เพลงชุดผู้ชนะสิบทิศมีกี่เพลง...

ในห้อง 'Music & Karaoke' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 29 กันยายน 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    ข่าวการนำเอาอมตะนิยายเรื่อง "ผู้ชนะสิบทิศ" ของยาขอบมาสร้างเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์โดยประกาศรับสมัครพระเอก หรือ "ตามหาจะเด็ด" ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ อ.ส.ม.ท. ทำให้ "ผู้ชนะสิบทิศ" กลับมาสู่ความสนใจของคนไทยอีกครั้งหนึ่ง

    ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์) นักประพันธ์เอกของไทย ได้สร้างนิยายเรื่องนี้เพราะแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าผู้ยิ่งใหญ่จากพงศาวดาร ๘ บรรทัด ลงพิมพ์ครั้งแรกเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ ประชาชาติรายวัน ในนาม "ยอดขุนพล" เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔

    จากฝีมือการประพันธ์อันล้ำเลิศ ยาขอบสามารถสร้าง "จะเด็ด" ให้กลายมาเป็นตัวละครอมตะเป็นที่รู้จักกันทั่วเมืองไทย

    ด้วยบุคลิกของชายชาตรีที่ยึดมั่นในความกตัญญู กล้าหาญ ซื่อสัตย์ รักเกียรติ รักษาคำพูด กิริยามารยาทอ่อนโยนนุ่มนวล เฉลียวฉลาด มีคารมคมคาย ประกอบกับฝีมือการรบที่เยี่ยมยอด อันเป็นคุณสมบัติของพระเอกในอุดมคติของคนไทย สร้างให้จะเด็ดกลายเป็นพระเอกในหัวใจของผู้อ่าน ถึงขนาดมีผู้มาเข้าคิวซื้อหนังสือพิมพ์ที่หน้าโรงพิมพ์เพื่อที่จะอ่านผู้ชนะสิบทิศจนแน่นโรงพิมพ์ทุกวัน

    จากตัวอักษรในหนังสือสู่ละคร ลิเก ภาพยนตร์ ส่งผลให้นิยายเรื่องผู้ชนะสิบทิศ เป็นที่รู้จักของคนไทยทั่วประเทศตั้งแต่เชื้อพระวงศ์ผู้สูงศักดิ์ ข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้า ชาวไร่ชาวนาไปจนถึงนักเรียน นักศึกษา

    นอกจากสื่อที่กล่าวมาแล้ว เพลง ก็เป็นอีกหนึ่งที่มีส่วนส่งให้นิยายเรื่องผู้ชนะสิบทิศมีชื่อเสียง มีนักแต่งเพลงผู้มีชื่อเสียงหลายท่านได้นำเอาเรื่องราวและพฤติกรรมของตัวละครมาแต่งเป็นละครเพลงหลายสิบเพลง โดยเฉพาะเพลงผู้ชนะสิบทิศ ซึ่งมีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า

    "ฟ้าลุ่มอิรวดีคืนนี้มีแต่ดาว แจ่มแสงแวววาว...เด่นอะคร้าวสว่างไสว..."

    ด้วยท่วงทำนองเพลงที่แสดงถึงความองอาจสง่างาม เนื้อร้องที่แสดงถึงความกล้าหาญยึดมั่นในเกียรติของนักรบระคนอยู่กับความรักและความแค้นที่ชรินทร์ นันทนาคร บรรจงถ่ายทอดมานั้นมีความไพเราะยิ่งใหญ่อลังการจับหัวใจลูกผู้ชายไทยเหลือเกิน เวลาผ่านไปเกินกว่ากึ่งศตวรรษ มนต์ขลังแห่งเพลงผู้ชนะสิบทิศแต่ยังคงตรึงตราอยู่กับคนไทยอยู่มิเสื่อมคลาย

    ชรินทร์ นันทนาคร เล่าไว้ในหนังสือผู้ชนะสิบทิศฉบับย่อ ของยาขอบและอักษราภรณ์ สำนักพิมพ์ดอกหญ้าจัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ว่า

    "...มีอยู่วัน ครู [ไสล ไกรเลิศ] เค้าก็พาไปที่เวิ้งนครเขษม ที่เวิ้งฯ ก็จะมีผดุงศึกษา, แพร่พิทยา, พวกร้านหนังสือ ครูเค้าจะเข้าไปอ่านหนังสือเรื่องผู้ชนะสิบทิศ มันยาวนี่ตั้ง ๗-๘ เล่ม ยืนอ่านกันอยู่นั่น พออ่านไปซักครึ่งชั่วโมง อาแป๊ะคนเฝ้าร้านก็เดินถือไม้ขนไก่มาปัดๆ ก็รู้ว่ามาไล่ แล้วครูเค้าก็เก็บ แล้วไปอีกร้านหนึ่งใช้วิธีเดียวกัน เอามาอ่านๆ พอซักครึ่งชั่วโมงก็มีอาแป๊ะมาไล่อีกแล้ว เราก็ไปเรื่อยๆ ทำอย่างนี้อยู่ได้ ๒ วัน ก็มานั่งสโมสรเทศบาลกรุงเทพฯ ตอนนี้กลายเป็นครัววังหน้า ที่นั่นมันเป็นที่วิวสวย ครูก็ไปนั่ง สมัยก่อนจะมีเรือแจวด้วย เผอิญคืนนั้นเป็นคืนที่ฟ้าสวย มีดาว ครูก็ฮัมเพลงนี้ขึ้น เราก็เอ๊ะ ใช่ที่อ่านวันนี้รึเปล่า ครูเค้าก็เออ ที่ไปอ่านวันนั้นแหละ ครูเค้าก็เอามาแต่งอีกหลายวันนะจนจบ ก็เอามาร้องตามวิทยุ ๑ ปณ. วิทยุรักษาดินแดน ยาขอบเค้าก็ได้ยินก็มีจดหมายสีชมพูมาที่บ้านขอให้ไปพบที่บ้าน เราก็ต้องไปหาที่บ้าน ครูเค้าก็ไม่มีใคร เฮ้ยๆ ไปด้วยกัน สงสัยโดนแน่ๆ เพราะว่าเอาเรื่องเขามา ก็ไปที่บ้านยาขอบ บ้านยาขอบสัตว์เลี้ยงเยอะแยะ เค้าก็เชิญให้เรานั่งแล้วก็ถามว่า นึกอย่างไรที่เอาเรื่องเค้าไปแต่งเพลง ครูก็อ้อมๆ แอ้มๆ ก็ผิดนี้ก็เลยบอกชอบ เพราะว่าลีลาสำนวนไม่เหมือนใคร เขียนสนุก และก็ชอบพระเอก-จะเด็ด แล้วก็ถามอีกว่าใครร้อง ครูก็รีบชี้มือมาเลย ไอ้นี่แหละร้อง ยาขอบก็เลยบอกงั้นร้องให้ฟังหน่อย เราก็ร้อง ตั้งสมาธิร้องไป ดนตรีก็ไม่มี ครูเค้าก็บอกว่ายืนๆ ร้องแล้วมันจะผายปอดดี กำลังจะได้ดี ยืนจะได้ทำไม้ทำมือได้ เอาให้เต็มที่ที่สุดเลยนะ แล้วผมก็ตั้งใจร้อง ร้องมาจนถึงท่อน...เจ็บใจคนรักโดนรังแก เราก็เห็นยาขอบเคาะโต๊ะ ทำหน้ายิ้มระรื่น เราก็มีกำลังใจ ผู้ชนะสิบทิศ เราก็โหนได้ แหมยาขอบปรบมือให้ ครูก็ปรบมือไปด้วย รอดตายแล้ว แล้วยาขอบเค้าก็ให้หนังสือ เซ็นชื่อให้ด้วย เป็นหนังสือมีค่ามหาศาลมาก แล้วก็บอกครูว่า ต่อไปครูไสล จะเขียนเพลงอะไรจากหนังสือเล่มนี้ก็ได้ โอ้โฮ ครูไปไหน ครูก็แหมผงาดเลย เป็นบ่อเกิดของจอมใจจะเด็ด, จันทราอธิษฐาน, กุสุมาวอนสวาท, อีกเยอะเลย..."

    เพลงผู้ชนะสิบทิศเดิมชื่อว่า "บุเรงนองรำลึก" บันทึกเสียงครั้งแรกโดยชรินทร์ งามเมือง (นามสกุลเดิมก่อนได้รับพระราชทานนามสกุลว่า นันทนาคร) เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ในการบันทึกเสียงครั้งแรกได้เปลี่ยนแปลงคำท้ายของบทแรกจาก "เด่นอะคร้าวสว่างไสว" เป็น "สว่างเวหา" และตัดบทที่ ๒ ที่ว่า "เสียงคลื่นเร้าฤดี คืนนี้ข้าเปลี่ยวใจ เหน็บหนาวทรวงใน เหตุไฉนข้าเศร้าวิญญา" ออกไปเนื่องจากเพลงยาวเกินกว่าที่จะบันทึกลงในแผ่นครั่ง ภายหลังเมื่อมีการพัฒนาการบันทึกเสียง เป็นแบบแผ่นเสียงลองเพลย์จึงนำเอาเนื้อร้องที่สมบูรณ์มาบันทึกไว้ทั้งหมด และเปลี่ยนชื่อเป็น "ผู้ชนะสิบทิศ"

    จากการศึกษาและรวบรวมเพลงที่เกี่ยวกับนิยายเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ผู้เขียนพบเพลงจากนิยายเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ๒๙ เพลง ซึ่งขอกล่าวถึงพอสังเขป ได้ดังนี้

    ๑. ผู้ชนะสิบทิศ "ฟ้าลุ่มอิรวดีคืนนี้มีแต่ดาว แจ่มแสงแวววาวเด่นอะคร้าวสว่างไสว เสียงคลื่นเร้าฤดีคืนนี้ข้าเปลี่ยวใจ..." คำร้อง-ทำนอง ไสล ไกรเลิศ ชรินทร์ นันทนาคร ขับร้อง

    ๒. กุสุมาอธิษฐาน "มืดมนยามย่ำสนธยามองฟ้าพาใจ อาวรณ์ร้าวรอนอกข้าเอย..." คำร้อง-ทำนอง ไสล ไกรเลิศ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ขับร้อง

    ๓. กรรฑิมาอาภัพ (กันทิมา) "ดวงใจข้าหลงพะวงรักพี่ ข้าสู้หลบหนีหนีพ่อตามมา จะเด็ดพี่เอยมิเคยเวทนา..." คำร้อง-ทำนอง ไสล ไกรเลิศ วงจันทร์ ไพโรจน์ ขับร้อง

    ๔. ทรากรักของจันทรา "ขวัญเอยขวัญฟ้าจันทราตะละแม่ตองอู คะนึงอยู่ถึงชู้รักบุเรงนอง หวังปองพิศวาสมาดหมาย" คำร้อง-ทำนอง ศักดิ์ เกิดศิริ แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ แน่งน้อย สงวนรักษ์ ขับร้อง

    ๕. นันทวดีพลาดรัก "ข้ารักข้าหลงพะวงผูกพันฝันใฝ่ สุดหักห้ามใจมอบดวงฤทัยรักชาย ดังหนึ่งเป็นหญิงทราม ห้ามความอับอาย..." คำร้อง-ทำนอง ศักดิ์ เกิดศิริ แต่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ วงจันทร์ ไพโรจน์ ขับร้อง

    ๖. ปอละเตียงครวญ "เหมือนกรรมบันดาลให้พบพานบุเรงนองจอมใจ อยู่เมืองมอญแต่ก่อนไร..." คำร้อง-ทำนอง ศักดิ์ เกิดศิริ แต่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ วงจันทร์ ไพโรจน์ ขับร้อง

    ๗. เนงบาผู้ปราชัย "เนงบาอุราระทมทุกข์หนัก เนงบาผู้อัปลักษณ์ต้อยต่ำ เนงบาสุดระกำในดวงแด..." คำร้อง-ทำนอง ศักดิ์ เกิดศิริ แต่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ วิเชียร ภู่โชติ ขับร้อง เพลงนี้ได้รับความนิยมมากในปี พ.ศ. ๒๔๙๙

    ๘. สามทหารเสือตองอู "เนงบา จาเลงกาโบ สีอ่อง เนงบาคุมกองโยธาปัตตานึก จาเลงกาโบหัตถาทำศึก อัศวนึกสีอ่องผู้เหี้ยมฮึกนำพล..." คำร้อง-ทำนอง ศักดิ์ เกิดศิริ วิเชียร ภู่โชติ ปรีชา บุญยเกียรติ และชุติมา สุวรรณรัตน์ ร่วมกันขับร้อง

    ๙. บุเรงนองเฉลยรัก "พี่ต้องตรมระทมหม่นหมองฤดี กันทิมาช่างไม่มีใจนึกเวทนา ปล่อยให้พี่ตรมระทมวิญญา..." คำร้อง-ทำนอง ศักดิ์ เกิดศิริ เป็นเพลงขับร้องคู่ระหว่าง แน่งน้อย สงวนรักษ์ กับชุติมา สุวรรณรัตน์

    ๑๐. ไขลูออกแขก "ผมเป็นแขกมาจากลังกา มาอยู่พม่า มาเล่นลิเก บ้านผมอยู่ที่มัณฑเลย์..." สุรพล สมบัติเจริญ ขับร้อง ไม่พบข้อมูลผู้แต่ง

    ๑๑. ไขลูสู้ตาย "ตัวข้ารูปงามมีนามไขลู เคยปราบศัตรูทั่วเมืองรามัญ จะเก่งเท่าไหร่ข้าไม่เคยไหวหวั่น..." ขับร้องโดยผู้ใช้นามว่า ดิษยมานพ ไม่พบข้อมูลผู้แต่ง

    ๑๒. ไขลูผู้กว้างขวาง "นักดาบชั้นครูชื่อไขลู ตัวดัง เป็นผู้กว้างขวางอยู่ในเมืองหงสา มีศิษย์รูปหล่อชื่อสอพันยา..." ขับร้องโดยเสน่ห์ โกมารชุน ไม่พบข้อมูลผู้แต่ง

    ๑๓. ยอดพธูเมืองแปร "...แม่ยอดพธูเมืองแปรช่างสวยแท้งามเด่น งามเหมือนหนึ่งจันทร์เพ็ญสมเป็นยอดนารี..." เพลงนี้ได้นำโคลงสี่สุภาพจากนิราศนรินทร์ บทที่ว่า "โฉมควรจักฟากฟ้า ฤาดิน ดีฤา..." มาอ่านเกริ่นนำ คำร้อง-ทำนอง ไสล ไกรเลิศ สุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้อง

    ๑๔. บุเรงนองลั่นกลองรบ "ทุงยาบาเลๆ เป่าปี่ตีฆ้องย่ำกลองศึกรบ จะพบคนงามด้วยความแค้นใจ จะหมายชิงชัยกุสุมา..." คำร้อง-ทำนอง ไสล ไกรเลิศ สุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้อง

    ๑๕. จอมใจจะเด็ด "อกเอยชะตาฟ้าดินบันดาล รักทรมานร้าวรานวิญญา ข้าจากยอดชู้จอมนารีศรีเมืองตองอู..." คำร้อง สุรัฐ พุกกะเวส ทำนอง ไสล ไกรเลิศ ชรินทร์ นันทนาคร ขับร้อง

    ๑๖. กุสุมายอดรัก "สวรรค์เป็นใจให้พี่ เจ้าเอื้ออารีขอบใจในไมตรีเมตตา..." คำร้อง-ทำนอง ไสล ไกรเลิศ ชรินทร์ นันทนาคร ขับร้อง

    ๑๗. อเทตยาเพ้อรัก "ชาย.อเทตยาทรามเชย น้องจงเงยหน้าก่อน เจ้าแง่งอน เคืองค้อนอะไรตัวพี่..." คำร้อง-ทำนอง ไสล ไกรเลิศ ชรินทร์ นันทนาคร ขับร้องคู่กับ สวลี ผกาพันธุ์

    ๑๘. ศึกรักในเมืองแปร "(อเทตยา) เดือนดับไปแล้วพี่ขา (กุสุมา) อุ๊ยมาทำไมน้องพี่..." คำร้อง-ทำนอง ไสล ไกรเลิศ ชรินทร์ นันทนาคร พูลศรี เจริญพงษ์ และทัศนัย ชอุ่มงาม ร่วมกันขับร้อง

    ๑๙. กุสุมาวอนสวาท "โอ้เจ้ากุสุมาขวัญตาคนดีเชิญน้องฟังพี่ก่อน..." คำร้อง-ทำนอง ไสล ไกรเลิศ สุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้องคู่กับ วงจันทร์ ไพโรจน์

    ๒๐. กล่อมอิรวดี "รุ่งสางฟ้ารางเรืองรอง แสงทองยามมองตื่นตาหมู่ปักษาโผมาเคียงคู่ ฝั่งคงคาฟ้าเมืองตองอู..." คำร้อง-ทำนอง ไสล ไกรเลิศ พูลศรี เจริญพงษ์ ขับร้อง

    ๒๑. บุเรงนองพ่ายรัก "น้องนวลเอย นวลจันทร์ เจ้าแกล้งให้พี่ฝัน พี่ผวา ไม่เห็นโฉมโลมสวาทเหมือนจะขาดวิญญา โอ้เจ้าจันทราจะเด็ดจะทำไฉน..." คำร้อง-ทำนอง ประดิษฐ์ อุตตะมัง ชรินทร์ นันทนาคร ขับร้อง

    ๒๒. ผู้ชนะสิบทิศ "จากพื้นดินพื้นทรายในดงตาล ชีวิตน้อยค่อยคลานด้วยยากเข็ญ จนสามารถเกรียงไกรได้มาเป็น วีรบุรุษสุดเด่นแดนพุกาม..." ผู้เขียนพบเพลงนี้ในสมุดจดเพลงของสุเทพ วงศ์กำแหง ที่สำนักงานสุเทพ วงศ์กำแหง ที่บันทึกว่า เป็นผลงานของขุนวิจิตรมาตรา สุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้อง

    ๒๓. เนงบาครวญ "เนงบา วาสนา ชะตาต้อยต่ำ เนงบาสุดชอกช้ำระกำใจ เนงบาต้องตรมหมองไหม้ชีวี..." คำร้อง-ทำนอง ศักดิ์ เกิดศิริ แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ วิเชียร ภู่โชติ ขับร้อง

    ๒๔. จาเลงกาโบโศกา "จาเลงกาโบจะยกโยธาไปเยนเฮ จะเมาโซเซจะร้องยี่เกรำละคร หัวใจร้าวรอนด้วยความช้ำฤทัย..." คำร้อง-ทำนอง ไสล ไกรเลิศ วิเชียร ภู่โชติ ขับร้อง

    ๒๕. จอมขวัญจันทรา "จอมขวัญจันทราของพี่ ชาตินี้เราคงไม่มีสุขสอง เท่าที่พี่เคยชมภิรมย์ร่วมห้อง น้องยังเคืองข้อง..." คำร้อง ไสล ไกรเลิศ ทำนอง สุรัฐ พุกกะเวส สุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้อง

    ๒๖. บุเรงนองพิศวาส "โอ้เจ้าจันทรา โฉมดวงสุดา ดอกฟ้าตะละแม่ ข้าอยู่แปรมิเคยได้แลเหลียวหา อยู่ไกลลับไกลห่างก็ยังเฝ้าฝัน" คำร้อง-ทำนอง ส.สุวรรณทัต นริส อารีย์ ขับร้อง ภายหลัง สามารถ บริบูรณ์เวช ได้นำมาขับร้องบันทึกเสียงใหม่

    ๒๗. มังฉงายผู้ร่ายพิณ "ฟ้าค่ำคืนนี้ ดูมากมีด้วยแสงดารา จันทราหลบหน้าอยู่ไหน..." คำร้อง-ทำนอง โกวิทย์ เกิดศิริ ผู้แต่งเพลงเชียงรายรำลึก สรรชัย โกรานนท์ ขับร้อง

    ๒๘. กันทิมาเพ้อ ผลงานของ ไสล ไกรเลิศ พบเพลงนี้ในหนังสือประวัติของไสล ไกรเลิศ ไม่มีข้อมูลผู้ขับร้อง

    ๒๙. บุเรงนองครวญ "โอ้เจ้ากุสุมาโฉมดวงสุดา ลุ่มฟ้าวดี หัวใจพี่นี้ต้องมีแต่ทุกข์ระทม รักมาจำจากพรากรักหักตรม..." คำร้อง-ทำนอง ส.สุวรรณทัต สามารถ บริบูรณ์เวช ขับร้อง

    เพลงที่ ๑-๑๒ อยู่ในแผ่นเสียงลองเพลย์ของบริษัทกมลสุโกศล หมายเลขแผ่น 33 ESX.SK เพลงที่ ๑๓, ๑๔ อยู่ในแผ่นเสียงลองเพลย์ตรามงกุฎ ชุด สุเทพ วงศ์กำแหง หมายเลขแผ่น C.T.R 206 เพลงที่ ๒๑ อยู่ในแผ่นเสียงลองเพลย์ตรามงกุฎ ชุด รักแท้ บุเรงนองพ่ายรัก หมายเลขแผ่น C.T.R 231 ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำมาจัดทำเป็นแผ่นคอมแพกต์ดิสก์ จำหน่ายในชุดแม่ไม้เพลงไทยซึ่งยังคงมีวางจำหน่ายโดยทั่วไป สำหรับเพลงที่ ๑๕-๒๐ และเพลงบุเรงนองรำลึก (ต้นฉบับ) คุณชาตรี ศิลปสนอง นักอนุรักษ์เพลงไทยสากลได้นำมาจัดทำเป็นแผ่นคอมแพกต์ดิสก์ ในชุดจอมใจจะเด็ด หมายเลขแผ่น C.S 904 เพลงที่ ๒๖, ๒๙ ผู้เขียนพบในแผ่นเสียงขนาด ๗ นิ้ว "บุเรงนองพิศวาส" ของบริษัทเมโทรแผ่นเสียง หมายเลขแผ่น MTM-277

    เพลงทั้ง ๒๙ เพลงนี้ ผู้เขียนได้ข้อมูลมาจากแผ่นเสียงและหนังสือเพลงเก่าที่สะสมไว้ ซึ่งอาจจะยังไม่ครบถ้วนหรือตกหล่นไปบ้าง ถ้าหากจะมีท่านผู้รู้ได้กรุณาให้ข้อมูลเพิ่มเติมก็จะเป็นประโยชน์สำหรับการอนุรักษ์เพลงไทยสากลที่มีคุณค่าให้คงอยู่ต่อไป

    อย่างไรก็ตามผู้เขียนยังมีความมั่นใจ คงไม่มีนิยายเรื่องไหนในประเทศไทยที่เป็นแรงดลใจให้มีการนำไปแต่งเพลงมากเท่าเรื่องผู้ชนะสิบทิศ

    ทั้งหมดนี้คือเรื่องของเพลงจากวรรณกรรมอมตะที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเราได้ตีความศิลปะทางด้านวรรณกรรม แล้วนำมาเรียงร้อยถ้อยคำผสานท่วงทำนองจนออกมาเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งซึ่งมีความงดงามไม่แพ้กัน

    ยาขอบ ไสล ไกรเลิศ ศักดิ์ เกิดศิริ จากโลกนี้ไปแล้ว หากแต่นิยายและเพลงชุด "ผู้ชนะสิบทิศ" จะยังคงยืนยงอยู่กับคนไทยตลอดไป



    เอกสารอ้างอิง

    ยาขอบและอักษราภรณ์. ผู้ชนะสิบทิศฉบับย่อ. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, ๒๕๔๖.

    ยาขอบอนุสรณ์ หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพโชติ แพร่พันธุ์ วันเสาร์ที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๐๐, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, ๒๕๓๗.

    บ้านดนตรี. รวมเพลงสุดรัก ศักดิ์ เกิดศิริ. กรุงเทพฯ : ณ นคร, ๒๕๓๙.

    พงษ์ชัย ไทยวรรณศรี. "ผู้ชนะสิบทิศ" คอลัมน์คุยด้วยเพลง นิตยสาร What AV ฉบับที่ ๒๖ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๓.

    _____. "ผู้ชนะสิบทิศ" คอลัมน์แผ่นเสียงเพลงไทย นิตยสาร What hi-fi ฉบับที่ ๒๔๕ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
    .
     

แชร์หน้านี้

Loading...