เมตตา วาจาสิทธิ์ อายุยืน รวยสมปรารถนา
“พระธาตุวัดบ้านโนนแกด” เป็นโบราณสถานที่มีความเก่าแก่แห่งหนึ่งใน จ.ศรีสะเกษ เดิมเป็นพระธาตุที่ก่อด้วยอิฐทั้งองค์ มีลักษณะคล้ายพระธาตุพนม ส่วนยอดจะกลม ที่ยอดพระธาตุจะมีฉัตรสำริดหลายชั้นและมีกระดิ่งโลหะเมื่อลมพัดจะมีเสียงดัง ในทุกวันพระจะมีแสงลอยออกจากยอดพระธาตุ จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านให้ความนับถือแห่มากราบไหว้สักการบูชาตลอดอย่างต่อเนื่อง แต่ต่อมาองค์พระธาตุได้ล้มลงมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกับพระธาตุพนมล้ม ชาวบ้านที่เคยไปเคารพกราบไหว้ต่างรู้สึกเสียดายได้ช่วยกันนำชิ้นส่วนที่สำคัญเก็บไว้
ต่อมาในสมัยที่ หลวงปู่เกลี้ยง เตชธมฺโม หรือ พระครูโกวิทพัฒโนดม เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน มาจำพรรษาที่วัดบ้านโนนแกด ได้มีศรัทธาร่วมกับคณะกรรมการวัดและพระผู้ใหญ่ในจังหวัด วางแผนบูรณะ โดยเชิญเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร มาดำเนินการขุดกรุฐานองค์พระธาตุ พบโบราณวัตถุมีค่ามากมาย อาทิ พระพุทธรูปทองคำ ๑๖ องค์ ผอบบรรจุพระบรมธาตุ ๑ ใบ พระพุทธรูปเงิน ๑ ถาด บาตรพระ ๓ ใบ ดาบโบราณ ๑ เล่ม แหวนประดับพลอย ๔ วง และอื่น ๆ อีกหลายรายการ จึงได้จัดสร้างห้องเก็บไว้ อย่างปลอดภัย
เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่ดำเนินการขุด ให้ความเห็นว่าพระธาตุบ้านโนนแกดมีอายุกว่า ๑,๔๐๐ ปี ก่อนล้มลง เคยได้รับการบูรณะมาแล้ว ๑ ครั้ง การบูรณะครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นการบูรณะครั้งที่ ๒ องค์พระธาตุวัดโนนแกดนั้นเป็นที่ศรัทธาของประชาชนชาวเมืองศรีสะเกษและใกล้เคียงมาก เช่นเดียวกับ “หลวงปู่เกลี้ยง” ที่มีอายุ ๑๐๓ ปี มีญาติธรรมจากทั่วประเทศเดินทางมากราบนมัสการขอพรเป็นประจำ เป็นพระสงฆ์นักพัฒนาและมีวิชาความรู้ทางด้านพระคาถาอาคมที่นำมาช่วยสงเคราะห์ชาวบ้าน
หลวงปู่เกลี้ยง เป็นชาวบ้านก้านเหลือง ต.หมากเขียบ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ มีนามเดิมว่า “เกลี้ยง คุณมานะ” เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๕๑ หลังเรียนจบมัธยม ๓ เข้าเป็นครูช่วยสอนที่โรงเรียนบ้านโนนแกด สอนได้ประมาณ ๒ เดือน ทางราชการให้ย้ายไปช่วยสอนที่โรงเรียนบ้านโพรง ต.ไพรบึง อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นเวลา ๓ ปี ๖ เดือน
ในช่วงที่สอนหนังสืออยู่นั้น สุขภาพร่างกายของท่านไม่ค่อยดีนัก จึงขอลาออกมารักษาตัว เมื่อสุขภาพดีขึ้นแล้ว ได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านโนนแกด ท่านเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา อีกทั้งมีประสบการณ์ด้านการสอนมาแล้ว จึงขออนุญาตเจ้าอาวาสไปเรียนนักธรรมที่วัดบ้านดวนใหญ่ กิ่งอำเภอวังหิน จ.ศรีสะเกษ
หลังจากนั้นหลวงปู่เกลี้ยง ได้เข้ากรุงเทพฯไปเรียนนักธรรมตรีที่สนามหลวง โดยมีพระภิกษุสามเณร ไปสอบ ๔๗ รูป ปรากฏว่าหลวงปู่เกลี้ยงและพระภิกษุสิงห์ สอบผ่านแค่ ๒ รูป เท่านั้น เมื่อจบแล้วได้กลับมาเรียนต่อนักธรรมโทที่จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ยังไม่ทันสำเร็จ ทางราชการก็มีหมายเรียกให้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ท่านจึงลาสิกขาออกไปช่วยชาติ หลังปลดประจำการแล้ว ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถพิเศษที่เคยมีมาในขณะรับราชการทหาร สมัยออกรบสงครามมหาเอเชียบูรพา ช่วยชาวบ้านรักษาพยาบาลด้วยสมุนไพรจนหายจากการเจ็บป่วยจำนวนมาก ทำให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ขณะอายุ ๖๗ ปี หลวงปู่เกลี้ยงได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบ้านแทง ต.ซำ อ.เมือง จ.ศรีสะ เกษ โดยมีพระเกษตรศีลาจารย์ วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม ต.เมืองใต้ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูประศาสน์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสมุห์บุญทัน เป็นพระอนุสาวนา จารย์ ได้ฉายาว่า “เตชธมฺโม” จากนั้นได้เริ่มศึกษากรรมฐานโดยออกธุดงค์ไปเรียนวิชาจากหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ชอบ รวมทั้งหลวงพ่อมุม วัดปราสาทเยอร์ สุดยอดเกจิอาจารย์แห่งบุรีรัมย์ จนมีความชำนาญทั้งด้านพระกรรมฐาน และพุทธาคม จากนั้นได้เดินทางมาอยู่ที่วัดบ้านโนนแกด
หลวงปู่เกลี้ยง ไม่เคยหยุดนิ่งในการช่วยเหลืองานพระศาสนา และงานเพื่อส่วนรวมของประชาชน โดยเฉพาะงานบูรณะพัฒนาวัดโนนแกด ได้สร้างสรรค์และนำความเจริญมาสู่วัดจนเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน อีกทั้งยังให้ความเมตตาช่วยเหลือวัดวาอารามต่าง ๆ ใน จ.ศรีสะเกษอย่างเต็มที่ และที่ผู้คนยอมรับนับถืออย่างมากก็คือ การสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้ประสบเคราะห์ชะตากรรมต่าง ๆ ด้วยตำรับยาแพทย์แผนโบราณ อีกทั้งเป็นพระที่สำเร็จอภิญญาญาณ สามารถทำนายทายทักเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ และมีวาจาสิทธิ์ พูดคำไหนเป็นคำนั้น โดยลูกศิษย์หลาย ๆ คนได้พบเจอประสบการณ์ความมหัศจรรย์ในตัวหลวงปู่เกลี้ยง
นอกจากนี้ท่านเป็นพระสงฆ์ที่ดำรงตนแบบสมถะ ไม่ยึดติดในลาภยศสรรเสริญ มักจะสั่งสอนญาติโยมด้วยข้อธรรมชี้นำแนวทางแห่งการสร้างความดี เพื่อใช้การดำเนินชีวิต ด้วยคุณงามความดีได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ “พระครูโกวิทพัฒโนดม” พร้อมตาลปัตรพัดยศ เมื่อ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๔ และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๕ ธ.ค. ๕๒ มหาเถรสมาคมมีมติให้เลื่อนชั้นจากตำแหน่งพระครูเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอก เป็นเทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก เนื่องจากหลวงปู่เกลี้ยงมีอายุมากถึง ๑๐๓ ปีแล้ว จึงได้นำพระบัญชาตราตั้งมาถวายแก่หลวงปู่เกลี้ยงที่วัด
โดยทำพิธีมอบตราตั้งเลื่อนชั้นไปเมื่อวันที่ ๑๖ ม.ค. ๕๓ ที่วัดบ้านโนนแกด พระธรรมปริยัติโสภณเจ้าคณะภาค ๑๐ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ ประธานฝ่ายฆราวาส เป็นผู้อ่านพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ท่ามกลางความปลาบปลื้มปีติยินดีของพุทธศาสนิกชน
ส่วนวัตถุมงคลนั้น ท่านอนุญาตให้คณะศิษย์จัดสร้างในโอกาสสำคัญต่าง ๆ โดยรุ่นแรกเป็นเหรียญรูปเหมือน สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ มีหลายรูปแบบ ทั้งเนื้อโลหะ และเนื้อผง เครื่องรางของขลัง มีประสบ การณ์แบบครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเมตตาค้าขาย เรื่องแคล้วคลาด คงกระพัน ก็ช่วยให้ผู้ที่พกพาบูชา ติดตัวรอดพ้นอันตรายมาอย่างน่าอัศจรรย์
ในมงคลโอกาสที่ท่านมีอายุครบ ๑๐๓ ปี เมื่อวันที่ ๑๐ ต.ค. ๒๕๕๒ ท่านได้มอบหมายให้คณะศิษย์จัดสร้าง “วัตถุมงคล รุ่นมหามงคลวัฑฒโน (อายุยืน) รวยสมปรารถนา” ประกอบด้วย พระเศรษฐีนวโกฏิ เนื้อนวโลหะเต็มสูตร, เนื้อทองผสมผิวไฟ รูปเหมือนปั๊มรุ่นแรก เนื้อนวโลหะ, เหรียญรูปไข่ครึ่งองค์ เนื้อเงินลงยาสองหน้า สีน้ำเงิน, ล็อกเกตยกมือประทานพร ฉากทองจัมโบ้, ฉากฟ้าเบอร์ ๑, เหรียญรูปไข่องค์พระสีวลี มหาโชคลาภ เนื้อเงินลงยาสองหน้า สีแดง, ชูชกรุ่นแรก, พระปิดตารัตนะ ๓ หน้า, ผ้ายันต์มหามงคลอายุวัฑฒโน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้บูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัดที่ชำรุดทรุดโทรม
สำหรับมวลสารที่ใช้ในการจัดสร้างวัตถุมงคลชุดนี้ หลวงปู่เกลี้ยงท่านได้เพ่งจิตเป่าเสกผงพุทธคุณ ๑๐๘ สำหรับอุดใต้ฐานพระกริ่งเศรษฐีนวโกฏิ, พระปิดตารัตนะ ๓ หน้า, รูปเหมือนปั๊ม และปู่ชูชก รวมทั้งเสกเป่าก้อนชนวนศักดิ์สิทธิ์ ก่อนนำมาเท-หล่อ พร้อมด้วยเสกเป่าบล็อกแม่พิมพ์เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนปั๊มวัตถุมงคลรุ่นนี้ โดยท่านจะอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยววัตถุมงคลทั้งหมดประมาณกลางเดือนเมษายนนี้ พุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธาร่วมบุญกับหลวงปู่สอบถามรายละเอียด เพิ่มเติมที่ วัดบ้านโนนแกด โทร. ๐๘-๙๒๒๙-๗๖๖๖, ๐๘-๔๗๖๕-๘๓๘๖.
สุธัญณราช สุวรรณราดา ข้อมูล-ภาพ/อาราธนานัง รายงานDaily News Online > เสาร์สปอร์ต > พระเครื่อง > เหนือลิขิต ประกาศิตฟ้าดิน > 103 ปีหลวงปู่เกลี้ยง วัดบ้านโนน
103 ปีหลวงปู่เกลี้ยง วัดบ้านโนนแกด
ในห้อง 'พระเครื่อง วัตถุมงคล' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 27 มีนาคม 2010.