“สติปัฏฐาน ๔” หลวงพ่อจรัญ ทักขญาโณ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ไม้ขีดครับ, 20 มีนาคม 2021.

  1. ไม้ขีดครับ สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ธันวาคม 2018
    โพสต์:
    48
    ค่าพลัง:
    +17


    ถ้าจิตได้ถูกอบรมให้อยู่ในตัวได้ จิตเองจะเจิดจ้าสว่างไสวในตัวมันเอง อย่างอัศจรรย์ใจขึ้นมา จิตสงบพิจารณาอยู่ในตัวท่องเที่ยวในกายนคร จิตจะแจ้งขึ้นๆๆๆ เราจะอัศจรรย์ว่า อย่างนี้ก็มีหรือ? จิตทำไมแจ้งเช่นนี้ ต้องแจ้งสิ เราไม่เคยเห็นหรอกเพราะยังไม่เคยเจอ เมื่อประพฤติปฏิบัติแล้ว ก็จะพบว่าจิตคนเรานี้เห็นแจ้งได้สว่างไสวได้ ทีแรกเหมือนกับแสงหิ่งห้อย แว็บๆๆๆ ตอนที่กำลังจะแจ้ง เราก็ไม่ต้องสนใจหรอกพิจารณาไปเรื่อยๆ นานเข้าๆๆ ความเป็นแสงหิ่งห้อยจะโตขึ้นเหมือนดวงดาว ต่อไปจะเหมือนดวงเดือน แล้วก็จะใกล้เข้ามาๆๆ จะอยู่เหนือศีรษะของเรา ใกล้เข้ามาๆๆ ต่อไปก็อยู่ตรงหน้าผาก แล้วทั้งหมดของดวงสว่างนั้นจะสวมตัวของเราลงไป ทำให้ตัวของเราทั้งหมดสว่างไสว เป็นเช่นนั้นเอง เราทำไปเรื่อยๆ พร้อมกับแสงสว่างนี้ แล้วก็เห็นแจ้งด้วย ต่อไปความสว่างนั้นจะมีอยู่ทั้งวันทั้งคืนเป็นอัตโนมัติ เป็นเครื่องอยู่ของดวงจิตของคนๆนั้นตลอดเวลากลายเป็นเรื่องของความคุ้นเคยว่ามีอย่างนั้นมานานแล้ว กลายเป็นเรื่องธรรมดากับความเป็นไปอย่างนั้น นั่นคือ ความแจ้งออกๆๆ สว่างแล้วก็เป็นสมาธิแน่นหนามาก ที่เกิดจากการทำวิปัสสนาญาณ ซึ่งสมาธิเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการอบรมจิต ด้วยการให้เกิดญาณในการพิจารณาอาการ ๓๒ เท่านั้น สมาธิตรงนี้เป็นสมาธิที่ไม่ใช่ สมาธิแบบสมถกัมมัฏฐาน

    การทำสมาธิที่เกิดจากวิปัสสนาญาณ กลายเป็นสมาธิที่แน่นหนามาก จิตอยู่ธรรมดาๆ แต่สมาธิเมื่อเกิดมากขึ้น จะเกิดความสุขมากขึ้นตามลำดับ ความเบากายเบาใจมีความสงบในจิตของตน ทำให้สัมผัสถึงอรรถรสอันสงบชุ่มฉ่ำภายในใจของเราทำให้เรามีความสุข ความสุขเกิดที่นั้นเป็นสมาธิใหญ่โตเป็นมหาสติ ตอนแรกที่ทำเหมือนไม่มีสมาธิเกิดขึ้น จิตอยู่ตื้นๆ เหมือนจิตธรรมดาๆ แต่ทำไปๆ นานเข้าๆๆ จะเกิดเป็นสมาธิสั่งสมขึ้นมาใหญ่มาก สัมผัสสัมพันธ์แล้วกลายเป็นสมาธิแน่นหนา จนกลายเป็นสมาธิที่ไม่เสื่อม ถ้าใครได้สมาธิเช่นนี้ อบรมจิตระดับหนึ่งจะไม่เสื่อมจากสมาธิเลยในชีวิตนั้น อันเป็นโลกุตตระสมาธิ ที่ไม่ใช่สมาธิแบบสมถกัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นสมาธิแบบโลกีย์

    สมาธิแบบโลกุตตระ จะมีดุลอำนาจรักษาให้สมาธิคงที่เสมอต้นเสมอปลายที่ไม่กลับกลอกไปมา แล้วทำให้จิตนิ่งในตัวเอง จนเกิดเป็นสมาธิที่ถาวรไม่เสื่อมได้ เมื่ออบรมให้เกิดสมาธิแน่นหนาขึ้นไปเรื่อยๆ กลายเป็นสมาธิที่เราต้องการ การที่เราจะออกจากความปรุงแต่งของจิต มีแววที่จะเป็นไปได้ มองแล้วเป็นไปได้อย่างแน่นอน ที่เราตั้งคำถามว่า ทำยังไงจิตเราจะพ้นจากอารมณ์เหล่านั้นทุกกรณีไม่มียกเว้นใดๆ ความฝันเริ่มเป็นจริงแล้ว เริ่มมีแววที่จะเป็นจริงได้ สมาธิประเภทนี้มั่นเหลือเกิน แรกๆ การประพฤติปฏิบัติสมาธิจะมีโอกาสเสื่อมอยู่ เมื่อยังทำไม่ถึงจุดเต็มอิ่มของสมาธิ ทำต่อไปนานๆ เข้าถึงจุดที่สมาธิเต็มอิ่ม แล้วสมาธิจะเป็นสมาธิที่มั่นคงมาก ไม่มีเสื่อมอีกต่อไป เป็นสมาธิแบบใหม่ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน เพราะอยู่บนพื้นฐานที่มีความรู้ทั่วพร้อมเป็นอัตโนมัติ ดั่งน้ำที่ต้องมีแก้วเข้าไปรองรับ แก้วเป็นภาชนะที่ดี จิตก็เช่นเดียวกันต้องมีการเห็นกาย มองเห็นตัวขึ้นมารองรับให้เป็นเครื่องอยู่ของจิต จึงจะเป็นจิตที่มั่นคงได้ จิตเป็นธรรมชาติที่เลื่อนไหลต่อเมื่อมีที่อยู่ของจิตแล้ว จะไหลไปไหนเล่า ค้นคว้าธรรมชาติที่มีอยู่ แต่ว่าให้แยบยลในการพิจารณาแล้วหาทางออก ที่มองด้วยความแหลมคมของสติปัญญาก็พบทางออกจนได้ คำสอนของพระพุทธองค์ได้ทรงจำแนกไว้หมดแล้วแต่ก็เข้าใจยาก การอบรมเมื่อเห็นกายของตนเองแล้ว จิตจะสงบสว่างไสวอยู่ในตัวเอง พร้อมกับทวีคูณมากขึ้นๆ จิตที่เราโอนถ่ายอำนาจจากสิ่งหนึ่งจากที่แห่งหนึ่งแล้วไปสู่อีกทีหนึ่ง เป็นการย้ายจิตสู่บ้านหลังใหม่ ผลที่ได้ราคะ โทสะ โมหะ จะเบาบางลงๆๆ เห็นได้ชัดเจนมากๆ คนนั้นประเมินได้ว่า กิเลสของตนที่มีอยู่ละไปได้เท่าไร และจบเหลืออีกเท่าไร ที่มีอยู่ และที่ค้างอยู่อีกเท่าไร เขาจะเห็นอาการทั้งสองนั้นได้ตามเป็นจริง ความจริงแล้วการทำสมาธิไม่ได้ลึกเลย เป็นแค่สติ แต่เป็นสติที่บริบูรณ์ด้วยสมาธิในตัวเอง เรียกว่า “สติปัฏฐาน ๔”

    หลวงพ่อจรัญ ทักขญาโณ

    ( ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ ยูทูปรายการธรรมะสว่างใจ เป็นการถาม- ตอบเกี่ยวกับการปฎิบัติธรรมครับ)
     

แชร์หน้านี้