เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๓
...อาตมาต้องขอยึดคำของสมเด็จพระบรมครู ที่ตรัสไว้ว่า การพยากรณ์มรรคผลเป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะโดยสาวกวิสัย แม้จะเป็นพุทธภูมิเก่าขนาดพระมหากัสสปะเถระเจ้า องค์ประธานในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๑ ก็ตาม ครั้งที่ท่านคิดจะแบ่งเบาภารกิจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการตรวจดูอุปนิสัยสัตว์โลกเพื่อที่จะได้ไปสงเคราะห์แทน
เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบ ก็เสด็จมาห้ามไว้ ตรัสว่านี่เป็นพุทธวิสัยเท่านั้น บุคคลที่เป็นสาวก ไม่ได้มีสัพพัญญุตญาณ ไม่อาจจะรู้รอบในทุกเรื่องเหมือนดังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไม่ใช่หน้าที่ของเธอที่จะทำอย่างนี้
เมื่อเป็นดังนั้น การที่ท่านมาถามว่า ปฏิบัติแล้วจะได้มรรคได้ผลหรือไม่ ? จะได้มรรคได้ผลเมื่อไร ? จะเห็นว่าอาตมาไม่เคยตอบเลย ถ้าท่านรู้สึกไม่ถูกใจ จะไปหาสำนักที่เขาตอบให้ก็ได้ แต่ขอยืนยันว่า มีโอกาสผิดพลาดสูง มีโทษมากกว่าประโยชน์ ถ้าเขาบอกว่าท่านจะได้มรรคผลแน่นอน แล้วท่านตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ ก็เพียงเท่าทุนเท่านั้น แต่ถ้าหากเขาพยากรณ์ว่าท่านได้มรรคผลแน่นอน แล้วท่านนอนรอเฉย ๆ ถ้าอย่างนี้ก็จะขาดทุนมาก เพราะว่าไม่มีใครสามารถบรรลุธรรมได้ด้วยการนอนรออยู่เฉย ๆ
เมื่อเป็นดังนี้ จึงอยากให้ทุกท่านสังวรไว้ว่า อย่าเที่ยวไปถามส่งเดช ถ้าเราชอบใจกรรมฐานกองไหน ให้คว้าเอากองนั้นขึ้นมาปฏิบัติได้เลย โดยควบกับอานาปานุสติ และในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ถึงที่สุดไปเลย คือสามารถทรงฌาน ๔ เต็มระดับในกรรมฐานกองนั้น ๆ
แม้ว่ากรรมฐานบางอย่าง อย่างเช่น อนุสติ ๑๐ อรรถกถาจารย์ท่านจะอธิบายไว้ว่า นอกจากอานาปานุสติแล้ว ที่เหลือจะเข้าได้อย่างสูงสุดแค่ปฐมฌานเท่านั้น สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราก็สามารถนำมาประยุกต์ได้ โดยควบกับอานาปานสติ ทำให้สามารถที่จะก้าวขึ้นสู่ฌาน ๔ หรือสมาบัติ ๘ ก็ได้ พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าทำเป็น ก็สามารถทำจนถึงฌาน ๔ หรือสมาบัติ ๘ ได้ทุกกอง
ถ้าหากว่าท่านทำไปแล้วยังไม่เห็นผล แล้วไปทิ้งกรรมฐานกองเดิม มาจับกรรมฐานกองใหม่ เมื่อคว้ากองใหม่ไประยะหนึ่งยังไม่เห็นผล ท่านก็ทิ้ง ไปคว้ากองอื่นอีก ถ้าอย่างนี้จะกลายเป็นว่า ทำไปทั้งปีก็ไม่มีประโยชน์
เนื่องจากว่า กรรมฐานนั้นจะยากแค่กองแรกเท่านั้น ถ้าเราปฏิบัติกองแรกจนได้ฌาน ๔ เต็มระดับแล้ว กรรมฐานกองอื่น ๆ กำลังก็ไม่เกินไปจากนี้ เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการนิดหน่อยเท่านั้นเอง
ดังนั้น..ขอให้ทุกคนมีสัจจะบารมี คือแน่วแน่มั่นคงต่อกรรมฐานเดิมของเรา พยายามทุ่มเทกับการปฏิบัติให้เต็มที่ ชนิดที่ขอแลกด้วยชีวิต คือถึงตายลงไปก็ยอม เพื่อให้ได้ความดีตามที่เราปรารถนา ถ้าท่านทั้งหลายทุ่มเทแบบนี้ โอกาสที่จะได้ดีก็มีสูงมาก เมื่อเราปฏิบัติได้เต็มที่ในกองกรรมฐานนั้น ๆ ของเราแล้ว ค่อยเปลี่ยนไปปฏิบัติในกองกรรมฐานอื่น ๆ ต่อไป
ที่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะว่าระยะนี้มีคนมาถามมาก โดยเฉพาะญาติโยมบางท่าน เชื่อมั่นว่าอาตมารู้จึงมาสอบถาม ก็อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การพยากรณ์นั้นเป็นหน้าที่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคลอื่นจะมาพยากรณ์มรรคผลถือว่าผิดมารยาท และในขณะเดียวกัน พระสาวกทั่วไปไม่ได้มีสัพพัญญุตญาณอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โอกาสที่จะพยากรณ์ผิดหรือว่าให้กรรมฐานผิดพลาดนั้นย่อมมีอยู่
เราจะควรเชื่อองค์สมเด็จพระบรมครู ในตรงที่ว่า ยึดเอาอานาปานุสติเป็นหลัก ควบกับพุทธานุสติเข้าไว้ หรือว่าปฏิบัติในกรรมฐานกองอื่น กองใดกองหนึ่งก็ตาม ก็ให้ทุกท่านทุ่มเทปฏิบัติจนกระทั่งเข้าถึงที่สุดของกรรมฐานกองนั้นจริง ๆ แล้วค่อยเปลี่ยนไปปฏิบัติในกองใหม่ต่อไป
สำหรับตอนนี้ก็ขอให้ทุกท่าน กำหนดใจจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกและคำภาวนาของเรา หายใจเข้ากำหนดรู้ตามไป หายใจออกกำหนดรู้ตามไป ถ้าหากว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพร่างกาย หรือว่าลมหายใจเข้าออกตลอดจนคำภาวนา ก็ให้กำหนดใจรับรู้ไว้เฉย ๆ อย่าไปตื่นเต้นหรือหวาดกลัว แค่กำหนดรู้ว่า ตอนนี้มีอาการอย่างนี้ ๆ เกิดขึ้น กำลังใจของเราก็จะดิ่งลึกเป็นสมาธิขั้นที่สูงขึ้นไปกว่าเดิมเอง
ขอให้ทุกคนกำหนดความรู้สึกทั้งหมด อยู่กับลมหายใจเข้าออกและคำภาวนาเรื่อยไป จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกว่าหมดเวลา
พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันเสาร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๓
ที่มา วัดท่าขนุน
การฝึกกรรมฐาน (สมาธิ) จะยากแค่กองแรกเท่านั้น เมื่อทำได้ถึงที่สุดแล้ว ที่เหลือก็ไม่ยาก
ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย Apinya Smabut, 8 พฤษภาคม 2019.