การเพ่งโทษผู้อื่น การที่ชอบตำหนิผู้อื่น คืออย่างเดียวกันหรือไม่

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 27 ตุลาคม 2018.

  1. นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,335
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462


    ถาม : การเพ่งโทษผู้อื่น กับการที่ชอบตำหนิผู้อื่น คืออย่างเดียวกันหรือไม่ครับ ?

    ตอบ : เป็นกำลังใจที่ประกอบไปด้วยโทสะจริตเหมือนกัน

    ถาม : การเพ่งโทษผู้อื่นยังมีความหมายนอกเหนือไปจากนี้อีกหรือไม่ครับ ?

    ตอบ : มีอย่างเดียว คือ ให้มองว่าสิ่งที่เขาทำนั้น ถ้าดีเราจะทำตามถ้าไม่ดี เราจะไม่ทำเช่นนั้น ไม่อย่างนั้นแล้วการเพ่งโทษผู้อื่นมีแต่โทษล้วน ๆ ไม่มีประโยชน์เลย พระพุทธเจ้าท่านให้กล่าวโทษโจทย์ตัวเองไม่ใช่ไปโจทย์ผู้อื่น

    ถาม : ทำไมเวลาที่ผมตำหนิผู้อื่น ใจจึงขุ่นมัว ขณะที่หลวงปู่ หลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ที่ผมพบเจอมา ไม่เห็นท่านจะเศร้าหมองขุ่นมัวเวลาตำหนิผู้อื่นเลยครับ ?

    ตอบ : ก็มึงไม่ใช่ท่าน...! จะเอาหิ่งห้อยไปเทียบกับพระจันทร์

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เก็บตกจากบ้านเติมบุญ ต้นเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐
    ที่มา : เว็บวัดท่าขนุนดอทคอม


    ***************************************

     
  2. Norawon สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 กุมภาพันธ์ 2018
    โพสต์:
    197
    ค่าพลัง:
    +208
    สาธุครับ
     
  3. madeaw23 สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2017
    โพสต์:
    209
    ค่าพลัง:
    +188
    กราบสาธุครับ
     
  4. นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,335
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
    วันนี้มีบุคคลถามปัญหาว่า การที่เราสนใจจริยาผู้อื่นนั้น มีขอบเขตเพียงใด ? การสนใจในจริยาของผู้อื่นนั้นส่วนใหญ่แล้วจะก่อให้เกิดรัก โลภ โกรธ หลง ขึ้นในใจของพวกเรา

    สมัยที่ยังอยู่วัดท่าซุง พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงย้ำนักย้ำหนาว่า อย่าสนใจจริยาของคนอื่น ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด แต่ในเมื่อญาติโยมสงสัยจึงได้ให้คำอธิบายไปว่า บุคคลบางประเภทก็ต้องสนใจในจริยาของคนอื่น บุคคลบางประเภทห้ามสนใจในจริยาของคนอื่นอย่างเด็ดขาด

    บุคคลที่ต้องสนใจในจริยาของคนอื่น อย่างเช่น ผู้บังคับบัญชา ถ้าไม่สนใจจริยาความประพฤติของผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่มีการว่ากล่าวตักเตือนเมื่อเขาทั้งหลายเหล่านั้นทำผิด ก็อาจจะสั่งสมจนกลายเป็น สันตานานุสัย ที่ฝังรากลึกอยู่ในใจของแต่ละคน ก่อให้เกิดผลร้าย และอาจจะถึงขนาดทำให้หน่วยงานนั้น ๆ พังทลายลงไปได้

    ดังนั้น..บุคคลที่เป็นผู้บังคับบัญชา อย่างเช่น ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหาร เจ้าอาวาส ผู้อำนวยการ ผู้จัดการ หรือหัวหน้าคนงานเหล่านี้ จำเป็นต้องสนใจจริยาของผู้อื่น แต่ต้องไม่ประกอบไปด้วยอคติทั้ง ๔ คือ ต้องไม่ลำเอียงเพราะรัก (โลภ) ลำเอียงเพราะโกรธ ลำเอียงเพราะกลัว ลำเอียงเพราะหลง

    ในส่วนของบุคคลทั่วไป ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรม ไม่ควรสนใจจริยาของบุคคลอื่น แต่ถ้าจะสนใจจริยาของคนอื่นนั้น ให้ดูในลักษณะที่ว่า บุคคลนี้ประพฤติดีแล้ว ถูกต้องแล้ว สมควรที่เป็นแบบอย่างให้เราประพฤติปฏิบัติตาม แล้วก็เอาตัวอย่างนั้น ๆ มาประพฤติปฏิบัติ เพื่อสร้างความเจริญให้แก่ตัวเรา เมื่อเห็นบุคคลที่ทำไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมก็ตาม เราก็เอามาเป็นบทเรียนสอนใจว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราจะไม่กระทำอย่างเด็ดขาด

    แต่ในส่วนของการสนใจจริยาคนอื่นเพื่อเป็นบทเรียนแก่ตนนั้น ก็ต้องระมัดระวังไว้ อย่าให้เกิดตัวปฏิฆะหรืออารมณ์กระทบขึ้น เพราะถ้าเกิดปฏิฆะเมื่อไร เราก็จะมีความโน้มเอียงไปในทางที่จิตใจเศร้าหมอง ก่อให้เกิดรัก โลภ โกรธ หลง ขึ้นในใจของเรา

    ดังนั้น..ครูบาอาจารย์จึงมักจะเตือนว่าอย่าสนใจในจริยาคนอื่น โดยเฉพาะพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุง ท่านเตือนลูกศิษย์อยู่เสมอ ท่านบอกว่าให้ใช้ อัตตนา โจทยัตตานัง คือการกล่าวโทษโจทย์ตนเองเอาไว้เสมอ ว่าเรายังมีข้อผิดพลาด ข้อบกพร่องที่ใดบ้าง แล้วพยายามแก้ไขให้ดีขึ้น เพื่อให้มีกาย วาจา และใจที่ดีขึ้นกว่านี้

    และให้ใช้ นิสสัมมะ กะระณัง เสยโย คือใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงคิด จึงพูด จึงทำ ดังที่ผู้รู้บางท่านกล่าวว่า ให้คิดทุกอย่างที่เราจะทำ แต่อย่าทำทุกอย่างที่เราคิด ถ้าเรารู้จักตักเตือนตัวเองก่อน เราก็จะกระทำในสิ่งที่ถูกที่ควรมากกว่า โอกาสที่จะผิดพลาดก็มีน้อยลง

    ดังนั้น..เมื่อตั้งคำถามว่า การสนใจจริยาของคนอื่นนั้นมีขอบเขตขนาดไหน ? ขอตอบว่า การที่เราสนใจจริยาคนอื่นนั้น ถ้าเอามาเป็นตัวอย่างในการประพฤติปฏิบัติของเรา ก็สามารถที่จะสนใจได้ แต่ต้องระมัดระวัง ตั้งกำลังใจให้เป็นกลาง อย่าไปยินดียินร้ายกับความประพฤติที่เราเห็น ไม่เช่นนั้นจะก่อให้เกิดโทษ รัก โลภ โกรธ หลงเกิดขึ้น ทำให้จิตใจของเราเศร้าหมอง ถ้าตายตอนนั้นก็ตกสู่อบายภูมิ

    ในส่วนที่เป็นผู้บังคับบัญชา จำเป็นที่จะต้องสนใจจริยาของผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อให้รู้ว่าแต่ละท่านมีความประพฤติปฏิบัติอย่างไร จำเป็นจะต้องแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างไร แต่ต้องไม่ประกอบไปด้วยอคติทั้ง ๔ คือลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะโกรธ ลำเอียงเพราะกลัว ลำเอียงเพราะหลง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะได้เป็นข้อเตือนใจแก่เราว่า การสนใจจริยาของผู้อื่นนั้น ถ้าวางกำลังใจถูกต้องก็สามารถที่จะสนใจได้ แต่ถ้าวางกำลังใจผิดพลาด เราไปสนใจก็มีแต่ขาดทุน เพราะทำให้จิตใจของเราเศร้าหมองลงไปทุกที เป็นต้น

    เราทุกคนที่เป็นนักปฏิบัติ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำการขัดเกลากาย วาจา และใจ ของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะว่าการปฏิบัติในหลักธรรมะนั้น ท่านบอกว่าทำไปแล้วต้องประกอบไปด้วย อัปปิจฉตา คือความมักน้อย สันตุฏฐิตา คือความสันโดษ สัลเลขตา คือการขัดเกลา กาย วาจา ใจ ของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ปวิเวกตา คือการหลีกออกจากหมู่ ไม่คลุกคลีกับคนอื่นที่เป็นเหตุให้จิตใจของตนเองฟุ้งซ่าน เป็นต้น

    ถ้าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นแก่เรา ก็เป็นเครื่องวัดว่าการปฏิบัติของเรามีความก้าวหน้าเท่าไร แต่ถ้าปฏิบัติไปแล้วสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น ก็อาจจะแปลว่าเราหลงไปผิดทางก็ได้ จึงต้องระมัดระวัง ดึงกำลังใจของตนให้กลับมาอยู่กับร่องกับรอย อยู่กับศีล อยู่กับสมาธิ อยู่กับปัญญา อย่าไปฟุ้งซ่านด้วยการไปสนใจจริยาของผู้อื่น เป็นต้น

    ลำดับต่อไปนี้ ก็ขอให้ทุกท่านกำหนดลมหายใจเข้าออก พร้อมกับคำภาวนาหรือพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันเสาร์ที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๕

    ที่มา www.watthakhanun.com




    ************************************

     

แชร์หน้านี้