การปรารถนาพุทธภูมิ

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย มุ่งเต็มใจ, 10 เมษายน 2009.

  1. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    พุทธกรณธรรม

    สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมีน้ำพระทัยมุ่งหมายพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ประสงค์จักเป็นเอกองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลนั้น นอกจากจะมีคุณสมบัติพิเศษเกินกว่าคนธรรมดาสามัญหลายอย่างหลายประการตามที่ พรรณนามาแล้ว พระองค์ท่านยังต้องบำเพ็ญธรรมอันสำคัญอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่ง ธรรมที่ว่านี้มีชื่อเรียกอย่างรวมๆ ว่า “พุทธกรณธรรม” คือ ธรรมพิเศษที่กระทำให้ได้เป็นสมเด็จพระพุทธเจ้า หากว่าปราศจากธรรมะพิเศษ หมวดนี้ก็ดี หรือว่าธรรมะพิเศษหมวดนี้ยังไม่ถึงภาวะบริบูรณ์เต็มที่ในขันธสันดานก็ดี พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ย่อมจักไม่มีโอกาสตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณเป็นอันขาด ก็พุทธกรณธรรมซึ่งเป็นธรรมะพิเศษเป็นเหตุให้ได้เป็นสมเด็จพระพุทธเจ้านี้ มีอยู่ทั้งหมด 10 ประการ คือ

    1. ทานพุทธกรณธรรม
    2. ศีลพุทธกรณธรรม
    3. เนกขัมมพุทธกรณธรรม
    4. ปัญญาพุทธกรณธรรม
    5. วิริยพุทธกรณธรรม
    6. ขันติพุทธกรณธรรม
    7. สัจจพุทธกรณธรรม
    8. อธิฏฐานพุทธกรณธรรม
    9. เมตตาพุทธกรณธรรม
    10. อุเบกขาพุทธกรณธรรม

    พุทธกรณธรรม หรือธรรมพิเศษ ที่ให้ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าทั้ง 10 ประการนี้ มีอรรถาธิบาย ดังต่อไปนี้

    1. ทานพุทธกรณธรรม

    สมเด็จ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมยินดีในการบำเพ็ญทานเป็นเนืองนิตย์ ไม่ว่าพระองค์จะสถิตหรือเกิดในชาติไหน และเสวยพระชาติเป็นอะไร ทุกๆ พระชาติที่เกิดย่อมมีน้ำพระทัยใคร่บริจาคทาน เมื่อได้ประสบพบพานยาจกซึ่งเป็นคนหินชาติ มีฐานะต่ำทรามก็ดี หรือ ยาจกผู้มีฐานะมัชฌิมาปานกลางก็ดี หรือ ยาจกผู้ขอซึ่งมีฐานะสูงสุดเป็นอุกฤษฐ์ก็ดีเมื่อขอแล้ว พระโพธิสัตว์เจ้าจะได้คิดหน้าพะวงหลังก็หามิได้ ย่อมรีบเร่งจำแนกทรัพย์ธนสารให้เป็นทาน ตามความต้องการของผู้ขอด้วยความยินดีเต็มใจอย่างยิ่ง สิ่งไรที่ตนมีแล้วเป็นต้องให้ทั้งสิ้น ถวิลหวังแต่การที่จะบริจาคทานเป็นเบื้องหน้า

    อย่าว่าแต่ ทรัพย์สมบัติ อันเป็นสิ่งของภายนอกเลย แม้แต่อวัยวะเลือดเนื้อและชีวิต หากใครคิดปรารถนาอยากจะได้และมาเอ่ยปากขอแก่พระโพธิสัตว์ พระองค์ก็อาจจะบริจาคให้ได้ด้วยว่า พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ย่อมมีน้ำพระทัยประดุจดังตุ่มใหญ่เต็มเปี่ยมด้วยน้ำ ที่ถูกบุคคลมาจับเทคว่ำ ทำให้ปากตุ่มคว่ำลงกับพื้น ก้นตุ่มปรากฏอยู่ในเบื้องบน อย่างนี้แล้วน้ำภายในตุ่มจักเหลืออยู่แม้แต่สักหยดหนึ่งไปได้อย่างไรกัน น้ำพระทัยของพระองค์ท่านก็เป็นเช่นนั้น คือ เหมือนกับตุ่มน้ำใหญ่ที่คว่ำลง ยินดีในการบริจาคทานโดยต้องการให้หมดไม่มีเหลือในเมื่อมียาจกผู้มาขอ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติภายนอก หรือวัตถุภายใน คือ เลือดเนื้อร่างกายและชีวิตก็ตามที

    2. ศีลพุทธกรณธรรม

    สมเด็จ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมรักษาศีล สมาทานศีล ผูกใจมั่นในศีลเป็นอาจิณวัตร สู้อุตสาหะปฏิบัติตนให้ตั้งมั่นอยู่ในศีล ยังศีลให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ ตลอดระยะเวลาทุกๆชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหน และเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตาม พระองค์ท่านย่อมสมาทานมั่นคง ไม่ให้ศีลของตนย่อหย่อนบกพร่องได้ ในบางครั้ง แม้จะต้องสละชีวิตเพื่อรักษาศีลแห่งตนไว้ก็ จำยอม เพียบพร้อมไปด้วยน้ำใจรักศีลหาผู้เสมอเหมือนมิได้

    ในกรณี ที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้า มีน้ำใจรักในศีลนี้ พึงเห็นอุปมาว่าธรรมดาหมู่มฤคจามรีซึ่งมีน้ำใจรักขน จนสู้สละชนม์เพื่อรักษาไว้ซึ่งโลมชาติแห่งตนฉันใด พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น พระองค์ท่านสู้อุตสาหพยายามรักษาศีล สมาทานศีล มีใจรักในศีล โดยอาการเปรียบปานดุจจามรีรักในขนหางแห่งตนฉะนั้น

    3. เนกขัมมพุทธกรณธรรม

    สมเด็จ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมมีน้ำใจยินดีในการบรรพชา คือ หมั่นออกจากฆราวาสวิสัยการอยู่ครองเรือนไปบวชบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์อยู่เสมอ บางครั้งเมื่อโลกเรานี้ว่างจากพระพุทธศาสนา เพราะไม่มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติ พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายได้มาเกิดเป็นมนุษย์แล้วย่อมจะออกบวชเป็นโยคี ฤาษีดาบสบำเพ็ญพรตเพื่ออบรมบ่มพระบารมี แต่เมื่อถึงคราวที่พระบวรพุทธศาสนาปรากฏในโลกพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายย่อม มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้วออกบรรพชาอุปสมบทเป็นสมณะพระภิกษุในพระธรรม วินัยแห่งองค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นๆ หมั่นออกบวชเพื่อสั่งสมเนกขัมมบารมีให้ภิญโญภาพยิ่งขึ้นไปทุกชาติที่เกิด ด้วยมีน้ำใจยินดีในภาวะที่จะออกจากทุกข์ในวัฏสงสาร พระองค์ท่านจึงตั้งใจสมาทานถือมั่นในเนกขัมมะการออกบวชอยู่เนืองๆ มา

    ใน กิริยาที่พระโพธิสัตว์เจ้า มีจิตปรารถนาที่จะออกจากทุกข์ภัยในวัฏสงสารนั้น เปรียบปานดังความปรารถนาของนักโทษที่อยู่ในเรือนจำ อันธรรมดาบุรุษนักโทษที่ประพฤติทุจริต มีความผิดต้องติดคุกตะรางทนทุกข์ทรมาน ได้รับความรำคาญขุ่นข้องหมองใจหนักหนาย่อมปรารถนาแต่จะออกไปให้พ้นจากร้าน เรือนจำที่ตนต้องระกำทุกข์อยู่เสมอทุกวันฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น ย่อมมีมนัสมั่นหมายที่จะออกไปจากคุกตะราง คือ การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในไตรภพวัฏสงสาร จึงหาทางออกด้วยการบำเพ็ญพรต กล่าวคือ เนกขัมมะอยู่เนืองนิตย์ ไม่ยอมที่จะติดเป็นนักโทษแห่งวัฏสงสารอยู่ตลอดกาล เปรียบปานด้วยนักโทษ ไม่ปรารถนาจะติดอยู่ในคุกตลอดชีวิตเรื่อยไปฉะนั้น

    4. ปัญญาพุทธกรณธรรม

    สมเด็จ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวงย่อมเพิ่มพูนปัญญา หมายความว่า ย่อมแสวงหาวิชาความรู้ อันเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาอยู่เป็นเนืองนิตย์ หมั่นอบรมจิตให้ประกอบด้วยปัญญาอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพราะปัญญาเป็นธรรมสูงสุดอันผู้ปรารถนา พระพุทธภูมิพึงขวนขวาย ฉะนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย จึงขวนขวายอุตส่าห์พยายามอบรมสั่งสมปัญญาบารมีทุกชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหน และเสวยพระชาติเป็นอะไร ก็ต้องตั้งใจสมาทานปัญญาบารมีเป็นสำคัญ หมั่นเสพสมาคมกับท่านผู้รู้ผู้เป็นนักปราชญ์ ย่อมไม่เลือกเลยซึ่งชนผู้มีความรู้ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม ขอแต่ให้ประกอบไปด้วยความรู้ก็แล้วกัน พระองค์ท่านย่อมยินดีใคร่จะคบหมาสมาคมไม่เลือกหน้า พร้อมทั้งเอาใจใส่ไต่ถามซึ่งอรรถธรรมและเหตุการณ์ทั้งปวงเป็นเนืองนิตย์ ด้วยมีน้าจิตไม่รู้จักอิ่มในวิทยาการทั้งปวง

    ในกรณีที่พระ โพธิสัตว์เจ้า แสวงหาความรู้อันเป็นการสั่งสมปัญญานี้ พึงทราบอุปมาว่า ธรรมดาพระภิกษุสงฆ์องค์สาวกของสมเด็จพระจอมมุนีสัมพุทธเจ้า ผู้เฝ้าประพฤติตามอริยวงค์ประเพณีนั้น ครั้นเมื่อโคจรเที่ยวไปบิณฑบาต จะได้เลือกลีลาศหลีกเลี่ยงตระกูลที่สูงต่ำปานกลางใดๆ ก็หามิได้ ย่อมเที่ยวบิณฑบาตเรื่อยไป สุดแท้แต่ว่าใครจะเอาอาหารมาใส่ลงในบาตรก็ยินดีรับเอาไม่เลือกหน้าว่าไพร่ ผู้ดี ยาจก เศรษฐีผู้ใด เพราะมีความประสงค์เพียงจะได้อาหารพอเป็นยาปนมัตเครื่องเลี้ยงชีพตนให้คง อยู่ เพื่อบำเพ็ญสมณกิจแห่งตนอย่างเดียวเป็นประการสำคัญ จะได้เลือกผู้ให้อาหารอันเป็นบิณฑบาตทานแก่ตนเป็นไม่มีเลย อุปมาข้อนี้ฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมายพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณก็ดั้นด้นคว้าแสวงหาปัญญา ความรอบรู้ ไม่เลือกท่านผู้เป็นครูผู้ให้วิชาว่าจะเป็นอย่างไร ขอให้มีความรู้ที่จะให้วิทยาการแก่ตนก็แล้วกัน พระองค์ท่านย่อมพอใจหมั่นคบหาสมาคม ไต่ถามนำเอาความรู้มาสั่งสมไว้ในจิตสันดานของตนเป็นเนืองนิตย์ เพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นปัญญาบารมียิ่งๆ ขึ้นไป

    5. วิริยพุทธกรณธรรม

    สมเด็จ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมเพิ่มพูนวิริยะความเพียรเป็นยิ่งยวด คือ มีน้ำใจกล้าหาญ ในการที่จะประกอบกุศลกรรมทำความดีอย่างไม่ลดละ เพราะโพธิญาณอันเป็นประเสริฐสุดยอดนั้น มิใช่เป็นธรรมที่จะพึงได้โดยง่าย โดยที่แท้ต้องอาศัยความเพียรอันยิ่งใหญ่จึงจะได้สำเร็จได้ ด้วยเหตุนี้พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย จึงสุ้อุตสาหพยายามเพิ่มพูนวิริยะธรรมทุกๆ ชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหนและเสวยพระชาติเป็นอะไร ก็ตั้งใจสมาทานถือมั่นในวิริยะธรรมเป็นสำคัญ ประกอบความเพียรเป็นสามารถองอาจไม่ท้อถอยในการก่อสร้างกองการกุศล จนในบางครั้งแม้จักต้องถึงแก่ชีพิตักษัย ก็ไม่คลายความเพียรไม่ย่นย่อครั้นครามขามขยาดต่ออุปสรรคอันตรายทั้งหลายที่ บังเกิดมี

    ในกรณีที่พระโพธิสัตว์เจ้า มีน้ำใจประกอบไปด้วยความเพียรอันยิ่งใหญ่ เพื่อได้ตรัสเป็นเอกองค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้ พึงทราบอุปมาว่า ธรรมดาพญาไกรสรสีหราชมฤคินทร์ซึ่งเรืองฤทธิ์ คราวเมื่อมีจิตปรารถนาจะขึ้นนั่งแท่น ย่อมจะแล่นเลี้ยวไม่ลดละ อุตสาหะพยายามอย่างยิ่งยวด แม้จะพลาดพลั้งอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่ถอย เพียรพยายามอยู่นักหนาจนกว่าจะขึ้นนั่งแท่นได้สำเร็จ อุปมาข้อนี้ฉันใด พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมายซึ่งพระพุทธภูมิอันประเสริฐสุดประมาณ ย่อมมีน้ำใจอาจหาญประกอบไปด้วยอุตสาหพยายามอันเป็นวิริยะธรรม ไม่ท้อถอยไม่ยั้งหยุดจนกว่าจะถึงจุดมุ่งหมาย กล่าวคือ พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

    6. ขันติพุทธกรณธรรม

    สมเด็จ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ต้องพยายามเพิ่มพูนขันติ คือ ความอดทนเป็นยิ่งนัก ทั้งนี้ ก็เพราะว่าพระโพธิญาณจักสำเร็จสมความมุ่งหมายได้นั้น ต้องอาศัยความอดทนอันยิ่งใหญ่เป็นประการสำคัญ ถ้ามีน้ำใจไม่มั่นคง ไม่มีขันติความอดทน ยอมตนเป็นประดุจดังทาสแห่งบรรดาสรรพกิเลสอยู่เสมอไปแล้ว ก็ย่อมจักแคล้วคลาดจากพระโพธิญาณ การใหญ่คือพระพุทธภูมิที่ปรารถนาก็ไม่มีวันจะสำเร็จลงได้ ด้วยเหตุนี้พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย จึงพยายามสั่งสมซึ่งพระขันติธรรมอยู่เสมอทุกชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติ และเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตาม พระองค์ท่านย่อมสมาทานมั่นในขันติธรรม อุตส่าห์ระงับใจไม่ให้เกิดความปฏิฆะ ความขุ่นข้องหมองกมลได้ ในบางครั้งสู้อดทนถึงแก่ชีพิตักษัยก็มี

    ใน กรณีพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายมีน้ำใจประกอบไปด้วยขันติธรรมความอดทนนี้ มีอุปมาที่ท่านกล่าวไว้ว่า ธรรมดาพื้นพสุธา คือ แผ่นดิน ย่อมอดทนทรงไว้ได้ซึ่งสัมภาระน้อยใหญ่คนทั้งหลายในโลกนี้ พากันทิ้งถมระดมสาดวัตถุสิ่งของที่สะอาดก็มี และที่โสโครกไม่สะอาดก็มี เป็นสัมภาระสิ่งของมากมายนักหนา ลงบนแผ่นพสุธานี้ไม่ว่างเว้นตลอดทุกวันเวลา แต่ว่าพื้นพสุธาก็ดีใจหาย จะได้สำแดงอาการรำคาญเคืองหรือยินดีชอบใจในพัสดุสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่บุคคล ทิ้งลงทับถมเอาตามชอบใจเป็นไม่มีเลย เฉยอยู่อย่างนั้นชั่วกัปชั่วกัลป์ อุปมาข้อนี้ฉันใดพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมายเอาพระโพธิญาณอันประเสริฐเลิศล้ำ ท่านย่อมพยายามสั่งสมขันติธรรมบำเพ็ญตนไม่ให้มีอาการโกรธพิโรธจิต คิดมุ่งร้ายหมายประหารด้วยความเดือดดาลในน้ำใจ ไม่ใช่เกิดมีอาการหวั่นไหวในเหตุการณ์ทั้งปวงจนกว่าจะลุ่ล่วงถึงพระ ปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

    7. สัจจพุทธกรณธรรม

    สมเด็จ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมพยายามเพิ่มพูนสัจธรรมเป็นยิ่งนัก คือ มีน้ำใจประกอบไปด้วยสัจจะไม่ละความสัตว์ซื่อตรงหากพระองค์ท่านได้ตั้งสัจจะ ลงไปในประการใดแล้วก็เที่ยงตรงการนั้นไม่แปรผันยักย้าย ด้วยว่า พระพุทธภูมิอันยิ่งใหญ่จักสำเร็จลงได้ ต้องอาศัยสัจจะ กล่าวคือ ความตรงความจริงเป็นประการสำคัญ ดังนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายจึงพยายามสั่งสมสัจธรรมอยู่เสมอทุกชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติใด และเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตามที ย่อมพยายามที่จะรักษาความสัตย์ เช่น จะรักษาวาจาคำพูดแห่งตนไม่ให้ล่วงละเมิดเกิดเป็นเท็จขึ้นมาได้ อันเป็นกิริยาที่โกหกทั้งตนเองและผู้อื่น มีความเที่ยงธรรมประจำใจนักหนา เสมอด้วยตราชูคันชั่งอันเที่ยงตรง บางครั้งถึงกับยอมให้ถึงแก่ชีพิตักษัย เพื่อรักษาสัจจะเอาไว้ก็มี

    ในกรณีที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ทั้งหลายมีน้ำใจประกอบไปด้วยสัจจะความเที่ยงตรงนี้ มีอุปมาทีท่านกล่าวไว้ว่า ธรรมดาโอสธิดารา คือ ดาวประกายพรึกนั้น เมื่อเคยขึ้นประจำอยู่ทิศไหน ก็ย่อมโคจรขึ้นประจำอยู่ทิศนั้นวิถีนั้น จะได้แปรเปลี่ยนเยื้องยักไปปรากฏขึ้นในทิศอื่นก็หามิได้ ย่อมทรงไว้ซึ่งความเที่ยงตรงนัก ไม่ว่ากาลไหนฤดูไหน อุปมาข้อนี้ฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมายเอาพระโพธิญาณอันประเสริฐเลิศล้ำ ย่อมพยายามสั่งสมสัจธรรมบำเพ็ญตนตั้งอยู่ในความสัตย์ ไม่ตระบัดบิดเบือนแปรผัน ตั้งมั่นอยู่ในความเที่ยงตรงเป็นล้นพ้น จนกว่าจะได้สำเร็จผลพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

    8. อธิฏฐานพุทธกรณธรรม

    สมเด็จ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมมีใจมั่นประกอบไปด้วยอธิฐานธรรม มีความมั่นคงเด็ดขาดยิ่งนัก ด้วยว่าพระพุทธภูมิจักสำเร็จได้ ต้องอาศัยอธิษฐานธรรมเป็นสำคัญเหตุนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง จึงพยายามสร้างสมอบรมพระอธิษฐานธรรมให้มากมูลเพิ่มพูน ให้ถึงความแก่กล้ายิ่งขึ้นไปในทุกๆ ชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหนและเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตาม ก็ย่อมพยายามสร้างความมั่นคงตั้งมั่นแห่งดวงจิต เพื่อให้ศักดิ์สิทธิ์สัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งมาด ถ้ายังขาดอยู่ไม่เต็มบริบูรณ์ ก็เพียรเพิ่มพูนให้ภิญโญภาพยิ่งๆ ขึ้นไปให้สำเร็จตามความประสงค์ให้จงได้ ถ้าลงได้อธิษฐานในสิ่งใดแล้ว ก็มีใจแน่วแน่ตั้งมั่นในสิ่งนั้น มิได้หวั่นไหวโยกคลอนเลยแม้แต่น้อย ถึงใครจะคอยขู่คำรามเข่าฆ่าให้อาสัยสิ้นชีวิต ก็ไม่ละอธิษฐาน จิตสมาทานในกาลไหนๆ

    ในกรณีที่พระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลาย มีน้ำใจประกอบไปด้วยอธิษฐานธรรมนี้ มีอุปมาไว้ว่า ธรรมดาไศลที่ใหญ่หลวง คือ ก้อนหินภูเขาแท่งทึบใหญ่มหึมา ตั้งมั่นประดิษฐานอยู่เป็นอันดี แม้จะมีพายุใหญ่สักปานใด ยกไว้แต่ลมประลัยโลกพัดผ่านมาแต่สี่ทิศ ก็มิอาจที่จะให้ภูเขาใหญ่นั้นสะเทือนเคลื่อนคลอนหวั่นไหวได้แม้แต่สักนิด หนึ่งเลย อุปมาข้อนี้ฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมาย ซึ่งพระโพธิญาณประเสริฐเลิศล้ำ ย่อมพยายามเสริมสร้างอธิษฐานธรรมอยู่เนืองนิตย์ ไม่มีจิตหวั่นไหวในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ เพื่อให้สำเร็จเพื่ออธิษฐานบารมียิ่งๆ ขึ้นไป จนกว่าจะได้บรรลุพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

    9. เมตตาพุทธกรณธรรม

    สมเด็จ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมมีใจประกอบไปด้วยเมตตา มีน้ำใจใคร่จะให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้ประสบความสุขสำราญโดยถ้วนหน้า ด้วยว่า พระพุทธภูมิจักสำเร็จลงได้ ต้องอาศัยเมตตาธรรมเป็นสำคัญ เหตุดังนั้นพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวงย่อมพยายามสั่งสมเมตตาธรรมอันลำเลิศ ให้มากมูลเพิ่มพูนแก่กล้าทุกชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหน และเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตาม ก็ย่อมอุตส่าห์พยายามอบรมเมตตาธรรม ตั้งความปรารถนาดีไม่ให้มีราคีเคืองขุ่นรุ่มร้อนในดวงจิต เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลเป็นความสุขแก่ปวงชนปวงสัตว์ทุกถ้วนหน้า ถ้ายังขาดอยู่ไม่เต็มบริบูรณ์ ก็เพียรเพิ่มพูนเสริมสร้างครั้งแล้วครั้งเล่า บางคราวถึงกับเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ชนอื่นสัตว์อื่นได้รับความสุขก็มี
    ใน กรณีพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย มีน้ำใจประกอบไปด้วยเมตตาธรรมนี้ มีอุปมากล่าวไว้ว่า ตามธรรมดาอุทกวารีที่สะอาดเย็นใสในธาราแม่น้ำใหญ่ ย่อมแผ่ความเย็นฉ่ำชื่นใจให้แก่สัตว์ทั้งหลายทุกถ้วนหน้าไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ ตามที จะเป็น หมี หมา ไก่ป่า กะทิงเถือน เป็นอาทิ ซึ่งจะเป็นสัตว์เดียรฉานก็ตามที หรือจะเป็นมนุษย์ทั้งหลายตั้งอยู่ในเพศพรรณวรรณะใด จะเป็นขี้ข้า ตาบอด หูหนวก กระยาจก วณิพกก็ดี หรือจะเป็นคนมีทรัพย์ มียศ เป็นเศรษฐีอำมาตย์ ราชเสนา ตลอดจนกระทั่งเป็นองค์พระมหากษัตริย์ประเสริฐก็ดี เมื่อมีความปรารถนาบ่ายหน้าลงมาวักน้ำดื่มกินในธารานั้นแล้ว อุทกวารีย่อมให้รสแผ่ความชื่นเย็นชื่นเข้าไปในทรวงอกทุกถ้วนหน้า จะได้เลือกได้ว่าผู้นั้นดีผู้นั้นชั่วประการใดๆก็มิได้มีเลย อุปมาข้อนี้ฉันใด พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมีมนัสมุ่งหมายเพื่อพระโพธิญาณอันประเสริฐเลิศล้ำ ย่อมพยายามเสริมสร้างเมตตาธรรมให้มีมากในดวงจิต เพื่อให้ผลิตผลแผ่กว้างออกไปไม่มีสิ้นสุด ไม่มีจิตประทุษร้ายแม้แต่ในศัตรูคู่อาฆาตก็มีจิตปรารถนาให้ได้รับความสุขให้ หายมลทินสิ้นทุกข์หมดภัยหมดเวร แผ่ความเย็นใจไปทั่วทุกทิศ มีน้ำใจเป็นมิตรไมตรีไม่มีจำกัด หมู่มนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลายที่คบหาสมาคมด้วย ย่อมได้รับความเย็นใจไม่เดือดร้อนในทุกกรณี เพื่อให้สำเร็จผลเป็นเมตตาบารมียิ่งๆขึ้นไป จนกว่าได้บรรลุพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

    10. อุเบกขาพุทธกรณธรรม

    สมเด็จ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมมำน้ใจประกอบไปด้วยอุเบกขา อุตส่ายังจิตให้ตั้งมั่นในอุเบกขาธรรม ซึ่งเป็นธรรมพิเศษที่ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้เคยซ่องเสพกันมาคือ มีจิตอุเบกขาวางเฉยเป็นกลางในธรรมทั้งหลาย ด้วยว่า พระพุทธภูมิอันวิเศษนั้นจะสำเร็จลงได้ ต้องอาศัยอุเบกขาธรรมเป็นประการสำคัญ ฉะนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวงจึงพยายามบำเพ็ญอุเบกขาธรรมอันลำเลิศให้มากมูล เพิ่มพูนแก่กล้าขึ้นทุกชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหน และเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตาม ก็ย่อมอุตส่าห์พยายามบำเพ็ญอุเบกขาธรรม กล่าวคือ ความวางเฉยในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อถ้ายังขาดบกพร่องอยู่ ยังไม่เต็มบริบูรณ์ ก็เพียรเพิ่มพูนเสริมสร้างอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า บางครั้งถึงกับต้องเอาชีวิตของตนเข้าออกแลก ด้วยหวังจักทำใจให้ปราศจากความจำแนก กล่าวคือ ความยินดียินร้าย มุ่งหมายเพื่อให้มั่นในอุเบกขาธรรมเป็นสำคัญ

    ในกรณีที่พระ บรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย มีน้ำใจประกอบด้วยอุเบกขาธรรมนี้ มีอุปมาที่กล่าวไว้ว่า ธรรมดาว่า พื้นปฐพีอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ เมื่อมีผู้ถ่ายมูตรคูถของสกปรกโสมมอย่างใดอย่างหนึ่งลงก็ดี หรือแม้จะมีผู้เอาเครื่องสักการะบูชา บุบฝา ธูปเทียน เครื่องหอมของสะอาดทิ้งใส่ลงก็ดี พื้นปฐพีมหาพสุธาดล อันบุคคลและสัตว์ทั้งหลายเหยียบอยู่ทุกวันนี้จะได้มีความโกรธอาฆาตหรือมี ความรักใคร่ชอบใจแม้แต่สักนิดหนึ่งก็หามิได้ ปราศจากความยินดียินร้ายโดยประการทั้งปวง เป็นปฐพีที่นิ่งเฉย ไม่หวั่นไหวอยู่อย่างนั้น ตลอดชั่วกัปชั่วกัลป์ อุปมาข้อนี้ฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น คือ เมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมายพระโพธิญาณย่อมมีน้ำใจอาจหาญ พยายามเสริมสร้างพระอุเบกขาธรรมให้เกิดขึ้นประจำจิตให้ภิญโญภาพยิ่งๆขึ้นไป เพื่อให้สำเร็จผลเป็นอุเบกขาบารมีจนกว่าจะบรรลุถึงที่หมายอันยิ่งใหญ่กล่าว คือ พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

    ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย พุทธกรณธรรมหรือธรรมพิเศษที่เป็นเหตุให้ได้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้ เป็นธรรมที่บำเพ็ญให้สำเร็จได้โดยยากใช่ไหมเล่า ถึงกระนั้น ท่านผู้ปรารถนาเป็นสมเด็จพระจอมมุนีสัมพุทธเจ้า ก็เฝ้าบำเพ็ญธรรมเหล่านี้เป็นเวลาช้านานหลายแสนโกฏิชาตินักหนา อุตส่าห์พยายามบำเพ็ญให้เพิ่มพูนเจริญเต็มที่ในจิตสันดาน จนกว่าจะได้บรรลุจึงพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ
     
  2. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    พระบารมี 30 ถ้วน

    พระพุทธกรณธรรมที่กล่าวมาแล้วนี้ มีชื่อเรียกอย่างหนึ่งว่า โพธิปริปาจนธรรม = ธรรมสำหรับบ่มพระพุทธภูมิ หมายความว่า เป็นธรรมอันจำเป็นอย่างยิ่ง ที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ผู้ปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิ จะต้องพยายามบำเพ็ญเนืองนิตย์ เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลอันประเสริฐกล่าวคือ อบรมบ่มให้พระพุทธภูมิถึงแก่ความสุกงอม แล้วจะจึงได้ตรัสรู้ นอกจากนั้นแล้ว พระพุทธกรณธรรมนี้ ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นคำคุ้นหูในหมู่พุทธบริษัทว่า บารมี = ธรรมที่นำไปให้ถึงฝั่งโน้นกล่าวคือ พระนิพพาน หมายความว่า เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเฝ้าบำเพ็ญธรรมเหล่านี้จนครบบริบูรณ์เต็มที่แล้ว ธรรมเหล่านี้ก็จะเป็นสารถีนำพระองค์ท่านให้บรรลุถึงฝั่งโน้น คือ ได้ตรัสพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ และเสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน ฉะนั้น ต่อจากนี้ไป เพื่อความเข้าใจง่ายๆ จะเรียกธรรมเหล่านี้ว่า พระบารมีธรรม

    ก็พระบารมีธรรมนี้ เมื่อโดยองค์ธรรมจริงๆ แล้วก็มีอยู่ 10 ประการ มีทานเป็นต้น มีอุเบกขาเป็นปริโยสาน ตามที่พรรณนามาแล้ว แต่ทีนี้ สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าแต่ละพระองค์กว่าจะทรงยังพระบารมีเหล่านี้ให้เต็ม บริบูรณ์เต็มที่ จนกระทั่งได้ตรัสเป็นเอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มิใช่ว่าจะทรงสร้างพระบารมีเป็นเวลาเล็กน้อยเพียง 10 – 20 ชาติเท่านั้น โดยที่แท้ต้องทรงสร้างพระบารมีอยู่นานนักหนา นับเวลาเป็นอสงไขย เป็นมหากัป นับพระชาติที่เกิดไม่ถ้วน เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดาพระบารมีที่สร้างแต่ละพระชาติจึงไม่เท่ากัน คือ บางพระชาติก็สร้างธรรมดาเป็นปกติ แต่บางพระชาติก็สร้างอย่างอุกฏษฐ์สูงสุดนักหนา ฉะนั้น จึงจำแนกพระบารมีเหล่านี้ออกเป็นตรียางค์ คือ เป็นองค์สาม โดยจัดเป็นพระบารมีอย่างต่ำประเภทหนึ่ง พระบารมีอย่างมัชฌิมาปานกลางประเภทหนึ่ง และพระบารมีอย่างสูงสุดอุกฤษฐ์ประเภทหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น พระบารมีธรรมอันดับแรกคือ ทาน เมื่อจำแนกออกเป็นตรียางค์ ก็กำหนดเอาโดยประเภทของทานดังต่อไปนี้

    1. ทานที่บำเพ็ญโดยสถานประมาณเป็นปกติธรรมดาบริจาคธนสารทรัพย์สมบัติน้อยใหญ่ ถึงแม้จะมากมายเพียงใดก็ดี จัดเป็นบารมีประเภทต่ำธรรมดา เรียกชื่อว่า ทานบารมี

    2. ทานที่บำเพ็ญยิ่งขึ้นไปกว่านั้น คือ ถึงกับบริจาคอวัยวะเลือดเนื้อในร่างกายจัดเป็นพระบารมีประเภทมัชฌิมาปานกลาง เรียกชื่อว่า ทานอุปบารมี

    3. ทานที่บำเพ็ญยิ่งขึ้นไปกว่านั้น คือ ถึงกับต้องบริจาคชีวิตให้เป็นทาน นับว่าเป็นการบริจาคอย่างใหญ่หลวงอุกฤษฐ์ อย่างนี้จัดเป็นพระบารมีสูงสุดอย่างยิ่ง เรียกชื่อว่า ทานปรมัตถบารมี

    แม้ พระบารมีธรรมประเภทอื่นๆ ก็จำแนกออกเป็นพระบารมีละ 3 ประเภท เช่นเดียวกับทานที่ยกเป็นตัวอย่างนั่นเอง ที่นี้ พระบารมีที่เป็นองค์ธรรมีอยู่ 10 ประการ เมื่อจำแนกออกเป็นองค์ละ 3 พระบารมี จึงรวมเป็นพระสมติงสบารมี คือ พระบารมี 30 ถ้วนพอดี เพื่อที่จักให้เห็นได้ง่ายๆ จะขอจำแนกออกไปตามรายชื่อพระบารมี ดังต่อไปนี้

    1. ทานบารมี
    2. ศีลบารมี
    3. เนกขัมมบารมี
    4. ปัญญาบารมี
    5. วิริยบารมี
    6. ขันติบารมี
    7. สัจจบารมี
    8. อธิษฐานบารมี
    9. เมตตาบารมี
    10. อุเบกขาบารมี

    11. ทานอุปบารมี
    12. ศีลอุปบารมี
    13. เนกขัมมอุปบารมี
    14. ปัญญาอุปบารมี
    15. วิริยอุปบารมี
    16. ขันติอุปบารมี
    17. สัจจอุปบารมี
    18. อธิษฐานอุปบารมี
    19. เมตตาอุปบารมี
    20. อุเบกขาอุปบารมี

    21. ทานปรมัตถบารมี
    22. ศีลปรมัตถบารมี
    23. เนกขัมมปรมัตถบารมี
    24. ปัญญาปรมัตถบารมี
    25. วิริยปรมัตถบารมี
    26. ขันติปรมัตถบารมี
    27. สัจจปรมัตถบารมี
    28. อธิษฐานปรมัตถบารมี
    29. เมตตาปรมัตถบารมี
    30. อุเบกขาปรมัตถบารมี

    สิริ รวมเป็นพระบารมีธรรม ที่ท่านผู้ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักต้องบำเพ็ญให้ครบ บริบูรณ์เต็มที่ 30 ถ้วนพอดี ฉะนั้น จึงเรียกเป็นศัพท์ว่า พระสมติงสบารมี ด้วยประการฉะนี้
     
  3. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    อานิสงค์พระบารมี

    มีข้อที่ควรทราบไว้อย่างหนึ่ง ก็คือว่า นับตั้งแต่ได้ทรงก่อสร้างพระกฤษฎาภินิหารมา จนกระทั่งได้ลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสำนักแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเป็น พระนิตยโพธิสัตว์ ผู้เที่ยงแท้ที่จะตรัสพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณในอนาคตกาล ในขณะที่ทรงก่อสร้างอบรมบ่มพระบารมีอยู่ ต้องทรงสังสรณาการท่องเที่ยวเวียนว่ายตามเกิดอยู่ในวัฏสงสารนับด้วยแสน โกฏิชาติ เป็นประมาณหรือมากยิ่งกว่านั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ผู้เที่ยงที่จะได้บรรลุพระโพธิญาณทั้งหลายย่อมได้รับอานิสงค์แห่งพระบารมี ที่บำเพ็ญอยู่เรื่อยๆ รวมเป็น 18 ประการ คือ

    1. เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมไม่เกิดเป็นคนจักษุบอดมาแต่กำเนิด
    2. ไม่เป็นคนหูหนวกแต่กำเนิด
    3. ไม่เป็นคนบ้า
    4. ไม่เป็นคนใบ้
    5. ไม่เป็นคนง่อยเปลี้ย
    6. ไม่เกิดในมิลักขประเทศ คือ ประเทศป่าเถื่อน
    7. ไม่เกิดในท้องนางทาสี
    8. ไม่เป็นนิตยมิจฉาทิฐิ
    9. ไม่เป็นสตรีเพศ
    10. ไม่ทำอนันตริยกรรม
    11. ไม่เป็นโรคเรื้อน
    12. เมื่อเกิดในกำเนิดสัตว์เดียรฉาน ย่อมเป็นสัตว์อยู่ในประเภทที่มีกายไม่เล็กกว่านกกระจาบและไม่ใหญ่กว่าช้าง
    13. ไม่เกิดในกำเนิดขุปปิปาสิกเปรต นิชณานตัณหิกเปรต และกาลกัญจิกาสุรกาย
    14. ไม่เกิดในอเวจีมหานรก และโลกันตนรก
    15. เมื่อเกิดเป็นเทวดาในกามาพจรสวรรค์ ก็ไม่เกิดเป็นเทวดาผู้นับเข้าในเทวดาจำพวกเป็นมาร
    16. เมื่อเกิดเป็นองค์พระพรหม ณ รูปาพจรพรหมโลกก็ไม่เกิดในปัญจสุทธาวาสพรหมโลก และอสัญญสัตตาภูมิพรหม
    17. ไม่เกิดเป็นอรูปพรหม
    18. ไม่ไปเกิดในจักรวาลอื่น

    สิริ รวมเป็นอานิสงค์บารมี 18 ประการ ที่ท่านผู้ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระบรมโลกุตมาจารย์จักต้องได้รับอย่างแน่ นอน ในขณะที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารเพื่ออบรมบ่มพระบารมีญาณ อนึ่ง ในขณะที่อบรมบ่มพระบารมีญาณอยู่นั้น พระนิตยโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้ที่จะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหากคราว ใด ท่านได้มีโอกาสมาบังเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ย่อมมีใจผ่องแผ้วยินดีในการที่จะบรรพชา และบำเพ็ญประพฤติในพระจริยามีญาตัตถจริยาความประพฤติเป็นประโยชน์แก่หมู่ ญาติเป็นอาทิอยู่เนืองนิตย์ ทั้งสู้อุทิศชีวิตของพระองค์ทั้งหมดทั้งสิ้นให้หมดไปด้วยการสั่งสมอบรมพระ บารมี 30 ซึ่งมีทานบารมีเป็นต้น และมีอุเบกขาปรมัตถบารมีเป็นปริโยสาน จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่ง ที่พวกเราชาวพุทธบริษัททั้งหลายผู้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาในชาตินี้ จักมีใจยินดีเลื่อมใส ในพระคุณอันเป็นอนันต์แห่งองค์สมเด็จพระภควันต์จอมมุนี
     
  4. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    อธิมุตกาลกิริยา

    กาลเมื่อสมเด็จพระนิตยโพธิสัตว์ ยังต้องท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารเพื่ออบรมบ่มพระบารมีญาณอยู่นั้น ครั้นว่าพระองค์ได้ไปอุบัติเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ ณ เบื้องสวรรค์เทวโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง เช่น สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นต้น ซึ่งมีอายุยืนนานกว่ามนุษยโลกมากมายนักแล้ว องค์พระโพธิสัตว์เจ้าจะได้หลงเพลิดเพลินเสวยทิพยสมบัติเป็นสุขอยู่ในสวรรค์ เทวโลกจนตราบเท่าสิ้นอายุแห่งเทพยดานั้นก็หามิได้ เพราะว่าแท้จริงสันดานแห่งพระนิตยบรมโพธิสัตว์ผู้เที่ยงที่จักได้ตรัสเป็น องค์สมเด็จพระพุทธเจ้านั้นกอปรด้วยพระมหากรุณาแก่เหล่าประชาสัตว์เป็นอันมาก ยิ่งกว่าการที่จะรักตนเอง สันดานที่รักตนเองเห็นประโยชน์ชีวิตตนเองนั้นเบาบางนักหนา

    ฉะนั้น คราเมื่อพระองค์เสวยทิพยสมบัติเป็นสุขอยู่พอควรแก่กาลแล้ว ย่อมจะพิจารณาเห็นว่า เทวโลกมิได้เป็นที่อันเหมาะสมที่จะก่อสร้างอบรมบ่มพระบารมีเพื่อพระ ปรมาภิเษกสัมโพธิญาณเหมือนเช่นมนุษยโลก ครั้นทรงพิจารณาเห็นเช่นนี้แล้ว องค์พระนิตยโพธิสัตว์เจ้าก็มีพระทัยเฝ้าเบื่อหน่ายในการที่จะอยู่ในสวรรค์ เทวโลก ให้อึดอัดรำคาญเป็นกำลัง คราวครั้งหนึ่งจึงเสด็จเข้าในทิพยวิมานแต่ลำพังพระองค์เดียว แล้วก็ทรงกระทำอธิมุตตกาลกิริยา คือ หลับพระเนตรทั้งสองลงและอธิษฐานว่า

    อิโต อุทฺธํ เม ชีวิตํ นปฺปวตฺตตุ
    ชีวิตของเรานี้ จงอย่าได้ประพฤติสืบต่อไป เบื้องหน้าแต่นี้

    เมื่อ พระองค์อธิษฐานในพระทัยฉะนี้แล้ว ด้วยอำนาจกำลังอธิษฐานพระนิตยโพธิสัตว์เจ้าพระองค์นั้น ก็ปวัตตนาการจุติจากสวรรค์เทวโลกในฉับพลันนั้นเอง เสด็จลงมาอุบัติเกิดในมนุษยโลกเรานี้ เพื่อที่จักได้มีโอกาสเสริมสร้างอบรมบ่มพระบารมีให้ภิญโญภาพยิ่งขึ้นไป ในกรณีที่พระองค์นิตยโพธิสัตว์เจ้าทรงอธิษฐานในพระทัยแล้ว และจุติจากสวรรค์ลงมาบังเกิดในมนุษยโลก ซึ่งเรียกว่า อธิมุตตกาลกิริยานี้นับเป็นกรณีพิเศษอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏมีแก่ท่านผู้มนัสมั่นมุ่งหมายพระโพธิญาณ ด้วยว่าบรรดาสัตว์โลกผู้ยังเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ถึงแม้จะมีมหิทธาศักดานุภาพสักเพียงไหนเป็นเทพบุตรอินทร์พรหมอื่นใดก็ดี ก็มิอาจที่จะกระทำอธิมุตตกาลนี้ได้ง่ายๆ ซึ่งผู้ที่สามารถจะกระทำการพิเศษ คือ อธิมุตตกาลกิริยานี้ได้ง่ายดายตามใจปรารถนาก็มีแต่เฉพาะพระนิตยโพธิสัตว์ผู้ เที่ยงจักได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูจอมมุนีเท่านั้น

    การที่ สมเด็จพระนิตยบรมโพธิสัตว์สามารถที่จะกระทำอธิมุตตกาลกิริยาเป็นกรณีพิเศษ ได้โดยง่ายนี้ ก็เพราะพระองค์สั่งท่านทรงมีสันดานพิเศษ เหตุว่าพระบารมีธรรมทั้งปวงที่พระองค์สั่งสมมาแล้วนั้น มีปริมาณมากมายนักหนา ถึงซึ่งความแก่กล้าบริบูรณ์เป็นอุกฤษฐ์ พระอธิษฐานบารมีจึงกล้าหาญเป็นอัศจรรย์ เมื่อพระองค์ท่านจะอธิษฐานสิ่งไร ในขณะที่เป็นเทพยบุตรโพธิสัตว์นี้ก็ได้สำเร็จทุกสิ่งทุกประการและสมเด็จนิตย โพธิสัตว์นี้ ย่อมมีความชำนาญในการอธิษฐานยิ่งนัก หากจะเปรียบก็อุปมาดุจจิตรกรนายช่างเขียนผู้มีฝีมือเอกซึ่งชำนาญในการที่จะ วาดเขียน เมื่อช่างเขียนนั้นปรารถนาที่จะเขียนสิ่งใดก็อาจจะเขียนสิ่งนั้นได้สำเร็จ ดังมโนรถความปรารถนา มิได้ข้องขัดเพราะเหตุนี้ พระนิตยโพธิสัตว์จึงสามารถจะกระทำอธิมุตตกาลกิริยาได้ ด้วยอำนาจพระอธิษฐานบารมี เพื่อที่จะลงมาบังเกิดในมนุษยโลกนี้ แล้วขวนขวายก่อสร้างอบรมบ่มพระโพธิญาณสืบต่อไป
     
  5. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    พุทธอุบัติ

    เมื่อสมเด็จพระนิตยโพธิสัตว์เจ้า ได้บำเพ็ญพระบารมีจนถ้วนบริบูรณ์ครบกำหนดกาลเวลาตามประเภทแห่งสมเด็จพระ สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 3 ประเภทแล้ว บัดนี้ก็ถึงกาลสำคัญที่สุด คือ ถึงวาระที่จักเสด็จมาอุบัติตรัสแก่ปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ และจักได้รับการเฉลิมพระนามว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงมุ่งมาด ปรารถนามานานนักหนาเสียทีและเมื่อพระบรมโพธิสัตว์ผู้มีวาสนาบารมีแก่สุกรอบ แล้ว จักได้มีโอกาสตรัสเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ท่านย่อมจุติลงมาอุบัติตรัสเป็นองค์สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธเจ้าใน มนุษยโลกเรานี้เท่านั้น

    ในกรณีนี้หากจะมีปัญหาว่า เพราะเหตุดังฤา พระนิตยโพธิสัตว์เจ้าจำเพาะเจาะจงเสด็จลงมาอุบัติเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าแต่ เฉพาะในมนุษยโลกเรานี้เท่านั้น จะไปอุบัติบังเกิดในโลกดีอื่นๆ เช่น บนสรวงสวรรค์เทวโลกมิได้ หรือประการใด

    คำวิสัชชนาก็จะพึง มีว่า การที่สมเด็จพระนิตยโพธิสัตว์มิได้อุบัติตรัสเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้า ณ เบื้องสวรรค์เทวโลกนั้นก็เพราะเหตุว่า เทวโลกมิได้เป็นที่ตั้งแห่งศาสนพรหมจรรย์อันการที่จะบำเพ็ญศาสนพรหมจรรย์และ การบรรพชาอุปสมบทนี้ย่อมเหมาะสมที่จะมีอยู่แต่ในโลกมนุษย์นี้เท่านั้นและได้ มีในสวรรค์เทวโลกก็หามิได้

    อีกประการหนึ่งนั้น ครั้นว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบังเกิดเป็นเทวดาแล้ว ถ้าพระองค์จะแสดงพุทธานุภาพอันประกอบไปด้วยพระอิทธิฤทธิ์มีประการต่างๆ มนุษย์ทั้งหลายผู้มักเป็นคนช่างความคิดก็จะไม่เชื่อฤทธิ์พระพุทธานุภาพ มักให้มีความคิดเห็นไปตามประสาโง่แห่งตนว่าการที่พระองค์แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้นั้นก็เพราะพระพุทธองค์ท่านทรงเป็นเทวดา ซึ่งประกอบไปด้วยเทวานุภาพเป็นอันมาก หากจะทรงอ้างว่าเป็นพระพุทธานุภาพก็มีเทวานุภาพเจือปนอยู่ นี่หากพระองค์เป็นมนุษย์แล้ว ไหนเลยจะทรงแสดงพระพุทธานุภาพอันเชี่ยวชาญให้สำเร็จกิจอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ดังที่เห็นได้ เมื่อคิดไขว้เขวไปเสียเช่นนี้ ก็จะเป็นเหตุให้ลดหย่อนความเลื่อมใสในพระพุทธานุภาพตลอดจนไม่สนใจในศาสนธรรม คำสอนอังทรงไว้ซึ่งคุณค่าสูงสุด อนึ่ง หากสมเด็จพระพุทธองค์ทรงเป็นเทวดาแล้วไซร้ ถ้าจะใช้ความเป็นเทวดา สำแดงเทวานุภาพให้ปรากฏ มนุษย์ทั้งหลายก็จักเข้าใจผิดอีกได้เช่นเดียวกัน คือ เขาเหล่านั้นจะพากันคิดว่าเทวานุภาพนั้นเจือปนไปด้วยพระพุทธานุภาพ ได้พระพุทธานุภาพอุดหนุนเป็นกำลัง เทวานุภาพจึงเชี่ยวชาญให้สำเร็จอิทธิปาฏิหาริย์ทั้งปวงได้ แต่เทวานุภาพสิ่งเดียว ไหนเลยจะให้สำเร็จอิทธิปาฏิหาริย์ได้เมื่อมนุษย์ทั้งหลายเข้าใจไขว้เขวอย่าง นี้แล้ว อารมณ์แห่งมนุษย์นั้นก็จะเป็นสอง จะมิได้เชื่อถือในพระพุทธานุภาพและเทวานุภาพที่สมเด็จพระพุทธเจ้า และไม่ปฏิบัติตาม เมื่อไม่มีการปฏิบัติแล้ว ปฏิเสธความได้บรรลุธรรมวิเศษคือ มรรคผลนิพพาน อันเป็นจุดมุ่งหมายที่พระองค์ทรงตั้งไว้นานนักหนาจักสำเร็จลงได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระนิตยโพธิสัตว์เจ้าผู้มีพุทธบารมี จึงไม่เสด็จอุบัติตรัสเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าที่โลกอื่นๆ เช่น พรหมโลกลและเทวโลก เป็นต้น อันเป็นโลกคับแคบไม่ควรการที่จะแสดงซึ่งพระพุทธานุภาพ แต่จำเพาะเจาะจงเสด็จลงมาอุบัติตรัสในมนุษย์โลกอันเหมาะสมแก่การแสดงพระพุ ทธานุภาพให้ปรากฏได้เต็มที่ เช่นนี้เป็นธรรมประเพณีของนิตยโพธิสัตว์เจ้าทุกพระองค์สืบมาแต่ปางบรรพ์
     
  6. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    อสุญกัป

    ครั้นเมื่อมนุษย์โลกเรานี้ได้มีโอกาสต้อน รับการเสด็จมาอุบัติขึ้นแห่งองค์สมเด็จพระนิตยบรมโพธิสัตว์ผู้ตรัสเป็น พระเอกองค์พระจอมมุนีชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าคราวใด คราวนั้นกาลเวลาย่อมถูกเรียกว่า อสุญกัป = กัปที่ไม่สูญเปล่า

    กล่าว ถึงตอนนี้ บางทีอาจจะมีบางท่านเกิดความสงสัยขึ้นมาในใจบ้างก็ได้ว่า เรื่องกัปนี้ ก็ว่ามาแล้วนี่ ยังไม่หมดอีกหรือ ยังจะมีอสุญกัปอะไรอีกเล่า เพื่อความเข้าใจในเรื่องนี้ขอให้ผู้มีปัญญาทั้งหลายพึงตั้งใจศึกษาอรรถ วรรณนา ดังต่อไปนี้

    กาลเวลาที่นับเป็นมหากัปและเป็นอสงไขย ที่ได้กล่าวไว้แต่ตอนต้นโน้นน่ะ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายย่อมจำได้เป็นอย่างดีแล้วมิใช่หรือว่าเป็นระยะเวลา ยาวนานเพียงใด ทีนี้ แต่ละมหากัปซึ่งกินเวลายาวนานเหล่านั้น ใช่ว่าจะมีสมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเรานี้ทุกๆ มหากัปไปก็หาไม่ โดยที่แท้บางมหากัปก็มีสมเด็จพระพุทธเจ้ามาตรัส แต่บางมหากัปก็ไม่มีเลย ทั้งนี้ก็เพราะว่า การที่จะหาวิสิฏฐิบุคคลกล่าวคือ บุคคลผู้ทรงคุณพิเศษ เป็นพระโพธิสัตว์เจ้าผู้มีพระกฤษฎานิภิหารอันสำเร็จแล้ว มาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าแต่ละองค์นั้นเป็นไปได้โดยยากยิ่งนักหนา กล่าวอีกทีว่า ไม่ค่อยจะมีพระนิตยโพธิสัตว์นั่นเอง ฉะนั้น เมื่อมีพระนิตยโพธิสัตว์เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเรานี้ในมหากัปใด มหากัปนั้นย่อมไม่สูญจากคุณวิเศษอันยิ่งใหญ่ คือ มรรคผลนิพพาน เพราะว่ามีสมเด็จพระบรมโลกุตมาจารย์มาทรงชี้แจงแสดงบอก และมหากัปนั้นก็เลยถูกเรียกว่า อสุญกัปไป เมื่อว่าโดยนัยนี้ จึงอาจจะแบ่งมหากัปเป็นประเภทใหญ่ๆ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายเป็น 2 ประเภท คือ

    ก. มหากัปใด ไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอุบัติตรัสในโลกนี้เลย แม้แต่สักพระองค์เดียว มหากัปนั้นมีชื่อเรียกว่า สุญกัป คือ เป็นกัปที่สูญจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สูญเปล่าจากมรรคผลนิพพาน มิใช่แต่เท่านั้น ในกาลที่เป็นสุญกัปนี้ยังสูญจากวิสิฏฐิบุคคลอื่นๆ อีกด้วย คือ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี สมเด็จพระจักรพรรดิราชก็ดี ย่อมไม่ปรากฏมีในสุญกัปนี้เลย นับว่าเป็นกัปที่สูญจากวิสิฏฐิบุคคลจริงๆ

    ข. มหากัปใด มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงมาอุบัติตรัสในโลก มหากัปนั้นมีชื่อเรียกว่า อสุญกัป คือ กัปที่ไม่สูญจากองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ไม่สูญเปล่าจากมรรคผลนิพพาน มิใช่แต่เท่านั้นด้วยว่า ในกาลที่เป็นอสุญกัปนี้ยังมีวิสิฏฐิบุคคลทั้งหลายอื่นปรากฏในโลกอีกด้วย คือ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิราชก็ดีย่อมปรากฏมีเฉพาะในกาลที่เป็นอสุญกัปนี่เท่า นั้น

    บรรดาอสุญกัป คือ กัปที่มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัตินี้ ยังมีชื่อเรียกตามจำนวนสมเด็จพระพุทธเจ้ามาตรัสอีก ดังต่อไปนี้

    1. สารกัป อสุญกัปใด มีสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้แต่เพียง 1 องค์ อสุญกัปนั้นเรียกชื่อว่า สารกัป

    2. มัณฑกัป อสุญกัปใด มีสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้แต่เพียง 2 องค์ อสุญกัปนั้นเรียกชื่อว่า มัณฑกัป

    3. วรกัป อสุญกัปใด มีสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้แต่เพียง 3 องค์ อสุญกัปนั้นเรียกชื่อว่า วรกัป

    4. สารมัณฑกัป อสุญกัปใด มีสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้แต่เพียง 4 องค์ อสุญกัปนั้นเรียกชื่อว่า สารมัณฑกัป

    5. ภัทรกัป อสุญกัปใด มีสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้แต่เพียง 5 องค์ อสุญกัปนั้นเรียกชื่อว่า ภัทรกัป

    ตาม ที่กล่าวมานี้ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ก็คงจะเห็นแล้วว่า อสุญกัป กัปสุดท้าย คือ ภัทรกัป นี้เป็นกัปที่ประเสริฐที่สุดเพราะมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอุบัติตรัส ในโลกเรานี้ถึง 5 พระองค์ นับว่าเป็นจำนวนมากที่สุด ไม่มีกัปใดที่จักมีองค์พระจอมมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติมากยิ่งขึ้น ไปกว่านี้อีกแล้ว และบรรดาประชาสัตว์ทั้งหลายซึ่งได้อุบัติเป็นมนุษย์หรือเทวดาในกัปนี้ ย่อมมีโอกาสที่จักได้พบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือมิฉะนั้น ก็ได้พบศาสนธรรมคำสั่งสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นระยะติดต่อ กันไปมากมายถึง 5 พระองค์ ด้วยเหตุนี้ เหล่าสัตว์โลก คือ มนุษย์และเทวดา อินทร์ พรหม ผู้มีจิตเป็นกุศลโสภณ ปฏิสนธิด้วยไตรเหตุ ประกอบไปด้วยบุญวาสนาบารมี ย่อมสามารถที่จะกระทำอาสวะกิเลสให้สูญสิ้นไปจากขันธสันดานแห่งตนโดยชุกชุม ในภัทรกัปนี้มากกว่ากัปอื่น เพราะค่าที่เป็นกัปที่ประเสริฐที่สุด เป็นกัปที่หาได้โดยยากยิ่ง นานแสนนาน จึงจักปรากฏมีในโลกเรานี้สักครั้งหนึ่ง ท่านจึงขนานนามอสุญกัปสุดท้ายนี้ว่า ภัทรกัป = กัปที่เจริญที่สุด
     
  7. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    พระเจ้า 5 พระองค์

    บัดนี้ มีความยินดียิ่งนัก ที่จักขอแจ้งให้พวกเราชาวพุทธบริษัทจงทราบทั่วกันว่า อสุญกัปที่พวกเราโผล่ขึ้นมาเกิดโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวล่วงหน้ามาก่อนเลยเวลา นี้นั้น มีชื่อเรียกว่า ภัทรกัป ซึ่งเป็นกัปที่เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุด และหาได้ยากในโลกเป็นที่สุดดังกล่าวมาแล้ว ไม่มีอสุญกัปใดที่ประเสริฐเลิศล้ำ ยิ่งกว่าอสุญกัปที่เราทั้งหลายกำลังเกิดเป็นคนเป็นมนุษย์อยู่อย่างเวลานี้ อีกแล้ว เพราะว่ามีสมเด็จพระจอมมุนีชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเรานี้ถึง 5 พระองค์

    1. สมเด็จพระกกุสันโธพุทธเจ้า
    2. สมเด็จพระโกนาคมโนพุทธเจ้า
    3. สมเด็จพระกัสสโปพุทธเจ้า
    4. สมเด็จพระศรีศายมุนโคตโมพุทธเจ้า คือ องค์สมเด็จพระบรมศาสดาแห่งเราท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธศาสนิกชนในขณะนี้นั่นเอง และต่อจากนี้ไป เมื่อศาสนาของพระพุทธองค์ท่านที่พวกเราชาวพุทธศาสนิกบริษัทกำลังประพฤติ ปฏิบัติด้วยศรัทธาเคารพเลื่อมใสกันอยู่ทุกวันนี้ เสื่อมสูญอันตรธานไปหมดสิ้นแล้ว โลกเรานี้ ก็จักว่างจากบวรพุทธศาสนาเป็นโลกมืดบอดจากมรรคผลนิพพานไปอีกนานนักหนา แล้ววาระหนึ่ง จึงจักถึงกาลอันตรกัปที่ 13 (ในปัจจุบันทุกวันนี้กำลังอยู่ในอันตรกัปที่ 12) ก็ในอันตรกัปที่ 13 นั้น สมเด็จพระนิตยโพธิสัตว์เจ้า ซึ่งมีพระนามว่า พระศรีอริยเมตไตรยเทพบุตรโพธิสัตว์ ซึ่งขณะนี้กำลังสถิตเสวยสุขอยู ณ เบื้องสวรรค์เทวโลกชั้นดุสิต จักเสด็จมาอุบัติตรัสเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นองค์สุดท้ายในภัทรกัปนี้ ทรงพระนามว่า
    5. พระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้า

    สิริรวมเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาอุบัติตรัสในภัทรกัปนี้ถึง 5 พระองค์ ด้วยประการฉะนี้

    ที นี้ หันมาพิจารณาถึงตัวเราท่านนี้บ้าง บรรดาเราท่านทุกผู้ทุกคนผู้กำลังโชคดี เพราะเกิดมาเป็นมนุษย์ในโลกนี้ ในขณะที่เป็นภัทรกัปซึ่งเป็นกัปที่ประเสริฐสุด มีผู้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยชุกชุมมากมายในกัปนี้แล้ว ก็จงอย่าได้มีความประมาท จงอย่าทำตนให้แคล้วคลาดจากอมตสมบัติ คือ มรรคผลนิพพานเสียเลย จงพยายามแสวงประโยชน์จากความมีโชคดีในครั้งนี้จงได้ ด้วยการรีบปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์เจ้า เพื่อเอามรรคผลนิพพานมาเป็นสมบัติของตนให้จงได้ ถ้าจะถามต่อไปว่าจะปฏิบัติอย่างไรกันเล่า จึงจักเข้าถึงซึ่งมรรคผลนิพพานอันเป็นการดำเนินตามรอยพระบาทพระอริยเจ้าทั้ง หลาย

    เมื่อจะวิสัชชนากันอย่างตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อมพูดมากให้เสียเวลา ก็ต้องตอบดังนี้ว่า การที่จะนำตนให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานอันประเสริฐสุดนั้น ต้องกระทำกุศลกรรมขั้นอุกฤษฐ์ คือ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งพระอริยมรรค พระอริยผล บังเกิดขึ้นในสันดานแห่งตนนั้นแหละ จึงจะรู้จักมรรคผลนิพพานได้ลิ้มรสอมตธรรม เมื่อทำได้เช่นนี้จึงจะได้ชื่อว่าไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธ ศาสนา ที่กล่าวมานี้ต้องการจะชี้ให้เห็นว่าจุดประเสริฐสุดแห่งการได้พบพระพุทธ ศาสนาในภัทรกัปนี้อยู่ตรงนี้ คือ ตรงที่ได้ลิ้มรสอมตธรรมนี่เอง ทีนี้ ถ้าหากผู้ใดไม่ต้องการอมตธรรมแล้ว ต่อให้มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดตรงหน้าเขาสักหมื่นแสนพระองค์ ก็ดี ก็ไม่มีความหมาย คือ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย
     
  8. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    ทรงเป็นเอก

    ได้พรรณนาได้แล้วว่า เมื่อถึงโอกาสอันสมควร เพราะวาสนาบารมีครบควรแก่การที่จะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว สมเด็จพระนิตยโพธิสัตว์เจ้า ย่อมเสด็จมาอุบัติตรัสเป็นเอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศสัจธรรมนำสัตว์ผู้ปฏิบัติตามให้พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร ทรงเป็นเอกอัครบรมศาสดาจารย์ผู้ยอดเยี่ยมไม่มีใครเทียมเสมอสอง ทรงเป็นเอกในโลกจริงๆ แม้แต่เวลาที่ทรงอุบัติ ก็ทรงอุบัติได้คราวละพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่เสด็จอุบัติพร้อมกันคราวละ 2 – 3 พระองค์เลยเป็นอันขาด ถึงแม้จะตรัสในกัปเดียวหลายพระองค์ก็ตาม ถึงกระนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์หลังก็ทรงรอให้ศาสนาสมเด็จพระพุทธเจ้าองค์เก่า หมดสิ้นเสื่อมสูญอันตรธานไปเสียก่อน แล้วจึงจักเสด็จมาตรัสต่อไป

    ใน กรณีนี้หากมีปัญหาว่าเหตุไฉน สมเด็จพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงไม่ตรัสในโลกนี้พร้อมกันเล่า เพราะว่าสมเด็จพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น จะตรัสพระสัทธรรมเทศนาใดก็ดี หรือจะทรงบัญญัติพระวินัยสิกขาบทใดก็ดี ย่อมเป็นเหมือนๆ กันหมด จะได้ผิดแผกแยกให้ต่างกัน แม้แต่บทเดียวก็หามิได้ ถ้าแม้สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าผู้ทรงคุณใหญ่ จะได้ตรัสขึ้นในโลกพร้อมกันแม้ไม่มากแต่เพียง 2 พระองค์แล้วโลกเรานี้ก็ยิ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปนักหนา ด้วยมีสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ถึง 2 พระองค์ จะได้ช่วยกันทรงเทศนา โปรดฝูงมนุษย์ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ เป็นอันมาก พระพุทธศาสนาก็จักแพร่ไพศาลถึงความรุ่งเรืองภิญโญภาพยิ่งๆ ขึ้นไปมิใช่หรือ

    หาก จักสงสัยเช่นนี้ คำวิสัชชนาก็จะมีว่า อันโลกธาตุเรานี้มีปกติจำเพาะจงทรงไว้ ซึ่งพระคุณแห่งสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แต่เพียงพระองค์เดียว เท่านั้น ถ้าว่าสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าจักเสด็จมาตรัสพร้อมกัน 2 พระองค์แล้วโลกธาตุนี้ก็มิอาจจะทรงไว้ซึ่งพระพุทธคุณอันมากมายก่ายกองไว้ได้ ก็จะถึงความหวั่นไหวสะท้านสะเทือนและถึงความฉิบหายไร้ประโยชน์ยิ่งนัก ถ้าจักให้กล่าวเป็นอุปมาโวหารก็มีคำที่ท่านพรรณนาไว้ ดังต่อไปนี้

    นาวา เล็กลำเดียว มีปกติจุแต่บุรุษเดียวเท่านั้น จึงจะข้ามแม่น้ำแล่นไปได้ ทีนี้ ยังมีบุรุษอีกผู้หนึ่ง ซึ่งมีรูปร่างกำยำลำสันใหญ่โตพอๆ กันกับบุรุษผู้เป็นเจ้าของเรือนั้นมาขอโดยสารข้ามฟากจะขอนั่งลงในนาวานั้น เป็น 2 คนด้วยกัน อย่างนี้นาวาน้อยลำนั้นจะบรรทุกคนทั้งสองให้ข้ามไปถึงฝั่งได้อย่างไรกัน เพราะเหตุว่าแต่เพียงบุรุษเจ้าของเรือคนเดียวนั่งลงก็เพียบเต็มอยู่แล้ว หากยังมีบุรุษล่ำสันเท่ากันมาโดยสารอีกเล่า แต่พอนั่งลง นาวานั้นย่อมมิอาจจะทรงตัวไว้ได้ ก็จะล่มลงเป็นมั่นคงเที่ยงแท้ในกระแสคงคา อุปมาข้อนี้ฉันใด โลกธาตุก็เป็นเช่นนั้น คือ มีปกติทรงไว้ได้ซึ่งพระคุณแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียวเท่า นั้น ครั้นจะมีสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติขึ้นพร้อมกันอีกพระองค์ หนึ่งเล่า ก็เข้าถึงภาวะที่ไร้ประโยชน์และกลับจะเป็นโทษตามอุปมาที่แสดงให้เห็นอย่าง ชัดเจนนั้น

    อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้ซึ่งบริโภคอาหารอิ่มท้องเต็มแปล้ตลอดคอหอยสุดที่จักรับ ประทานได้แล้ว ยังจะขืนให้บริโภคอาหารเข้าไปใหม่ให้มีปริมาณเท่ากับที่บริโภคเข้าไปนั้นอีก เล่า อย่างนี้ก็น่าที่บุรุษนั้นก็จักต้องได้รับทุกขเวทนาให้มีอันเป็นจุกราก อาเจียนต่างๆ ไม่มีความสุขสบายเป็นแน่แท้อุปมาข้อนี้ฉันใด โลกธาตุนี้ทรงไว้ซึ่งพระคุณแห่งสมเด็จพระสรรเพชรบรมโลกนาถแต่เพียงพระองค์ เดียวก็เต็มหนักอยู่แล้วหากจะมีสมเด็จพระจอมมุนีศาสดาจารย์มาตรัสขึ้นพร้อม กันอีกพระองค์เล่าก็จะปั่นป่วนหวั่นไหวทรุดเซไป มิอาจจะต้านทานพระคุณไว้ได้เข้าถึงภาวะที่เปล่าประโยชน์และกลับจะเป็นโทษไป เสียด้วยซ้ำ

    อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่งซึ่งเอาสัมภาระสิ่งของบรรทุกลงในเกวียน 2 เล่มให้เต็มเสมอเรือนแล้วกลับจะขนสัมภาระอันหนักลงจากเกวียนเล่มหนึ่ง เอาไปบรรทุกในเกวียนเล่มเดียวกัน อย่างนี้ เกวียนเล่มนั้นจะทนทานได้อย่างไรกันเล่า เพราะว่าตามปกติก็บรรทุกไว้จนเต็มที่อยู่แล้ว ยังจะเอามาบรรทุกซ้ำเข้าอีกเท่าหนึ่งเล่าเช่นนี้ก็น่าที่จะเกิดเหตุเป็นแม่น มั่น คือว่ากงกำเกวียนนั้นก็จะต้องทำลายฉิบหายลง มิฉะนั้น เพลาเกวียนก็จะหักสะบั้นไปอย่างไม่ต้องสงสัย อุปมาข้อนี้ฉันใด โลกธาตุแผ่นพสุธาอันกว้างใหญ่นี้ก็เป็นเช่นนั้น จำเพาะจะทรงไว้ได้ซึ่งพระคุณแห่งสมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์แต่เพียงพระองค์เดียว เท่านั้น หากมีสมเด็จพระภควันต์เสด็จมาตรัสพร้อมกันเป็นสองพระองค์แล้วไซร้ก็มิอาจจะ ทนทานได้ น่าที่จะวิการไปเป็นเหมือนเกวียนบรรทุกสิ่งของเกินอัตราเป็นแม่นมั่น

    อนึ่ง ที่นับว่าสำคัญในกรณีนี้ ก็คือว่า หากสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้าจักเสด็จมาตรัสในโลกนี้พร้อมกันเป็น 2 พระองค์แล้วทรงช่วยกันประกาศพระบวรพุทธศาสนา ทรงช่วยกันแสดงพระสัทธรรมเทศนาโปรดสัตว์ทั้งหลาย มนุษย์หญิงชายทั้งปวงก็จะแตกต่างออกเป็น 2 ฝ่าย แล้วต่างก็จะถือเอาแต่วิวาททุ่มเถียงซึ่งกันและกันไปตามประสาทิฐิแห่งมนุษย์ ว่า
    “สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา”
    และว่า
    “สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกท่าน”

    เมื่อ พุทธบริษัทต่างพากันถือเอาทิฐิเป็นสองฝ่ายสองพวกไปเสียเช่นนี้ พระโอวาทานุสาสนีอันล้ำค่าก็น่าที่จะไม่ได้ผลเสียเต็มเม็ดเต็มหน่วยเป็นแม่น มั่น การณ์ดีก็จะมีน้อยกว่าการเสีย เปรียบดุจเสนาบดีใหญ่ยิ่ง 2 คน ซึ่งเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมกษัตริยาธิราชเจ้าที่พระองค์ทรงแต่งตั้งไว้ต่างพระ เนตรพระกรรณให้ปรึกษาราชการ เหล่าบริวารทั้งหลายของเสนาบดีทั้งสองนั้น ย่อมถือกันแบ่งกันเป็น 2 พวกด้วยถ้อยคำว่า “เสนาบดีนั้นเป็นเจ้านายของพวกท่าน เสนาบดีนั้นเป็นเจ้านายของพวกเรา” เหล่าบริวารทั้งหลายเกิดมีทิฐิในน้ำใจแบ่งแยกแตกออกเป็น 2 ฝ่ายไปเสียเช่นนี้ ก็น่าที่จะไม่สามารถยังราชกิจแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้สำเร็จลงได้เต็ม เม็ดเต็มหน่วย อุปมาข้อนี้ฉันใด เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จมาอุบัติในโลกนี้ทีเดียวพร้อมกัน 2 พระองค์แล้ว ก็จะเป็นเหตุให้พุทธบริษัทถือทิฐิแบ่งแยกเป็นสงอพวกสองเหล่า เช่นอุปมาที่เล่ามาดุจกัน
    อีกประการหนึ่งสิ่งที่ว่าใหญ่โตบรรดามีในโลกธาตุนี้คือ
    มหาปฐพีอันกว้างใหญ่ย่อมมีอันเดียว จักได้เป็นสองก็หามิได้
    มหาสมุทรทะเลใหญ่ย่อมมีอันเดียว จักได้มีเป็นสองก็หามิได้
    สิเนรราชจอมภูผาเป็นพญาแห่งภูเขาทั้งปวงก็มีแต่หนึ่งซึ่งจะเป็นสองก็หามิได้
    สมเด็จ เจ้าผู้เป็นใหญ่ ณ เบื้องสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ก็ประเสริฐเป็นหนึ่งอยู่แต่พระองค์เดียว คือ องค์สมเด็จพระอัมรินทราธิราช ซึ่งสถิตเสวยสุขอยู่ในไพชยนตปราสาทพิมาน
    พญา มาราธิราชซึ่งสถิตอยู่ ณ เบื้องสวรรค์ชั้นสูงสุด คือ ปรมนิมิตสวัตตีเทวโลก ก็ประเสริฐเป็นหนึ่งอยู่แต่เพียงพระองค์เดียว จักได้มีผู้ใดเทียมเท่าก็หามิได้
    ท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่วิเศษ ณ เบื้องพรหมโลกแต่ละภพก็มีอำนาจเลิศเป็นใหญ่แต่ลำพังพระองค์เดียว
    เพราะ ฉะนั้น สมเด็จพระสัมพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐล้ำเลิศในไตรโลกจึงทรงเป็นเอกประเสริฐสุด อยู่แต่เพียงพระองค์เดียวและเมื่อมาตรัสก็ไม่มาตรัสพร้อมกันเป็นสองพระองค์ ในคราวเดียวกันเลย สภาพการณ์เช่นนี้เป็นธรรมประเพณีเที่ยงแท้แต่เดิมมา
    พรรณนา ในพระพุทธาธิการกล่าวถึงเรื่องอันเกี่ยวกับองค์สมเด็จพระจอมมุนีชินสีห์ สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย เห็นว่าเป็นการสมควรแล้ว จึงขอยุติลงเพียงแค่นี้ ต่อจากนี้ เพื่อความเข้าใจดี ขอเชิญท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายจงได้ติดตามประวัติการสร้างพระพุทธบารมีของ องค์สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้าแห่งเราทั้งหลายสืบต่อไป
     
  9. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    บทที่ 2 พระบารมีเริ่มแรก

    บัดนี้ จักพรรณนาถึงการสร้างพระบารมีเพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณของสมเด็จพระมิ่ง มงกุฎศากยมุนีโคดมบรมโลกนายก พระองค์ผู้ซึ่งเป็นพระบรมศาสดา ทรงมีพระมหากรุณาประกาศศาสนธรรมคำสั่งสอนให้พวกเราชาวพุทธเวไนยนิกรได้ ประพฤติปฏิบัติสืบๆ กันมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เพื่อเป็นการสดุดีสรรเสริญคุณแห่งพระองค์ เท่าที่สามารถจะประมวลนำมากล่าวไว้ในที่นี้ได้ ขอท่านสาธุชนทั้งหลายจนตั้งใจสดับตรับฟังด้วยเถิด เพื่อที่จะได้เกิดศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใสในองค์พระผู้มีพระภาค เจ้า โดยมาเข้าใจทราบชัดว่า สมเด็จพระบรมศาสดาของพวกเราทั้งหลายกว่าจะได้ตรัสรู้พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ นั้น พระองค์ท่านต้องทรงอุตสาหะพยายามสั่งสมปมพระบารมีมาเป็นเวลานาน และยากลำบากนักหนาเพียงไร
    สมเด็จพระสรรเพชญ์ศรีศากยมุนีโคดม บรมครูเจ้าของเรานี้ พระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกะ คือ ทรงยิ่งด้วยพระปัญญา ฉะนั้น จึงปรากฏว่าพระองค์ทรงสร้างพระบารมีเพื่อพระพุทธภูมิได้ยิ่งยวดรวดเร็ว นักหนา เร็วยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าประเภทอื่นทั้งหมด นับตั้งแต่เริ่มปรารถนาพระพุทธภูมิจนกระทั่งได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แม้จะรวดเร็วกว่าพระพุทธเจ้าประเภทอื่น ถึงกระนั้น พระองค์ก็ต้องทรงก็ต้องทรงใช้เวลาสร้างพระบารมีถึง 20 อสงไขย กับ 1 แสนมหากัปพอดี ในบทนี้ จะกล่าวถึงตอนเริ่มแรกทรงสร้างพระบารมี คือ ตอนทรงปรารถนาพระพุทธภูมิได้แต่ดำริในพระหฤทัยมิได้ออกโอษฐเป็นวาจานับเวลา นานถึง 7 อสงไขย ดังต่อไปนี้
     
  10. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    พรหมรำพึง

    กาลครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าโลกธาตุพระบวรพุทธศาสนา คือ ไม่มีองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัทพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเรานี้ เป็นเวลานับได้นานนักหนาถึง 1 อสงไขย เมื่อไม่มีพระพุทธศาสนา โลกธาตุก็ย่อมจะว่างเว้นจากการได้บรรลุมรรคผลธรรมวิเศษเป็นธรรมดา เพราะว่าธรรมพิเศษคือพระอริยมรรคอริยผลอันเป็นโลกุตรธรรมนั้น จักมีได้ก็แต่เฉพาะภายในพระพุทธศาสนาเท่านั้นไม่มีศาสนาลัทธิอื่นเป็นอันขาด ก็ในกาลครั้งนั้น จึงบรรดาเทพยเจ้าทั้งหลายผู้ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกบริษัทแลได้บรรลุผลธรรมวิเศษ คือ เป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน พระสกิทาคามีมาแต่ศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อน เทพยเจ้าพระอริยบุคคลเหล่านั้นต่างก็พากันอนุโยคพยายามประกอบความเพียร บำเพ็ญกรรมฐานในเทวโลกที่ตนสถิตอยู่ จนได้บรรลุถึงมรรคผลเบื้องบนสำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคล แล้วจึงจุติขึ้นไปอุบัติเกิดเป็นพระพรหมอนาคามี ณ พรหมโลกชั้นสุทธาวาสทั้งห้า คือ อวิหาพรหมโลก และอกนิฏฐพรหมโลก องค์ใดจะไปอุบัติเกิดในปัญจสุทธาวาสพรหมเทวโลกชั้นไหนนั้น ก็สุดแต่วาสนาบารมีที่ตนอบรมให้แก่กล้าในอินทรีย์ไหน
    เมื่อ เทพยดาเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นไปอุบัติเกิดเป็นพรหมอนาคามีแล้วก็ย่อมเจริญ กรรมฐานต่อไปจนกระทั่งได้บรรลุมรรคผลขั้นสูงสุด คือ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ดับขันธ์ปรินิพพาน ณ พรหมโลกนั้นเอง อันนี้เป็นกฎธรรมดาของพระพรหมอนาคามีทั่วไปที่ไม่ต้องกลับมาเกิดในโลกไหนๆ อีก เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่พระอมตนิพพานไปทีละองค์สอง องค์เช่นนี้ พระพรหมอนาคามีก็เหลือน้อยลงทุกที เพราะผู้ที่จะมาอุบัติเกิดใหม่ก็ไม่มี โดยที่โลกธาตุนี้ว่างจากพระพุทธศาสนา จึงไม่มีพระอนาคามีบุคคลผู้ทรงคุณพิเศษมาอุบัติเกิดดังกล่าวแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านสุทธาวาสมหาพรหมอนาคามีได้ทอดทัศนาเห็นมหาพรหมที่เหลืออยู่น้อยนักหนา ทั้งยังจะต้องได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์สู่ปรินิพพานในวันหน้าอีก เล่า ท่านมหาพรหมเหล่านั้นจึงได้รำพึงปรึกษากันไปว่า
    “ดูรา เราท่านผู้นิรทุกข์เอ๋ย กาลบัดนี้ บรรดามหาพรหมในชั้นปัญจสุทธาวาสเรานี้ น้อยลงๆ นักหนาแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าในโลกธาตุว่างเว้นจากพระพุทธศาสนา กาลที่ไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นแล ปรากฏเป็นอันมากมายกว่ากาลที่มีพระพุทธเจ้าเป็นไหนๆ ฉะนั้น หมู่พระพรหมสุทธาวาสเรานี้ จึงค่อยน้อยไปๆ” เมื่อได้รำพึงปรึกษากันไปดังนี้ ต่างก็มีกมลหฤทัยบังเกิดความสังเวช แลคิดจะแก้ไขเหตุการณ์ให้ดีขึ้น จึงทอดทัศนาเล็งแลดูไปทั่วจักรวาลแลอนันตจักรวาลน้อยใหญ่ ก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้าจักเสด็จมาอุบัติขึ้นในกาลใกล้ๆ นี้เลย จึงรำพึงปรึกษากันต่อไปว่า
    “อันธรรมดาองค์สมเด็จพระสรรเพชญ์ สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมอุบัติตรัสในมงคลจักรวาลนี้เท่านั้น เว้นจากมงคลจักรวาลโลกธาตุแล้ว จักมิได้ไปเสด็จตรัสในจักรวาลทั้งหลายอื่นเลย ก็แลใครผุ้ใดเล่าหนา จักเป็นผู้มีความพยายามใหญ่ หฤทัยมั่นคงแข็งกล้าอุตสาหพยายามบำเพ็ญกุศลพุทธการกธรรมเพื่อจักได้ตรัสรู้ พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณได้ จำเราทั้งหลายจักต้องคอยกันค้นคว้าแสวงหาดู”
    ครั้น สุทธาวาสมหาพรหมทั้งหลายปรึกษากันฉะนี้แล้วจึงค่อยสอดส่องหาดูทั่วทั้งหมู่ มนุษย์และเทวดา เพื่อจักหาบุคคลผู้มีกมลหฤทัยผูกพันมั่นคงกล้าหาญ เต็มไปด้วยอนุโยคพยายามอันยิ่งใหญ่ อาจประกอบกิจที่ตนมุ่งหวังให้สำเร็จได้โดยมิอาลัยถึงร่างกายแลชีวิต โดยประสงค์ว่า เมื่อพบผู้มีน้ำใจองอาจมั่นคงชนิดนี้แล้ว จักได้เข้าบันดาลดลจิตของผู้นั้นให้บังเกิดมีน้ำใจรักใคร่ในทางที่จะปรารถนา พระพุทธภูมิเพื่อตรัสรู้พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ในอนาคตกาลภายภาคหน้า
     
  11. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    มาณพหนุ่มผู้เข็ญใจ

    กาลครั้งนั้นยังมีมาณพหนุ่มผู้ ยากจนเข็ญใจคนหนึ่ง เมื่อถึงกาลชนมายุเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาจึงคิดจะปลูกฝังแต่งตั้งให้มีครอบครัวตามประเพณี แต่มาณพนั้นมิได้มีความปรารถนาด้วยประมาณตัวว่าตนเป็นคนยากจน ครั้นชนกชนนีรบเร้าเฝ้ารำพันปลอบ จึงตอบว่า
    “ข้าแต่พ่อแม่ทั้ง สอง ทุกวันนี้ทรัพย์สมบัติอันหนึ่งอันใดที่มีค่าในเรือนของเราก็มิได้มี เพราะว่าเราเป็นคนเข็ญใจ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงยังมิพอใจจะมีเหย้ามีเรือน เมื่อมาดาบิดาทั้งสองยังครองชีวิตอยู่ตราบใด ข้าพเจ้าก็จักอุปฐากบำรุงเลี้ยงไปตามประสายาก จนกว่าชีวิตข้าพเจ้าจะหาไม่” เมื่อให้คำตอบดังนี้แล้ว ก็ทำการงานเลี้ยงดูท่านทั้งสองเป็นนิตย์ ครั้นจำเนียรกาลนานมา ท่านบิดาก็ถึงแก่กรรมไปตามธรรมดาของสังขาร
    ตั้งแต่ นั้นมา มาณพหนุ่มก็มิได้มีความประมาท หมั่นระวังระไวเอาใจใส่อภิบาลมารดาด้วยความรัก เที่ยวแสวงหาหักไม้ในอรัญพอแก่ความต้องการแล้วก็มามาขายได้มูลค่าเท่าใดก็ จ่ายจัดเครื่องภัตตาหารได้แล้วก็นำมาอุปฐากบำรุงเลี้ยงมารดาเป็นกิจวัตรตลอด มาทุกวิวากาล
    วันหนึ่งมาณพหนุ่มผู้ยากไร้นั้น ครั้นเสร็จการเรือนแล้วก็เข้าไปสู่อรัญประเทศเข้าหาฟืนแลผักได้มากเหลือ กำลัง นำกลับมาในระหว่างทางก็ให้เหนื่อยกายกระหายหิวน้ำนัก จึงแวะเข้าอาศัยพักนั่งอยุ่ริมฝั่งน้ำใต้ต้นไทรใบดกหนาแห่งหนี่งใกล้ท่าเรือ สำเภา นึกในใจว่า จักเอนกายพอคลายเหนื่อยสักหน่อยจึงจะค่อยเดินทางกลับบ้านต่อไป แล้วก็เอนกายระงับหลับม่อยไปครู่หนึ่ง พอตื่นขึ้นมาเหลือบไปเห็นเรือสำเภาจึงเกิดความคิดอันบรรเจิดจ้าคำนึงไปว่า
    “อา บัดนี้ เรากำลังเป็นคนหนุ่มอยู่ในปฐมวัน มีกำลังกายอุดมดี จึงอาจแสวงหาผักฟืนอันเป็นงานหนักถึงเพียงนี้ได้ก็เมื่อกายแก่ชราล่วงกาลนาน ไปถอกกำลังแล้วก็ดี เราจักมีความสามารถประกอบการงานอันหนักอย่างที่กำลังกระทำอยู่ทุกวันนี้ได้ หรือ จำเราจะคิดขยับขยายหาทางประกอบอาชีพเสียใหม่เข้าไปหานายสำเภานั้นแล้วของาน ทำเพื่อนำค่าจ้างมาเลี้ยงดูมารดา เช่นนี้น่าจะเป็นการดี” ครั้นคิดดังนี้แล้วจึงผันผายเข้าไปหาพ่อค้าผู้ใหญ่นายสำเภา แล้วกล่าวขึ้นว่า
    “ข้าแต่นาน กาลบัดนี้ ข้าพเจ้าซึ่งมีความยากจนเข็ญใจนัก จึงเซซังสู่สำนักท่านด้วยหวังใจว่า ถ้าท่านอนุเคราะห์ข้าพเจ้าได้ ข้าพเจ้าก็จักขอทำงานอยู่กับท่านด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อไป”
    ฝ่าย นายสำเภาผู้ใหญ่ ครั้นได้ฟังวาจาของมาณพหนุ่มมาอ้อนวอนของานทำเช่นนั้นก็พลันให้เกิดความ สงสาร กอปรทั้งได้เห็นรูปร่างของมาณพหนุ่มดูอุดมไพบูลย์ไปด้วยกำลังกายอาจทำงาน ต่างๆ ได้โดยง่าย จึงตกลงใจอนุเคราะห์เร่งรับคำโดยเร็วว่า
    “เออ พ่อนี้ร่างกายก็ดี ทั้งมีปัญญาพูดจาก็คมสันสมควรอยู่ มาเถิดเราจักรับอนุเคราะห์ จะต้องการค่าจ้างเท่าไร เราจักให้ตามต้องการอีกทั้งเสบียงอาหาร เมื่อต้องการก็จงเอาไปก่อนเถิด เราจะรับเลี้ยงเจ้าไปตายเท่าวันมรณะ เจ้าอย่าได้คิดรังเกียจเลย”
    มาณพ หนุ่มคนเข็ญใจ เมื่อได้รับอนุเคราะห์เช่นนั้นก็มีจิตยินดีนักหนา กล่าวคำอำลาแล้วเดินนึกสรรเสริญคุณนายเรือสำเภาพ่อค้าใหญ่ไปพลาง จนมาถึงร่มไทรที่พัก เพื่อจะนำผักและฟืนไปขายเสียก่อนก็กลับวิตกไปอีกว่า
    “หาก เราจะไปต่างประเทศกับพวกพ่อค้าพานิชในเรือสำเภา มารดาเราอยู่ข้างหลังใครจักอภิบาลบำรุงเลี้ยงดูเล่า เรานี้น่าจะเป็นคนคิดผิดเสียในครั้งนี้กระมังหนอ แต่จะอย่างไรก็ตามจำเราจะต้องไต่ถามบอกความแก่มารดาดูเสียก่อน แล้วจึงจะค่อยผ่อนผันตามสมควรในภายหลัง” คิดดังนี้แล้วก็ยกภาระอันหนักนั้นขึ้นใส่บ่าไปขาย ได้มูลค่าแล้วก็จับจ่ายภัตตาหารกลับมาสู่เรือน ประกอบสรรพกิจที่เคยทำมา ครั้นมารดาบริโภคอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าไปกราบกรานเล่าเรื่องที่ตนคิดจะไปทำงานกับพวกพานิชย์ยังต่างประเทศ ให้ฟัง
    ฝ่ายชนนีของมาณพหนุ่มนั้น ครั้นได้ฟังวาจาของปิยบุตรสุดที่รักบอกว่าจักใคร่ไปทำงานเพื่อหวังความก้าว หน้า จะกล่าวห้ามปรามเสียก็ไม่สมควร จึงกล่าวว่า
    “ดูกรพ่อผู้ ปิยบุตร ทุกวันนี้ชีวิตแม่ย่อมเนื่องอยู่กับเจ้าผู้เป็นลูกรัก เพราะฉะนั้นเจ้าจะไปที่ไหนก็จงไปตามใจเถิดแต่ว่าขอให้แม่นี้ได้ไปกับเจ้าได้ อยู่ใกล้ๆ เจ้าเสมอก็แล้วกัน”
    มาณพหนุ่มได้ฟังดังนั้นก็มีความยินดีกึ่งวิตก จึงรีบลามารดาไปที่ท่าเรือสำเภา เข้าไปหานายพานิชผู้ใจดีแล้วแจ้งความว่า
    “ข้า แต่ท่านผู้มีจิตกรุณา บัดนี้การที่ข้าพเจ้าจะทำงานในเรือไปกับท่านยังต่างประเทศนั้น ข้าพเจ้าจะไปแต่ตัวคนเดียวหาได้ไม่ ถ้าท่านมีความกรุณา ขอจงอนุญาตให้ข้าพเจ้าพามารดาไปด้วยเถิด แท้จริงมารดาของข้าพเจ้านั้นเป็นคนชราอนาถาหาที่พึ่งมิได้ บุตรธิดาคณาญาติผู้ใดใครผู้หนึ่งนอกจากข้าพเจ้าแล้วที่จะบำรุงอุปัฏฐากเป็น ไม่มีเลย ข้าพเจ้าจึงไม่อาจสละทิ้งมารดาทิ้งมารดาได้แค่เดียวดายได้”
    ฝ่ายนายสำเภาได้ฟัง ก็ยิ่งมีจิตกรุณานักหนา จึงตอบเป็นทีมธุรวาทีว่า
    “ดูกร พ่อผู้เจริญ เออ พ่อนี้ก็เป็นคนดีมีกตัญญูรู้คุณอุตส่าห์ชุบเลี้ยงมารดาอยู่ด้วยหรือ เออดีแล้ว จงพามารดาไปด้วยเถิด เราจะรับอุปการะทั้งสิ้นโดยสุจริตใจ เพราะรักใคร่ในน้ำใจจริงๆ อย่าวิตกกังวลไปเลย”
    มาณพก็มีจิต โสมนัสยินดี อัญชลีกรกล่าวขอบคุณนายพานิช แล้วรีบมายังเรือนของตน แจ้งความแก่มารดาให้ทราบแล้วก็เลือกเก็บทรัพย์สมบัติอันไม่ค่อยจะมีค่านัก รวบรวมได้ห่อหนึ่ง แล้วจึงพามารดาของตนสู่สำนักของนายสำเภา ครั้นได้เวลาเรือออกจากท่าจะไปยังต่างประเทศแล้ว นายสำเภาผู้มีใจกรุณาก็มอบหมายหน้าที่ให้นายมาณพหนุ่มนั้นทำตามกำลังความ สามารถ มาณพนั้นก็มิได้ประมาทอุตสาหะประกอบกิจทุกประการเป็นอันดี
    เมื่อ เรือสำเภาแล่นไปในมหาสมุทรทะเลใหญ่ประมาณได้ 7 วัน สำเภานั้นต้องลมพายุใหญ่เหลือกำลังก็เลยถึงซึ่งความอัปปางทำลายล่มจมลงใน ท้องมหาสมุทร บรรดามนุษย์พานิชนิกรทั้งหลายรวมทั้งนายสำเภาผู้ใจดีก็สิ้นชีวิตถึงแก่มรณา เป็นภักษาแห่งเต่าปลาทั้งหลายในมหาสมุทรนั้น
    ฝ่ายมาณพหนุ่ม เมื่อพบประสบการณ์อันร้ายแรงเช่นนั้นก็ตั้งสติมั่นจัดแจงแต่งตัวให้ทะมัด ทะแมงเป็นอันดี พอได้ทีก็โลดโผนโจนออกไปจากเรือที่กำลังอัปปางเพื่อรักษาชีวิตแห่งตนไว้ ครั้นแล้วรำลึกได้ถึงมารดาจึงเหลียวหลังกลับมาแลดู ก็บังเอิญให้เห็นมารดายังไม่ตาย ยังเหนี่ยวต้นไม้หักห้อยตัวอยู่จึงดีใจนักหนา ว่ายน้ำกลับมารับมารดาให้นั่งเหนือคอของตนแล้วก็พาว่ายน้ำไปในมหาสมุทร แม้ว่าจะแลเห็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่สุดวิสัยไม่เห็นฟากฝั่งจะข้ามไปให้รอด ชีวิตได้ ถึงกระนั้นก็มิได้ย่อท้อถอยความเพียรเสีย แม้จะเพลียแสนเพลียเหน็ดเหนื่อยนักหนา ก็สู้อุตสาหะอดทนต่อต้านทานกำลังน้ำเชี่ยวเค็มเต็มไปด้วยคลื่น ด้วยน้ำใจเด็ดเดี่ยวมากไปด้วยความพยายามอดทนเป็นยิ่งนัก เพื่อที่จักนำมารดาไปให้รอดชีวิตให้จงได้
    กล่าวฝ่ายท้าว สุทธาวาสมหาพรหมอนาคามี ซึ่งสถิตอยู่ ณ ชั้นอกนิฎฐภพพรหมโลกโพ้น เพื่อคอยแลเล็งเพ่งดูหมู่สัตว์ประสงค์จะเลือกคัดจัดสรรผู้มีหฤทัยองอาจเต็ม ไปด้วยอุตสาหะใหญ่ใจกล้าสามารถที่จะกระทำพุทธการกธรรมได้ คราวนั้นทอดทัศนาลงมาเห็นมาณพผู้กำลังแบกมารดาว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทร จึงดำริว่า “โอ บุรุษนี้เป็นมหาบุรุษโดยแท้ ดูรึ ไม่เอื้อเฟื้อย่นย่อต่อมหาสมุทรอันสุดลึกซึ้งกว้างไกล สู้อดทนพยายามว่ายน้ำ เพื่อพามารดาให้ข้ามพ้นบรรลุถึงฝั่งก็บุคคลผู้มีใจพยายามมั่นคงเต็มไปด้วย อุตสาหะใหญ่เห็นปานนี้ จึงควรนับว่าเป็นผู้สามารถเพื่อที่จะบำเพ็ญพุทธการกธรรมให้สำเร็จลุล่วงไป ได้” เมื่อท้าวมหาพรหมผู้วิเศษคำนึงฉะนี้แล้ว ก็เข้าดลจิตให้มาณพหนุ่มนั้นปณิธานปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิ
    เวลา นั้น มาณพหนุ่มผู้ซึ่งมีน้ำใจเด็ดเดี่ยวอดทนเป็นมหาบุรุษ เมื่อแบกมารดาว่ายอยู่ในหมู่คลื่นอันมีกำลังกล้าซัดซ่ามาปะทะประหารจึงให้ เกิดอาการอ่อนเพลียเหน็ดเหนื่อยนักหนา ก็จมลงไปในมหาสมุทรหน่อยหนึ่งแล้วก็โผล่ขึ้นมาอีก ในเวลานาทีอันเลวร้ายใกล้มรณะ ด้วยเดชะอำนาจแห่งนำหฤทัยที่ท้าวมหาพรหมผู้วิเศษให้นึกนั้น ก็บังเกิดความคิดขึ้นมาว่า
    “ถ้าตัวเราถึงแก่ชีวิตพินาศขาดสูญ ลงไปในท้องมหาสมุทรทะเลใหญ่พร้อมกับมารดา ณ กาลบัดนี้ ขอกุศลที่เราแบกมารดาว่ายน้ำในมหาสมุทรด้วยความเหน็ดเหนื่อยนักหนานี้ จงเป็นปัจจัยให้ถึงซึ่งพระโพธิญาณ ขอเราพึงอาจนำสัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายในวัฏสงสารให้ข้ามพ้นลุถึงฝั่งโน้น คือ อมตมหานิพพาน”
    ครั้นคิดดังนี้แล้ว มาณพหนุ่มนั้นก็ตั้งปณิธานซ้ำลงไปอีกว่า
    “เมื่อ เราเปลื้องตนออกพ้นจากวัฏสงสารแล้ว ขอเราพึงนำสัตว์ทั้งหลายให้เปลื้องตนพ้นจากวัฏสงสารด้วยเถิด อนึ่ง เมื่อเราข้ามจากวัฏสงสารได้แล้วขอให้เราพึงนำสัตว์ทั้งหลาย ข้ามพ้นจากวัฏสงสารได้ด้วยเถิด”
    เมื่อนึกปณิธานดังนี้แล้ว ก็ให้เกิดอัศจรรย์ พละกำลังที่จวนจะหมดสิ้น ก็พลันเกิดมีขึ้นมาอีกด้วยกำลังแห่งพรหมอนุเคราะห์ มาณพหนุ่มนั้นจึงอุตสาหะแบกมารดาว่ายน้ำข้ามมหาสมุทร สองสามวันก็บรรลุถึงฝั่ง พอพามารดาขึ้นฝั่งได้แล้ว ก็เข้าไปอาศัยบ้านแห่งหนึ่งอยู่ ทำงานเลี้ยงชีวิตด้วยความยากจนสืบไป ครั้นถึงแก่กาลกิริยาสิ้นชีวิต กุศลก็ส่งให้ได้ขึ้นไปอุบัติเกิดในสวรรค์สุคติภูมิ
    ชีวประวัติ ของมาณพหนุ่มเข็ญใจนี้ แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาดั้งเดิมเริ่มแรก เพื่อต้องการพระพุทธภูมิขององค์สมเด็จพระสรรเพชญ์มิ่งมกุฏศรีศากยมุนีโคดม บรมครูเจ้าแห่งเราทั้งหลาย คือ พระองค์เริ่มตั้งปณิธานความปรารถนาครั้งแรก ตั้งแต่ปางเมื่อเสวยพระชาติเป็นมาณพหนุ่มแบกมารดาว่ายข้ามมหาสมุทรที่เล่ามา นี้ แล้วต่อจากนั้น พระองค์ท่านก็มีหฤทัยมั่นคงตั้งความปรารถนาในทุกๆ ชาติที่เกิดเริ่อยมาไม่เปลี่ยนแปลงก็เป็นอันแสดงว่า พระองค์ทรงเริ่มเป็นพระโพธิสัตว์ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา เพราะทรงปรารถนาพระพุทธภูมิหรือพุทธภาวะซึ่งเป็นคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ฉะนั้นต่อแต่นี้ไป จะเรียกคำแทนชื่อพระองค์ว่า พระโพธิสัตว์ ในพระชาติต่างๆ ที่จะนำมาเล่าต่อไปนี้เป็นส่วนเล็กน้อยที่พระองค์เกิดเท่านั้น อย่าพลันเข้าใจว่าพระองค์เกิดเพียงไม่กี่ชาติเท่าที่เล่ามานี้เป็นอันขาด ความจริง พระองค์เกิดเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมีมากมายจนนับพระชาติไม่ถ้วน ไม่สามารถจะประมวลมาให้สิ้นสุดลงได้ จะยกย่องเอาแต่บางพระชาติมาเล่าไว้ในที่นี้เท่านั้น เมื่อได้ทำความเข้าใจเป็นอันดีเช่นนี้แล้ว ก็จะขอเล่าเรื่องการสร้างพระบารมีของสมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป
     
  12. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    สัตตุตาปะราชา

    หลังจากที่ได้ตั้งปรารถนาพระพุทธ ภูมิ ในพระชาติที่เป็นมาณพผู้ยากจนเข็ญใจเป็นประเดิมเริ่มแรกแล้ว พระโพธิสัตว์เจ้าก็ท่องเที่ยวเสวยสุขอยู่ ณ สวรรค์เทวโลกอยู่นานแสนนานแล้วจึงจุติจากเทวโลกลงมาบังเกิดในขัตติยตระกูล ณ พระนครที่ปรากฏนามว่าสิริบดีนคร เมื่อมีพระชนมพรรษาทรงเจริญแล้ว สมเด็จพระชนกธิราชเสด็จทิวงคตล่วงลับไป พระองค์จึงได้เสวยมไหศูรยสมบัติ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าสัตตุตาปนราธิราช มรพระบรมเดชานุภาพเป็นอันมาก ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชนโดยทศพิธราชธรรม ก็สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้านั้น ทรงมีพระหฤทัยรักใคร่ในหัตถีพาหนะ คือ ช้างเป็นอย่างยิ่งพระองค์ทรงได้สดับว่ามีมงคลคชสารอยู่ ณ ประเทศที่ใดแล้ว ก็ทรงพระอุตสาหะเสด็จไปประดับแรมอยู่ ณ ประเทศนั้น จนกว่าจะจับมงคลคชสารได้ จึงจะเสด็จกลับนำมาสู่พระนคร แล้วทรงมอบให้นายหัตถาจารย์ผู้วิเศษชำนาญเวทย์ฝึกสอนต่อไป
    สมัย นั้น ที่แขวงเมืองสิรบดี มีพรานไพรพเนจรผู้หนึ่งซึ่งเป็นคนเจนจัดสันทัดเที่ยวไปในทางเถื่อนทุรประเทศ วันหนึ่ง เขาสัญจรไปในอรัญราวป่าเพื่อแสวงหาเนื้อ เมื่อมิได้ประสบพบพามหมู่มฤคแลฟานโดยที่สุด แม้แต่สัตว์เดียรฉานสักตัวเดียวพอที่จะล่าได้ ก้ไม่อาจกลับบ้านได้ด้วยมือเปล่าตามวิสัยพราน จึงลดเลี้ยวเที่ยวไปในป่าลึกจนล่วงหนทางที่เคยเที่ยวไปของมนุษย์ ก็บังเอิญไปพบมงคลคชสารสารสีเสวตผู้ผ่องพรรณงามด้วยงวงวาปรากฏขาวราวขนทราย จามรี ท่องเที่ยวอยู่ที่ถิ่นสถานชานสระโบกขรณีแห่งหนึ่ง แล้วจึงคิดรำพึงว่า
    “แต่ อาตมาเที่ยวป่ามาช้านาน นับเดือนและปีก็ได้มากแล้ว ยังไม่เคยพบมงคลหัตถีเช่นนี้เลย ก็คราวนี้ตั้งแต่ออกจากบ้านมา เราไม่ได้ประสบเนื้อถึกมฤคี แม้แต่หมี เม่น กระต่าย ฟานทราย นกกระทา ตัวใดตัวหนึ่งก็มิได้พบพาน จึงได้ล่วงดงกันดารมาถึงสถานที่นี้ บุตรภริยาเราก็จักไม่ได้สิ่งใดเลี้ยงชีวิตอย่ากระนั้นเลย เราจะนำเอาข่าวพญาคชสารสีเศวตนี้เข้าไปเป็นบรรณการกราบทูลให้สมเด็จพระเจ้า อยู่หัวของเราทรงทราบ น่าที่จะได้ทรัพย์ข้าวของรางวัลสืบชีวิตได้”
    ครั้น คิดสำเร็จตกลงใจดังนี้แล้ว ตะแกก็ตั้งจิตกำหนดแนวพนารัญสิขรินทรบรรพตให้ถนัดแน่ แล้วก็กลับมาในเมืองเข้าไปหยุดอยู่แทบพระทวารพระราชวังแล้ว จึงบอกความนั้นให้ท่านข้างในนำไปกราบทูลสมเด็จพระบรมกษัตริย์ เพื่อทรงทราบเนื้อความ ครั้นสมเด็จพระเจ้าสัตตุตาปะบรมโพธิสัตว์ทรงทราบความแล้ว ก็พระราชทานทรัพย์เป็นรางวัลแก่พรานไพรเป็นอันมาก แล้วมีรับสั่งให้ตระเตรียมพลพาหนะเสด็จออกจากพระนคร ให้พรานนั้นเป็นมรรคนายกนำทาง เสด็จมาตามระหว่างเขาไม้ไพรพนมโดยลำดับ จนบรรลุถึงประเทศที่นั้น
    ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นมงคลคชสารก็ ทรงโสมนัสดำรัสสั่งให้แวดล้อมด้วยคชพาหนะคชาธารเป็นอันมาก ก็ทรงจับพญาคชสารนั้นได้โดยไม่ยาก แล้วนำมาพระนครดำรัสสั่งให้หานายหัตถาจารย์ผู้ฝึกช้างเข้ามา เมื่อพระราชทานรางวัลแล้วจึงมีราชโองการว่า
    “ดูกรพ่อ หัตถาจารย์ ในระหว่างกาล 7 – 8 วันนี้ ท่านจงเร่งฝึกสอนมงคลคชสารที่เราจับมาจากป่าให้มีมารยาทเป็นอันดี เราจะเล่นนักขัตฤกษ์มหรสพด้วยมงคลหัตถีเศวตอั้นประเสริฐตัวนี้”
    ฝ่าย นายหัตถาจารย์รับพระราชโองการแล้วก็เข้าทำการฝึกสอนคชสารให้สำเหนียกโดยให้ โอสถ และให้หญ้าเป็นอาหาร เพราะความที่ตนเป็นผู้ชำนาญในการฝึกช้างเป็นอย่างเยี่ยม ทั้งรอบรู้ในคชวิชาเป็นอย่างดี ต่อมาไม่ช้าล่วงมาได้ 3 วัน พญาคชสารประเสริฐตัวนั้นก้เป็นอันถูกฝึกสอนทรมานเป็นอันดีแล้วจึงมาถวายได้ ตามกำหนด ครั้นพอถึงวันนักขัตฤกษ์สมเด็จพระบรมกษัตริย์ จึงสั่งให้ประดับมงคลคชสารนั้น ด้วยมงคลหัสดาภรณ์พิเศษ ซึ่งล้วนแล้วด้วยแก้วแลทองกุก่องตระการเสร็จแล้ว ก็เสด็จทรงมงคลคชสารนั้นออกด้วยจตุรงคนิกรเสนาโยธาหารราชบริวารเป็นอิสสริ ยยศใหญ่ยิ่ง เพื่อจะทรงเล่นนักขัตฤกษ์ แล้วก็เลยเสด็จทำประทักษิณพระนคร คือ เลียบเมืองเป็นที่พระสำราญพระหฤทัย
    ก็ในเวลาราตรีที่ล่วง หน้า ได้มีฝูงโขลงช้างทั้งหลายมาแต่ราวป่าเข้าลุยเล่นในสวนพระราชอุทยาน ไล่หักรานพรรณพฤกษาที่ทรงผลพวงผกาบุปผาชาติใหญ่น้อยทั้งสิ้นให้แหลกย่อยยับ แล้ว มิหนำซ้ำยังถ่ายมูตรกรีสลงไว้ในที่นั้นเกลื่อนกลาดแล้วก็พากันหลีกไป ครั้นเวลารุ่งสางสว่างกาล นายอุทยานบาลเห็นอุทยานยับอยู่เช่นนั้น จึงด่วนพลันนำเอาเนื้อความเข้าไปเพื่อจะกราบทูล ในขณะที่สมเด็จพระบรมกษัตริย์เสด็จกลับจากประทักษิณพระนคร เมื่อถึงที่เฝ้าแล้วก็ยอกรประณมบังคมทูลว่า
    “ข้าแต่พระองค์ เมื่อเวลารัตติกาลนี้มีฝูงโขลงช้างมาแต่ไพร บุกเข้ามาลุยไล่หักรานพรรณพฤกษาในพระราชอุทยานแหลกเหลวสิ้นแล้วพระเจ้าข้า”
    สมเด็จ พระบรมกษัตริย์ได้ทรงสดับเช่นนั้น ก็ตรัสสั่งให้เดินขบวนด่วน เสด็จเลยออกไปเพื่อจะทรงทอดพระเนตรพระราชอุทยาน ครั้นถึงแล้วก็ทรงเที่ยวทอดพระเนตรดูไปจนทั่ว ในขณะนั้น พญามงคลคชาธารพระที่นั่งทรงประเสริฐตัวนั้นก็บังเอิญได้สูดดมกลิ่นแห่งนาง พังช้างตัวเมียทั้งหลาย ซึ่งยังมีกลิ่นติดอยู่ในที่นั้นๆ ก็เกิดความเมามัวขึ้นมาภายในด้วยอำนาจราคะดำกฤษณาให้เกิดความเสียวกระสัน จึงสลัดกายให้นายควาญท้ายตกลงแล้ว ก็คลุ้มคลั่งแทงสถานกำแพงอุทยานทะลายลง แล้วก็ลุยแล่นไปไม่หยุดยั้ง สมเด็จพระบรมกษัตริย์จึงทรงพระแสงขอคอเหนี่ยวเกี่ยวไว้ด้วยพละกำลังก็มิ สามารถจะให้พญาคชสารนั้นหมดความบ้าคลั่ง และรู้สึกตัวกลัวเจ็บได้พญามงคลคชสารใหญ่จึงพาพระองค์สละจาตุรงคนิกายน้อย ใหญ่ทั้งปวงไปโดยเร็ว ครั้นแล่นเข้ามาถึงอรัญราวไพรแล้วพระองค์ได้เสวยความลำบากบอบช้ำระกำพระองค์ แต่ก็จำต้องทรงพระทรมานมากับพญาหัตถี ทรงหมดพระปัญญาที่จะหยุดยั้งไว้ได้ ครั้นยิ่งแล่นไปนานนักหนา สมเด็จพระราชาก็ให้เกิดมีอันเป็นทรงพระมึนงง มิอาจที่จะทรงกำหนดทิศานุทิศได้ จึงทรงวินิจนึกในพระหฤทัยว่า “ถ้าเราจักไม่ปล่อยพญาช้างที่กำลังบ้าคลั่งตัวนี้เสียแล้ว เกลือกว่าไปประสบได้ประสานสัปยุทธกับช้างอื่นก็น่าที่จะทำให้อาตมาแตกกาย ทำลายชีวิตเสียเป็นแน่แท้อย่ากระนั้นเลย จำเราจะสละพญาหัตถีนี้เสียก่อนเถิด” มีพระสติดังนี้แล้ว จึงทอดพระเนตรสังเกตดูริมหมู่ไม้ริมทางจร ครั้นถึงไม้อุทุมพรคือ มะเดื่อใหญ่ต้นหนึ่ง มีกิ่งทิ้งทอดห้องลง พระองค์จึงโน้มพระกายขึ้นเกาะบนกิ่งไม้อุทุมพรนั้นได้ แล้วปล่อยให้พญาหัตถีวิ่งเตลิดไปตามเรื่อง ส่วนพระองค์นั่งบนกิ่งไม้ให้ทรงหิวกระหายนักหนา จึงทรงเสวยผลมะเดื่อนั้นไปพลาง
    ข้างฝ่ายพวกพลนิกายก็มีใจเป็น ห่วงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของตนเป็นยิ่งนัก จึงพากันเร่งรีบตามรอยช้าง ล่วงทางมาได้ไกลนักหนาจนเข้ามาถึงป่าใหญ่ ครั้นยังไม่พบพระบรมกษัตริย์ก็กระทำอุโฆษประสานศัพท์สำเนียงบันลือลั่นสนั่น มา สมเด็จพระราชาได้ทรงสดับ จึงทรงอุโฆษร้องรับ พวกพลนิกายได้ยินพระสุรเสียงก็พากันเข้าไปถึงจึงเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สถิตอยู่บนคบไม้มะเดื่อ ก็เชิญเสด็จรับพระองค์ลงมาจากคบพฤกษาแล้ว ก็ประโคมดุริยดนตรีเชิญองค์บรมนราธิบดีเสด็จกลับสู่พระนคร ครั้นประทับแท่นสีหอาสน์อันประเสริฐแล้ว จึงดำรัสสั่งให้หานายหัตถาจารย์เข้ามาเฝ้า แล้วตรัสถามว่า

    “ดูกร นายหัตถาจารย์ผู้เจริญ ตัวท่านนี้มีความผิด ด้วยประสงค์จะใคร่ฆ่าเราเสียมิใช่หรือ”
    นายหัตถาจารย์ผู้ฝึกช้าง จึงกกลับทูลสนองพระราชปุจฉาว่า
    “ข้า แต่พระราชาผู้ยิ่งใหญ่ เหตุไฉน พระองค์จึงดำรัสเหนือเกล้ากับข้าพระพุทธเจ้าฉะนี้ ก็พญามงคลราชหัตถีนั้นเกล้ากระหม่อมก็ได้ฝึกสอนด้วยดีเป็นอย่างยิ่ง พระเจ้าข้า”
    “ก็เหตุไฉน พญาช้างจึงอาละวาดวิ่งพาเราเข้าป่าไปให้ได้รับความลำบากแทบล้มประดาตายเป็น การสนุกอยู่เมื่อไร” พระราชาทรงถามด้วยความขุ่นพระทัย
    “พระ เจ้าข้า” นายหัตถาจารย์ทูลตอบ “ซึ่งพญาหัตถีให้มีอันเป็นวิปริตไปเช่นนั้น เป็นเพราะอำนาจความเร่าร้อนแห่งราคะกิเลส แม้ได้สมความต้องการของตนแล้ว ก็คงจะกลับมาดอก พระพุทธเจ้าข้า” เขาทูลอธิบายด้วยความเชี่ยวชาญมั่นใจในวิทยาการ
    “เออ ดีแล้ว” พระราชายังไม่หายขุ่นพระทัย “ถ้ากระนั้น จงยับยั้งอยู่ก่อน กว่ามงคลกุญชรนั้นจะกลับมา ถ้าพญามงคลหัตถีกลับมาก็เป็นบุญวาสนาของเจ้า ถ้าแม้นมิได้กลับมา ชีวิตของเจ้าก็จักมิได้มี” ดำรัสฉะนี้แล้ว ก็รับสั่งให้คุมตัวนายหัตถาจารย์ผู้วิเศษนั้นไว้ให้มั่นคงเพื่อรอการลงพระ ราชอาญา หากว่ามงคลหัตถีไม่กลับมาตามคำ
    ส่วนพญามงคลหัตถีตัว ประเสริฐนั้น ครั้นวิ่งคลุ้มคลั่งไปด้วยอำนาจราคะดำกฤษณาไปทันนางช้างเถื่อนในไพร สำเร็จมโนรถประสงค์ของตนแล้ว ก็รีบกลับมาในเมืองเข้าไปในที่ตนอยู่ เมื่อเวลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง นายหัตถาจารย์ตื่นขึ้นเห็นมงคลคชสารยืนอยู่ในโรงแล้ว รุ่งเช้าจึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลแด่สมเด็จพระราชา พระองค์ก็ทรงโสมนัสปรีดาหายโกรธเคือง รีบเสด็จลงมาจากปราสาทโดยด่วน ถึงโรงมงคลคชาธารทอดพระเนตรเห็นมงคลคชสารสีเศวต จึงเสด็จเข้าไปใกล้ยกพระกรขึ้นปรามาสลูบคลำท้องและงาพญาช้างแล้ว จึงมีพระดำรัสว่า
    “เออ ก็มงคลราชหัตถี ท่านสามารถฝึกสอนให้รู้ดีถึงเพียงนี้แล้ว เหตุไฉน เมื่อยามแล่นไปในวันนั้นเรากดเกี่ยวเหนี่ยวไว้โดยแรงด้วยพระแสงข้ออันคมยิ่ง ยังไม่สามารถที่จะห้ามได้ มันเป็นเพราะเหตุใดหนอ พ่อหัตถาจารย์”
    “พระ เจ้าข้า เหตุไฉน พระองค์จึงตรัสดังนี้เล่า” ท่านอาจารย์ช้างผู้ขมังเวทย์ได้ทีจึงรีบทูลตอบ “ขึ้นชื่อว่าราคะดำกฤษณานี้ ย่อมมีคมเฉียบแหลมยิ่ง เกินกว่าคมแห่งพระแสงขอนั้นไปร้อยพันทวี อนึ่ง ถ้าจะว่าข้างร้อนเล่า ขึ้นชื่อว่าร้อนแห่งเพลิงคือ ราคะดำกฤษณานี้ ย่อมร้อนรุ่มอยู่ในทรวงของสัตว์บุคคลอย่างเหลือร้อน ยิ่งกว่าความร้อนแห่งเพลิงตามปกติเป็นไหนๆ อนึ่ง ถ้าจะว่าไปข้างพิษเล่า ขึ้นชื่อว่าพิษคือ ราคะดำกฤษณานี้ ย่อมมีพิษซึมซาบฉุนเฉียวเรี่ยวราดรวดเร็วยิ่งเกินกว่าพิษแห่งจตุรพิธภุชงค์ คือ พิษพระยานาคทั้งสี่ชาติตระกูลเป็นไหนๆ เพราะเหตุฉะนั้น ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงไม่อาจเพื่อจะเกี่ยวกดพญามงคลราชหัตถี ซึ่งแล่นไปด้วยแรงแห่งราคะดำกฤษณานั้น ให้หยุดยั้งด้วยกำลังพระแสงขอได้ พระเจ้าข้า” นายหัตถาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทูลอธิบายอย่างยืดยาว
    “เออ ก็ไฉนพญาคชสารนี้ จึงกลับมาโดยลำพังใจตนเอง” พระเจ้าอยู่หัวทรงถามขึ้น หลังจากที่ทรงนิ่งฟังท่านอาจารย์ช้างอธิบายอยู่ นายหัตถาจารย์จึงทูลตอบว่า
    “พระ เจ้าข้า ข้อซึ่งพญาช้างไปแล้วและกลับมานั้น ใช่ว่าจะมาโดยใจตนก็หาไม่ โดยที่แท้ กลับมาด้วยกำลังอำนาจมนตรามหาโอสถของข้าพระพุทธเจ้าข้า”
    ได้ทรงสดับดังนั้น พระองค์จึงดำรัสว่า “ถ้ากระนั้นท่านจงแสดงกำลังมนต์และโอสถให้เราเห็นสักหน่อยเถิดเป็นไร”
    นาย หัตถาจารย์ผู้เรืองเวทย์ รับพระราชโองการแล้ว หวังจักสำแดงอำนาจมนต์ของตนให้ประจักษ์แก่สายตาชาวพระนคร จึงสั่งให้บริวารไปนำเอาก้อนเหล็กก้อนใหญ่มา แล้วให้ช่างทองเอาใส่เตาสูบ เผาด้วยเพลิงให้ก้อนเหล็นนั้นสุกแดงแล้ว จึงเอาคีมคีบหยิบออกจากเตา เรียกพญาช้างเข้ามาแล้วก็ร่ายมนต์มหาโอสถประเสริฐ พลางบังคับให้คชสารจับเอาก้อนเหล็กแดงนั้นด้วยคำกำชับสั่งว่า
    “ดูกร พญานาคินทร์ผู้ประเสริฐ ตัวท่านจงหยิบเอาก้อนเหล็กนั้นในกาลบัดนี้ แม้นเรายังไม่ได้บอกให้วาง ท่านจงอย่าได้วางเลยเป็นอันขาด”
    พญา คชสารตัวทรงพลัง ครั้นได้ฟังคำนายหัตถาจารย์สั่งบังคับก็ยื่นงวงมาจ้องจับเอาก้อนเหล็กซึ่ง ลุกเป็นไฟ แม้ว่าจะร้อนงวงเหลือหลาย จนงวงไหม้ลุกเป็นเปลวควันขึ้นก็ดี ก็ไม่อาจจะทิ้งก้อนเหล็กนั้นเสียได้ ด้วยกลัวต่อกำลังมนตราของนายหัตถาจารย์นั้นเป็นกำลัง สมเด็จพระบรมกษัตริย์ทอดพระเนตรเห็นงวงคชสารถูกเพลิงไหม้อยู่เช่นนั้น ก็เกรงพญาช้างจะถึงแก่กาลมรณะ จึงดำรัสสั่งให้นายหัตถาจารย์บอกให้พญาช้างสารทิ้งก้อนเหล็กนั้นเสียแล้ว ทรงหวนคิดถึงราคะดำกฤษณาของพญาช้างที่ยืนอยู่ตรงพระพักตร์พร้อมกับคำชัก อุปมาอธิบายของนายหัตถาจารย์เมื่อครู่นี้ ทรงรำพึงไป ก็ยิ่งทรงสังเวชในพระราชหฤทัยแสนทวี จึงทรงเปล่งออกซึ่งสังเวชวาทีว่า
    “โอ หนอ น่าสมเพชนักหนา ด้วยฝูงสัตว์มาติดต้องข้องขัดอยู่ด้วยราคะดำกฤษณาอันมีพิษพิลึกน่าสะพรึง กลัวร้ายกาจยิ่งนัก ราคะคือความกำหนัดนี้ย่อมมีอาทีนวโทษเป็นอันมาก ก็เพราะเพลิงราคะมีกำลังหยาบช้ากล้าแข็ง ร้อนรุ่มสมทรวงสัตว์ทั้งหลายอยู่อย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายจึงต้องถูกราคะกิเลสย่ำยีบีฑา นำทุกข์มาทุ่มถมให้จมอยู่ในอู่แอ่งอ่าวโลกโอฆสงสาร ไม่มีวันสิ้นสุดลงได้เพราะราคะกิเลสนี่แล สัตว์ทั้งหลายจึงต้องไปตกหมกไหม้อยู่ในมหานรกทั้งแปดขุม และสัตว์ทั้งหลายบางหมู่ต้องไปเกิดอยู่ในอุสสทนรกบริวารมีประมาณร้อยยี่สิบ แปดขุม อนึ่ง เพราะอาศัยราคะกิเลสนี้ สัตว์ทั้งหลายจึงต้องทนทุกขเวทนาอยู่ในเปตติวิสัยภูมิ และสัตว์ทั้งหลายบางหมู่ต้องไปเกิดอยู่ในกำเนิดเดียรฉาน สัตว์ทั้งหลายที่ต้องบ่ายหน้าไปสู่อบายภูมิ ก็เพราะอาศัยราคะดำกฤษณาเป็นประการสำคัญ ฉะนั้นจึงน่าสมเพชนัก”
    ครั้นทรงแสดงสังเวชวาทีฉะนี้แล้ว สมเด็จพระบรมกษัตริย์หน่อพระพุทธางกูร จึงตรัสแสดงอาทีนวโทษแห่งราคะดำกฤษณาต่อไปว่า
    “บรรดา สัตว์ทั้งหลายในโลกสันนิวาสนี้ เพราะอาศัยราคะดำกฤษณาย่อมเบียดเบียนบีฑาซึ่งกันและกัน เป็นต้นว่า บิดาย่อมเบียดเบียนบุตร บางทีฆ่าเสียก็มี
    บุตรย่อมเบียดเบียนบิดา บางทีฆ่าเสียก็มี
    บิดาย่อมเบียดเบียนธิดาตน เพราะร้อนรนด้วยราคะกฤษณาก็มี
    อนึ่ง ฝูงสัตว์ในโลกสันนิวาสนี้ เพราะร้อนด้วยราคะย่อมเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เป็นต้นว่า
    บุตรย่อมเบียดเบียนชนนี บางทีฆ่าเสียก็มี
    ชนนีย่อมเบียดเบียนบุตร บางทีฆ่าเสียก็มี
    บางทีพี่ชายมุ่งหมายปองร้าย ราวีตีรันฟันฆ่าน้องชายของตนให้ตายก็มี
    บางทีพี่หญิงย่อมบีฑาฆ่าตีน้องสาว ที่สืบกษิรมารดาเดียวกันมาก็มี
    บางทีหลานสาวบีฑาลุงตัวให้ตายก็มี
    บางทีลุงลุ่มหลงทัณฑกรรมบีฑาหลานสาวตนเองก็มี
    บางทีภัสดาย่อมบีฑาโบยรันฟันแทงภริยาตน ให้ถึงตายก็มี
    บาง ทีภริยาบีฑาฆ่าตีสามีตน ให้ถึงตายก็มี สัตว์ทั้งหลายเป็นเช่นนี้เพราะอาศัยความร้อนแห่งเพลิงราคะดำกฤษณามาบีฑาให้ ระทมตรมทุกข์ ถึงซึ่งความพินาศนานาประการ แม้แต่บุตรธิดา มารดาบิดา และภรรยาสามีที่แสนรักนักหนาแล้ว ยังเบียดเบียนฆ่าตีกันถึงเพียงนี้ จะป่วยกล่าวไปไย ถึงคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติเล่า ย่อมจะต้องเบียดเบียนบีฑากันเพราะอำนาจราคะกิเลสเป็นมูลฐานมากกว่ามากสุด ประมาณ
    อีกประการหนึ่ง ฝูงสัตว์ในโลกสันนิวาสนี้ เพราะอาศัยอำนาจราคะดำกฤษณา บางคราย่อมจ่ายทรัพย์สินไปในทางไร้ประโยชน์ บางทีย่อมเสื่อมจากยศและเกียรติคุณ บางทีย่อมประกอบกรรมทำสิ่งที่เป็นโทษ บางทีย่อมทำความสุขให้เสื่อมสิ้นทุกเมื่อและให้ใจเชือดเบือนเบื่อจากกุศล ห้ามทางข้างฝ่ายสุคติภพ บางทีให้ลุอำนาจแก่ความโลภและความโกรธ และให้เจริญโทษทุกภพทุกชาติที่เกิด ให้ถือกำเนิดในอบายภูมิทั้งสี่เพียงเท่านี้ก็หาไม่ ฝูงสัตว์ทั้งหลายในโลกสันนิวาสนี้ เพราะอาศัยอำนาจราคะดำกฤษณา บางคราย่อมทำตนให้พินาศจากศีลสมาทาน บางกาลย่อมทำตนให้เสื่อมจากฌานภาวนาสมาธิจิตเป็นนิจกาล ก็อันว่าความอากูลด้วยราคะกิเลส ย่อมเป็นเหตุให้เกิดอาทีนวโทษให้เสวยทุกข์มากกว่ามาก และเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายต้องเศร้าหมองมีประการต่างๆ อย่างพรรณนามาฉะนี้”
    สมเด็จพระนราธิบดีสัตตุตาประชา ตรัสแสดงอาทีนวโทษแห่งราคะดำกฤษณาอย่างมากมายดังนี้แล้ว จึงพระราชทานรางวัลแก่นายหัตถาจารย์เป็นอันมาก แล้วก็ทรงคำนึงในพระราชหฤทัยว่า สัตว์ทั้งหลายในโลกสันนิวาสนี้ จักพ้นจากอำนาจราคะดำกฤษณาอันเป็นทุกข์ภัยในวัฏฏะนี้ได้ด้วยประการใด แล้วจึงเห็นแท้แน่ในพระราชหฤทัยว่ารวมทั้งหลายอื่นนอกจาก พุทธกรณธรรม แล้ว ก็ไม่เห็นว่าสิ่งไรอื่นจะมี ที่จะเปลื้องตนไปให้พ้นจากวัฏฏะ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงหยั่งพระราชหฤทัยลงเที่ยง ถือเอาพระพุทธภูมิปณิธานว่า
    “เรา ได้ตรัสรู้ซึ่งพระโพธิญาณแล้ว ก็จักทำสัตว์ทั้งหลายให้รู้ด้วย เราพ้นแล้วจากทุกข์ในวัฏสงสารเมื่อใดก็จักทำสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ใน วัฏสงสารเมื่อนั้นด้วย”
    ครั้นทรงกระทำปณิธานปรารถนา เฉพาะพระพุทธภูมิในพระราชหฤทัยด้วยประการฉะนี้แล้ว ก็ทรงสละสิริราชสมบัติประหนึ่งว่าบุคคลสลัดเสียซึ่งก้อนข้าวอันคั่งค้างอยู่ ปลายลิ้นสิ้นเยื่อใยในฆราวาสวิสัย พระองค์แต่ผู้เดียวเที่ยวไปสู่ป่าหิมวันต์ประเทศ แล้วทรงเพศเป็นดาบส บำเพ็ญพรตปฏิบัติชอบอยู่ตราบเท่าพระชนมายุขัยแล้วก็ได้ขึ้นไปบังเกิดใน สวรรค์เทวโลกเสวยสุขอยู่สิ้นกาลนาน
    เรื่องในอดีตที่พรรณนามา นี้ มีข้อความประการหนึ่งซึ่งควรนำมากล่าวไว้ในที่นี้ด้วย เพื่อเป็นเครื่องช่วยให้เห็นการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอย่างแจ่มชัดก็ คือว่า
    องค์สมเด็จพระนราธิบดีสัตตุปะราชา กลับชาติมาก็คือองค์สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้า ของชาวเราพุทธบริษัททั้งหลาย
    พญา มงคลหัตถีกลับชาติมาในชาติสุดท้ายภายหลัง คือ พระมหากัสสปเถรเจ้าสังฆวุฒาจารย์ ซึ่งเป็นพระมหาเถระอรหันต์สำคัญที่สุดองค์หนึ่งในศาสนาของเรานี้
    นาย หัตถาจารย์ผู้ชำนาญเวทย์ กลับมาในชาติสุดท้ายภายหลัง จักได้ตรัสเป็นสมเด็จพระมิ่งมงกุฎศรีอริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจักมาตรัสในอนาคตกาล หลังจากศาสนาของสมเด็จพระศรีศากยมนีโคดมบรมครูเจ้าที่เราท่านทั้งหลายเคารพ นับถือกันอยู่ทุกวันนี้ เสื่อมคลายสลายสูญไปจากโลกนี้แล้ว คราวหนึ่ง พระองค์จักเสด็จไปที่ภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรตอันเป็นที่บรรจุศพของพระมหากัส สปเถรเจ้าแล้วพระองค์จักทรงยื่นพระหัตถ์เบื้องขวาช้อนเอาซากศพของพระสังฆ วุฒาจารย์อรหันต์กัสสปนั้นขึ้นชูฝ่าพระหัตถ์อันประกอบด้วยจักรลักษณะแล้วจะ มีพระพุทธฎีกาตรัสแก่พระอริยสงฆ์ทั้งหลายว่า
    “ดูกรเธอผู้เห็น ภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย เธอจงพากันมองดูซึ่งซากศพนี้ นี่คือศพของผู้เป็นพี่ชายของตถาคต ซึ่งเป็นสาวกผู้ใหญ่ในศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้า (สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรย เคยบวชเป็นพระภิกษุในสมัยพุทธกาลมีนามว่า อชิตภิกษุ เป็นภิกษุหนุ่มมีพรรษาน้อย ฉะนั้น พระองค์จึงทรงเรียพระมหากัสสปเถรเจ้าด้วยคำกล่าวออกนามว่า “พี่ชายของตนตถาคต” ในกาลครั้งนั้น) มีนามว่พระอริยกัสสปเถระ เป็นผู้ทรงคุณพิเศษถือธุดงควัตรจนตราบเท่าดับขันธปรินิพพาน”
    ทรง มีพระพุทธฎีกาตรัสแนะนำดังนี้แล้ว สมเด็จพระศรีเมตไตรยก็ทรงสรรเสริญคุณแห่งพระมหากัสสปเถรเจ้าอีกมากมายลึก ซึ้งนักหนา ต่อหน้าพระอริยสงฆ์ทั้งหลายเป็นอันมาก ในขณะนั้นเปลวอัคคีก็จะบันดาลมีเกิดขึ้นเองในซากอสุภของพระเถรเจ้า แล้วก็ค่อยลามเลียลุกไหม้ศพให้สิ้นซากปราศจากเถ้าถ่านอยู่ฝ่าพระหัตถ์ของ สมเด็จพระสรรเพชญ์ศรีอริยเมตไตรยเจ้า ในกาลครั้งนั้นเป็นอัศจรรย์
    บัด นี้ เพื่อป้องกันความไขว้เขวออกไปนอกเรื่องมากมายเกินไปจะได้กลับมากล่าวถึงการ สร้างพระบารมีเพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณขององค์สมเด็จพระบรมโลกุตตมาจารย์ ของเราทั้งหลาย ตั้งแต่ครั้งพระองค์ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์สืบต่อไป
     
  13. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    พระพรหมดาบส

    กาลครั้งหนึ่ง เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าจุติจากเทวโลกแล้วก็มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ มหาศาลมีพระนามว่า พรหมกุมาร ครั้นเจริญวัยวัฒนาการแล้ว ก็ได้ศึกษาจนสำเร็จในไตรเวทางค์ และได้เป็นอาจารย์ผู้บอกเวทย์แก่มาณพห้าร้อยคนผู้เป็นนักศึกษา ครั้นจำเนียรกาลนานมา เมื่อท่านมารดาบิดาทั้งสองล่วงลับไปแล้ว พรหมกุมารจึงเรียกมาณพทั้งหลายผู้เป็นศิษย์มาพร้อมหน้ากันแล้ว ก็เร่งบอกมนต์ซึ่งตนควรจะสอนให้เสร็จสิ้นแล้ว ได้จัดการแบ่งปันทรัพย์สมบัติของตนสิ้นทั้งเรือนนั้นให้แก่มาณพผู้เป็นศิษย์ ถ้วนทุกคนแล้วก็ให้โอกาสอนุสาสน์ และกล่าวคำอำลาเพื่อจะไปบรรพชาเป็นดาบส มิใยที่ศิษย์ทั้งหลายจะอาลัยไหว้วอนกล่าวห้ามด้วยความคารวะเป็นอันมากประการ ใด ก็มิได้เอื้อเฟื้ออาลัย สละฆราวาสวิสัยเที่ยวไปแต่พระองค์เดียว เข้าไปอาศัยบัณฑรบรรพต บรรพชาเป็นดาบส ปฏิบัติตนเลี้ยงชีพด้วยผลาผลเป็นอยู่เป็นสุขสืบมา
    ฝ่ายมาณพ ทั้งหลาย ผู้เป็นศิษย์ของพรหมดาบสนั้นครั้นมารดาบิดาของตนๆ ล่วงลับไปแล้ว ต่างก็พากันออกมาบวชเป็นดาบสอยู่กับพระโพธิสัตว์ทั้งนั้น ด้วยเหตุที่มีความรักเป็นกำลังมาแต่ปางก่อนพระโพธิสัตว์ก็สอนให้ประพฤติวัตร บำเพ็ญพรตตามแบบอย่างของดาบสโดยถ้วน อยู่ร่วมกันมาโดยผาสุกตามสมควร
    วัน หนึ่ง เมื่อดาบสทั้งหลายเที่ยวไปแสวงหาผลาผลยังมิได้กลับมา ท่านอาจารย์พรหมดาบสจึงเรียกศิษย์ผู้ใหญ่ซึ่งอยู่เฝ้ากุฏิใกล้ตนมาแล้ว ชวนกันขึ้นไปสู่บัณฑรภูผาเพื่อแสวงหาผลไม้ เมื่อเที่ยวไปในที่นั้นๆ ก็มิได้ผลไม้อันใดอันหนึ่งเลย จึงแลลงไปที่เชิงภูเขาก็ได้เห็นแม่เสือตัวหนึ่ง มีลูกอ่อนออกใหม่ได้ประมาณสองสามวัน แม่เสือตัวนั้นอดอาหารอยู่แลเขม้นดูลูกของตนด้วยจิตโหดร้าย คิดจะใคร่จับลูกของตนเองเคี้ยวกินเป็นภักษา พระพรหมดาบสแลเห็นอาการก็รู้ว่าแม่เสือจะกินลูกของตนเองแน่แล้ว จึงรำพึงในหฤทัยว่า
    “โอหนอ วัฏสงสารนี้ ควรที่จะพึงติเตียนโดยแท้ ดูรึแม่เสือตัวนี้คิดจะขบกัดเคี้ยวกินลูกที่เกิดแต่สายโลหิตตน เพื่อจะรักษาชีวิตแห่งตนไว้ถ่ายเดียว เช่นนี้ จึงควรที่เห็นว่าวัฏสงสารนี้เป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก” ครั้นรำพึงดังนั้นแล้วพระพรหมดาบสจึงใช้ดาบสศิษย์ผู้ใหญ่ซึ่งไปด้วยกันนั้น ว่า “ท่านจงรีบไปหาเนื้อเดนเสือหรือราชสีห์ตามข้างๆ ภูเขานี้ดูทีหรือ หากว่าจะมีอยู่บ้าง แม้นได้แล้วจงรีบนำมาโดยเร็ว เราจักให้แก่แม่เสือตัวนี้” ดาบสศิษย์ผู้ใหญ่รับคำแล้ว ก็รีบไปหาเดนมัสสะในที่ทั่วๆไป แต่ก็หามิได้
    ฝ่ายพระพรหมดาบสผู้โพธิสัตว์ เมื่อศิษย์ผู้ใหญ่ไปนานแล้ว และยังมิได้กลับมาจึงรำพึงในหฤทัยว่า
    “โอ ร่างกายนี้ เป็นของเปล่าปราศจากแก่นสารเป็นที่อาศัยแห่งชาติ ชรา พยาธิ มรณะ และมีโสกะความแห้งใจ ปริเทวะความร่ำไรรำพัน ทุกข์ยากลำบากกายไม่สบายใจโทมนัสขุ่นข้องหมองใจอุปายาสะความคับแค้นใจ อนึ่งกายนี้เป็นที่เกิดของกองทุกข์กับทั้งมีราคะกิเลสเป็นประดุจหัตถีที่ บ้างคลั่งเมามัน มีโมหะมืดมิดปิดธรรมเป็นประดุจดังผีเสื้อน้ำรักษาสระมีอุปนาหะความผูกโกรธ เป็นประดุจดังแว่นแคว้นเมืองมากด้วยคนพาล มีมักขะความลบหลู่คุณท่านเป็นประดุจที่อยู่ของกุมภัณฑ์ มีปลาสะความสำคัญวิปลาสเป็นประดุจดังนายทวารผู้มีสันดานดื่มไปด้วยอิสสาฤษยา มีทุจริตเป็นบริวารแวดล้อมไปด้วยโลภ มีนันทิภวราคะความกำหนัดยินดีในภพเป็นมหาโยธา มีมิจฉาทิฐิเป็นธรรมวินิจฉัย คือ ราชบัญญัติบทอัยการ มีอวัณณะความพรรณนาโทษเป็นกองทุกข์มาก มีวิตกความตรึกตรองเป็นหมู่แมลงวันพึงเกลียดชัง มีมทะความมัวเมาเป็นเหล่าคนธรรพ์ขับร้อง มีปมาทะความมัวเมาเป็นช่างฟ้อนมาซ่องเสพอยู่ มีทิฐิเป็นที่อาศัย มีอนุสัยเป็นบ้านที่อยู่ของหมู่พราหมณ์ มีสัญโภชน์ความผูกล่ามไว้ในสามภพเป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ในกายนคร และมีอวิชชาเป็นอันธการราชบรมกษัตริย์เถลิงราชสมบัติเป็นอิสสราธิบดีอยู่ใน กายนครนี้”
    ครั้นพระมุนีพรหมดาบสพิจารณารำพึงถึงธรรมสรีระดัง นี้แล้ว ดาบสศิษย์ผู้ใหญ่ที่ตนใช้ให้ไปหาเศษเนื้อก็ยังไม่กลับมา จึงจินตนาการสืบไปอีกว่า ในเมื่อสัตว์ทั้งหลายบรรดาที่มีรูปกายครองอยู่ได้เสวยทุกข์เห็นปานนี้ จะมีทางปลดเปลื้องทุกข์นั้นด้วยธรรมสิ่งไร เมื่อนึกไปก็เห็นว่าพุทธกรธรรมเท่านั้นที่สามารถจะทำสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้ เมื่อมองเห็นแท้แน่ฉะนี้แล้วจึงจินตนาการต่อไปว่า
    “อันพุทธ การกธรรมนี้ ถ้าบุคคลใดไม่สามารถที่จะทำกรรมที่บุคคลอื่นทำได้ยาก ไม่สามารถบริจาคสิ่งที่บุคคลอื่นบริจาคได้ยาก ไม่สามารถให้ทานที่บุคคลอื่นให้ได้โดยยาก ไม่สามารถอดกลั้นกรรมที่บุคคลอื่นอดกลั้นโดยยาก อย่างนี้แล้วบุคคลนั้นจะบำเพ็ญพุทธการกธรรมนี้ให้สำเร็จหาได้ไม่ ก็แลสรีราพยพคือร่างกายของเรานี้ ย่อมมีอาทีนวโทษเป็นอันมากมิได้ยั่งยืนอยู่สิ้นกาลนาน และจิตใจเรานี้อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ย่อมมีอารมณ์ไม่เป็นหนึ่ง คือ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ย่อมแปรปรวนไปเป็นนิตย์ เอาเถิด บัดนี้เราจักให้สรีระร่างของเรากับทั้งชีวิตนี้ให้เป็นทานแกแม่เสือหิวตัว นี้ ให้ทันกาลที่จิตกำลังเสื่อมใสใคร่บริจาคในกาลนี้เถิด เออ ก็เราจะเป็นห่วงอันใดด้วยการจะให้อาหารที่อื่นเล่า”
    พระโพธิสัตว์เจ้าคำนึงจินตนาการดังนี้แล้ว จึงตั้งจิตปณิธานว่า
    “ด้วยเดชะบุญกรรมนี้ ขอเราจงได้ตรัสเป็น
    พระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ให้เรานำสัตว์ทั้งหลาย
    ออกจากวัฏสงสารให้ถึงความระงับดับทุกข์ด้วยเถิด”
    ครั้น ตั้งจิตปณิธานปรารถนาพระพุทธภูมิดังนี้แล้ว เพื่อจะประกาศแก่หมู่เทพยดาให้รู้ทั่วกันอีกเล่า พระพรหมดาบสโพธิสัตว์เจ้าจึงประกาศเป็นเนื้อความว่า
    “ขอทวย เทพเจ้าทั้งปวงคือ ภูมิพฤกษาเทวา และอากาสเทวาทั้งสมเด็จพระอัมรินทราเจ้า และท้าวมหาพรหมปชาบดี ศศิธรเทพบุตร ทั้งพญายมและท้าวจาตุมหาราชโลกบาลทั้งสี่ ทวยเทพซึ่งสถิตอยู่ ณ สถานทุกถิ่นที่ ตลอดจนนารทบรรพตจอมภูผาขออัญเชิญทั่วทุกพระองค์ จงมากระทำอนุโมทนาในชีวิตสรีรทานของข้าที่ได้รับอบรมสั่งสมกระทำ ณ กาลบัดนี้เถิด”
    ครั้นประกาศแก่ทวยเทพเจ้าดังนี้ ขณะที่ดาบสศิษย์ผู้ใหญ่ยังมิทันได้กลับมาถึง พระพรหมดาบสซึ่งมีน้ำใจกล้าหาญก็โจนทะยานจากยอดบัณฑรภูผาตกลงเฉพาะหน้าเสือ โคร่งแม่ลูกอ่อน ขณะนั้นนางพยัคฆ์ที่กำลังหิวกระหายนักหนา เมื่อเห็นอาหารตกลงมากองอยู่ข้างเช่นนั้นก็ละไม่กินลูกของมัน แล่นมาบริโภคมังสะสรีราพยพของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าในกาลบัดนั้นทันที
    ท่าน ผู้มีปัญญาทั้งหลาย บรรดาที่มีใจเคารพเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา จงพิจารณาดูเถิดว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านปรารถนาพระพุทธภูมิเพื่อตรัสเป็นพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ท่านต้องมีน้ำพระทัยมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวอาจหาญเพียงไร ใช่แน่แล้ว พระองค์ต้องทรงสละชีวิตเข้าแลกกับพระโพธิญาณมาจนนับครั้งไม่ถ้วน เช่นครั้งที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพรหมดาบสที่เล่ามาแล้วนี้ นี่เป็นเพียงครั้งหนึ่งในจำนวนมายหลายเท่านั้น นอกจากนี้แล้วในระยะการสร้างพระบารมีตอนต้นนี้ พระองค์ยังต้องประสบกับความทุกข์ยากมากมาย เพราะอำนาจของการเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารตามเรื่องที่ปรากฏมีในพระคัมภีร์ ทางพระพุทธศาสนาดังต่อไปนี้
     
  14. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    มาณพหนุ่มช่างทอง

    หลังจากที่ได้อุบัติเกิดเป็น เทพบุตรในสรวงสวรรค์แดนสุขาวดีและเกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้ ด้วยอำนาจการเวียนว่ายตายเกิดหลายชาตินักแล้ว ต่อมา กาลครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์มาเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลช่างทอง รูปร่างสิริเลิศล้ำบุรุษงดงามนักหนา เมื่อเจริญวัยใหญ่กล้าขึ้นก็มีอาชีพเป็นช่างทองผู้ชำนาญสืบสายตระกูลของตน วันหนึ่ง มีเศรษฐีมาว่าจ้างให้ไปทำเครื่องประดับให้แก่ธิดาสาวโสภซึ่งกำลังจะเข้าพิธี วิวาห์มงคล ครั้นไปถึงคฤหาสน์แล้ว เศรษฐีจึงถามว่า “ดูกรช่างทองผู้เจริญ ถ้าท่านได้เห็นเพียงมือและเท้าเท่านั้น ท่านยังจะสามารถทำเครื่องประดับได้หรือไม่” เมื่อช่างทองหนุ่มรับคำว่าทำได้ เศรษฐีจึงให้ธิดาของตนยื่นแต่มือและเท้ามาแสดงให้ปรากฏ ช่างทองหนุ่มก็สังเกตกำหนดบาทและหัตถาวัยวะที่ได้เห็นแต่ห่างๆ และกระทำได้ด้วยความชำนาญ
    ขณะนั้น ธิดาเศรษฐีซึ่งมีนามว่ากาญจนวดีกุมารีให้นึกสงสัยอยู่เป็นกำลังว่า “เหตุไฉนหนอ บิดาจึงมิให้เราปรากฏต่อหน้าช่างทองให้แสดงเพียงมือและเท้าเท่านั้น”ครั้น คิดดังนี้แล้วจึงลอบแลดูตามช่องไม้ แต่พอได้เห็นสิริรูปสมบัติของช่างทองก็ให้เกิดปฏิพัทธ์รักใคร่เป็นกำลัง คลุ้มคลั่งในดวงใจด้วยอำนาจราคะดำกฤษณา นางจึงจารึกอักษรเป็นศาลา ใจความว่า
    “ดูกร พ่อช่างทองผู้เป็นที่รัก หากท่านมีจิตใจรักใคร่เราแล้ว ณ ที่หลังเรือนใหญ่นี้มีบุปผพฤกษชาติต้นหนึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่ ในค่ำคืนวันนี้ ท่านจงมาซุ่มนั่งอยู่บนต้นไม้ ถึงราตรีกาล เราจะออกไปพบกับท่านด้วยใจรัก” จารึกเรื่องความรักดังนี้แล้ว จึงค่อยทิ้งลงไปให้ตกลงตรงหน้าช่างทอง เมื่อช่างทองหนุ่มอ่านดูแล้วกำหนดไว้ในใจ ถึงเวลาเลิกงานสายัณหสมัย เลิกงานแล้ว จึงกลับมาอาบน้ำชำระกายรับประทานอาหารอิ่มหนำสำราญแล้ว พอเวลาสุริยะอัสดงคตพลบค่ำลงก็รีบตรงมาสถานที่นางนัด ขึ้นไปบนต้นพฤกษชาตินั้น ตั้งตาชะแง้ดูทางที่กาญจนวดีกุมารีนั้นจะมา ณ ระหว่างคาคบไม้ แต่นางก็ยังไม่มา เพราะว่าเมื่อตอนกลางวันนั้นตนเร่งทำงานอยู่วันยังค่ำ ก็ลำบากกายพออยู่แล้ว เมื่อรับประทานอาหารอิ่มแลมานั่งเงียบเหงาเฝ้าคอยอยู่แต่ผู้เดียวฉะนี้จึง เอนองค์ลงกับกิ่งไม้ใหญ่ก็เลยเผลอม่อยผล็อยหลับ
    ก็กาญจนวดี กุมารีทรามวัยนั้นก็มีความยำเกรงบิดามารดาอยู่โดยมากเป็นธรรมดา เมื่อมารดาบิดายังมิได้หลับนอน นางจึงไม่มีโอกาสออกมาได้ ครั้นท่านทั้งสองหลับไปแล้ว นางจึงค่อยลุกมาจากที่นอนออกมาจัดหาอาหารได้ข้าวสาลีกับแกงมังสะสดใส่ลงใน ขันทองเสร็จแล้วก็รีบลอบนำลงมาจากปราสาทไปสู่ที่นัด ณ ต้นไม้ใหญ่ เพื่อไปหาชายสุดที่รัก ครั้นเห็นเขาหลับอยู่ก็มิรู้ที่จะปลุกให้รู้สึกตนตื่นขึ้นมาได้ ด้วยเหตุว่ามนุษย์ในสมัยนั้นถือลัทธิธรรมเนียมอยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าบุคคลหลับสนิทอยู่ ผู้ใดปลุกให้ลุกตื่นขึ้นแล้วผู้ปลุกนั้นย่อมมีบาป ตายไปต้องตกนรกหมกไหม้ตลอดกาลกัปหนึ่ง” เพราะฉะนั้น นางจึงไม่สามารถปลุกช่างทองนั้นให้ตื่นขึ้นมาได้ แต่คอยอยู่นานนักหนา เมื่อเห็นว่าไม่ตื่นแน่ นางจึงเก็บใบรุกขชาติปูลาดลงตั้งขันทองใส่อาหารไว้แล้วกลับลับไป
    ฝ่าย นายช่างทองตื่นขึ้นมาได้เห็นภาชนะขันทองนั้น จึงกำหนดว่าชะรอยนางกุมารีมาแล้วเห็นเราหลับ จึงกลับไปเป็นมั่นคง เมื่อผันแปรแลไปดูข้างโน้นข้างนี้ก็ได้แลเห็นนางดำเนินกลับลับไปในปราสาทใน ขณะนั้น จึงให้น้อยใจจิตคิดเคืองโกรธตัวเองเป็นนักหนาว่า ควรหรือมานอนหลับใหลไปเสียได้ น่าเคืองตัวเองนัก รำพึงพลางก็ถือสุพรรณภาชน์โภชนะนั้นกลับมาเรือนตน ครั้นรุ่งวันใหม่ได้เวลาก็ไปทำงานอยู่ที่เก่าอีก ไม่ช้าก็มีสารกตกลงมาอีก อักษรจารึกมีใจความว่า “วันนี้ท่านจงอุตสาหะข่มขี่ใจไว้ อย่าได้หลับใหลไปเสียอย่างเมื่อคืนนี้เล่า” นายช่างอ่านดูรู้ความแล้ว ก็ไม่พูดจาอะไร ประกอบการงานทำเครื่องประดับต่อไป พอได้เวลาตอนราตรีจึงมานั่งคอยท่าอยู่เช่นเคย ไม่ช้าก็บังเอิญหลับไปเสียอีกเล่า กาญจนวดีกุมารีเมื่อถือโภชนาหารมาเห็นเขาหลับไปแล้วก็กลับไปเหมือนคืนก่อน
    ครั้น ถึงคืนที่สาม กาญจนวดีกุมารีเมื่อได้มาเห็นนายช่างทองสุดที่รักหลับไปเหมือนเดิม นางก็มีความเศร้าในน้ำใจนักหนา จึงพิไรร่ำด้วยคำว่า
    “น่า เสียดายนัก กุมารน้อยนี้เป็นที่รักใคร่เจริญใจแห่งเราชะรอยสันนิวาสเรานี้มิได้มีแต่ปาง ก่อน จึงเผอิญให้กุมารนี้เป็นผู้มักหลับเสียได้สามวาระหน ความพยายามของเราสองคนนี้ปราศจากประโยชน์เสียแล้ว พ่อจงไปโดยสุขสวัสดีเถิดหนาเจ้าแต่วันนี้ไปเราก็จักหมดอิสระมิได้มาพบหน้า อีกแล้ว” เธอพิไรรำพันด้วยความโศกศัลย์เป็นอันมากแล้วก็ยกโภชนะนั้นวางตั้งไว้ แล้วก็ตัดอาลัยกลับไป นายช่างทองเมื่อตื่นขึ้นมาก็ให้เจ็บใจตนเองยิ่งกว่าวันก่อน มีความโศกาอาดูรด้วยความรักเป็นนักหนา จึงรำพึงรำพันออกมาว่า
    “กุมารี มีรูปงามอย่างนี้ ควรที่จะทอดทัศนานำความภิรมย์มาให้แก่ใจ นี่เป็นกรรมอะไร จึงตักเตือนให้หลับใหล ไม่รู้สึกตัวตื่นได้สามวาระบุญญาภิสมภารเราแต่ก่อนมิได้มี ชะรอยเรากับนารีนี้มิได้เคยร่วมกันกระทำทานหรือว่าตัวเรานี้มิได้มีกมล สันดาน เคยอนุโมทนากุศลของเศรษฐี จึงให้มีอันเป็นสักแต่ว่าได้พบเห็นนารีงามเท่านั้น มิทันได้ร่วมภิรมย์ก้ให้จางจากกันไป” นายช่างทองรำพันพลางถือเอาโภชนาหารที่นางตั้งไว้ แล้วกลับไปสู่เรือนของตนเด้วยความเศร้าเป็นล้นพ้น
    ครั้นรุ่ง ขึ้นถึงวันอาสหสมัย ฝ่ายเศรษฐีบิดาเจ้าบ่าวจึงบรรทุกข้าวของสำหรับการแต่งงานมากมายหลายร้อยเล่ม เกวียน พอมาถึงแล้วทั้งสองฝ่ายก็ประชุมกันกระทำอาวาหมงคลเลี้ยงดูกันเป็นนักษัตร ฤกษ์โกลาหล ฉลองกันอยู่สิ้นกาลประมาณหนึ่งเดือนโดยกำหนด ครั้นการฉลองอันมีเวลานานถึงหนึ่งเดือนล่วงแล้ว เศรษฐีผู้เป็นบิดาเจ้าบ่าวก็พาบริวารกลับไปบ้านตน
    ฝ่ายนายช่าง ทองผู้งามโสภาจำเดิมแต่วันแคล้วคลาดจากนางมาก็รำพึงรำพันถึงนางอยู่ไม่วาง วายว่า นางกุมารีนี้ได้มีน้ำใจรักเป็นปิยสหายแต่เรามาก่อน บุรุษเช่นเรานี้จึงสมควรจะได้นาง รำพึงพลางจึงคิดหาอุบาย ครั้นคิดได้แล้ว จึงอุตสาหะทำเครื่องประดับสำหรับศอสำรับหนึ่งสวยสดงดงามนักหนา แล้วไปด้วยแก้วมุกดาวิจิตรบรรจงเป็นลวดลายละเอียดอุดม สมควรเป็นราชอลังการแล้ว ก็น้อมนำเข้าไปถวายพระมหาอุปราชเจ้า
    “เอ๊ะ เจ้านำของที่ชอบใจมาให้เราเช่นนี้ จักมีความประสงค์สิ่งใดหรือ” พระมหาอุปราชซึ่งมีพระกมลโสมนัสตรัสถามขึ้น นายช่างทองจึงทูลสนองความประสงค์ของตนให้ทรงทราบ “อย่าวิตกไปเลยจะเป็นไรมี เรานี้รับธุระจะทำอุบายให้เจ้าได้สมมโนรถจงได้” พระมหาอุปราชตรัสรับรองแล้วจึงทรงให้นายช่างทองแต่งตัวเป็นสตรีเพศทรงสรรพา ภรณ์พิจิตร บิดเบือนแสร้งแปลงองค์เป็นขัตติยอนงค์กัญญาเสร็จแล้วจึงให้นั่ง ณ ภายในกูบกระโจมทองช้างพระที่นั่ง ส่วนพระองค์ทรงพระแสงของสถิตบนคอมงคลคชสาร เสด็จมาถึงบ้านท่านเศรษฐีประทับหยุดยืนช้างพระที่นั่ง แล้วรับสั่งให้เศรษฐีเข้ามาเฝ้า และแสร้งดำรัสถามว่า
    “ปราสาทหลังใหมนั่น เป็นของใครอีกเล่า”
    “เป็นปราสาทธิดาของข้าพระพุทธเจ้า” เศรษฐีทูลกล่าว
    “เออ พ่อ ดีแล้ว บัดนี้ พระบรมชนกาธิราชดำรัสราชวโรงการให้เราไปปราบพวกโจรร้ายในชนบทประเทศ จะขอฝากพระกนิษฐภคินีน้องสาวเราไว้ให้อยู่กับธิดาของท่านด้วยเป็นการชั่ว คราวกว่าเราจะกลับมา เมื่อกลับมาแล้ว เราจึงจะมารับพระน้องนางนั้นไป” พระอุปราชตรัสขึ้นตามอุบายทรงวางไว้
    “พระเจ้าข้า แต่ว่าธิดาเกล้ากระหม่อมนั้น นางได้สามีแล้ว พระภคินีของพระองค์จะทรงอยู่ด้วยธิดาเกล้ากระหม่อมได้หรือ” เศรษฐีทูลด้วยความกังวลใจ
    “จะเป็นไปเล่า ท่านเศรษฐี” พระมหาอุปราชตรัสดุจไม่พอพระหฤทัย “ท่านจงให้ธิดาจของท่านงดการอยู่ร่วมกับสามีชั่วคราวก่อนให้เจ้าอยู่เป็น เพื่อนพระน้องนางเราสักหน่อยเถิด เราไปไม่นานนักก็จักรีบกลับมารับไป”
    “ถ้า กระนั้นก็พอจะผ่อนผันรับพระธุระสนองพระเดชพระคุณได้ พระเจ้าข้า” ท่านเศรษฐีรีบทูลแล้ว เรียกธิดามาบอกความต่อหน้าพระที่นั่ง แล้วสั่งให้นำพระภคินีปลอมนั้นขึ้นสู่ปราสาทและก่อนที่เจ้ามหาอุปราชจะอำลา ไป พระองค์ยังได้ทรงสั่งซ้ำดุจเป็นห่วงนักหนาว่า
    “ดูกรท่าน เศรษฐี” ขอท่านจงอย่าได้ประมาทเลย จงเห็นแก่เราเถิด จงช่วยเป็นธุระเอาใจใส่ของสิ่งไรทีน้องรักเราต้องการ ท่านจงจัดอย่าได้ขัดใจเจ้าเลย อนึ่ง บุคคลทั้งหลายอื่นๆ ท่านต้องคอยระวังจงห้ามอย่าให้ขึ้นไปจุ้นจ้านบนปราสาทเป็นอันขาด โดยที่สุด แม้แต่สามีของธิดาท่านก็จงอย่าให้ขึ้นไปอย่างเด็ดขาดเลยทีเดียว เข้าใจไหมเล่า”
    “ไว้ใจเถิด พระเจ้าข้า” ท่านเศรษฐีรีบทูล “จงวางพระทัยไว้ธุระข้าพระบาททุกประการเถิด พระองค์อย่าได้ทรงพระวิตกเลย” ทูลรับรองอย่าหนักแน่นแล้วก็ตามส่งเสด็จจนถึงนอกกำแพงปราสาท
    ตั้งแต่ วันนั้นเป็นต้นมา มาณพหนุ่มช่างทองก็ได้อยู่ร่วมภิรมย์กามรดีกับด้วยกาญจนวดีกุมารีสมมโนรถ ความปรารถนาเป็นเวลานานสิ้นกำหนดสามเดือนจะได้มีบุคคลผู้ใดใครผู้หนึ่งในที่ นั้นล่วงรู้ความลับนี้ก็หามิได้ ฝ่ายพระมหาอุปราชนั้น ครั้นกาลล่วงไปครบสามเดือนแล้วก็ทรงทำเป็นเสด็จมารับพระกษิณฐภคินีกลับไป
    พระ พุทธางกูรโพธิสัตว์ เมื่อพระองค์ดำรงฤกษดาภินิหารพระบารมีญาณยังอ่อนต้องถูกเพลิง คือ ราคะกิเลสเบียดเบียนบีฑา บังเกิดขึ้นมาแล้วและมิอาจระงับเสียได้ จึงเป็นไปตามอำนาจราคะกิเลสประกอบปรทารโทษล่วงเกินภรรยาของผู้อื่นเป็นกาย ทุจริตเช่นนี้ ครั้นดับขันธ์สิ้นชีวิตในครั้งนั้นแล้วก็ต้องสืบปฏิสนธิไปบังเกิดในนรกหมก ไหม้ต้องได้รับทุกขเวทนาถึงสาหัสเป็นหลายครั้งหลายหน เวียนวนอยู่ในภูมิอันต่ำช้านานนับเป็นเวลาถึง 14 มหากัป
    ด้วย เหตุนี้ สมเด็จพระชินสีห์บรมโลกุตมาจารย์ ครั้นได้รับสำเร็จพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว จึงได้ทรงพระมหากรุณาตรัสพระธรรมเทศนาสั่งสอนพวกเราชาวพุทธบริษัทว่า
    “สัตว์ ทั้งหลายในโลกสันนิวาสนี้ ย่อมได้เสวยทุกขเวทนาแสนสาหัสในอบายภูมิสี่ ถือเป็นสัตว์นรกในนิรยภูมิเป็นต้น เพราะความกระวนกระหายเดือนร้อนด้วยอำนาจราะคกิเลส สัตว์ที่ไม่รู้พระสัทธรรมย่อมถึงความก่อเกิดเป็นร่างกายเที่ยวเวียนว่ายอยู่ ในโอฆสงสารเจริญภพเจริญชาติมากมาย แม้จะนับด้วยหลายล้านหลายโกฏิอสงไขยนั้นก็นับหาได้ไม่ ต่อเมื่อพุทธบุคคลแล้วนั่นแล จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้พ้นจากอบายภูมิ”
    เมื่อ ได้ทราบตามพระพุทธภาษิตนี้แล้ว ขอให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายจงเชื่อถือคำสอนของพระพุทธองค์เถิด จงทำใจให้เห็นโทษภัยในอบายภูมิจงมาก หากแต่น่าสังเวชอยู่ที่ว่า วิสัยจิตใจของปุถุชนคนเราโดยมากทุกวันนี้ มักคิดไปเองว่าตนนั้นมีปัญญาดี เมื่อมีผู้เอาภัยในอบายภูมิมาชี้แจ้งแสดงบอก ก็มักคิดไปว่าแกล้งมากล่าวหลอกลวงให้เกรงกลัวไม่ยอมเชื่อว่าเป็นจริงเพราะ สิ่งที่ว่าคือ นรกตนเองพิสูจน์ไม่ได้ ให้หันเหคิดขวางๆ ไปว่าเป็นเพียงอุบายสอนคนโบราณกาลก่อน ตั้งแต่ครั้งสมัยคนเรายังโง่อยู่เท่านั้นเอง นรกสวรรค์มีที่ไหนกัน เมื่อคิดผันแปรไปเช่นนี้ก็จะพอกพูนความประมาทให้เกิดมากยิ่งขึ้นในสันดานตน อาจประกอบอกุศลกรรมต่างๆ อันเป็นเหตุให้ไปเกิดในอบายภูมิได้ ฉะนั้นต้องสอนตนให้กลัวภัยในอบายภูมิก่อนนั่นแลเป็นดี
     
  15. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    เจ้าหญิงสุมิตตาเทวี

    เมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าของเรา แต่ครั้งมีพระบารมียังอ่อนถูกราคะกิเลสครอบงำ ทำให้ประกอบกรรมกามมิฉาแล้วไปสืบปฏิสนธิเกิดในนรกเสวยทุกข์แสนสาหัสเป็นเวลา นานถึง 14 มหากัป ดังกล่าวแล้ว ต่อจากนั้น ด้วยอำนาจเศษกรรมยังตามให้ผลอยู่ไม่เสื่อมคลายไปง่ายๆ ครั้นจุติจากนรกแล้วจึงต้องไปสืบปฏิสนธิถือกำเนิดเกิดเป็นลา เป็นเวลานานนับได้ 500 ชาติ แล้วจึงไปถือกำเนิดเป็นโคอีก 500 ชาติ แล้วจึงกำเนิดเป็นคนพิการ ตาบอดหูหนวกแต่กำเนิดอีก 500 ชาติ แล้วมิหนำซ้ำให้ถือกำเนิดเป็นกระเทยอีก 500 ชาติ แล้วึงมาถือกำเนิดเป็นสตรีอีกเป็นเวลานานถึง 500 ชาติ
    ในกรณี นี้ ขอให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย พึงสันนิษฐานลงเถิดว่าแต่เพียงเศษอกุศลกรรมที่ทำด้วยความประมาทมาตามสนองก็ น่าสะพรึงกลัวยิ่งนักหนา ฉะนั้นจงอย่าได้ประมาทในอกุศลกรรมความชั่วทั้งปวงเลย ดูแต่พระโพธิสัตว์เจ้าของเรานี่เถิด ทั้งๆที่ตั้งพระหฤทัยไว้แล้วว่า จะขอตรัสเป็นพระพุทธเจ้าอนุกูลสงเคราะห์แก่สัตว์ทั้งหลายอยู่โดยแท้ ควรแลหรือที่พระองค์ยังต้องถูกราคะกิเลสมาครอบงำเหยียบย่ำบีฑา แต่ครั้งเป็นมาณพหนุ่มช่างทองให้เกิดปรองดองรักใคร่กับภรรยาของผู้อื่น ได้ชื่นชมรื่นรมย์อยู่เพียงสามเดือน แต่ต้องถูกกรรมมาซัดทำให้วิบัติขัดขวางเสียเวลาที่จะสร้างบารมีเพื่อพระ โพธิญาณนับเป็นเวลานานถึงเพียงนี้ได้ ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงสามัญชนสัตว์ทั่วไปนี่เล่า อย่าได้ประมาทเลย
    เมื่อ ถือกำเนิดเกิดเป็นสตรีเพศได้สี่ร้อยกว่าชาติแล้ว ครั้นถึงพระชาติที่สิ้นสุด เศษปรทากรรมคือล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น พระชาติสุดท้ายที่เกิดเป็นสตรีเพศครบห้าร้อยนั้นด้วยอปราปรเวทยียกรรมตาม สนองจึงเป็นเหตุให้พระองค์ถือกำเนิดเป็นขัตติยกุมารี ทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าหญิงสุมิตตาราชกุมารี เป็นพระธิดาของพระเจ้าสุปปบุตรมหาราชผู้เป็นใหญ่
    ก็ในสมัยนั้น เป็นกัปที่มีชื่อว่า สารกัป เพราะมีพระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกธาตุนี้พระองค์เดียว ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฎปุราณทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระราชบุตรของพระสุปปบุตรมหาราชเช่นกัน ฉะนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าของเราซึ่งทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าหญิงสุมิตตาราชกุมารีจึงทรง เป็นพระกนิษฐภคินีของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎพระองค์นั้น แต่ต่างพระมารดากัน
    เมื่อ สมเด็จพระปุราณทีปังกรจอมไตรโลกุตมาจารย์เจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกกาล ครั้งนั้น หมู่มนุษยนิการนานาประชาชาติ มีสมเด็จพระพุทธบิดาคือพระเจ้าสุปปบุตรมหาราชาธิราชเป็นประธาน ได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอันมาก พากันจัดสรรทำสักการบูชาอุทิศเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชาและอุปฏฐากบำรุงด้วยจตุปัจจัยในสังฆมณฑล พระพุทธศาสนาถึงความเจริญรุ่งเรืองนักหนา ประชาสัตว์ต่างได้ลิ้มรสอมตธรรมสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลเป็นอันมาก ตามสมควรแก่อุปนิสัยวาสนาบารมีของตนที่สร้างไว้
    วันหนึ่ง เป็นเวลาสายัณหสมัยใกล้ค่ำแล้ว เจ้าฟ้าหญิงสุมิตตาราชบุตรี ประทับยืนอยู่บนปราสาทชั้นที่ 7 ทอดพระเนตรลงมาข้างล่างได้ทอดทัศนาเห็นภิกษุรูปหนึ่งทรงสมณสารูป มีกิริยาอาการน่าเลื่อมใสยิ่งนัก เจ้ากูมาประดิษฐานบิณฑบาตอยู่แทบพระทวารวังพระนางเจ้าจึงทรงจินตนาการว่า “ภิกษุมาบิณฑบาตในเวลาเย็น อันมิใช่กาลที่ควรบิณฑบาตเช่นนี้ ชะรอยจะมีประสงค์สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นมั่นคง” ทรงจินตนากาลดังนี้แล้ว จึงดำรัสใช้บุรุษคนหนึ่งว่า “ท่านจงลงไปถามความต้องการของพระผู้เป็นเจ้าให้รู้แจ้งแล้วจงมา” ราชบุรุษรับพระดำรัสถวายบังคมลงมาถามได้ความแล้ว กลับขึ้นไปทูลว่า “พระผู้เป็นเจ้าประสงค์จะบิณฑบาตน้ำมัน”
    เจ้าฟ้าหญิงสุมิตตาราชบุรีนั้น จึงให้ไปอาราธนาพระผู้เป็นเจ้าขึ้นมาเอง ณ อาสนะอันสมควรแล้ว จึงมีพระดำรัสถามว่า
    “พระผู้เป็นเจ้า ต้องประสงค์น้ำมันเอาไปเพื่อประโยชน์สิ่งใด”
    “ขอ ถวายพระพร พระราชธิดา อาตมภาพโคจรบิณฑบาตน้ำมันได้เป็นอันมากแล้ว ก็แต่งประทีปมากมายนักหนาทำสักการบูชาแด่องค์สมเด็จพระมิ่งมงกุฎปุราญทีปัง กรสัมมาสัมพุทธเจ้าจนสิ้นราตรียังรุ่ง ครั้นเวลาสายสว่างแล้ว พระอริยสงฆ์สาวกมาประชุมพร้อมกัน ณ สำนักแห่งพระบรมครูอาตมภาพก็ตามประทีปบูชาพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายอีกเล่า แต่เฝ้ากระทำอยู่อย่างนี้เป็นนิตย์เสมอมานะ พระราชธิดา ขอถวายพระพร”
    ทรง ได้ฟังพระคุณเจ้าเล่าถวายให้ฟังดังนี้ เจ้าสุมิตตาราชบุตรีก็มีจิตยินดีเลื่อมใสนักหนา จึงทรงถือขันสุพรรณภาชน์ยุรยาตรไปตักตวงน้ำมันพันธุ์ผักกาดจนเต็มขันแล้วก็ ทูนเหนือเศียรเกล้านำมา ในขณะนั้นเจ้าฟ้าหญิงราชธิดาก็ทรงบังเกิดความคิดอันสูงส่งบรรเจิดจ้าขึ้นมา ว่า
    “สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชของเรา ได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกระทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ มวลสัตว์โลกเป็นอันมากฉันใด กาลนานไปเบื้องหน้า ขอจงอาตมาได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่ง เพื่อจะอนุกูลสงเคราะห์สัตว์โลกฉันนั้นเถิด”
    เมื่อเกิดความคิด คำนึงฉะนี้แล้ว พระราชธิดาจึงนำสุพรรณภาชน์น้ำมันลงมาจากเบื้องบนพระเศียรเกล้าแล้วก็รินลง ในบาตรของพระคุณเจ้าจนเต็มบาตร พร้อมกับทรงตั้งมโนปณิธานว่า
    “ข้า แต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ด้วยเดชะอานิสงส์ผลทานนี้ ขอจงเป็นปัจจัยใหความปรารถนาของข้าพเจ้าสำเร็จดังมโนรถเถิด พระคุณเจ้าขา ขอพระคุณเจ้าจงเอาน้ำมันนี้ไปบูชาองค์สมเด็จพระบรมเชษฐาธรรมิกราช ซึ่งตรัสเป็นองค์พระสัมพัญญูของข้าพเจ้าแล้ว ขอพระคุณเจ้าจงมีจิตการุณช่วยกราบทูลพระองค์ด้วยว่า พระราชบุตรีกนิษฐภคินีของสมเด็จพระพุทธองค์เจ้านี้ ซึ่งมีนามว่าสุมิตตากุมารี มีกมลปราสาทโสมนัสศรัทธายิ่งนักหนา ขอน้อมพระเกศถวายอภิวาทพระบาทยุคลสมเด็จพระทศพลญาณและขอตั้งปณิธานปรารถนา ดังนี้ว่า ด้วยเดชะอานิสงค์ผลทานนี้เป็นปัจจัยนานไปในอนาคต จักขอตรัสเป็นพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่งแลขอให้ทรงพระนามว่าสิทธัตถะ เหมือนด้วยชื่อแห่งน้ำมันพันธุ์ผักกาดนี้ด้วยเถิด”
    ครั้นมีพระดำรัสไปดังนี้แล้ว สุมิตตาราชกุมารีก็ถวายอภิวาทพลางส่งพระผู้เป็นเจ้านั้นกลับไป
    ฝ่าย พระภิกษุผู้เป็นเจ้ารูปนั้น ครั้นได้น้ำมันตามความประสงค์มากกว่าทุกวันแล้วก็ดีใจนักหนา รีบอุ้มบาตรน้ำมันกลับมาสู่มหาวิหารในราตรีกาลวันนั้น พระผู้เป็นเจ้าก็ได้มีโอกาสกระทำประทีปบูชาให้สว่างไสวมากกว่าทุกวัน ครั้นแล้วจึงเข้าไปถวายอภิวาทสมเด็จพระสรรเพชญ์ปุราณทีปังกรสัมมาสัมพุทธ เจ้า แล้วจึงกราบทูลว่า
    “ข้าแต่พระผู้ทรงพระภาค พระเจ้าข้า เวลาราตรีนี้ข้าพระองค์ได้ตกแต่งประทีปบูชามากขึ้นกว่าทุกราตรีเช่นที่เห็น อยู่เวลานี้ ด้วยน้ำมันพันธุ์ผักกาดอันภคินีของพระองค์ถวายมาและพระนางเจ้าได้ทำพุทธภูมิ ปณิธานว่า ด้วยเดชะผลทานที่ถวายด้วยใจเลื่อมใสยิ่งนักนี้ พระกนิษฐภคินีเจ้าปรารถนาขอได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าพระสักองค์หนึ่งทรงพระนาม ว่า สิทธัตถะในอนาคต ข้าพระองค์ขอโอกาสกราบทูลถามว่า ความปรารถนาของพระภคินีเจ้าจะสำเร็จหรือไม่ พระเจ้าข้า
    สมเด็จพระมิ่งมงกุฎปุราณทีปังกรบรมศาสดาได้ทรงสดับแล้วจึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า
    “ดูกร ภิกษุ บัดนี้ สุมิตตาราชกุมารีกนิษฐภคินีของเรานั้น เจ้ายังตั้งอยู่ในอัตภาพเป็นสตรีเพศ จึงยังไม่สมควรที่จะได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์ก่อน”
    “พระเจ้า ข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ก็พระภนิษฐภคินีของพระองค์จักไม่มีโอกาสได้สำเร็จพระพุทธภูมิเลยหรือ พระเจ้าข้า” พระคุณเจ้ารูปนั้นถวายนมัสการกราบทูลถามขึ้นอีก
    ลำดับ นั้น พระจอมไตรโลกนาถปุราณทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงพิจารณาดุในอดีตภาคก็ทรง ทราบว่าพระกนิษฐภคินีสุมิตตากุมารีเจ้าได้เคยมีพุทธภูมิปณิธานไว้นานนักหนา แต่ครั้งเป็นมาณพแบกมารดาว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรเป็นเดิม เมื่อทรงพิจารณาดูในกาลส่วนอนาคตภาค ก็ทรงทราบว่าพระน้องนางเจ้าอาจสำเร็จซึ่งพระพุทธภูมิปณิธานได้ จึงทรงมีพระพุทธฎีกาว่า
    “ดูกรภิกษุ กาลข้างหน้าในอนาคตนับแต่นี้ไปอีก 16 อสงไขยหนึ่งแสนมหากัปจักมีพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าสมเด็จพระที ปังกรซึ่งเป็นนามเสมอกับด้วยเรานี้ จักเสด็จมาอุบัติตรัสในโลก ในกาลนั้นแล สมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นจักได้กล่าวพยากรณ์ซึ่งพระภคินีของเรา พระน้องนางจักได้รับลัทธยาเทศในสำนักของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ นั้น”
    เมื่อสมเด็จพระปุราณทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสฉะนี้ แล้วพระภิกษุรูปนั้นก็ถวายนมัสการกระทำปทักษิณแล้ว ก็ไปสู่ปราสาทเจ้าฟ้าหญิงสุมิตตากุมารีเล่าแจ้งความตามที่ได้ฟังมาจากพระ โอษฐพระผู้มีพระภาคเจ้า พอได้ทรงสดับคำเล่าบอกจบจง เจ้าฟ้าหญิงก็ทรงมีพระกมลโสมนัสยิ่งนัก มีพระเสาวนีย์ถวายนิตยปวารณาว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้าข้า แต่วันนี้เป็นต้นไป ขอพระคุณเจ้าจงอย่าได้เที่ยวไปแสวงหาที่อื่นเลย พระคุณเจ้าจงมารับน้ำมันในสำนักแห่งข้าพเจ้านี้เป็นนิตย์ทุกวันเถิด”
    ตั้งแต่ วันนั้นมา พระผู้เป็นเจ้าก็มารับน้ำมันพันธุ์ผักกาดจากปราสาทของเจ้าฟ้าหญิงสุมิตตาราช กุมารีไปทำประทีปบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกเป็น นิตย์ทุกวัน
    ฝ่ายเจ้าฟ้าสุมิตตาราชกุมารีนั้นเล่า ครั้นเวลาอรุณรุ่งเช้าก็ให้จัดแจงอาหารอันประณีตเป็นอันมากพร้อมด้วยเครื่อง สักการบูชามีมาลาและของหอมเป็นอาทิ แวดล้อมด้วยบริวารเข้าสู่มหาวิหารถวายบิณฑบาตทานแก่หมู่พระภิกษุสงฆ์มี สมเด็จพระพุทธองค์เจ้าเป็นประธาน ด้วยความเชื่อมั่นเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งก็จำเดิมแต่กาลนั้นมา เจ้าฟ้าหญิงก็มีให้พระหฤทัยเบื่อหน่ายจากความที่ได้อัตภาพเป็นสตรีเพศยิ่ง นัก จึงสู้อุตส่าห์ก้มหน้าบำเพ็ญกุศลเป็นต้นว่าบริจาคทาน รักษาศีล สมาทานอุโบสถประพฤติพรหมจรรย์เป็นอาจิณ ครั้นสิ้นพระชมมายุแล้ว ก็ได้ขึ้นไปบังเกิดเสวยทิพยสมบัติในดุสิตเทวโลกก็เป็นอันว่าบัดนี้ สมเด็จพระโพธิสัตว์เจ้าอขงเราหมดสิ้นจากเศษกรรมปรทาวรกรรมความล่วงเกินภรรยา ของผู้อื่นแต่เพียงนี้
     
  16. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468

    สาธุครับ ยินดีครับ
     
  17. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    <table style="border: 1px solid rgb(204, 210, 217); padding: 0.5em; background: rgb(249, 249, 249) none repeat scroll 0% 0%; -moz-background-clip: -moz-initial; -moz-background-origin: -moz-initial; -moz-background-inline-policy: -moz-initial; width: 270px; text-align: center;"><tbody><tr><td style="background: rgb(255, 200, 0) none repeat scroll 0% 0%; font-size: 135%; -moz-background-clip: -moz-initial; -moz-background-origin: -moz-initial; -moz-background-inline-policy: -moz-initial; padding-bottom: 0.5em; line-height: 1.1em;">วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร</td></tr><tr><td><table style="margin: 0px auto; background: transparent none repeat scroll 0% 0%; -moz-background-clip: -moz-initial; -moz-background-origin: -moz-initial; -moz-background-inline-policy: -moz-initial; text-align: center;"><tbody><tr><td style="border-width: 0px; vertical-align: middle;"></td></tr><tr><td style="font-size: 95%;">องค์พระปฐมเจดีย์</td></tr></tbody></table></td></tr><tr><td style="background: rgb(255, 200, 0) none repeat scroll 0% 0%; -moz-background-clip: -moz-initial; -moz-background-origin: -moz-initial; -moz-background-inline-policy: -moz-initial;">ข้อมูลทั่วไป</td></tr><tr><td><table style="padding: 0px; background: transparent none repeat scroll 0% 0%; table-layout: auto; font-size: 100%; -moz-background-clip: -moz-initial; -moz-background-origin: -moz-initial; -moz-background-inline-policy: -moz-initial; border-collapse: collapse; text-align: left;" cellpadding="0" cellspacing="0"><tbody><tr><td style="padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top; text-align: left;">ชื่อสามัญ</td><td style="padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top; text-align: left;">วัดพระปฐมเจดีย์</td></tr><tr><td style="padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top; text-align: left;">ประเภท</td><td style="padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top; text-align: left;">พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร</td></tr><tr><td style="padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top; text-align: left;">นิกาย</td><td style="padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top; text-align: left;">เถรวาท</td></tr><tr><td style="padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top; text-align: left;">ความพิเศษ</td><td style="padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top; text-align: left;">พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ</td></tr><tr><td style="padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top; text-align: left;">พระประธาน</td><td style="padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top; text-align: left;">พระศิลาขาว</td></tr><tr><td style="padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top; text-align: left;" nowrap="nowrap">พระพุทธรูปสำคัญ</td><td style="padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top; text-align: left;">พระร่วงโรจนฤทธิ์ พระพุทธนรเชษฐ์</td></tr><tr><td style="background: rgb(255, 200, 0) none repeat scroll 0% 0%; -moz-background-clip: -moz-initial; -moz-background-origin: -moz-initial; -moz-background-inline-policy: -moz-initial; text-align: center;" colspan="2">ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว</td></tr><tr><td style="border-top: 1px solid rgb(204, 210, 217); padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top; text-align: left;" width="108" nowrap="nowrap">ที่ตั้ง</td><td style="border-top: 1px solid rgb(204, 210, 217); padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top;">ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม</td></tr><tr><td style="padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top; text-align: left;">รถประจำทาง</td><td style="padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top; text-align: left;">บขส: กรุงเทพ - นครปฐม</td></tr><tr><td style="padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top; text-align: left;">รถไฟ/รถไฟฟ้า</td><td style="padding: 0.4em 1em 0.4em 0px; vertical-align: top; text-align: left;">สถานีรถไฟนครปฐม</td></tr></tbody></table></td></tr></tbody></table>
     
  18. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    อรดีเทวราชบพิตร

    เมื่อเจ้าฟ้าหญิงสุมิตตาราชกุมารี สิ้นพระชมมายุไปบังเกิดในสวรรค์เทวโลกชั้นดุสิต เป็นเทพบุตรเสวยทิพย์สมบัติอยู่สิ้นกาลนานกำหนดได้ห้าสิบเจ็ดโกฏิกับอีกหา ล้านปีแล้ว ก็จุติจากดุสิตสวรรค์ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดด้วยอำนาจวัฏสงสารอีกสิ้น กาลนานช้า

    กาลครั้งหนึ่ง พระองค์ได้ทรงมาถือกำเนิดในราชตระกูลครั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต แล้วก็ได้สืบราชสมบัติแทนพระราชบิดาได้ราชาภิเษกเป็นเอกองค์อัครราชาธิบดี เถลิงสิริราชสมบัติสืบสันติวงศ์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอรดีเทวราชบพิตรดำรงราชกิจโดยทศพิธราชธรรม มีอำมาตย์ผู้หนึ่งนามว่า สิริคุตมหาอำมาตย์ เป็นผู้อนุศาสน์บอกอรรถธรรม

    ก็ ในกาลครั้งนั้น ปรากฏว่ามีพระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกธาตุนี้พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฎมหาพรหมเทวสัมมาสัมพุทธเจ้า คราวหนึ่ง พระองค์ทรงอุตสาหะเสด็จพระพุทธดำเนินมา ณ กรัณฑกะนครของพระเจ้าอรดีเทวราช เพื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนาประกาศพระบวรพุทธศาสนาให้เหล่าประชาสัตว์ได้ดื่มอม ตธรรม ในขณะที่พระองค์เสด็จมาถึงพระนครนั้น พระฉัพพรรณรังสีหกประการอันซ่านออกจากพระพุทธสรีระกาย ปรากฏมากมายนักหนาครอบงำทั่วภารา แลดูราวกับว่าภานุมาศเทพมณฑลคือ พระจันทร์มาอุทัยไขรัศมีพร้อมกันทั้งพันดวง มีรัศมีรุ่งเรืองสว่างไสวน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก

    ในขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าอรดีเทวราชบพิตรกำลังประทับนั่งบนพระแท่นรัตนราชบัลลังก์ ณ พื้นเบื้องบนพระมหาปราสาท มีสิริคุตมหาอำมาตย์หมอบเฝ้าอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์ ครั้วท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรังสีมาปรากฏอย่างอัศจรรย์มิได้ทันที่จะ ทรงพระอนุสรณ์คำนึงเห็นว่าเป็นอะไรกันแน่ จะว่าพญาไกรสรสีหราชหรือว่าเป็นเทพยดามนุษยนิกรคนธรรมพ์กินนรมากระทำฤทธิ์ ให้วิปริตไปไม่ทันจะได้ทรงไตร่ตรองให้ทราบความเป็นไป แต่พอได้ทอดพระเนตรก็ให้ทรงมีพระกมลสะท้านหวาดเสียวเป็นที่สุด ทรงมีพระอาการจะทรุดพระองค์ลงมาจากพระบัลลังก์อาสน์

    สิริ คุตมหาอำมาตย์ได้เห็นพระอาการสะดุ้งพระราชหฤทัยดังนั้นจึงรีบผายผันไปทัศนา ดูโดยสีหบัญชรช่องพระแกล ก็แลเห็นองค์สมเด็จพระบรมศาสดาซึ่งทรงพระสิริโสภาประดับด้วยพระทวัตติงสะมหา ปุริสลักษณ์และพระอสีตยานุพยัญชนะมีพระฉัพพรรณรังสีโอภาสทำให้สว่างกระจ่าง แจ้งจับทั่วสกลภาราสิริคุตมหาอำมาตยาบดี แต่พอได้ทอดทัศนาเห็นพระองค์เช่นนี้ก็ทราบได้ทันทีว่า เจ้าของรัศมีนั้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคราวนี้ หากจะมีปัญหาว่า ทำไมสิริคุตอำมาตย์จึงทราบได้ทันทีเช่นนี้ มีคำวิสัชนาว่า สิริคุตอำมาตย์ผู้นี้หรือก็คือ พระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ ซึ่งได้มีอภินิหารบารมีอบรมมานานนักหนากว่าพระเจ้าอรดีเทวราชมหากษัตริย์ แห่งตน ได้เคยประสบพบปะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามามากมายหลายร้อยชาติแล้วทั้ง ในชาตินี้ก็เป็นพระราชครูผู้รอบรู้สั่งสอนอรรถธรรมแก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉะนั้นพอได้ทอดทัศนาเห็นสมเด็จพระจอมมุนีจึงพลันทราบได้ทันทีว่า องค์พระผู้ทรงพระรัศมีเห็นปานฉะนี้ คือ องค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นสิริคุตอำมาตย์ทราบชัดด้วยใจตนเองเช่นนี้ ก็มีจิตยินดีโสมนัสเป็นล้นพ้น รีบลนลานกราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของตนว่า

    “ข้า แต่มหาราช พระเจ้าข้า ขอพระองค์อย่าได้ทรงหวาดเสียว ทรงพระวิตกถึงภัยสิ่งใดเลย แสงพระรัศมีที่เห็นนั้นเป็นแสงแห่งรัศมีของท่านผู้ทรงบุญญาธิการยิ่งผู้ หนึ่ง ซึ่งกำลังมุ่งหน้ามาสู่พระนครของเรานี้ และท่านผู้ที่กำลังมาสู่พระนครเรานี้นั้น จะได้เป็นสามัญบุคคลก็หามิได้ โดยที่แท้ ท่านผู้นั้นคือสมเด็จพระมิ่งมงกุฎบรมศาสดาจารย์ผู้ทรงพระสัพพัญญตญาณยอดโลก แล้ว ท่านผู้นี้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้อุดมในไตรโลกเป็นเอกอัครโลกนายก ทรงอุบัติขึ้นเพื่อจะเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ทรงเป็นพระเจ้าผู้ชนะมารและสมควรจะรับสักการบูชาน้อยใหญ่ของประชาสัตว์ทั้ง หลาย ทรงมีคติที่ไปเป็นอันดี เพราะมีพระนิพพานธรรมเป็นอารมณ์ ทรงเป็นผู้จำแนกแจกธรรม ทรงไพบูลย์ด้วยวิทยาและจรณธรรม เป็นผู้อำนวยนำนิพพานสุขให้แก่ฝูงสัตว์ได้ พระองค์ย่อมเป็นใหญ่ในสามภพตรัสรู้แจ้งจบในสรรพเญยยธรรมทั้งปวง ด้วยพระองค์เป็นผู้วิเศษในทางทรมานสัตว์บุรุษดุจสารถีอุดุม ทรงเป็นบรมศาสดาของหมู่เทพยดาแลมนุษย์ เป็นพุทธบุคคลเบิกบานในโลก จะหาผู้ใดเปรียบโดยคุณธรรมใดๆ มิได้เป็นผู้ไม่มีความอาลัยแล้วในสรรพสมบัติอันเป็นเครื่องผูกมัดรัดรึง สัตว์ทั้งปวงไว้ มีปัญญาจักษุลุล่วงในทางเป็นประโยชน์ ทรงเป็นธรรมสามีใหญ่ในธรรมสำเร็จพระพุทธภูมิเหมือนพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อน ทรงมีพระกมลมากด้วยละเอียดอ่อนยิ่งด้วยพระมหากรุณา ทรงสามารถที่จะประกาศธรรมโฆษณา ทั่วทั้งไตรโลกธาตุ พระเจ้าข้า”

    เมื่อ สิริคุตอำมาตย์ประกาศพรรณนาพระพุทธคุณด้วยพจนากถาอยู่ฉะนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์พรหมเทวาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาใกล้สถานที่นั้นโดย ลำดับกาล สิริคุตมหาอำมาตย์เห็นสมเด็จพระพิชิตมารเสด็จมาใกล้ จึงทูลเตือนให้พระสติแก่พระเจ้าอรดีเทวราชว่า “ข้าแต่มหาราช ขอเชิญเสด็จอุฎฐานจากราชบัลลังก์ ไปทำปัจจุคมนาการต้อนรับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด พระเจ้าข้า”

    สมเด็จ พระเจ้าอรดีเทวราชบรมกษัตริย์ ครั้นได้ทรงสดับสิริคุตมหาอำมาตย์กราบทูลดังนี้ พระองค์ก็ทรงมีพระกมลโสมนัสเต็มตื้นไปด้วยพระปิติ ซาบซ่านไปทั่วทั้งพระสรีระกายทรงมีพระพักตรมืดมนด้วยพระปิติกล้า ในขณะนั้น พระองค์ก็ทรงมีปวัตตนาการวิงเวียนล้มและตกลงมาจากชานพระทวาร น่าตกใจกลัวจะสิ้นพระชมน์นักหนา แต่ด้วยอำนาจพระราชศรัทธาอันกล้าหาญของพระองค์มาโอบอุ้ม จึงเกิดอัศจรรย์บันดาลเป็นดอกเศวตโกสุมปทุมชาติงามสะอาดตระการประมาณเท่ากง เกวียน แหวกพื้นปฐพีผุดขึ้นบานรัปประคับประครองพระองค์ไว้ ครั้นทรงได้พระสติจึงทรงเลื่อนพระองค์ลงมาจากดอกปทุมบุปผชาติ และดอกปทุมบุปผชาตินั้นก็เลื่อนหายไปในขณะนั้นทันที สมเด็จพระเจ้าอรดีเทวราช จึงเสด็จยุรยาตรไปด้วยพระบาทเปล่า เข้าไปสู่สำนักเฉพาะพระพักตร์แห่งองค์สมเด็จพระพรหมเทวาสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วถวายนมัสการและกระทำสักการะบูชาด้วยสมุนบุปผชาติเลือกล้วนแต่ที่ดีๆ บริบูรณ์ด้วยสีและกลิ่นบริสุทธิ์สดสะอาด ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้แต่ทรงนิ่งงัน เฝ้ามนัสการบูชาแล้วบูชาเล่าอยู่อย่างนั้น เป็นเวลานานแสนนาน

    ภาย หลังต่อมา สมเด็จพระอรดีเทวราชบพิตรพระองค์ทรงมีพระราชศรัทธา ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมภารถวายเครื่องอุปกรณ์ทานทั้งหลายอื่นเป็นอันมาก ทรงมีพระราชหฤทัยชื่นชมโสมนัสนักแล้วทรงเกิดความคิดบรรเจิดจ้าปรารถนาซึ่ง พระพุทธภูมิ จึงทรงซบพระเศียรเกล้าก้มลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ตั้งพระทัยอุทิศคำพุทธภูมิกปณิธานว่า
    “ข้าแต่พระองค์ผู้ สัพพัญญู พระองค์ได้ตรัสเป็นพระพุทธองค์บรมนารถ สามารถยังสัตว์โลกทั้งหลายให้รู้ตามได้ฉันใด ขอให้ข้าพระองค์ จงได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าแล้วจงสามารถนำสัตว์โลกทั้งหลายให้รู้ตามด้วยฉัน นั้น อนึ่ง พระองค์ได้ตรัสรู้พระสัพพัญตญาณพ้นจากภพกันดารแล้วและสามารถเปลื้องตัวในโลก ทั้งหลาย ให้ล่วงพ้นจากภพกันดารด้วยฉันใด ขอให้ข้าพระองค์จงได้ตรัสรู้ธรรมเช่นนั้น และสามารถเปลื้องสัตว์โลกทั้งหลาย ให้ล่วงพ้นจากภพกันดารฉันนั้นเถิด”
    เมื่อ สมเด็จพระเจ้าอรดีเทวราชได้ทรงกระทำพระพุทธภูมิกปณิธานในพระทัยฉะนี้แล้ว ก็มีพระกมลเบิกบานบันเทิงเป็นนักหนาแล้วจึงถวายนมัสการลา เสด็จอุฏฐาการกระทำประทักษิณสมเด็จพระพรหมเทวาโลกนายกแล้ว ก็เสด็จกลับคืนสู่พระราชกุศล ทรงบริจาคทานสมานศีลอุโบสถ ประพฤติพรหมจรรย์เป็นอาจิณ มีพระกมลนิยมยินดีในกุศลธรรมสุจริตมิได้เบื่อหน่าย ทรงมุ่งหมายในพระพุทธภูมิเป็นนิรันดร์ จนสวรรคตสิ้นพระชมมายุแล้ว เสด็จไปอุบัติเกิดในสวรรค์เทวโลก
    การสร้างพระพุทธบารมีที่เล่า มานี้ เป็นการสร้างพระบารมีเพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณตอนเริ่มแรก คือ ตอนมโนปณิธาน ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าไว้แต่ในหฤทัยอย่างเดียว มิได้ออกโอษฐ์เปล่งวาจาปรารถนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรมครูแห่ง เราทั้งหลาย แต่เพียงส่วนน้อยในอสงไขยต้นเท่านั้น มิใช่ทั้งหมด อย่าเข้าใจผิดเป็นอันขาด ความจริง พระองค์ได้ทรงสร้างพระบารมีในตอนนี้และได้พบพระพุทธเจ้ามากมายหลายชาติ นักหนา จนนับไม่ถ้วน ไม่สามารถประมวลพระชาติของพระองค์มากล่าวไว้ให้หมดสิ้นในที่นี้ได้จำไว้ ง่ายๆ ก็แล้วกันว่า องค์สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้าของเราทั้งหลายนี้ พระองค์ทรงสร้างพระบารมีตอนเริ่มแรกได้แต่นึกปรารถนาพระพุทธภูมิในพระหฤทัย ตามเรื่องที่ยกมาเล่าเป็นตัวอย่างนี้ นับเป็นเวลานานถึง 7 อสงไขย
    ใน กรณีนี้ ท่านผู้มีปัญญาก็ย่อมจะพิจารณาเห็นกันทั่วไปแล้วหรือมิใช่เล่าว่า การสร้างพระบารีเพื่อปรมาภิเษกสัมโพธิญาณขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า นั้น เป็นการลำบากแลใช้เวลายืดยาวนานเพียงไร
    พรรณนาในมโน ปณิธาน ความปรารถนาเริ่มแรกซึ่งพระพุทธภูมิแห่งองค์สมเด็จพระมิ่งมงกุฎศากยมุนีโคดม เห็นสมควรที่จะยุติลงได้แล้ว จึงขอยุติลง ด้วยประการฉะนี้

    ความเห็นสารบัญ
     
  19. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    บทที่ 3 พระบารมีตอนกลาง

    บัดนี้ จักพรรณนาถึงการสร้างพระบารมีเพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณของสมเด็จพระมิ่ง มงกุฎศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้าของเราในตอนวจีปณิธาน คือตอนที่พระองค์ออกโอษฐ์เปล่งวาจาปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิต่อไป

    ก็ องค์สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมศาสดาเจ้าของเราทั้งหลายนั้น พระองค์ท่านเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกะสร้างพระบารมีมาชนิดยอด เยี่ยมด้วยพระปัญญาฉะนั้น หลังจากทรงตั้งมโนปณิธาน ความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ในพระหฤทัย มิได้ออกพระวาจามาครบถ้วน 7 อสงไขยดังกล่าวมาแล้ว พระองค์ยังจะต้องทรงตั้งวจีปณิธานคือ ออกพระวาจาปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าอีก เป็นเวลานานถึง 9 อสงไขย ตามความเป็นไปที่จะได้พรรณนา ดังต่อไปนี้


     
  20. มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468
    สาครจักรพรรดิภูมิบดี

    เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ทรงท่อง เที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ด้วยอำนาจวัฏสงสารสิ้นกาลช้านานนักหนา บางเวลาก็มาเกิดเป็นมนุษย์ บางชาติก็ไปเกิดเป็นเทพบุตร เสวยทิพยสมบัติในสรวงสวรรค์นั้น กาลครั้งหนึ่ง พระองค์ได้อัตภาพมาอุบัติเกิดเป็นมนุษย์ ในสมัยนั้นเป็นสุญกัป โลกว่างจากพระบวรพุทธศาสนา พระองค์จึงได้ออกบรรพชาเป็นดาบสประพฤติพรตอยู่ในป่าใหญ่ พยายามบำเพ็ญกสิณบริกรรมภาวนาจนสำเร็จปฐมฌาน ครั้นดับสังขารสิ้นชีวิตแล้วก็ได้ไปอุบัติเกิดเป็นพระพรหมผู้วิเศษ อยู่ ณ พรหมโลกชั้นปฐมฌานพรหมภูมิเสวยพรหมสมบัติชมฌาน เป็นสุขอยู่เป็นเวลาหนึ่งมหากัป แล้วจึงจุติลงมาจากพรหมโลก

    ด้วย เดชะอานิสงค์ผลบุญกุศลที่พระองค์ได้ทรงสั่งสมสุจริตธรรมความประพฤติดีงามไว้ ในอดีตชาติแต่ปางก่อนเป็นอันมาก หากมาอำนวยผลให้ในคราวนี้ พอจุติจากพรหมโลกแล้ว พระองค์ก็ได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดในราชตระกูล ณ ธัญญวดีมหานคร เมื่อถึงศุภวารดิถีวันที่จะเฉลิมพระนามนั้น จึงประชุมพระบรมวงศ์ได้พร้อมกันขนานพระนามถวายว่า สมเด็จพระสาครราชกุมาร ครั้นเจริญวัยวัฒนาการนานมา เมื่อสมเด็จพระชนกาธิบดีดับขันธ์สวรรคตแล้ว ก็ได้ดำรงสิริราชสมบัติสืบกษัตริย์ขัตติยวงศ์โดยทศพิธราชธรรมต่อมาทรงพระ อุตสาหะปฏิบัติในจักรพรรดิวัตรที่เหล่าราชปุโรหิตจารย์กำหนดถวายต่างๆ อย่างครบถ้วน แต่ที่พิเศษก็คือว่า เมื่อถึงวันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำแล้ว สมเด็จพระสาครจักรพรรดิภูมิย่อมเสด็จเข้าที่สรง ทรงชำระสระสนานพระองค์ให้สะอาดแล้ว ก็ทรงพระภูษาโขมพัสตร์พื้นขาวคู่อุโบสถวิเศษ เสด็จขึ้นสถิตอยู่เบื้องบนพระมหาปราสาททรงพระอาวัชชนะนึกถึงอุโบสถศีลที่ พระองค์สมาทานเสมอมามิได้ขาด

    ลำดับนั้น ด้วยเดชะอำนาจผลแห่งพระราชกุศลที่พระองค์ทรงรักษาอุโบสถศีลเป็นประธาน จึงบันดาลให้สัตตรัตนะอุบัติเกิดขึ้น คือ

    1.ทิพยรัตนะจักรแก้ว บังเกิดแต่เบื้องปุริมทิศแห่งมหาสมุทรงามบริสุทธิ์พร้อมด้วยพันแห่งกำกง อลงกต ย่อมมีมหิทธิประสิทธิสามารถจะให้สำเร็จตามความประสงค์ทุกปราการ

    2.พญาคชสารหัศดินทร์รัตนสาร คือ ช้างแก้วตัวประเสริฐ บังเกิดมีมาแต่อุโบสถตระกูลอันยิ่งใหญ่

    3.พญาอัศดรรัตนะมัย คือ ม้าแก้วสินธพชาติตัวประเสริฐบังเกิดมีแต่พลาหกตระกูลอาชาไนย

    4.ดวงจินดารัตนะมณี คือ แก้วมณีอันช่วงโชติรัศมีบังเกิดมีมาแต่บรรพคีรี

    5.ดรุณรัตนะนารี คือ นางแก้วที่เกิดคู่สำหรับบรมกษัตริย์ ซึ่งเทพเจ้าจัดสรรนำมาแต่อุตตรกุรุทวีป

    6.คหบดีรัตนะ คือ ขุนคลังแก้วผู้ประเสริฐคู่บารมี

    7.ปรินายกรัตนะ คือ พระองค์ทรงมีพระบวรดนัยเชษฐวโรรสดำรงตำแหน่งที่ปรินายกรัตนะขุนพลแก้วบริหารราชกิจให้ชาวประชาผาสุกอยู่เป็นนิตย์

    สมเด็จ พระเจ้าสาครราชจักรพรรดิทรงประกอบด้วยรัตนะทั้ง 7 ประการ ครบถ้วนบริบูรณ์ เสวยมไหศูนย์ราชสมบัติโดยราชธรรมประเพณี ทรงมีพระเดชานุภาพแผ่ไปทั่วพิภพจบสกลพื้นปฐพี มีสาครสมุทรทั้งสี่กั้นเป็นขอบเขต ทรงเสวยจักรพรรดิสุขอยู่แสนจะสำราญ

    กาล ครั้งนั้น ปรากฏมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกธาตุนี้หนึ่ง พระองค์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฎปุราณศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัฒนสูตรตามพระพุทธประเพณีอันมีสืบมา ด้วยพระมหาเดชานุภาพแห่งพระธรรมจักรของพระองค์ ที่ทรงแสดงในกาลครั้งนั้นหนักยิ่งนัก ประหนึ่งว่าพื้นแผ่นปฐพีนี้ จะทรงน้ำหนักซึ่งพระคุณไว้มิได้ ก็เกิดกัมปนาทหวาดหวั่นไหวเป็นมหัศจรรย์โลกธาตุก็เพราะให้มีอันเกิดกัมปนาท หวาดหวั่นไหวไปทั่วพื้นปฐพีนี่เอง จึงเป็นเหตุให้จักรแก้วของสมเด็จพระเจ้าสาครราชจอมจักรพรรดิเคลื่อนตกจากที่ ตั้งไว้ เป็นนิมิตให้เห็นประจักษ์ตาอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง

    แท้ จริง ธรรมดาจักรแก้วของพระบรมจักรพรรดิราชเจ้านั้น มหาอำมาตย์ราชบุรุษทั้งหลาย ย่อมมั่นคงสวยงามที่เสาสองต้นแล้วเอาเชือกผูกจักรแก้วประดิษฐานตั้งไว้มั่น คงเป็นอันดี อภิบาลรักษาอย่างถ้วนถี่ไม่มีโอกาสที่จะเคลื่อนคลาดพลาดตกลงมาได้ ครั้นเมื่อเกิดกัมปนาทไปทั่วทั้งแผ่นดินเช่นนั้น จักรแก้วก็พลันตกลงมาจากที่ตั้งอยู่ ณ ภายใต้เสาทั้งสองนั้น ฝ่ายราชบุรุษผู้อภิบาลรักษาได้เห็นแล้วก็ตกใจจึงรีบเข้าไปกราบทูลสมเด็จพระ สาครราชบรมจักรพรรดิ์ พระองค์ได้สดับก็ทรงสะดุ้งพระทัยว่าจักรแก้วนี้ ย่อมเป็นที่นับถือทั่วโลกเหตุไฉนจึงพลัดตกไปจากที่ตั้งไว้ ในกรณีเช่นนี้อันตรายแห่งชีวิตจะมีแก่เราหรือว่าอันตรายจะปรากฏมีแก่ราช สมบัติเห็นประการใด ทรงสงสัยดังนี้แล้ว จึงดำรัสถามโหราราชเนมิตทิพาจารย์ทั้งหลายว่าเป็นประการใด

    พระโหราราชครูผู้นิมิตทั้งหลาย จึงถวายพยากรณ์กราบทูลว่า
    “ข้าแต่สมมติเทวราช เหตุที่ทำให้จักรแก้วนี้เกิดมีอันเป็นเลื่อนเคลื่อนตกลงไปนั้นมีอยู่ 2 ประการ คือ

    1.เป็นนิมิตแห่งอันตรายต่อพระชมน์ของสมเด็จพระบรมจักรพรรดิ และ
    2.เป็นนิมิตแห่งเหตุที่สมเด็จพระสรรเพชญ์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติในโลก
    จักรแก้วจะเคลื่อนตกจากที่ตั้งไว้ได้ ด้วยเหตุ 2 ประการนี้เท่านั้น พระเจ้าข้า”

    สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ จึงตรัสถามต่อไปว่า
    “ก็จักรแก้วของเราที่เคลื่อนตกครั้งนี้ จะเป็นด้วยเหตุประการใดเล่า”
    พระโหราราชครูทั้งหลายจึงพร้อมใจกันตรวจดูจนแน่แก่ใจแล้ว จึงกราบทูลว่า
    “ข้า แต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ การที่จักรรัตนะตกลงมาครั้งนี้ จะได้ปรากฏเป็นนิมิตแห่งชีวิตอันตรายของพระองค์นั้น หามิได้ดอก พระเจ้าข้า โดยที่แท้ เป็นนิมิตแห่งความที่สมเด็จพระสรรเพชญ์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสใน โลกธาตุนี้แท้ทีเดียว

    ก็สมเด็จพระสรรเพชญ์สัมมาสัมพุทธ เจ้าพระองค์นั้น เมื่อเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกธาตุนี้แล้ว ย่อมทรงมีพระเกียรติศัพท์บันลือด้วยพระคุณมากมายเป็นอดุลนับไม่ได้ ทรงไว้ซึ่งเนมิตตกนามดังต่อไปนี้ คือ

    1.อรหํ ทรงเป็นพระอรหันต์กอปรด้วยพระคุณควรที่จะรับสรรพสักการะน้อยใหญ่ได้ทุก ประการของชาวโลกทั้งผองอาจทำให้เกิดอานิสงค์เนืองนองมากมาย แก่สรรพสัตว์ผู้กราบไหว้บูชา

    2.สมฺมาสมฺพุทฺโธ ทรงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ด้วยอำนาจพระบารมีธรรมที่พระองค์ได้ทรงสั่งสมมาช้านานธรรมทั้งปวงมาเกิดขึ้นพร้อมในพระหฤทัยของพระองค์เอง

    3.วิชชาจรณสมฺปนฺโน ทรงไพบูลด้วยไตรวิชาและอัษฎางควิชา พร้อมทั้งจรณะสิบห้าประการ

    4.สุคโต ทรงดำเนินไปดี เพราะมีพระนิพพานคติอันดีเป็นที่ดำเนินไป

    5.โลกวิทู ทรงรู้แจ้งโลก เพราะทรงพระสัพพัญญตญาณรู้แจ้งจบทั้งสังขารโลก (โลกแห่งความมีความเป็น) แลโอกาสโลก (โลกแห่งความว่าง)

    6.อนุตฺตโร ปุริสทมมฺสารถิ ทรงเป็นสารถีมีพระปรีชารู้ทรมานบุรุษผู้ควรทรมานอย่างประเสริฐ เลิศยิ่งในไตรภพเป็นอันดีไม่มีผู้เสมอเหมือน

    7.สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ทรงเป็นบรมครูใหญ่ ได้โอกาสตรัสพระพุทธฎีกาแก่ฝูงสัตว์ เทพยดา และหมู่มนุษย์พุทธเวไนยทั่วโลกสันนิวาส ให้สามารถบรรลุถึงคุณธรรมอันมีผลเป็นสุขพิเศษ มีพระนิพพานธรรมเป็นที่สุด

    8.พุทฺโธ พระองค์เป็นผู้ตรัสรู้แล้วเต็มที่ เป็นผู้ตื่นแล้วจากความหลับ คือ กิเลสนิทรา

    9.ภควา พระองค์ทรงเป็นผู้จำแนกธรรม และเป็นผู้มีส่วนแห่งพระบารมีมีธรรมอันจำเริญ

    โดย พระเดชานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสรรเพชญ์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐล้ำเลิศในไตรโลก จักรรัตนของพระองค์จึงหวั่นไหวให้มีอันตกลงมา จะได้มีอันตรายอันใดอันหนึ่ง ก่อนนั้นหามิได้ ขอเดชะ” พระโหราราชครูกราบทูลอธิบายอย่างยืดยาว

    สมเด็จ พระเจ้าสาครราชบรมจักรพรรดิโพธิสัตว์ได้ทรงสดับคำเนมิตตกามาตยโหราจารย์กราบ ทูลพรรณนาบรรยายโดยอเนกประการเช่นนั้น ก็ทรงมีพระกมลตื้นตันเต็มไปด้วยปีติมิอาจจะดำรงพระสติให้มั่นคงได้ จึงตรัสถามเพื่อให้แน่พระทัยว่า

    “เมื่อครู่นี้ ท่านว่ากระไรนะ พระราชครู ดูเหมือนท่านกล่าวว่า พุทโธ หรือกล่าวว่ากระไร”
    พระราชครูโหรา จึงกราบทูลสนองไปว่า
    “พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทวราช บัดนี้สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติเกิดในโลกนี้แล้วพระเจ้าข้า”
    ขณะ นั้น จึงนายเนมิตตกาจารย์ผู้หนึ่งซึ่งปัญญาดี มีความฉลาดไหวพริบรวดเร็ว ได้กระทำผ้าสไบเฉียงบ่าข้างซ้าย และยอกรประณมถวายนมัสการด้วยเบญจางคประดิษฐ์ บ่ายหน้าไปทางทิศที่ตนทราบว่าองค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าประทับอยู่ แล้วกล่าวคำประกาศพระพุทธคุณทูลซ้ำอีกว่า
    “ข้าแต่มหาราชะ สมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ พระองค์ทรงเป็นบรมไตรโลกนาถ ไม่มีผู้ใดจะยิ่งกว่า เป็นพระอริยะผู้ทรงคุณประเสริฐ เป็นพระบรมครูตรัสรู้ไญยธรรมทั้งปวงเป็นผู้จำแนกธรรม คือ มรรถผลนิพพาน ทรงพระพุทธลักษณะงดงามศิริพิลาส ข้าพระบาทได้ทราบมาว่าพระองค์ทรงปรากฏโดยพระนามขนานว่า สมเด็จพระศรีศากยมนีชินสีห์ สัมมาสัมพุทธเจ้า อนึ่งเล่า พระองค์กำลังเสด็จมาประดับอยู่ ณ มิจจีนอุทยานกรุงธัญวดีของเรานี้ พระเจ้าข้า”

    สมเด็จพระเจ้าสาครราชบรมจักรพรรดิได้ทรงสดับ ดังนี้ก็ทรงมีพระกลมโสมนัสยินดียิ่งนัก จักใคร่เสด็จไปนมัสการสักการะบูชา จึงมีพระบรมราชโองการชักชวนว่า
    “มาเถิด ชาวเราเอ๋ย เราจักพากันไปเฝ้าสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้า เพื่อเป็นกุศลส่วนทัสสนานุตตริยะการได้ทอดทัศนายอดเยี่ยม” ดำรัสสั่งแล้ว ก็ทรงจัดแจงประทีปธูปเทียนและมาลัยเครื่องสักการะบูชา เสด็จด้วยจาตุรงคิกเสนาบรมจักรพรรดิ มีเสวกามาตย์ราชบริษัทเป็นปริมณฑลแวดล้อมมากมายเสด็จไปยังมิคจีนอุทยาน ครั้นไปถึงได้ทรงทอดทัศนาการเห็นพระตถาคตเจ้า พระองค์กำลังสถิตเหนือพระบวรบัลลังก์พุทธอาสน์ ทรงงามพิลาสด้วยพระทวัตติงสมหาปุริสลักษณะและพระอสีตยานุพยัญชนะ ก็ทรงถวายอภิวาทด้วยเบญจางคประดิษฐ์ซบพระเศียรเกล้าลงแทบพระบวรพุทธบาทอัน ไพจิตรด้วยจักรลักษณะทั้งคู่ของสมเด็จพระศรีศากยมุนีโลกนาถเจ้าแล้ว จึงตรัสสดุดีสรรเสริญพระพุทธสรีระอันงามหาที่เปรียบมิได้ ด้วยพระหฤทัยอันโสมนัสชื่นชมว่า

    “โอ้ นับว่าเป็นบุญแท้ของตน เราได้ยลพระตถาคตเจ้าพร้อมทั้งได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ณ โอกาสบัดนี้ ความเห็นของเราคราวนี้ นับว่าเป็นความเห็นอย่างประเสริฐได้ การระบายลมหายใจของเราคราวนี้ ควรนับได้ว่าเป็นการระบายได้คล่อง ไม่ข้องขัด ชีวิตของเราคราวนี้ ก็จัดได้ว่าเป็นชีวิตดีมีผลประเสริฐ”
    ครั้น ตรัสสดุดีเป็นโถมนวาทีฉะนี้แล้ว สมเด็จพระเจ้าสาครจักรพรรดิราชก็บังเกิดพระปีติกล้า ทรงรำพึงในพระหฤทัยว่า “เรานี้ได้อุดมสมบัติปรากฏเยี่ยมเทียมเทพมไหศูรย์อันประเสริฐล้ำเลิศเกิดแก่ เราในชาตินี้ ก็เพราะมีอุตสาหะสร้างสมกุศลสมบารมีทานบริจาคและเป็นผู้มากด้วยศีลสมาทานไว้ แต่ชาติปางก่อน จึงอำนวยผลให้ได้ประสบสุขเห็นปานนี้ นี่เป็นส่วนหนึ่ง ก็ในอนาคตเบื้องหน้าเล่า บัดสี้สมเด็จพระตถาคตศรีศากยมุนีเจ้าได้ทรงเปลื้องพระองค์ให้พ้นจากทุกข์ใน วัฏสงสารได้แล้ว ทั้งยังทรงนำสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ในวัฏสงสารได้แล้ว ทั้งยังทรงนำสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ได้ด้วยฉันใด แม้เรานี้ก็จะตั้งใจเปลื้องตนให้หลุดพ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสารแล้วจะนำสัตว์ ทั้งหลายอื่นให้หลุดพ้นได้ด้วยฉันนั้น” เมื่อทรงมีพระมนัสมุ่งหมายซึ่งพระโพธิญาณดังนี้แล้วก็ถวายบังคมลาลุกจาก อาสน์ทำประทักษิณสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคศรีศากยมุนีแล้วก็เสด็จกลับคืนสู่พระ นคร

    ครั้นเสด็จมาถึงแล้ว ก็ทรงเร่งร้อนดำรัสสั่งให้ราชบริพารนำเอาแก่นจันทร์บริบูรณ์ด้วยสีและกลิ่น มาเป็นอันมาก รับสั่งให้ประชุมนายช่างก่อสร้างทั้งหลายมากมายหลายหมวดหลายกองเร่งให้สร้าง ปราสาทกุฏีอันเป็นที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์ด้วยไม้แก่นจันทร์มากมายหลายหลัง แล้วรับสั่งให้สร้างกุฏีศาลามณฑปที่พักผ่อนที่หลีกเร้นในราตรีทิวาวัน สร้างหอฉัน ที่จงกรม โรงไฟและซุ้มทวาร ล้วนแล้วแต่แก่นจันทร์อีกเช่นกัน ในวาระสุดท้าย ทรงให้เรียกนายช่างชั้นเอกมาประชุมกันออกแบบสร้างพระคันธกุฏีที่ประทับองค์ สมเด็จพระผู้มีพระภาคสวยงามวิจิตรสัมฤทธิ์ด้วยแก่นจันทร์มีกลิ่นหอม ครั้นพระมหาวิหารอันสร้างด้วยไม้แก่นจันทร์สำเร็จลงเรียบร้อยทุกประการแล้ว สมเด็จพระเจ้าสาครบรมโพธิสัตว์แวดล้อมด้วยราชบริวารเสด็จออกมาเฝ้าสมเด็จพระ ผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทรงถวายอภิวาทกราบทูลถวายพระมหาวิหารว่า

    “ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าข้า พระมหาจันทนวิหารนี้ ข้าพระบาทสร้างถวายเฉพาะพระพุทธองค์ ขอพระพุทธองค์จงทรงพระมหากรุณาอนุเคราะห์ข้าพระบาท ขอจงรับเสนาสนะมหาจันทวิหารแห่งข้าพระบาทนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า”
    ครั้นกราบ ทูลถวายมหาจันทนวิหารฉะนี้แล้วก็ทรงนำเสด็จพระพุทธดำเนินเข้าสู่ภายในวิหาร ถวายอาหารบิณฑบาตทานแก่พระอริยสงฆ์มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น ประธาน พร้อมกับทรงอุทิศถวายเครื่องอุปกรณ์ทานอีกมากมาย ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองแล้ว ทรงมีพระกมลผ่องแผ้วชื่นชมโสมนัส บัดนั้น สมเด็จพระบรมจักรพรรดิสาครราชบรมโพธิสัตว์จึงเปล่งพระวจีปณิธานว่า
    “ด้วย เดชะอำนาจแห่งบุญกรรมนี้ ขอจงเป็นปัจจัยราสีเสริมส่งให้ข้าพระองค์ได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนาม ว่า พระศากยมุนีโคดม เสมอด้วยพระนามพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ด้วยเถิด”
    ครั้นตรัสฉะนี้แล้ว พระองค์จึงทรงตั้งวจีปณิธาน ซ้ำลงไปอีกว่า
    “พระ บรมไตรโลกนาถเจ้านี้ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงสามารถยังสัตว์ทั้งหลายให้รู้ได้ด้วยฉันใด ข้าพระบาทจักขอตรัสเป็นพระพุทธเจ้าจะยังสัตว์ทั้งหลายให้รู้ได้ด้วยฉันนั้น พระผู้ทรงพระภาคผู้นาถะของโลกนี้ ได้ล่วงพ้นจากสงสารแล้ว ทรงสามารถยังสัตว์ทั้งหลายให้ล่วงพ้นได้ด้วยฉันใด ข้าพระบาทขอจงได้เป็นนาถะของโลกล่วงพ้นจากทุกข์ในสงสารแล้ว และสามารถยังสัตว์ทั้งหลายให้ล่วงพ้นได้ด้วยฉันนั้น พระผู้มีพระภาคนาถะของโลกนี้ ทรงข้ามได้แล้วจากโลกและย่อมยังสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามได้ด้วยฉันใด ขอข้าพระบาทจงได้เป็นพระโลกนาถะข้ามได้แล้วจากโลก และยังสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามได้ด้วยฉันนั้นเถิด”

    ลำดับนั้น สมเด็จพระปุณาณศรีศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า
    “ดูกรมหาบพิตร การที่จะปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมินั้น ย่อมเป็นการยากยิ่งนักที่บุคคลจะทำสำเร็จได้ ถ้าพระองค์ใคร่จะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จงค่อยสดับความอุปมาดังนี้ คือในเมื่อห้วงจักรวาลอันกว้างลึกสุดที่ประมาณ เต็มไปด้วยภูเขาเหล็กลุกเป็นไฟโพลงอยู่ไม่รู้ดับและมีพื้นเบื้องต่ำตาม ระหว่างๆ ข้างซอกแห่งภูเขานั้นเต็มไปด้วยน้ำทองแดงที่ร้อนแรงจนเหลวละลายไหลเหลว คว้างๆ อยู่ดูดุจมหากุมภีนรก ผู้ใดมีน้ำใจกล้าหาญเด็ดเดี่ยว สามารถที่จะว่ายน้ำทองแดงไปได้ด้วยกำลังแขนของตน จนตลอดถึงฟากจักรวาลโน้นได้ โดยมิได้อาลัยถึงเลือดเนื้อร่างกายและชีวิต ผู้มีน้ำจิตองอาจเห็นปานนี้จึงจะทำตนให้ถึงพุทธภาวะความเป็นพระพุทธเจ้าได้ นี่แหละมหาบพิตร พระพุทธภูมิสำเร็จได้โดยยากดังกล่าวมานี้ ขอจงทราบไว้ในพระทัยเถิด”
    สมเด็จพระบรมจักรพรรดิ ได้ทรงสดับพระบรมพุทธาธิบายเปรียบดังนั้น ด้วยกำลังพระปีติกล้า ก็ทรงออกพระวาจารับเอาว่า
    “ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าข้า ข้าพระบาทนี่แลจะก้มหน้าว่ายข้ามแม่น้ำทองแดงร้อนนั้นไปให้ได้ อย่าว่าแต่สิ่งที่มีในมนุษยโลกที่พระองค์ทรงพระมหากรุณาชักอุปมาเปรียบเทียบ มานี่เลย ถึงแม้ว่าพระสัพพัญญตญาณจะมีอยู่ใต้อเวจีมหานรกก็ดี ตัวข้าพระบาทนี่แลพระเจ้าข้า จะสู้ก้มหน้าดำด้นลงไปค้นคว้าหาพบให้จงได้”
    สมเด็จ พระปุราณศรีศากยมนีได้สดับดังนั้น ก็ทรงทราบด้วยพระสัพพัญญตญาณว่า ปณิธานของพระบรมจักรพรรดิพุทธางกูรโพธิสัตว์นี่ นานไปอีกแสนนานถึง สิบสองอสงไขยกับเศษแสนมหากัปจึงจักสำเร็จได้ และพระราชาผู้นี้จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าพระศรีศากยมุนีโค ดมเสมอด้วยนามเราตถาคตนี้ เมื่อพระองค์ทรงทราบชัดฉะนี้จึงมีพระพุทธฎีกาดำรัสเป็นพระโอวาทว่า
    “ดูกรมหาบพิตร ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์ซึ่งพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว จงทรงบำเพ็ญพระบารมี 30 ให้ครบบริบูรณ์เถิด”
    ฝ่าย สมเด็จพระเจ้าสาครราชบรมจักรพรรดิเจ้า ครั้นได้ทรงสดับพระพุทธโอวาทดังนั้น ก็มีพระกมลโสมนัสเป็นนักหนาประหนึ่งว่า ตนจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันพรุ่งนี้ก็ปานนั้น จำเดิมแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระองค์ก็ทรงบริจาคทรัพย์สมบัติทั้งหลายเป็นอันมาก กระทำบุญสร้างกุศลปลูกฝังไว้ในพระบวรพุทธศาสนา แต่ยังหาทรงอิ่มในพระทัยไม่ ในภายหลัง จึงได้ออกบรรพชาบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์องค์สาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงพระอุตสาหะหมั่นศึกษาในทางคันถธุระจนชำนิชำนาญในพระไตรปิฏกแล้ว จึงทรงบำเพ็ญเพียรในสมถกรรมฐานภาวนาอภิญญามิให้เสื่อม ครั้นสิ้นพระชมมายุแล้ว ก็ขึ้นไปอุบัติเกิดในรูปาพจรพรหมโลก
    การ สร้างพระพุทธบารมีที่เล่ามานี้ เป็นการสร้างพระบารมีตอนกลาง คือ ตอนเปล่งวจีปณิธานออกโอษฐปรารถนาพระพุทธภูมิของสมเด็จพระบรมครูเจ้าของเรา ทั้งหลายแต่เพียงชาติแรกชาติเดียว ต่อจากชาตินี้ไป พระองค์ก็ได้ทรงเปล่งพระวาจาปรารถนาพุทธภูมิต่อพระพักตร์ของสมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้าอีกมากมาย จนไม่สามารถจะนำมากล่าวไว้ในที่นี่ให้หมดสิ้นลงได้ จำไว้ง่ายๆ ก็แล้วกันว่า องค์สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้าที่ทรงมีพระมหากรุณาประทานคำสอนไว้ ให้พวกเราได้ประพฤติปฏิบัติทุกวันนี้นะ พระองค์สร้างพระบารมีตอนเปล่งวจีปณิธานนี้ เป็นเวลานานได้ 9 อสงไขย

    พรรณนา ในวจีปณิธาน ความปรารถนาตอนออกโอษฐเปล่งพระวาจาว่าจะตรัสรู้แห่งองค์สมเด็จพระบรมครูศรี ศากยมุนีโคดมเห็นสมควรจะยุติลงไปแล้ว จึงขอยุติลง ด้วยประการฉะนี้
     

แชร์หน้านี้