“อโหสิกรรม”อาวุธธรรมเพื่อดับกิเลส

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 27 สิงหาคม 2009.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,488
    “อโหสิกรรม”อาวุธธรรมเพื่อดับกิเลส
    พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์

    ---------------------------

    [​IMG]


    ผมมีบุตรชายหลายคน ทุกคนแต่งงานมีครอบครัวแล้ว และมีบางครอบครัวที่ยังพักอาศัยรวมกันอยู่ภายในรั้วรอบเดียวกันกับผม จึงมักเกิดปัญหากระทบกระทั่งกันระหว่างแม่ผัว กับลูกสะใภ้ ซึ่งดูจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของชีวิตครอบครัวที่มีบุคคลที่ ๓ เข้ามาข้องเกี่ยว โดยเฉพาะชนชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งยึดถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีกันมานานแสนนานที่ลูกชายจะต้องยึดมั่นในความกตัญญูกตเวทิคุณต่อแม่ซึ่งดูจะมากกว่าพ่อ ปัญหาขัดแย้งระหว่างแม่ผัวกับลูกสะใภ้จึงสร้างความอึดอัดไม่สะดวกกายสบายใจให้แก่คนกลาง คือ ลูกชาย และพลอยลุกลามไปถึงหลานปู่ซึ่งกำลังเติบใหญ่ขึ้นทุกวัน และความอึดอัดไม่สะดวกกายสบายใจที่เกิดขึ้นแก่ลูกชายย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความเจริญเติบโตก้าวหน้าในชีวิตหน้าที่การงานของตน เพราะตามหลักธรรมซึ่งเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคลใดก็ตามที่ไม่มีความเป็นอิสระ ไม่มีความสะดวกกายสบายใจ ย่อมไม่สามารถพัฒนายกระดับปัญญาของตนให้สูงขึ้นได้
    สำหรับผมนั้น ดูจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะได้อานิสงส์จากการศึกษา และปฏิบัติธรรม จึงสามารถควบคุมสติ กำหนดจิตให้เป็นอุเบกขา หลีกเลี่ยงไม่นำเรื่องราวดังกล่าวมาปรุงแต่งให้เป็นอารมณ์ เป็นกิเลสค้างคาใจ ผูกมัดรัดรึงถ่วงให้จิตขาดความเป็นอิสระ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “หนักใจ” สุมเผาไหม้ให้จิตลุ่มร้อนดำเกรียมเกิดความเศร้าหมองบดบังความสว่าง คือ ปัญญา ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ร้อนใจ” จึงได้แต่ตั้งจิตปรารถนาอยากให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแม่ผัวกับลูกสะใภ้สุดสิ้นลงเสียที ครั้งสุดท้าย ได้ตั้งใจไว้ว่า จะขอร้องทั้งสองฝ่ายในวันสุดท้ายของชีวิต ก่อนที่จะสิ้นลมหายใจว่า ขอให้อโหสิกรรมแก่กันและกัน
    ในที่สุด ผมก็ได้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ได้ตั้งความปรารถนาไว้ เมื่อ ๒ วันก่อนหน้านี้ ผมก็ได้รับแจ้งจากภรรยาของผมว่า ทั้งสองฝ่ายได้ยินยอมเลิกราปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน หรือที่เราใช้ภาษาพูดกันว่า “ได้อโหสิกรรมให้แก่กันและกันแล้ว”

    ข้อยุติของปัญหาขัดแย้งระหว่างแม่ผัว กับลูกสะใภ้ ที่ยืดเยื้อกันมานานแรมปี ทำให้ผมมีความสุขปลอดโปร่งใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นลักษณะของจิตที่เป็นอิสระ และทันทีเมื่อจิตมีความเป็นอิสระขึ้น ก็บังเกิดเป็นเจตนาที่จะหยิบยกเอาคำว่า “อโหสิกรรม” ขึ้นมาพิจารณาตามหลักวิชาพุทธศาสตร์ว่า มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง? ในที่สุด ก็เกิดปัญญาขึ้นดังจะกล่าวต่อไปนี้
    ตามหลักของพระพุทธศาสนา อุปสรรคสำคัญที่จะขัดขวางการพัฒนาจิตให้บังเกิดความบริสุทธิ์ มีความเป็นอิสระเพื่อการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นได้ ที่คำพระท่านเรียกว่า “นิวรณ์ ๕” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “มารผจญ” และหนึ่งในห้าของนิวรณ์นี้ ได้แก่ อาสวกิเลส ซึ่งประกอบด้วยราคะ ( ความรัก ความโลภ) โทสะ (ความโกรธเคียดแค้นพยาบาท) และโมหะ (ความหลง)
    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายความเป็นมาของอาสวกิเลสเหล่านี้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นซึ่งยังไม่มีผลกระทบต่อจิตจนเกิดเป็นอารมณ์มากนัก ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบกำจัดก่อนที่จะลุกลามออกไปอย่างกว้างขวาง มีความรุนแรงจนกระทั่งไม่สามารถจะดับลงได้โดยง่าย เข้ากับคำพังเพยของไทยที่ว่า “ให้รีบตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” หรืออาจจะกล่าวอธิบายโดยวิธีอุปมาอุปมัยได้กับวิธีการรักษาความสะอาดห้องน้ำที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องหมั่นเฝ้าดูอยู่อย่างสม่ำเสมอว่า มีสิ่งสกปรกแปดเปื้อนแปลกปลอมเข้ามาให้พบเห็นหรือไม่ เมื่อพบเห็นแล้วก็จะต้องรีบชำระล้างทันที ไม่บังควรปล่อยปละละเลยไว้ จนกระทั่งสิ่งสกปรกเหล่านั้นจับตัวกันเกาะแน่นยากที่จะขัดเกลาให้เกิดความสะอาดขึ้นมาได้เช่นเดิม
    ในเรื่องเกี่ยวกับโทสะ หรือ ความโกรธ นี้ ท่านได้แสดงไว้ว่า เริ่มเกิดจากความไม่พอใจ ไม่สบอารมณ์ เมื่อได้ยิน หรือ เห็นในสิ่งที่ตนไม่ถูกใจไม่พึงพอใจ เกิดความขวางหูขวางตาขึ้นมาทันที ความรู้สึกในลักษณะนี้ ถ้าเป็นศัพท์ชาวบ้านก็เรียกว่า “ฉุนกึก” หากเป็นคำพระท่านเรียกว่า “ปฏิฆะ” อารมณ์ในลักษณะนี้ สามารถดับลงได้ง่าย คือ ถ้าเราไม่พอใจ เราก็พึงหลีกเลี่ยงไม่มอง ไม่สนใจฟัง เบี่ยงเบนจิตให้ไปรับรู้เรื่องอื่นๆ ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย เป็นบุญกุศล เป็นอารมณ์แทนก็แล้วกัน หากไม่รีบดับ กลับเก็บสะสมไว้ แล้วนำมาปรุงแต่งให้เป็นอารมณ์ ปฏิฆะ หรือ ความฉุนนี้ ก็จะถูกเก็บสะสมไว้มากขึ้นทุกที ยิ่งได้มีโอกาสพบเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ความรุนแรงของอารมณ์นี้จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกที พอกพูนขึ้นมาเป็นความโกรธ ความเคียดแค้น พยาบาท บรรลุโทสะ บังเกิดเป็นอกุศลเจตนา ใคร่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เบียดเบียนให้ฝ่ายตรงข้ามประสบความทุกข์เวทนาโทมนัสให้สาแก่ใจของตน เริ่มตั้งแต่ การใช้วาจาด้วยการด่าว่านินทาทั้งลับหลัง และต่อหน้าด้วยการใช้วาจาเสียดสี เหน็บแนม ถากถาง กระแหนะกระแหน กระทบกระแทกแดกดัน ประชดประชันเปรียบเปรียบ ต่อจากนั้น ก็จะทวีความรุนแรงถึงขั้นการลงไม้ลงมือ ใช้กำลังกายเข้าประหัตประหารกัน เมื่อไม่สามารถปฏิบัติต่อฝ่ายตรงข้ามได้สาแก่ใจไม่ว่าจะด้วยวาจา หรือ กาย ความเคียดแค้นพยาบาทก็เกิดขึ้น เฝ้าแต่ครุ่นคิดมองหาลู่ทางที่จะกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจะมีผลเป็นทุกข์โทษแก่คู่กรณีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทำให้จิตเกิดความรุ่มร้อน ถูกเผาให้เกรียมไหม้หมดสิ้นความบริสุทธิ์ เกิดความเศร้าหมองอยู่เสมอ ดังคำพังเพยที่ว่า “นรกอยู่ในใจ” นั่นเอง
    เป็นการแน่นอนที่สุด ที่การมีสติรำลึกรู้ในสัจจธรรมดังกล่าวข้างต้นเท่านั้นที่จะช่วยบำบัดรักษาดับความรุ่มร้อนของจิตให้ผ่อนคลายบรรเทาทุกข์โทษลงได้ การอโหสิกรรมให้แก่กันและกันจัดเป็นวิธีการหนึ่ง ซึ่งสมควรจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา โดยทั้งสองฝ่ายน้อมนำเอาคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่องของศีลมายึดเป็นหลักปฏิบัติ คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยกาย (ศีลข้อ ๑ ข้อ ๒ และข้อ ๓) ด้วยวาจา (ศีลข้อ ๔) และการหลีกพ้นจากต้นเหตุที่จะทำให้ขาดสติ ไม่มีความละอาย และเกรงกลัวต่อบาป (ศีลข้อ ๕) จนเป็นเหตุให้เขาต้องได้รับความทุกข์เวทนาโทมนัส
    นอกจากนี้ การลดทิฐิมานะของแต่ละฝ่าย ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า ลูกของฉัน ฉันเป็นแม่บังเกิดเกล้าเลี้ยงมา เขาต้องรักเคารพเชื่อฟังฉัน หรือ เขาเป็นสามีของฉัน กินอยู่หลับนอนกับฉันทุกเมื่อเชื่อวัน ฉันจะต้องอยู่กับเขาไปอีกนาน เขาจะต้องรักและฟังความจากฉันบ้าง ในทางตรงข้าม หากทั้งสองฝ่ายได้หยิบยกประเด็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นแก่คนกลาง คือ ความไม่เจริญเติบโตก้าวหน้าในชีวิตหน้าที่การงานของลูก หรือสามี ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน โดยใช้หลักธรรมที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น การหันหน้าเข้าหากัน อโหสิกรรมให้แก่กันและกันจึงเป็นผลานิสงส์ที่จะนำไปสู่ความสงบสุขภายในครัวเรือนนั้นได้
    นอกจากนี้ อโหสิกรรมยังจะช่วยเกื้อกูลเสริมสร้างบารมีให้แก่ผู้ที่ยึดมั่นถือเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน คือ สีลบารมี คือ การไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ติดตามมาด้วยทานบารมี คือ การให้ การอนุเคราะห์สงเคราะห์ระหว่างกัน เมตตาบารมี คือ ความเมตตากรุณา ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งในบารมีสิบประการ หรือ ทศบารมี ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญเพียรสะสมมาในภพชาติก่อนที่จะถึงภพชาติที่พระพุทธองค์ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ ตรัสรู้แจ้งเห็นจริง และทรงเป็นพระบรมศาสดาเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก และของเราอย่างแท้จริงจนถึงทุกวันนี้

    เรื่องการอโหสิกรรมนี้ ในศาสนาอื่นโดยเฉพาะคริสต์ศาสนา ถือว่า เป็นองค์ธรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จะมีเหตุผลที่มาที่ไปอย่างไรนั้น ในขณะนี้สุดวิสัยของผมที่จะอธิบายเป็นเหตุเป็นผลให้ท่านผู้อ่านได้ทราบอย่างชัดเจนได้ แต่ก็น่าเชื่อว่า คงจะไม่แตกต่างไปจากคำสอนทางพระพุทธศาสนาเท่าใดนัก
    ผมได้เขียนบทความนี้ด้วยความปิติสุขซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจาก ๒ กรณี คือ

    ๑. พระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเรื่องของความจริงซึ่งจะบังเกิดผลแก่ผู้ที่ศึกษา และปฏิบัติธรรม ที่เฝ้าหมั่นบำเพ็ญเพียรสะสมบารมีต่างๆ อย่างต่อเนื่องอย่างจริงจัง ทั้งกาย วาจา และใจ ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลให้จิตได้รับการพัฒนาให้เข้าสู่มัชฌิมาปฏิปทา หรือ อริยมรรค ขึ้นมาได้ในระดับต่างๆ ได้อย่างแน่นอน
    ผมมีความศรัทธาเชื่อมั่นว่า ความปรารถนาของผมที่ต้องการให้มีการยุติข้อขัดแย้งระหว่างแม่ผัวกับลูกสะใภ้ได้ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้นั้น เป็นผลานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการตั้งจิตอธิษฐานจนบังเกิดเป็นสัจจบารมี ที่ผมได้หมั่นบำเพ็ญเพียรยึดถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง

    ๒. สภาพจิตของผมที่ได้รับการปลดปล่อยหลุดพ้นจากปัญหาค้างคาใจซึ่งได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานปี จึงมีความเป็นอิสระ ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “โล่งใจ” จึงมีความเบาตัวคล่องแคล่ว และได้เข้าสู่เส้นทางตรงมัชฌิมปฏิปทาซึ่งเป็นอริยมรรค เมื่อเข้าสู่สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ จะทำให้เกิดปัญญาบริสุทธิ์ มีความรู้ มีความเข้าใจในองค์ธรรมต่างๆ ได้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยลำดับ จึงทำให้เกิดความคิด เกิดเจตนาที่จะเขียนบทความเรื่องนี้ขึ้นออกเผยแพร่สัจจธรรมของพระบรมศาสดาเป็นธรรมทาน

    อโหสิกรรมจึงเป็นอาวุธธรรมที่สามารถดับอาสวกิเลสโดยเฉพาะเรื่องโทสะนับตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนถึงขั้นรุนแรงที่สุดได้อย่างแน่นอน จึงย่อมเกิดเป็นผลานิสงส์ เป็นบุญเป็นกุศลแก่ผู้ที่มีศรัทธาถือปฏิบัติได้อย่างแน่นอน ผมจึงขออนุโมทนาต่อท่านเหล่านั้นด้วยใจจริง

    ----------
    ที่มา:
    http://web.schq.mi.th/~suriyon/suri_doc87.htm
     
  2. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ไม่ใช่ดับถาวรหรอก เดี๋ยวโมโหก็ทะเลาะกันอีก หายโมโห หายโกรธนึกได้ ก็อโหสิกรรมกันอีก

    โกรธ โมโหลืมตัวก็ทะเลาะกันอีก หายโมโห หายโกรธนึกได้ ก็อโหสิกรรมกันอีก

    วนไปวนมาอยู่อย่างนี้แหละ

    แต่ก็ยังดี อย่างน้อยก็ไม่ผูกโกรธกันนาน ยังดีที่ไม่ทำอะไรเสียเลย
     

แชร์หน้านี้

Loading...