหลักนี้ แน่นอนแล้ว ก็จะได้ผลดังนี้คือ
    ๑. ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมนั้น เกิดความโกรธขึ้นมา เมื่อภาวนาว่า "โกรธหนอๆ" ความโกรธนั้นจะเบาลงๆ จนหายไป ใจของผู้นั้นเป็นกุศลเกิดขึ้น เพราะมีสติ สติเป็นคู่ปรับกับโลภะ โทสะ โมหะ เมื่อมีสติแล้ว กิเลสคือโลภะ โทสะ โมหะ ไม่เกิดขึ้นอุปมาเหมือนกันกับแสงสว่างกับความมืด เมื่อมีแสงสว่างแล้วมืดไม่มี เมื่อมีมืดแล้วแสงสว่างไม่มี เพราะฉะนั้น ถ้าตายด้วยจิตที่มีกำลังมีสติอย่างนี้ อย่างต่ำก็ไปเกิดเป็นมนุษย์ได้ อย่างสูงก็ไปเกิดเป็นเทวดาได้

    ๒. ถ้าความโกรธเกิดขึ้น ผู้นั้นพิจารณาโทษของความโกรธแล้ว เจริญเมตตากรรมฐาน แผ่เมตตาจิตไปในตน ในคนอื่น ในทิศทั้ง ๔ ในทิศทั้ง ๘ ในทิศทั้ง ๑๐ จนได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน เป็นต้น ตายแล้วไปพรหมโลก

    ๓. ถ้าความโกรธเกิดขึ้น ใช้สติกำหนดความโกรธนั้น จนเห็นความโกรธดับลงไปอย่างแน่ชัด แล้วเกิดนิพพิทา วิราคะ วิมุติ หลุดพ้นจากกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ผู้นั้นก็ไปสู่พระนิพพาน

    แต่ถ้าผู้นั้นไม่ได้เอาความโกรธเป็นอารมณ์ของพระกรรมฐาน มีแต่เป็นไปในอำนาจของความโกรธฝ่ายเดียวก็มีหวังไปอบายภูมิได้ คือไปตกนรกได้

    ถ. ข้อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิตในภายใน เห็นจิตในจิตในภายนอก เป็นต้นนั้น หมายความว่าอย่างไร?

    ต. หมายความว่า เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมกำหนดพิจารณาจิตของตนเองอยู่บ่อยๆ อย่างนี้ สามารถจะรู้ชัดซึ่งความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แห่งจิตของตนได้ดี เมื่อรู้จิตของตนได้ดีแล้วก็สามารถรู้จิต ของคนอื่นได้ดีเช่นเดียวกัน และบางครั้งก็รู้จิตของตนบางครั้งก็รู้จิตของคนอื่น เพราะฉะนั้น จึงสรุปใจความได้ดังนี้ คือ
    ๑. ข้อว่า "พิจารณาเห็นจิตในจิตในภายใน" ได้แก่ พิจารณาเห็นจิตของตน
    ๒. ข้อว่า "พิจารณาเห็นจิตในจิตในภายนอก" ได้แก่ พิจารณาเห็นจิตของคนอื่น
    ๓. ข้อว่า "พิจารณาเห็นจิตทั้งภายในทั้งภายนอก" ได้แก่ บางครั้งพิจารณาเห็นจิตของตน บางครั้งพิจารณาเป็นจิตของคนอื่น
    ถ. ข้อว่า "พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น พิจารณาเห็นความเสื่อมไป พิจารณาเห็นทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในจิต" นั้น หมายความว่าอย่างไร?

    ต. ข้อนี้หมายความได้ ๒ อย่าง คือ ทางปริยัติและทางปฏิบัติ
    ก. ทางปริยัติ หมายความว่า พิจารณาเห็นว่า จิตนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุ ๕ ประการคือ อวิชชา ตัณหา กรรม นามรูป และความเกิดขึ้นของจิตอย่างเดียว และจิตนี้จะดับไปก็เพราะเหตุ ๕ ประการดับ คือ อวิชชา ตัณหา กรรม นามรูป และความดับไปของจิตอย่างเดียว

    ข. ทางปฏิบัติ หมายความว่า ผู้นั้นได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน มีวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมาโดยลำดับๆ นับตั้งแต่อุทยัพยญาณ เป็นต้นไป
    ถ. ข้อว่า อยู่อย่างไม่มีอะไรอาศัยนั้น หมายความว่าอย่างไร?

    ต. หมายความว่า ไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิ อาศัยอยู่ เพราะผู้นั้น ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานละตัณหา มานะ ทิฏฐิได้แล้ว

    ถ. ข้อว่า ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกนั้น หมายความว่าอย่างไร?

    ต. หมายความว่า ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นจิตว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขาเพราะละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เป็นต้นได้แล้ว

    ถ. ปฏิบัติดังที่บรรยายมานี้ จะชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิตได้เต็มที่แล้วหรือยัง มีอะไรเป็นหลักอ้าง?

    ต.ชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตใจในจิตได้อย่างเต็มที่แล้ว มีพระบาลีในมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นหลักอ้างว่า
    เอวํ โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ
    ดูกรท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร มีปกติพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เนืองๆ ด้วยอาการดังที่ได้บรรยายมาด้วยประการฉะนี้
    ถ. การพิจารณาจิตจัดเป็นอริยสัจ ๔ ได้อย่างไร?

    ต. จัดเป็นอริยสัจ ๔ ได้อย่างนี้คือ
    ๑. จิตฺตปริคฺคาหิกา สติ ทุกฺขสจฺจํ สติที่กำหนดรู้จิต จัดเป็นทุกขสัจ
    ๒. ตสฺสา สมุฏฺฐาปิกา ปุริมตณฺหา สมุทยสจิจํ ตัณหาก่อนๆ ที่ยังสตินั้นให้เกิดขึ้นจัดเป็นสมุทยสัจ
    ๓. อุภินฺนํ อปฺปวตฺติ นิโรธสจฺจํ ความไม่เป็นไปแห่งทุกข์ กับสมุทัย คือทุกข์กับสมุทัยดับลงไป จัดเป็นนิโรธสัจ
    ๔. ทุกฺขปริชานโน สมุทยปชหโน นิโรธารมฺมโณ อริยมคฺโค มคฺคสจฺจํ อริยมรรคกำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย มีนิโรธ คือนิพพานเป็นอารมณ์ จัดเป็นมัคคสัจ

    วันนี้ ได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐานสูตรว่าด้วยจิตตานุปัสสนามาก็นับว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่านี้.

    ;aa40


     

แชร์หน้านี้