คนรักธรรมต้องมาคู่กับรู้ว่าอะไรเป็นธรรม จึงจะทำความจริงความถูกต้องให้สำเร็จได้ 2

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย มาจากดิน, 13 กันยายน 2017.

  1. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ผู้รักธรรมจะต้องรู้แน่ชัดว่าอะไรเป็นธรรม มิฉะนั้น อาจทำการผิดพลาดได้ ความรักธรรมและความรู้ธรรม ต้องมาด้วยกัน จึงจะทำความจริงความถูกต้องดีงามที่ประสงค์ให้สำเร็จได้
     
  2. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ธรรม" (ส. ธรรม บ. ธมฺม) เป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุด กินความครอบคลุมทุกสิ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่ใครก็ตามกล่าวถึง คิดถึงหรือรู้ถึงทั้งเรื่องทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งที่ดีและที่ชั่ว ทั้งที่เป็นสามัญวิสัยและเหนือสามัญวิสัย รวมอยู่ในคำว่าธรรมทั้งสิ้น

    ถ้าจะให้ “ธรรม” มีความหมายแคบเข้า หรือจำเพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เติมคำขยายประกอบลงไป เพื่อจำกัดความให้อยู่ในขอบเขตที่ต้องการ หรือจำแนกแยกธรรมนั้นแบ่งประเภทออกไป แล้วเลือกเอาส่วน หรือแง่ด้านแห่งความหมายที่ต้องการ เช่น จำแนกเป็นรูปธรรมและนามธรรม บ้าง โลกิยธรรมและโลกุตรธรรม บ้าง สังขตธรรมและอสังขตธรรม บ้าง กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม บ้าง ฯลฯ

    หรือมิฉะนั้น ก็ใช้คำว่าธรรมคำเดียวโดดเต็มรูปของมันตามเดิมนั่นแหละ แต่ตกลงหรือหมายรู้ร่วมกันไว้ว่า เมื่อใช้ในลักษณะนั้นๆ ในกรณีนั้น หรือในความแวดล้อมอย่างนั้นๆ จะให้มีความหมายเฉพาะในแนวความหรือในขอบเขตว่าอย่างนั้น เช่น เมื่อคู่กับอธรรมหรือใช้เกี่ยวกับความประพฤติที่ดี ที่ชั่วของบุคคล หมายถึงบุญหรือคุณธรรมคือความดี เมื่อมากับคำว่า อัตถะหรืออรรถ หมายถึงตัวหลัก หลักการหรือเหตุ เมื่อใช้สำหรับการเล่าเรียน หมายถึง ปริยัติ พุทธพจน์หรือคำสั่งสอน ดังนี้ เป็นต้น
     
  3. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    คำว่า ปฏิบัติธรรม ก็คือ เอาธรรมมาปฏิบัติ เอาธรรมมาใช้ เอามาใช้ดำเนินชีวิตทำการทำงาน คือเอาธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงนั่นเอง เมื่อปฏิบัติธรรม ก็หมายถึงว่า เอาธรรมมาใช้ในชีวิตจริง หรือเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต ถ้ายังไม่ได้ใช้ ก็ไม่เรียกว่า เป็นการปฏิบัติ

    http://palungjit.org/threads/ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง.617449/
     
  4. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
  5. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    พระสูตรต่อไปนี้ แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับอาชีวะของคฤหัสถ์ ในด้านการแสวงหาทรัพย์บ้าง การใช้จ่ายทรัพย์บ้าง ความสุขที่พึงได้รับจากอาชีวะอันชอบธรรมบ้าง นำมาลงไว้ประกอบความเข้าใจเกี่ยวกับสัมมาอาชีวะ

    - การแสวงหา และการรักษาทรัพย์


    ครั้งหนึ่ง อุชชัยพราหมณ์ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และกราบทูลว่า ตนจะไปอยู่ต่างถิ่น จะขอให้พระพุทธองค์แสดงธรรม ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขปัจจุบัน และธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขภายหน้า

    พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า

    “ดูกรพราหมณ์ ธรรม ๔ ประการนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขปัจจุบัน กล่าวคือ อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตา สมชีวิตา

    ๑) อุฏฐานสัมปทา เป็นไฉน ? คือกุลบุตรหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันในการงาน ไม่ว่าจะเป็นกสิกรรม ก็ดี พาณิชยกรรม ก็ดี โครักขกรรม ก็ดี ราชการทหาร ก็ดี ราชการพลเรือน ก็ดี ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ดี เธอเป็นผู้ขยัน ชำนิชำนาญ ไม่เกียจคร้าน ในงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอบสวนตรวจตรา รู้จักวิธีปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ สามารถทำ สามารถจัดการ นี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา

    ๒) อารักขสัมปทา เป็นไฉน ? คือ กุลบุตรมีโภคทรัพย์ ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เธอจัดการรักษาคุ้มครองทรัพย์เหล่านั้น โดยพิจารณาว่า ทำอย่างไร ราชาทั้งหลายจะไม่พึงริบโภคะเหล่านี้ของเราเสีย พวกโจรไม่พึงลักไปเสีย ไฟไม่พึงไหม้เสีย น้ำไม่พึงพาไปเสีย ทายาทอัปรีย์ก็จะไม่พึงเอาไปเสีย นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา

    ) กัลยาณมิตตตา เป็นไฉน ? คือ กุลบุตรเข้าอยู่อาศัยในคามหรือนิคมใดก็ตาม เธอเข้าสนิทสนมสนทนาปราศรัย ถกถ้อยปรึกษา กับท่านที่เป็นคหบดีบ้าง บุตรคหบดีบ้าง พวกคนหนุ่มที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง คนสูงอายุที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง ผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา เธอศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยศรัทธา ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยศรัทธา ศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยศีล ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยศีล ศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยจาคะ ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยจาคะ ศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยปัญญา ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยปัญญา นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา

    ๔) สมชีวิตา เป็นไฉน ? คือ กุลบุตรเลี้ยงชีวิพอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่ให้ฝืดเคืองเกินไป โดยรู้เข้าใจทางเพิ่มพูนและทางลดถอยแห่งโภคทรัพย์ ว่าทำอย่างนี้ รายได้ของเราจึงจะเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจึงจักไม่เหนือรายได้ เปรียบเหมือนคนชั่งตาชั่งหรือลูกมือคนชั่งยกตาชั่งขึ้นแล้ว ย่อมรู้ว่าหย่อนไปเท่านั้น หรือเกินไปเท่านี้

    “ถ้าหากกุลบุตรนี้ รายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ ก็จะมีผู้กล่าวว่าเอาได้ว่า กุลบุตรผู้นี้ ...กินใช้ทรัพย์สมบัติเหมือนคนกินมะเดื่อ ถ้ากุลบุตรนี้มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีวิตอย่างฝืดเคือง ก็จะมีผู้กล่าวว่าเอาได้ว่า กุลบุตรผู้นี้ คงจะตายอย่างคนอนาถา แต่เพราะกุลบุตรนี้เลี้ยงชีวิตพอเหมาะ...นี้เรียกว่า สมชีวิตา

    "ดูกรพราหมณ์ โภคะที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมี อบายมุข (ช่องทางเสื่อม) ๔ ประการ คือ เป็นนักเลงหญิง เป็นนักเลงสุรา เป็นนักเลงการพนัน มีมิตรชั่วสหายชั่ว ฝักใฝ่ในคนชั่ว เปรียบเหมือนอ่างเก็บน้ำแหล่งใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง มีทางไหลออก ๔ ทาง หากคนปิดทางน้ำเข้าเสีย เปิดแต่ทางน้ำออก อีกทั้งฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อเป็นเช่นนี้ อ่างเก็บน้ำใหญ่นั้น เป็นอันหวังได้แต่ความลดน้อยลงอย่างเดียว ไม่มีความเพิ่มขึ้นได้เลย...

    “ดูกรพราหมณ์ โภคะที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมี อายมุข (ช่องทางเพิ่มขึ้น) ๔ ประการ คือ ไม่เป็นนักเลงหญิง ไม่เป็นนักเลงสุรา ไม่เป็นนักเลงการพนัน มีมิตรดี มีสหายดี ใฝ่ใจในกัลยาณชน เปรียบเหมือนอ่างเก็บน้ำใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง มีทางไหลออก ๔ ทาง หากคนเปิดทางน้ำเข้า ปิดทางน้ำออก และฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อเป็นเช่นนี้ อ่างเก็บน้ำใหญ่นั้น เป็นอันหวังได้แต่ความเพิ่มพูนอย่างเดียว ไม่มีความลดน้อยลงเลย...

    “ดูกรพราหมณ์ ธรรม ๔ ประการ เหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขปัจจุบัน แก่กุลบุตร”

    จากนั้น ตรัสแสดงธรรม ๔ ประการ ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขเบื้องหน้า หรือประโยชน์ล้ำเลยตาเห็น (สัมปรายิกัตถะ) คือ สัทธาสัมปทา ศีลสัมปทา จาคสัมปทา และปัญญาสัมปทา * (องฺ.อฏฺฐก.23/145/294)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 กันยายน 2017
  6. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ภายหน้า, ประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป อันได้แก่ ความมีจิตใจเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมความดี ทำให้ชีวิตนี้มีค่า และเป็นหลักประกันชีวิตในภพหน้า ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยธรรม ๔ ประการ คือ

    ๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา

    ๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล

    ๓.จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาค

    ๔.ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา

    ธรรม ๔ อย่างนี้ เรียกเต็มว่า สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม (ธรรมอันเป็นไปเพื่อสัมปรายิกัตถะ)
     
  7. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    - ความสุขอันชอบธรรมที่คฤหัสถ์ควรมี

    หลักการต่อไปนี้ เรียกกันง่ายๆว่า ความสุขของคฤหัสถ์ 4 ประการ ดังที่พุทธพจน์ที่ตรัสแก่อนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า


    “ดูกรคหบดี ความสุข 4 ประการนี้ เป็นสิ่งที่คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ควรได้ควรถึงอยู่เรื่อยๆตามสมัย ความสุข 4 ประการนั้น คือ อัตถิสุข โภคสุข อนณสุข อนวัชชสุข

    1. อัตถิสุข (สุขเกิดจากความมีทรัพย์) เป็นไฉน? คือกุลบุตรมีโภคะอันหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เธอย่อมได้ความสุข ได้ความโสมนัสว่า เรามีโภคะที่หามาได้ ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขนอย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม นี่เรียกว่า อัตถิสุข

    2. โภคสุข (สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์บริโภค) เป็นไฉน? คือกุลบุตรกินใช้และทำสิ่งดีงามอันเป็นบุญทั้งหลาย ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรอัน เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ ซึ่งเป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรมเธอ ย่อมได้ความสุข ได้ความโสมนัสว่าด้วยทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร....ได้มาโดย ธรรม เราก็ได้กิน ใช้ และได้ทำสิ่งดีงาม อันเป็นบุญทั้งหลาย นี้เรียกว่า โภคสุข

    3. อนณสุข (สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้) เป็นไฉน? คือกุลบุตรไม่ติดหนี้สินไรๆของใครๆ ไม่ว่าน้อยหรือมาก เธอย่อมได้ความสุข ได้ความโสมนัสว่าไม่ติดหนี้สินไรๆของใครๆ เลยไม่ว่าน้อยหรือมาก นี้เรียกว่า อนณสุข

    4. อนวัชชสุข (สุขเกิดจากกรรมดีงามไร้โทษ) เป็นไฉน? คืออริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรมดีงาม ไร้โทษ ประกอบด้วยวจีกรรมดีงาม ไร้โทษประกอบด้วยมโนกรรมดีงาม ไร้โทษ เธอย่อมได้ความสุข ได้ความโสมนัสว่า เราเป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรมดีงาม ไร้โทษ ประกอบด้วยวจีกรรมดีงาม ไร้โทษ ประกอบด้วยมโนกรรมดีงาม ไร้โทษ นี้เรียกว่า อนวัชชสุข

    “เมื่อตระหนักถึงความสุขจากความไม่เป็นหนี้แล้ว คนจะพึงระลึกถึงสุขที่เกิดจากความมีทรัพย์ เมื่อกินใช้ก็เห็นแจ้งชัดด้วยปัญญาถึงโภคสุข เมื่อเห็นอย่างแจ้งชัด เขามีปัญญาดี ย่อมเข้าใจทั้งสองส่วนเทียบกันได้ แลเห็นว่า ความสุขทั้ง 3 อย่างข้างต้นนั้น มีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 ของความสุข ที่มีความประพฤติสุจริตไร้โทษ” * (องฺ.จตุกฺก.21/62/90)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 กันยายน 2017
  8. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ธรรมบท บทแห่งธรรม, บทธรรม, ข้อธรรม ชื่อคาถาบาลีหมวดหนึ่งจัดเป็นคัมภีร์ที่ ๒ ในขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก มี ๔๒๓ คาถา


    อญฺชนานํ ขยํ ทิสฺวา - อุปจิกานญฺจ อาจยํ
    มธูนญฺจ สมาหารํ - ปณฺฑิโต ฆรมาวเส.


    บัณฑิตเห็นความสิ้นไปแห่งยาหยอดตา ความก่อขึ้นของปลวกทั้งหลาย และการประมวลมาแห่งแมลงผึ้งทั้งหลายแล้ว พึงอยู่ครองเรือนได้.


    สทฺโธ สีเลน สมฺปนฺโน - ยโสโภคสมปฺปิโต
    ยํ ยํ ปเทสํ ภชติ - ตตฺถ ตตฺเถว ปูชิโต.


    บุคคลผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล เพียบพร้อมด้วยยศและโภคะ ย่อมไปประเทศใดๆ ก็เป็นผู้อันเขาบูชาแล้วในประเทศนั้นๆทีเดียว.


    อุฏฺฐานกาลมฺหิ อนุฏฺฐหาโน
    ยุวา พลี อาลสิยํ อุเปโต
    สํสนฺนสงฺกปฺปมโน กุสีโต
    ปญฺญาย มคฺคํ อลโส น วินฺทติ.

    ก็บุคคลยังหนุ่มแน่น มีกำลัง แต่ไม่ขยันเวลาที่ควรขยัน เข้าถึงความเป็นผู้เกียจคร้าน มีใจประกอบด้วยความดำริอันจมลง ขี้เกียจ เกียจคร้าน ย่อมไม่พบทางด้วยปัญญา.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 กันยายน 2017
  9. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    - การใช้จ่ายทรัพย์

    ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้า ได้ตรัสแสดงเหตุผลในการที่จะมีทรัพย์หรือประโยชน์ที่ควรถือเอาจากทรัพย์สมบัติ แก่อนาถบิณฑิกคฤหบดี โดยตรัสให้เหมาะกับสภาพสังคมสมัยนั้น พึงพิจารณาจับเอาสารัตถะตามสมควร ดังต่อไปนี้

    "ดูกรคฤหบดี ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะทั้งหลาย มี ๕ ประการ ดังนี้ คือ

    ๑) ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ ซึ่งเป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม อริยสาวก ย่อมเลี้ยงตัวให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลตนให้เป็นสุขโดยชอบ ย่อมเลี้ยงมารดาบิดา...บุตรภรรยา คนรับใช้กรรมกรคนงาน ให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลให้เป็นสุขโดยชอบ นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๑

    ๒) อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร....ได้มาโดยธรรม อริยสาวก ย่อมเลี้ยงมิตรสหาย และผู้ร่วมกิจการงานทั้งหลาย ให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลให้เป็นสุขโดยชอบ นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๒

    ๓) อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร....ได้มาโดยธรรม อริยสาวก ย่อมป้องกันโภคะจากภยันตราย ที่จะเกิดแต่ไฟ น้ำ พระราชา โจร หรือทายาทอัปรีย์ ทำตนให้สวัสดี นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๓

    ๔) อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร....ได้มาโดยธรรม อริยสาวก ย่อมกระทำพลีกรรม ๕ อย่าง คือ ญาติพลี (สงเคราะห์ญาติ) อติถิพลี (ต้อนรับแขก) ปุพพเปตพลี (ทำบุญอุทิศผู้ล่วงลับ) ราชพลี (บำรุงราชการ-เสียภาษี) เทวตาพลี (ถวายเทวดาหรือบำรุงศาสนา) นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๔

    ๕) อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร....ได้มาโดยธรรม อริยสาวก ย่อมประดิษฐานทักขิณาอันส่งผลสูง อันอำนวยอารมณ์ดีงาม มีผลเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติโสรัจจะ ซึ่งฝึกฝนตนเอง ทำตนเองให้สงบ ทำตนเองให้หายร้อนกิเลสได้ นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๕

    "คหบดี ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะมี ๕ ประการเหล่านี้แล"

    "ถ้าเมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาอยู่ ซึ่งประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ๕ ประการเหล่านี้ โภคะหมดสิ้นไป เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า อันใดเป็นประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ประโยชน์เหล่านั้นเราก็ถือเอาแล้ว และโภคะของเราก็หมดสิ้นไป โดยนัยนี้ อริยสาวกนั้นก็ไม่มีความเดือดร้อนใจ

    "และหากว่า เมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาอยู่ ซึ่งประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ๕ ประการเหล่านี้ โภคะทรัพย์เพิ่มพูนยิ่งขึ้น โดยนัยนี้ อริยสาวกนั้นก็ไม่มีความเดือดร้อนใจ เป็นอันไม่มีความเดือดร้อนใจทั้งสองกรณี" * (องฺ.ปญฺจก.22/41/48)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 กันยายน 2017
  10. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    เตรียมปัญญาไว้ ถึงหาทรัพย์ได้ อิสรภาพต้องไม่เสีย

    นอกจากพึงรู้ว่า การมีทรัพย์มิใช่เป็นจุดหมายในตัว แต่เป็นเพียงอุปกรณ์สำหรับสนับสนุนการทำสิ่งดีงามเพื่อชีวิตตนและผู้อื่นแล้ว พึงทราบขอบเขตแห่งคุณค่าของทรัพย์สมบัติ และการที่จะต้องแสวงสิ่งอื่นที่มีคุณค่าสูงยิ่งขึ้นต่อไปด้วย
    เช่น

    "การงาน วิชชา ธรรม ศีล และชีวิตอุดม สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยสิ่งที่กล่าวมานี้ หาใช่ด้วยโคตรหรือทรัพย์ไม่"* (ม.อุ.14/738/471 ฯลฯ)

    "ข้าพเจ้า มองเห็นคนทั้งหลายในโลก ที่เป็นผู้มีทรัพย์ ได้ทรัพย์สินแล้ว ไม่ให้ปัน เพราะความลุ่มหลง โลภทรัพย์ เอาแต่สั่งสมไว้ และปรารถนากามทั้งหลายยิ่งขึ้นไป


    “ราชารุกรานมีชัยทั้งแผ่นดิน ครอบครองปฐพีจรดสาคร ไม่อิ่มแค่ฝั่งสมุทรข้างนี้ ยังปรารถนาฝั่งสมุทรข้างโน้นอีก ทั้งพระราชาและเหล่ามนุษย์ทั้งหลายอื่นเป็นอันมาก ยังมิทันสิ้นความทะเยอทะยาน ก็เข้าถึงความตาย ทั้งยังพร่องอยู่นั่นเอง ก็พากันละทิ้งร่างกายไป ความอิ่มด้วยกามทั้งหลาย ย่อมไม่มีในโลกเลย


    “ญาติทั้งหลาย พากันสยายผมร่ำไห้ถึงผู้นั้น กล่าวรำพันว่า โอ้ ที่รักของพวกเรา มาจากลับไปเสียแล้หนอ แล้วเอาผ้าห่อห่มเขา นำเอาไปขึ้นเชิงตะกอน จัดการเผา เขาถูกสัปเหร่อเอาหลาวทิ่มแทงไป ไหม้ไฟหมดไป มีแต่ผ้าผืนเดียวติดตัว ละทิ้งทรัพย์สมบัติไป


    “เมื่อจะตาย ญาติ มิตร หรือสหายทั้งหลาย จะเป็นที่ต้านทานไว้ได้ ก็ไม่มี ทรัพย์ของเขา พวกที่รับมรดกก็ขนเอาไป ส่วนสัตว์ก็ไปตามกรรม เมื่อตาย ทรัพย์สักหน่อยก็ติดตามไปไม่ได้ บุตร ภรรยา ทรัพย์ และแว่นแคว้น ก็เช่นกัน คนจะได้อายุยืนเพราะทรัพย์ ก็หาไม่ จะกำจัดชราด้วยทรัพย์ ก็หาไม่ ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนี้ว่า น้อยนัก ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา


    "ทั้งคนมี ทั้งคนจน ต่างก็กระทบผัสสะ ทั้งคนพาล ทั้งนักปราชญ์ ก็ถูกกระทบเหมือนกัน แต่คนพาล เพราะความที่อ่อนปัญญา ย่อมนอนผวาหวาด ส่วนผู้เป็นปราชญ์ ถึงถูกผัสสะกระทบ ก็หาสะท้านไม่ เพราะฉะนั้น ปัญญานั่นแหละ จึงประเสริฐกว่าทรัพย์ ด้วยเป็นเหตุให้บรรลุจุดหมายสูงสุดได้ในโลกนี้"* (ม.มู.13/451/411 ฯลฯ)


    อุปกรณ์สำคัญของการประกอบสัมมาอาชีวะก็คือศิลปวิทยาหรือสิปปะ (วิชาชีพ ฝีมือ ความจัดเจนงาน) ดังนั้น ท่านจึงเตือนให้ขวนขวายศึกษาศิลปวิทยา และให้บิดามารดาถือเป็นหน้าที่ ที่จะให้บุตรศึกษาเล่าเรียน

    แต่ความรู้วิชาชีพ หรือความชำนาญงานอย่างเดียว ก็แคบไป ท่านจึงให้มีพาหุสัจจะ คือความเป็นผู้ได้สดับมาก หรือศึกษาเล่าเรียนกว้างขวางประกอบด้วย เพื่อช่วยให้เห็นช่องทางในการประกอบสิปปะกว้างขวางออกไป สามารถบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยแก้ปัญหาให้แก่เพื่อนมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น และมีความคิดความเข้าใจมองเห็นอะไรๆกว้างขวางลึกซึ้ง โดยเฉพาะความรู้ความสดับ ที่ช่วยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นตัวแท้เริ่มแรกของการศึกษา

    พร้อมกันนั้น ก็ให้ฝึกอบรมระเบียบวินัย เพื่อพร้อมที่จะนำสิปปะไปใช้ในทางที่ถูกต้อง และมีความประพฤติทั่วไปที่ดีงาม เกื้อกูลแก่ความอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น หรือแก่สังคม กับทั้งฝึกฝนให้รู้จักพูด รู้จักเจรจาให้เป็นผลดี เป็นการขยายช่องทางดำเนินชีวิต และบำเพ็ญประโยชน์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

    หลักการขั้นศีลที่กล่าวมานี้ ดำเนินตามพุทธพจน์ว่า

    "พาหุสัจจะ ๑ สิปปะ ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว หรือฝึกอบรมเป็นอย่างดีแล้ว ๑ วาจาที่กล่าวได้ดี ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การงานไม่คั่งค้างอากูล นี่ก็เป็นอุดมมงคล....กิจกรรมที่ไร้โทษ นี่ก็เป็นอุดมมงคล"* (ขุ.ขุ.25/5/3 ฯลฯ)
     
  11. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ต่อ

    นอกจากนี้ มีบาลีภาษิตเตือนให้ศึกษาศิลปวิทยาอีกมาก เช่น

    "คนไม่มีศิลปวิทยา เลี้ยงชีวิตอยู่ได้ยาก" (ขุ.ชา. 27/1651/330)

    "จงให้บุตรเรียนรู้วิทยา" (ขุ.ชา. 27/2141/434)

    "อะไรควรศึกษา ก็พึงศึกษาเถิด" (ขุ.ชา.27/108/35)

    "ขึ้นชื่อว่า ศิลปวิทยา ไม่ว่าอย่างไหนๆ ให้ประโยชน์ได้ทั้งนั้น" (ขุ.ชา.27/107/35)

    "อันความรู้ ควรเรียนทุกอย่าง ไม่ว่าต่ำ ว่าสูง หรือปานกลาง ควรรู้ความหมายเข้าใจทั้งหมด แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกอย่าง วันหนึ่งจำถึงเวลา ที่ความรู้นั้นนำมาซึ่งประโยชน์" * (ขุ.ชา.27/817/184)


    มีข้อเกี่ยวกับอุดมมงคลระดับนี้ว่า พาหุสัจจะ ความชำชองเชิงวิชาการ ควรมาพร้อมกับ สิปปะ ความชำนาญในเชิงปฏิบัติ คือ ดีทั้งวิชา และฝีมือ ถ้าทั้งสองอย่างนี้มาเข้าคู่กันครบ ก็หวังได้ ซึ่งความเป็นเลิศแห่งงาน

    ยิ่งเป็นคนมีวินัย ที่ได้ฝึกมาอย่างดี และเป็นคนที่พูดเป็น คือรู้จักพูดจาให้ได้ผลดี สามารถทำให้คนอื่นเข้าใจหรือเห็นตามได้ ชวนให้เกิดความร่วมมือและสามัคคี ก็ยิ่งหวังได้ว่ากิจการจะประสบความสำเร็จ

    ครั้นสำทับเข้าด้วยการปฏิบัติงาน ที่เรียบร้อย ฉับไว ไม่คั่งค้างอากูล และเสริมด้วยการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ก็ยิ่งเป็นเครื่องประกันถึงความสำเร็จบริบูรณ์แห่งชีวิตด้านการงาน

    แต่เพื่อป้องกันมิให้มีช่องว่าง ที่บุคคลนั้นจะมัวหลงเพลิดเพลินแต่วิทยาและการงาน จนลืมหน้าที่ต่อบุคคลใกล้ชิดภายในความรับผิดชอบที่บ้าน ท่านจึงแทรกมงคลอีก ๒ อย่างเข้ามาในช่องว่างแรกที่เว้นไว้ คือ การบำรุงมารดาบิดา และการสงเคราะห์บุตรภรรยา

    ครั้นภาระด้านส่วนตัวครบครันแล้ว ท่านจะให้บุคคลผู้เป็นอริยสาวกนั้น คำนึงถึงความรับผิดชอบที่ตนจะพึงเกื้อกูลแก่คนอื่นขยายกว้างออกไป ตลอดถึงเพื่อนมนุษย์ทั้งหมด ให้ชีวิตของตนก้าวหน้าไปในความดีงามและได้ชื่อว่า มีส่วนร่วมในการผดุงธรรมของมนุษยชาติ ท่านจึงเสริมมงคลอีก ๓ อย่าง เข้ามาในช่องว่างหลัง คือ ญาติสังคหะ การสงเคราะห์ญาติ ทาน การให้ปันเกื้อกูลกว้างออกไป และธรรมจริยา การประพฤติธรรม

    เมื่อประพฤติตนได้เพียงนี้ ก็นับว่าเพียงพอ สำหรับจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ครองชีวิตที่ดีงามในโลก

    เรื่องอาชีวะนี้ พระพุทธศาสนายอมรับ และยืนยันความจำเป็นทางวัตถุ โดยเฉพาะปัจจัย ๔ ดังเช่น พุทธพจน์ที่ตรัสบ่อยว่า

    "สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา" สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร * (ที.ปา.11/226/226; 375/289 ฯลฯ)
     
  12. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา

    ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง

    ทาลิทฺทิยํ ทุกฺขํ โลเก

    ความจน (ความเป็นผู้ขัดสน) เป็นทุกข์ในโลก


    ฆราวาส การอยู่ครองเรือน, ชีวิตชาวบ้าน ในภาษาไทย มักใช้ หมายถึง ผู้ครองเรือน คือ คฤหัสถ์

    ฆราวาสธรรม หลักธรรมสำหรับการครองเรือน ธรรมของผู้ครองเรือน มี ๔ อย่าง
    คือ
    ๑. สัจจะ ความจริง เช่น ซื่อสัตย์ต่อกัน

    ๒. ทมะ ความฝึกฝนปรับปรุงตน เช่น รู้จักข่มใจ ควบคุมอารมณ์ บังคับตนเอง ปรับตัวเข้ากับการงานและสิ่งแวดล้อมได้ดี

    ๓. ขันติ ความอดทน

    ๔. จาคะ ความเสียสละ เผื่อแผ่ แบ่งปัน มีน้ำใจ

    ฆราวาสวิสัย วิสัยของฆราวาส, ลักษณะที่เป็นภาวะของผู้ครองเรือน, ความพรั่งพร้อมและสมบูรณ์ของชีวิตชาวบ้าน

    ฆราวาสสมบัติ สมบัติของฆราวาส, สมบัติของการครองเรือน , ความพรั่งพร้อมและสมบูรณ์ของชีวิตชาวบ้าน
     
  13. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    กึสุ ฆตฺวา สุขํ เสติ - กึสุ ฆตฺวา น โสจติ
    กิสฺสสฺสุ เอกธมฺมสฺส - วธํ โรเจสิ โคตม.


    บุคคลฆ่าอะไรได้สิ จึงอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรได้สิ จึงไม่เศร้าโศก
    ข้าแต่พระโคดม พระองค์ย่อมชอบใจซึ่งการฆ่าธรรมอะไรสิ ซึ่งเป็นธรรมอันเอก.


    โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ – โกธํ ฆตฺวา น โสจติ
    โกธสฺส วิสมูลสฺส - มธุรคฺคสฺส พฺราหฺมณ
    วธํ อริยา ปสํสนฺติ – ตญฺหิ ฆตฺวา น โสจติ.


    บุคคลฆ่าความโกรธได้แล้ว จึงอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธได้แล้ว จึงไม่เศร้าโศก
    พราหมณ์ พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธ อันมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะบุคคลนั้น ฆ่าความโกรธได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก.
     
  14. ธรรมแท้ว่าง

    ธรรมแท้ว่าง กายเบาใจเบา

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มีนาคม 2011
    โพสต์:
    12,293
    ค่าพลัง:
    +12,622
    อืมม....ฝากไว้ก่อน ของดีๆ
    ทั้งน้าน
     
  15. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ขยายความหน่อย

    ทาลิทฺทิยํ ทุกฺขํ โลเก. ความจนเป็นทุกข์ในโลก

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจนเป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม."

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า"

    จึงตรัสต่อไปว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนไม่มีทรัพย์ของตนเอง ไม่มั่งคั่ง ย่อมกู้หนี้. แม้การกู้หนี้ ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม."

    "คนจนกู้หนี้ ก็จะต้องเสียดอกเบี้ย. แม้การเสียดอกเบี้ย ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม."

    "คนจนที่จะต้องเสียดอกเบี้ย ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนด ก็ถูกเขาทวง แม้การถูกทวง ก็เป็นทุกข์ ในโลกของผู้บริโภคกาม."

    "คนจนถูกทวง ไม่ให้เขา ก็ถูกเขาตามตัว แม้การถูกตามตัว ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม."

    "คนจนถูกตามตัว ไม่ให้เขา ย่อมถูกจองจำ แม้การถูกจองจำ ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม."

    "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจนก็ดี, การกู้หนี้ก็ดี, การเสียดอกเบี้ยก็ดี, การถูกทวงก็ดี, การถูกตามตัวก็ดี, การถูกจองจำก็ดี เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม ด้วยประการฉะนี้.
     
  16. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ต่อจาก # 11

    ฯลฯ

    พุทธศาสนาไม่สนใจที่จะกะเกณฑ์ว่า คนเราจะต้องมีวัตถุเท่ากัน เพราะเกณฑ์นั้นไม่ใช่เครื่องวัดว่าจะทำให้ทุกคนเป็นสุข และมีชีวิตที่ดีงามได้ แต่สนใจเกณฑ์อย่างต่ำที่ว่า ทุกคนควรมีปัจจัย ๔ เพียงพอที่จะมีชีวิตรอดได้ด้วยดี


    พ้นจากนั้นแล้ว พุทธศาสนายอมให้มีวัตถุเสพเสวย ตามความพร้อมและพัฒนาการทางจิตปัญญาภายในขอบเขตเท่าที่จะไม่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น


    ข้อนี้หมายความว่า ในการที่จะมีชีวิตเป็นสุข บุคคลที่มีพัฒนาการทางจิตปัญญาต่ำ ย่อมต้องการวัตถุเสพ หรือมีชีวิตที่ขึ้นต่อความพรั่งพร้อมปรนเปรอทางวัตถุมากกว่าบุคคลที่มีพัฒนาการทางจิตปัญญาสูงกว่า


    ส่วนความตกต่ำแห่งจิตปัญญา ที่เลยขอบเขตที่ยอมรับได้ออกไป ก็คือ ความต้องการที่กลายเป็นความหลงใหลมัวเมา เอาแต่หาสิ่งปรนเปรอตน หมกมุ่นติดกาม จนลืมนึกถึงภาวะที่ความพรั่งพร้อมทางวัตถุเป็นพื้นฐานเพื่อสิ่งดีงามที่สูงขึ้นไป และสามารถทำการบีบคั้นเบียดเบียนผู้อื่นได้ทันที เพื่อเห็นแก่ตน


    เลยจากนี้ออกไปอีกทางหนึ่ง ในทิศตรงข้าม ได้แก่ ความยึดติดถือมั่น ตกเป็นทาสของทรัพย์สมบัติเป็นต้น ที่แสวงหามาไว้ เกิดความหวงแหนห่วงกังวลจนไม่ยอมใช้ ไม่จ่ายทำประโยชน์ เป็นการเบียดเบียนทั้งตนเอง และผู้อื่น ซึ่งนับว่าเป็นความชั่วร้ายอีกรูปแบบหนึ่ง


    อีกด้านหนึ่ง เลยเถิดออกไปอีกเช่นเดียวกัน ก็คือ ความผิดหวังเบื่อหน่ายกามวัตถุ จนกลายเป็นเกลียดชัง ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับโลกามิสทั้งหลาย แล้วหันมาจงใจบีบคั้นชีวิตของตนเอง เป็นอยู่อย่างบีบรัดเข้มงวดวุ่นวายหรือหมกมุ่นอยู่กับวิธีการต่างๆ ที่จะจำขังพรากตัวบีบคั้นตน ให้พ้นจากอำนาจของวัตถุ ดูเผินๆบางทีวิธีการนี้คล้ายกับความเป็นอยู่ง่าย อาศัยวัตถุแต่น้อย แต่ผิดพลาด ที่ถือเอาการปฏิบัติเช่นนี้เป็นตัววิธีที่จะให้หลุดพ้น หรือมุ่งบีบคั้นทรมานตัว โดยมิใช่ทำด้วยปัญญารู้เท่าทันที่มุ่งความเป็นอิสระ ซึ่งอาศัยวัตถุเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อเปิดโอกาสให้โล่งกว้างสำหรับชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา และบำเพ็ญกิจด้วยกรุณา


    การที่จะมีชีวิตเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อวัตถุเกินจำเป็น ก็คือ การไม่สยบ ไม่หมกมุ่น ไม่หลงใหลมัวเมา ซึ่งอาศัยความรู้เท่าทัน เห็นโทษ หรือข้อบกพร่องของวัตถุ ที่เรียกว่า อาทีนวทัสสาวี และมีปัญญาทำตัวให้เป็นอิสระได้ ที่เรียกว่า นิสสรณปัญญา


    ผู้มีปัญญา ย่อมรู้เท่าทันเห็นโทษของวัตถุ เช่น ทรัพย์สินเงินทองและสิ่งปรนเปรอทั้งหลาย ในลักษณะต่างๆ เช่นว่า มันอาจทำให้เราหลงติดเป็นทาสของมันได้ ทำให้สุขทุกข์ของเราต้องฝากกับมันทั้งหมด มันไม่อาจให้คุณค่าที่สูงขึ้นไปทางจิตปัญญา แม้แต่เพียงความสงบใจ และเมื่อหลงติดแล้ว มันกลับเป็นตัวขัดขวางการประสบคุณค่าเช่นนั้นด้วยซ้ำไป


    ที่สำคัญยิ่งก็คือ โดยธรรมชาติของมันเอง สิ่งเหล่านี้ ขาดความสมบูรณ์ในตัว ที่จะสนองความต้องการของเราได้อย่างเต็มอิ่ม บริบูรณ์แท้จริง เพราะมันมีสภาวะเป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน แปรปรวนไปได้ ไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของครอบครองได้จริง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเราจริง จะต้องสูญสลายพรากกันไปในที่สุด


    การครอบครองสิ่งเหล่านี้อย่างโง่เขลา ย่อมเป็นการทำตนเองที่ไม่มีทุกข์ ให้ต้องทุกข์ต้องเศร้า เมื่อเราเกิด มันก็ไม่ได้เกิดมากับเรา เมื่อเราตาย มันก็ไม่ตามเราไป การที่ได้แสวงหาและมีมันไว้ ก็เพื่อใช้แก้ปัญหาบรรเทาความทุกข์ เป็นฐานให้ปัญญาใช้พัฒนาความสุข ไม่ใช่เอามาเพิ่มทุกข์แก่ตัว

    การมีทรัพย์สั่งสมไว้ ไม่ใช้ประโยชน์ เป็นสิ่งหาสาระอันใดมิได้ ยิ่งยึดติดเป็นทาสของมัน มีทุกข์เพราะมัน ก็ยิ่งเป็นความชั่วร้ายซ้ำหนัก

    เมื่อรู้เข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็กินใช้ โดยเอาประโยชน์หรือคุณค่าที่แท้ของมันต่อชีวิต ใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต และแก่เพื่อนมนุษย์ บำเพ็ญสังคหวัตถุทั้ง ๔ แบ่งปันกันไปบ้าง ช่วยสร้างเสริมสภาพสังคมชนิดที่ปิดกั้นการทำความชั่ว เอื้ออำนวยแก่การทำความดี เกื้อกูลแก่การพัฒนาคุณภาพจิตและปัญญาโดยวิธีต่างๆบ้าง ร่วมกันส่งเสริมกิจกรรมที่ดีงาม และสนับสนุนคนที่ผดุงธรรมจรรโลงคุณภาพของมนุษย์บ้าง เป็นต้น ไม่ใช่การรวยเพื่อรวยยิ่งๆขึ้น หรือรวยยิ่งขึ้น เพื่อเสพเพื่อปรนเปรอตัวได้มากขึ้น


    คฤหัสถ์ที่ขยันทำการงานหาเลี้ยงชีวิต และได้ทรัพย์มาโดยสุจริต กินใช้ทรัพย์อย่างเผื่อแผ่ รับผิดชอบต่อชีวิตผู้อื่น และใช้ทรัพย์ทำประโยชน์ เป็นบุคคลที่ได้รับยกย่องอย่างสูงในพุทธศาสนา ถือว่าเป็นผู้มีชัย ทั้งโลกนี้ และโลกหน้า * (เช่น ที.ปา.11/174/195)


    ยิ่งมีปัญญาพอที่จะทำตนให้รอดพ้นเป็นอิสระได้ ไม่ตกเป็นทาสของทรัพย์สมบัติ และโลกามิสอื่นๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตของตน ไม่ทำให้การได้สิ่งเหล่านั้นมากลายเป็นเพียงการได้ทุกข์มาทับถมตัว สามารถเป็นอยู่ด้วยจิตใจเบิกบานผ่องใส โลกธรรมฉาบไม่ติด โลกามิสถูกไม่เปื้อน มีทุกข์เบาบาง และถอนตัวออกจากทุกข์ที่เกิดขึ้นแต่ละคราวได้ฉับไว ก็ยิ่งนับว่าเป็นบุคคลประเสริฐ เป็นอิสรชน เป็นเสรีบุคคลที่แท้จริง

    ท่านเหล่านี้ ถึงจะเป็นอริยบุคคล ขั้นโสดาบัน หรือแม้อนาคามี ก็เป็นผู้ประกอบกิจการงานด้วยความเอาใจใส่รับผิดชอบ ไม่ปรากฏว่า ท่านสนับสนุนให้คฤหัสถ์มีชีวิตไปวันๆ ไม่เอาใจใส่ความเป็นอยู่ ทอดทิ้งความรับผิดชอบต่างๆ ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นการดำเนินชีวิตด้วยความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น


    พระภิกษุทุกรูป ไม่ว่าจะเป็นอรหันต์ หรือปุถุชน ก็ดำรงชีวิตตามหลักการอาศัยวัตถุให้น้อย อยู่เพื่อธรรมให้มาก อย่างเดียวกัน

    ไม่ปรากฏว่า พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหวังให้คฤหัสถ์เป็นอยู่อย่างพระ และก็ไม่ปรากฏว่าจะทรงมุ่งหวังให้คนมาบวชเป็นพระกันไปทั้งหมด หลักความจริงตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยก็บอกชัดอยู่แล้วว่า ในเวลาหนึ่งๆ คนย่อมอยู่ในระดับการพัฒนาที่ต่างกัน และจึงย่อมมีความต้องการที่ต่างๆกัน แม้แต่บุคคลโสดาบันส่วนใหญ่ หรืออย่างน้อยจำนวนมากมาย ก็ครองเรือนอยู่กับครอบครัวที่บ้าน
     
  17. ธรรมแท้ว่าง

    ธรรมแท้ว่าง กายเบาใจเบา

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มีนาคม 2011
    โพสต์:
    12,293
    ค่าพลัง:
    +12,622
    ยังไม่เห็นบุคคลใดเดินหน้าต่อสู้ด้วยอหิงสธรรม
    จนสามารถทำลายความไม่เท่าเทียมกัน
    ในการแสดงออกถึงสิทธิในการ
    นับถือศาสนาพุทธที่อาจ
    มีความเข้าใจด้วยระดับที่แตกต่างกัน
    แต่ควร
    เสมอภาคกันตามหลักเมตตาของชาวพุทธ
    ดังนั้น..
    อ.มจด.คุณคือไอดอล ที่น่านับถือครับ
    ท่านทลายกำแพงความไม่เสมกภาคลงเรียบร้อยแล้ว
     
  18. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    โลกามิษ เหยื่อแห่งโลก, เครื่องล่อที่ล่อให้ติดอยู่ในโลก, เครื่องล่อใจให้ติดในโลก ได้แก่ ปัญจพิธกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ โลกามิส ก็เขียน


    อปฺปเกนปิ เมธาวี - ปาภเตน วิจกฺขโณ
    สมุฏฺฐาเปติ อตฺตานํ - อณุํ อคฺคึว สนฺธมํ.


    บุคคลผู้ปัญญาเห็นประจักษ์ ย่อมตั้งตนได้ด้วยทุนทรัพย์แม้น้อย เหมือนคนก่อไฟกองน้อยให้ลุกเป็นกองใหญ่ได้ ฉะนั้น.


    อุฏฺฐานวโต สตีมโต
    สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน
    สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน
    อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ.


    ยศย่อมเจริญยิ่งขึ้นแก่ผู้มีความขยัน ผู้มีสติ ผู้มีการงานสะอาด ผู้ปกติใคร่ครวญแล้วจึงทำ ผู้สำรวมระวัง ผู้เป็นอยู่โดยธรรม และไม่ประมาท.
     
  19. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    คำแถมท้าย

    พูดถึงคฤหัสถ์ เห็นควรสรุปเรื่องนี้ ด้วยการกล่าวถึงข้อปฏิบัติบางอย่างที่ควรเน้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับโภคทรัพย์ ดังนี้

    ก. ในแง่บุคคล ควรดำเนินตามพุทธปฏิปทาที่นิยมยกย่องคนมั่งมีทรัพย์ เฉพาะแต่ผู้ที่ร่ำรวยขึ้นมาด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยทางสุจริตชอบธรรม และใช้ทรัพย์นั้นทำสิ่งดีงาม บำเพ็ญประโยชน์ คือ ยกย่องความเป็นคนดีมีประโยชน์ เหนือความมีทรัพย์


    โดยเฉพาะ จะต้องฝึกสอนอบรมอนุชน (คนรุ่นใหม่) ให้มีค่านิยมที่จะเห็นเป็นความดีงามความสามารถอันน่าภาคภูมิใจ ต่อเมื่อได้สร้างโภคทรัพย์นั้น ด้วยความเพียรโดยสุจริต และมีความตั้งใจมุ่งหมายที่จะให้ทรัพย์นั้นทำสิ่งที่ดีงาม บำเพ็ญประโยชน์


    การนิยมยกย่องคนเพียงเมื่อเห็นเขาเป็นคนมั่งมี โดยคิดว่า เขาเป็นคนมีบุญ ได้ทำกรรมดีไว้ในปางก่อน (ชาติก่อน) ไม่มองดูการสร้างเหตุแห่งความมั่งมีของเขาในชาติปัจจุบัน นับว่าเป็นการปฏิบัติผิดจากแนวทางของพระพุทธศาสนาทั้ง ๒ ด้าน คือ ทั้งเป็นการไม่ดำเนินตามแบบอย่างของพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวข้างต้น และทั้งเป็นการไม่ใช้ปัญญาสืบสาวเหตุปัจจัยให้ตลอดสาย


    โดยเฉพาะเหตุปัจจัยในชาติปัจจุบัน เป็นส่วนที่สัมพันธ์โดยตรงใกล้ชิดกว่า จึงต้องพิจารณา และให้ความสำคัญมากกว่า ส่วนกรรมปางก่อน จะช่วยได้ ก็เพียงเป็นพื้นฐานเดิมที่สนับสนุน เช่น ร่างกาย ความถนัด เชาวน์ไวไหวพริบ และจริตนิสัยบางอย่างที่เกื้อกูลแก่การนั้น


    หากจะมองกรรมปางก่อนเป็นเหตุสำคัญ ก็จะได้เฉพาะคนที่เกิดมาในครอบครัวที่มั่งมีอยู่แล้ว และแม้ในกรณีเช่นนี้ พระพุทธเจ้าก็หาได้ทรงยกเป็นข้อสำหรับที่จะยกย่องสรรเสริญไม่ เพราะหลักทั่วไปของพระพุทธศาสนา ไม่ถือความประเสริฐเพียงเพราะชาติตระกูลอยู่แล้ว


    จุดที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญสำหรับบุคคลเช่นนั้น คือ กรรมดีงามที่เป็นเหตุให้เขามาได้รับผลอันน่าปรารถนานี้ต่างหาก ส่วนการที่เขาเกิดมาในความมั่งมีพรั่งพร้อมอยู่แล้วนั้น ก็เป็นอันว่าเขาได้รับผลดีของเขาอยู่แล้ว ไม่จำต้องยกเอามาสรรเสริญอีก ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า นั่นเป็นทุนเดิม หรือพื้นฐานดี ซึ่งทำให้เขามีโอกาสดี หรือพร้อมดีกว่าผู้อื่น หรือจะพูดว่าได้เปรียบคนอื่น ในการที่จะก้าวต่อไปในชาตินี้

    เป็นอันว่า ผลของเรื่องเก่าได้เสร็จสิ้นไปแล้ว ถึงจุดเริ่มต้นใหม่ จุดที่พระพุทธเจ้าจะทรงติเตียนหรือสรรเสริญสำหรับคนเช่นนี้ ก็อยู่ที่ว่า เขาจะปฏิบัติต่อทุนเดิมหรือพื้นฐานดีที่เขามีอยู่แล้วนั้นอย่างไร


    ส่วนสำหรับกรณีทั่วไป ก็ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น คือ จะทรงยกย่องสรรเสริญ หรือติเตียน ก็อยู่ที่ว่ากรรมอันเป็นวิธีที่เขากระทำเพื่อให้เกิดทรัพย์นั้น สุจริตชอบธรรมหรือไม่ และเขาปฏิบัติต่อโภคทรัพย์นั้นอย่างไร

    พูดอีกอย่างหนึ่ง ให้ตรงจุดว่า มิใช่ความมั่งมี หรือคนมั่งมีดอก ที่พระพุทธเจ้าทรงติเตียนหรือสรรเสริญ พระพุทธเจ้าทรงติเตียนหรือสรรเสริญ ที่การกระทำของคนมั่งมีต่างหาก


    ข. ในแง่สังคม ตามหลักพระพุทธศาสนา ทรัพย์เป็นอุปกรณ์ หรือเป็นปัจจัยอุดหนุนชีวิต ไม่ใช่จุดหมายของชีวิต ทรัพย์จึงควรเป็นเครื่องช่วยให้มนุษย์มีความสะดวกมากขึ้น และพร้อมมากขึ้น ในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม และทำกิจที่ดีงาม เพื่อเข้าถึงสิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้นไป

    ทรัพย์เกิดขึ้นที่ไหน แก่บุคคลใด ก็ควรเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่มนุษย์ เป็นปัจจัยอุดหนุนให้มนุษย์ทั้งหลายสามารถดำเนินชีวิตที่ดีงาม พร้อมที่จะทำสิ่งที่ดีงามได้มากยิ่งขึ้น


    ตามหลักการนี้ เมื่อทรัพย์เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้หนึ่ง ก็คือทรัพย์เกิดขึ้นแก่มนุษย์ หรือมีทรัพย์เกิดขึ้นแล้วในสังคม เมื่อบุคคลผู้หนึ่งมั่งมีขึ้น สังคมก็พลอยยิ่งเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้น ทรัพย์เกิดขึ้นแก่คนดีหนึ่ง ก็เท่ากับเกิดขึ้นแก่สังคมได้ บุคคลดีที่มั่งมีขึ้นนั้น เป็นเหมือนเนื้อนาที่ข้าวงอกงามขึ้นเพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งปวง* (พึงอ้างพุทธพจน์ว่า สัตบุรุษเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งปวง (องฺ.อฏฺฐก.23/128/249) และพุทธพจน์ที่ว่า ทรัพย์มีแก่คนดี เหมือนมีสระน้ำในที่ใกล้บ้าน ทุกคนได้กินใช้สุขสดชื่น แต่ทรัพย์มีแก่คนร้าย เหมือนสระน้ำอยู่ในถิ่นอมนุษย์ ถึงจะใสดีรื่นรมย์ ก็ไร้ประโยชน์ (สํ.ส.15/387-9/130-1)


    คนมั่งมีตามหลักการนี้ พึงยินดีเอิบอิ่มใจ ที่ได้มีความสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทน เป็นเจ้าการ หรือมีเกียรติ เหมือนได้รับความไว้วางใจจากสังคม ในการจัดหาทรัพย์มาช่วยอุดหนุนหล่อเลี้ยงเพื่อนมนุษย์ในสังคมของตน ให้อยู่สุขสบาย และมีโอกาสทำกิจทีดีงาม * (เทียบกับคติการเกิดขึ้นแห่งอำนาจ และผู้ปกครองตามคติพุทธศาสนา เช่น ในอัคคัญญสูตร (ที.ปา.11/62/101) เศรษฐีชาวพุทธ เช่น อนาถบิณฑิก ดำเนินตามปฏิปทานี้ จึงสละทรัพย์เพื่อสงฆ์และคนยากไร้ตลอดเวลายาวนาน จนหมดตัวก็ไม่เสียดาย)


    แต่ในทางตรงข้าม ถ้าบุคคลผู้หนึ่ง ยิ่งร่ำรวยขึ้น สังคมยิ่งซูบโทรมลง เพื่อนมนุษย์ยิ่งมีทุกข์ทรมานมากขึ้น ก็เป็นเครื่องแสดงว่า มีการปฏิบัติผิดต่อทรัพย์ ทรัพย์ไม่เป็นปัจจัยอุดหนุนตามวัตถุประสงค์ของมัน ไม่ช้าสังคมก็จะระส่ำระสาย ในที่สุด ถ้ามิใช่บุคคลมั่งมีอยู่ไม่ได้ ก็สังคมอยู่ไม่ได้ หรือทั้งสองอย่าง สังคมอาจปลดเขาจากตำแหน่ง แล้ววางระบบวิธีจัดหาทรัพย์ และตั้งเจ้าหน้าที่จัดสรรทรัพย์ใหม่ ซึ่งอาจเป็นผลดีขึ้น หรือเลวลงก็ได้

    แต่จะอย่างไรก็ตาม คติก็มีอยู่ว่า ถ้ามนุษย์ปฏิบัติผิด ทรัพย์ที่มีขึ้นเพื่อประโยชน์ ย่อมกลับเป็นโทษ ที่ทำลายทั้งความเป็นมนุษย์ ตัวมนุษย์ และสังคมมนุษย์


    ค. ในแง่รัฐ พระพุทธศาสนามองเห็นความสำคัญของทรัพย์ในสังคมของชาวโลกว่า ความจนเป็นความทุกข์ในโลก * (องฺ.ฉกฺก.22/316/393) ความยากไร้ขาดแคลน เป็นสาเหตุสำคัญของอาชญากรรมและความชั่วร้ายต่างๆในสังคม* (ที.ปา.11/39/70; 45/77) (เช่นเดียวกับความโลภ และสัมพันธ์กันกับความโลภด้วย) และถือว่า เป็นหน้าที่ของรัฐ หรือผู้ปกครองบ้านเมืองที่จะต้องคอยเอาใจใส่ดูแลจัดสรรปันทรัพย์ให้แก่เหล่าชนผู้ไร้ทรัพย์ ไม่ให้มีคนจนยากขัดสนในแผ่นดิน * (เช่น ที.ปา.11/35/65 ฯลฯ มุ่งช่วย พร้อมกับส่งเสริมความขยัน ไม่ให้จนเพราะเกียจคร้าน) ซึ่งทั้งนี้ ย่อมต้องอาศัยวิธีการต่างๆประกอบกัน และตามที่เหมาะกับสถานการณ์

    เฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดช่องทางสร้างโอกาสให้ทวยราษฎร์ทำมาหาเลี้ยงชีพเจริญก้าวหน้าโดยสุจริต การส่งเสริมอาชีพ การจัดสรรเกี่ยวกับทุนและอุปกรณ์ ตามหลักสังคหวัตถุ ๔ * (เช่น องฺ.อฏฺฐก.23/91/152 ฯลฯ) และการควบคุมป้องกันไม่ให้มีอธรรมการ คือ การทำการและวิธีการทั้งหลาย ที่ไม่ชอบธรรม ไม่เป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบกัน เป็นต้น โดยที่รัฐควรถือเป็นหลักการว่า การลดหมดไปของคนยากไร้ เป็นเครื่องวัดความสำเร็จได้ดีกว่าการเพิ่มขึ้นของคนร่ำรวย และให้การลดหมดไปของความขัดสนนั้น เป็นผลของการจัดการทางสังคม ที่ไม่ละเลยการพัฒนาคน


    ง. ในแง่ระบบเศรษฐกิจ – การเมือง มักมีคำถามว่า ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง แบบไหน ถูกต้องหรือไปกันได้กับพระพุทธศาสนา เรื่องนี้ อย่างน้อยในขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่เรื่องที่พระพุทธศาสนาจะต้องตอบ หรือหากไม่ถือว่าตีโวหาร ก็อาจต้องย้อนว่า ระบบไหนที่ปฏิบัติได้ตามหลักการของพระพุทธศาสนา ก็ระบบนั้นแหละ

    ความจริงระบบต่างๆนั้น เป็นเรื่องในระดับวิธีการ และเรื่องของวิธีการนั้น ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า ย่อมเปลี่ยนแปลง หรือดัดแปลงไปได้ ตามปัจจัยแวดล้อม ทั้งในทางกาละและเทศะ สิ่งที่ต้องพูดก่อนก็คือ หลักการและวัตถุประสงค์

    สาระสำคัญของโภคทรัพย์ ก็ดังที่กล่าวแล้วในข้อ ข. คือ เป็นอุปกรณ์ หรือเป็นปัจจัยอุดหนุน ช่วยให้มนุษย์สามารถจัดสรรความเป็นอยู่ของพวกตน ให้สะดวก และเกื้อกูลแก่การที่จะอยู่ร่วมกันโดยสงบสุข และมีความพร้อมยิ่งขึ้น ที่จะทำสิ่งดีงาม บรรลุความดีงามที่ยิ่งๆขึ้นไป เมื่อทรัพย์เกิดขึ้นที่ไหน หรือแก่ใครก็ตาม ก็คือมีปัจจัยอุดหนุนเกิดขึ้นแล้วในสังคม มนุษย์ทั้งหลายควรจะสามารถมีชีวิตที่ดีและเจริญงอกงามยิ่งขึ้น

    ระบบวิธีทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง อันหนึ่งอันใดก็ตาม สามารถทำให้สำเร็จผลด้วยดีตามความหมายแห่งหลักการและวัตถุประสงค์นี้ ระบบวิธีนั้น ก็สอดคล้องกับพระพุทธศาสนา

    ส่วนที่ว่า ระบบวิธีเป็นสิ่งที่เนื่องด้วยปัจจัยแวดล้อมแห่งกาละและเทศะนั้น มองเห็นได้ง่าย เช่น ในพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้น เป็นชุมชนเฉพาะกิจเฉพาะวัตถุประสงค์ ทรงจัดวางวินัยให้พระภิกษุไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว นอกจากบริขาร ๘ แต่ให้ทรัพย์สินเป็นของสงฆ์ คือส่วนรวมหรือของกลางนั้น ในเวลาเดียวกัน สำหรับสังคมของชาวโลก ซึ่งขณะนั้น มีการปกครองในชมพูทวีป ๒ แบบ ก็ทรงสอนหลักอปริหานิยธรรมสำหรับรัฐที่ปกครองแบบสามัคคีธรรมหรือแบบสาธารณรัฐ และทรงสอนหลักจักรวรรดิวัตรสำหรับรัฐที่ปกครองแบบราชาธิปไตย


    เรื่องนี้ แสดงลักษณะอย่างหนึ่งของพุทธธรรมด้วย คือ พุทธธรรมไม่ใช่เป็นเพียงปรัชญา หรือเรื่องของนักคิด แต่เป็นเรื่องของศาสดานักปฏิบัติ ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับประชาชนผู้ดำรงชีวิตจริง ท่ามกลางสภาพสังคมและสถานการณ์ที่เป็นไปอยู่ในเวลานั้นๆ ต้องสอนสิ่งที่เขาใช้ได้ ปฏิบัติได้ ให้เกิดประโยชน์สุขแก่เขาตั้งแต่ปัจจุบัน ดังที่เรียกว่า ทรงสอนความจริงที่เป็นประโยชน์ หากจะต้องรอจนกว่าหลังจากสถาปนาระบบที่ว่าดีที่สุด ซึงความจริงก็ยังเป็นเพียงระบบที่หวังว่าดีที่สุด เสร็จแล้ว จึงค่อยใช้ระบบนั้นทำให้ประชาชนประสบประโยชน์สุข อย่างนี้จะพ้นจากความเป็นการปฏิบัติที่เลื่อนลอย และพ้นจากความงมงายได้อย่างไร

    ในเมื่อทั้งระบบสามัคคีธรรมก็มีอยู่ ทั้งระบบราชาธิปไตยก็มีอยู่ ในเวลานั้น ก็เป็นอันว่า ประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบอบราชาธิปไตย พระศาสดาก็ต้องช่วยให้เขาอยู่ดีมีสุข ประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบอบสามัคคีธรรม พระองค์ก็ต้องช่วยให้เขาอยู่ดีมีสุข

    @ สำหรับระบอบแรก ทรงเน้นให้ผู้ปกครองมองเห็นยศศักดิ์อำนาจ เป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์สุขแก่ราษฎร มิใช่ เป็นเครื่องมือแสวงหาสิ่งปรนเปรอบำเรอสุขส่วนตน

    @ สำหรับระบอบหลัง ทรงแนะนำหลักและวิธีการที่จะดำเนินกิจการให้เข้มแข็งมั่นคงได้ผลดี

    ในระยะที่ระบอบราชาธิปไตยเจริญในทางดีงามสูงสุด คติธรรมแนวพุทธนี้ ก็ได้เป็นหลักการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช ดังดำรัสของพระองค์ในศิลาจารึกว่า

    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงถือว่า ยศหรือเกียรติ จะเป็นสิ่งมีประโยชน์มาก เว้นแต่จะทรงปรารถนายศหรือเกียรติ เพื่อความมุ่งหมายนี้ว่า ทั้งในบัดนี้ และในเบื้องหน้า ขอประชาชนทั้งหลาย จงตั้งใจฟังคำสอนธรรมของข้า ฯ และจงปฏิบัติตามหลักความประพฤติในทางธรรม” * (ดู ธรรมโองการ จารึกศิลา ฉบับที่ ๑๐ ในจารึกอโศก (หนังสือ Asokan Edicts หรือ Asokan Inscriptions ฉบับใดก็ได้)


    เมื่อจับสาระที่เป็นหลักการ และความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาในเรื่องนี้ได้แล้ว การที่จะวินิจฉัยว่า ระบบใด ถูกต้องสอดคล้องกับหลักการและความมุ่งหมายนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณารายละเอียดกันยึดยาว ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้รู้เชียวชาญเกี่ยวกับระบบนั้นๆ จะพึงถกเถียงกัน หรือหากจะคิดวางระบบวิธีใหม่ที่ถูกต้องได้ผลดียิ่งกว่าระบบต่างๆเท่าที่มีอยู่ขึ้นมาได้ ก็คงจะยิ่งเป็นการดี แต่ทั้งนี้ ยังมิใช่กิจของหนังสือนี้.

    (พุทธธรรม - พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต หน้า 741 ไป)
     
  20. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494

แชร์หน้านี้

Loading...