ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้จะมีคุณค่าเสมอด้วยจิต หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 15 มกราคม 2012.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,075
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    เทศน์อบรมฆราวาส ณวัดป่าบ้านตาด


    เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙


    ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้จะมีคุณค่าเสมอด้วยจิต



    วันนี้ ต่างคนต่างเหนื่อย เทศน์ธรรมะกลัวจะกล่อมให้หลับในก็ได้ เทศน์วัดดอยฯ วันนี้เทศน์ตามสถานที่ของผู้ปฏิบัติ จึงเทศน์เช่นนั้น เหมาะสมกัน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสาวก สั่งสอนให้เกิดความอาจหาญร่าเริงต่อการปฏิบัติ ไม่ให้ท้อถอยอ่อนแอ บางองค์สำเร็จมรรคผลนิพพานในปากเสือก็ยังมีในครั้งพุทธกาล แต่แน่ใจว่าท่านผู้สำเร็จในปากเสือนั้น คือท่านผู้ที่มีภูมิสูงจวนจะถึงที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นอะไรจึงเป็นธรรมไปหมด แม้แต่เสือมากัด ท่านยังพิจารณาเป็นธรรม จึงสำเร็จในปากเสือ ทำไมถึงทราบได้ว่าท่านสำเร็จในปากเสือ ก็คือพระพุทธเจ้าทรงรับสั่งเอง


    ประการ หนึ่งท่านองค์นี้ก็เข้าใจว่า ได้เคยทูลถวายธรรมะพระพุทธเจ้ามาแล้วทางด้านจิตใจ ว่ามีภูมิธรรมขนาดไหน ไปบำเพ็ญอยู่กับเพื่อนองค์หนึ่ง ขณะที่เสือโดดมากัดนั้นก็ยังร้องบอกเพื่อนได้ ว่าเวลานี้เสือกัดผมแล้ว ทางเพื่อนก็ตะโกนบอกมา ให้ท่านพิจารณาเป็นธรรม มันเป็นกรรมของท่านเอง จากนั้นมาก็เงียบไปเลย พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งเอง ว่าเธอสำเร็จในปากเสือในขณะที่เสือกัด พิจารณาถึงเรื่องทุกขสัจ คือทุกขเวทนานั่นเอง สำเร็จ นั่น เสือก็เอาไปกิน เนื้อหนังเป็นสิ่งที่ควรแก่เสือ แต่มรรคผลนิพพานควรแก่ท่าน ท่านก็รับไป ไม่มีใครขาดทุน


    การ ปฏิบัติธรรมะ เฉพาะอย่างยิ่งนักปฏิบัตินักบวช พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ไปอยู่ในที่เปลี่ยวๆ ในที่ที่จะมีสติขึ้น ในที่จะกำจัดความขี้เกียจอ่อนแอได้ เพราะการอยู่สถานที่ต่างๆ นั้น ความรู้สึกของผู้อยู่นั้นๆ จะไม่เหมือนกันเลย คือไปอยู่สถานที่นี่ มีความรู้สึกอย่างนี้ ย้ายไปอยู่สถานที่นั่นจะมีความรู้สึกอย่างนั้นขึ้นมาเป็นลำดับลำดาไม่สิ้น สุด ความรู้สึกธรรมดาเหมือนเราอยู่กับหมู่กับเพื่อนนี้ ทางความเพียรไม่ค่อยดี


    ไป อยู่ที่เปลี่ยวโดยลำพังตนเองและที่เปลี่ยวๆ ความรู้สึกตั้งเนื้อตั้งตัวตั้งสติสตังนี้มันก็เป็นมาเอง ความขี้เกียจค่อยหายไปๆ เพราะความจำเป็นบังคับ เมื่อความจำเป็นบังคับมีเช่นนั้นสติสตัง ก็มาเอง ความพากเพียรเพื่อช่วยตัวเองก็มาเอง ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นชื่อว่าเป็นด้านระงับดับกิเลสแล้ว จะทยอยมาโดยลำดับลำดาจากความตั้งใจนั้นๆ คือตั้งใจในแง่ใด มันก็เป็นพลังในแง่นั้น จึงเรียกว่าความตั้งใจนั้นๆ


    เรา จะเห็นได้แม้ในวงปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน อย่างท่านอาจารย์มั่นท่านสอนพระ พอเทศน์จบแล้ว ผู้ใดจะไปเที่ยววิเวกทางใดนี้ ท่านสั่งสอนให้ไปหาอยู่ที่เปลี่ยวๆ โน่นเขาลูกโน่น ป่าโน้นไป ที่นั่นแหละเป็นที่เพาะธรรม ที่อย่างนี้มันเพาะกิเลส นั่นท่านว่า กินแล้วก็นอนใจ ขี้เกียจ ความนอนใจเป็นการสั่งสมกิเลส ความขี้เกียจก็เป็นการสั่งสมกิเลส ไม่เหมาะสมกับผู้มาถอดถอนกิเลส สถานที่โน่นที่ป่าที่เขาโน้นเป็นสถานที่เหมาะสมกับคนขี้เกียจ มีกิเลสมากๆ ท่านว่า ท่านสอนอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงได้พูดถึงเรื่องธรรมะของพระบางองค์ในประวัติของท่านพระ อาจารย์มั่น ที่ลาท่านไปอยู่ในถ้ำ ตั้งใจเด็ดเดี่ยวอาจหาญเพราะธรรมะของท่านปลุกใจให้มีความร่าเริงอาจหาญ


    เวลา ไปแล้วไปเห็นรอยเสือเหยียบอยู่หน้าถ้ำ เกิดความกลัวขึ้นมาจนแทบจะอยู่ไม่ได้ แต่ท่านก็มีสติดี ท่านเท้าขึ้นไปถึงข้างหลังที่จะออกมาจากท่านอาจารย์มั่นทีแรก มีความกล้าหาญชาญชัย ทำไมมาถึงที่นี่ เพียงเห็นรอยเสือมันเหยียบดินเท่านั้น เป็นรอย เห็นแต่รอยมันเท่านั้นก็กลัวแล้วเป็นกรรมฐานได้อย่างไร เรากล้าหาญต่อความตาย กล้าหาญต่อธรรมทั้งปวงแล้วเราถึงมาสู่ที่นี่ แต่เพียงมามองเห็นรอยเสือที่เหยียบไว้ที่หน้าถ้ำเท่านั้น ก็กลัวตัวสั่นอยู่แล้วนี้ทำไง จะแก้กิเลสได้อย่างไร


    สุด ท้ายท่านมองเห็นรอยเสือทีไร มันก็สะดุดใจขึ้นมาทำให้เกิดความกลัว เลยต้องเอาเท้าไปเขี่ยกลบรอยเสือนั้นเสีย มันก็ยังไม่หายกลัว ความกลัวก็ยังมี ต้องดัดสันดานตัวด้วยวิธีออกจากมุ้ง ไปนั่งอยู่ในที่โล่งๆ สู้กันกับเสือ ออกจากนั้นก็ไปนั่งอยู่ที่หน้าเหวเลย ถ้าเผลอก็ให้ตกตรงนี้ จะกลัวเสือหรือจะกลัวตกเหวนี้ นั่งอยู่หมิ่นๆทีเดียว ถ้าหากว่าเผลอแล้วก็ตก ตกแล้วกระดูกก็จะไม่มีชิ้นต่อกันเลยเพราะมันหน้าผานี่ มันสูงจากถ้ำลงไปโน้น


    พอ ไปนั่งแล้วก็ตั้งสติ เอ้านี่ จะกลัวทางเสือ คือเสือมาด้านหลัง ถ้าเสือมาก็มาด้านหลัง ความตายมีทั้งด้านหลังด้านหน้า จะไปด้านไหน ด้านหลังคือเสือ ด้านหน้าคือเหว สุดท้ายจิตก็มากลัวตกเหว เรื่องกลัวเสือเลยเบาไปๆ จนไม่มี มากลัวตกเหว ตั้งสติไว้อย่างเต็มที่ กลัวจะเผลอแล้วสัปหงกตกลงไป ตายแหลกไปเลย พอตั้งสตินั่งภาวนานั้น จิตก็รวมเลย นั่น คิดดูซิรวมตั้งแต่ ๔ ทุ่มถึง ๑๐ โมงเช้า กี่ชั่วโมง นั่น บางทีรวมตั้งแต่ตี ๒ ตี ๓ จนถึง ๑๐ โมงเช้า


    ถ้า วันไหนจิตรวม ท่านว่าท่านไม่ไปบิณฑบาต พอถอนขึ้นมา ตะวันขึ้นฟ้าแล้ว ท่านก็ไม่ไป เพราะปกติท่านอยากฉัน ท่านก็ฉัน ไม่อยากฉัน ท่านก็ไม่ฉัน ตั้งแต่บัดนั้นได้คติขึ้นมาจากวิธีทรมานตนแบบนี้ ท่านเลยต้องหาที่เช่นนั้นเป็นที่ทรมาน คือจิตใจมันลงได้ง่ายผิดธรรมดา ไม่ได้กดขี่บังคับอะไรมากมายนักหนาให้ลำบากลำบน เหมือนไปอยู่ในที่เช่นนั้น ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมช่วยทรมานใจ แล้วจิตก็รวมลงได้ง่าย


    จาก นั้นมาแล้วท่านบอกท่านไม่กลัวอะไร กลางคืนดึกดื่นนี้ท่านเดินขึ้นไปบนภูเขา เดินเที่ยวไปบนภูเขา เผื่อว่าไปเจอเสือเข้าแล้วจิตจะได้รวมที่นั่น ท่านว่าอย่างนั้นนะ ท่านหวังเอาจิตรวม เพราะประสบอันตราย มีเสือ เป็นต้น ถ้าโดยลำพังนั่งภาวนาจิตไม่ค่อยลง พอออกไปสู่ที่ต่างๆ ที่ตรงไหนเป็นที่น่ากลัวท่านจะอยู่ตรงนั้น ตรงนี้ตรงจะได้ผล แล้วก็ได้อย่างคาดอย่างหมาย ท่านว่า เพราะฉะนั้นเวลากลางคืนดึกๆ จึงชอบออกจากมุ้ง แล้วก็ขึ้นบนเขา ไปเที่ยวนั่งภาวนาอยู่ตามร่มไม้ แล้วเดินตามหลังเขาอยู่อย่างนั้น ท่านว่า แล้วได้ผลดี นั่น นี่คือผู้ที่เห็นผลจากการทรมานตนด้วยวิธีนี้ จึงชอบนำวิธีนี้ไปใช้เสมอ


    ท่าน องค์นี้เป็นองค์หนึ่งที่กลัวผีมากที่สุด ท่านก็ทรมานจนกระทั่งหายกลัวผีเลย ทรมานแบบเดียวกันนี้ กลัวผีท่านก็ไปอยู่ในป่าช้า ไม่หายกลัวผีไม่ยอมหนี เอาจนกระทั่งหายกลัวผี สุดท้ายก็ไปได้หมด ป่าช้าก็ได้ ไปที่ไหนไปได้หมด เสือไม่กลัวเลย มีแต่จะให้จิตรวมด้วยเสือเท่านั้น นี่อุบายวิธีฝึกทรมานกัน ท่านทรมานอย่างนี้ คำว่าจิตรวมนั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐ เป็นสิ่งที่อัศจรรย์ไม่มีอันใดเสมอ กายนี้หายหมดถ้าลงได้รวมขนาดนั้นแล้ว ร่างกายไม่มีเลยในความรู้สึก จะเหลือแต่ความรู้ แล้วความรู้นั้นไม่ใช่ความรู้ธรรมดาของเราอย่างนี้ เป็นความรู้ที่ไม่คาดไม่หมาย เป็นความรู้ในหลักธรรมชาติ ไม่มีสองกับสิ่งใด ที่พอพูดได้ก็คือเป็นสิ่งที่อัศจรรย์มากเท่านั้นเอง นี่มีอยู่กับทุกคน เวลาถึงกาลมันเป็นขึ้นมานี้ เราไม่คาดไม่ฝันว่าจะเป็นได้อย่างนั้น แต่ก็เป็นขึ้นมาได้ทั้งๆ ที่ไม่คาดไม่ฝันนั่นแล เมื่อสบเหมาะกับจังหวะ ฝึกทรมานกันถูกต้อง มันก็ลงได้


    เมื่อ เราไม่มีโอกาสที่จะทำอย่างนั้น การฝึกฝนอบรมจิตใจเราก็ไม่ควรปล่อยวาง ได้เวลาใดวันละเท่าไรก็ให้พยายาม เพราะเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดก็คือจิต ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้จะมีคุณค่าเสมอด้วยจิตนี้เลย แต่ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม เจ้าของไม่กำกับรักษา มันก็นำความทุกข์ความร้อนมาให้ แต่ถ้าเจ้าของคือสติกับปัญญาคอยกำกับรักษากดขี่หรือบังคับกันไว้ จิตก็ปลอดภัย ความสงบสุขก็เกิดขึ้น เมื่อความสงบสุขเกิดขึ้นแล้วอยู่ที่ใดมันก็อยู่ได้คนเรา เพราะไม่มีสิ่งมายุแหย่ก่อกวนให้เกิดความเดือนร้อนวุ่นวายภายในใจ


    การ ที่คนเป็นไข้มีความระส่ำระสายกระวนกระวายนั้น ก็เพราะทุกข์บีบคั้น แสดงอาการออกมาต่างๆ เพื่อเป็นการระบายคลายทุกข์ คนดีจึงมองเห็นได้ชัดว่า คนไข้หนักเป็นอย่างไร คนไข้ไม่หนักเป็นอย่างไร เพราะกิริยานั้นแสดงออกเพื่อการระบายทุกข์ ความจริงมันก็ไม่ใช่เป็นการระบาย หากเป็นนิสัยของมนุษย์เท่านั้น ทีนี้เมื่อไม่มีทุกข์แล้วก็จะไปแสดงอาการระส่ำระสายอย่างไรเล่า จิตเมื่อไม่มีทุกข์เข้าบีบคั้นบังคับก็ไม่แสดงอาการระส่ำระสายเดือดร้อน วุ่นวาย นอกจากมีทุกข์เข้าไปบีบคั้นบังคับเท่านั้นเองจึงเป็น การฝึกอบรมจิตใจจึงเพื่อจะกำจัดสิ่งเหล่านี้ที่เป็นข้าศึกต่อจิตใจให้หาย หรือจางไปโดยลำดับ เพื่อจิตจะได้มีความสงบร่มเย็นต่อตัวเอง และก็นำความสุขมาให้


    มี การฝึกฝนอบรมนี้เท่านั้น เป็นวิธีการที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะให้จิตได้ทรงคุณค่าของตนไว้ตามคุณค่า ของจิตที่มีอยู่กับตัวทุกคน นอกจากการฝึกอบรมจิตนี้แล้ว ก็ไม่มีทางที่จะทำให้จิตดีขึ้น เพียงความปรารถนา เพียงความบ่น เพียงคำพูดต่างๆ ความต้องการนั้นไม่เกิดผลใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากการลงมือกระทำ ลงมือฝึกฝนอบรมตนเท่านั้น จึงเป็นต้นเหตุอันดีที่จะยังผลที่พึงพอใจให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นงานทางด้านจิตตภาวนา จึงเป็นงานยากผิดกับงานทั้งหลายอยู่มากทีเดียว คนจึงไม่ชอบทำกัน เพราะเป็นงานฝืนโลก ฝืนสิ่งที่เราต้องการ สิ่งใดที่เราไม่ต้องการสิ่งนั้นคือธรรม ก็ต้องฝืนกัน ในเบื้องต้นต้องฝืนอย่างนั้น แต่เมื่อได้เห็นผลแล้ว ความฝืนนั้นก็ค่อยเบาไปๆ โดยลำดับ ปรากฏเป็นความดึงดูดหรือความดูดดื่มในธรรมเข้ามาแทนที่ ทีนี้ความขยันหมั่นเพียรก็เป็นขึ้นมาเอง เพราะเห็นผลประจักษ์ภายในตัวเองในขณะที่ทำเป็นลำดับไป


    ที นี้งานจะหนักเบาขนาดไหนนั้นไม่ย่อท้อ มีแต่ความบึกบึนเรื่อยๆ ไป ยิ่งเป็นงานแห่งธรรมขั้นสูงด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นงานที่หาความหยุดยั้งหาความพักผ่อนหย่อนจิตใจไม่ค่อยได้เลย นอกจากเราจะรั้งเอาไว้หรือบังคับไว้ให้พักให้หยุด ไม่เช่นนั้นจิตจะมีความเพลิดเพลินต่องานของตน เพื่อผลที่พึงใจจะปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับ ตามหลักธรรมท่านกล่าวไว้ว่า อุทธัจจะ คนที่เพลินในงานและผลของงานของตนจนเกินไปนั้น ท่านเรียกว่าอุทธัจจะ ในสังโยชน์เบื้องบน จะละได้ด้วยอรหัตมรรค ท่านว่า อรหัตมรรคคืออะไร ละได้ด้วยมหาสติมหาปัญญา นั่นละเรียกว่าอรหัตมรรค


    งาน ทางด้านจิตใจตามเราคาดเราหมายเอาไว้นั้น ผิดกับความจริงอยู่มาก คือเวลาทำภาวนาจิตใจของเรามีความสงบสุขไปโดยลำดับๆ แล้ว งานนั้นจะเบาลงไปๆ เราจะมีความสุขมากขึ้นโดยลำดับอย่างนี้เป็นความคาดหมาย แต่พอเข้าไปถึงตัวจริงแล้วนั้น จิตมีความละเอียดเท่าไรยิ่งมีความขยันหมั่นเพียรมาก ยิ่งมีความเห็นคุณค่าในธรรมทั้งหลายคือความหลุดพ้นเป็นลำดับๆ ไปมากเข้าเท่านั้น นั้นแลเป็นสิ่งให้จิตมีความตะเกียกตะกายมากขึ้น ไม่ลดหย่อนผ่อนคลายตัวเลย เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ชื่อว่างานหนัก แต่หนักด้วยความสมัครใจ หนักด้วยความพอใจ หนักด้วยความดึงดูด จึงหนักก็เหมือนไม่หนัก แม้ที่สุดชีวิตก็มอบได้เพื่อธรรมดวงนั้น


    ถ้า ธรรมดาจะมอบไม่ได้ แต่นี้เพราะคุณค่าแห่งธรรมที่ได้เห็นเป็นลำดับๆ ไปแล้ว ว่ามีความประเสริฐเลิศเลอขนาดไหน นั้นแลจึงทำให้จิตมีความขวนขวายมากขึ้นโดยลำดับๆ แล้วงานก็ไม่มีเวลาว่าง จนกระทั่งได้ผ่านพ้นไปเสียทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีสิ่งใดเข้ามาเกี่ยวข้องจิตใจ เลย ปราบเรียบหมดด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรอันนั้นแล้ว เรื่องงานมันก็ปล่อยไปเอง งานที่ยุ่งอยู่ทั้งวันทั้งคืนเหมือนจะไม่มีเวลาว่างเลยนั้น มันว่างเองเพราะไม่มีงานจะทำ งานแก้ไขกิเลสหรือถอดถอนกิเลสทุกประเภทได้สิ้นสุดลงแล้ว ไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่ที่จะให้แก้ไขหรือถอดถอนอีกต่อไปเลย แล้วจะหางานที่ไหนมาให้ทำ นี่ก็เรียกว่า ว่างงาน


    แต่ ว่างงานทางด้านธรรมะนี้ ว่างจริงๆ ไม่เหมือนงานของโลก งานของโลกทำสิ้นเสร็จในกิจธุระนี้แล้ว ก็ต้องทำธุระนั้น แล้วมิหนำซ้ำก็ต้องมาซ้ำธุระอันเก่านี้อีก เพราะความจำเป็นบังคับให้ต้องทำ ไม่เลิกไม่แล้วสักทีจนกระทั่งวันตาย แต่งานแก้กิเลสอาสวะนี้ ถึงจะยุ่งยากลำบากมากมายเพียงไรก็ตาม เมื่อถึงจุดจบแล้วก็จบจริงๆ ไม่ต้องมาแก้ไขชำระสะสางกันอีกต่อไปเลย ท่านเรียกว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ เสร็จกิจแล้วในพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว การละการถอดถอนกิเลสที่จะพึงละพึงถอดถอน ได้ถอดถอนโดยสิ้นเชิงแล้วไม่มีสิ่งใดเหลือ กิจอื่นที่จะทำให้ยิ่งกว่านี้ต่อไปอีกนั้นเป็นอันไม่มี นั่น เรียกว่าท่านว่างงานแล้วที่นี่ ว่างจนกระทั่งถึงวันปรินิพพาน


    ส่วน งานสำหรับธาตุขันธ์ คือความเป็นอยู่สะดวกสบายในระหว่างขันธ์กับจิตนั้น ไม่ว่าพระพุทธเจ้าและสาวก ท่านย่อมทำไปตามจริตนิสัยของท่านที่รู้ตัวเอง ว่าจะควรประกอบมากน้อยเพียงไร จึงจะเหมาะสมกันระหว่างจิตกับขันธ์จะอยู่ด้วยกันด้วยความสะดวกสบาย ไม่ขัดข้องยุ่งเหยิงภายในธาตุขันธ์ ท่านรู้เอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกก็ดี ท่านจึงต้องทำความเพียรอยู่ตลอดวันปรินิพพาน แต่การทำความเพียรในวาระหลังจากการตรัสรู้และบรรลุธรรมนี้แล้ว เป็นงานระหว่างขันธ์กับจิต เรียกว่า ทิฏฐธรรม วิหารธรรม เป็นความอยู่สบายในขณะที่มีชีวิตครองธาตุครองขันธ์อยู่นี้เท่านั้น ไม่ใช่กิจธุระอันเป็นการถอดถอนกิเลสเหมือนแต่ก่อนนั้นเลย ผิดกันที่ตรงนี้


    พอ สิ้นเสร็จ ธาตุขันธ์หมดกำลังที่จะเป็นไปได้แล้ว ท่านก็ปล่อย ปล่อยไปตามความจริงของมัน ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ก็ถอนตัวออกจากสิ่งสกปรกเหล่านี้เสีย เรียกว่าอนุปาทิเสสนิพพานเป็นนิพพานโดยสมบูรณ์ เป็นนิพพานล้วนๆ ไม่มีธาตุขันธ์ก่อกวนและให้รับผิดชอบอีกต่อไปเลย คำว่า สอุปาทิเสสนิพพานนั้น จิตถึงขั้นบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว แต่ยังต้องรับผิดชอบในธาตุขันธ์ ความเป็นอยู่พูวายต่างๆ นานา เช่นเดียวกับโลกทั่วๆ ไป จนกระทั่งวันปรินิพพานถึงจะได้ปล่อยเรื่องความกังวลเหล่านี้เสีย ผิดกันที่ตรงนี้


    เรา ทุกท่านได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เป็นอำนาจวาสนาของเราที่เคยสร้างมา ฉะนั้นขอให้ประคองวาสนาของเรานี้ไปด้วยความดีงาม อย่าลดละท้อถอย สร้างไปจนสมบูรณ์ ความที่จะเกิดเป็นมนุษย์นี้นั้น เป็นของไม่ยากสำหรับเราผู้มีภูมิสมควรที่จะเป็นมนุษย์ แต่เป็นของยากกับบรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ไม่สามารถจะเป็นได้อย่างเรา เกิดได้อย่างเรา เมื่ออำนาจวาสนาพร้อมแล้วในความเป็นมนุษย์ เราจึงได้เกิดเป็นมนุษย์แล้วได้พบพระพุทธศาสนาเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่หายากมาก เกิดมาไม่พบพุทธศาสนา คำว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ไม่เคยปรากฏในโลกนี้เลยนั้นมีอยู่แยะ


    เช่น ระหว่างสุญญกัป พุทธันดรหนึ่ง ระหว่างพระพุทธเจ้าองค์นี้ต่อองค์นั้น เป็นสุญญกัปไม่มีศาสนาเลย อย่างนี้ ใครจะไปทราบได้อย่างไร ว่าบุญเป็นอย่างไร บาปเป็นอย่างไร นรกสวรรค์เป็นอย่างไร ไม่ทราบ ก็ทำตามอำเภอใจที่กิเลสบังคับบัญชาไปเท่านั้น เพราะไม่มีศาสนาพร่ำสอนให้รู้เรื่องรู้ราวในความผิดถูกชั่วดีทั้งหลาย อันนี้ก็เรียกว่าเกิดมาเป็นมนุษย์เฉยๆ และขาดทุนไปเปล่าๆ เสียประโยชน์ในภพชาติหนึ่งๆ แต่เราไม่ได้เป็นเช่นนั้น เกิดมาพบพระพุทธศาสนาด้วย ถึงความเป็นมนุษย์ด้วย และได้ประพฤติปฏิบัติศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าด้วย จึงชื่อว่าเป็นผู้สร้างนิสัยอันดีงามไว้สำหรับตน และสร้างอุปนิสัยให้มีความแก่กล้าสามารถขึ้นภายในจิตใจด้วยความดีทั้งหลาย แล้วความดีนี้แล จะเป็นเครื่องสนองตอบแทนเรา ไปสู่สถานที่ใดก็ตาม เมื่อคนมีความดีภายจิตใจแล้ว ก็เช่นเดียวกับคนที่มีเงินติดกระเป๋าไปเป็นจำนวนมาก พอกับความต้องการ


    จะ ไปบ้านใดเมืองใดไปที่ไหนสะดวกสบาย เพราะเงินเป็นแก้วสารพัดนึก ใช้ได้ทุกสิ่งทุกอย่างแทนตัวของเรา เป็นเครื่องสนองความต้องการของเรา บุญกุศลก็เป็นแก้วสารพัดนึก เราจะให้ทานรักษาศีลภาวนาชนิดใดก็ตาม รวมผลของการกระทำนั้นแล้ว เรียกว่า บุญด้วยกัน บุญนี้แลเป็นแก้วสารพัดนึก เรานึกน้อมอย่างไรก็เป็นมาตามความคิดความนึกของเรา เพราะตนได้สร้างไว้แล้วเช่นนั้น


    บุญ นี้แลที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายท่านสอนให้สัตว์ทั้งหลายบำเพ็ญ บาปท่านสอนให้ละ คือสิ่งที่ทำความเดือดร้อนเสียหายแก่ตนเอง ท่านสอนให้ละให้ปล่อยให้วาง ท่านสอนให้บำเพ็ญสิ่งที่เป็นผลเป็นประโยชน์เป็นเครื่องค้ำชูอุดหนุนตน ให้มีความสุขความเจริญในภพนั้นๆ ไม่ว่าปัจจุบันและอนาคต จะได้อาศัยสิ่งเหล่านี้ จึงสอนให้บำเพ็ญคุณงามความดี ไม่ให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ สร้าง กุสลา ธมฺมา ไว้ภายในจิตใจของเราให้เพียงพอ


    คำว่ากุสลา ธมฺมา หมายถึงอะไร หมายถึงกุศลธรรม คือความฉลาดในการบำเพ็ญตัวเอง อกุสลา ธมฺมา คือความโง่เขลา หาแต่ฟืนแต่ไฟมาเผาจิตใจและเผาตัวเองอยู่เรื่อยๆ กุสลา ธมฺมา คือความเฉลียวฉลาด พยายามแก้ไขดัดแปลงสิ่งที่เห็นว่าไม่ดี และอบรมสิ่งที่ดีให้เกิดมีขึ้นในตน ชื่อว่าเป็นผู้สร้างกุศล คือความฉลาดไว้รอบตัวแล้ว จะอยู่จะเป็นจะตายก็ไม่เห็นมีปัญหา ตายไปแล้วจะนิมนต์พระมากุสลามาติกานี้ ไม่นิมนต์มาก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเราได้สร้างเต็มภูมิของเราแล้ว เหมาะกับความต้องการของเราแล้ว เราจำเป็นอะไรจะต้องให้ใครตามส่งตามเสียอีกเล่า อันนั้นเป็นของไม่แน่นอน เหมือนเราสร้างในตัวของเราเอง นี้เป็นสิ่งที่แน่นอนกว่ามาก จึงพยายามสร้าง กุสลา ธมฺมา ภายในจิตใจให้ถึงพร้อม


    หลักศาสนาท่านสอนไว้ว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํอันใดที่เป็นบาปเป็นกรรมอย่าทำ กุสลสฺสูปสมฺปทาจงสร้างกุศลคือความเฉลียวฉลาดในทางความดีให้ถึงพร้อม สจิตฺตปริโยทปนํทำจิตของตนให้มีความผ่องแผ้วจนกระทั่งถึงความบริสุทธิ์ เอตํ พุทฺธาน สาสนํนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ สอนแบบเดียวกันนี้ทั้งหมด ผู้ปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติตามแบบนี้ จะไปปฏิบัติอย่างอื่นผิดจากความจริง เพราะธรรมนี้สอนไว้แล้วตามความจริง ไม่มีผิดมีพลาดไปไหนเลย จึงเป็นธรรมที่เหมาะสมแก่สัตว์โลกที่จะพึงประพฤติปฏิบัติตามโดยถ่ายเดียว เท่านั้น


    ไม่ มีผู้ใดจะมีความรู้ความฉลาดสามารถมาขัดแย้งธรรมพระพุทธเจ้า แล้วเปลี่ยนแปลงธรรมนี้ให้เป็นอย่างอื่นตามความชอบใจ เพราะพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ก่อนที่จะสั่งสอนโลกได้กลั่นกรองแล้วทุกสิ่ง ทุกอย่างให้เหมาะสมแก่โลก แล้วนำมาสั่งสอน เราก็เป็นพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้า ให้พยายามดำเนินตามพระองค์ด้วยข้อปฏิบัติ สมัยทุกวันนี้โลกกำลังป่วนปั่นวุ่นวาย เราอย่าเชื่อโลกวุ่นวาย เราจะเป็นคนวุ่นวายไปตาม ถ้าหากว่าโลกที่ควรเชื่อได้ โลกจะไม่วุ่นวาย ไม่ระส่ำระสาย ไม่ยุแหย่ก่อกวนกันดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้


    ถ้า หากเราจะพูดให้มันเหมาะสมจริงๆ ก็เรียกว่า มันกำลังจะเป็นบ้ากันอยู่แล้วเวลานี้ ความเรียนรู้มามากน้อยไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร หาแต่เรื่องยุแหย่ก่อกวนวุ่นวายกันไปหมดทุกหย่อมหญ้า อย่างนี้แหละเรื่องโลก เราจะเชื่อมันได้อย่างไร เรียนมาเท่าไรก็ไม่เป็นไปตามการเรียน มันเป็นไปตามอำนาจของเจ้าโลภะเจ้ากิเลสตัณหาอาสวะนั้นแหละ เป็นผู้บงการ เป็นเครื่องมือของสิ่งนี้ทั้งหมด บรรดาความรู้ที่เรียนมาจึงไม่เกิดประโยชน์ เราจึงนำเอาความรู้ที่เรียนศึกษามาให้เข้าเป็นทางด้านธรรมะ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนให้ได้รับความสงบร่มเย็น


    เชื่อ พระพุทธเจ้าเป็นความที่เหมาะสม เป็นสิ่งที่ธรรมชาติที่ตายใจได้ยิ่งกว่าเชื่อคนมีกิเลสทั้งหลาย คนในโลกมีแต่คนมีกิเลส แสดงออกมาอาการใดก็ไว้ใจไม่ค่อยได้ ไม่เหมือนคนที่บริสุทธิ์ ผู้บริสุทธิ์นั้นแสดงออกมาด้วยความถูกต้องแม่นยำ ผู้ที่นับถือผู้ปฏิบัติก็พลอยได้รับความสุขไปตามกำลังความสามารถของตน พึงนำไปประพฤติปฏิบัติกำจัดสิ่งที่เป็นภัยแก่ตน แล้วจะได้ประสบพบเห็นความสุขความสบาย การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรจึงขอยุติเพียงเท่านี้


    คัดลอกจาก http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=2982&CatID=2

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 มกราคม 2012
  2. Suprawee

    Suprawee เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 มีนาคม 2006
    โพสต์:
    107
    ค่าพลัง:
    +310
    โมทนา สาูธุ ขอบคุณสำหรับคำสอนดีีๆ จากหลวงตาครับ จะนำไปปฏิบัติครับ
     
  3. หม้อหุงข้าว..!

    หม้อหุงข้าว..! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,103
    ค่าพลัง:
    +1,072
    อนุโมทนาสาธุในธรรมพระหลวงตา และจขกท.ที่นำมาให้ได้ศึกษา
     

แชร์หน้านี้

Loading...