เรื่องเด่น “บัณฑิต สามเณรอรหันต์” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 16 มิถุนายน 2018.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    -บัณฑิต-สามเณรอรห (01).jpg

    เรื่อง “บัณฑิต สามเณรอรหันต์”


    (โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

    ในสมัยพุทธกาล ผู้มีประวัติชีวิตพิสดารเพราะผลอดีตกรรม วันนี้ขอเล่าอีกรูปคือ สามเณรบัณฑิต ที่บวชเณรอายุไล่เลี่ยกับสามเณรสังกิจจะ เด็กน้อยบัณฑิตเป็นบุตรตระกูลโยมอุปัฏฐากพระสารีบุตร อัครสาวก พ่อแม่ถึงจะมีฐานะไม่ดีนัก แต่มีจิตวิทยาในการเลี้ยงดูบุตรดุจดังผู้เกิดในตระกูลสูงทั่วไป ทั้งสองคนตกลงกันว่าจะไม่ขัดใจลูกในเรื่องการแสดงออกที่ดีงาม จะเลี้ยงดูด้วยเหตุผล มิใช่ด้วยอารมณ์ เด็กชายบัณฑิตจึงเติบโตมาในบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้เป็นอย่างดี และโชคดีได้อยู่ในสกุลอุปัฏฐากพระสารีบุตร อัครสาวกด้วย จึงมีโอกาสได้พบเห็นพระเถระ และได้รับใช้ท่านตามประสาเด็ก

    ความคุ้นเคยทำให้เด็กชายบัณฑิตอยากจะบวชเป็นศิษย์พระเถระ วันหนึ่งจึงเอ่ยปากขอกับพ่อแม่ว่าอยากบวชอยู่กับพระคุณเจ้าสารีบุตร พ่อแม่ก็ยินดีอนุญาตให้ลูกบวชเป็นศิษย์ของท่าน บวชแล้วก็ติดตามพระอุปัชฌาย์ไปบิณฑบาตที่หมู่บ้านที่โยมบิดามารดาอยู่

    วันหนึ่งระหว่างทางไปยังหมู่บ้าน ผ่านไร่นาของชาวบ้าน สามเณรน้อยเห็นชาวนาไขน้ำเข้านา ผ่านไปอีกหน่อยเห็นช่างศรกำลังดัดลูกศร ผ่านไปอีกเห็นช่างไม้กำลังถากไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ จึงถามตามประสาเด็กอยากรู้อยากเห็น พระอุปัชฌาย์ก็อธิบายให้ฟัง ขณะฟังก็ “ฉุกคิด” ขึ้นในใจว่า น้ำไม่มีจิตใจ คนยังบังคับให้มันไหลไปโน่นไปนี่ตามความต้องการของคน ลูกศรก็ไม่มีจิตใจ คนยังดัดให้มันตรงได้ ไม้ไม่มีจิตใจ คนยังเอาขวานถากให้มันเกลี้ยงได้ ไฉนเราซึ่งมีจิตใจแท้ๆ จะฝึกฝนใจตนเองไม่ได้เล่า

    คิดดังนั้นจึงกล่าวกับพระอุปัชฌาย์ว่า ท่านขอรับ ถ้าท่านจะกรุณาให้ผมกลับไปวัดบำเพ็ญภาวนา จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง พระเถระบอกว่าตามใจ แล้วรับบาตรจากสามเณรเข้าไปบิณฑบาตในบ้านแต่รูปเดียว สามเณรกลับถึงวัดก็เข้าห้องปิดประตูนั่งสมาธิภาวนา ท่ามกลางบรรยากาศอันสงบสงัด เพราะพระเณรออกไปจากวัดหมด จิตของสามเณรก็เป็นสมาธิแนวดิ่ง ฝ่ายพระสารีบุตรเถระเป็นห่วงว่าเวลาจะล่วงเลยเพลไป เมื่อได้ภัตตาหารแล้วก็รีบกลับวัด

    พระพุทธองค์เสด็จมาดักหน้าพระเถระที่ซุ้มประตูพระเชตวันวิหาร เพราะทรงทราบว่าสามเณรกำลังจะอยู่ในภาวะจิตเป็นสมาธิแนวดิ่ง ถ้าพระสารีบุตรเข้าไปในเวลาดังกล่าว จะขัดจังหวะได้ พระพุทธองค์จึงตรัสถามปริศนา 4 ข้อให้พระสารีบุตรตอบ พระเถระกราบทูลวิสัชนาได้ถูกต้อง เมื่อพระสารีบุตรวิสัชนาปัญหา 4 ข้อจบลง ก็พอดีสามเณรบัณฑิตได้บรรลุพระอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทา พระพุทธองค์ตรัสว่า สารีบุตรไปเถิด สามเณรศิษย์ของเธอคงหิวแล้ว พระเถระก็รีบเข้าวัดไป

    ว่ากันว่า วันนั้นพระเถระมาสายผิดปกติ กว่าจะฉันเสร็จแล้วนำอาหารมาให้สามเณร เวลาก็ล่วงเลยไปมากแล้ว คือตกบ่ายแล้ว แต่พระคัมภีร์ก็เขียนไว้ว่า เดือดร้อนถึงท้าวอมรินทร์เทวราช ต้องสั่งให้สุริยเทพบุตรฉุดรั้ง “สุริยมณฑล” ให้อยู่กับที่อย่าเพิ่งให้เลยเที่ยงวัน จนกว่าสามเณรจะฉันข้าวเสร็จ ว่าอย่างนั้น

    พอสามเณรฉันเสร็จ ล้างบาตรเท่านั้น พระอาทิตย์ที่ดูยังไม่เที่ยงวัน ก็โคจรปรู๊ดปร๊าดตกบ่ายทันที คงประมาณบ่ายสองบ่ายสามกระมัง ทำเอาพระคุณเจ้าอื่นๆ ประหลาดใจทันทีว่า เอ๊ะ วันนี้ตะวันบ่ายคล้อยรวดเร็วนัก สามเณรพึ่งจะฉันเสร็จเมื่อกี้นี้เอง

    พระพุทธองค์ตรัสปรารภสามเณรบัณฑิตว่า สามเณรบัณฑิตเป็นแบบอย่างของผู้ฉลาด ที่มองสิ่งแวดล้อมรอบตัวแล้วเกิดแง่คิดในการปฏิบัติธรรมจนสำเร็จพระอรหันต์ แล้วพระองค์ได้ตรัสคาถาประพันธ์ความว่า

    ชาวนา ไขน้ำเข้านา
    ช่างศร ดัดลูกศร
    ช่างไม้ ถากไม้
    บัณฑิตย่อมฝึกตน

    เรื่องสามเณรบัณฑิตที่ประสบผลสัมฤทธิ์ระดับสูงสุด (เป็นพระอรหันต์) แต่อายุยังน้อย เป็นเรื่องที่บางทีบางคนคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ ถ้าวัดกันแค่ระยะเวลาสั้นๆ ชั่วชีวิตเดียว ก็อาจคิดอย่างนั้นได้ แต่ถ้านับรวมต้นทุนที่สะสมในชาติปางก่อนด้วย ก็ไม่แปลก สามเณรท่านอาจมี “บุญเก่า” สะสมไว้มาก ตกมาชาตินี้จึงแทบไม่ต้องพากเพียรพยายามมาก เพียงฝึกฝนนิดหน่อยเท่านั้น ก็ถึงจุดหมายสูงสุดแห่งชีวิต



    ที่มา ธรรมะพระป่ากรรมฐาน สายหลวงปู่มั่น
     

แชร์หน้านี้

Loading...