★★★มหาราชินี★★★

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 7 สิงหาคม 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,024
    [FONT=Tahoma,] <table cellpadding="1" cellspacing="5" width="100%"> <tbody> <tr> <td>มหาราชินี

    </td> <td align="right" valign="top">
    [​IMG]
    </td></tr></tbody></table>

    [​IMG]ตลอดระยะเวลา 60 ปี แห่งการขึ้นครองสิริราชสมบัติ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ประเทศไทยนับได้ว่ามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงบุญญาธิการ ทรงคุณงามความดี ปกเกล้าปกกระหม่อมประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุขแล้ว ประเทศไทยยังมี "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ที่ทรงเป็น "นางแก้ว" คู่พระบารมีมาโดยตลอด

    สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นั้น ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณต่อราษฎรเฉกเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่เจ้าหัว จนได้รับการยกย่องว่า "ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก" เคียงคู่พระราชสวามี นับตั้งแต่ 28 เมษายน 2493 อันเป็นวันสำคัญที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าหัว รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ กับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร พระคู่หมั้น



    คำทำนายของแขกเลี้ยงวัว

    สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของ พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (ม.จ.นักขัตรมงคล กิติยากร) กับ ม.ล.บัว กิติยากร มีฐานันดรเมื่อแรกพระราชสมภพคือ "ม.ร.ว." ทรงมีพระภาดา 2 องค์ คือ ม.ร.ว.กัลยาณกิติ์ และ ม.ร.ว.อดุลยกิติ์ และพระขนิษฐภคินี 1 องค์ คือ ม.ร.ว.บุษบา

    เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม 2475 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเพียง 49 วัน ณ บ้านพัก พลเอก เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (ม.ร.ว.สะท้าน สนิทวงศ์) บิดาของ ม.ล.บัว ซึ่งเป็นเจ้าคุณตา บ้านเลขที่ 1808 ถนนพระราม 6 ตำบลวังใหม่ (สะพานเหลือง) อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร

    หลังพระราชสมภพไม่กี่วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานนามว่า "สิริกิติ์" มีความหมายว่า "ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร"

    และเมื่อพระราชสมภพได้เพียง 3 เดือน ม.ล.บัว ต้องติดตาม ม.จ.นักขัตรมงคล ที่ต้องไปทำหน้าที่เลขานุการเอกประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา จึงจำใจต้องยกธิดาให้อยู่ในความดูแลของเจ้าคุณตา-คุณยาย คือ พลเอก เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ และ ท้าววนิดาพิจารินี แต่เมื่ออายุประมาณ 8 เดือน "ท่านย่า- ม.จ.หญิงอัปษร สมาน กิติยากร" มีพระประสงค์จะทรงรับหลานไปอยู่ด้วย ซึ่งฝ่ายเจ้าคุณตา-คุณยาย จำใจต้องถวายให้ไป


    จวบจนปี 2477 ม.จ.นักขัตรมงคลทรงลาออกจากราชการและเสด็จกลับเมืองไทย ม.ร.ว.สิริกิติ์จึงได้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาครอบครัวอีกครั้ง ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เล่าไว้ในหนังสือ "เป็น อยู่ คือ" ตอนหนึ่งว่า

    "หลังจากระหกระเหินตามเหตุการณ์บ้านเมือง ตอนนั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์ อายุประมาณ 2 ขวบกว่าจึงได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าทั้งครอบครัว แต่ก็มีบางครั้งที่ยังทรงไปค้างบ้านเจ้าคุณตาบ้าง และระหว่างพักกับเจ้าคุณตาก็มีเรื่องเป็นที่ล้อเลียนเกิดขึ้น

    เนื่องจากวันหนึ่งขณะที่พี่เลี้ยงอุ้ม ม.ร.ว.สิริกิติ์เดินเล่น พอดีขณะนั้นมีแขกเลี้ยงวัว (แขกจริงๆ) ซึ่งเป็นเพื่อนของแขกยามประจำบ้านมาหากัน พอแขกที่มาเหลือบมาเห็น ม.ร.ว. สิริกิติ์ก็จ้องมองพร้อมทั้งกวักมือเรียกพี่เลี้ยงขอให้เห็นใกล้ๆ หน่อย เมื่อเข้ามาใกล้มองดูสักครู่ก็พูดว่า "ต่อไปจะเป็นมหารานี"

    พี่เลี้ยงได้ฟังก็ชอบใจเที่ยวเล่าให้คุณยายและใครต่อใครฟัง ถึงไม่เชื่อแต่ก็ปลื้มใจ ต่อมาเมื่อ ม.ร.ว.สิริกิติ์เจริญวัยขึ้น เลยเป็นเหตุให้คุณพี่ชายทั้งสองคนเอามาล้อเป็นที่ขบขันว่า เป็นราชินีแห่งอบิสซิเนีย บางครั้งถึงกับทำให้ผู้ถูกล้อต้องนั่งร้องไห้ด้วยความอายและเจ็บใจ แต่พี่ชายทั้งสองก็ยังไม่หยุดล้อ กลับเอาเศษผ้าม่านขาดๆ มาทำเป็นธงโบกอยู่ไปมา พร้อมทั้งบอกว่าเป็นธงประจำตัวของพระราชินี เหตุการณ์เหล่านี้ยังเป็นที่ขบขันอยู่จนถึงทุกวันนี้ เมื่อมีการกล่าวถึงความหลัง"



    ๏ ศิษย์โรงเรียนเซนต์ฟรังฯ

    ม.ร.ว.สิริกิติ์เข้าเรียนแผนกอนุบาล โรงเรียนราชินี จนถึงชั้นประถมปีที่ 1 ก็ต้องออกจากโรงเรียน เพราะเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ต้องย้ายไปอยู่โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ คอนแวนต์ ซึ่งอยู่ใกล้วัง

    ระหว่างเรียนที่เซนต์ฟรังฯ ม.ร.ว.สิริกิติ์สนใจ และมีพรสวรรค์ในวิชาดนตรีเป็นพิเศษ จนครูผู้ฝึกสอนดนตรี คือมาดามเรอเน และมาดามฟรังซิสก้า ออกปากชมอย่างจริงใจ ว่า มีวิญญาณศิลปินติดตัวมาแต่กำเนิด โดยสามารถอ่านโน้ต และร้องเพลงได้ถูกต้องตามจังหวะอย่างน่าอัศจรรย์ใจ นอกจากนั้นยังสามารถทรงเปียโนได้ไพเราะเพราะพริ้ง ยิ่งกว่าเด็กทุกคนในวัยเดียวกัน

    ท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงษ์ เล่าถึงชีวิตช่วงนี้ว่า "ท่านเป็นคนกล้าและทรงมีความอบอุ่นน่ารัก ท่านโปรดเป็นนักประพันธ์ ทรงมีจินตนาการ โปรดการแต่งหนังสือ ก็แต่งกันเนี่ย บอกน้องไปคูปกัน...หมายถึง คูปเหรียน ไปเขียนรูป ท่านเขียนรูปและท่านก็เล่าไปด้วย เราก็เขียน...ไม่มีใครสนใจ แต่พอท่านเขียนท่านแต่งนี่ พวกลูกของมหาดเล็กของท่านพ่อ พวกที่อายุใกล้ๆ กันจะชอบฟังมาก มานั่งฟังกันเป็นแถวเลย...

    โปรดเป็นครูด้วย ทรงสอนเก่งและสนุกมาก ...จำไม่ได้ว่าสอนวิชาอะไร รู้สึกว่าจะเล่าเป็นนิทานมากกว่า...

    เรื่องเล่นอีกอย่างหนึ่งคือ เล่นน้ำในแม่น้ำ ขณะนั้นอายุ 7-8 ขวบ ม.ร.ว.สิริกิติ์มีโอกาสเล่นน้ำเจ้าพระยาหน้าตำหนักที่พำนัก บางครั้งก็ตีโป่งลอยตัวเล่นอยู่ ไปมา"

    ภายหลังสงครามสงบ ม.จ.นักขัตรมงคลทรงได้รับแต่งตั้งเป็นอัครราชทูต ประจำสำนักเซนต์เจมส์ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จึงทรงพาครอบครัวเดินทางไปด้วยกันทั้งหมด รวมถึง ม.ร.ว.สิริกิติ์ด้วย

    ปีสุดท้ายแห่งการเรียนในโรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ มีเรื่องเล่ากันว่า ก่อนที่จะต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษนั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์เล่าให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนฟังอย่างสนุกสนานระคนความไม่เชื่อว่า มีหมอดูพยากรณ์ดวงชะตา ว่าในอนาคตจะมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เป็นถึงพระราชินี บรรดาเพื่อนๆ นักเรียนที่สนิทชิดชอบที่ห้อมล้อมฟังอยู่ ต่างพากันชอบอกชอบใจ บางคนก็เชื่อบางคนก็ไม่เชื่อ โดยเห็นเป็นเรื่องของหมอดูคู่กับหมอเดา

    อย่างไรก็ตาม เพื่อนๆ ต่างพากันสถาปนาด้วยอารมณ์ของเด็กๆ โดยขานพระนามพระองค์ท่านตอนนั้น ว่า "ราชินีสิริกิติ์"



    ๏ ชีวิตลูกสาวทูต

    การเป็นลูกสาวทูตทำให้ต้องโยกย้ายที่อยู่ในต่างประเทศ ตั้งแต่อายุ 13 ปี จนอายุประมาณ 16 ปี ในความรู้สึกของ ม.ร.ว.สิริกิติ์ ไม่ค่อยจะอิสระเหมือนเด็กอื่นๆ

    เวลาทั้งหมดต้องคร่ำเคร่งในการเรียนการซ้อมเปียโน วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 7-8 ชั่วโมง การเรียนหนังสือและการทำงานบ้าน ถ้าเวลาใดจะต้องมีการเลี้ยงรับรองก็ต้องช่วยคุณแม่ การรับรองแขกก็ต้องระวังกิริยาวาจาให้เหมาะสมกับตำแหน่งลูกสาวคนใหญ่ของท่านทูต ทุกอย่างดูเหมือนจะต้องอยู่ในกรอบประเพณีความเหมาะสมไปทั้งสิ้น

    ช่วงที่ ม.ร.ว.สิริกิติ์พำนักอยู่กับพระบิดา ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศฝรั่งเศส คำพยากรณ์ของหมอดูที่ว่า จะมีวาสนาสูงส่งเป็นถึงพระราชินีค่อนข้างจะลืมเลือนกันไป แต่ด้วยพรหมลิขิตที่พระมหากษัตริย์หนุ่มของไทย ทรงโปรดกรุงปารีสและโปรดเส้นทางหลวงข้ามประเทศ ซึ่งมีความยาวถึง 350 ไมล์ ทรง ขับรถยนต์พระที่นั่งทำลายสถิติความเร็วจากนครโลซานถึงปารีส ด้วยเวลาเพียง 3 ชั่วโมงเศษ เพื่อทอดพระเนตรการแสดงของวงดนตรีที่มีชื่อเสียงตามสถานมหรสพต่างๆ อยู่เสมอ

    ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปยังกรุงปารีสนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็โปรดประทับที่สถานเอก อัครราชทูตไทย เช่นเดียวกับนักเรียนไทยอื่นๆ ทั่วไป ได้ทรงร่วมสังสรรค์กับหมู่นักเรียนไทยอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง ณ ที่แห่งนี้เอง คือจุดเริ่มต้นแห่งความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างพระองค์กับครอบครัว "กิติยากร"

    ระยะที่อยู่ในฝรั่งเศสนี้ ม.ร.ว.สิริกิติ์ต้องเรียนเปียโนอย่างหนัก เพื่อเตรียมเข้าวิทยาลัยดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดของกรุงปารีส

    ในปี พ.ศ.2491 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ เยี่ยมโรงงานต่อรถยนต์ในประเทศฝรั่งเศส วันหนึ่งในเดือนเมษายน ได้ข่าวที่แน่นอนในการเสด็จฯมาปารีส

    ดังนั้น ครอบครัวของท่านทูต ม.จ.นักขัตรมงคลจึงไปรอรับเสด็จฯ ณ เมือง Fontainebleau ชานเมืองนครปารีส เด็กๆ คือ บุตรีทั้งสองของท่านทูตร่วมไปรับเสด็จฯ ด้วย ทุกคนไปรออยู่ใต้เงาไม้อันร่มรื่นของป่าโปร่ง บรรยากาศโดยรอบมีแต่ความสดชื่นและแจ่มใส ทุกคนมีแต่ความตื่นเต้นกระวนกระวายในการรอรับเสด็จฯ ในครั้งนี้ ม.ร.ว.สิริกิติ์ผู้พี่แต่งตัวเรียบร้อยอยู่ในสูทสีเนื้อ แต่ก็คงหางเปียเดี่ยวยาวถึงกลางหลังอยู่นั่นเอง

    แต่การรับเสด็จฯครั้งนั้น ฝ่ายผู้คอยรับเสด็จฯต้องแปลกใจ เพราะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงมีพระนิสัยตรงเวลาเสมอ แต่ครั้งนี้มีการผิดเวลาไปมาก จึงต้องมีการรอ ในที่สุดการรอคอยจึงกลายเป็นความกระวนกระวายมากขึ้นทุกที ลูกสาวท่านทูตโดยเฉพาะ ม.ร.ว.สิริกิติ์หน้าก็เริ่มผิดปกติ เพราะรถยนต์พระราชพาหนะอันค่อนข้างจะคร่ำคร่า รับราชการฉลองพระเดชพระคุณอย่างเคร่งครัดมาเป็นเวลานาน เกิดเครื่องเสียและน้ำมันก็หมด ต้องใช้เวลาแก้ไขนานพอสมควรกว่าจะเสด็จฯมาได้ อาจจะเป็นนิมิตว่าจะได้ทรงพบ "รัก" ที่แท้จริงย่อมมีอุปสรรคในครั้งแรกก็ได้

    นี่เป็นการพบกันครั้งแรกที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตรเห็นหน้า ม.ร.ว.สิริกิติ์ที่ไม่ค่อยจะงามนัก เพราะทั้งหิวและรอนาน มิหนำซ้ำท่านราชเลขาฯ ขณะนั้นคือหลวงประเสริฐไมตรี ได้เชิญแต่เฉพาะผู้ใหญ่ร่วมโต๊ะเสวย เด็กๆ ให้ไปรับประทานอาหารจีนอีกแห่งหนึ่ง ชื่อแปลเป็นไทยว่า "มังกรทอง"

    นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ทั้งสองพระองค์ยังทรงจำวันเวลาที่สดใสอยู่ในพระราชหฤทัยได้เป็นอย่างดี มักจะทรงล้อ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อรับสั่งถึงความหลังว่า

    "เดินตุปัดตุเป๋ หน้างอคอยถอนสายบัว"

    ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงกราบบังคมทูลตอบว่า

    "...หน้าถึงได้ต้องงอ เพราะให้แต่ผู้ใหญ่ร่วมโต๊ะเสวย เด็กกลับไล่ไปกินที่อื่น...." แต่ก็เป็นความทรงจำที่ขำๆ เพราะเวลาที่รับสั่งถึงเรื่องนี้ ทั้งสองพระองค์จะทรงพระสรวล



    ๏ รักแรกพบของกษัตริย์หนุ่ม

    ครอบครัว ม.จ.นักขัตรมงคล ได้รับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวบ่อยครั้ง เนื่องจากมาทอดพระเนตรรถยนต์ เพื่อให้คันเก่าที่อิดโรยเต็มทีแล้วได้มีเวลาพักผ่อนบ้าง แต่จะเป็นเพราะอะไรก็ตาม รถที่ทอดพระเนตรดูเหมือนจะไม่ค่อยถูกพระทัย จึงต้องใช้เวลาเสด็จฯมาปารีสบ่อยครั้ง และทุกครั้งมักจะเสด็จฯมาเสวยพระกระยาหาร ครั้งแรกกว่าจะเสด็จฯกลับก็ร่วมตีสามของวันใหม่ และต่อมาการเสด็จฯกลับที่ประทับก็จะเลื่อนเวลาช้าออกไป

    ครั้งแรกที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯปารีส นับว่าเป็นศุภนิมิตได้เหมือนกัน เมื่อสมเด็จพระราชชนนีรับสั่งให้ไปทอดพระเนตรลูกสาวของ ม.จ.นักขัตร มงคลด้วยว่าจะสวยน่ารักไหม เพราะ ม.จ.นักขัตรมงคลก็ไม่ใช่ใครอื่น เป็นหลานแท้ๆ ของสมเด็จย่าและเป็นคนดี

    ม.ล.บัวก็เป็นลูกสาวเจ้าพระยาวงศาฯ ซึ่งก็เป็นคนดี ซื่อตรง และยังทรงกำชับว่า "ถึงปารีสแล้วโทร. บอกแม่ด้วย"

    และในครั้งนั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯถึงปารีสแล้ว ทรงโทรศัพท์ถึงสมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระราชชนนีไม่ทรงลืมที่จะรับสั่งถามถึงพระธิดา ม.จ.นักขัตรมงคล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงตอบทันทีเหมือนกันว่า "เห็นแล้วน่ารักมาก"

    ตลอดเวลาที่ผ่านมาในระยะนั้นทำให้ครอบครัวของ ม.จ.นักขัตร มงคลในฐานะเอกอัครราชทูตไทย เป็นที่ทรงคุ้นเคยเบื้องพระยุคลบาท โดยเฉพาะ ม.ร.ว.สิริกิติ์เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัย เนื่องด้วยมีนิสัยร่าเริง สุภาพอ่อนน้อม และบางครั้งค่อนข้างจะอาย

    ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุปัทวเหตุทางรถยนต์ที่นอกเมืองโลซานประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สิ่งแรกเมื่อรู้สึกพระองค์คือ ทรงหยิบรูป ม.ร.ว.สิริกิติ์ออกจากพระกระเป๋า ส่งถวายสมเด็จพระราชชนนี พร้อมทั้งรับสั่งว่า "แม่เรียกสิริมาที"

    ...ในการทรงพระประชวรครั้งนั้น ทางราชการได้จัดส่งคณะผู้แทนรัฐบาลไปเฝ้าฯเยี่ยมด้วย มีรับสั่งให้ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เข้าเฝ้าฯเป็นพิเศษ มีพระราชกระแสรับสั่งว่า "ทรงรัก ม.ร.ว.สิริกิติ์อย่างแน่นอน"

    เมื่อพระอาการประชวรทุเลาเป็นปกติ โปรดเกล้าฯ ให้ ม.จ. นักขัตรมงคล และครอบครัวมาเฝ้าฯ โดยให้จัดที่ประทับ ณ โรงแรมวินเซอร์และให้ดูแลความสะดวกทุกประการตลอดเวลาที่ประทับในโลซาน

    ก่อนที่ครอบครัว ม.จ.นักขัตรมงคลจะเดินทางมาถึง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ยังโรงแรมวินเซอร์ ทรงมอบหมายให้ ม.จ. จักรพันธ์เพ็ญศิริ เป็นผู้ทูลเกริ่นทาบทามเรื่องที่จะทรงขอหมั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์ ได้มีพระราชดำรัสเป็นการส่วนพระองค์กับ ม.ร.ว.สิริกิติ์เป็นการล่วงหน้าแล้ว ได้พระราชทานพระธำมรงค์ให้เลือก องค์หนึ่งเป็นของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นทับทิมประดับเพชรงดงาม อีกองค์คือพระธำมรงค์ที่สมเด็จพระราชบิดา ประทานแด่สมเด็จพระราชชนนี ซึ่งเล็กมากไม่ถึง 2 กะรัต แต่ ม.ร.ว.สิริกิติ์ ขอ รับพระราชทานพระธำมรงค์องค์เล็กของพระราชบิดา ซึ่งแสดงถึงความรักระหว่างสองพระองค์มากกว่า

    19 กรกฎาคม 2492 เวลา 10.00 น. สมเด็จพระ ราชชนนี รับสั่งขอ ม.ร.ว.สิริกิติ์ ต่อ ม.จ.นักขัตรมงคล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสวมพระธำมรงค์เป็นของหมั้น แด่ ม.ร.ว.สิริกิติ์ เป็นพิธีภายในที่จัดขึ้นเงียบๆ ที่โรงแรม วินเซอร์

    ตอนค่ำวันที่ 12 สิงหาคม 2492 มีงานเลี้ยง ณ สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ประกาศข่าวทรงหมั้นให้คนไทยได้รับทราบ

    ม.ร.ว.สิริกิติ์เข้ารับพระราชทานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในขณะที่มีอายุ 17 ปี ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม

    และวันนั้น วันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส คือวันที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสำนึกในพระองค์เองว่าต่อแต่นี้ไปแม้แต่พระชนมชีพก็จะน้อมเกล้าฯถวายเป็นสิทธิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วแต่จะทรงพระเมตตา จะเจริญรอยตามพระยุคลบาทไปทุกหนทุกแห่ง จะทรงเป็นเงาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    ไม่ว่ากาลข้างหน้านั้นจะทรงมีความทุกข์หรือสุขอย่างไรก็ตาม
    [/FONT]



    [FONT=Tahoma,]ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์



    ม.ร.ว.กิติวัฒนา ปกมนตรี เป็นหนึ่งในสุภาพสตรี 3 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากราชสกุลต่างๆ เข้าร่วมในพิธีอัญเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรและเครื่องราชูปโภคในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เมื่อ 6 พฤษภาคม 2493 อันเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่ง ม.ร.ว. กิติวัฒนา เป็นผู้แทนจากราชสกุล "ไชยันต์" เล่าว่า

    "..ก่อนจะเล่าถึงวันสำคัญขอเล่าไว้หน่อยหนึ่ง คือดิฉันมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งแรก เมื่อตอนยังเด็กอายุสัก 13 ตอนนั้นยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชา ได้ตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 8 มา ทอดพระเนตรภาพยนตร์ที่โรงหนังพัฒนากรตามคำกราบบังคมทูลของท่านลุง-ม.จ.อมรสมานลักษณ์ กิติยากร พระองค์ท่านทรงสนุกสนานร่าเริง ทรงฉายภาพอะไรต่ออะไร ส่วนในหลวงรัชกาลที่ 8 ก็มีรับสั่งกับใครต่อใคร

    จากนั้น ดิฉันก็ไม่ได้เฝ้าฯอีกเลย.. จนกระทั่งมีข่าวว่าทรงหมั้น ดิฉันก็ทราบว่าพระคู่หมั้นนั้นคือใคร เพราะสมเด็จฯทรงเคยเรียนที่เซนต์ฟรังฯ ดิฉันโชคดีที่ได้เรียนในรุ่นเดียวกับพระองค์ท่าน และตอนอยู่ประถม 4 จำได้ แม่นว่านั่งคู่กับท่านด้วย วันก่อนไปถามครูที่โรงเรียนจำได้ไหม ครูยังบอกว่าจำได้ หนูนั่งคู่กับสมเด็จฯ..แล้ววันซ้อมริ้วขบวน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จฯ ตอนนั้นเป็นพระคู่หมั้นเสด็จฯมาด้วย ดิฉันเข้าไปกราบ สมเด็จฯทรงทักว่า "น้องแก้มพวงโตขึ้นเป็นกอง" ตอนนั้นดิฉันมีชื่อเล่นว่าแก้มพวง พระองค์ท่านมีพระชนมายุแก่กว่าดิฉัน 1 ปี แต่ดูเป็นผู้ใหญ่และงามมาก.."
    [/FONT]


    [FONT=Tahoma,]"นางแก้ว"



    ตามคัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า พระเจ้าจักรพรรดิ มีสมบัติสำคัญ 7 ประการ เรียกว่า "สัตตรัตนมณี" อันมี จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว และ นางแก้ว

    จักรรัตนะ คือ จักรแก้ว หมายถึง การมีอำนาจ หรือเดชานุภาพแผ่ขยายไปทั่วทุกทิศ

    หัตติรัตนะ คือ ช้างแก้ว หมายถึง การแสดงออก ซึ่งความมีบารมีที่ยิ่งใหญ่ ความมั่นคง

    อัสสรัตนะ คือ ม้าแก้ว หมายถึง การมีบริวารข้า ทาสรับใช้ที่ดี

    มณีรัตนะ คือ มณีแก้ว หมายถึง ความสว่าง ความมีสติปัญญา ความรู้

    คหปติรัตนะ คือ ขุนคลังแก้ว หมายถึง ความมีทรัพย์สิน เงินทองบริบูรณ์

    ปริณายกรัตนะ คือ ขุนพลแก้ว หมายถึง ที่ปรึกษาคู่ใจ ผู้ให้ความรู้ ผู้ปกป้องคุ้มครอง รวมถึงบุตรที่ดี

    อิตถีรัตนะ คือ นางแก้ว หมายถึง ได้คู่ครองที่ดี มีความงดงาม
    [/FONT]


    ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
     
  2. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,024
    "แม่" ผู้สร้างโลก

    [FONT=Tahoma,]บทความ

    พรวิภา วัฒรัชนากูล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

    "แม่" ผู้สร้างโลก



    ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นับเป็นปีมหามงคลสำหรับคนไทยที่ได้เฉลิมฉลองโอกาสพิเศษถึง ๒ วาระ คือ วโรกาสการครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับการฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาลของท่านพุทธทาสภิกขุ ผู้ที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญผู้มีผลงานดีเด่นระดับโลก

    ในโอกาสที่น่ายินดียิ่งนี้ ผู้เขียนใคร่เชิญชวนผู้อ่านระลึกถึง "หน้าที่แม่" ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ที่สร้างคุณประโยชน์แก่สังคมและแก่โลกโดยอ้อม โดยพิจารณาจากผลความสำเร็จที่ชัดเจนของสังคมไทย ในด้านอาณาจักรคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และด้านศาสนจักรคือท่านพุทธทาสภิกขุ เพื่อคนไทยเราได้ตระหนักถึงคุณูปการของแม่ต่อสังคม และร่วมกันสนับสนุนบทบาทของแม่ให้เข้มแข็งขึ้นต่อไป



    การขัดเกลาทางสังคม : ปฐมบทของชีวิต

    ท่านพุทธทาสภิกขุ (พ.ศ. ๒๔๔๙-๒๕๓๖) นามเดิม เงื่อม พานิช (ภายหลังเมื่อบวชในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้ฉายาว่า อินฺทปญฺโญ และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ตั้งปณิธานศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง จึงกำหนดนามใหม่เป็นพุทธทาส) เป็นบุตรนายเซี้ยงและนางเคลื่อน พานิช จากประวัติชีวิตนับแต่เยาว์วัย ด้วยเป็นลูกคนโตแม้จะเป็นชายแต่แม่ก็อบรมให้ท่านทำงานของลูกผู้หญิงช่วยเหลือแม่ อาทิ การหุงหาทำอาหาร การเย็บผ้า ตลอดจนการค้าขายซึ่งเป็นอาชีพของครอบครัว ความใกล้ชิดกับแม่ซึ่งมากยิ่งขึ้นเมื่อบิดาเสียชีวิต (ปี พ.ศ. ๒๔๖๕) ทำให้ท่านได้รับการปลูกฝังถ่ายทอดความรู้ความคิดต่างๆ จากแม่มาก ดังท่านได้เล่าไว้ในการแสดงปาฐกถาธรรมหัวข้อ ปรมัตถวิจารณ์เกี่ยวกับพระคุณของแม่๑ ความบางตอนว่า


    "...จะขอยกตัวอย่างที่แม่ได้ทำหน้าที่ของแม่ในการสร้างนิสัยอันละเอียดให้แก่ลูก เช่น...แม่สอนให้ประหยัดเกิดนิสัยประหยัด แม่บังคับให้ใช้น้ำล้างเท้าอย่างประหยัด ใช้น้ำอาบอย่างประหยัด ใช้ฟืนอย่างประหยัด เชือกผูกของ กระดาษห่อของ เศษกระดาษที่พอจะทำเชื้อไฟได้สักนิดหนึ่งก็ยังต้องประหยัด

    แม่สร้างนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน แม่สอนว่ายอมแพ้นั้น ไม่ถือว่าเป็นการเสียเกียรติ เพราะให้เรื่องมันระงับไป แต่ก็ไม่ต้องเสียหายอะไรเนื่องจากว่าต้องยอมแพ้ มันเป็นการปลอดภัย และใครๆ ก็รักคนที่ยอมแพ้ไม่ให้เรื่องเกิด

    แม่สอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แม่สอนว่าให้ลูกแมวได้กินข้าวก่อน แล้วคนจึงกิน สัตว์เดรัจฉานเป็นเพื่อนของเรา คนขอทานเป็นเพื่อนของเรา คนไร้ญาติขาดมิตรมาตายอยู่ตามท่าน้ำเราก็ต้องเอื้อเฟื้อ ถ้าเรากินเองมันก็ถ่ายออกหมด ถ้าเราให้เพื่อนกินมันอยู่ในหัวใจของเขายาวนานนัก...

    แม่อบรมนิสัยกตัญญูรู้คุณ ให้เด็กเล็กๆ ช่วยทำงานให้แม่บ้าง ทำอะไรไม่ได้มากก็เพียงแต่ช่วยตำน้ำพริกแกงให้ก็ยังดี เหยียบขาให้แม่หายเมื่อย เอาใจใส่แม่เมื่อเจ็บไข้ นี้ปฏิบัติกันมาจนเป็นนิสัย เคารพคนแก่คนเฒ่า พระเจ้าพระสงฆ์ประนมมืออยู่ตลอดเวลา...

    ทั้งหมดนี้ได้อุปนิสัยมาจากแม่ที่คอยจ้ำจี้จ้ำไชว่ากล่าวอยู่เสมอ นี่ดูเถอะว่าแม่สร้างอุปนิสัย สร้างดวงใจพร้อมๆ กับที่พ่อช่วยสร้างชีวิต..."


    สังเกตได้ว่าการเรียนรู้ที่ท่านพุทธทาสหรือเด็กทั่วไป ได้รับการปลูกฝังจากแม่และรวมถึงพ่อเป็นเบื้องต้นนั้น คือการให้หลักปฏิบัติตนและการหล่อหลอมจิตใจอุปนิสัย ซึ่งความรู้เหล่านี้ในทางมานุษยวิทยาเรียกว่าการเรียนรู้วัฒนธรรม หรือการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) อันหมายถึงการเรียนรู้ต่างๆ เกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรมที่คนรุ่นหนึ่งถ่ายทอดให้แก่คนอีกรุ่น เป็นการที่เด็กเรียนรู้เพื่อจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เป็นสมาชิกของสังคมต่อไป๒ การเรียนรู้ในขั้นตอนนี้นับว่ามีความสำคัญมาก และเป็นพื้นฐานที่จำเป็นแก่ชีวิตของทุกคน น่าเสียดายว่าปัจจุบันคนส่วนใหญ่มองข้ามความสำคัญและละเลยในเรื่องนี้ไป เยาวชนในชั้นหลังมักไม่ได้รับการขัดเกลา ขาดความรู้ที่ถูกที่ควรเกี่ยวกับชีวิตไปมาก

    ท่านพุทธทาสนับเป็นบุคคลผู้สร้างคุณูปการให้แก่วงการพุทธศาสนาของไทยอย่างมาก คุณสมบัติของผู้ทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมเช่นท่านนี้ มีพื้นฐานจากการเป็นผู้มีนิสัยประหยัด อ่อนน้อมถ่อมตน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักและเมตตาผู้อื่นโดยเฉพาะที่ด้อยกว่าตน และมีความกตัญญูรู้คุณ ซึ่งทั้งหมดแม่เป็นผู้อบรมปลูกฝังให้

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๗๐-ปัจจุบัน) พระผู้ทรงสร้างคุณประโยชน์แก่ชาติไทยอย่างอเนกอนันต์ ก็ทรงได้รับการถวายการอบรมเลี้ยงดูจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๕๓๘) อย่างใกล้ชิดเช่นกัน หลักการสำคัญที่ "สมเด็จย่า" ได้ทรงใช้คือการปลูกฝังให้พระราชโอรสและธิดาเป็นผู้มีวินัย โดยทรงอบรมอย่างสม่ำเสมอ (ทรงใช้คำว่า เรื่อยๆ) เน้นให้เป็นคนดี มีความรับผิดชอบ ให้มีปัญญารู้จักคิด มีเมตตา และไม่หลงตน ดังคำประทานเล่าของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในพระนิพนธ์เรื่องแม่เล่าให้ฟัง และคำบรรยายบอกเล่าของนายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สำนักพระราชวัง (เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙) ความบางตอน๓ ดังนี้

    "...ท่านดูแลเรื่องอาหาร ความสะอาด สุขภาพ เราต้องทำทุกอย่างเป็นเวลา เช่น การกิน การนอน การไปโรงเรียน การเล่น...เมื่อโตขึ้นแม่จะใช้วิธีอธิบายสิ่งที่ควรไม่ควร สิ่งที่ดีไม่ดี โดยพูดจากันด้วยเหตุด้วยผล ครั้งหนึ่งพระองค์ชาย [รัชกาลที่ ๘] มาถามอะไรแม่ที่น่าจะหาคำตอบได้เอง แม่จึงบอกว่า "ควรใช้สมองคิดเสียบ้าง เดี๋ยวสมองจะเป็นสนิมเสีย"..."

    "...ทรงตักเตือนสั่งสอนไปเรื่อยๆ...ของพวกนี้มันซึมๆ เข้าไปเอง ของที่ว่าไม่ควรทำอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ มันซึมเข้า..."

    "...สอนให้เด็กพูดความจริงเท่านั้น...ต้องให้เป็นคนดี แม่ไม่ใช้คำมาก คือต้องเป็นคนดี...ถ้าจะให้เป็นคนดีจะมีอะไรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีอย่างละนิดละหน่อยแล้วแต่สังคม...ในครอบครัวเรามีความรับผิดชอบ เป็นของไม่ต้องคิด เป็นธรรมชาติ สิ่งที่สอนอันแรกคือ เราจะทำอะไรให้เมืองไทย ถ้าไม่มีความรับผิดชอบจะไปช่วยเมืองไทยได้อย่างไร..."

    สมเด็จย่าเคยรับสั่งว่า "...คนเราต้องรู้จักบังคับตนเอง ถ้าปล่อยตามบุญตามกรรมก็จะไม่เจริญ ดังเช่นการเลี้ยงเด็กต้องกำหนดเวลานอน เวลาเรียน เวลารับประทานอาหาร เวลาพักผ่อน ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเวลา ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะไม่เจริญเติบโต ไม่มีสติปัญญา"

    "...การลงพระอาญามีบ้างเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ แต่โดยปกติจะทรงให้พระโอรสธิดาทรง "คิดดู ทำไมทำอย่างนั้นไม่ดี ทำอย่างนี้ไม่ได้" นอกจากนี้ยังทรงระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ที่จะไม่ให้พระโอรสธิดาทรงรังแกผู้อื่น..."

    "เรื่องศาสนา สมเด็จย่าไม่ได้สอนเคี่ยวเข็ญ ไม่จ้ำจี้จ้ำไชเป็นพิเศษ ไม่ใช่นั่งสวดมนต์ยาวเหยียด ทรงสอนให้สวดมนต์ไหว้พระ ขอให้พระพุทธเจ้าคุ้มครองให้เป็นเด็กดี"

    "สมเด็จย่าทรงรับสั่งอีกว่า "ปัญญา" มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ปัญญาต้องใช้อยู่เสมอ ปัญญาจะได้คล่องขึ้น ต้องใช้ความคิดตรึกตรองในสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ..."

    ความคล้ายคลึงกันของการอบรมของ "แม่" ที่สร้างลูกให้เป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่สังคมดังตัวอย่างที่ได้ยกมาคือ การเน้นเรื่องความรู้คิด ใช้สติปัญญา มีเหตุผล มีระเบียบวินัยความรับผิดชอบ และมีหลักศาสนาครองใจ



    ผลคือตัวตนและจิตวิญญาณ

    การอบรมหรือขัดเกลาทางสังคมของ "แม่" นั้น เป็นสิ่งสำคัญและย่อมคงอยู่เป็นจิตวิญญาณของผู้เป็นลูกตลอดไป ข้อยืนยันในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ ดังที่ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้มีโอกาสถวายงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เล่าในการบรรยายเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจฯ ในโอกาสต่างๆ๔ ดังนี้

    "...พระองค์รับสั่งครั้งหนึ่งว่า "ฉันนับถือลัทธิเรื่อยๆ" สองคำเท่านั้นเอง...ทำเรื่อยๆ ใครว่า อย่าไปสนใจ...เพราะเราทำแล้วต้องถูกว่า...ธรรมดาของการทำงาน เพราะฉะนั้นลัทธิเรื่อยๆ ก็คือ ทำไปเรื่อยๆ ถูกว่า ถ้าเห็นว่าผิดก็กลับไปทำใหม่ ย้อนกลับมาที่ตั้งต้นใหม่ ทำใหม่อย่าไปสนใจอะไรทั้งสิ้น เพราะถ้าสนใจอะไรไป แล้วจะไม่มีกำลังใจที่จะทำอะไรเลย..."

    "...กองการในพระองค์...บอกว่าปีหนึ่งพระองค์ทรงเบิกดินสอ ๑๒ แท่ง เดือนละแท่งใช้จนกระทั่งกุด ใครอย่าไปทิ้งของท่านนะทรงกริ้วเลย ประหยัดทุกอย่าง เป็นต้นแบบทุกอย่าง ทุกอย่างนี้มีค่าสำหรับพระองค์หมด ทุกบาททุกสตางค์จะใช้อย่างระมัดระวัง..."

    "...พระองค์ท่านเวลาทำงานนั้น เรื่องสมาธิเป็นเรื่องหลักทีเดียว ทรงบริหารเรื่องสมาธิอยู่ตลอดเวลา พระองค์ทรงมีวินัยในการทำงานมาก..."

    "...เมื่อทรงพระเยาว์มีความสนพระทัยและชอบประดิษฐ์มาก ทรงต่อเรือ ต่ออะไรหลายอย่าง...ทรงต่อเรือรบศรีอยุธยา ย่อมาเหลือสเกลเพียง ๑ : ๕๐ ภูมิพระทัยมาก...วันดีคืนดีสมเด็จพระศรีฯ รับสั่งว่าจะเอาเรือไปแล้ว...พระทัยนี้วูบเลย คล้ายๆ กับว่าของที่เราต่อมา ของเล่น...เมื่อเสร็จแล้วภูมิใจมาก สมเด็จพระศรีฯ รับสั่งว่าต้องไปทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม ขอเรือลำนี้ไปประมูล ประมูลเพื่อเอาเงินทำการกุศล ทรงถูกฝึกมา จึงทรงยอม..."

    "ตอนสมัยที่ยังทรงพระเยาว์...ทรงรับพ็อกเก็ตมันนี่อาทิตย์ละครั้ง สมเด็จพระศรีฯ ทรงตั้งกระป๋องไว้กลางที่ประทับ รับสั่งเรียกว่ากระป๋องคนจน ทั้งสามพระองค์ทรงได้รับพ็อกเก็ตมันนี่เท่ากัน เมื่อทำกิจกรรมใดมีกำไรก็จะต้องหยอดไว้ ๑๐% รับสั่งว่าโดนเก็บภาษี...พอสิ้นเดือนได้เท่าไหร่นั้น สมเด็จพระศรีฯ ทรงประชุมทั้งสามพระองค์ว่าจะเอาเงินก้อนนี้ไปทำอะไร โรงเรียนตาบอด เด็กกำพร้า หรือไม่ก็ทำกิจกรรมเพื่อคนยากคนจน..."

    "ลัทธิเรื่อยๆ" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น คือร่องรอยจากหลักการอบรมลูกอย่างเรื่อยๆ ของ "สมเด็จย่า" ซึ่งได้พัฒนาเป็นความเพียร วิริยะอุตสาหะในการทรงทำงานเพื่อประเทศ การได้รับการปลูกฝังให้คิดถึงผู้อื่น เสียสละเพื่อผู้อื่นนับแต่วัยเยาว์นั้น ได้กลายเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการทำเพื่อส่วนรวมในเวลาต่อมาของพระองค์

    ในส่วนของท่านพุทธทาส ท่านได้ยืนยันด้วยตนเองว่าการอบรมสั่งสอนของแม่นั้น เป็นความรู้และอุปนิสัยที่ติดตัวอยู่ตลอดไป ดังความตอนหนึ่งในการบรรยายธรรมเรื่องพระคุณแม่คือสันติภาพของโลก๕ เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ที่สวนโมกข์ ดังนี้

    "...เป็นสิ่งเหลือที่จะกล่าวว่าแม่ถ่ายทอดอะไรให้บ้าง เรื่องการประหยัดเป็นที่หนึ่ง...เป็นนิสัยหลายสิบปีมาแล้วที่แม่ใส่มาให้ แล้วยังอยู่จนเดี๋ยวนี้...อีกไม่กี่ปีก็จะตายเองอยู่แล้ว มันถ่ายทอดมาไกลถึงเพียงนี้ ขอให้คิดดู..."

    "สรุปความสั้นๆ ก็ต้องพูดว่า เดี๋ยวนี้อาตมาเป็นเนื้อเป็นตัวอะไรได้อย่างนี้ ขออวดหน่อยว่าเกินกว่าบางคน ก็เพราะแม่ทั้งนั้น เพราะแม่ได้สั่งสอนอบรมมาอย่างนี้ ฉะนั้นใครได้รับประโยชน์อะไรจากอาตมาบ้าง ก็ขอให้ขอบคุณไปถึงแม่ด้วย เพราะแม่ได้สร้างชีวิตนี้มาให้ลักษณะอย่างนี้..."

    "อาตมามีความเสียใจอยู่อย่างหนึ่ง เสียใจอยู่อย่างยิ่งว่าสมัยเมื่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ อาตมาก็ไม่มีความรู้อะไร แม้จะบวชแล้วก็มีความรู้ธรรมะโง่ๆ เง่าๆ งูๆ ปลาๆ อย่างนั้นแหละ ถ้ามีความรู้อย่างเดี๋ยวนี้ก็จะช่วยแม่ได้มาก ให้พอใจ รู้ธรรมะอย่างยิ่ง แต่แม่ชิงตายไปเสียก่อน ก่อนที่อาตมาจะมีความรู้พอจะสอนธรรมะลึกๆ ให้ได้ นี้เป็นเรื่องที่นึกแล้วก็ว้าเหว่อยู่ไม่หาย..."

    ท่านพุทธทาสยังได้กล่าวถึงพระคุณของแม่ของท่านว่า เป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือให้เกิดสวนโมกขผลารามขึ้น ท่านกล่าวว่า "หากไม่มีแม่ก็ไม่มีสวนโมกข์" ผู้ที่ทราบประวัติของท่านคงรู้ว่า แม่ของท่านได้สละเงิน "เพื่อนผี"๖ ของตนมาใช้ซื้อที่ดินก่อตั้งสวนโมกข์ และทำกิจกรรมของคณะธรรมทาน อาทิ การออกหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา (ราย ๓ เดือน) และกิจกรรมเผยแผ่พุทธศาสนารูปแบบอื่นๆ คุณูปการของแม่ของท่านพุทธทาสนั้น มิได้อยู่ที่เพียงจำนวนเงินที่ท่านสละให้ลูกด้วยความรักความเมตตา และไว้วางใจเชื่อถือในลูกเท่านั้น แต่ความหมายนั้นลึกซึ้งกินความไปถึงว่า ท่านเป็นผู้สร้าง "ลูก" ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติดีงาม ที่สามารถคิดและกระทำการอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม



    ไม่มีแม่ ไม่มีโลก

    ในฐานะสาวกของพระพุทธองค์ ซึ่งมีหน้าที่แนะนำชักจูงจิตวิญญาณของผู้คนให้เดินไปในทางที่ถูกต้อง ท่านพุทธทาสได้เรียกร้องให้ผู้เป็นแม่ทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง ตระหนักรู้หน้าที่การอบรมขัดเกลาลูก ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องและรับผิดชอบ ซึ่งผลที่ตามมาจะทำให้สังคมและโลกถูกต้องดีงาม ดังในธรรมเทศนาเรื่องแม่ที่ท่านยังไม่รู้จัก๗ ความบางตอนว่า

    "...ถ้าว่าไม่มีแม่ที่ถูกต้อง มันจะมีแต่คนที่มิใช่คน จะไม่มีคนที่มีจิตใจอย่างคน ถ้าแม่ไม่ถูกต้อง มันก็จะเป็นลูกที่มีจิตใจอย่างลูกของสัตว์ แล้วจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์ คือคนที่มีความรู้สึกถูกต้องเป็นมนุษย์ก็จะไม่มี ถ้าไม่มีแม่มาอบรมสั่งสอนเรื่องทางจิตใจ ทางวิญญาณ ทางวัฒนธรรม..."

    "ถ้าเป็นแม่ที่ถูกต้อง เป็นแม่ที่แท้จริงแล้ว มันเป็นแม่ของโลกนะ...ไม่ใช่แม่ของลูกคนเดียว มันเป็นแม่ของคนทั้งโลก โลกมีมาเพราะแม่ เพราะแม่ช่วยสร้างขึ้นมา โลกอยู่ได้ก็เพราะว่าพวกแม่เขาทำหน้าที่เป็นแม่..."

    ถ้าไม่มีแม่เป็นผู้นำวิญญาณของสัตว์ผู้เกิดแล้ว มันไม่มีมนุษย์ มีแต่สัตว์เดรัจฉานหมด...ขอให้เรารู้จักแม่โดยแท้จริง โดยสมบูรณ์...ไม่รู้จักแม่ของโลกแล้ว ก็เรียกว่าไม่รู้จักอะไรอยู่มากทีเดียว มันจะเป็นคนใจแคบ เห็นแก่ตัว ชนิดที่ว่าหาความสุขยาก"

    คำเทศนาสั่งสอนที่หนักแน่นข้างต้น แม้จะเป็นเหตุเป็นผลและเน้นย้ำอย่างชัดเจน แต่ในสังคมหรือโลกยุคปัจจุบันที่สิทธิเสรีภาพของชายและหญิงเท่าเทียมกันนั้น ดูจะสวนทางกับคำเรียกร้องของท่านพุทธทาส ปัจจุบันผู้หญิงจำนวนน้อยยินดีและเต็มใจจะทำ "หน้าที่แม่" ผู้หญิงยุคใหม่ต้องการความเท่าเทียมเสมอภาคกับผู้ชาย ประกาศตนว่ามีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนกว่าชาย แนวคิดและการปฏิบัติที่เปลี่ยนไปตามยุคเช่นนี้ ท่านพุทธทาสแสดงความเห็นว่า

    "...เดี๋ยวนี้เขาถือกันว่าผู้หญิงคือคู่ต่อสู้ของผู้ชาย ผู้หญิงเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ ให้ได้เหมือนผู้ชาย...ต้องเป็นเสมอกับผู้ชาย อย่างนี้มันไม่ใช่ผู้หญิงแล้ว มันจะเป็นกระเทย หรือเป็นอะไรเสียแล้ว

    ถ้าเป็นผู้หญิงมันจะต้องทำหน้าที่ของผู้หญิง...แม่คือผู้ที่แบ่งเบาภาระของพ่อ งานทั้งดุ้นนี่มาแบ่งกันทำคนละครึ่ง แล้วมันก็ง่ายเข้าในการที่จะสร้างฐานะ สร้างเนื้อสร้างตัว สร้างความเจริญ หรือแม้แต่ที่จะปฏิบัติธรรมะก็เถิด

    ถ้าแม่ทำครึ่งพ่อทำครึ่ง มันก็ยิ่งง่ายแหละ มันสนับสนุนแก่กันและกัน แม่ไม่ใช่ผู้ที่จะทำงานแข่งกับพ่อ หรือเรียกร้องสิทธิ์เท่าเทียมกับพ่อ...อาตมาไม่เห็นด้วย ผู้หญิงต้องเป็นผู้หญิง ผู้ชายต้องเป็นผู้ชาย ทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง โลกนี้จึงจะมีความสงบสุข

    ถ้าผู้หญิงไปทำหน้าที่พ่อเสียแล้ว มันก็เหลือแต่พวกกระเทย โลกนี้ไม่มีความสงบสุข ผู้หญิงจงเป็นผู้หญิงร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้ชายจงเป็นผู้ชายร้อยเปอร์เซ็นต์ แม่จงเป็นแม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ พ่อจงเป็นพ่อร้อยเปอร์เซ็นต์ โลกนี้จะต้องมีสันติภาพ จะต้องมีสันติสุข"๘

    ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้หญิง จนมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่แม่ และส่งผลต่อสังคมโดยรวมในที่สุดนั้น เป็นเรื่องน่าพิจารณา ในยุคอดีตที่ผู้หญิงมีความสงบเสงี่ยมเจียมตน ต้องพึ่งพาผู้ชายมากในด้านแรงงานและการหาเลี้ยงชีพ ผู้หญิงจึงยอมแลกกับการทำงานที่ละเอียดจุกจิกจิปาถะในครัวเรือน รวมถึงการอบรมเลี้ยงดูลูก ยุคนั้นสังคมมนุษย์ยังมีเครื่องช่วยในการดำรงชีวิตน้อย มนุษย์จึงต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันมาก เพศชายและหญิงซึ่งมีความถนัดสันทัดกันคนละด้าน ยินดีร่วมมือแบ่งงานกันทำ เพื่อให้ต่างสามารถดำรงชีวิตไปได้ด้วยกัน

    ปัจจุบันความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้น ทำให้ไม่ว่าชายหรือหญิงมีอิสระมากขึ้น ความจำเป็นในการพึ่งพากันและกันลดน้อยลง ต่างหันไปพึ่งวัตถุเครื่องมือเครื่องใช้ที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผลิตสร้างสรรค์ขึ้น นี้เป็นจุดเริ่มของแนวโน้มที่มนุษย์หันไปให้ความสำคัญต่อวัตถุมากกว่าจิตใจ และคิดหวังใช้วัตถุทำทุกสิ่งแทนการพึ่งพามนุษย์ด้วยกัน ซึ่งต้องใช้จิตใจเป็นสื่อสัมพันธ์ ความรู้ความสามารถในด้านวัตถุของมนุษย์ที่ก้าวหน้าขึ้นในปัจจุบัน จึงเท่ากับเป็นการลดทอนความรู้ความเข้าใจ เรื่องจิตวิญญาณของมนุษย์เองลงทุกที

    ในแนวโน้มเช่นว่านี้ สมาชิกของสังคมไม่ว่าชายหรือหญิงควรต้องร่วมกันคิดว่า ลูกหรือพลโลกรุ่นใหม่จะเติบโตขึ้นด้วยวิธีใด "หน้าที่แม่" ควรให้ผู้หญิงรับผิดชอบต่อไป โดยมีวัตถุเครื่องใช้จากเทคโนโลยีช่วยเลี้ยงดู ตามแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของโลก แทนการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างชายหญิงที่เป็นพ่อแม่เคยทำกันดังในอดีตเช่นนั้นหรือ มนุษย์และสังคมในยุคอนาคตจะอยู่ร่วมกันโดยอาศัยวัตถุเป็นหลัก ส่วนจิตวิญญาณไม่ต้องให้ความสำคัญหรือคำนึงถึงเลยได้หรือ หรือนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่อาจหันไปคิดค้นเครื่องบ่มเพาะจิตวิญญาณให้แก่มนุษย์ขึ้นแทน "แม่" หรือศาสนาที่มนุษย์ใช้กันมาช้านาน

    ในสังคมไทยปัจจุบันปัญหา "หน้าที่แม่" บกพร่องมีปรากฏให้เห็นทั่วไปจาก "ลูก" ที่ผิดเพี้ยนแบบต่างๆ ซึ่งสังคมควรโทษว่าเป็นความผิดหรือความรับผิดชอบของ "แม่" แต่ฝ่ายเดียวละหรือ ความเฟื่องฟูของยุควัตถุนิยมเวลานี้ ซึ่งใช้เงินเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีพ ทำให้ทุกคนรวมทั้งผู้หญิงที่เป็นแม่ขวนขวายแสวงหาเงิน จนละเลยหน้าที่สำคัญด้านจิตวิญญาณของความเป็นแม่ ที่ต้องสร้างสรรค์มนุษย์ที่สมบูรณ์ให้แก่โลกไป



    ทางรอดของโลก

    ปณิธานข้อหนึ่งที่ท่านพุทธทาสได้ตั้งไว้ ในการทำงานเผยแผ่พุทธศาสนาของท่านคือ การชักจูงให้ "ทุกคนเปลื้องตนจากอำนาจของวัตถุนิยม" ในการแสดงธรรมต่างวาระและโอกาส ท่านพุทธทาสมักชี้ให้เห็นโทษภัยของการที่มนุษย์ยอมตนตกเป็นทาสของวัตถุ ทำให้ขาดสติปล่อยตนอยู่ในความหลง และมุ่งแต่จะแสวงหาวัตถุมาบำรุงปรนเปรอกิเลสซึ่งไม่มีขอบเขตสิ้นสุด ท่านพร่ำสอนอย่างไม่ท้อถอยว่า วัตถุนั้นไม่อาจให้ความสุขที่แท้จริงแก่มนุษย์ได้ จิตวิญญาณที่ตื่นด้วย "ปัญญา" เท่านั้นจึงจะทำให้เกิดความสุขสงบแก่กายและใจ

    การหลงใหลบูชาวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้น ท่านพุทธทาสชี้ว่าศาสตร์ทั้งสองที่มุ่งเน้นไปแต่ทางวัตถุนั้น ไม่ใช่มรรควิถีที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ ศาสนาหรือธรรมะที่ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องจิตวิญญาณต่างหาก ที่อาจนำมนุษย์ไปสู่ความสุขสงบที่แท้จริง และผู้ที่ทำหน้าที่มอบหรือชี้ทางอันสำคัญนี้ให้แก่มนุษย์ทั่วไปเป็นคนแรกคือ "แม่"

    ท่านพุทธทาสได้กล่าวยกย่องว่า หน้าที่ของแม่เปรียบได้เสมือนกับหน้าที่ของพระเจ้า ผู้สรรค์สร้างโลกนี้ทีเดียว

    "แม่ก็มีหน้าที่สร้างโลกเหมือนกับพระเป็นเจ้า เพราะเกิดมาก็สร้างอุปนิสัยของเด็กทุกคนในโลก จนโตขึ้นมาแล้วก็จะได้เป็นพลโลกที่ดี แม่ก็สร้างโลกนี้เหมือนกับพระเจ้าสร้างโลก และก็โดยกฎของพระเจ้าผู้สร้างโลก คือกฎของอิทัปปัจจยตานั่นเอง..."๙

    เมื่อ "หน้าที่แม่" มีความสำคัญถึงเพียงนี้ จึงทุกคนควรให้ความสนใจและร่วมกันสนับสนุน "แม่" ทั้งหลาย ให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างดีที่สุด เพราะในความเป็นจริงนั้นแม่ก็เป็นแต่ผู้หญิงตัวเล็กๆ ทั่วไปที่มีกำลังกายและใจจำกัด หากทุกคนได้ช่วยเหลือส่งเสริม "แม่" ตามส่วนที่ตนจะทำได้แล้ว สังคมคงอาจหวังได้ว่าผู้หญิงทั้งหลาย จะยังมีใจอารีรับทำหน้าที่ "แม่" อันสำคัญนี้ต่อไป



    เชิงอรรถ

    ๑ พุทธทาสภิกขุ, ปัญญานันทภิกขุ และพระดุษฎี เมธังกุโร. แม่..พระในบ้าน. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, ๒๕๔๑, น. ๙๑-๙๓.

    ๒ Nanda, S. Cultural Anthropology. California : Wadsworth Publishing, 1994, p. 133.

    ๓ คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. สายธาราแห่งพระมหากรุณาธิคุณ. กรุงเทพฯ : บุญศิริการพิมพ์, ๒๕๔๐, น. ๓๔๒-๓๔๕, ๓๔๗ และ ๓๕๑.

    ๔ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล. ใต้เบื้องพระยุคลบาท. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๓, น. ๕๐, ๕๒-๕๓ และ ๖๙.

    ๕ พุทธทาสภิกขุ. พระคุณของแม่คือสันติภาพของโลก. กรุงเทพฯ : อตัมมโย, ๒๕๓๒, น. ๑๕ และ ๑๘-๑๙.

    ๖ เงินที่ผู้สูงอายุเก็บไว้เพื่อใช้จัดการงานศพของตน และ/หรือ เพื่อการทำบุญสุนทาน

    ๗ พุทธทาสภิกขุ, ปัญญานันทภิกขุ และพระดุษฎี เมธังกุโร. แม่..พระในบ้าน. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, ๒๕๔๑, น. ๓๐, ๕๒.

    ๘ เล่มเดิม, น. ๔๗-๔๘.

    ๙ เล่มเดิม, น. ๙๙.
    [/FONT]
     
  3. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,024
    แม่ ความหมายอันยิ่งใหญ่เกินกว่าคำบรรยาย โดยพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพฯ

    <center>แม่ ความหมายอันยิ่งใหญ่เกินกว่าคำบรรยาย โดยพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพฯ </center>
    <center>[​IMG]
    </center>
    แม่
    (พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)


    ในบรรดาคำพูดของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นชาติใดภาษาใด คำว่า "แม่" ดูจะเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่มีมนต์ขลัง มีความหมายกินใจอย่างลึกลับและลึกซึ้งมากที่สุด เพราะอะไร? ทุกคนย่อมมี "แม่" ผู้ให้กำเนิดเป็นเพื่อนเราคนแรกในโลกทีเดียว องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็น "ครู" ที่เราเคารพและยึดมั่นในพระปัญญาคุณ พระกรุณาธิคุณและพระบริสุทธิคุณ แม้ว่าท่านจะเสียพระพุทธมารดาตั้งแต่ประสูติได้ 7 วัน ท่านคงจะมีความรู้สึกเกี่ยวกับแม่ไม่ต่างจากบุคคลอื่นสังเกตได้จากคำสอนในพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับแม่ทั่วๆ ไปที่จะยกขึ้นมา ก่อนที่จะกล่าวถึงแม่ "แม่" ของข้าพเจ้าคนเดียว

    พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับแม่ไว้หลายครั้ง บ้างก็เอ่ยถึงพ่อแม่ควบกันไป บ้างก็เอ่ยเฉพาะแม่โดดๆ เช่นในโสณนนทชาตกมีคาถาที่กล่าวไว้ว่า

    สุหทา มาตา มารดาเป็นผู้ใจดี
    ชยนฺตี มาตา มารดาเป็นผู้ให้เกิด
    โปเสนฺตี มาตา มารดาเป็นผู้เลี้ยงดู
    โคเปนฺตี มาตา มารดาเป็นผู้คุ้มครองรักษา
    วิหญฺญนฺติ มาตา มารดาเป็นผู้เดือดร้อนเป็นห่วงเป็นใย
    อนุกมฺปกา ปติฎฐา จ ปุพฺเพ รสทที จโน มคฺโค สคฺคสฺส โลกสฺส มารดาเป็นผู้เอ็นดู เป็นที่พึ่ง เป็นผู้ให้รส (น้ำนม) มาก่อน เป็นทางแห่งโลกสวรรค์

    ในสคาถวคฺด มีว่า มาตา มิตฺตํ สเก ฆเร มารดา เป็นมิตรในเรือนของตน


    สพฺรหฺมสุตฺต มีความว่า พฺรหฺมาติ ภิกฺขเว มาตาปิตูนเมตํ อธิวจนํ ภิกษุทั้งหลาย คำว่า พรหมนี้เป็นชื่อของมารดาบิดา ปุพฺพเทวาติ ภิกฺขเว มาตาปิตูนเมตํ อธิวจนํ ภิกษุทั้งหลาย คำว่า บุพพเทพเป็นชื่อของมารดาบิดา ปุพฺพาจริยาติ ภิกฺขเว มาตาปิตูนเมตํ อธิวจนํ ภิกษุทั้งหลาย คำว่าบุพพาจารย์เป็นชื่อของมารดาบิดา

    จริงอยู่ ข้าพเจ้ามีแม่ที่มีคุณธรรมตรงกับพุทธภาษิตที่ยกขึ้นข้างต้นทุกประการ แต่ท่านมีตำแหน่งเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งหมายความว่า ท่านเป็น "แม่" ของคนทั้งชาติ แล้วก็เป็นแม่ "ส่วนตัว" ของข้าพเจ้าด้วย ทำให้เขียนเรื่องยากขึ้นอีก ทางที่ดีก็เลือกลักษณะอะไรเด่นๆ มาพูดสักอย่างเดียว คิดดูแล้วตกลงว่าจะเขียนถึงท่านในแง่เป็นบุพพาจารย์หรือเป็นครูคนแรก


    คุณยายเล่าให้ฟังเสมอว่า ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ สมเด็จแม่กับน้า โปรดปรานการเล่นครูนักเรียนกับเด็กที่บ้าน โดยท่านจะเป็นครูและให้เด็กคนอื่นเป็นนักเรียน สมเด็จแม่ทรงมีวิธีการสอนหนังสือที่ดีอยู่แล้ว เด็กๆ ทั้งหลายจึงชอบเป็นลูกศิษย์ท่านกัน จนกระทั่งน้าร้องไห้เพราะไม่มีใครไปโรงเรียนของน้า ร้อนถึงคุณยายต้องมาเป็นตระลาการตัดสินคดีให้แบ่งเด็กไปเข้าโรงเรียนของน้าบ้าง เมื่อการเป็นเช่นนี้ ก็ไม่เป็นการยากสำหรับท่านเลยในการที่จะสั่งสอนและสอนหนังสือลูกๆ ด้วยพระองค์เอง


    ตอนเล็กๆ ท่านสอนให้พับกระดาษ เขียนรูปและทำการฝีมือต่างๆ โดยถือแนวว่าคนเราไม่ควรปล่อยเวลาว่างผ่านไปโดยไรประโยชน์ ถ้าเรานั่งดู ที.วี. วันเสาร์อาทิตย์เฉยๆ โดยมือไม้ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์เป็นโดนกริ้ว

    ตอนบ่ายๆ ท่านไล่ให้ลงไปวิ่งเล่นข้างล่าง เพราะเด็กๆ ควรได้อากาศบริสุทธิ์ โตขึ้นท่านจะให้มีหน้าที่ดูแลสนาม ถอนหญ้าแห้วหมู และคอยตัดหญ้ากับต้นข่อยที่ดัดเป็นรูปต่างๆ เป็นการออกกำลังกายที่เป็นประโยชน์ พอค่ำลงเราก็ขึ้นมารับประทานอาหาร


    ตอนอาหารนี้ถ้าว่างพระราชกิจ สมเด็จแม่มักจะอยู่ด้วย ประการแรกท่านจะได้ดูว่ารับประทานที่มีคุณค่าทางอาหารพอหรือไม่ ประการที่สอง ดูมารยาทโต๊ะ และประการที่สาม เป็นข้อที่พี่น้องทุกคนรวมทั้งพี่เลี้ยงชอบที่สุด คือท่านจะเลือกหนังสือดีๆ สนุกๆ มาเล่าให้ฟัง หนังสือที่ท่านเอามาเล่าบางทีก็เป็นนิทานธรรมดาๆ หรือนิทานเรื่องชาดกในพุทธศาสนา บางทีก็เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ ประวัติบุคคลสำคัญ และความรู้รอบตัวอื่นๆ บางครั้งเป็นข่าวจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์


    ตอนหลังๆ นี้ท่านชอบอ่านเป็นภาษาอังกฤษให้เราหัดฟังภาษาด้วย นานๆ ที่ก็อาจจะมีการถามปัญหาทวนความจำ ถ้าตอบถูกมักมีรางวัลเงินสด ๑ บาท เป็นที่ขบขันกันในครอบครัวว่าหนังสือธรรมดาๆ ที่น่าเบื่อที่สุดในโลก พอสมเด็จแม่เล่ามันสนุกตื่นเต้นมีรสมีชาติขึ้นมาทันที ท่านจะเน้น ระบายสี หยิบยกจับความที่น่าสนใจขึ้นมาเล่า (ทูลหม่อมพ่อยังโปรดฟัง) ทำให้จำง่ายไม่ต้องท่อง เรื่องนี้มีความลับอย่างหนึ่ง (ที่เปิดเผยได้แล้ว) ว่า บางทีข้าพเจ้าขี้เกียจอ่านหนังสือเพราะเรียนเยอะแยะ ก็อาศัยจำเอาจากที่สมเด็จแม่เล่า นำมาวิจารณ์เพิ่มเติม แล้วใช้ตอบข้อสอบ หรือเขียนรายงานส่งครูสบายๆ

    เรื่องนิทานของสมเด็จแม่มีเรื่องที่น่าตื่นเต้น คือเรื่องผี แต่ก่อนนี้พี่เลี้ยงไม่ยอมเล่าเรื่องผี พอไปโรงเรียนเพื่อนๆ ก็มาหลอก สมเด็จแม่ท่านว่า ถ้ามานั่งอธิบายว่าผีไม่มีจ้างก็ไม่เชื่อ ท่านจึงสำทับโดยการเล่าเรื่องผีที่น่ากลัวกว่าให้เข็ด

    เมื่อตอนเล็กๆ ตั้งแต่เริ่มเรียนประถม ท่านสอนภาษาไทย โดยการให้อ่านวรรณคดีเรื่องยืนโรงสามเรื่องคือ พระอภัยมณี อิเหนา และรามเกียรติ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอิเหนา ท่านให้ท่องกลอนตอนที่เพราะๆ เช่น ว่าพลางทางชมคณานก โผนผกจับไม้อึงมี่ ฯลฯ คงจะเป็นเพราะได้อ่านกลอนมาแต่เล็กๆ ทำให้ข้าพเจ้าชอบเรียนวรรณคดีไทย ชอบแต่งกลอน

    ตอนเด็กๆ ข้าพเจ้าเรียนวิชาภาษาอังกฤษค่อนข้างจะอ่อนและหนีเรียนอยู่เสมอ หลังจากฟังพระบรมราโชวาทของทูลกระหม่อมพ่อเรื่อง "ทำไมคนเราต้องเรียนภาษาอังกฤษ" แล้วสมเด็จแม่ก็ค่อยๆ เริ่มสอนศัพท์อังกฤษให้ท่องให้อ่านหนังสือตามลำดับยากง่าย จนเดี๋ยวนี้พอจะส่งภาษาฝรั่งมังฆ้องมังค่าได้

    นอกจากจะเรียนหนังสือที่โรงเรียนแล้วสมเด็จแม่ยังทรงจัดให้ลูกๆ เรียนพิเศษวิชาต่างๆ มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งภาษา เลข ดนตรี วาดรูป และแม้ว่าท่านไม่นิยมความฟุ่มเฟือย (ข้าวของทุกอย่างต้องใช้อย่างประหยัด) เรื่องการใช้จ่ายในเรื่องการเล่าเรียน การซื้อหนังสือ ท่านจ่ายอย่างไม่อั้น เพราะวิชาความรู้ทำให้เราสามารถทำงานช่วยคนหมู่มาก ช่วยบ้านเมืองได้ สมบัติใดๆ ย่อมไม่ประเสริฐเท่าการกระทำคุณงามความดี เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและวิชาความรู้

    ตอนระยะหลังมานี้ พระราชกิจมีมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ในด้านการดูแลความเรียบร้อยของสถานที่ เวลามีใครมาเฝ้าฯ จนกระทั่งความเป็นอยู่ของราษฎร เวลาเสด็จออกเยี่ยมราษฎรทูลกระหม่อมพ่อมักจะทรงเป็น ผู้แนะนำในทางด้านการชลประทาน การเกษตรเป็นส่วนใหญ่เมื่อทรงพบคนเจ็บ ทั้งทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่จะทรงให้หมอในขบวนเสด็จตรวจดูถ้าป่วยมาก โปรดฯ ให้เข้าโรงพยาบาล และให้การศึกษาแก่คนที่อยากเรียนแต่ไม่มีทุน

    พระราชดำริที่สำคัญของสมเด็จแม่ในเรื่องของราษฎร คือการสนับสนุนอาชีพนอกจากการทำเกษตรกรรม บางปีการเพาะปลูกจะไม่ได้ผลดีนัก ด้วยดินฟ้าอากาศไม่อำนวย เกษตรกรต้องเดือดร้อน บ้างก็ต้องทิ้งบ้านช่องไร่นาเข้าหางานทำที่อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเข้ามาทำงานในเมือง ดังนั้นเขาควรจะมีงานทำเพื่อเพิ่มพูนรายได้ สมเด็จแม่ทรงมีพระราชดำริว่า งานอุตสาหกรรมในครัวเรือนเป็นงานที่เหมาะสมมาก คนไทยเราเป็นผู้ที่มีฝีมือในทางการช่าง มีหัวทางศิลปอยู่แล้วจึงสนับสนุนได้ไม่ยาก ก็โปรดเกล้าฯ สนับสนุนงานที่เหมาะสมกับแต่ละภาค

    เช่น การทอผ้า การจักสาน การทำตุ๊กตาไทย เป็นต้น การส่งเสริมนั้นได้ทรงส่งข้าราชบริพารให้เข้าไปติดตามซื้อผลผลิตมาด้วยราคาที่เหมาะสม พระราชทานวัตถุดิบในการผลิตด้วย ของที่นำมาเช่น ผ้ามัดหมี่ ก็ทอดพระเนตร ควบคุมคุณภาพ และจ่ายงานให้ผู้ผลิตด้วยพระองค์เอง โปรดการใช้สอยของที่ผลิตในประเทศไทย บางอย่างแม้ว่าจะแพงหน่อยถ้าเรามีสตางค์แล้วก็ควรจะจ่าย เช่น เราตัดเสื้อสักตัว คนที่ทอผ้าก็ได้เงิน แล้วต่อมาเจ้าของร้านตัดเสื้อลูกมือลูกจ้างอีกหลายคนก็ได้ด้วย เป็นการกระจายรายได้และป้องกันปัญหาการว่างงานด้วย

    เรื่องอื่นที่สมเด็จแม่พระราชทานพระราชดำริมีอีกหลายเรื่องที่สำคัญๆ คือ การจัดตั้งมูลนิธิสายใจไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสนองคุณผู้ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันประเทศชาติ การจัดละครรักชาติ เป็นต้น

    กล่าวโดยสรุปแล้ว ในระยะหลังๆ แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่มีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษภาษาไทยกับท่านบ่อยอย่างแต่ก่อน แต่ก็ได้ศึกษาเรียนรู้ทัศนคติอันเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตมาก ยังเป็นครูที่ดีทีเดียว

    ถึงแม้ว่าสมเด็จแม่จะทรงมีความคิดต่างๆ มากมาย และทรงบ่นเก่งเมื่อพวกเราทำผิด (ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร) ก็ทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวางที่จะยอมรับฟังความคิดของลูกๆ จริงอยู่ท่านไม่พอพระทัยถ้าเรา "เถียง" แต่ถ้าเป็นการ "ออกความเห็น" อย่างสุภาพก็ไม่ทรงว่าอะไรจะดีพระทัยเสียอีก ว่าเรารู้จักคิดเหตุผล

    เรื่องของแม่มีอยู่มากมายเกินกว่าจะกล่าว นับว่าข้าพเจ้าเป็นผู้โชคดีที่มีทั้งพ่อและแม่ที่เป็นแนวทางให้ยึดถือได้อย่างภาคภูมิใจ ที่เขียนเรื่องนี้มิได้ตั้งใจอวดโม้ แต่เป็นเพียงบันทึกความทรงจำเล็กๆ น้อยๆ บางประการเท่านั้น

    นำเสนอ โดย อาจารย์ธเนศ อุ่นศิริ ประธานชมรมเวบพระพุทธศาสนา www.buddhadhamma.com และ www.thaipost.com/lawyer


    ที่มา : ธนาคารกรุงเทพ จำกัด. รวมพระราชนิพนธ์ สมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๑.
    __________________
     

แชร์หน้านี้

Loading...