เรื่องเด่น “…อาการ ๓ ที่ทำให้อินทรีย์ ๕ แก่กล้าขึ้น…” ( หลวงปู่บุญจันทร์ จนฺทวโร )

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 4 มีนาคม 2018.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    “…อาการ ๓ ที่ทำให้อินทรีย์ ๕ แก่กล้าขึ้น…”

    1361.jpg

    “ศรัทธา” จะมีกำลังแก่กล้าเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยอาการ ๓ คือ

    ๑. ต้องหลีกเว้นคนไม่มีศรัทธา
    ๒. ต้องคบบุคคลที่มีศรัทธา
    ๓. ต้องพิจารณาให้มากในอนุสติ ๖ คือพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวดานุสติ ในอนุสติ ๖ อย่างนี้ พิจารณาให้มากๆ ศรัทธาก็จะแก่กล้าเข้มแข็ง

    “วิริยะ” ความเพียร จะมีกำลังแก่กล้าเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยอาการ ๓ คือ

    ๑. ต้องหลีกเว้นจากบุคคลผู้เกียจคร้าน
    ๒. ต้องคบกับบุคคลที่หมั่นขยัน
    ๓. ให้พิจารณาองค์แห่งความเพียร คือเพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นภายในใจ เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วภายในใจ เพียรทำบุญกุศลให้เจริญ เพียรรักษาบุญกุศลไว้

    “สติ” จะมีกำลังแก่กล้าเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยอาการ ๓ คือ

    ๑. ต้องหลีกเว้นจากบุคคลผู้เผลอสติ
    ๒. ต้องคบบุคคลผู้มีสติ
    ๓. ให้ระลึกเนืองๆ ในสติปัฏฐาน ๔

    “สมาธิ” จะมีกำลังแก่กล้าเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยอาการ ๓ คือ

    ๑. ต้องหลีกเว้นจากบุคคลที่มีจิตไม่ตั้งมั่น จิตใจฟุ้งเฟ้ออยู่ด้วยนิวรณ์
    ๒. ต้องคบกับบุคคลที่มีจิตตั้งมั่น
    ๓. ให้พิจารณาเนืองๆ ในองค์แห่งฌานและวิโมกข์

    “ปัญญา” จะมีกำลังแก่กล้าเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยอาการ ๓ คือ

    ๑. ต้องหลีกเว้นจากบุคคลผู้ไม่มีปัญญา คนไม่มีปัญญามีลักษณะอย่างไร คือคนไม่เห็นกรรมชั่วเป็นชั่ว ไม่เห็นกรรมดีเป็นดี เห็นดีเป็นชั่วไป เห็นชั่วเป็นดีไป เพราะคนไม่เห็นกรรมชั่วเป็นชั่ว ทั้งที่กรรมชั่ว ตัวเองก็ทำทั้งกาย วาจา ใจ ยิ่งทางใจนี้ทำมากเหลือเกิน ใจโลภอยากได้ยินดีก็ไม่เห็นว่าชั่ว ใจโกรธ พยาบาท อาฆาตจองเวรก็ไม่เห็นว่าชั่ว ใจลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในกิเลสกามและวัตถุกามก็ไม่เห็นว่าชั่ว เห็นว่าเป็นของดีไปอีก เมื่อเห็นชั่วเป็นดีแล้ว ก็พอใจในการทำกรรมชั่ว บาปอกุศลก็หนาแน่น จะให้ปัญญามันแก่กล้าเข้มแข็งได้อย่างไร
    ๒. ต้องคบผู้มีปัญญา ถ้าทำเอาไม่ได้ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ก็คงไม่มี
    ๓. (ต้นฉบับมิได้ระบุไว้) *

    * ธรรมช่วยให้เกิดธรรมวิจัย (ปัญญินทรีย์)
    ความเป็นนักไต่ถามสอบค้น, การทำสิ่งต่างๆ ให้หมดจดสดใส, การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน, การหลีกเว้นคนปัญญาทราม, การเสวนาคนมีปัญญา, การพิจารณาเรื่องที่ต้องใช้ปรีชาลึกซึ้ง, การน้อมจิตไปในการวิจัยธรรม [ค้นคว้าเพิ่มเติมจากวิสุทธิมรรค (ปริเฉท ๔ อัปปนาโกศล ๑๐) เรื่องอาหารของโพชฌงค์ ๗ (ใกล้เคียงกับอินทรีย์ ๕) – คณะศิษย์ผู้จัดทำ]

    ถ้าคุณเป็นผู้ฉลาดในการฝึกฝนอบรมอินทรีย์แล้ว การบรรลุมรรคผลนิพพานไม่ต้องไปถามใคร เหมือนเรารับประทานอาหารเอง รสอาหารเรารู้ อิ่มเรารู้ ขอให้ทำอินทรีย์ให้แก่กล้า มรรคผลนิพพานมันอยู่แค่ใจคุณนี่เอง

    หลวงปู่บุญจันทร์ จนฺทวโร วัดถ้ำผาผึ้ง อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่

    กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญท่านเจ้าของผู้ถ่ายภาพนี้ พร้อมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการเผยแผ่โอวาทธรรมนี้ ทุกๆท่าน



    ที่มา พระอรหันต์ สายหลวงปู่มั่น
     

แชร์หน้านี้

Loading...