เสียดาย… คนตายไม่ได้อ่าน ตอนที่ 2

ในห้อง 'ภพภูมิ-สวรรค์ นรก' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 13 พฤษภาคม 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วิชารู้ตามจริง

    ที่กล่าวมาทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ ความจริงแล้วเป็นเพียงแผนที่ภพภูมิอย่างคร่าวๆเท่านั้น คงเปรียบได้กับแผนที่ประเทศอันตรายประเทศหนึ่ง ซึ่งบอกตำแหน่งจังหวัดสำคัญของประเทศได้ไม่ครบยังขาดจังหวัดอื่นๆอีกมาก รวมทั้งไม่สามารถแสดงตำบล อำเภอ สถานที่ท่องเที่ยว เขตหวงห้าม หรือกระทั่งเส้นแบ่งเขตประเภทและภาคต่างๆออกจากกันได้หมด

    นอกจากนั้น แผนที่ยังแสดงเพียงเส้นทางหลักไปสู่จังหวัดใหญ่ๆที่บอกไว้ไม่กี่สาย พอให้ทราบเป็นเค้าเป็นเลาว่าถ้าอยากขึ้นเหนือต้องจับทางสายนั้นไว้ให้มั่น แต่ถ้าอยากลงใต้ก็เชิญจับทางอีกสายที่เป็นตรงข้ามก็แล้วกัน เมื่อแล่นตามทางหลวงสายหลักไปเรื่อยๆแล้ว ก็จะพบด้วยตาตนเองว่าบรรดาจังหวัดในทิศเหนือมีอยู่จริง และบรรดาจังหวัดในทิศใต้ก็มีอยู่จริงด้วย ไม่ใช่แค่การร่ำลือโดยปราศจากสัจจะรองรับ


    รายละเอียดวิธีเดินทางเป็นศิลปะที่แต่ละคนต้องเรียนรู้เอาเอง แต่ผู้สร้างแผนที่คือพระพุทธเจ้านั้นท่านก็บอกไว้เพียงพอต่อการทำความเข้าใจง่ายๆ กล่าวคือท่านให้ทั้งมุมมองที่ถูกต้องว่าจังหวัดในทิศเหนือและทิศใต้แตกต่างกันเพียงใด จะดูเข็มทิศกันอย่างไร ควรใช้พาหนะแบบไหน


    ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าคิดสมัครใจออกจากประเทศ พระองค์ก็ตรัสไว้ชัดว่าต้องอาศัย ‘วิธีพิเศษ’ คือต้องขึ้นอากาศยาน ลอยไปเหนือพื้นดินและเส้นทางขึ้นเหนือลงใต้ทั้งปวง เพราะเส้นทางภายในประเทศนั้นเปรียบเหมือนเขาวงกตที่ปราศจากด่านปล่อยตัวให้รอดพ้น แม้เส้นทางที่ขึ้นเหนือก็ยังมีจุดเชื่อมต่อให้กลับวกลงใต้ได้โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว หรือแม้ระวังก็ยากหากจะแล่นลิ่วไปเรื่อยๆอย่างไร้จุดหมายปลายทาง


    การเดินทางโดยอากาศยานเป็นวิธีที่ต้องลงทุน และต้องจับทิศขึ้นเหนือไปให้ถึงสนามบินเสียก่อนเพราะสนามบินมีอยู่แต่ทางเหนือ ไม่มีอยู่ทางใต้เลย ยิ่งเหนือมากขึ้นเท่าไหร่ สนามบินก็จะยิ่งดีขึ้นอากาศยานมีความแข็งแรงน่าอุ่นใจยิ่งๆขึ้นเท่านั้น แต่สาระคือเพียงขึ้นเหนือให้เจอสนามบินแรกก็พอใช้ได้ แม้บริการยังไม่อบอุ่นน่าประทับใจ อากาศยานของเขาก็พาเราขึ้นบินได้เหมือนๆกัน


    เมื่อขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้าแล้ว มุมมองทั้งหมดของเราจะแตกต่างออกไปจากที่เป็นอยู่อย่างสิ้นเชิง ที่เคยนึกๆมาตลอดชีวิตว่าโลกมีแต่มุมมองทางพื้นราบ ก็เข้าใจเสียใหม่ เห็นตามจริงว่ายังมีมุมมองจากสายตาแบบนกที่งดงามกว่ากันมาก ไปไหนต่อไหนได้อย่างรวดเร็วเป็นอิสระกว่ากันมาก การรุดไปข้างหน้า ข้างหลัง ข้างขวา ข้างซ้าย เหมือนไม่มีขีดจำกัดใดๆอยู่เลย ทุกอย่างเป็นไปตามปรารถนาทั้งสิ้น


    ที่บนนั้นเราจะเห็นภูมิประเทศทั้งหมดอย่างแจ่มชัด เห็นตามจริงว่าเส้นทางไหนพาไปสู่จังหวัดใดทิศใต้หรือทิศเหนือ เห็นตามจริงว่าอยู่บนฟ้าสามารถเลือกได้มากกว่า คล่องแคล่วว่องไวกว่า เห็นตามจริงว่าทั้งประเทศมีแต่ความวุ่นวาย เส้นทางเชื่อมกันวนเวียนเป็นเขาวงกต หลงงมกันในเขตที่ปราศจากทางออกย่อมเหนื่อยเปล่าไร้วันจบสิ้น สู้ลัดฟ้าหาทางออก หาเขตข้ามให้พ้นจากประเทศนี้ไปไม่ได้ ถึงแม้จะยังไม่ทราบว่าพ้นประเทศอุบาทว์นี้ไปแล้วจะเป็นเช่นใด อย่างน้อยก็เคยได้ยินผู้รู้ท่านยืนยันไว้ว่าดีกว่าเจริญกว่า สุดสุขกว่าอย่างไม่อาจเทียบเท่ากันได้


    อุปมาอุปไมยมาทั้งหมดก็เพื่อจะกล่าวว่าถ้าสามารถรู้ได้ตามจริง สิ่งแรกสุดที่เราจะได้มาคือ‘ความเห็นแจ้ง’ ตลอดทั่ว เรื่องอจินไตยที่พ้นความคิด พ้นจินตนาการ พ้นการถกเถียง จะไม่เกินวิสัยที่เราจะรู้อีกต่อไป เพราะเมื่อฝึกรู้ตามจริง ความจริงย่อมแบออกมา แล้วเราจะเห็นว่าทุกสิ่งปรากฏเปิดเผยตัวอยู่แล้วตลอดเวลา กิเลสอันหนาแน่นเท่านั้นที่ปิดบังจิตพวกเราไว้จากความเห็นทั้งหลาย


    [​IMG]


    พื้นฐานของวิชารู้ตามจริง


    การ ‘รู้ตามจริง’ คือการขึ้นไปมีมุมมองอยู่เหนือเส้นทางทั้งสายบุญและสายบาป แต่ก่อนจะรู้ตามจริงได้นั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าต้องมีจิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น ไม่เอียงไปในทางใดทางหนึ่งเสียก่อน


    และตามธรรมชาติของจิตที่จะเป็นสมาธิ ก็ต้องการน้ำใจสละออก คือไม่ตระหนี่ถี่เหนียว คิดเจือจานสมบัติส่วนเกินของตนให้คนอื่นบ้าง หากใครยังมีความตระหนี่ถี่เหนียว จิตใจจะคับแคบ เวลาระลึกถึงวัตถุอันเป็นเป้าแห่งสมาธิอันใด ก็จะเพ่งคับแคบด้วยความโลภเอาความสงบ ไม่ใช่ระลึกรู้อย่างมีสติพอดีๆในแบบที่ทำให้เกิดสมาธิขึ้นได้ และหากเป็นผู้ผูกพยาบาทแน่นหนา ไม่มีน้ำใจให้อภัยใครเสียบ้างพอมาฝึกสมาธิแล้วไม่สงบรวดเร็วดังใจ ก็จะเกิดความขัดเคืองรุนแรงตามนิสัยเจ้าคิดเจ้าแค้น ยังผลให้อึดอัดคับข้องเสมอๆ


    แต่หากเป็นผู้ทำทานมาดี จิตจะเปิดกว้าง ไม่เพ่งคับแคบด้วยแรงบีบของนิสัยตระหนี่ และหากคิดให้อภัยใครต่อใครอย่างสม่ำเสมอ จิตจะเยือกเย็น ไม่กระสับกระส่ายเร่าร้อนง่ายๆ แม้ทำสมาธิล้มเหลวก็ไม่ขุ่นใจ ไม่โกรธตัวเอง ไม่แค้นเคืองวาสนาเหมือนอย่างหลายต่อหลายคน


    นอกจากต้องการความเปิดกว้างแบบทานแล้ว สมาธิยังต้องการความสะอาดของจิตประกอบพร้อมอยู่ด้วย ถ้ายังสกปรกมอมแมมไปด้วยกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริตล่ะก็ จะเหมือนมีหมอกมัวมุงบังไม่ให้ระลึกรู้วัตถุอันเป็นเป้าล่อสมาธิได้นานเลย อันนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าให้ถือศีล รักษาศีลจนสะอาดแล้วจะทราบด้วยตนเองว่าผลที่ตามมาคือความไม่เดือดเนื้อร้อนใจ เมื่อมีความไม่เดือดเนื้อร้อนใจจิตก็ย่อมมีความสว่างสบาย ง่ายต่อการทำให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิรู้ตามจริงได้


    ความจริงอันปรากฏง่ายดาย


    ธรรมดาเราจะเห็นลมหายใจเป็นสมบัติอันไม่น่าสนใจอย่างที่สุด แต่ก็ลมหายใจนี่แหละคือบันไดขั้นแรกที่น่าสนใจที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้ใส่ใจมากที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด


    เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร? เพราะเพียงเริ่มต้นก็ทราบตามจริงได้ ว่าเรากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก ความจริงมีเพียงสองด้าน ไม่มีทางผิดไปจากนี้ ดังนั้นถ้าเราสามารถรู้ได้ทันลมเข้าหรือลมออกในแต่ละขณะ ก็แปลว่าเรากำลังฝึกรู้ตามจริงขั้นต้นแล้ว ไม่มีจิตที่แปรปรวนกลับไปกลับมาตามการครอบงำของอุปาทานบ้างแล้ว


    เมื่อมีสติดีเยี่ยงผู้ทำทานรักษาศีลจนจิตใจปลอดโปร่งดีแล้ว จะหลับตาหรือลืมตาก็ตาม ให้มีสติรู้ว่าขณะหนึ่งๆนั้น เรากำลังหายใจออก หรือว่าเรากำลังหายใจเข้า อย่าพยายามให้เกิดความผิดปกติใดๆในการรู้ คือไม่ต้องใช้กำลังเพ่งให้เกินกว่าการบอกตัวเองได้ว่านี่หายใจออก นี่หายใจเข้า อย่าหวังความสงบเพราะการรู้ตามจริงกับการข่มใจให้สงบนั้นเป็นคนละเรื่องกัน


    พอจิตจะเคลื่อนจากลมหายใจไปผสมกับความฟุ้งซ่านปั่นป่วน ก็ค่อยๆดึงสติด้วยท่าทีที่นุ่มนวลไม่ฝืนใจ กลับมารู้อยู่กับลมหายใจต่อ พอจิตจะแปรจากอาการรู้เบาสบาย ก็ดึงสติกลับมารู้ในลักษณะที่เบาสบาย สลับยื้อกันไปยื้อกันมาอยู่ด้วยอาการง่ายๆเพียงเท่านี้ ในที่สุดจิตก็จะเกิดภาวะเงียบจากความคิดขึ้นมา และเหมือนสายลมปรากฏเด่นต่อใจเราทุกครั้งที่มีการหายใจออก และทุกครั้งที่มีการหายใจเข้าไม่ต้องพะวงอะไรทั้งสิ้น ถึงมันจะยาวเราก็รู้ ถึงมันจะสั้นเราก็รู้ ไม่มีท่าทียินดียินร้ายกับความสั้นหรือความยาวที่เราเห็นตามจริงเป็นขณะๆ


    เมื่อสามารถรู้ลมหายใจสั้นได้เป็นปกติเท่าๆกับรู้ลมหายใจยาว ก็แปลว่าขณะนั้นเรามีสติที่เกินธรรมดาที่ผ่านมามากแล้ว เนื่องจากสติของคนปกติจะดีได้ต่อเมื่อลมหายใจยาวเท่านั้น ตรงจุดนี้เราจะเริ่มเห็นสายลมหายใจเป็นสิ่งน่าสนใจ และพบความจริงอันไม่เคยทราบมาก่อน คือถ้าขนทุกสิ่งออกไปจากใจเราให้หมดแล้วเหลือเพียงการรับรู้ลมหายใจผ่านเข้าผ่านออกอย่างเดียว จิตจะสงบสุขอย่างประหลาดล้ำ ไม่ว่าจะหลับตาเพื่อทำสมาธิโดยเฉพาะ หรือเปิดตาดูโลกเพื่อทำกิจวัตรตามปกติก็ตามเป็นความสุขง่ายๆที่เอ่อขึ้นจากภายใน ไม่ต้องแสวงหาจากภายนอกโดยแท้


    และที่จุดนั้นเช่นกัน เราจะเห็นตามจริงว่าสุขอันเกิดจากการมีใจนิ่งนี้ ดีกว่าสุขอันเกิดจากใจกระเพื่อมตามแรงพัดพาของกิเลส บางทีจะนึกเสียดายที่น่าจะรู้อย่างนี้เสียตั้งนานแล้ว ไม่ควรปล่อยเวลาในชีวิตให้สูญเปล่าอยู่กับความเชื่อว่ากามเป็นของดีที่สุดเลย


    ความจริงเบื้องต้นทางกาย


    เริ่มต้นจากจุดเล็กๆจุดเดียวคือลมหายใจนี้ ที่เคยยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา พอรู้ตามจริงว่าเดี๋ยวเข้า เดี๋ยวออก เดี๋ยวยาว เดี๋ยวสั้น กับทั้งมีช่วงหยุดพักเป็นระยะ ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกอื่นเพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากความสงบ นั่นคือเห็นตามจริงว่าลมหายใจไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา


    พระพุทธเจ้าให้ถามตัวเองเสมอๆ ว่าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข? แน่นอนว่าเป็นทุกข์ สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ควรตามเห็นหรือไม่ว่านั่นเป็นตัวตน? แน่นอนว่าควรตอบตามซื่อว่าไม่ใช่ตัวตนเลย


    เมื่อถอดถอนความหลงเห็นว่าลมหายใจเป็นเราเสียได้ ก็สามารถขยับไปถอดถอนความเห็นอื่นๆต่อได้เช่นกัน คือเริ่มตระหนักหลายสิ่งที่ไม่เคยตระหนัก เช่นกายนี้ต้องการลมเข้าลมออกหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา กายนี้มีหัว มีสองแขน มีสองขาไว้ตั้งหยัดยืน มีหนึ่งตัวที่ยืดขึ้นได้ด้วยกระดูกสันหลัง ด้วยอวัยวะต่างๆทำให้เกิดอิริยาบถหลักๆได้ ๔ แบบ คือยืน เดิน นั่ง นอน ไม่รวมอิริยาบถย่อยอีกมากมายสารพัน ทั้งหมุนคอ ทั้งกลอกตา ทั้งยืดหดแขนขา ทั้งเอี้ยวตัว ฯลฯ เริ่มแรกๆเพียงรู้เฉพาะขณะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ มีความเคลื่อนไหวบางอย่างเกิดขึ้นก็พอ ไม่ต้องพยายามติดตามให้ต่อเนื่องตลอดเวลาก็ได้ ไม่ช้าไม่นานสติก็จะอยู่ติดตัว ติดกายไปเอง ดูไปธรรมดาๆ อย่าคาดคั้นให้เห็นมากกว่าที่จะสามารถเห็น มิฉะนั้นแทนที่จะเกิดสติกลับจะกลายเป็นสั่งสมความเครียดเสียแทน


    หากตามดูอาการขยับไหวทางกายอย่างถูกต้องเป็นธรรมชาติ ยิ่งดูจะยิ่งเพลิน และเห็นว่าถ้ารู้ลมหายใจ รู้ความเคลื่อนไหวทั้งหลายของกายเสมอๆ จิตจะสงบลง เมื่อจิตสงบกายก็จะไม่กวัดแกว่ง แม้นั่งเฉยๆก็รู้หัว รู้ตัว รับรู้ถึงสองแขนที่ตกลงแนบลำตัวสบายๆได้ง่ายนัก


    ถึงจุดนั้นเราจะเริ่มสนใจรายละเอียดอื่นมากยิ่งขึ้น เพราะกายในอิริยาบถต่างๆปรากฏโดยความเป็นสิ่งถูกรู้ได้ชัดเจน สติยิ่งคมขึ้นเท่าไหร่ กายยิ่งปรากฏเป็นขณะๆต่อเนื่องมากขึ้นไปอีก โดยไม่ต้องใช้ความพยายามที่เกินกำลังใดๆเลย


    ในแต่ละขณะแห่งความเห็นชัดนั่นเอง เราจะรู้สึกถึงความสกปรกทางกายได้โดยไม่ต้องให้ใครบอกกายนี้ต้องรับซากพืชซากสัตว์เข้าไปทางช่องรับด้านบน แล้วพ่นออกมาเป็นน้ำสกปรกและสิ่งโสโครกเน่าเหม็นทางรูทวารด้านล่าง นี่เป็นกลไกที่เราไม่เคยมีส่วนออกแบบไว้ แต่เราก็ยึดว่าเป็นของเรามานานบังคับบัญชาขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เป็นอื่นไม่ได้ ขอให้มันไม่หิว มันก็หิวเมื่อถึงเวลา ขอให้มันไม่ปวดปัสสาวะ มันก็ปวดปัสสาวะเมื่อถึงเวลา ขอให้มันไม่ปวดอุจจาระ มันก็ปวดอุจจาระเมื่อถึงเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านั่นเป็นความปวดชนิดปวดร้าวในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม โลกที่เคยสว่างสวยก็จะมืดมนอนธการ ไม่น่าอยู่อีกต่อไป


    กายนี้มีปฏิกูลและกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกมาตามหน่อตามแนวต่างๆ บางจุดเป็นที่รวมของความเหม็น บางจุดแค่ส่งกลิ่นจางๆ ทำให้เราไม่ได้กลิ่นถนัดนัก โดยเฉพาะถ้าชำระล้างขัดถูเช้าเย็นเป็นประจำแต่ถ้าเมื่อใดปล่อยไว้หลายๆวันนั่นแหละถึงจะแผลงฤทธิ์ ตั้งแต่หนังหัวจดเล็บเท้าจะไม่มีส่วนใดไม่คายกลิ่นเหม็นแหลมคมร้ายกาจราวกับกองขยะอันน่าคลื่นเหียน มันน่าให้พะอืดพะอมสิ้นดี ที่เราต้องถูกขังอยู่กับซากอสุภะอันน่ารังเกียจนี้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง


    องค์ประกอบสำคัญของภพมนุษย์เป็นเสียอย่างนี้ ยิ่งตามดูเราก็จะยิ่งตาสว่าง เห็นความจริงว่าเราถูกลวงให้เสน่หาอยู่กับท่อโสโครกขนาดใหญ่ มันจะไม่ส่งกลิ่นตราบใดที่ยังอยู่ในวิสัยที่เอื้อให้เช็ดถูชำระล้างกันอย่างสม่ำเสมอ แต่หากสามารถถอดจิตไปมีชีวิตข้างนอกกายได้สักเดือนหนึ่ง ย้อนกลับมามองชีวิตที่มีกายเนื้อกายหนังห่อหุ้มอยู่นี้ จะเห็นถนัดว่าพวกเราต้องเช็ดถูทำความสะอาดกายกันให้จ้าละหวั่นไม่เว้นแต่ละเช้าแต่ละค่ำ ห้ามอู้ ห้ามขี้เกียจ ห้ามบิดพลิ้วผัดวันประกันพรุ่ง มิฉะนั้นเป็นเจอดีด้วยจมูกตนเอง ช่างเป็นงานที่น่าเหนื่อยหนักเสียเหลือประมาณ


    การเห็นตามจริงว่ากายเป็นของสกปรก น่ารังเกียจ ไม่ควรพิสมัยนั้น จะทำให้จิตใจเราผ่องแผ้วโน้มโน้มที่จะตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่าย และยิ่งตั้งมั่นเป็นสมาธิได้มากขึ้นเท่าไหร่ ความสามารถในการเห็นตามจริงก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย เพราะไม่ถูกกามส่งคลื่นรบกวน ทั้งคลื่นในย่านของการตรึกนึก และทั้งคลื่นในย่านของการหลั่งสารกระตุ้นต่างๆจากภายใน
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    ความจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับสุขทุกข์


    เมื่อตามรู้ไปเรื่อยๆถึงจุดหนึ่ง จะเกิดความยอมรับออกมาจากจิตที่เป็นกลาง ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น เห็นว่าความสุขทางใจนั้นมีอายุยืนนานกว่าความสุขอันเกิดจากผัสสะที่น่าชอบใจ


    ปกติการใช้ชีวิตของคนในโลกที่ตะกลามหาเครื่องกระทบน่าต้องใจ ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสต่างๆนั้น เขามีความสุขกันแบบวูบๆวาบๆไม่ต่างอะไรจากไฟไหม้ฟาง คนเราเห็นอะไรเดี๋ยวเดียวก็ต้องเปลี่ยนสายตาไปทางอื่น ฟังอะไรเดี๋ยวเดียวประสาทหูก็เหมือนจะหยุดทำงานลงเฉยๆ ทุกประสาทสัมผัสมีความสามารถรับรู้สิ่งกระทบที่เข้าคู่กับตนได้เพียงประเดี๋ยวประด๋าว


    เราจะเห็นตามจริงว่าความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้นในคนธรรมดานั้น มักจะมาจากผัสสะที่พิเศษส่วนใหญ่ในเวลาปกติคนเราจะรู้สึกเฉยๆ และเหมือนมีจิตคิดจ้องรอเสพผัสสะที่กระตุ้นให้เกิดความสุขแรงๆกว่าปกติเสมอ


    ความสุขที่พุ่งระดับขึ้นแรงนั้นน่าติดใจ เพราะรสชาติของผัสสะมีความแหลมคมถึงอารมณ์เป็นยิ่งนัก ดูๆแล้วเหมือนพวกเราเป็นโรคอะไรบางอย่างทางกาย ที่ต้องเกา ต้องคัน หรือกระทั่งต้องผิงไฟเพื่อความเผ็ดแสบ ยิ่งเผ็ดแสบยิ่งมัน ยิ่งอยากเกาให้มาก พอเกาเดี๋ยวเดียวก็ยั้งมือไว้ด้วยความเบื่อหน่ายหรือเจ็บปวด แล้วก็ต้องลงมือแกะเกาเอามันกันใหม่ รอบแล้วรอบเล่าไร้ที่สิ้นสุด


    แต่เมื่อเริ่มรู้จักรสสุขอันเกิดจากความมีจิตสงบนิ่ง เราจะเห็นความต่างราวกับเปรียบเทียบน้ำแก้วเดียวกับน้ำในบ่อใหญ่ มันไม่โลดโผนโจนขึ้นสู่ระดับของความสะใจสุดขีดก็จริง แต่ทว่าก็มีความเรียบนิ่งสม่ำเสมอที่เต็มตื้นเป็นล้นพ้นได้เช่นกัน


    เมื่อลองใช้ชีวิตอีกแบบที่เลิกตรึกนึกถึงกาม เลิกเฝ้ารอกาม และเฝ้าดูลมหายใจกับการเคลื่อนไหวทางกาย เป็นอยู่ด้วยสติรู้เห็นลมหายใจและอิริยาบถโดยมาก เราจะเริ่มคุ้นกับความสุขแบบใหม่ เป็นสุขนิ่ง สุขเย็น สุขนาน ไม่กระสับกระส่าย


    ในความรู้ชัดเห็นชัดว่าสุขทางใจนั้นนิ่งเย็นเนิ่นนาน เพียงกำหนดดูโดยปราศจากความลำเอียงใดๆปราศจากความอยากเหนี่ยวรั้งให้รสสุขชนิดนั้นอยู่กับเรานานๆ เราจะพบว่าความสุขก็ไม่เที่ยง ทนตั้งอยู่ในรสวิเวกลึกซึ้งเช่นนั้นไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง ในที่สุดก็ต้องแปรปรวนไป ดังนี้เป็นสภาพที่เราเคยเห็นมาก่อนแล้วในลมหายใจ ที่มีเข้าก็ต้องมีออก มีออกก็ต้องมีเข้า รวมทั้งมีการพักลม หยุดลมชั่วคราวด้วย


    ถัดจากนั้นเราจะเริ่มเปรียบเทียบได้ออก ว่าหากปราศจากเครื่องหล่อเลี้ยงสุข จิตจะคืนสู่สภาพเฉยชิน และเราอาจสังเกตเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือเมื่อเผลอฟุ้งซ่านหน่อยเดียวใจจะเป็นทุกข์ มีความอัดอั้นแทรกความว่างสบายขึ้นมาทันที ถ้ามาถึงตรงนี้ได้แสดงว่าจุดที่เรายืนเริ่มเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มุมมองเริ่มพลิกไปแล้ว มีการเปรียบเทียบใหม่ๆเกิดขึ้นแล้ว เพราะเราได้ไปเห็นไปรับรู้ ไปเสพรสสุขอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างนั่นเอง


    จะสุขมากหรือสุขน้อย จะสุขนานหรือสุขเดี๋ยวเดียว พระพุทธเจ้าให้กำหนดดูตามจริงว่า พวกมันต่างก็มีความไม่เที่ยง มีอันต้องแปรปรวนและดับสลายลงเป็นธรรมดาทั้งหมดทั้งสิ้น เบื้องแรกคือให้เปรียบเทียบก่อน ว่าสุขมากเป็นอย่างหนึ่ง ในเวลาต่อมาสุขน้อยลงก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง หรือเมื่อทุกข์มากก็เป็นอย่างหนึ่ง ในเวลาต่อมาทุกข์น้อยลงก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง


    พอทำความสังเกตเข้าไปบ่อยเข้า ในที่สุดก็ถึงจุดหนึ่งที่จิตมีความชินจะเห็นสุขเห็นทุกข์ได้เท่าทันในขณะแห่งการเกิด และขณะแห่งการดับ เมื่อนั้นเราจะคลายจากอุปาทานว่าสุขเป็นของเที่ยง สุขเป็นของน่าเอาสุขเป็นของน่าหน่วงเหนี่ยวไว้นานๆ ขณะเดียวกันก็จะคลายจากอุปาทานว่าทุกข์เป็นสิ่งยืดเยื้อทรมาน ทุกข์เป็นของไม่น่าเกิดขึ้น ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรีบผลักไสให้พ้นเราเดี๋ยวนี้ เราจะมีปัญญาเห็นตามจริงว่าสุขและทุกข์เกิดจากเหตุ เกิดจากผัสสะกระทบ เมื่อเหตุดับ เดี๋ยวสุขทุกข์ก็ต้องดับตามไปเอง ไม่เห็นต้องน่าเดือดเนื้อร้อนใจหรือกระวนกระวายใฝ่หา แล้วเราก็จะพบว่าการมีจิตใจสงบ ไม่ดิ้นรนจัดการกับสุขทุกข์ให้เหนื่อยเปล่านั่นแหละ เป็นสุขอีกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาด้วยปัญญาจากวิชา ‘รู้ตามจริง’ ของพระพุทธเจ้า


    ความจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพจิต


    ตั้งแต่เริ่มสงบลงได้ด้วยการเฝ้าตามดูลมหายใจเล่นไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มเห็นความต่างระหว่างจิตที่เงียบเชียบกับจิตที่ฟุ้งกระจายได้อย่างชัดเจนแล้ว เราจะเป็นผู้เข้าใจได้มากขึ้นว่าสภาพจิตนี้แตกต่างไปในแต่ละห้วงเวลา ขึ้นอยู่กับว่าขณะหนึ่งๆมีเหตุปัจจัยอันใดมาปรุงให้จิตมีสภาพเช่นนั้น


    จากสภาพสงบอยู่ดีๆ ถ้ามีรูป เสียง หรือแม้แต่ความตรึกนึกถึงเพศตรงข้าม ลักษณะจิตจะแปรจากสงบเป็นเพ่งเล็งด้วยความโลภในกามรส หากเราปล่อยใจให้หลงไปในอารมณ์แห่งกาม จิตก็จะเสียความสงบเงียบเป็นปั่นป่วนรัญจวนใจในทันที แต่หากเรามีสติกำหนดรู้ตามจริง ว่าขณะนี้ราคะมีอยู่ในจิต ไม่ตรึกนึกเพิ่มเติมไปในทางกาม ราคะในจิตจะค่อยๆซาลง หรี่โรยลงจนกระทั่งเหือดหาย อาการทางกายจะระงับลงตามมาเป็นลำดับ สำคัญคือถ้าเราไม่เห็นความสำคัญว่าจะกำหนดจิตให้เท่าทันราคะในจิตไปทำไม ใจก็จะเตลิดหลงไปในกามตามความเคยชิน กับทั้งรู้สึกยาก รู้สึกว่าไม่เป็นเรื่องที่จะต้องไปห้ามมัน


    จากสภาพสงบอยู่ดีๆ ถ้ามีรูป เสียง หรือแม้แต่ความตรึกนึกถึงบุคคลที่น่าขัดเคือง ลักษณะจิตจะแปรจากสงบเป็นเพ่งเล็งด้วยความโกรธแค้น หากเราปล่อยให้เกิดการผูกใจเจ็บ จิตก็จะเสียความสงบเงียบเป็นเร่าร้อนอยากล้างผลาญทันที แต่หากเรามีสติกำหนดรู้ตามจริง ว่าขณะนี้โทสะมีอยู่ในจิต ไม่ตรึกนึกเพิ่มเติมไปในทางพยาบาท โทสะในจิตจะค่อยๆซาลง หรี่โรยลงจนกระทั่งเหือดหาย ความรุ่มร้อนทางกายจะระงับลงตามมาเป็นลำดับ สำคัญคือถ้าเราไม่เห็นความสำคัญว่าจะกำหนดจิตให้เท่าทันโทสะในจิตไปทำไม ใจก็จะเตลิดหลงไปในอาการพยาบาทคิดอยากจองเวรตามความเคยชิน กับทั้งรู้สึกยากรู้สึกว่าไม่เป็นเรื่องที่จะต้องไปห้ามมัน


    และถ้าหากเรามีความเห็นตามจริง ว่าสิ่งใดเกิดจากเหตุ ถ้าไม่เพิ่มเหตุนั้นแล้ว สิ่งนั้นย่อมดับลงเป็นธรรมดา จิตจะมีความโปร่งใส เบาสบาย แต่ความโปร่งเบาดังกล่าวนั้นอาจแปรกลับเป็นทึบทึม หลงรู้สึกว่ามีตัวมีตน มีก้อนอัตตาแห่งความเป็นเรา สิ่งต่างๆมีความคงที่ ตั้งอยู่ลอยๆโดยปราศจากเหตุ ถ้าดีก็ขอให้เป็นของเรา ถ้าไม่ดีก็ขอให้ไปพ้นจากเรา นี่แหละคือลักษณะของโมหะ ลักษณะของความยึดมั่นผิดๆด้วยความไม่มีสติรู้ทันตามจริง


    เมื่อขึ้นที่สูงแล้วย้อนกลับลงล่าง ย่อมเห็นสภาพด้านล่างแจ่มแจ้งขึ้นฉันใด พอเราฝึกสติจนรู้ภาวะของจิตได้ตามจริงจนไม่ถูกครอบงำง่ายๆแล้ว ก็ย่อมเห็นว่าธรรมดาของจิตย่อมไหลลงต่ำอยู่เนืองๆ


    และหนึ่งในอาการไหลลงต่ำเอง ชนิดที่ทำให้พร้อมจะกระทำกรรมในทางไม่ดีได้มากสุด ก็คงจะเป็นสภาพหดหู่ของจิตนี่แหละ ความหดหู่ ความซึมเศร้าเหงาหงอยนั้น ฟ้องอาการสติหลุด เป็นอาการของผู้แพ้ ไม่จำเป็นต้องแพ้กีฬา แต่แค่แพ้ความคิด แค่ขาดสติไปหน่อยเดียวก็มีจิตหดหู่กันได้


    เมื่อได้ลองกำหนดรู้ตามจริงว่าเรากำลังหดหู่ จะพบผลคือถ้าเลิกหดหู่ได้ ก็อาจกลายเป็นฟุ้งซ่านเสียแทน อาการฟุ้งซ่านจับจดฟ้องถึงภาวะที่เราไม่มีงานให้จิต หรือมีงานให้จิตแต่ก็รับผิดชอบกับงานนั้นไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เราควรบอกตัวเองเนืองๆว่าการฝึกรู้ตามจริงก็เป็นงานอย่างหนึ่ง และเป็นงานใหญ่เพื่อตัวเอง หากเหมือนไม่มีอะไรให้รู้ ก็รู้ลมหายใจเข้าออกไปเล่นๆเรื่อยๆ ความฟุ้งจะน้อยลงหรือเพิ่มขึ้นก็ช่างแต่เมื่อถึงเวลาต้องหายใจเข้าออก ขอเพียงเราตามรู้ตามดูราวกับเป็นงานอดิเรกสุดโปรดก็แล้วกัน


    เราจะเห็นตามจริงว่าทั้งความหดหู่และความฟุ้งซ่านนั้น ลดลงได้ฮวบฮาบเมื่อจิตมีงาน จิตผูกอยู่กับเรื่องที่ไม่เป็นโทษ ไม่ชวนให้ท้อถอยซึมเศร้า กับทั้งไม่ชวนให้ความคิดแตกแขนงกระจัดกระจาย ลมหายใจมีแต่เข้าและออก มีแต่ยาวกับสั้น ดูซ้ำไปซ้ำมากี่รอบก็แค่นี้ ไม่อาจดึงเราลงไปสู่หนองน้ำแห่งความหดหู่ และจะไม่ตีจิตเรากระเจิงฟุ้ง


    เมื่อตัดเหตุของความหดหู่ เมื่อตัดเหตุของความฟุ้งซ่าน นานเข้าๆ สิ่งที่เหลือคือจิตอันผ่องใสในภายใน เราจะรู้จักจิตที่สงบประณีตและนิ่งนาน อาศัยเครื่องหล่อเลี้ยงเช่นการประคองนึกถึงลมหายใจบ้าง แต่บางทีก็แนบนิ่งสงบพักเสมือนแผ่นน้ำที่เรียบใสเป็นกระจกอยู่ในตัวเองบ้าง


    เมื่อเป็นผู้เฝ้ารู้ เฝ้าดูสภาพจิตต่างๆ ทั้งที่ดีและไม่ดี ทั้งขณะที่สว่างไสวและมืดมน เราจะเกิดความเห็นแจ้งตามจริงว่าสภาพจิตนั้นถูกปรุงแต่งขึ้นด้วยเหตุปัจจัยนานา ไม่มีสภาพใดของจิตอยู่ยั้งยืนยง เมื่อมีเหตุหนึ่งๆย่อมมีสภาพจิตหนึ่งๆเป็นผล แต่เมื่อหมดเหตุนั้นๆ สภาพจิตนั้นๆก็ย่อมสลายตัวลงตามไปด้วย ดังนั้นความอยากมีจิต หรือความกลัวจะไม่มีจิต ไม่มีตัวตน ก็จะค่อยๆถูกกะเทาะล่อนออกไปเรื่อยๆ กระทั่งกลายเป็นความรู้สึกว่าให้มีจิตใดๆก็ไม่กลัว เพราะเห็นจนชินแล้วว่าเดี๋ยวก็ต้องสลายไป หรือแม้จะไม่มีจิตเลยก็ไม่กลัว เพราะเห็นแจ้งตามจริงแล้วว่าถึงมีจิตแบบใดๆก็ใช่จะอยู่ยั้งค้ำฟ้าเดี๋ยวก็ต้องเปลี่ยนสภาพเป็นอื่นอยู่ดี


    ความจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาวธรรม


    จากการรู้ความจริงง่ายๆขั้นพื้นฐาน ทำไปๆจะพัฒนาขึ้นเป็นความรู้ชัดที่กว้างขวางขึ้นทุกทีอย่างเช่นเราจะเริ่มช่างสังเกตช่างสังกามากขึ้น ว่าโลกนี้เล่นงานเราได้มากที่สุดก็คือผัสสะกระทบภายนอก ทำให้เราทุกข์ทางกายประการต่างๆ แต่ที่เหลือหลังจากผ่านผัสสะกระทบภายนอกมาแล้วมีแต่จิตเราเท่านั้นที่เลือกว่าจะเล่นงานตัวเองต่อหรือว่าปล่อยทุกสิ่งให้ผ่านล่วงไป โดยไม่ยึดไว้ไม่ถือไว้ให้หนักเปล่า


    คนทั้งหลายเป็นโรคหวงทุกข์ ชอบกักขังหน่วงเหนี่ยวทุกข์ไว้กับใจด้วยวิธีคิด พูดง่ายๆเป็นโรคคิดมากกัน วิธีหายจากโรคนี้ก็คือฉีดยาแห่งความจริงเข้าสู่ทุกอณูของจิตวิญญาณ ให้มีปัญญาประจักษ์แจ้งเต็มรอบ ว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นแล้วดับลงเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะของใหญ่หรือของย่อย ถึงหวงไว้มันก็จะดับ ถึงไม่หวงไว้มันก็ต้องดับอยู่วันยังค่ำ


    ด้วยความเห็นตามจริงของจิตที่เป็นกลาง ไม่เข้าข้างตัวเอง ไม่หลงผิดไปทางใด เราจะเห็นว่าเมื่ออยู่กับผู้คน เราจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร เป็นอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง เช่นมีคนอื่นเป็นพี่ เราก็ต้องมีฐานะเป็นน้อง มีคนอื่นเป็นครู เราก็ต้องมีฐานะเป็นศิษย์


    แต่พอกำหนดดูอาการทางกายเมื่ออยู่ต่อหน้าเขา หรือกำหนดดูความรู้สึกอึดอัดหรือสบายเมื่ออยู่ต่อหน้าเขา แล้วเห็นตามจริงว่าอาการทางกายหรือสุขทุกข์เป็นเพียงสภาพธรรม สภาพธรรมไม่มีฐานะเป็นน้อง ไม่มีฐานะเป็นพี่ ไม่มีฐานะเป็นศิษย์ ไม่มีฐานะเป็นครู มีแต่สภาพที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมลงให้ดู ไม่แตกต่างจากเมื่อเราเห็นตอนอยู่คนเดียวตามลำพังแต่ประการใดเลย


    และเช่นกัน เมื่อเผลอตัวขณะนั่งอยู่ตามลำพังเงียบๆ ก็มีความจำเกี่ยวกับเรื่องที่ล่วงผ่านหูล่วงผ่านตาไปแล้ว ผุดขึ้นในหัวเป็นระยะๆ หากเราให้ความสำคัญกับความจำเหล่านั้น ความรู้สึกนึกคิดว่าเราเป็นใคร มีฐานะอะไร ก็จะเกิดขึ้นตามมาในทันที


    ในแวบแรกที่อยู่ๆรู้สึกว่า ‘นึกอะไรขึ้นได้’ นั้น คือการที่ความจำบางอย่างผุดขึ้นกระทบใจ และใตอบสนองเป็นการหมายรู้ถึงเรื่องนั้นๆ ถัดมาคือการรับช่วงปรุงแต่งต่อ ให้ใจหลงรู้นึกไปว่านั่นเป็นเรื่องของฉัน นั่นเป็นอดีตของฉัน นั่นเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับฉัน ฯลฯ แล้วก็เกิดวิตก เกิดความพะวงห่วงเกิดความสำคัญมั่นหมายไปต่างๆนานา


    คนเป็นบ้าต่างจากคนปกติเพียงนิดเดียว คือเขานั่งนึกนั่งฝันอะไรคนเดียว เกิดความทรงจำแต่หนหลังแล่นมากระทบใจแล้ว ไม่ลังเลที่จะแหกปากหัวเราะหรือร้องไห้คร่ำครวญทันที ขณะที่คนปกติก็ทุกข์บ้างสุขบ้างจากความทรงจำแต่หนหลังเช่นเดียวกับคนบ้า ต่างแต่ว่าพวกเขายังลังเลอยู่ว่าจะหัวเราะหรือร้องไห้ออกมาดังๆดีไหม


    คนมีพุทธิปัญญาก็เกิดความทรงจำกระทบใจเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเขามีสติสัมปชัญญะที่เฉียบคมเมื่อความทรงจำอันใดกระทบใจก็รู้ตามจริง ว่าขณะนั้นเป็นการปรากฏขึ้นของความทรงจำ รวมทั้งรู้ตามจริงว่าความทรงจำนั้นเหมือนพยับแดด เหมือนมายาที่ผุดขึ้นเหมือนมี แต่แท้จริงก็สลายตัวลงเป็นความไม่มี ขอเพียงเราไม่เก็บมาคิดปรุงแต่งต่อเท่านั้น


    ผู้มีพุทธิปัญญาและสติสัมปชัญญะพรักพร้อม จะเห็นตามจริงว่าคนเรากำลังอยู่ในระหว่างแห่งปฏิกิริยาลูกโซ่ ที่มีเหตุแล้วต้องเกิดผล พอเกิดผลแล้วก็ย้อนกลายเป็นเหตุใหม่ ให้เกิดผลระลอกต่อไปโดยสรุปย่นย่อคือเพราะมีเหตุคือความอยาก จึงต้องมีทุกข์ในทางใดทางหนึ่งเป็นผลลัพธ์ เมื่อมีทุกข์ในทางใดทางหนึ่งเป็นผลลัพธ์ ก็ย่อมกลายเป็นต้นเหตุของทุกข์ใหม่ๆขึ้นมาอีก


    พวกบ่นว่าทำดีไม่ได้ดี หาใช่เพราะส่วนดีที่เขาทำนั้นมันไม่ดีจริง แต่เป็นเพราะเขาไม่รู้กลไกของจิตในอันที่จะทำให้เกิดสุขหรือเกิดทุกข์ต่างหาก หลักง่ายๆคือคิดมากทุกข์มาก คิดน้อยทุกข์น้อย แต่ไม่คิดเลยนั้นเป็นไปไม่ได้


    ทำดีให้ได้ดีแบบพุทธนั้น ต้องทำดีมาถึงขั้นพัฒนาต่อได้เป็น ‘คิดอย่างแยบคาย’ เราจะเห็นตามจริงว่าเมื่อคิดอย่างแยบคาย โดยเอาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเด่นตรงหน้ามาเป็นเครื่องระลึก ว่าทุกสิ่งเกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา คิดด้วยอาการเช่นนี้ ในที่สุดจะแปรจากคิดมาเป็น ‘รู้ทัน’ คือเห็นโต้งๆในขณะของความเกิดขึ้น และในขณะของความดับไป หรือแม้สิ่งนั้นมีอายุยืนเกินกว่าที่เราจะมีชีวิตอยู่รอดูวันดับสลาย ใจอันสว่างด้วยพุทธิปัญญาก็จะตระหนักอยู่ในภายในว่ามันไม่เที่ยงหรอก แม้พระอาทิตย์ที่มีอายุเป็นหมื่นล้านปี เราเกิดตายอีกหลายแสนชาติมันก็ยังส่องสว่างไม่หายไปไหน แต่สาระสุดท้ายนั้นอย่างไรก็คือพระอาทิตย์จะต้องดับไปในที่สุดอยู่ดี
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การพยากรณ์อดีตชาติและอนาคตชาติ


    เมื่อมองเข้ามาในกายใจจนเกิดสติเท่าทันเป็นขณะๆ ว่าจะเป็นการขยับกายท่าไหน จะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จะเป็นสภาพสงบหรือฟุ้งซ่านของจิต ทั้งหมดต่างก็มีเหตุเสมอ เช่นเราอยากเปลี่ยนจากท่าเดินเป็นท่านั่งก็เพราะเดินจนเมื่อย แสดงให้เห็นว่าอิริยาบถเดินไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดินตลอดไปไม่ได้ เพราะสภาพเดินไม่ใช่ตัวตน


    เพียงอะไรปรากฏเด่น จิตจับสิ่งนั้นแล้วก็ล่วงรู้แทงทะลุไปถึงสิ่งอื่นๆ เช่นเมื่อเห็นอิริยาบถเดินไม่เที่ยง ก็เห็นตลอดสายไปถึงความจริงเช่นยิ่งเดินก็ยิ่งสะสมความทุกข์ทางกายมากขึ้นทุกที ความทุกข์นั้นทำให้จิตกระสับกระส่ายไม่อาจสงบลงได้


    เราจะเริ่มเห็นเค้าความจริงว่าเพราะมีสุขมีทุกข์ จึงก่อพลังขับดันทางใจให้เกิดความทะยานอยากขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจเป็นเพียงความอยากขั้นพื้นฐานเช่นเปลี่ยนอิริยาบถจากปัจจุบันให้เป็นอื่นไปจนถึงความอยากขั้นที่ทำให้ตั้งใจดีหรือร้าย ก่อกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ทำจิตให้สว่างหรือมืดขึ้นมาที่ตรงนั้นเราได้ชื่อว่าเป็นผู้แจ่มแจ้งเรื่องเหตุเกิดแห่งกรรม สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเหตุเกิดกรรมคือผัสสะและกิเลสทั้งหลาย


    และเมื่อฝึกรู้ฝึกเห็นกายใจให้รอบด้านจนกระทั่งจิตมีความตั้งมั่นเป็นสมาธิผ่องแผ้ว ก็จะเป็นผู้มีความรู้ ความเข้าถึงในเรื่องของวิบากอันเป็นอจินไตยอีกด้วย


    ไม่ใช่ว่าเราฝึกเห็นกายหรือเห็นใจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดญาณรู้เห็นเฉพาะทางขึ้นมา แต่ต้องฝึกรู้ฝึกดูกายใจนี้ทั่วๆต่อเนื่องกันหลายวัน หลายเดือน หรือหลายปี ถึงจุดหนึ่งจะเกิดความรอบรู้ ทำนองเดียวกับการเกิดของสัญชาตญาณในสาขาอาชีพต่างๆ เช่นคนมีหน้าที่ตรวจของเถื่อนมากๆหลายปีเข้าแค่มองกล่องพัสดุปราดเดียวก็สัมผัสขึ้นมาเองเฉยๆว่ากล่องนี้มีปัญหา เป็นต้น


    ผู้ฝึกรู้ตามจริงจะเห็นกายใจโดยความเป็นกรรมเก่ากรรมใหม่อย่างไร ขอให้ดูจากที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้คือ…


    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมเก่าเป็นไฉน ผู้มีปัญญาย่อมเห็นว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นกรรมเก่า อันปัจจัยทั้งหลายปรุงแต่งแล้ว สำเร็จด้วยเจตนา (ในอดีตชาติ) เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา(ความรู้สึกสุขทุกข์อันเนื่องด้วยกายในปัจจุบันชาติ)



    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า‘กรรมเก่า’ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมใหม่เป็นไฉน กรรมที่บุคคลทำด้วย กาย วาจา ใจ ในบัดนี้ นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า ‘กรรมใหม่’


    เราจะทราบว่าอัตภาพของมนุษย์นี้ โดยรวมแล้วเป็นของสูง จะยากดีมีจนแค่ไหน ก็ต้องเคยทำดีอะไรบางอย่างไว้ถึงจะได้มาเป็นมนุษย์ นอกจากนั้นเรายังทราบว่าเดรัจฉานต่างๆก็มีเหตุของการกำเนิดเหมือนกัน แต่ต้องเป็นอกุศลบางอย่าง เป็นต้น


    ความรู้เรื่องกรรมอาจจุดชนวนขึ้นมาจากความเห็นชัดตรงส่วนไหนก็ได้ อย่างเช่นเดรัจฉานบางตัวมีทุกข์แบบหนึ่งๆที่เราสัมผัสได้ด้วยใจว่าเกิดขึ้นเสมอๆ พอเราเห็นลักษณะทุกข์เช่นนั้นแจ่มชัด ก็อาจเกิดความรู้แจ้งขึ้นเองว่าที่ต้องทุกข์เยี่ยงนี้ ก็เพราะเคยก่อทุกข์ทำนองเดียวกันให้กับสัตว์อื่นมาก่อน


    หรือเมื่อเราเห็นคนพิการ มีสภาพการเคลื่อนไหวไม่ปกติ เมื่อเห็นอาการทางกายชัด ก็อาจเกิดญาณรู้แหลมคมขึ้นมาว่าภาพโดยรวมเช่นนั้นปรากฏขึ้นได้เพราะเคยมีกรรมใดในอดีตเป็นเหตุสร้างขึ้นอันนี้อยู่นอกเหนือขอบเขตที่จะอธิบายได้ด้วยภาษาว่าอาการหยั่งรู้เช่นนั้นเป็นอย่างไร ทำไมก่อกรรมแบบโน้นถึงมารับผลแบบนี้ ทั้งที่คิดๆแล้วไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกัน


    หรือเมื่อปรารถนา เพียงส่องดูความติดใจของคนๆหนึ่ง ว่ามีน้ำหนักดึงดูดให้แปะติดกับความมืดหรือความสว่างประมาณใด ก็สามารถเห็นเป็นนิมิตได้ว่าถ้าตายขณะนั้นเขาจะไปเกิดในภพใด ถ้าเปลี่ยนความติดใจในเส้นทางกรรมเดิมจะเปลี่ยนภพได้แค่ไหน


    แต่ทั้งหลายทั้งปวง จะหยั่งรู้ได้ลึกซึ้งปานใด หากไม่สามารถหยั่งรู้เรื่องเดียว คือทำอย่างไรจะหมดกิเลส หมดความยึดมั่นถือมั่นในกายใจนี้ ก็ไม่ชื่อว่าบรรลุประโยชน์สูงสุดของวิชารู้ตามจริงเลย


    สติปัฏฐาน ๔


    ขอสรุปอย่างมีบัญญัติในตอนท้ายนี้อีกครั้ง เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าให้ลึกซึ้งยิ่งๆขึ้นกันต่อไป วิชารู้ตามจริงของพระพุทธเจ้านั้น โดยสรุปย่นย่อก็คือการมีสติระลึกรู้ความเป็นไปในกายใจตามจริง ขอบเขตกายใจนี้ซอยย่อยออกได้เป็นที่ตั้งของสติ ๔ ชนิด จึงเรียกว่า ‘สติปัฏฐาน ๔’ เรียงตามลำดับดังนี้


    ๑) กาย ได้แก่ลมหายใจ อิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อย ความสกปรกของร่างกาย ความเป็นการประชุมกันของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และความแน่นอนที่จะต้องเป็นซากศพในกาลต่อไป
    ๒) เวทนา ได้แก่ความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉย ทั้งที่เนื่องด้วยเหยื่อล่อทางโลกเช่นกามคุณ ๕ และทั้งที่ไม่เนื่องด้วยเหยื่อล่อทางโลกเช่นการเกิดสติอย่างต่อเนื่องจนเป็นสุข หรือการอยากได้ความสงบแต่ไม่ได้ดังใจเลยเป็นทุกข์
    ๓) จิต ได้แก่ความมีสภาพจิตเป็นต่างๆ ทั้งที่มีราคะ โทสะ โมหะ และไม่มีกิเลสทั้งสาม ตลอดจนสภาพจิตหดหู่ สภาพจิตฟุ้งซ่าน สภาพจิตสงบอย่างใหญ่ สภาพจิตที่ปล่อยวางอุปาทานเสียได้
    ๔) ธรรม ได้แก่สภาพธรรมต่างๆที่ปรากฏแสดงว่าขณะนี้เกิดขึ้น ขณะนี้ตั้งอยู่ ขณะนี้ดับไปรวมทั้งสภาพธรรมที่แสดงความไม่ใช่ตัวตนออกมาอย่างโจ่งแจ้ง คือมีการประชุมกันของเหตุปัจจัยต่างๆปรากฏผลลัพธ์อยู่ชั่วคราว เมื่อเหตุปัจจัยต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันไปแล้ว ก็ไม่เหลือผลใดๆปรากฏต่ออีก


    การฝึกรู้ตามจริงไปเรื่อยๆนั้น ในที่สุดจะเกิดไฟล้างกิเลสออกจากจิตครั้งใหญ่ เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ ‘บรรลุธรรม’ ซึ่งขั้นต้นเรียกว่าเป็นการได้ดวงตาเห็นธรรม หรืออีกนัยหนึ่งรู้จักพระนิพพานอันเป็นธรรมชาติที่ไม่มีสิ่งใดตั้งอยู่ในที่นั้นได้ กล่าวให้เข้าใจง่าย การรู้จักนิพพานคือการเห็นสภาพอันเป็นความจริงสูงสุด ความจริงสูงสุดคือความว่างจากตัวตน ดังนั้นจึงไม่มี ‘ตัว’ ใดๆตั้งอยู่ได้ในสภาพอันเป็นยอดสุดแห่งความเป็นจริงนั้น แม้กระทั่งอากาศธาตุก็ไม่อาจถูกต้องนิพพานได้


    ขณะของการเห็นนิพพานนั้น จิตจะเป็นหนึ่ง มีความตั้งมั่นระดับฌาน และสิ่งที่ถูกรู้ก็ไม่ใช่รูปนิมิตหรือเสียงบอกอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ที่ปรากฏเปิดเผยอยู่แล้วตลอดมา โดยไม่เคยมีภาวะเกิดขึ้นหรือดับไป ไม่ว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นดับไปแค่ไหนก็ตาม ที่สัตว์ทั้งหลายไม่เคยเห็นนิพพานก็เพราะไม่เคยได้ฝึกรู้ตามจริง เมื่อไม่ฝึกรู้ตามจริงย่อมไม่อาจเข้าถึงความจริงขั้นสูงสุดได้เลย


    ผู้ที่อยู่ในขั้นของการได้ดวงตาเห็นธรรมนั้น เรียกกันเป็นที่รู้ เรียกกันเพื่อสื่อความเข้าถึงแล้ว ว่าเป็น ‘โสดาบันบุคคล’ เป็นผู้ไม่ตกต่ำ และจะไม่บ่ายหน้าไปอบายภูมิอีกเลย เพราะกิเลสไม่มีอำนาจพอจะครอบงำจิตให้เกิดความเห็นผิดในเรื่องของกรรมขั้นศีลพื้นฐานได้อีก อย่างไรก็ตาม โสดาบันบุคคลยังมีราคะ โทสะ โมหะเหมือนคนธรรมดาทั่วไป จึงมีภรรยาและบุตรได้ ยังแสดงอาการขึ้งเคียดได้ ยังมีมานะอยู่ รู้ทั้งรู้ว่าตัวตนไม่มี เลิกเชื่ออย่างเด็ดขาดแล้วว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวเป็นตน ไม่เป็นผู้ที่พูดอีกแล้วว่ามีอัตตาอันแท้จริงอยู่ในที่ใดๆ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า


    เมื่อโสดาบันบุคคลเจริญสติปัฏฐาน ๔ จนรู้แจ้งตามจริงถึงขั้นบังเกิดไฟล้างกิเลสอีกครั้ง ท่านจะยกระดับขึ้นเป็น ‘สกิทาคามีบุคคล’ เป็นผู้ทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบางลง กล่าวคือเครื่องขัดขวางจิตใจไม่ให้เห็นสภาพธรรมทั้งหลายตามจริงนั้น ลดกระแสคลื่นรบกวนลงมาก


    เมื่อสกิทาคามีบุคคลเจริญสติปัฏฐาน ๔ จนรู้แจ้งตามจริงถึงขั้นบังเกิดไฟล้างกิเลสอีกครั้ง ท่านจะยกระดับขึ้นเป็น ‘อนาคามีบุคคล’ เป็นผู้ทำลายราคะและโทสะได้อย่างเด็ดขาด กล่าวคือคลื่นรบกวนไม่ให้จิตเห็นตามจริงจะดับไปถึงสองกระแสใหญ่ๆ เหลือเพียงคลื่นรบกวนในย่านของความมีมานะ ความมีใจถือว่าเป็นตัวเป็นตน


    เมื่ออนาคามีบุคคลเจริญสติปัฏฐาน ๔ จนรู้แจ้งตามจริงถึงขั้นบังเกิดไฟล้างกิเลสอีกครั้ง ท่านจะยกระดับขึ้นเป็น ‘อรหันตบุคคล’ เป็นผู้ที่ไม่เหลือแม้ความรู้สึกในตัวตนอยู่อีก เรียกว่าคลื่นรบกวนสุดท้ายถูกกำจัดทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง ท่านจึงเห็นตามจริงอย่างชัดเจนที่สุด ว่าทั้งหลายทั้งปวงนั้นว่างจากตัวตน นี่แหละคือขั้นของการ ‘ทำนิพพานให้แจ้ง’ อย่างแท้จริง
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    บทสำรวจตนเอง
    ๑) ขณะนี้เรารู้อะไรตามจริงอยู่บ้าง?
    ๒) สิ่งที่เรารู้ตามจริงเป็นเรื่องภายนอกหรือเรื่องภายใน?
    ๓) มีความถี่ห่างแค่ไหนที่เราสามารถรู้ได้ตามจริงว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก?
    ๔) เราเคยมีความรู้สึกเห็นตามจริงบ้างหรือไม่ว่าชีวิตไม่เที่ยง?
    ๕) เราเคยมีความรู้สึกเห็นตามจริงบ้างหรือไม่ว่าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน?


    สรุป
    ความจริงถ้าคิดๆเอาเฉยๆ ดูเนื้อหาวิชารู้ตามจริงหรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘สติปัฏฐาน ๔’นี้แล้ว เหมือนพระพุทธเจ้ามิได้ทรงให้กระทำกิจอย่างใดเป็นพิเศษเลย ก็แค่ให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในขอบเขตของกายใจเราตามจริงเท่านั้น เกิดอะไรขึ้นก็รู้ อะไรที่ว่านั้นดับไปก็รู้ มีอยู่เท่านี้ แต่ที่เรานึกไม่ถึงก็คือเมื่อใช้ชีวิตโดยอาการรู้เห็นตามจริงง่ายๆ ก็จะบังเกิดผลอันน่าพิศวงอย่างใหญ่หลวง
    กล่าวคือเมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ ไปจนถึงระดับของความมีสมาธิจิตตั้งมั่นผ่องแผ้ว แม้ยังไม่บรรลุธรรมก็อาจได้อานิสงส์ต่างๆมากมายเหลือคณานับ ยิ่งเสียกว่าฝึกศาสตร์ทางจิตทีละศาสตร์ในโลกรวมกันเป็นร้อยเป็นพันศาสตร์ เพราะไม่มีศาสตร์ใดเข้าถึงรหัสลับในธรรมชาติได้มากไปกว่าวิธีทำลายอคติที่ห่อหุ้มจิตไม่ให้เห็นตามจริงอีกแล้ว


    พระเถระในสมัยพุทธกาลต่างกล่าวยืนยันถึงผลข้างเคียงที่ไม่ตั้งใจจะได้แต่ก็ได้มา เป็นอภิญญาหรือความรู้เห็นอันยิ่งประการต่างๆ มีที่สุดที่เป็นสาระสำคัญคือเรื่องเกี่ยวกับกรรมวิบาก ดังเช่นที่พระอนุรุทธะเคยกล่าวไว้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมรู้วิบากของการกระทำกรรมทั้งที่เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุ ตามความเป็นจริง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔


    คนเราสร้างกรงขังให้ตัวเองด้วยความไม่รู้ เมื่อรู้ว่าสร้างกรงขังแล้วจะต้องไปทุกข์ทรมานอึดอัดคับแคบอยู่ในกรงขังก็ย่อมเลิกสร้างกรงขัง ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเป็นผู้รู้เรื่องกรรมวิบากอย่างแจ่มแจ้งบุคคลย่อมไม่ทำกรรมอันเป็นไปเพื่อความเดือดร้อนของตนเองในภายภาคหน้า มีแต่จะเร่งรุดทำกรรมอันเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตนเองและคนที่รักรอบข้างแต่ถ่ายเดียว
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สรุปตติยบรรพ


    [​IMG]


    การรู้ตามจริงมีหลายแบบ หลายระดับ คนยุคปัจจุบันมักมองว่าการรู้ตามจริงคือการพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ว่า ‘ความจริง’ เกี่ยวกับเรื่องที่คาใจบางอย่างนั้นเป็นอย่างไร


    แต่สิ่งที่เราจำต้องยอมรับก็คือวิทยาศาสตร์ให้ความจริงอันเป็นที่สุดไม่ได้ถนัดถนี่นัก ไม่ว่าจะเรื่องเล็กสุดในระดับอะตอม ตลอดไปจนถึงเรื่องใหญ่สุดระดับเอกภพ ทุกทฤษฎี ทุกการกะเก็งสันนิษฐาน อาจถูกหักล้างด้วยการค้นพบใหม่ๆเสมอ


    ทว่าการรู้ตามจริงบางอย่างไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ต่อ เพราะเป็นสัจจะความจริงที่ไม่อาจถูกหักล้างด้วยการค้นพบครั้งใหม่ใดๆ ไม่ว่าปัจจุบันหรืออนาคต ยกตัวอย่างเช่นลมหายใจมีแค่เข้ากับออกสองอย่าง ถ้าเรารู้ได้ถูกต้องในขณะที่มันปรากฏเป็นเข้าหรือปรากฏเป็นออก ก็แปลว่าเรากำลังรู้ตามจริงอยู่ในขณะนั้นๆ


    ด้วยวิชา ‘รู้ตามจริง’ ของพระพุทธเจ้า เริ่มต้นอาจง่ายๆแบบที่ทุกคนรู้ได้อย่างเช่นลมหายใจเข้าออกอีก แต่สิ้นสุดอาจเป็นเรื่องอจินไตย เกินการคาดคิด เกินจินตนาการของมนุษย์ปุถุชนทั้งหลาย เช่นที่เกี่ยวกับกรรมวิบากและวิธีดับทุกข์ดับโศกทั้งปวง แม้เป็นเรื่องอจินไตยเช่นนั้น เราก็สามารถรู้แจ่มแจ้งเฉพาะตน ว่านั่นเป็นของจริง เป็นของแท้ เป็นของที่ทนต่อการพิสูจน์ในทุกกาล เช่นเดียวกับสามารถรู้ว่าลมหายใจเข้าออกเป็นเรื่องจริงนั่นเอง


    คนเราชอบคิดว่าหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตเป็นเรื่องเล็ก ต่อเมื่อฝึกรู้ตามจริงมากเข้า เราจะเห็นว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นเรื่องเล็ก ไม่มีการกระทำอันใดที่ควรประมาท เพราะแม้เพียงการยอมปล่อยให้ความคิดอกุศลนิดๆหน่อยๆผุดขึ้นในหัวเราด้วยความเต็มใจยินดี ปล่อยให้ความคิดอกุศลนิดๆหน่อยๆนั้นแปรเป็นคำพูดหรือการกระทำปรากฏต่อโลกภายนอก มันจะเกิดขึ้นอีกและอีก แล้วในที่สุดมันจะสะสมเป็นอกุศลกรรมที่มีน้ำหนักใหญ่ คือเป็นนิสัยเสีย เป็นอาจิณณกรรมที่เราเสพติดมันจนได้


    เมื่อเห็นความจริงในระดับของกรรมทางความคิดมากเข้า เราก็จะยิ่งเชื่อที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าการเดินทางไปเรื่อยๆในสังสารวัฏนั้น ไม่มีทางหนีพ้นนรกไปได้ เพราะจิตคนพร้อมจะไหลลงต่ำ ความคิดอันเป็นอกุศลพร้อมจะปรากฏขึ้นชักจูงเราไปสู่อบายเสมอ ไม่มีอะไรที่น่ารักจริง มีแต่สิ่งลวงล่อให้หลงทำบาปทำกรรม ขอแค่พลาด หรือเพียงการ์ดตกหนสองหน ก็เพียงพอแล้วต่อการได้นั่งกระดานลื่นไหลลงนรกโดยไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ


    ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏย่อมเร่งขวนขวายทำบุญทำกุศลคุ้มตัว และกระตือรือร้นพอที่จะทำทางนิพพานให้ตัวเองเอาไว้ แม้แค่เพียงต้นทางก็ยังดี


    ความรู้ทางโลกนั้นไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งค้นพบก็ยิ่งแตกแขนงล่อใจให้ค้นคว้าต่อมากขึ้นทุกที แต่ความรู้ทางธรรมนั้นมีที่สุด เพียงเลิกส่งใจออกไปใส่เรื่องข้างนอก แต่ค้นหาที่มาที่ไปของประสบการณ์ทั้งมวลตั้งคำถามไว้ถูกเป้าใหญ่สุด ประพฤติปฏิบัติตรงทางอันจะนำไปสู่คำตอบอันจริงแท้ที่สุด นั่นแหละคือที่สุดทุกข์ นั่นแหละคือการไม่ต้องทำกิจอันใดเพิ่มเติมเพื่อความดับทุกข์อีก
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    บทส่งท้าย

    [​IMG]


    หากเราอยู่ในวันสุดท้ายของชีวิต และจิตกำลังทำงานทบทวนทุกสิ่งที่มีมาทั้งหมดในชีวิต หากยังนึกคิดทบทวนได้ หลายคนคงถามตัวเองว่าได้ปล่อยโอกาสให้ตัวเองพลาดสิ่งดีๆในชีวิตอันใดไปบ้าง


    ส่วนใหญ่คงนึกเสียดายว่าทำไมไม่จีบแม่คนนั้น ทำไมไม่รับรักพ่อคนนี้ ทำไมก่อนสอบมหาวิทยาลัยไม่ขยันเสียหน่อย ทำไมถึงทนทู่ซี้ทำงานในบริษัทที่ไม่ทำให้เราเจริญก้าวหน้าตั้งนานนมทำไมไม่รออีกสักนิดแทนที่จะคิดสั้นแต่งงานกับเจ้านี่ ทำไมถึงไม่กล้าขอหย่าเสียตั้งแต่อายุยังน้อย ทำไมฯลฯ


    คนเราจะนึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์ที่มีอิทธิพลสำคัญกับชีวิต คือนึกๆแล้วพบความเป็นไปได้ว่าสามารถพลิกผันชีวิตเราให้ดีขึ้น หรือทำให้เราใช้ชีวิตได้ราบรื่นขึ้นกว่าที่ผ่านมา เราปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป ปล่อยให้บางสิ่งหลุดมือไป ปล่อยให้บางอย่างอยู่กับเรานานเกินไป สารพัดสารเพที่ยิ่งคิดยิ่งน่าเสียดาย


    แต่คงไม่มีใครบ่นรำพึงกับตัวเอง ว่าทำไมไม่ศึกษาพุทธศาสนาเสียให้ถึงแก่นก่อนมาถึงวันสุดท้ายของชีวิต เพราะถ้าใครคิดเสียดายเช่นนั้นได้ ก็แปลว่าเขาต้องตระหนักมาก่อนว่าความรู้ในพุทธศาสนามีค่ายิ่งกว่าสิ่งใดๆทั้งหมดที่ผ่านพบมาตั้งแต่เกิดจนตาย


    เมื่อไม่รู้ว่าสิ่งใดน่าเสียดายที่สุด คนเราย่อมไม่รู้สึกเสียดายสิ่งนั้น เขาจะตายไปโดยไม่ทราบด้วยซ้ำว่าสิ่งนั้นมีอยู่ในโลก และครั้งหนึ่งเขาเคยเกิดมาทันพบสิ่งนั้น


    หลายคนเหมือนรู้แบบฟังๆผ่านหูมาว่าเพชรพลอยในพุทธศาสนากองไว้ให้กอบโกย จงอย่าช้าอย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไป ขอให้เอาติดตัวไปด้วยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ในเมื่อไม่เคยปีนป่ายขึ้นมาถึงเขตที่เขากองทองไว้รอท่าให้เห็นกับตา ส่วนใหญ่ก็แค่ฟังหูไว้หูแบบเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ และน่าเห็นใจว่าทำไมคนจึงมาถึงฝั่งแห่งความปลอดภัยกันน้อยนัก


    ----------------------------------------

    ผู้เขียน: ดังตฤณ

     

แชร์หน้านี้

Loading...