“มีแฟน” พระธรรมเทศนาโดยพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย กลอง, 30 มกราคม 2015.

  1. กลอง

    กลอง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    1,468
    ค่าพลัง:
    +2,991
    “มีแฟน”

    ปัญญานี้คืออะไร ก็คือเห็นความจริงว่าสิ่งที่ตัณหาความอยาก ความโลภอยากได้นี้ มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่เป็นสุข เช่นอยากจะมีแฟน สมมุติเราอยู่คนเดียว แล้วอยู่ๆ วันดีคืนดีกิเลสก็มาชวนว่าไปมีแฟนดีไหม มีแฟนแล้วจะมีความสุข เราก็ต้องใช้ปัญญามาบอกเลยว่ามันสุขจริงหรือเปล่า หรือมันสุขปลอมกันแน่ เห็นคนที่แต่งงานกันหรือเห็นคนที่เป็นแฟนกันเห็นเขามีแต่เรื่องมีแต่ราวกัน มีแต่ทะเลาะเบาะแว้งกัน มีแต่ความทุกข์กัน ทำไมเรามองไม่เห็น เพราะเราไม่ยอมมอง เราไปมองตอนที่เขาจู่จี๋กันตอนที่เขารักกัน ตอนที่เขาไปเที่ยวไปมีความสุขกันแต่เรามองไม่เห็นตอนที่เขาทะเลาะกันโกรธเกลียดกัน ฆ่ากันตาย นี่แหละเรามองไม่เห็นส่วนนี้เราเลยหลงคิดว่าการมีแฟนมีคู่ครองจะมีความสุข มันมีความสุข แต่เมื่อเปรียบกับความทุกข์แล้วมันไม่คุ้มกัน

    เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย ความสุขเดี๋ยวเดียวอย่างที่โบราณพูดว่าหม้อข้าวยังไม่ทันดำเลย ก็จะตีกันแล้ว จะทะเลาะกันแล้ว เพราะนี่เป็นปกติของเรื่องราวต่างๆ ที่จะไม่เป็นเหมือนเดิมไปเสมอ ไม่เป็นเหมือนอย่างที่เราคิดเสมอ ทุกครั้งเวลาที่เราเห็นอะไร เราอยากได้อะไร เราจะเห็นเพียงด้านเดียว เราจะเห็นแต่ด้านดี ด้านของความสุข แต่เราไม่เคยมองถึงด้านของความทุกข์ ด้านของความไม่ดีเลย แล้วพอได้มาแล้วถึงจะมาเสียใจภายหลัง มาร้องห่มร้องไห้ภายหลังมาฆ่าตัวตายภายหลัง ก็เพราะว่าเราวิ่งเข้าไปหากองทุกข์เอง ไปคว้าเอาความทุกข์มาใส่ใจเรา เพราะความไม่รอบคอบ เพราะคิดด้านเดียวคิดว่าดีอย่างเดียว คิดว่าสุขอย่างเดียวนั่นเอง

    พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราใช้ปัญญาให้คิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราอยากได้ ที่เราคิดว่าเป็นความสุขนี้ มันไม่สุขถาวรมันสุขชั่วคราว เพราะมันเป็นอนิจจัง อนิจจังเเปลว่ามันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนได้ เวลาพบกันใหม่ๆ ก็รักกันดี แต่พอมาอยู่ด้วยกันแล้ว ทีนี้ต่างกันต่างเอาใจตัวเองแล้วไม่เอาใจกันและกันแล้ว ก็เลยเกิดการเสียใจขึ้นมา เกิดการทะเลาะวิวาทขึ้นมา เรียกว่าอนิจจัง เปลี่ยนไป เวลาพบกันใหม่ๆนี้ เอาอกเอาใจกัน จะเอาอะไรก็หามาให้ประเคนถวายให้ทุกอย่าง แต่พอได้อยู่ร่วมกันแล้วทีนี้ จะเอาอะไรก็ไม่ได้ดังใจแล้ว เพราะเขาไม่ต้องมาเอาอกเอาใจเราแล้ว เพราะเขาได้เรามาเป็นสมบัติของเขาแล้ว นี่แหละคืออนิจจัง การเปลี่ยนไปของคน พอใจเปลี่ยนแล้วผลก็ตามมา สุขก็กลายเป็นทุกข์ไป ให้มองอย่างนี้ให้มองว่าเป็นอนิจจัง

    แล้วมองว่าเป็นอนัตตา คือเราไปสั่งมันไม่ได้ห้ามมันไม่ได้ ไปสั่งให้มันเหมือนเดิมไปตลอดเวลาไม่ได้ สั่งให้เขาเอาอกเอาใจเรารักเราเหมือนตอนที่พบกันใหม่ๆนี้ ไม่ได้ เพราะนี่มันเป็นความจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง มันจะต้องมีการเปลี่ยนไป แล้วเราก็ไม่สามารถที่จะไปควบคุมบังคับห้ามไม่ให้มันเปลี่ยนไปได้ ถ้าเราอยากให้มันถาวรอยากให้มันไม่เปลี่ยนแปลง ใจเราก็จะทุกข์ ถ้าเราไม่อยากจะทุกข์เราก็ต้องทำใจ ถ้าอยากจะมีแฟนก็ต้องทำใจว่า เขาจะต้องเปลี่ยนไป เขาจะต้องจากเราไป ถ้าเราทำใจได้ ก็ไปมีแฟนได้ ถ้าทำใจไม่ได้ไปมีแฟนแล้วเดี๋ยวก็จะต้องร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ และถ้ารุนแรงก็อาจจะฆ่ากันตายได้ นี่คือปัญญา

    พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราพยายามมองทุกสิ่งทุกอย่างว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของเรา ไม่ใช่เป็นของเราที่เราจะควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้เสมอไป นี่คือการฆ่าตัณหา กิเลสตัณหาอย่างถาวร ถ้าเราเห็นอย่างนี้แล้วรับรองได้ว่าจะไม่มีวันที่จะไปมีแฟนอีกต่อไป จะเบื่อ สู้อยู่คนเดียวดีกว่า เวลาเหงาก็ทำใจให้สงบ มันก็หายเหงาแล้ว ความเหงานี้มันก็เกิดจากการทำงานของกิเลสตัณหา คิดว่าอยู่คนเดียวแล้วเงียบเหงา ถ้ามีเพื่อนมีแฟนมาอยู่ด้วยแล้วจะได้คลายความเหงาได้ แต่ถ้าเราหยุดความคิดเหล่านี้ได้ ความเหงาก็จะหายไป ความสุขก็จะปรากฏขึ้นมา เป็นความสุขที่ดีกว่าที่ได้จากการอยู่กับแฟน เพราะเป็นความสุขที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไม่มีวันเสื่อม ไม่มีวันหมดไป ถ้าเรารู้จักผลิตควมสุขแบบนี้ได้แล้ว ก็จะผลิตได้ไม่วันสิ้นสุด นี่แหละคือวิธีตัดภพตัดชาติ เพราะเมื่อเราไม่มีกิเลสตัณหาแล้ว เราก็ไม่มีความอยากจะได้ของต่างๆ สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ เมื่อไม่มีความอยากก็ไม่ต้องมีร่างกาย เพราะการที่เรามามีร่างกายกันก็เพราะว่าเรายังอยากได้สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ ถ้าเราไม่มีร่างกายเราก็ไม่สามารถหามาได้ เราต้องมีร่างกายเป็นเครื่องมือ เช่นเวลาเราตายไปนี้ เราไม่สามารถหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะในโลกนี้ได้ ไม่สามารถไปอยู่กับคนนั้นคนนี้ได้ ไม่สามารถไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ได้ ไม่สามารถดื่มกินรับประทานอะไรต่าง ๆ ได้ ไม่สามารถไปซื้อข้าวซื้อของอะไรต่างๆ ได้ เพราะไม่มีร่างกาย แต่ถ้ายังมีความอยากนี้มันก็ดันใจให้ไปหาร่างกาย ให้กลับมาเกิดใหม่

    แต่เวลากลับมาเกิดแล้วถึงแม้จะทำตามความอยากเราได้ แต่มันก็ต้องมาเจอกับความแก่ เจอกับความเจ็บไข้ได้ป่วย เจอกับความตาย เจอกับการพลัดพรากจากของต่างๆ ที่เราอยากได้นี่แหละ หามาได้มากน้อยเท่าไร ในที่สุดเวลาร่างกายตายไปก็ต้องจากกันไปหมด นี่คือปัญญาที่เราควรจะพิจารณา ถ้าเราอยากจะดับความทุกข์ทั้งหลาย เพราะความทุกข์นี้ไม่ได้เกิดจากการอะไร เกิดจากการมาเกิด และการมาเกิดก็เกิดมาจากความอยากนี่เอง ถ้าเราหยุดความอยากได้ ถ้าเราเห็นว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้เป็นความทุกข์ เราก็จะเข็ดหลาบ เราก็จะไม่กล้ากลับมาเกิดอีก แล้วพอเราไม่เกิดเราก็จะไม่มีความทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิดเท่านั้น ถ้าไม่อยากจะมีความทุกข์ก็อย่ามาเกิด ถ้าไม่อยากมาเกิดก็อย่าไปมีความอยาก ต้องตัดความอยากให้หมด ถ้าอยากจะตัดความอยากก็ต้องถือศีล ๘ ถือศีล ๘ ปลีกวิเวกอยู่คนเดียว แล้วก็หาเชือกมามัดคอกิเลสตัณหาไว้ แล้วก็หามีดมาฟันมาฆ่ามัน เชือกก็คือสติ เสาที่จะผูกกิเลสตัณหาไว้คือสมาธิ ปัญญาก็คือมีด ปัญญาก็คือการเห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอสุภะ เห็นความไม่สวยงามของร่างกาย

    เวลาเรามีอารมณ์อยากจะร่วมหลับนอนกับใคร ให้นึกถึงเวลาที่เขาเป็นซากศพดู ถ้าเขาตายไปแล้วนี้ เรากล้านอนกับเขาไหม ต้องมองอย่างนี้ อย่าไปมองตอนที่เขาแต่งตัวสวยๆ แต่งหน้าทาปาก ทำเผ้าทำผม มองตอนที่เขาไม่มีลมหายใจดู หรือมองทะลุเข้าไปในใต้ผิวหนังไปดูอวัยวะต่างๆ ไปดูกระโหลกศีรษะ ไปดูโครงกระดูก ไปดูกระดูกแขน กระดูกขา ไปดูตับ ไต ไส้ พุงดู แล้วยังอยากจะไปร่วมหลับนอนกับเขาหรือเปล่า นี่คือการเจริญปัญญาให้เห็น ดูอสุภะบ่อยๆ แล้วต่อไปใจจะไม่อยากจะร่วมหลับนอนกับใคร แล้วก็จะรู้สึกสบายไม่รู้สึกเศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่ แต่อย่างใด แล้วก็จะไม่กลับมาเกิดอีกต่อไป

    นี่แหละเป็นวิธีการของพระพุทธเจ้าที่ทำให้พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้หลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้ แล้วท่านก็นำเอามาเผยแผ่สั่งสอนให้แก่พวกเรา ผู้ใดสามารถน้อมเอาไปปฏิบัติได้ ก็จะสามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้เช่นเดียวกัน เพราะเหตุนี้เหมือนกัน ผลก็ต้องเหมือนกัน เหมือนกับถ้าเราปลูกต้นมะม่วง เราก็จะได้ผลมะม่วงอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะปลูกปีนี้หรือว่าเมื่อ ๕๐๐ ปีที่แล้ว ถ้าเป็นมะม่วงมันก็ต้องออกเป็นมะม่วง มันจะไปออกเป็นมะละกอไม่ได้ ถ้าปลูกมะม่วงมันก็ต้องได้มะม่วง ฉันใด ถ้าเราทำเหตุที่ทำให้เราไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดได้ ผลก็ต้องเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทำเหตุไม่ให้กลับมาเกิด ด้วยการทำทาน ด้วยการรักษาศีล ด้วยการภาวนา ผลก็คือท่านก็ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิด ถ้าพวกเราทำเหตุเหมือนกัน ทำทาน รักษาศีล ภาวนาเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้กระทำมา ผลก็เหมือนกัน เราก็จะยุติการเวียนว่ายตายเกิดได้เหมือนกัน เพราะเหตุกับผลนี้มันเป็นอกาลิโก มันไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปตามกาลตามเวลา ไม่เหมือนสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เช่นร่างกายของเรามันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากเกิดมา คลานมาออกจากท้อง เป็นทารกก็เจริญเติบโตเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่ และในที่สุดก็กลายเป็นคนตายไป แต่เหตุกับผลนี้ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เหตุเป็นอย่างไรก็ผลก็จะเป็นอย่างนั้นไม่ว่าจะอยู่ยุคใด สมัยใด ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้าหรือไม่มีพระพุทธเจ้ามาสอนก็ตาม แต่ถ้าสามารถทำเหตุนั้นได้ ผลนั้นก็จะต้องตามมาอย่างแน่นอน

    พวกเราจึงไม่ต้องลังเลสงสัยว่าปฏิบัติไปแล้วจะไม่ได้ผล เพราะไม่มีพระพุทธเจ้ามาเป็นคนสอน
    ขอให้ทำตามเหตุที่พระพุทธเจ้าสอนให้ทำเถิดไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเวลาใด ถ้าเหตุมันพร้อม ผลก็ต้องพร้อมอย่างแน่นอน เหมือนกับการปลูกต้นไม้ ขอให้เราปลูกไปเถิด คอยรดน้ำพรวนดินอยู่เรื่อยๆ อย่าให้ต้นไม้ตาย ให้ต้นไม้มันเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ ในที่สุดมันก็จะต้องออกดอกออกผลมาอย่างแน่นอน ขอให้พวกเราพยายามสร้างศรัทธาให้แน่วแน่แล้วพยายามปฏิบัติด้วยความอุตส่าหะพากเพียรจะยากจะลำบากอย่างไรก็ไม่ท้อไม่ถอย พยายามจากเล็กน้อยไปหามาก เพราะทำมากก็จะเกินกำลังก็จะทำไม่ไหว ทำไม่ไหวก็จะเกิดความท้อแท้ได้

    ดังนั้นต้องทำจากที่เราทำได้ก่อน ตอนนี้เรารักษาศีลได้กี่ข้อก็รักษาไปก่อนแล้วเพิ่มทีละข้อสองข้อไปเรื่อยๆ แล้วมันก็จะสามารถรักษาได้หมด นั่งภาวนาได้วันละกี่นาทีก็นั่งไปก่อน เจริญสติได้วันละกี่ครั้งก็เจริญไปก่อน พุทโธได้กี่ครั้งก็พุทโธไปเรื่อยๆ หัดทำไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวมันจะเพิ่มมากขึ้นไปเอง แต่ถ้าเราไม่ทำเลยนี้มันก็ไม่มีวันที่จะก้าวหน้าได้เลย เหมือนถ้าเราอยากจะเดินทางไปไหน ถ้าเราไม่เริ่มก้าวเท้าเรานั่งอยู่เฉยๆ เราก็จะไม่มีวันไปถึงจุดหมายปลายทางได้เลย แต่ถ้าเราเริ่มก้าวเท้าไปทีละก้าว พอเหนื่อยเราก็หยุดพอหายเหนื่อยเราก็เดินต่อ เดินไปเรื่อยๆเดี๋ยวมันก็ถึงเอง ฉันใดการปฏิบัตินี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน ถ้ามีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องไม่มีวันยกเลิก ไม่ช้าก็เร็วก็จะต้องถึงเป้าหมายถึงจุดหมายปลายทางอย่างแน่นอน.

    ธรรมะในศาลา วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๘

    พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

    [​IMG]
     

แชร์หน้านี้

Loading...