-
<TABLE cellSpacing=3 cellPadding=0 width="100%" align=center border=0><TBODY><TR><TD>
</TD></TR></TBODY></TABLE>
ความรัก เป็นคำที่มีความหมายได้หลายอย่างและมีได้หลายรูปแบบ
คำที่มีความหมายในกลุ่มเดียวกัน ได้แก่ ความชอบ ความสนใจ ความพึงพอใจ ความดึงดูดใจ ความหลงใหล ความคลั่งไคล้ ความลุ่มหลง
จอห์น ลี (John Lee) ได้เขียนหนังสือชื่อ The colors of love แยกความรักออกเป็น 6 ชนิดคือ
1. Eros เป็นความรักที่มีความใคร่เกี่ยวข้องและมีความปรารถนาที่จะรวมกับบุคคลที่รัก
2. Mania เป็นความคลั่งไคล้ และมีความต้องการสูง ซึ่งมักก่อให้เกิดความเจ็บปวด และความวิตกกังวลเพราะมีความต้องการความสนใจจากอีกฝ่ายหนึ่งมากอย่างไม่สิ้นสุด
3. Ludis เป็นความรักในลักษณะคล้ายกับต้องการชนะการแข่งขัน เพื่อสนองความหลงตัวเอง หรือความเห็นแก่ตัว
4. Storge เป็นความรักแบบเพื่อน เป็นความรักที่สงบและแน่นแฟ้นระหว่างเพื่อนสนิท
5. Agape เป็นความรักที่มีแต่ความเมตตา อดทนและให้อภัยเสมอ
6. Pragma เป็นความรักที่มีเหตุผล และได้พิจารณาตรึกตรองดีแล้ว
ความรักของคนเราที่มีต่อบุคคลต่างๆ จึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และอาจมีรูปแบบแตกต่างกันได้ เช่น ความรักต่อพ่อแม่ ความรักต่อลูก ความรักต่อเพื่อน ความรักแบบหนุ่มสาว ความรักต่อสังคมและประเทศชาติ ฯลฯ
แฮทฟิลด์ และวอลสเตอร์ (Hatfield and Walster) กล่าวถึงความรัก 2 ชนิดคือ
1. Passionate love เป็นความรักที่มีความใคร่เป็นส่วนสำคัญ และมีอารมณ์หลายอย่างเกี่ยวข้อง ทั้งความอ่อนโยน ความสนุกสนานครื้นเครง ความเจ็บปวด ความวิตกกังวล ความสบายใจ ความเสียสละและความหึงหวง
2. Companionate love เป็นความรักแบบมิตรและมีความผูกพัน มีความเข้าใจ และห่วงใยในสวัสดิภาพของคนที่รัก ความรักแบบนี้มีอารมณ์รุนแรงน้อยกว่า
มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งเสริมให้คนเกิดความรักบุคคลอื่นได้ง่ายขึ้น การวิจัยพบว่า โอกาสในการเกิดความรักขึ้นกับปัจจัยต่างๆ คือ
1. ความใกล้ชิด เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเกิดความรักกันได้ง่ายขึ้น คนที่อยู่ใกล้ชิดกันหรือทำงานร่วมกัน จึงมักกลายเป็นเพื่อนสนิท เป็นคนรัก หรือแต่งงานกัน ทั้งนี้เพราะความใกล้ชิดทำให้คนมีโอกาสผ่านประสบการณ์ต่างๆ ที่ดีๆ ร่วมกันได้มาก
2. ความดึงดูดใจทางกายภาพ คนที่มีรูปร่างหน้าตาดี มีโอกาสที่คนจะมาหลงรัก มากกว่าคนที่ไม่สวย ไม่หล่อ ทั้งนี้เพราะความสวยงามเป็นสิ่งที่คนทั่วไปปรารถนา และค่านิยมของคน มักมีความภูมิใจที่มีคู่ควงหน้าตาดี อีกทั้งมักมีใจเอนเอียงจะเชื่อว่า "ความสวยคือความดี" หรือ "คนสวยเป็นคนดี" อยู่แล้ว คนสวยทำอะไรจึงมักได้รับความชื่นชม ทำผิดก็ได้รับการอภัย
3. ความเหมือนหรือคล้ายกัน คนเรามักชอบคนที่มีหลายๆ สิ่งคล้ายคลึงกัน เช่น นิสัยใจคอ ค่านิยม งานอดิเรก รสนิยม เจตคติ ฯลฯ เหตุผลอาจเป็นเพราะมีความรู้สึกว่า จะสามารถเข้ากันได้ง่ายกว่า มีอยู่บ้างที่บางคนอาจชอบคนที่มีลักษณะแตกต่างจากตน แต่ก็ต้องเป็นแบบที่เข้ากันได้ คล้ายกับการต่อภาพให้สมบูรณ์
การรักชอบบุคคลที่มีความคล้ายตัวเองนั้น อย่างน้อยก็เป็นการเสริมความรู้สึกภูมิใจว่าตนเองนั้นใช้ได้ บางครั้งความเหมือนกันอาจมีน้อยกว่าที่เป็นอยู่ในความเป็นจริง แต่ความเอนเอียงทำให้รับรู้ว่าคนที่รักนั้น คล้ายกับตัวเองมากกว่าที่เป็นจริง เมื่อใกล้ชิดกันแล้วก็อาจพยายามโน้มน้าวให้คนรักมีการปฏิบัติตัว และเปลี่ยนเจตคติให้เหมือนตนยิ่งขึ้นอีก
ในกรณีที่คนบางคนมีความสนใจชอบพอคนอื่นในลักษณะที่ต่างจากนี้ เช่น รักคนที่มีความแตกต่างกันมากๆ ทั้งฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ
การศึกษา อายุ เชื้อชาติ คงต้องหาคำอธิบายที่มีเหตุผลเพียงพอ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นด้วยปมบางอย่างที่อยู่ในจิตไร้สำนึกของเขา
ความรักเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในชีวิตของคนทุกคนและมีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิต คนที่เกิดมาได้รับความรักจากพ่อแม่และบุคคลในครอบครัวอย่างเหมาะสม มักมีพัฒนาการทางจิตใจที่ดี และเติบโตเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี
คนที่มีสุขภาพจิตดี ต้องรู้จักให้และรับความรักอย่างเหมาะสม เริ่มตั้งแต่รักตัวเองเป็น รักพ่อแม่ญาติพี่น้อง รักเพื่อน รักคู่ครอง รักลูกและรักเพื่อนมนุษย์ ตลอดจนรักเพื่อนร่วมโลกอื่นๆ ด้วย
คนที่รักใครไม่เป็น หรือชิงชังคนทั่วไปหมด เป็นคนที่มีสุขภาพจิตไม่ดีอย่างแน่นอน และมักมีพยาธิสภาพที่เกิดจากพัฒนาการในวัยเด็ก
เด็กเล็กๆ เรียนรู้ความรักจากพ่อแม่ เด็กสามารถรู้สึกได้ถึงความรักของพ่อแม่ที่แสดงต่อลูก เมื่อได้รับความรักอย่างเหมาะสม ก็เริ่มเรียนรู้ที่จะรักพ่อแม่บ้าง ส่วนใหญ่แล้วในตอนเล็กๆ มักเป็นความผูกพัน ร่วมกับความต้องการพึ่งพิง (dependency need)
เมื่อโตเข้าสู่วัยรุ่น เริ่มเรียนรู้ที่จะรักเพศตรงข้าม โดยมีแรงขับทางเพศเป็นส่วนประกอบ ความรักของวัยรุ่น มักมีอารมณ์เป็นพื้นฐาน ยังไม่มีการใช้เหตุผลมากนัก จึงยังไม่จริงจังและมักเปลี่ยนแปลงได้ ความรักแบบนี้จึงคล้ายกับการเล่น ซึ่งอาจเกรียกว่าความรักแบบลูกสุนัข (puppy love)
ความรักที่มีเหตุผล จะเกิดขึ้นเมื่อคนมีพัฒนาการจนมีวุฒิภาวะ (maturity) จึงรู้จักใช้ความคิดพิจารณาเหตุผล และตัดสินใจรักบุคคลที่เหมาะสม ความรักแบบนี้จึงเป็นแบบที่ไม่มีพิษมีภัย สามารถให้คำอธิบายได้ว่า ทำไมจึงรักมิใช่เพียงแค่รู้ว่ารักคนนั้นคนนี้ แต่ไม่สามารถตอบได้ว่า ทำไม
ความรักแบบมีความใคร่ร่วมด้วย มักก่อให้เกิดความคาดหวังสูง การที่มีอารมณ์หลายอย่างเกี่ยวข้อง มักทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย และถ้าประสบความผิดหวังก็อาจมีปฏิกิริยารุนแรง
คนที่คิดจะมีความรัก ควรรู้จักประเมินตนเองก่อนและเลือกรักคนที่เหมาะสม โดยต้องไม่คาดหวังสูงเกินไปและเตรียมใจไว้เผื่อความผิดหวังบ้าง
ความผิดหวังในความรัก หรืออกหัก เป็นประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่เคยพบมาบ้างในชีวิต แต่ปฏิกิริยาต่อการอกหัก มักไม่รุนแรงและมีระยะเวลาจำกัด
คนที่อกหักและฆ่าตัวตาย เกิดขึ้นเพราะคนนั้นมีพยาธิสภาพในจิตใจของเขาเอง ซึ่งมีได้หลายรูปแบบ เช่นไม่เคยได้รับความรักจากพ่อแม่หรือใครอื่น จึงมาคาดหวังจากบุคคลอื่น และทุ่มเทมากเกินไป การถูกสลัดรัก อาจเป็นการรื้อฟื้นความรู้สึกว่าถูกรังเกียจ (rejection) ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในชีวิตเขา
ความรักเป็นประสบการณ์ที่สำคัญของชีวิตเราทุกคน เป็นกลไกลสำคัญที่ทำให้ชีวิตบนโลกดำเนินต่อไป และมีการสืบเผ่าพันธุ์
จงรู้จักรักให้เป็น และใช้ความรักในทางที่สร้างสรรค์ สุขภาพจิตก็ดีจะดีไปด้วยค่ะ