‘ครูบาคติใหม่’ การอ้างอิงจากบารมีและศรัทธา ของ ‘ครูบาศรีวิชัย

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 11 กุมภาพันธ์ 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    0b884e0b895e0b8b4e0b983e0b8abe0b8a1e0b988-e0b881e0b8b2e0b8a3e0b8ade0b989e0b8b2e0b887e0b8ade0b8b4.jpg
    ครูบาศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนา
    ที่มา หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
    ผู้เขียน ณัฐริยา อินนุ่มพันธ์
    เผยแพร่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562

    คติความเชื่อหนึ่งในวัฒนธรรมด้านศาสนาท้องถิ่นล้านนาคือ ภาพของโพธิสัตว์ถูกแทนที่ด้วยลักษณะของพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามฐานคติความเชื่อทางวัฒนธรรมอย่างเคร่งครัดพระสงฆ์ผู้มีบารมีเหล่านั้นจะถูกขนานนามว่า “ตนบุญ”

    “ตนบุญแห่งล้านนา” คือ การเรียกขานอย่างยกย่องแก่ครูบาศรีวิชัย (พ.ศ.2421-81) พระสงฆ์ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของภาคเหนือทั้งทางการเมืองและการศาสนา

    ดังนั้น ใน พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ครบ 80 ปี การมรณภาพของครูบาศรีวิชัย และ 140 ปี ชาตกาลของท่าน จึงเป็นวาระที่สำคัญสำหรับผู้คนในภาคเหนือ หลายหน่วยงานได้จัดกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมทางวิชาการ เพื่อร่วมรำลึกถึงครูบาศรีวิชัย

    884e0b895e0b8b4e0b983e0b8abe0b8a1e0b988-e0b881e0b8b2e0b8a3e0b8ade0b989e0b8b2e0b887e0b8ade0b8b4-1.jpg
    ภาพครูบาศรีวิชัยเดินทางกลับจากในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ (ภาพจากประวัติย่อและผลงานของครูบาศรีวิชัย : สำนักพิมพ์ช้างเผือก)

    ขณะเดียวกันก็พบว่า “พระสงฆ์” จำนวนหนึ่งที่พยายามเชื่อมโยงและอ้างอิงตัวเองกับภาพลักษณ์ครูบาศรีวิชัยเป็นภาพลักษณ์ของตัวเอง ที่รู้จักกันทั่วไปในภาคเหนือว่า “ครูบาอุ๊กแก๊ส” หรือ “ครูบาคติใหม่”

    เกี่ยวกับเรื่องนี้ ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว ได้ศึกษาค้นคว้าทำเป็นวิทยานิพนธ์ชื่อ “การศึกษากระแส ‘ครูบาคติใหม่’ ในภาคเหนือของไทย พุทธทศวรรษ 2530-2550” เมื่อนำมาปรับเป็นบทความชื่อ “140 ปีชาตกาลครูบาศรีวิชัย : จากครูบาศรีวิชัยสู่กำเนิด ‘ครูบาคติใหม่’ ในปัจจุบัน” เผยแพร่ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เนื้อหาจึงเข้มข้นและหนักแน่นในหลักฐาน

    บทบาทสำคัญของครูบาศรีวิชัยที่สร้างศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนล้านนาที่ผ่านมาผู้เขียน (ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว) สรุปเป็น 2 ประเด็นสำคัญ คือ

    1.บทบาทในทางพุทธศาสนาและความเชื่อท้องถิ่น ครูบาศรีวิชัยท่านมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดกว่าพระสงฆ์ทั่วไป เช่น การฉันอาหารมื้อเดียวและเว้นการฉันเนื้อสัตว์ ให้ความสำคัญกับการถือสันโดษและศีลวินัย การก่อสร้างและบูรณะพุทธสถานที่สำคัญๆ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือมากมาย (เช่น พระธาตุดอยสุเทพ-เชียงใหม่ พระธาตุดอยตุง-เชียงราย พระธาตุหริภุญชัย-ลำพูน ฯลฯ) ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะเด่นที่ทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาต่อตัวครูบาศรีวิชัย ซึ่งสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องการกำเนิดตนบุญหรือพญาธรรมิกราช ที่เชื่อกันว่าจะลงมาช่วยค้ำจุนพระพุทธศาสนา

    2.บทบาทในทางการเมือง แรงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อครูบาศรีวิชัยจำนวนมาก เกิดเป็นแรงสั่นสะเทือนของอำนาจรัฐ ที่พยายามผนวกอาณาจักรล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม และคณะสงฆ์กลาง ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 โดยกำหนดให้พระสงฆ์ฝ่ายปกครองต้องได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง เปลี่ยนโครงสร้างการปกครองสงฆ์ท้องถิ่นใหม่ พระอุปัชฌาย์ที่สามารถบวชให้กับผู้คนได้ต้องแต่งตั้งจากส่วนกลาง นั่นทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นอุปัชฌาย์เถื่อนในทันที

    เพราะสยามเองก็ว่าด้วยบารมีของท่านจะทำให้เกิดการซ่องสุมผู้คน ตั้งตนเป็นผีบุญต่อสู้กับอำนาจรัฐเช่นที่เกิดในพื้นที่อีสาน และด้วยลักษณะของการเป็นตนบุญของครูบาศรีวิชัยจึงทำให้ท่านถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลสยาม จนต้องอธิกรณ์ข้อกล่าวหาว่า อ้างตนเป็นผู้วิเศษด้วยมนต์คาถาพยายามตั้งตนเป็นผีบุญ ซ่องสุมผู้คนและไม่ยอมปรองดองกับคณะสงฆ์

    [​IMG] [​IMG]

    ด้วยคุณูปการที่โดดเด่นของครูบาศรีวิชัยในอดีต ทำให้ท่านเป็นตัวแทนพลังทางสังคมของวัฒนธรรมล้านนาในการต่อรองอำนาจรัฐ และกลายเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญทางพุทธศาสนาแบบล้านนาสู่การเป็นตัวอย่างให้พระสงฆ์ในปัจจุบันที่พยายามปฏิบัติตามภาพลักษณ์ของครูบาศรีวิชัย

    884e0b895e0b8b4e0b983e0b8abe0b8a1e0b988-e0b881e0b8b2e0b8a3e0b8ade0b989e0b8b2e0b887e0b8ade0b8b4-2.jpg
    อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยที่ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่
    884e0b895e0b8b4e0b983e0b8abe0b8a1e0b988-e0b881e0b8b2e0b8a3e0b8ade0b989e0b8b2e0b887e0b8ade0b8b4-3.jpg
    ภาพครูบาศรีวิชัยคณะลูกศิษย์และประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาที่แผ้วถางป่าดง (ภาพจากประวัติย่อและผลงานของครูบาศรีวิชัย : สำนักพิมพ์ช้างเผือก)

    การค้นคว้าของ ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว พบว่า ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา เริ่มมีการก่อตัวของคติความเชื่อเรื่องครูบาในแบบใหม่เกิดขึ้น จากกระแสการผลิตซ้ำและการสร้างภาพลักษณ์แบบครูบาศรีวิชัย

    ความเป็นครูบาศรีวิชัยถูกนำมาลอกเลียนแบบเพื่อเป้าหมายใหม่ ด้วยวิธีการคัดลอกและสร้างภาพลักษณ์ จะมีหลักๆ ด้วยกัน 4 ประการ คือ การให้ภาพลักษณ์ของการเป็นตนบุญผู้วิเศษ การให้ภาพลักษณ์การเป็นพระนักพัฒนา การให้ภาพลักษณ์ของการเป็นพระผู้ธำรงรักษาความเป็นจารีตล้านนา และการให้ภาพลักษณ์ในการแต่งกาย

    พระสงฆ์ในปัจจุบันหลายรูปพยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์ของตนเองเข้ากับครูบาศรีวิชัย ด้วยการคัดลอกลักษณะคุณสมบัติครูบาศรีวิชัยสู่ครูบาคนใหม่ เช่น การกล่าวถึงมุขปาฐะของครูบาศรีวิชัยที่เคยกล่าวไว้ว่า “หากน้ำปิงไม่ไหลย้อนขึ้นทางเหนือจะไม่ขอกลับไปเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่” มีพระสงฆ์บางรูปใช้เชื่อมโยงตนเองกับครูบาศรีวิชัยในลักษณะว่าครูบาศรีวิชัยกลับมาเกิดใหม่ เพราะวันเกิดของพระสงฆ์รูปนั้น (20 กุมภาพันธ์ 2508) ตรงกับวันมรณภาพของครูบาศรีวิชัย (20 กุมภาพันธ์ 2481) โดยนำเอาเรื่องการสร้างเขื่อนภูมิพลที่แล้วเสร็จในปี 2507 ทำให้แม่น้ำปิงไหลท่วมย้อนกลับไปทางเหนือได้ เป็นเหตุผลให้การกลับชาติมาเกิดจึงเป็นปี 2508

    นอกจากนี้ยังมีการสร้างภาพทดแทนลักษณะครูบาศรีวิชัย ทั้งทางรูปธรรมและนามธรรมแทน เช่น หนังสือ เพลง อนุสาวรีย์ ภาพถ่าย เครื่องราง เป็นต้น

    การผลิตซ้ำของสิ่งเหล่านี้เป็นการตอกย้ำความคงอยู่ ทั้งตัวตน ชื่อเสียง ของครูบาศรีวิชัย

    884e0b895e0b8b4e0b983e0b8abe0b8a1e0b988-e0b881e0b8b2e0b8a3e0b8ade0b989e0b8b2e0b887e0b8ade0b8b4-4.jpg
    ภาพการลอกเลียนแบบลักษณะการแต่งกายของครูบาศรีวิชัย

    วันนี้แม้ครูบาศรีวิชัยมรณภาพกว่า 80 ปี หากความเคารพศรัทธาของผู้คนทั้งในอดีตยังไม่จางหาย ครูบาศรีวิชัยยังมีอิทธิพลและเป็นตัวแทนของการสู้เพื่อธำรงรักษาจารีตสงฆ์ล้านนา เป็นตัวแทนความหมายของการเป็น “ครูบา” ในการรับรู้ของผู้คนในปัจจุบัน นั่นแสดงให้เห็นว่าสังคมล้านนายังคงมีความคิดที่ผูกติดกับจารีตเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น

    ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าครูบาศรีวิชัยยังคงเป็นผู้กุมความศรัทธาของวัฒนธรรมล้านนา และนี้คือ “ครูบาแบบคติใหม่” ซึ่งเป็นบางส่วนในการให้ความหมายของครูบาคติใหม่ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ประจำเดือนกุมภาพันธ์

    884e0b895e0b8b4e0b983e0b8abe0b8a1e0b988-e0b881e0b8b2e0b8a3e0b8ade0b989e0b8b2e0b887e0b8ade0b8b4-5.jpg

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_1358569
     

แชร์หน้านี้

Loading...