เรื่องเด่น “ปายาสิรัญญสูตร”(เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 16 มิถุนายน 2018.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    04.jpg

    การโต
    ้วาทีครั้งยิ่งใหญ่ในสมัยพุทธกาล
    ระหว่างพระกุมารกัสสปะกับราชันย์ปายาสิ
    ราชันย์ผู้ไม่เชื่อบาปบุญนรกสวรรค์พรหมโลก

    เรื่อง “ปายาสิรัญญสูตร”

    (โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

    ในพระไตรปิฎกมี “ปายาสิรัญญสูตร” บันทึกการโต้วาทะครั้งยิ่งใหญ่ ระหว่างราชันย์ปายาสิ ผู้ไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ กับพระกุมารกัสสปะ ในที่สุดแห่งการถกเถียงอภิปราย ราชันย์ปายาสิยอมเชื่อและละทิฐิของตน ปายาสิท่านนี้ พระบาลีเรียกว่า “ราชญญะ” (ราชันย์) เจ้าผู้ครองนครเล็กๆ นามว่าเสตัพยะในแคว้นโกศล ปายาสิเป็นนักคิดนักวิจัยก็ว่าได้ เพราะทฤษฎีของเธอที่ว่านรกไม่มีสวรรค์ไม่มีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หากแต่เกิดจากความสงสัย ในเบื้องต้นแล้ว “ทดลอง” เพื่อพิสูจน์ เมื่อพิสูจน์ตามแนวทางของตนแล้วจึงประกาศออกมาสู่สาธารณะ ไม่ประกาศเปล่า ท้าทายด้วยว่าใครแน่จริงให้มาโต้กับตน

    ประดาพระอรหันต์ที่ไม่มีอภิญญา (ความสามารถพิเศษ) ไม่มีปฏิสัมภิทา (ความแตกฉาน) ก็หลบๆ ไป ไม่อยากตอแยกับท้าวเธอ ยิ่งทำให้ท้าวเธอได้ใจว่า ในโลกนี้ไม่มีใครเก่งเท่าข้าฯ (นักวิชาการแสนรู้ทั้งหลายมักจะคิดเช่นนี้แหละครับ)

    ร้อนถึงท่านกุมารกัสสปะ อดีตสามเณรน้อยลูกกำพร้าได้เดินทางไปสนทนากับราชันย์ปายาสิ

    ปายาสิประกาศว่า โลกหน้าไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี พระมหากัสสปะถามว่า ทำไมคิดเช่นนั้น ปายาสิตอบว่า ข้าพเจ้าเคยทดลองโดยสั่งคนทำชั่ว (ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายพูดว่าจะต้องไปตกนรกแน่ๆ) ให้กลับมาบอกหลังจากไปตกนรกแล้ว สั่งไปหลายคนแล้ว แต่ละคนก็รับปาก แต่จนบัดนี้ไม่มีใครกลับมาบอกเลย

    พระมหากัสสปะอธิบายว่า นักโทษประหารที่เขานำไปสู่ตะแลงแกง แกจะขออนุญาตให้ปล่อยตัวแกเพื่อไปสั่งเสียลูกเมียสักระยะหนึ่ง ย่อมไม่ได้รับอนุญาต เช่นเดียวกับสัตว์นรก ย่อมไม่มีอิสระที่จะไปไหนมาไหนได้ ถึงเขาไม่ลืมสัญญาของท่าน เขาก็มาบอกท่านไม่ได้

    ปายาสิแย้งว่า ไม่ใช่เพียงแค่นั้นพระคุณเจ้า ข้าพเจ้ายังได้สั่งให้คนดีมีศีลธรรม (ที่สมณพราหมณ์ยืนยันว่าตายไปจะต้องไปเกิดบนสวรรค์แน่) ให้กลับมาบอกเช่นเดียวกัน พวกนี้ไปแล้วก็เงียบหาย พวกเทวดาไม่ได้ถูกทำโทษทรมาน แล้วทำไมเขาไม่มาบอกเล่า อย่างนี้ชี้ให้เห็นชัดๆ แล้วว่าสวรรค์ก็ไม่มีจริง

    พระกุมารกัสสปะอธิบายว่า มีเหตุผลสองประการที่เทวดาไม่มาบอกท่าน ประการแรก คือ ระยะเวลาห่างกันมาก ร้อยปีในเมืองมนุษย์เท่ากับวันหนึ่งคืนหนึ่งของสวรรค์ ถึงแม้ผู้ที่รับปากท่านไม่ลืม กะว่าพรุ่งนี้จะกลับมาบอกท่าน ถึงเวลานั้นท่านก็ตายไปนานแล้ว

    อีกประการหนึ่ง โลกมนุษย์นั้นมันสกปรกเหม็นร้ายกาจ ไม่เป็นที่ปรารถนาของเทวดา เมื่อคนตายจากโลกมนุษย์ไปเกิดเป็นเทวดาแล้ว ก็ไม่อยากกลับมาอีก ดุจคนตกหลุมคูถเน่าเหม็น มีคนช่วยยกขึ้นจากหลุมอาบน้ำชำระให้สะอาดแล้วลูบไล้ด้วยของหอมเขาจะยินดีกระโจนลงไปหลุมคูถอีกหรือ ไม่แน่นอน ท่านปายาสิ ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ

    ปายาสิกล่าวว่า คำตอบของท่านพอฟังได้โดยอุปมา แต่ข้าพเจ้ายังไม่เชื่ออยู่ดี เพราะถ้านรกสวรรค์มีจริงข้าพเจ้าก็น่าจะสัมผัสได้ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเลย

    พระกุมารกัสสปะตอบว่า คนตาบอดตั้งแต่กำเนิดไม่เคยเห็นสีแสงเลย ไม่เคยเห็นพระจันทร์ พระอาทิตย์ เขากล่าวว่า ข้าฯ ไม่เชื่อว่ามีสีต่างๆ ไม่เชื่อว่ามีพระจันทร์ พระอาทิตย์ เพราะข้าฯ ไม่เห็น คำพูดนี้ฟังขึ้นไหม ไม่ขึ้นแน่นอน เพราะคนตาดีเขามองเห็นและรู้ว่าสีต่างๆ มีจริง พระจันทร์ พระอาทิตย์มีจริง

    ปายาสิอ้างผลวิจัยเก่า ข้าพเจ้าเคยทดลองโดยนำนักโทษประหารมาใส่หม้อใหญ่ทั้งเป็น เอาหนัง เอาดินเหนียวพอก ปิดให้มิดชิดแล้วยกขึ้นตั้งบนไฟ คอยเฝ้าดูว่าคนตายแล้วชีวะ (วิญญาณ) เขาจะออกจากร่างไปไหน ก็ไม่เห็น ครั้นกะเทาะดินออกดู ก็ไม่เห็นชีวะเขาแต่อย่างใด แสดงว่าตายแล้วสูญ

    พระกุมารกัสสปะกล่าวว่า คนนอนหลับฝันว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ คนที่อยู่ใกล้ๆ เห็นชีวะเขาหรือไม่ ขนาดชีวะของคนเป็นๆ ยังไม่มีใครเห็นเลย ชีวะของคนตายแล้วจะเห็นได้อย่างไร

    ปายาสิกล่าวว่า คำอุปมาของท่านก็เข้าที แต่ข้าพเจ้าไม่เชื่ออยู่ดี ข้าพเจ้าเคยวิจัยอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้จับนักโทษประหารมาชั่งน้ำหนักแล้วเอาเชือกรัดคอเขาจนตาย แล้วยกขึ้นชั่งน้ำหนักดูอีกที ศพกลับหนักกว่าตอนยังมีชีวิตอยู่อีก ที่ว่าตายแล้วชีวะออกจากร่างก็ไม่จริง เมื่อมันออกจากร่าง ร่างกายต้องเบากว่าสิ แต่นี่กลับหนักกว่าเสียอีก

    พระกุมารกัสสปะยกอุปมาอุปไมยให้ฟังว่า เหล็กที่เผาไฟจนร้อนนั้นย่อมเบากว่าเหล็กที่เย็นฉันใด มนุษย์ก็ฉันนั้น เมื่อยังมีไออุ่น ยังมีจิตวิญญาณอยู่ร่างกายย่อมเบากว่าเมื่อตายแล้ว ไม่เกี่ยวกับความเชื่อว่าวิญญาณออกจากร่างหรือไม่ออกจากร่างแต่อย่างใด (ความเชื่อแบบนั้นมิใช่คำสอนของพระพุทธศาสนา)

    ปายาสิกล่าวอีกว่า ข้าพเจ้ามิได้ทดลองเพียงนั้น ยังทดลองวิธีอื่นอีก คือจับนักโทษประหารมาฆ่าโดยมิให้ผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ของเขาช้ำ เมื่อเขาจวนจะตายก็ให้นอนหงาย นอนตะแคง คว่ำหน้า ฯลฯ เพื่อเฝ้าดูว่าชีวะของเขาจะออกมาทางไหน ก็ไม่เห็นเลย

    พระกุมารกัสสปะตอบว่า ชาวบ้านมุงดูชายคนหนึ่งเป่าสังข์เสียงไพเราะ ชาวบ้านถามว่า เสียงอันไพเราะนี้มาจากไหน คนเป่าสังข์บอกว่าออกมาจากสังข์นี้ ชาวบ้านจึงจับสังข์มาหงายบอกให้เปล่งเสียง สังข์เงียบ จับมันคว่ำแล้วบอกให้มันเปล่งเสียงสังข์ก็เงียบอีก จับตะแคง เอาไม้เคาะ เอามือทุบ สั่งให้มันเปล่งเสียง มันก็เงียบเหมือนเดิม คนเป่าสังข์จึงยกสังข์ขึ้นเป่าให้ดู เสียงอันไพเราะก็เปล่งออกมา ชาวบ้านก็จ้องดูว่าเสียงมันออกมาทางไหน ก็ไม่เห็น ชาวบ้านโง่ๆ ไม่รู้ว่าวิธีจะให้เสียงเปล่งออกจากสังข์ทำอย่างไร และโง่จนไม่รู้ว่าเสียงสังข์นั้นมันมิใช่สิ่งที่มองเห็นได้ ไม่ต่างอะไรกับบางคนที่ต้องการพิสูจน์วิญญาณออกจากร่างกายอย่างไร ทำไมจึงมองไม่เห็น

    ตรงนี้พระเถระกำลังจะบอกว่า การพิสูจน์ทดลองเรื่องการตายโดยวิธีนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ถูกตั้งแต่สมมติฐานที่ตั้งไว้แต่แรกแล้วว่าคนตายไปชีวะ (วิญญาณ) จะต้องออกจากร่าง เมื่อไม่สามารถพิสูจน์ว่าวิญญาณมันออกจากร่างได้อย่างไรก็เลยไม่เชื่อเรื่องการตาย การเกิด

    ปายาสิก็ยังไม่ลดละ เสนอผลงานวิจัยของตนต่อไปว่า ข้าพเจ้าเคยสั่งให้เชือดผิวหนัง เชือดเนื้อ ตัดเอ็น กระดูก ของนักโทษประหาร เพื่อจะหาว่าชีวะมันอยู่ที่ไหน ก็ไม่พบ เอามาสับละเอียดก็ไม่พอ ข้าพเจ้าจึงเชื่อว่าชีวะหรือวิญญาณไม่มีจริง

    พระกุมารกัสสปะเตือนสติอีกครั้ง โดยยกอุปมาอุปไมยว่า ชฏิลผู้บูชาไฟคนหนึ่งสั่งศิษย์อายุประมาณ 10-11 ขวบ ให้ดูแลกองไฟให้ดี ถ้ามันดับให้ก่อไฟใหม่ ศิษย์มัวเล่นเพลินไฟดับ กลัวอาจารย์ดุ จึงเอาไม้สีไฟมาสีกัน (เพราะเคยเห็นอาจารย์ทำประจำ) ก็ไม่เกิดไฟ จึงเอามีดมาถากไม้สีไฟ ก็ไม่มีไฟออกมา จึงสับเป็นชิ้นๆ ก็ไม่เห็นไฟออกมา เสร็จแล้วเอาโขลกในครกจนละเอียด โปรยละอองให้ลมพัด ก็ไม่เห็นไฟออกมา จึงไม่สามารถก่อไฟได้

    “เด็กโง่คนนี้ไม่รู้จักวิธีหาไฟ จึงไม่สามารถก่อกองไฟได้ เช่นเดียวกับท่านไม่รู้จักวิธีแสวงหาปรโลก (โลกหน้า) ก็ย่อมไม่พบความจริงฉันนั้น” พระกุมารกัสสปะเตือนสติปายาสิว่า เรื่องการตายเกิด เรื่องจิตวิญญาณไม่สามารถค้นหาโดยวิธีนั้นได้ เมื่อใช้ “เครื่องมือ” ไม่ถูกกับเรื่องก็ย่อมไม่ได้ความรู้ หรือความจริงที่ถูกต้อง

    ปายาสิเมื่อไม่สามารถจะหาเหตุผลมาโต้แย้งได้ จึงกล่าวขึ้นว่า “พระคุณเจ้าก็พูดว่าน่าฟัง แต่ข้าพเจ้ายังไม่สละความคิดเห็นเดิมอยู่ดี” พระเถระถามว่า “ทำไมท่านยังยึดมั่นในความเห็นเดิมที่ตัวท่านเองก็เห็นว่ามันไม่ถูกต้องแล้ว” ปายาสิตอบว่า “จะให้สละได้อย่างไรในเมื่อใครๆ ก็รับรู้แล้วว่า ข้าพเจ้ามีทรรศนะอย่างนี้มาแต่ต้น พระเจ้าปเสนนิโกศล กษัตริย์แห่งโกศลรัฐก็ดี กษัตริย์แว่นแคว้นอื่นๆ ก็ดี ต่างก็รับรู้ว่า ข้าพเจ้ามีทรรศนะอย่างนี้”

    พูดให้ชัดก็ว่าอายเขา ว่าอย่างนั้นเถอะ นักวิชาการผู้มากความรู้ก็อย่างนี้แหละครับ ทั้งๆ ที่รู้ภายหลังว่าตนเห็นผิด ก็ไม่ยอมรับว่าผิด ดึงดันไปทั้งที่ผิดๆ อย่างนั้นแหละ พระกุมารกัสสปะกล่าวว่า เมื่อรู้ว่าทรรศนะเดิมไม่ถูกต้องก็จงสละเสียเถิด อย่าดึงดันเลย เพราะไม่เป็นผลดีแก่ตัวท่าน ว่าแล้วท่านก็ยกอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบ 4 เรื่อง ขอยกมาเพียงสองเรื่องคือ

    1. คนเลี้ยงหมูไปหมู่บ้านอื่น เห็นขี้หมูนึกว่านี่แหละอาหารหมู จึงเอาผ้าห่อเทินศีรษะเดินกลับบ้าน บังเอิญฝนตกน้ำขี้หมูไหลลงมาเปรอะตามตัว คนเห็นเขาก็หัวเราะเยาะชี้ให้กันดูชายโง่ที่ไหนแบกขี้หมูตากฝน เขาเถียงว่าไม่ใช้ขี้หมูเว้ย นี้คืออาหารหมู พวกท่านสิโง่ไม่รู้จักอาหารหมู

    2. ชายสองคนเดินทางไปด้วยกันพบสิ่งต่างๆ ระหว่างทางมากมาย เช่น เชือกป่าน ด้าย ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย เหล็ก โลหะ ดีบุก ตะกั่ว เงิน ทอง ชายคนแรกถือเอาเชือกป่านแล้วก็ไม่ยอมทิ้ง เมื่อพบสิ่งอื่นดีกว่าก็ไม่ยอมเอา เพราะคิดว่าเชือกป่านนี้ถือติดตัวมาไกลจะทิ้งก็เสียดาย แต่ชายอีกคนเมื่อพบของดีกว่าก็ทิ้งของเก่า เอาของใหม่ จนในที่สุดเขานำทองติดตัวกลับบ้านมากมาย เมื่อชายทั้งสองกลับถึงบ้าน บุตรและภรรยาของชายคนแรกต่างก็ว่าเขาโง่ ส่วนชายที่ได้ทองไปมากเป็นที่ชื่นชมยินดีของบุตรและภรรยา

    “เมื่อรู้ว่าอะไรดีกว่า ถูกต้องกว่า ก็น่าจะยึดถือปฏิบัติ สละทิ้งสิ่งที่ผิดๆ เสีย” พระเถระกล่าวสรุป ปายาสิยอมจำนนด้วยเหตุผล จึงประกาศสละความเห็นผิดของตน นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เริ่มให้ทานรักษาศีลแต่บัดนั้นจนสิ้นชีวิต



    ที่มา ธรรมะพระป่ากรรมฐาน สายหลวงปู่มั่น
     

แชร์หน้านี้

Loading...