100 ปี ชาตกาล พุทธทาสภิกขุ นักเขียนหนังสือธรรมะของโลก

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย anko, 2 กุมภาพันธ์ 2006.

  1. anko

    anko เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    972
    ค่าพลัง:
    +8,252
    นิพพาน-ตัวกูของกู-อิทัปปัจจยตา-แก่นพุทธศาสน์-คู่มือมนุษย์
    หลักธรรมคำสอนของพระศาสดาที่ท่านอาจารย์ พุทธทาสภิกขุ ปราชญ์ผู้อุทิศทั้งชีวิตทำงานเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ขจรขจายไปทั่วโลก ผลงานของท่านไม่ว่าจะปรากฏเป็นงานเขียนหรือปาฐกถาธรรมล้วนทรงคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติ ดังมีผู้ขนานนามท่านว่า เมธีแห่งขุนเขา ผู้รจนาวิมุตฺติวรรณกรรม นาคารชนแห่งเถรวาท
    และเนื่องในวาระสำคัญครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของท่านพุทธทาสภิกขุ วันที่ 27 พฤษภาคม 2549 ที่องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติได้ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งเหล่าบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและหลายๆ หน่วยงานต่างแสดงความกตัญญูกตเวทิตาคุณด้วยการสืบสานปณิธานในการเผยแผ่หลักธรรมพระพุทธศาสนา
    ย้อนกลับไปหนึ่งศตวรรษ...ท่านพุทธทาส หรือนามเดิมว่า เงื่อม พานิช เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2549 ในสกุลของพ่อค้าที่ตลาดพุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี บิดามีเชื้อสายจีน ประกอบอาชีพหลัก คือ การค้าขายของชำ แต่อิทธิพลที่ได้รับจากบิดากลับเป็นเรื่องของความสามารถทางด้านกวี ส่วนอิทธิพลที่ได้รับจากมารดาคือความสนใจในการศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้ง ท่านได้เรียนหนังสือเพียงแค่ชั้น ม.3 แล้วต้องออกมาค้าขายแทนบิดาซึ่งเสียชีวิต
    ครั้นอายุครบ 20 ปีได้บวชเป็นพระตามคตินิยมของชายไทยที่วัดโพธารามไชยา และได้รับฉายาว่า 'อินทปัญโญ' แปลว่า ผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ เดิมตั้งใจจะบวชเรียนตามประเพณีเพียง 3 เดือน แต่ความสนใจ ความซาบซึ้ง ความรู้สึกเป็นสุข และสนุกในการศึกษาและเทศน์แสดงธรรม จึงทำให้ท่านไม่อยากสึก
    กระทั่งพระเงื่อมได้เดินทางมาศึกษาธรรมะต่อกรุงเทพฯ ระหว่างที่เรียนเปรียญธรรม 4 อยู่นั้น ด้วยความที่ท่านเป็นคนรักการศึกษาค้นคว้าจากพระไตรปิฎก และศึกษาค้นคว้าออกไปจากตำราถึงเรื่องการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา อินเดีย และการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก ทำให้ท่านรู้สึกขัดแย้งกับวิธีการสอนธรรมะที่ยึดถือรูปแบบตามระเบียบแบบแผนมากเกินไป ความย่อหย่อนในพระวินัยของสงฆ์ ตลอดจนความเชื่อที่ผิดๆ ของพุทธศาสนิกชนในเวลานั้น ทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นว่าพระพุทธศาสนาที่สอนที่ปฏิบัติกัน ในเวลานั้น คลาดเคลื่อนไปมากจากที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ
    ท่านจึงตัดสินใจหันหลังให้กับการศึกษาของสงฆ์แล้วกลับไชยาเพื่อศึกษาและทดลองปฏิบัติตามแนวทางที่ท่านเชื่อมั่น โดยร่วมกับนายธรรมทาสและคณะธรรมทาน จัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม สวนโมกขพลาราม ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2475 จากนั้นได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมะอย่างเข้มข้น จนเชื่อมั่นว่าท่านมาไม่ผิดทางแน่ และได้ประกาศใช้ชื่อนาม พุทธทาส เพื่อแสดงให้เห็นถึงอุดมคติสูงสุดในชีวิตของท่าน
    แม้สมณศักดิ์ที่ได้รับหลายชื่อ แต่ท่านยังคงใช้ชื่อว่า พุทธทาส อินทปัญโญ เสมอ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตัว และอีกประการหนึ่งชื่อนี้เป็นที่มาแห่งอุดมคติของท่านนั่นเอง นอกจากนี้ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทั้งด้านพุทธศาสตร์ อักษรศาสตร์ ปรัชญา ศิลปศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งในระดับนานาชาติ ที่ปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัยมีแผนกสอนวิชาศาสนาสากลทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ ซึ่งล้วนแต่ศึกษางานจากหนังสือของท่าน และหนังสือหลายเล่มได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ อาทิ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน อินโดนีเซีย ลาว และตากาล็อก เป็นต้น
    ยิ่งไปกว่านั้นการปาฐกถาธรรมของท่านที่ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่วิธีการและการตีความพระพุทธศาสนายังกระตุ้นให้ผู้คนหันกลับมาสนใจธรรมะกันอย่างลึกซึ้งแพร่หลายมากขึ้น ครั้งสำคัญๆ ได้แก่ ปาฐกถาธรรม เรื่อง ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม อภิธรรมคืออะไร ปฏิจจสมุปบาทคืออะไร จิตว่างหรือสุญญตา นิพพาน การทำงานคือการปฏิบัติธรรม การศึกษาสุนัขหางด้วน เป็นต้น
    งานประพันธ์ของท่านเอง อาทิเช่น ตามรอยพระอรหันต์ ชุมนุมเรื่องสั้น ชุมนุมเรื่องยาว ชุมนุมข้อคิดอิสระ บทประพันธ์ของสิริวยาส (นามปากกาที่ใช้เขียนกวีนิพนธ์) เป็นต้น ส่วนงานแปลจากภาษาอังกฤษเล่มสำคัญคือ สูตรของเว่ยหล่าง และคำสอนของฮวงโป ทั้งสองเล่มเป็นพระสูตรที่สำคัญของพุทธศาสนานิกายเซนเลยทีเดียว และผลงานเรื่อง แก่นพุทธศาสน์ ของท่านก็เป็นหนังสือชนะเลิศรางวัลยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ.2508 อีกด้วย
    ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ละสังขารกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 สิริรวมอายุ 87 ปี นับได้ 67 พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าแทนตัวท่านให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานมรดกความเป็น 'พุทธทาส' ต่อๆ มา
    ท่านพุทธทาสนับว่าเป็นผู้มีความอัจฉริยะทางด้านงานเขียนไม่แพ้การแสดงธรรม แม้ว่าความโดดเด่นจะอยู่ที่งานเขียนหนังสือธรรมะที่เป็นการอธิบายหลักธรรมให้เข้าถึงคนอ่านได้ง่ายๆ ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งจะเห็นว่าในความเป็นนักกวีของท่านก็โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นกัน
    นอกจากนี้ยังมีผลงานประพันธ์ประเภทรวมเรื่องสั้นชื่อ ชุมนุมเรื่องสั้น ที่เขียนระหว่างปี พ.ศ.2477-2491 ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา และหนังสือพิมพ์อื่นๆ อีกบางฉบับ ซึ่งคณะธรรมทานไชยาได้รวบรวมจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2495 ซึ่งเป็นสำนวนเขียนในระยะแรกๆ ก่อนที่ระยะหลังๆ ท่านไม่ค่อยได้เขียน แต่ได้พูดเป็นส่วนใหญ่ แล้วมีผู้ถอดความออกมาพิมพ์เป็น 'งานพูดแล้วเป็นหนังสือ' ปรากฏอยู่มากมายในบรรณโลกนี้
    บัญชา เฉลิมชัยกิจ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด เจ้าของสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ผู้ริเริ่มและเห็นความสำคัญของการนำหนังสือธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาสมาจัดพิมพ์เป็นหลัก และยังได้พิมพ์ 'ชุมนุมเรื่องสั้น' เป็นครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ.2531 ล่าสุดได้จัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 4 ไปแล้ว โดยบัญชา เฉลิมชัยกิจ เล่าว่า
    "บทประพันธ์เรื่องสั้นของท่านมีอยู่เล่มเดียว ท่านเขียนแบบนักเขียนวรรณกรรมเรื่องสั้น แม้จะเป็นแนวธรรมะ แต่ลักษณะการเดินเรื่องเป็นแบบเรื่องสั้น นอกจากนี้ยังมีบทกลอนที่ท่านเขียนสมัยเป็นหนุ่มใช้นามปากกาว่า สิริวยาส เขียนกลอนรวมเป็นเล่มชื่อ 24 ฉากชีวิต โดยพูดถึงมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ว่าแต่ละขั้นตอนของชีวิตนั้นเป็นอย่างไร มีความต้องการอะไร และมีความเป็นจริงว่าคืออะไร ตั้งแต่เกิดเป็นทารกน้อย เป็นเด็ก เป็นหนุ่มสาว เป็นคนวัยกลางคน วัยทำงาน เป็นพ่อแม่ และเป็นผู้เฒ่า แล้วก็ตายลง ทุกคนต้องตายไปตามกฎธรรมชาติ ซึ่งตอนนั้นยังไม่ใช้นามปากกา พุทธทาส ด้วยซ้ำ ส่วนนามปากกาพุทธทาสเริ่มใช้เมื่อเขียนเรื่อง ตามรอยพระอรหันต์ ที่ท่านเกิดแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ เกิดความเชื่อมั่นในหลักธรรมหรือหลักธรรมชาติ
    บทกลอนท่านเขียนมาจากธรรมะนั่นแหละ กลอนที่โดดเด่นและติดปากติดหูคนมากๆ เช่น 'ตัวกู-ของกู' คนเขาจำกันเยอะหรือ 'มองแต่แง่ดีเถิด' คนเขาเอาไปพิมพ์ในงานต่างๆ เพื่อเตือนสติ ซึ่งคนทั่วไปก็ยังเป็นปุถุชนยังมีสิ่งที่ถูกและผิดปนๆ กันอยู่ อย่างน้อยเพื่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกัน รวมถึงเกิดสันติภาพ กลอนของท่านอาจารย์มีเยอะมาก และเด่นๆ ดีๆ ทั้งนั้น"
    บัญชายังบอกอีกว่า จริงๆ ท่านเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่อยู่กรุงเทพฯ เขียนบทความและเขียนหนังสือเล่มหนึ่งแจกในงานศพพระอุปปัชชา เพื่อให้เห็นว่าการทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนาควรจะเข้าใจอย่างถูกต้องอย่างไร เป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร และบุญที่เชื่อกันผิดๆ และทำกันผิดๆ เป็นอย่างไร ยิ่งทำบุญยิ่งทำให้ความทุกข์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างไร
    "ความเป็นนักเขียนของท่าน เล่ากันว่าเวลาท่านอาจารย์ออกเทศน์สักหัวข้อธรรมหนึ่ง ท่านก็จะเตรียมหัวข้อย่อๆ เอาไว้ที่กระดาษแข็งแผ่นเล็ก แล้วเวลาเทศน์ท่านก็เทศน์ตามความคิดที่เตรียมมา และอัดใส่เทป หลังจากนั้นเทปเหล่านั้นก็จะถูกเก็บรักษาไว้ หรือถ่ายทอดออกไปตามแต่ผู้ต้องการ มีคนถอดเทปออกมาพิมพ์เป็นหนังสือเล่มบางๆ เยอะแยะไปหมด หลังจากท่านเทศน์แล้วท่านจะมีจังหวะเกิดแรงบันดาลใจตามเนื้อหาที่เทศน์ แล้วเขียนออกมาเป็นบทกวี เป็นคำกลอน เป็นโคลง เป็นฉันท์ต่างๆ ขึ้นมาอีกทีหนึ่ง และจะเขียนเป็นเศษกระดาษเก็บเอาไว้ หรือเป็นด้านหลังของกระดาษที่ใช้แล้ว แม้กระทั่งสมุดคัดลายมือของเด็กประถม ท่านก็จะนำมาเขียนกลอนเขียนบทความ"
    กลอนของท่านนับว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว "ท่านเป็นปราชญ์ที่มีความคิดจิตใจเปิดกว้าง และท่านสามัคคีกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์ มุสลิม ซิกข์ และนิกายต่างๆ ของศาสนาพุทธ ท่านศึกษาจากผู้รู้และจับเอาส่วนดีของทุกนิกายเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ และชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ท่านน่าจะเขียนหนังสือทุกเวลาที่มีโอกาส เขียนหนังสือตลอดเวลา หลักฐานจากหนังสือที่เราพิมพ์ออกมาคือ พุทธทาสลิขิต เล่ม 1-3 ความจริงสามารถที่จะพิมพ์เล่ม 4-6 ออกมาได้อีก แต่ทางสำนักพิมพ์เพิ่งพิมพ์ได้ 3 เล่ม แต่ละเล่มหนาและมีเนื้อความจำนวนมาก
    สิ่งที่แสดงว่าท่านเป็นคนเขียนหนังสือตลอดเวลาก็คือ 'ตัวหนังสือ' จะเห็นว่าช่วงที่ท่านอายุยังไม่เยอะ ตัวหนังสือจะสวยมาก ลายมือท่านจะสวย แต่พุทธทาสลิขิตลายมือท่านจะเป็นช่วงที่อายุมากแล้ว จะเห็นว่าตัวหนังสือสั่นไหวตามธรรมชาติของสังขารของร่างกายที่อาจจะมีมือสั่นนิ้วสั่นบ้าง จะสังเกตว่าเป็นเช่นนั้น และท่านก็เขียนเอาไว้ด้วยกระดาษต่างๆ ด้วยสมุดที่เขาใช้แล้วด้านหนึ่ง หรือไดอารี่ สมัยก่อนปากกาลูกลื่นเส้นโตๆ พอนานๆ ปีเข้ามันทะลุกัน เพราะเขียนทั้งสองด้าน นานปีเข้าน้ำหมึกปากกาลูกลื่นที่เป็นน้ำมันก็ซึมทะลุกัน บรรณาธิการจึงต้องทำงานหนักและต้องใช้ความเพียรกับความชำนาญเป็นอย่างมาก และต้องใช้เวลานานหลายๆ เดือนกว่าจะได้เป็นหนังสือทั้งสามเล่มนี้"
    แม้กาลเวลาจะล่วงเลยมาแต่หลักธรรมของท่านกลับโชติช่วงไม่มีวันดับ "หลักธรรมหรือหลักธรรมชาติกี่พันปีก็เป็นอย่างนั้น พระพุทธองค์กล่าวไว้ว่า หลักธรรมะหรือกฎธรรมชาติล้วนเป็นอย่างนั้น เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือกฎของขันธ์ 5 หรือสิ่งที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวคน กฎเหล่านี้ไม่มีใครพูดมันก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีใครค้นแล้วเอามาอธิบายมันก็เป็นเช่นนั้น หรือใครจะอธิบายผิดบ้างถูกบ้างมันก็เป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้"
    บัญชา กล่าวเสริมอีกว่า "ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ท่านพุทธทาสภิกขุ สังคมไทยควรจะส่งเสริมพุทธศาสนาส่วนที่เป็นวิทยาศาสตร์ให้เข้าไปในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเริ่มปูพื้น ไม่ได้หมายความว่าอดีตเขาไม่ได้ปูพื้นมาก่อน แต่ผมว่ายังไม่พอเพียงกับคลื่นกระแสยักษ์ของทางวัตถุนิยมหรือพวกนิยมวัตถุ กระแสอันนั้นแรงมาก แรงยิ่งกว่าสึนามิเสียอีก ความจริงแล้วปัจจัย 4 เป็นวัตถุที่พอเพียง แต่เกินพอเพียงคงไม่ใช่แล้ว ผมทราบมาว่าบางบ้านมีรถ 3-4 คันต่อคน เขามีตังค์ เขาไม่ผิด แต่ผมขอพูดขอวิจารณ์หน่อย เพราะว่าโลกใบนี้ไม่ใช่โลกของคุณคนเดียว
    การส่งเสริมทางศีลธรรมของพระพุทธศาสนาหรือทุกๆ ศาสนาจึงไม่พอเพียง ผมไม่ได้บอกว่าไม่ได้ทำ แต่ยังไม่พอเพียง ผมอยากให้ส่งเสริมพุทธศาสนามากขึ้นและต่อเนื่อง สมดังที่ท่านอาจารย์เคยชี้แนะเอาไว้ว่า 'ศีลธรรมของยุวชน คือสันติภาพของโลก' อันนี้คือศีลธรรมอันดีงาม"
    ด้าน วรุตม์ ทองเชื้อ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ผู้ที่ได้อ่านผลงานของท่านอาจารย์พุทธทาสแทบทุกเล่ม เล่าถึงงานเขียนของท่านพุทธทาสเช่นกันว่า "บทความชิ้นแรกของท่านชื่อ 'ประโยชน์แห่งทาน' พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระอุปปัชชา มีเนื้อความตอบคำถามของคนสมัยใหม่ที่เริ่มสงสัยสัยคุณค่าของการทำทานแบบที่ทำๆ กันอยู่ เขียนเมื่อปี 2473 และตอนปลายปีเขียนบทความเรื่อง 'พระพุทธศาสนาขั้นปุถุชน' เล่มนี้ได้อธิบายคุณค่าของศาสนาด้วยภาษาสมัยปัจจุบัน และต่อมาท่านก็เริ่มแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ 'นิพพาน' จริงๆ ก่อนที่ท่านจะใช้นามปากกาพุทธทาสท่านเขียนหนังสือไว้สามเล่ม แต่อีกเล่มหนึ่งขาดหายไป คงต้องใช้เวลาค้นอีกนิดนึง"
    ความอัจฉริยะด้านกวี บรรณาธิการมองว่า "การเขียนกลอนท่านได้รับอิทธิพลมาจากพ่อ (คุณพ่อเซี้ยง) หลังจากมาศึกษาธรรมะแล้วจึงกลายเป็นกลอนที่เกี่ยวกับธรรมะ เวลาเขียนท่านจะมีสมุดเล่มเล็กๆ และปากกาพกอยู่ตลอด เวลาเดินชมสวนโมกข์ สมัยก่อนท่านเคยเล่าว่าช่วงออกบิณฑบาต ท่านเกิดความคิดขึ้นมา ท่านจดจนฝ่ามือเต็มไปด้วยตัวหนังสือ คือความคิดออกมาต้องรีบจด บางทีคิดได้ตอนนั้น แวบขึ้นมา มันเป็นความคิดที่แหลมคม ต้องรีบจด พอกลับมาถึงวัดแล้วค่อยมาลอกอีกทีหนึ่ง บางทีถ้าไม่จดตั้งแต่ตอนนั้นพอกลับมาสักพัก ความคิดไม่แหลมคมเหมือนเก่าแล้ว ท่านบอกอย่างนี้ ดังนั้นช่วงท่านบิณฑบาตจะได้คิดอะไรที่แหลมคม"
    สำหรับหลักธรรมต่างๆ ที่ออกมาจากการปาฐกถาหรือบรรยายธรรมนั้น "เรื่องที่ท่านพูดแบบจริงจังและต่อเนื่อง ท่านก็จะเขียนเป็นพล็อตเป็นโครงร่างไว้ตลอด บางเรื่องท่านเขียนไว้ แต่ยังไม่ได้พูดก็มี อย่างช่วงเข้าพรรษาหรือพูดติดต่อกันสองเดือนสามเดือนบ้าง ว่าเป็นบรรยายครั้งที่ 1-2-3-4 ก่อนบรรยายหัวข้อต่อไปก็จะเท้าความ วางโครงร่างไว้อย่างเวลามีพระในพรรษาบวช ท่านก็จะพูดชุดนี้ หรือมีคณะทัวร์บอกว่าอยากจะฟังเรื่องนั้นเรื่องนี้ ท่านก็พูด บางคณะไม่ได้บอก ท่านก็ทำเป็นหัวข้อปกิณกะไว้พูดให้ฟัง ลักษณะแบบนี้สมัยพระพุทธเจ้าก็มี พระพุทธเจ้าสมัยก่อนก็คล้ายๆ กัน คือยกเอาผู้ฟังเป็นเหตุ ผู้ฟังเป็นบุคคลประเภทนี้ อาชีพนี้ อุปนิสัยอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็จะตรัสให้เหมาะ แต่บางทีพระพุทธเจ้าก็ตรัสขึ้นมาเอง"
    วรุตม์ กล่าวอีกว่า "ในฐานะที่ทำหนังสือของท่านอาจารย์มาตลอด เห็นว่าหลักคิดหรือสิ่งที่ท่านพุทธทาสนำมาเผยแผ่ ท่านมีจุดประสงค์ที่จะให้โลกนี้มีสันติสุข สันติภาพ นอกจากสันติภาพในตัวของบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติเอง ความเป็นอิสระ คือหลุดพ้นด้วยตัวของตัวเองแล้ว ท่านยังมองกว้างไปถึงสันติสุข สันติภาพระดับโลกด้วย เราทำหนังสือของท่านมาเป็นระยะเวลานาน เมื่อท่านพูดไปก็จะมีแก่นมีแกนเป็นหลัก ให้ทำลายความยึดมั่นถือมั่น ให้ทำลายความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นจุดประสงค์ที่จะให้ตัวเองละกิเลสได้ด้วย และเผื่อแผ่ความดีความงามหรือว่าความปรารถนาให้โลกมีสันติสุขและสันติภาพ
    หนังสือธรรมะของท่านเมื่อเห็นครั้งแรกๆ อาจจะรู้สึกกลัวไม่กล้าอ่าน ส่วนมากเป็นอย่างนั้น แต่พออ่านไปๆ มันยิ่งสงบยิ่งเย็น บางครั้งทำงานเยอะๆ เหนื่อยๆ สับสนวุ่นวายบ้าง พออ่านหนังสือของท่านแล้วทำให้เรายิ่งสงบยิ่งเย็น บางทีคำบางคำของท่านเล็กๆ คำเดียวก็สะกิดใจทำให้เย็นลงได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าหนังสือเล่มจะหนาจะใหญ่ หลายๆ ประโยคหลายๆ ถ้อยคำก็ทำให้เราสงบและเย็นเมื่อได้อ่านลงไปในนั้น"
    สำหรับกิจกรรมต่างๆ ที่ทางสำนักพิมพ์สุขภาพใจได้จัดขึ้นเนื่องในวาระสำคัญดังกล่าว โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด กล่าวว่า "เพื่อบอกถึงปณิธานและความตั้งใจว่า 100 ปี ชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ชัดเจนว่าคือการต่อยอด พยายามสื่อปณิธานท่านไปยังศตวรรษใหม่ ไปสู่คนรุ่นใหม่ให้เติบโตต่อไป และไม่ตาย อย่างคำที่ท่านพูดเสมอว่า 'พุทธทาสไม่มีตาย' เพราะท่านได้ทำงานและมีผลงานที่สืบสานต่อไปได้โดยไม่มีจบ เราพิมพ์หนังสือท่านมานานมาก ตั้งแต่ปี 2525 นามสำนักพิมพ์สุขภาพ ส่วนคำว่า 'ใจ' ท่านพุทธทาสเป็นผู้เติมให้ เนื่องจากไปขออนุญาตท่านพิมพ์หนังสือธรรมะขาย จึงมีสำนักพิมพ์สุขภาพใจนับตั้งแต่ตอนนั้น และพิมพ์งานของท่านมาโดยตลอด
    โอกาสครบรอบ 100 ปี ในปี 2549 เราพูดคุยกันตลอดปี 2547 เพราะว่าลูกศิษย์ลูกหาหลายๆ ส่วนเตรียมการที่จะสร้างสรรค์งานดีๆ ออกมา เราก็เป็นหนึ่งในเครือข่าย คุยกันในเรื่องของหนังสือว่าน่าจะมีหนังสือชุดดีๆ อย่างชุด ธรรมโฆษณ์ ที่ทำเป็นปกแข็งเล็กลงจากปกจริง เพื่อให้พกพาง่าย หรือว่าปกแข็งเล่มอื่นๆ ที่ทำต่อยอดงานท่าน หรือนำเล่มที่อ่านง่ายๆ มาทำใหม่ พอมาช่วงต้นปี 2548 เริ่มสานต่อ แต่กลุ่มเป้าหมายมักเป็นคนที่อ่านบันไดขั้นที่ 5-6-7 ไปแล้ว อย่าง พุทธทาสลิขิต หรือว่าหนังสือ แก่นพุทธศาสน์ และคู่มือมนุษย์ อาจจะมีบ้าง มักจะต้องอ่านจากเล่มน้อยๆ มาก่อน และคุยกันว่าทำหนังสือไปสู่คนรุ่นใหม่ๆ เน้นเยาวชน เน้นนักศึกษานิสิต ที่จะเป็นกำลังต่อไป จึงเกิดเป็นโครงการหนังสือชุดต่างๆ ขึ้น"
    โดยหนังสือที่พิมพ์ออกมาในวาระสำคัญดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ด้วยกัน 1.พุทธทาส 100 ปี หนังสือดี 100 เล่ม 2.เพชรจากธรรมโฆษณ์ 3.หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน 4.หนังสือเล่มพิเศษวาระ 100 ปี อาทิ ร้อยเรื่องเล่าของชาวสวนโมกข์, 100 ธรรมคำคมพุทธทาส, ร้อยคน ร้อยธรรม 100 ปี พุทธทาส, คำกลอนสอนธรรมสองภาษา เป็นต้น
    นอกจากนี้ยังมี โครงการตามรอยเมธี 100 ปี พุทธทาส จัดเดินทางไปสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี โดยค้างคืนที่สวนโมกข์ รวมถึง โครงการพุทธบุตร พุทธทาส ที่ทางสำนักพิมพ์จัดเดินทางไปกันเป็นประจำอยู่แล้ว และเปิดกว้างให้กับทุกท่านที่อยากร่วมเดินทางไปด้วย โดยแจ้งความจำนงมาได้ที่ทางสำนักพิมพ์ โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และอีกโครงการหนึ่งคือการประกวด รางวัลนิทานสีรุ้ง ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 3 โดยนำเอาเชื่อมโยงกับงานนี้ด้วยแนวคิด เด็กดีมีธรรมะ เป็นหัวข้อประกวด
    โครงการที่ถือว่าน่าสนมากนั่นคือ โครงการ 100 ปี พุทธทาส หนังสือดี 100 เล่ม จัดพิมพ์หนังสือออกมาเป็นชุดให้ครบ 100 เล่ม แบ่งออกเป็น 5 ชุด ได้แก่ 1.ชุดธรรมะสุขใจ สำหรับผู้สูงอายุ เช่น ความเจ็บไข้มาเตือนให้ฉลาด, ยอดแห่งความสุข, วิธีชนะความตาย ออกแบบปกให้มีความทันสมัย ไม่เพียงแต่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่อ่าน เด็กๆ ยังสามารถหยิบจับอ่านได้ 2.ชุดธรรมะฝึกใจ สำหรับคนทำงาน เช่น ทำงานให้สนุกได้อย่างไร, ทำงานคือการปฏิบัติธรรม 3.ชุดธรรมะโดนใจ แสดงถึงความเป็นตัวตนและอัตลักษณ์ เช่น เก็บความโกรธใส่ยุ้งฉาง 4.ชุดธรรมสบายใจ ธรรมะเพื่อฝึกตนเอง เช่น ทานอย่างไรจะได้บุญมาก 5.ชุดธรรมะปลูกใจ (สำหรับเด็ก) พ่อแม่อาจจะอ่านให้เด็กๆ ฟัง หรือวัยรุ่นอ่าน เช่น เด็กดีต้องมีธรรมะ
    รวมถึงหนังสือพิเศษ ร้อยคน ร้อยธรรม 100 ปี พุทธทาส เรื่องเล่าประสบการณ์ตรงจากการศึกษาธรรมะและผลจากการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง เพื่อเป็นแนวทางและสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่กำลังค้นหาหนทางได้มีแบบอย่างและได้คนพบว่า 'ธรรมะคือคำตอบของชีวิต' ของคนดังและธรรมดาจากหลากหลายอาชีพมาร่วมกันถ่ายทอด ซึ่งจะเปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือที่จะถึงนี้
    กรณีที่หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่าสำนักพิมพ์สุขภาพใจผูกขาดผลงานของท่านอาจารย์พุทธทาสนั้น เธอแจงว่า "คงไม่ได้ผูกขาด เพราะไม่เหมือนผลงานของนักเขียน และทราบว่าตอนนี้หลายๆ สำนักพิมพ์กำลังพิมพ์ออกมากันเยอะมาก สำนักพิมพ์ไหนที่เห็นความสำคัญและต้องการนำเอาผลงานของท่านมาพิมพ์ สามารถขอไปที่มูลนิธิธรรมทานและนำเงินไปถวายได้ หรือนำหนังสือที่พิมพ์ถวาย แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นเม็ดเงินเท่าไหร่ แต่ละสำนักพิมพ์สามารถที่จะเอาแต่ละเรื่องมาพิมพ์ได้ มูลนิธิธรรมทานเป็นผู้อนุมัติ
    ถ้ามองแง่การตลาดถือเป็นการแข่งขันแน่นอน แต่ถามว่าเป็นด้านลบไหม คิดว่าไม่เป็นลบ ผลดีประการแรกคือทำให้เราพัฒนาไปด้วย คือต้องย้อนกลับมาดูว่าสำนักพิมพ์สุขภาพใจล้าหลังอยู่หรือเปล่า ตรงไหนที่จะพัฒนาให้คนอ่านได้มากขึ้น คงไม่ได้พัฒนาเพื่อแข่ง แต่พัฒนาเพื่อให้ผลงานดีขึ้น เพราะว่าหนังสือเรามีเยอะมากอยู่แล้วโดยฐาน แต่ว่าทำอย่างไรให้หนังสือที่เยอะหรือเรื่องไหนที่ไม่ได้พิมพ์ซ้ำปัดออกมาพิมพ์ใหม่
    อันที่สองเกิดจากการพัฒนาการอ่านหนังสือธรรมะ โดยตลาดเมื่อมีผู้เข้ามาทำมากขึ้นและทำให้เกิดความหลากหลาย คิดว่าต้นทุนการผลิตต่างกัน แนวคิดการผลิตต่างกัน เพราะฉะนั้นหนังสือที่ออกมาหนึ่งเล่ม สมมติทำ 'ตัวกู-ของกู' ออกมาหนึ่งเล่ม คนที่จะหยิบของสุขภาพใจก็อาจจะเป็นคนที่ชอบใจอย่างหนึ่ง บางคนอาจชอบใจที่อื่น และถ้าได้อ่าน 'ตัวกู-ของกู' จากที่อื่นแล้ว เขาเกิดมาเห็น 'ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษณ์' อาจจะต่อยอดกัน คิดว่าเป็นผลในด้านดีต่อตัวเองมากกว่า และการที่สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เข้ามาแล้วทำให้พลิกด้านการตลาดได้ถือเป็นข้อดี เพราะหนังสือธรรมะไม่เคยได้ติดอันดับหนังสือขายดีก็ติด หรือว่าถ้าเข้าไปในร้านหนังสือใหญ่ๆ จะมีเชลฟ์หนังสือธรรมะข้างหน้าอีกมุมหนึ่งเลย ซึ่งด้วยนวัตกรรมการดีไซน์ การนำเสนอ ทำให้เกิดผลดี ไม่ได้ทำให้เราเสียตลาด"
    สำหรับงานวันที่ 27 พฤษภาคม 2549 ที่จะถึงนี้นั้น โชนรังสี บอกว่า "สำนักพิมพ์สุขภาพใจคงเป็นหนึ่งในองค์กรที่จะไปร่วมในสวนโมกข์ แต่ว่าคงต้องขึ้นอยู่กับทางสวนโมกข์ จริงๆ เจ้าภาพท่านพยายามอยากกระจายกันจัดงานออกไปทั่วประเทศ และกำลังเขียนโครงการขอพื้นที่จัดนิทรรศการประวัติและผลงานของท่านพุทธทาสในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่กำลังจะมาถึงนี้ แต่ติดเรื่องงบประมาณ เพราะคิดว่าจัดที่สวนโมกข์คนคงไม่เยอะเท่าจัดในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เพื่อจะได้เผยแผ่ประวัติและหลักธรรมอันดีงามของท่านอาจารย์พุทธทาสออกไปกว้างขวางมากยิ่งขึ้น"

    ที่มา // http://www.bangkokbiznews.com/jud/wan/
     
  2. anko

    anko เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    972
    ค่าพลัง:
    +8,252
    ขออภัยด้วยนะคะ ถ้าอ่านยากและลายตา ลืมจัดก่อน(^^;)
     

แชร์หน้านี้

Loading...