ความเป็นมา ของพระไตรปิฎก

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย aprin, 28 กรกฎาคม 2009.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    สูกรมัททวะคืออะไร

    ทีนี้มาถึงคำถามว่า สูกรมัททวะคืออาหารประเภทใดกันแน่ ตามที่เราแปลกันมาในสายเถรวาท สูกรมัททวะ หมายถึง เนื้อสุกรอ่อน แต่มันคือเนื้อสุกรอ่อนจริงหรือ ขออภิปรายพร้อมยกหลักฐานมาประกอบดังนี้ครับ

    สูกรมัททวะคืออะไร ในหนังสือชั้นอรรถกถาชื่อ สุมังคลวิลาสินี แต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดียเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ได้ประมวลการตีความไว้ ๓ ทรรศนะด้วยกัน ดังนี้

    (๑) สูกรมทฺทวนฺติ นาติชิณฺณสฺส เอกเชฏฺฐกสูกรสฺส ปวตฺตมํสํ สูกรมัททวะ ได้แก่ ปวัตตะมังสะ (เนื้อที่ขายตามตลาด) ของสุกรที่เจริญเต็มที่ ซึ่งไม่หนุ่มเกินไป ไม่แก่เกินไป

    ทรรศนะนี้บอกว่าเป็นเนื้อหมู และอธิบายเพิ่มเติมว่า เนื้อสุกรที่ไม่แก่เกินไป ไม่หนุ่มเกินไป นุ่มสนิทดี ปรุงอาหารอร่อย นายจุนทะนำเนื้อชนิดนี้มาปรุงอาหารถวายพระพุทธเจ้า

    (๒) เอเก ภณนฺติ สูกรมทฺทวนฺติ ปน มุทุโอทนสฺส ปญฺจโครสยูสปาจนวิธานสฺส นาเมตํ ยถา ควปานํ นาม ปากนามนฺติ อีกมติหนึ่งว่า สูกรมัททวะ หมายถึงชื่อแห่งวิธีการปรุงข้าวอ่อนด้วยเบญจโครส เหมือนชื่ออาหารที่ปรุงด้วยควปานะ

    มตินี้ตรงข้ามมติแรก คือ แทนที่จะเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ กลับเป็นอาหารประเภทพืชไป คือ ข้าวหุงด้วยนมโค

    (๓) เกจิ ภณนฺติ สูกรมทฺทวํ นาม รสายนวิธิ ตํ ปน รสายนสตฺเถ อาคจฺฉติ ตํ จุนฺเทน ภควโต ปรินิพฺพานํ ภเวยฺยาติ รสายนํ ปฏิยตฺตนฺติ อีกมติหนึ่งว่า รสายนวิธีชื่อว่า สูกรมัททวะ รสายนวิธีนั้นมีในคัมภีร์รสายนศาสตร์ นายจุนทะตกแต่งอาหารตามคัมภีร์รสายนศาสตร์ เพื่อมิให้พระพุทธเจ้าปรินิพพาน

    ในคัมภีร์ฝ่ายสันสกฤต (คัมภีร์มหายาน) ตีความสูกรมัททวะว่า ได้แก่เห็ดชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ไม้จันทน์ เรียกในภาษาจีนว่า "จับทับฉิ่วยื้อ" และว่าเห็ดชนิดนี้หมูชอบกิน จึงเรียกว่าสูกรมัททวะ มติฝ่ายมหายานนี้เข้ากันได้กับทรรศนะที่ 3 ที่ว่าสูกรมัททวะเป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง

    สรุปแล้ว สูกรมัททวะตีความกันได้ 3 นัย คือ

    1.เนื้อสุกรอ่อนนุ่มที่ปรุงอย่างดี

    2.ข้าวอ่อนหุงด้วยนมโค

    3.ยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง (เห็ดไม้จันทน์)

    ข้อที่น่าพิจารณาสำหรับพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก็คือ ถ้าเป็นเนื้อสุกรอ่อนจริงดังที่ชาวพุทธสายเถรวาทเข้าใจกัน ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่ให้นายจุนทะถวายแก่พระสาวกรูปอื่น ให้ถวายพระองค์ผู้เดียว ที่เหลือเสวยรับสั่งให้นายจุนทะเอาไปฝัง และตรัสว่าสูกรมัททวะนี้พระองค์เท่านั้นเสวยแล้วจึงสามารถย่อยได้

    พิเคราะห์จากข้อความนี้แสดงว่า สูกรมัททวะมิใช่อาหารธรรมดาที่ปรุงด้วยเนื้อหมูแน่นอน

    มติที่สองที่บอกว่าหมายถึงข้าวอ่อนหุงด้วยนมโค ก็มีข้อที่น่าสงสัยอีกเช่นกัน ในพระสูตรกล่าวว่า อาหารชื่อสูกรมัททวะนี้ย่อยยาก พระพุทธองค์เท่านั้นที่สามารถย่อยได้ ถ้าเป็นข้าวหุงด้วยนมธรรมดาไม่น่าจะย่อยยาก และที่สำคัญไม่น่าที่พระพุทธองค์จะตรัสห้ามมิให้นำไปถวายพระสาวกรูปอื่นอีก การที่มิให้นายจุนทะถวายพระรูปอื่น แสดงถึงข้อพิเศษเฉพาะของสิ่งนี้อยู่ในตัวของมัน ไม่สาธารณะทั่วไป

    มติที่สามที่บอกว่าเป็นโอสถพิเศษที่ปรุงด้วยตำรับรสายนศาสตร์ (ทางฝ่ายมหายานระบุว่าเป็นเห็ดแก่นจันทน์) ข้อนี้น่าพิจารณาและมีทางเป็นไปได้กว่าสองมติที่กล่าวมา ด้วยเหตุผลดังนี้

    1.นายจุนทะรู้ว่าพระพุทธเจ้าประชวร จึงขวนขวายหาโอสถมาปรุงถวายเป็นพิเศษ การปรุงยาคงต้องตระเตรียมหุงต้มตลอดทั้งคืน ถ้าเป็นอาหารธรรมดาก็ไม่น่าจะเสียเวลาตระเตรียม มากมายขนาดนั้น

    2.การที่พระองค์ห้ามมิให้นายจุนทะถวายสูกรมัททวะแก่พระสงค์อื่น ก็เนื่องจากพระรูปอื่นมิได้อาพาธเหมือนพระองค์ คนไม่ป่วยไข้ มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แล้ว ขืนรับประทานยาก็จะกลายเป็นโทษมากกว่าคุณ มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน คนไม่เป็นอะไร ชอบกินวิตามินบำรุงหนักเข้าเกิดโรคแพ้วิตามินก็มี ยาที่นายจุนทะปรุงนี้บางทีจะปรุงด้วยตัวยาหนักเบาสำหรับพระพุทธองค์โดยเฉพาะ อย่างตำราไทยโบราณของเรา ต้องมีการคูณธาตุ น้ำหนักยา มีหนักมีเบามากน้อยตามความเหมาะสมแก่คนไข้เป็นรายๆ ไป ใช่ว่ายาหม้อเดียวกันรักษาได้ทุกคนก็หาไม่ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงตรัสว่า พระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้นที่เหมาะจะเสวยสูกรมัททวะนี้ และย่อยมันได้ดี เข้าทำนอง "ลางเนื้อชอบลางยา" ว่าอย่างนั้นเถอะ

    3.ถ้าสิ่งที่ว่านี้เป็นสมุนไพร หรือยาที่ปรุงพิเศษขนานหนึ่งสำหรับพระพุทธเจ้า ทำไมเรียกชื่อว่าสูกรมัททวะเล่า พูดง่ายๆ ถ้าไม่เกี่ยวกับเนื้อหมูแล้วมีคำว่าสูกรอยู่ด้วยทำไม ข้อนี้ตอบได้ง่ายมาก ดูตัวอย่างชื่อยาไทยโบราณแล้วจะเข้าใจ ยาไทยแต่ละขนานล้วนตั้งชื่อกันแปลกๆ เช่น ยาจตุรพักตร์ ยาน้ำนมราชสีห์ ฯลฯ ยาเหล่านี้ถ้าเราเข้าใจว่าต้องมีลักษณะเหมือนชื่อแล้ว เราจะหาไม่พบ ยาจตุรพักตร์ก็มิได้หมายถึง "สี่หน้า" จริงๆ เหมือนน้ำนมราชสีห์ก็มิได้เอา "น้ำนมราชสีห์" จริงๆ เป็นเพียงชื่อที่ตั้งขึ้นให้วิจิตรพิสดารอย่างนั้นเอง

    มีเรื่องจริงที่ผมประสบมาเอง มีท่านที่เคารพนับถือท่านหนึ่งจากจังหวัดตรัง ส่งตำรายาสมุนไพรมาให้ผมไปเจียดยามาต้มให้บุตรชายกิน ตำรายาขนานนั้นมีตัวยาชื่อเปลือกไข่เน่ารวมอยู่ด้วย ผมเขียนจดหมายปรารภกลับไปว่าเปลือกไข่เน่านั้นสงสัยจะหายาก กลัวคนขายเขาจะโยนทิ้งหมดก่อนจะหาไม่ได้

    ปรากฏว่าจดหมายของผมฉบับนั้นทำให้คนฮากลิ้งไปทั้งบ้าน เพราะความโง่ของผมที่เข้าใจว่าเปลือกไข่เน่าคือเปลือกไข่ไก่จริงๆ ตามตัวอักษร

    ชื่อสูกรมัททวะนี้ก็เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นเนื้อหมู และที่ปกรณ์ฝ่ายสันสกฤตระบุว่า เป็นเห็ดเกิดจากแก่น จันทน์ ก็ฟังดูเข้าทีดี อาจเป็นเห็ดชนิดนี้ก็ได้ที่นายจุนทะนำมาปรุงตามตำรับรสายนศาสตร์ถวายพระพุทธเจ้า

    บิณฑบาตมีอานิสงส์มาก 2 ครั้ง

    พระพุทธเจ้าพอเสด็จมาถึงเมืองปาวา อาการประชวรก็กำเริบหนักขึ้น ถ้ามิได้เสวยยาของนายจุนทะบางทีอาจไม่ทรงสามารถพยุงพระวรกายเสด็จไปถึงเมืองกุสินาราก็ได้ หลังจากเสวยพระกระยาหารมื้อนี้แล้ว ทรงทราบดีว่าอาจมีผู้เข้าใจผิดว่านายจุนทะวางยาพิษพระองค์ถึงกับดับขันธ ปรินิพพานก็ได้ จึงตรัสกับพระอานนท์เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดแก่นายจุนทะในกาลข้างหน้าว่า

    "ดูก่อนอานนท์ อาจเป็นไปได้ว่าใครคนหนึ่งพึงทำความร้อนใจให้เกิดขึ้นแก่นายจุนทะกัมมารบุตรว่า นี่แน่ะ นายจุนทะ ไม่เป็นลาภผลของท่านเสียแล้ว พระตถาคตเจ้าเสวยบิณฑบาตของท่านแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน อานนท์ พวกเธอควรดับความร้อนใจของนายจุนทะเสีย โดยชี้แจงว่า นี่แน่ะจุนทะ เป็นลาภผลของท่านนักหนา พระตถาคตเจ้าเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้ายแล้วดับขันธปรินิพพาน ...บิณฑบาตสองครั้ง มีวิบากเสมอกัน มีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอย่างอื่น คือ ตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณครั้งหนึ่ง เสวยแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุครั้งหนึ่ง กรรมที่ให้อายุ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์ และความเป็นใหญ่ ชื่อว่านายจุนทะได้สั่งสมไว้แล้ว"

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB5Tmc9PQ
     
  2. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ในทัศนะส่วนตัวของผม สูกรมัททวะน่าจะหมายถึงยาสมุนไพรชนิดหนึ่งมากกว่าเนื้อสุกรด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น

    ๑๑.เหตุการณ์ระหว่างทางไปเมืองกุสินารา

    หลังจากทรงระงับเวทนาจากการประชวรลงแล้ว พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอานนท์พุทธอนุชาก็เสด็จมุ่งหน้าไปยังเมืองกุสินารา ทรงแวะข้างทางรับสั่งให้พระอานนท์พับผ้าสังฆาฏิเป็นสี่ชั้นปูลาด เป็นอาสนะประทับพักเหนื่อย ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง แล้วตรัสให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาให้เสวย

    พระอานนท์กราบทูลว่า คาราวานเกวียนประมาณ 500 เล่มเพิ่งจะผ่านไป ลำธารถูกล้อเกวียนหมุนผ่านไป น้ำขุ่นคลั่กดื่มไม่ได้ แต่กกุธานทีอยู่ไม่ไกลจากที่นี้ มีน้ำใสเย็นสนิท ขอพระองค์เสด็จไปเสวยน้ำในแม่น้ำชื่อกกุธาเถิดพระเจ้าข้า

    พระพุทธเจ้าตรัสสั่งถึงสามครั้ง พระอานนท์จึงคว้าบาตรลงไปยังน้ำขุ่นคลั่กนั้น จ้วงบาตรลงตักน้ำ ปรากฏการณ์มหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น น้ำขุ่นคลั่กเห็นๆ อยู่เมื่อครู่นี้ ได้กลายเป็นน้ำใสสะอาดทันที สร้างความประหลาดใจให้พระอานนท์เป็นอย่างยิ่ง

    ท่านได้นำน้ำไปถวายให้พระพุทธองค์เสวย พลางกราบทูลถึงเรื่องราวมหัศจรรย์ที่พบเห็นว่าเป็นเพราะพุทธานุภาพแน่แท้ทีเดียว พระพุทธองค์ประทับรับฟังโดยดุษณีภาพ

    พบปุกกุสะ ศิษย์ร่วมสำนัก

    ขณะนั้นโอรสเจ้ามัลละ นามว่า ปุกกุสะ เป็นศิษย์ของอาฬารดาบส กาลามโคตร กำลังเดินทางจากเมืองกุสินาราไปยังเมืองปาวา พบพระพุทธเจ้าจึงแวะเข้ามาเฝ้าสนทนาด้วย

    ปุกกุสะคนนี้นัยว่าเป็นศิษย์ร่วมสำนักกับพระพุทธองค์ คือ สำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จไปศึกษาอยู่กับดาบสดังกล่าวก่อนตรัสรู้ ปุกกุสะจะอยู่ทันเห็นพระพุทธองค์ หรือว่าเป็นศิษย์รุ่นหลัง คัมภีร์มิได้ระบุไว้

    ปุกกุสะได้เล่าให้พระพุทธองค์ฟังว่า ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์อาฬารดาบสนั่งสมาธิอยู่ กองเกวียนตั้ง 500 ผ่านไป ท่านอาจารย์ไม่ได้ยิน เพราะจิตท่านอาจารย์เป็นสมาธิแน่วดิ่งมาก พระพุทธเจ้าก็ตรัสเล่าให้ปุกกุสะฟังว่า ขณะพระองค์ทรงเข้าฌานสมาบัติอยู่ที่โรงกระเดื่องในเมืองอาตุมา มีฝนตกหนัก ฟ้าผ่าเปรี้ยงปร้าง ชาวนาสองพี่น้องและโคพลิพัท (โคหนุ่ม) สี่ตัวถูกฟ้าผ่าตาย พระองค์ไม่เห็นและไม่ได้ยิน เพราะขณะนั้นกำลังอยู่ในฌานสมาบัติ

    ปุกกุสะได้ฟังแล้วก็เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ ประกาศตนเป็นสาวกของพระองค์ นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ก่อนจากได้ถวายผ้าแพรสีทองอย่างดี (สิงคิวรรณ) คู่หนึ่งแก่พระพุทธองค์ พระองค์รับสั่งให้ถวายพระอานนท์ผืนหนึ่ง ทรงรับไว้เองผืนหนึ่ง แล้วปุกกุสะก็กราบทูลลาเพื่อเดินทางต่อไป

    เมื่อพระพุทธองค์ทรงจีวร (ผ้าสิงคิวรรณ) ผืนนั้น พระฉวีวรรณได้เปล่งประกายเปล่งปลั่ง "ดังถ่านไฟที่ไร้เปลวฉะนั้น" จนพระอานนท์ประหลาดใจ ถึงกับกราบทูลออกมาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ เหตุไม่เคยมีมาแล้ว พระฉวีวรรณของพระตถาคตบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก คู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคีซึ่งเป็นผ้าทรงนี้ ย่อมปรากฏดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลว"

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีอยู่สองครั้งเท่านั้นที่พระฉวีวรรณของพระองค์ผุดผ่องผิดปกติ คือในราตรีที่พระตถาคตจะตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ กับในราตรีที่พระตถาคตจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน

    ข้อที่น่าคิดตรงนี้ก็คือ เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นแก่ปุถุชนคนธรรมดาเหมือนกัน ไม่มีใครหาเหตุผลมาอธิบายได้ คือ คนที่ป่วยหนัก นอนแบบอยู่ จนลูกหลานญาติพี่น้องนึกว่าคงไม่รอดแน่นอน วันดีคืนดีก็ลุกขึ้นมากินข้าวกินปลาอย่างเอร็ดอร่อย พูดคุยหยอกล้อกับลูกหลานอย่างรื่นเริงบันเทิงใจ ใครๆ ก็นึกว่าหายแน่นอน แต่อยู่ๆ ก็ทรุดหนัก และสิ้นชีวิตในที่สุด

    ว่ากันว่าในช่วงที่ลุกขึ้นมากินข้าวหยอกล้อกับลูกหลานนั้น ผิวพรรณผุดผ่องเหลือเกิน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นไม่ทราบ มีคนอธิบายโดยอุปมาว่า ก็เหมือนเทียนที่มันจะดับนั่นแหละ มันจะลุกโพลงสว่างไสวเป็นพิเศษแล้วก็ดับวูบ ว่ากันอย่างนั้น

    ก็ฝากไว้ให้คิดก็แล้วกัน

    ๑๒.เสด็จถึงเมืองกุสินารา

    หลังจากนั้น พระพุทธองค์เสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญวดีมุ่งหน้าไปยังกุสินารา เสด็จถึงสาลวัน (ป่าไม้สาละ แปลกันว่าป่ารัง) ตามเสด็จด้วยพระสงฆ์หมู่ใหญ่ พระองค์รับสั่งให้พระอานนท์ตั้งเตียงระหว่างต้นสาละคู่หนึ่ง ให้หันหัวเตียงไปทางทิศเหนือ แล้วพระพุทธองค์ก็บรรทมหันพระเศียรไปทางทิศเหนือโดยการบรรทมที่เรียกว่า "สีหไสยาสน์" (คือ ตะแคงขวา ซ้อนพระบาท มีสติสัมปชัญญะ)

    ขอแทรกข้อสังเกตไว้ตรงนี้สักเล็กน้อย ตลอดระยะเวลาเดินทางอันยาวไกลจากเมืองราชคฤห์มายังเมืองกุสินารานั้น บางครั้งพระบาลีก็พูดว่ามีพระอานนท์รูปเดียวตามเสด็จ แต่บางครั้งก็ว่าตามเสด็จด้วยพระสงฆ์หมู่ใหญ่ ความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ เข้าใจว่าผู้ที่ตามเสด็จตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง คือ พระอานนท์พุทธอนุชารูปเดียวที่คอยถวายการอุปัฏฐากอย่างใกล้ชิด ส่วนพระสงฆ์อื่นๆ นั้นคงจะอยู่กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ เมื่อได้ข่าวว่าพระพุทธองค์เสด็จถึงที่นั้นที่นี้ ก็พากันมาเฝ้ารับใช้และฟังธรรม และตามเสด็จไปสิ้นระยะทางระยะหนึ่งแล้วแยกย้ายกันไป

    บางครั้งพระพุทธองค์กับพระอานนท์ไปถึงสถานีที่บางแห่ง พระสงฆ์ที่อยู่ในละแวกนั้นยังไม่ทราบ พระพุทธองค์ก็ตรัสให้พระอานนท์ไปแจ้งข่าวและเรียกประชุมเพื่อประทานพระพุทธโอวาท

    สมัยนั้นเป็นสมัยที่ต้นสาละผลิดอกบานสะพรั่ง ดอกไม้เหล่านั้นก็หล่นโปรยปรายลงมายังพระสรีระของพระตถาคต แม้ดอกมนทารพอันเป็นของทิพย์ก็ตกลงมาจากอากาศ แม้จุณจันทน์อันเป็นของทิพย์ก็ตกลงมาจากอากาศ ต้องพระสรีระของพระตถาคต เสียงดนตรีอันเป็นทิพย์ก็ประโคมอยู่กลางอากาศ เพื่อถวายการบูชาแด่พระตถาคตเจ้าเนื่องในวาระที่พระองค์ดับขันธปรินิพพาน

    ดอกสาละหล่นลงมาน่ะคนทั่วไปคงเห็นแต่ดอกไม้ทิพย์ จุณจันทน์ทิพย์ เสียงดนตรีทิพย์แว่วมาจากฟากฟ้าสุราลัย จักษุและโสตแห่งสามัญปุถุชนคงไม่เห็นไม่ได้ยิน ยกเว้นท่านผู้มีหูทิพย์ตาทิพย์เท่านั้น

    เรื่องอย่างนี้เมื่อเรามองไม่เห็น ไม่ได้ยิน ก็อย่าได้ด่วนปฏิเสธว่ามันไม่มีมันเป็นไปไม่ได้

    ครั้งหนึ่งมีผู้ครองนครเสตัพยะ ชื่อ ปายาสิ ปฏิเสธว่านรกไม่มี สวรรค์ไม่มี เทวดาพรหมไม่มี ถามว่าทำไมจึงพูดเช่นนั้น ผู้ถามคือพระเถระรูปหนึ่งนามว่ากุมารกัสสปะ ปายาสิตอบว่า เพราะข้าพเจ้าไม่เห็น ถ้ามีจริงก็ต้องเห็นบ้างละ

    พระกุมารกัสสปะตอบว่า คนตาบอดตั้งแต่กำเนิดมองไม่เห็นพระอาทิตย์ พระจันทร์ แสงสีต่างๆ ก็มองไม่เห็น คนตาบอดคนนี้เที่ยวประกาศว่าข้าไม่เชื่อว่าพระอาทิตย์ พระจันทร์มี แสงสีต่างๆ มี เพราะข้ามองไม่เห็น ข้อปฏิเสธนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะคนตาดีที่เขามองเห็นมีมากมาย และก็รู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีจริงๆ ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ โยมทั้งหลายเอ๋ย

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB5Tnc9PQ
     
  3. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลนิมนต์พระสงฆ์ไปฉันภัตตาหารเป็นประจำในวัง พระก็ไปฉันติดต่อกันมา แต่ต่อมาภายหลังพระเจ้าแผ่นดินทรงมีภารกิจอย่างอื่นมากมาย ทรงลืมสั่งให้ตระเตรียมภัตตาหารถวายพระ พระสงฆ์อื่นๆ โดนเข้าครั้งสองครั้งก็ไม่ไปอีก คงมีแต่พระอานนท์รูปเดียวไปอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งพระเจ้าปเสนทิโกศลรำลึกขึ้นมาได้และทรงขอโทษพระอานนท์พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลเรื่องนี้ให้พระ พุทธเจ้าทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า "อานนท์เธอเป็น "การณวสิก" (เป็นคนมองการณ์ไกล เป็นคนหนักในเหตุในผล)"

    ในเมื่อท่านเป็นคนมีสติรอบคอบ มองการณ์ไกล ท่านจึงพยายามทูลถามแนวปฏิบัติต่างๆ จากพระพุทธองค์เท่าที่มีเวลาให้ เพราะอีกไม่นานก็จะไม่มีโอกาสแล้ว ข้อซักถามหลายต่อหลายเรื่อง ท่านมิได้ถามเพื่อตัวท่านเอง หากถามเพื่อพระสงฆ์และพุทธบริษัททุกหมู่เหล่า

    ดังคำถามเกี่ยวกับสตรีนี้ ก็ถามเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ทั้งปวง พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ควรเห็น แต่ถ้าต้องเห็นก็ไม่ควรเจรจา ถ้าจำเป็นต้องเจรจาก็ให้เจรจาด้วยสติ

    นี้มิได้หมายความเป็นการ "ดูหมิ่น" สตรี ดังที่บางคนอาจเข้าใจ เราต้องเข้าใจว่า "พรหมจรรย์" คือ การงดเว้นเมถุนธรรม บุรุษที่ประพฤติพรหมจรรย์ก็ต้องระวังมิให้เกี่ยวข้องกับสตรี สตรีที่ประพฤติพรหมจรรย์ก็ต้องระวังมิให้เกี่ยวข้องกับบุรุษ "เกี่ยวข้อง" ในที่นี้หมายถึงไม่พึงคลุกคลีจนเกินพอดี เกินงาม เพราะอะไร?

    เพราะจะทำให้พรหมจรรย์มัวหมองไป และอาจทำให้เสียพรหมจรรย์ในที่สุด เป็นธรรมดาอยู่แล้วมิใช่หรือ "ผาณิตผิชิดมด ฤๅจะอดกระไรไหว" บุรุษกับสตรีใกล้ชิดกันบ่อยและนานเข้าไม่ว่าหน้าไหนท้ายที่สุดก็ "ไฟฟ้าชอร์ต" เข้าจนได้

    เมื่อบวชเข้ามา ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์แล้ว ไม่ว่าหญิงหรือบุรุษ ก็พึงปลีกตนห่างเพศตรงข้ามให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ถ้ามีเหตุจะเจรจาด้วยก็ให้มีสติ

    ประเภทที่บวชมาแล้วยินดีคลุกคลีกับสีกา ไปไหนมาไหนมีคาราวานสตรีล้วน ทั้งสาวแก่แม่ม่ายไฮโซฯ ขี้เหงาล้อมหน้าล้อมหลัง นั้นมิใช่ปฏิปทาของสาวกพระพุทธเจ้า

    เขาเรียกว่าปฏิปทาของ "ฉัพพัคคีย์" (แก๊ง 6 คน) ทุมมังกุไร้ยางอาย วิญญูชนเห็นก็พยากรณ์ได้ทันทีว่า ปฏิปทาอย่างนี้ไปไม่รอดในที่สุดก็จะวิบัติฉิบหาย "ตกหล่น" จากพระศาสนาเรียกว่า "เน่าตั้งแต่ยังไม่ตาย" แหงแซะ แน่ยิ่งกว่าแช่แป้ง พระเดชพระคุณเอ๋ย

    15.พระอานนท์พุทธอนุชา

    พระอานนท์เมื่อหวนรำลึกว่า อีกไม่นานพระพุทธองค์ก็จะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ตัวท่านเองก็ยังเป็นเสขะอยู่ (เป็นแค่พระโสดาบัน ยังมิได้เป็นพระอรหันต์) พระพุทธองค์ก็จะจากไปเสียแล้ว ยิ่งนึกก็ยิ่งสะท้อนใจ เขาไปยังวิหารยืนเหนี่ยวคันทวยร้องไห้อยู่

    พระพุทธเจ้าตรัสถามหาพระอานนท์อยู่ที่ไหน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า พระพุทธอนุชากำลังยืนเหนี่ยวคันทวยร้องไห้อยู่ จึงรับสั่งให้ไปตามพระอานนท์มาเฝ้า ตรัสประทานโอวาทปลอบใจพระอนุชาว่า

    อานนท์ อย่าได้เศร้าโศกเสียใจไปเลย เราได้บอกแล้วมิใช่หรือว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยงแท้ ย่อมมีการพลัดพรากจากของรักของหวงด้วยกันทั้งสิ้น สิ่งใดมีการเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีการแปรเปลี่ยนดับสลายในที่สุด จะให้มันเป็นไปตามปรารถนาของใครๆ หาได้ไม่ อานนท์เธอได้อุปัฏฐากรับใช้เรามานาน ด้วยการกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตาหาใครเทียบเท่ามิได้ เธอได้ทำบุญไว้แล้วจงพากเพียรเถิด ในไม่ช้าเธอก็จะเป็นผู้หมดกิเลสอาสวะแน่นอน"

    พระอานนท์เป็นพุทธอนุชา (ลูกพี่ลูกน้อง) ออกบวชพร้อมกับศากยกุมาร รวมกับนายภูษามาลาอีกคนหนึ่ง รวมเป็น 7 คือ ภัททิยะ อนุรุทธะ อานนท์ ภคุ กิมพิละ เทวทัต และอุบาลี (นายภูษามาลา)

    หลังจากบวชแล้ว ทั้ง 7 ท่านก็บำเพ็ญสมณธรรม ได้บรรลุพระอรหัตตผลทุกองค์ ยกเว้นพระเทวทัต ถูกความอยากใหญ่ครอบงำกลายเป็นมิจฉาทิฐิ สร้างกรรมทำเข็ญมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้วางแผนทำลายพระพุทธองค์ต่างๆ นานา ท้ายสุดได้ทำ "สังฆเภท" (ทำสงฆ์ให้แตกกัน) อันเป็นกรรมหนักยิ่ง ในช่วงท้ายแห่งชีวิตป่วยหนัก ใคร่จะเฝ้าขอขมาพระพุทธเจ้า บรรดาศิษย์หามใส่แคร่มุ่งไปยังพระเชตวัน ยังไม่ทันได้เฝ้าก็ถูกแผ่นดินสูบริมสะโบกขรณีหน้าพระวิหารเชตวันนั้นเอง

    พระอนุรุทธะได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางมีทิพยจักษุ มีชีวิตอยู่มาจนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ในคราวนั้นท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง คอยนั่งสมาธิดูจิตของพระพุทธเจ้าว่าเข้าฌานจากระดับไหนไปไหน และ "ดับ" ณ จุดใด แล้วคอยบอกพุทธบริษัททั้งหลายให้ทราบ

    พระอุบาลีได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระวินัย (วินัยธรรม) เคยได้รับมอบหมายให้ตัดสินอธิกรณ์สำคัญๆ หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่น่าจะนำมาเป็น "มาตรฐาน" หรือ "แม่แบบ" สำหรับการชำระอธิกรณ์สมัยนี้ คือ วินิจฉัยเรื่องภิกษุณีท้อง

    ภิกษุณีในปกครองพระเทวทัตรูปหนึ่งเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา พระเทวทัตไม่ทันได้สอบสวนข้อเท็จจริง ก็ลงมติว่านางปาราชิกแล้ว จึงให้สึก เพราะกลัวจะเสื่อมเสียถึงตนเองผู้ดูแลด้วย

    นางภิกษุณียืนยันว่าตนบริสุทธิ์ ไม่ยอมสึก เรื่องรู้ถึงพระพุทธองค์ พระองค์ตรัสสั่งให้พระอุบาลีชำระอธิกรณ์ใหม่ ท่านอุบาลีเห็นว่าเรื่องนี้พระรู้ไม่ได้ และไม่ดีเท่าญาติโยม จึงแต่งตั้งนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นกรรมการร่วมด้วย (คงจะมีคฤหัสถ์ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นเข้าร่วมด้วย)

    นางวิสาขาจึงสอบถามวันที่ประจำเดือนหมด วันที่รู้ตัวว่ามีท้องพร้อมดูความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ดูทุกอย่างประกอบแล้ววินิจฉัยว่าภิกษุณีตั้งครรภ์ก่อนเข้ามาบวช พระอุบาลีก็นำคำวินิจฉัยของคณะกรรมการไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงรับรองตามนั้น

    ที่ว่าการวินิจฉัยนี้น่าจะเป็น "แม่แบบ" สำหรับการชำระอธิกรณ์ในสมัยนี้ ก็เพราะเมื่อเกิดกรณีพระถูกกล่าวหาว่ามีเพศสัมพันธ์กับสตรีต่างๆ จนมีบุตร การจะพิสูจน์ว่าเป็นพ่อเป็นลูกกันจริงหรือไม่ ถ้าจะสืบเอาข้อเท็จจริงออกมา พระสงฆ์เองท่านไม่มีความชำนาญในด้านนี้ก็จำเป็นจะต้องพึ่งคฤหัสถ์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องตรวจหาดีเอ็นเอ (DNA) หรือเมื่อมีข้อกล่าวหาว่าลอกเลียนบทกวีของคนอื่นมา พระสงฆ์เองก็ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ ก็จำเป็นจะต้องพึ่งคฤหัสถ์ผู้เชี่ยวชาญในกฎหมายลิขสิทธิ์ เป็นต้น

    แนวทางออกนี้ นักวิชาการทั้ง 9 ได้เสนอถวายสมเด็จพระสังฆราชไปแล้วด้วยว่า ในสมัยพุทธกาลก็มีปฏิบัติกันอย่างนี้

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPQzB6TVE9PQ
     
  4. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    เสนอแล้วคณะสงฆ์ท่านไม่รับก็ไม่เป็นไร เพียงแต่ต้องการบอกว่าเราเสนอด้วยความหวังดี หวังจักให้มีการชำระอธิกรณ์ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม หวังจักได้ช่วยกันธำรงพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดังที่เคยเป็นมาในอดีต

    พระอุบาลีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญเคียงคู่พระอานนท์ในการทำสังคายนา คือ ท่านเป็นผู้วิสัชนาเรื่องเกี่ยวกับพระวินัยทั้งหมด

    ส่วนพระอานนท์นั้น มีเรื่องน่าอัศจรรย์หลายเรื่อง พระมหากัสสปะหมายใจว่าจะต้องเอาพระอานนท์เป็นกรรมการทำสังคายนาให้ได้ เพราะถ้าขาดท่านการทำสังคายนาจะไม่สำเร็จ แต่เนื่องจากท่านเป็น "เสขะ" อยู่ ยังไม่เป็นพระอรหันต์ จะเอาเข้ามาก็ไม่ได้ เมื่อท่านเลือกพระเถระอรหันต์ล้วนได้ 499 รูป ท่านก็เว้นที่นั่งไว้ 1 ที่นั่ง เผื่อพระอานนท์

    ท่านมหากัสสปะก็กระซิบบอกท่านอานนท์ว่าสังคายนาครั้งนี้ขาดท่านก็ไม่ได้ จะเอาท่านเข้าร่วมก็ไม่ได้ ขอให้ท่านอานนท์ขวนขวายเพื่อให้งานใหญ่นี้สำเร็จด้วยเถิด

    เท่ากับเร่งว่าให้พยายามปฏิบัติจนบรรลุธรรมชั้นสูงสุดให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีคุณสมบัติครบ ท่านพระอานนท์ก็นึกย้อนถึงพุทธโอวาทว่า ไม่นานท่านก็จักได้บรรลุอรหัตตผล แต่จนป่านนี้แล้วยังไม่มีวี่แวว อย่ากระนั้นเลย ต่อแต่นี้เราจะพากเพียรให้เต็มที่

    ท่านบำเพ็ญสมาธิอย่างเข้มงวดทั้งวันทั้งคืน คืนวันหนึ่งหลังจากนั่งสมาธิเดินจงกรมจนเหนื่อย รู้สึกว่าต้องการพักผ่อนสักครู่หนึ่งจึงเอนกายจะนอนพักผ่อน เท้ายังไม่พ้นพื้น ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนก็เกิดอาการ "สว่างวาบ" ขึ้นภายใน หรือบรรลุอรหัตตผล ตัดกิเลสได้โดยสิ้นเชิง

    ว่ากันว่าการบรรลุพระอรหัตตผลของท่านอานนท์ พ้นจากอิริยาบถทั้งสี่ จะว่าบรรลุขณะยืนก็ไม่ใช่ ขณะนั่งก็ไม่ใช่ ขณะนอนก็ไม่ใช่ ขณะเดินก็ไม่ใช่

    พระภิกษุบางรูปเดินบรรลุ บางรูปนอนบรรลุ

    บางรูปนั่งบรรลุ บางรูปยืนบรรลุ

    แต่พระอานนท์ไม่ยืน ไม่เดิน ไม่นั่ง ไม่นอน ได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว (สมัยผมเป็นเณรน้อยจำข้อความนี้ได้แม่น)

    วันนั้นพระมหากัสสปะพร้อมด้วยพระเถรานุเถระ 499 รูป กำลังเข้าที่ประชุมเพื่อเริ่มทำสังคายนาพระธรรมวินัย มีอาสนะหนึ่งว่างเปล่า ไร้เจ้าของมานั่ง เป็นที่รู้กันว่าเป็นอาสนะสำหรับพระอานนท์ ในทันใดนั้นท่านพระอานนท์ก็โผล่ขึ้นท่ามกลางสงฆ์นั่งอาสนะนั้น เป็นที่อัศจรรย์

    นัยว่า ท่านบันดาลฤทธิ์ดำดินโผล่ขึ้นไปตรงกับอาสนะนั้นพอดี ทั้งนี้ เพื่อประกาศว่าบัดนี้ท่านเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา มีคุณสมบัติครบตามต้องการแล้ว

    นอกจากได้ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับธรรมะที่ท่านได้รับฟังมาจากพระพุทธองค์แล้ว พระอานนท์ยังได้เล่าเรื่องต่างๆ เล่าพระดำรัสเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่ท่านได้รับฟังมาจากพระพุทธองค์ ขณะเดินทางมายังเมืองกุสินาราให้ที่ประชุมทราบ บางเรื่องก็เป็นประเด็นถกเถียงหาข้อยุติเกือบไม่ได้ บางเรื่องถึงจะยุติแล้ว ก็ยังมีควันหลงต่อมาหลังการสังคายนา

    16.สุภัททะ สาวกองค์สุดท้าย

    เหล่ากษัตริย์มัลละเมื่อทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับใต้ต้นสาละทั้งคู่ในอุทยานแห่งตน จึงพากันไปนมัสการพระพุทธองค์ พระอานนท์พุทธอนุชาได้จัดให้เหล่ากษัตริย์มัลละเข้าเฝ้าทุกคน จนเวลาล่วงปฐมยามแห่งราตรี

    ขณะนั้นสุภัททปริพาชกอาศัยอยู่ในเมืองกุสินารา ได้มายังสาลวโนทยาน เพื่อขอเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจของตน ด้วยเกรงว่าหากช้าไปพระพุทธองค์จะเสด็จปรินิพพานเสียก่อน แต่พระอานนท์ไม่ยอมให้เข้าเฝ้า ด้วยเกรงว่าจะเป็นการรบกวนพระพุทธองค์ เพราะทรงประชวรหนักอยู่

    "อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตเลย พระผู้มีพระภาคทรงลำบากแล้ว"

    สุภัททะขอร้องเป็นครั้งที่สอง ครั้งที่สาม พระเถระก็ไม่อนุญาต

    สุภัททะอ้อนวอนว่า

    "ข้าแต่ท่านอานนท์ พระสมณโคดมจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีนี้แล้ว อนึ่ง ข้อสงสัยบังเกิดแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเลื่อมใสในพระสมณโคดม พระสมณโคดมจะสามารถแสดงธรรมให้ข้าพเจ้าหายข้อสงสัยได้ ข้าแต่พระอานนท์ ขอโอกาสเถิด"

    เสียงโต้ตอบกันได้ยินไปถึงพระพุทธองค์ พระองค์จึงตรัสเรียกพระอานนท์มารับสั่งว่า

    "อย่าห้ามสุภัททะเลย อานนท์ สุภัททะจงเฝ้าตถาคต สุภัททะจักถามปัญหาอะไรกับเรา จักมุ่งเพื่อความรู้ มิใช่มุ่งเพื่อเบียดเบียน และเราแสดงธรรมให้สุภัททะฟังแล้ว สุภัททะจักรู้โดยฉับพลัน"

    เมื่อรับสั่งดังนี้ พระอานนท์จึงอนุญาตให้สุภัททะเข้าเฝ้า

    สุภัททะเข้าไปเฝ้า กราบทูลว่า เจ้าลัทธิชื่อดังหลายคน เช่น ปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาละ อชิตเกสกัมพล ฯลฯ ต่างก็อ้างว่าตนได้ตรัสรู้ พวกนี้ได้ตรัสรู้จริงหรือ

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่าถามเรื่องอย่างนี้เลย สุภัททะ เราจะแสดงธรรมให้เธอฟัง จงตั้งใจฟังให้ดี และพระองค์ได้ตรัสต่อไปว่า ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคมีองค์ 8 ในธรรมวินัยนั้นไม่มีสมณะที่ 1 สมณะที่ 2 สมณะที่ 3 และสมณะที่ 4 ในธรรมวินัยใดมีอริยมรรคมีองค์ 8 ในธรรมวินัยนั้นมีสมณะทั้ง 4 ประเภทนั้น

    สุภัททะ (ถ้า) ภิกษุทั้งหลายพึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย

    ขอแทรกข้อสังเกตไว้ตรงนี้ 2 ประเด็น คือ

    (1) พระพุทธเจ้าจะไม่ทรงเสียเวลาสนทนาเรื่องนอกเรื่องหรือเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้สนทนา ยิ่งเป็นการทับถมลัทธิศาสนาอื่นพระองค์จะไม่ทรงทำเด็ดขาด แม้ว่าจะมีผู้ถามนำก็ตาม

    เมื่อครั้งพระเจ้าอชาตศัตรูเข้าเฝ้าทูลถามว่า เจ้าลัทธิทั้ง 6 มีปูรณกัสสปะ เป็นต้น ใครดีกว่าใคร ใครสอนธรรมะมีเหตุผลมากกว่าใคร พระองค์ก็ไม่ตอบ ทรงตัดบทเสียว่า อย่าเลย มาฟังธรรมดีกว่า ตถาคตจะแสดงให้ฟัง

    เมื่อสุภัททะถามทำนองเดียวกัน พระองค์ตรัสว่าอย่าไปสนใจเรื่องของคนอื่น มาสนใจเรื่องที่เป็นประโยชน์กับตัวเองดีกว่า ว่าแล้วพระองค์ก็แสดงธรรมให้เขาฟังโดยย่อ

    (2) สมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 คือ พระอริยบุคคลระดับโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี และอรหันต์ ลัทธิใดที่ไม่สอนอริยมรรคมีองค์ 8 ลัทธินั้นไม่มีพระอริยะทั้ง 4 ระดับนี้ เพราะอริยมรรคมีองค์ 8 คือ ข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุ มรรค ผล นิพพาน

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPUzB3TVE9PQ
     
  5. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    พุทธวจนะสั้นๆ ที่ตรัสว่า "ถ้ายังมีผู้อยู่โดยชอบอยู่ โลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์" คำว่า "อยู่โดยชอบ" ก็คือปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เอง สมัยนี้คนมักจะถามว่า พระอรหันต์มีหรือเปล่า ถ้ามีบอกได้ไหมมีใครบ้าง

    ตอบได้ทันทีว่ายังมีปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือเปล่า ถ้ามีคนประเภทนี้พระอรหันต์ก็ต้องมี

    สุภัททะฟังธรรมโดยย่อแล้ว ก็ประกาศถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะทูลขอบวช เนื่องจากสุภัททะเป็นปริพาชก (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) มีบทบัญญัติว่าถ้าอัญเดียรถีย์ (ผู้ที่นับถือลัทธิศาสนาอื่น) จะบวชในพระพุทธศาสนา จะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน "การอยู่ปริวาส" ในกรณีนี้หมายถึงอยู่ประพฤติตนเพื่อทดสอบศรัทธาว่ามั่นคงจริงหรือไม่ กำหนดเวลาไว้ ๔ เดือน จนกว่าพระสงฆ์ท่านจะมั่นใจแล้วจึงจะบวชให้

    แต่พระพุทธเจ้าจวนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีเวลาให้สุภัททะอยู่ปริวาส จึงรับสั่งให้สุภัททะบวชเป็นกรณีพิเศษ ไม่ต้องอยู่ปริวาส ท่านสุภัททะจึงเป็นสาวกองค์สุดท้าย

    ที่ว่า "สุดท้าย" หมายถึงสาวกองค์สุดท้ายที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ ไม่ใช่หมายความว่า นอกจากสุภัททะแล้วไม่มีพระสาวกอื่นๆ อีกเลย หามิได้

    การบวชของท่านสุภัททะ เข้าใจว่าเป็นการบวชแบบ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" ตามปกติ การบวชแบบนี้พระพุทธ เจ้าเป็นผู้ประทานให้เองในช่วงแรกของประกาศศาสนา ต่อมาเมื่อมีพระสงฆ์จำนวนมากแล้วพระองค์ก็ทรงงดเอหิภิกขุอุปสัมปทา ทรงมอบให้พระสงฆ์จัดการบวชเอง ด้วยวิธี "ญัตติจตุตถกรรมวาจาอุปสัมปทา" เพิ่งจะมีครั้งนี้ครั้งเดียว และครั้งสุดท้ายที่ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่สุภัททะ

    แต่เนื่องจากพระองค์ทรงประชวรหนัก จึงทรงมอบให้พระอานนท์ทำพิธีบวชแทนพระองค์ แต่ก็ถือว่าบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า

    สุภัททะมีหลายคน

    สุภัททะเป็นใคร? เคยมีบางท่านพยายามจะบอกว่า สุภัททะผู้นี้เป็นคนเดียวกับสุภัททะเด็กหนุ่มลูกชายอุปกาชีวก คงจะจำกันได้เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าดำเนินมุ่งหน้าไปยังเมืองพาราณสี เพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ ระหว่างทางทรงพบอุปกาชีวก อุปกาชีวกทูลถามว่าใครเป็นศาสดาของพระองค์ พระองค์ตรัสว่า พระองค์ตรัสรู้เอง ไม่มีครูอาจารย์ อุปกาชีวกสั่นศีรษะแล้วหลีกทางไป

    จากนั้นอุปกาชีวกไปอยู่ที่หมู่บ้านนายพรานแห่งหนึ่ง ไปตกหลุมรักลูกสาวนายพราน สึกออกมาครองเรือน มีบุตรชายคนหนึ่ง ชื่อ สุภัททะ ต่อมาเมื่อเบื่อหน่ายเพศฆราวาสกลับไปบวชอีก คราวนี้ไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า

    ก่อนไปอุปกะได้สั่งลูกชายว่าต่อไปภายหน้าถ้ามีปัญหาข้อข้องใจ ก็ให้ไปถามพระสมณโคดม ครั้นเมื่อสุภัททะมีปัญหาขัดข้องใจขึ้นมา จึงไปถามพระพุทธเจ้าตามที่บิดาสั่งไว้ ว่ากันมาอย่างนี้

    ใครเป็นคนว่า ผู้รู้ท่านหนึ่งท่านว่า คงจะสันนิษฐานเอาตามชื่อ "สุภัททะ" ซึ่งบังเอิญมาตรงกันโดยไม่มีหลักฐานมายืนยันข้อสันนิษฐาน

    ความจริงแล้วถ้าจะเปิดหลักฐานมาว่ากันจะเห็นได้ว่าสุภัททะมีอยู่หลายคน ไม่ใช่คนเดียว คือ

    ๑.สุภัททะคนที่หนึ่ง คือ สุภัททะที่เป็นบุตรชายอุปกะ (อดีตอุปกาชีวก) ที่พบพระพุทธเจ้าระหว่างทางไปยังเมืองพาราณสี ต่อมาได้บวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าดังกล่าวมาข้างต้น

    ๒.สุภัททะอีกท่านหนึ่ง คือ สุภัททะ วุฑฒบรรพชิต (หรือหลวงตาสุภัททะ) ท่านผู้นี้บวชเมื่อแก่ ติดตามพระมหากัสสปะพร้อมกับพระสงฆ์หมู่ใหญ่ เพื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่สาลวโนทยานสถานที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน

    ในระหว่างทางจะไปยังเมืองกุสินารา พบอาชีวกคนหนึ่งเดินผ่านมา พระมหากัสสปะถามข่าวพระพุทธเจ้า อาชีวกได้บอกว่าพระศาสดาของพวกท่านปรินิพพานก่อนหน้านี้ได้ ๗ วันแล้ว ภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ก็นั่งสงบนิ่งปลงธรรมสังเวช ภิกษุที่เป็นปุถุชนหลายรูปต่างก็ร่ำไห้อาลัยอาวรณ์ในพระพุทธองค์

    ยังคงมีแต่หลวงตาสุภัททะไม่ร้องไห้กับเขา แถมยังเตือนภิกษุทั้งหลายว่า อย่าร้องไห้เลย พวกท่านควรจะดีใจที่พระศาสดาปรินิพพาน เพราะขณะทรงพระชนม์อยู่ทรงเข้มงวดเหลือเกิน อย่างนั้นก็ทำไม่ได้ อย่างนี้ก็ทำไม่ได้ บัดนี้พวกเราเป็นอิสระแล้ว จะทำอะไรก็ทำได้ตามปรารถนา

    หลวงตารูปนี้แหละที่เป็นสาเหตุให้พระมหากัสสปะยกเอามาเป็นต้นเหตุทำสังคายนา "พระศาสดาปรินิพพานยังไม่ทันไร สาวกคิดกันอย่างนี้แล้วต่อไปนานเข้าพระศาสนาจะอยู่ได้อย่างไร" ท่านจึงประชุมสงฆ์ทำสังคายนาหลังจากพุทธปรินิพ พานได้ ๓ เดือน

    ๓.สุภัททะท่านสุดท้ายที่จะพูดถึง คือ สุภัททะที่ไปถามปัญหาพระพุทธเจ้า และได้บวชเป็นสาวกองค์สุดท้ายนี้แหละครับ

    สุภัททะท่านนี้เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล (เศรษฐีร้อยล้านพันล้าน ว่าอย่างนั้นเถอะ) ออกบวชเป็นปริพาชก คือ นักบวชประเภทเร่ร่อนอยู่ไม่เป็นที่ สัญจรไปยังที่ต่างๆ สำแดงทรรศนะหรือปรัชญาของตน เป็นนักโต้วาทีชั้นยอด นักบวชประเภทปริพาชกในชมพูทวีปบางท่านว่าก็คล้ายกับพวก "โซฟิส" ของกรีกโบราณนั่นเอง

    สุภัททะบุตรชายอุปกาชีวก สุภัททะหลวงตาศิษย์พระมหากัสสปะ และสุภัททะสาวกองค์สุดท้ายของพระพุทธ เจ้า มิใช่คนเดียวกันครับ

    ๑๗.พุทธปรารภเกี่ยวกับอนาคตพระพุทธศาสนา

    วันหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ในระหว่างเสด็จดำเนิน บ่ายพระพักตร์ไปยังเมืองกุสินาราสถานที่ปรินิพพานว่า "อานนท์ ต่อไปภายหน้า ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อยบ้างก็ได้"

    พระอานนท์ก็รับฟัง โดยมิได้กราบทูลถามรายละเอียดว่าสิกขาบทเล็กน้อยนั้นได้แก่ข้อใดบ้าง เนื่องจากท่านมัวแต่กังวลใจเกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระพุทธองค์

    หลังจากพระพุทธปรินิพพานแล้วได้ ๓ เดือน พระมหากัสสปะได้เรียกพระอรหันต์ทรงอภิญญา ๕๐๐ องค์ ประชุมกันทำสังคายนาที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ ปรารภเหตุที่พระหลวงตาชื่อสุภัททะกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย (คงจำได้ ได้เล่าให้ฟังแล้ว หลวงตาสุภัททะท่านบอกว่าพระศาสดาปรินิพพานก็ดีแล้ว ต่อไปเราจะทำอะไรก็ย่อมได้ตามปรารถนา เพราะไม่มีพระศาสดาคอยจู้จี้ห้ามโน่นห้ามนี่ต่อไป พระมหากัสสปะจึงสลดใจว่า พระศาสดาล่วงไปยังไม่พ้น ๗ วัน สาวกพูดได้ขนาดนี้ นานเข้าจะขนาดไหน จึงดำริทำสังคายนา)

    คณะสงฆ์ได้สอบถามพระอานนท์ว่า พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนอะไรไว้บ้าง พระอานนท์ก็เล่าให้พระสงฆ์ฟังหมดทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องทรงอนุญาตให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยนี้ด้วย

    ที่ประชุมถกเถียงกันว่า สิกขาบทเล็กน้อยคือข้อใด ต่างก็มีความเห็นไม่ลงรอยกัน พระมหากัสสปะประธานที่ประชุม จึงเสนอให้ลงมติ เนื่องจากไม่ทราบว่าสิกขาบทเล็กน้อยคือข้อใดบ้าง พระสงฆ์จะคงรักษาไว้ตามเดิม หรือว่าจะถอนมติที่ประชุมซึ่งเป็นเสียงข้างมากออกมาว่าให้คงไว้ตามเดิม

    มติที่ว่านี้เรียกตามศัพท์ว่า "เถรวาท" แปลว่าวาทะของพระเถระทั้งหลาย หรือข้อตกลงของพระเถระทั้งหลาย (หมายถึงพระเถระในคราวสังคายนาครั้งที่ ๑ นี้) ซึ่งต่อมาคำนี้ได้กลายเป็นชื่อนิกายเก่าแก่ของพระพุทธศาสนา

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPUzB3TWc9PQ
     
  6. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    สงฆ์ปรับอาบัติพระอานนท์

    ที่ประชุมได้ปรับอาบัติพระอานนท์หลายข้อ โทษพระอานนท์ว่ามีความบกพร่อง ขอประมวลมาทั้งหมด ดังนี้

    ๑. พระอานนท์ไม่ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า สิกขาบทเล็กน้อย ได้แก่ข้อใดบ้าง

    ๒. พระอานนท์เหยียบผ้าอาบน้ำฝนพระพุทธเจ้า เป็นการแสดงความไม่เคารพ

    ๓. พระอานนท์ปล่อยให้สตรีถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อน และพวกนางร้องไห้จนน้ำตาเปื้อนพระพุทธสรีระ

    ๔. พระอานนท์ไม่ทูลวิงวอนให้พระพุทธเจ้าทรงยืดพระชนมายุออกไปอีก เมื่อพระองค์ทรงทำนิมิตโอภาส (บอกใบ้ให้ทราบ)

    ๕. พระอานนท์ขวนขวายให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา

    พระอานนท์แถลงแก้การกระทำของท่านดังต่อไปนี้

    ๑. ที่ไม่ทูลถามก็เพราะนึกไม่ทัน หรือไม่ทันนึก เพราะมัวแต่กังวลเกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระพุทธองค์

    ๒. ที่เหยียบผ้าอาบน้ำฝนของพระพุทธองค์ ท่านมิได้มีเจตนาจะเหยียบเพราะไม่เคารพ หากเหยียบเพราะความพลาดพลั้ง

    ๓. ที่ให้สตรีถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อน เพราะเห็นว่าสตรีเหล่านั้นไม่ควรอยู่ในเวลาวิกาล จึงให้ถวายบังคมก่อนจะได้กลับแต่วัน

    ๔. ที่มิได้ทูลอาราธนาให้พระองค์ทรงยืดพระชนมายุออกไป เพราะ "มารดลใจ"

    ๕. ที่ขวนขวายให้สตรีบวช ก็เพราะนางปชาบดีโคตมีเป็นผู้มีอุปการคุณต่อพระพุทธองค์สมัยยังทรงพระเยาว์ เพราะเป็นพระน้านางที่เลี้ยงดูพระองค์มา

    แม้ว่าพระอานนท์จะชี้แจงเหตุผลได้ทุกข้อ คณะสงฆ์ก็ยังคงยืนกรานปรับอาบัติท่าน ท่านก็มิได้ขัดขืน กล่าวว่าข้าพเจ้าไม่เห็นอาบัตินั้น แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอแสดงอาบัติ ณ บัดนี้

    นี่แหละครับ น้ำใจของนักประชาธิปไตย เคารพเสียงส่วนมาก เป็นคุณสมบัติที่น่ารักยิ่งของพระอานนท์พุทธอนุชา

    หลังจากการประชุมทำสังคายนาผ่านไปแล้ว พระเถระรูปหนึ่งนามปุราณะไม่ได้เข้าประชุมด้วย ทราบมติที่ประชุมครั้งนี้แล้วไม่เห็นด้วย

    พระปุราณะผู้ฝากรอยแห่งความแตกแยกนิกาย

    ในเวลาต่อมา

    พระปุราณะนี้เป็นใคร มาจากไหน พระบาลีมิได้ให้รายละเอียดไว้ กล่าวแต่เพียงว่าท่านเป็นคณาจารย์ผู้ใหญ่ผู้หนึ่งในครั้งนั้น เหตุไฉนไม่ได้รับเลือกให้เข้าประชุมสังคายนาด้วยไม่ทราบ

    ท่านปุราณะพาบริวารประมาณ 500 รูป จาริกมาจากทักขิณาคิรีชนบทมาพักอยู่ที่พระเวฬุวัน ได้ทราบจากพระมหากัสสปะว่า บัดนี้พระสงฆ์ได้ประชุมสังคายนาพระธรรมวินัยเรียบร้อยแล้ว ได้ตกลงกันอย่างนี้ๆ พระปุราณะบอกว่า พวกท่านทำของพวกท่านก็ดีแล้ว แต่สำหรับผมได้ยินมาจากพระพุทธเจ้าอย่างไร จักปฏิบัติตามนั้น

    แปลไทยเป็นไทยก็ว่า เชิญพวกท่านทำไปสิ ผมไม่เอาด้วย ผมเห็นอย่างไร เข้าใจอย่างไร ผมก็จะถือตามนั้น ไม่เอากะพวกท่านดอก อะไรทำนองนั้น

    และท่านก็ไม่เอาด้วยจริงๆ ท่านบอกว่า ในเมื่อพระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธานุญาตให้ยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อยบางข้อได้ ก็สมควรยกเลิก เพราะบางครั้งสิกขาบทบางข้อก็ปฏิบัติไม่ได้ ต้องยืดหยุ่นหรือผ่อนปรนให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่นในเวลาข้าวยากหมากแพง พระพุทธองค์ยังทรงเปลี่ยนแปลงบางข้ออนุญาตให้พระหุงต้มกินเองได้ เป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานว่าพระปุราณะได้แยกตนออกไปตั้งนิกายใหม่ เพียงแต่ส่อเค้าแห่งความขัดแย้งขึ้นเป็นครั้งแรก ในเรื่องการตีความพระวินัยบัญญัติความแตกแยกมาปรากฏชัดเจนหลังจากนั้นประมาณ 100 ปี

    ภิกษุวัชชีบุตรกลุ่มหนึ่งได้เสนอให้ลดหย่อนพระวินัยบัญญัติบางข้อรวมแล้ว ๑๐ ข้อ เรียกว่า "วัตถุ ๑๐ ประการ" คือ

    ๑. เก็บเกลือไว้ในเขนงแล้วนำมาปรุงอาหารฉันได้ ("เขนง" คือ เขาสัตว์ เก็บเกลือไว้ในเขาสัตว์ แล้วนำเอามาปรุงอาหารฉันตลอดไปได้ไม่ผิด ข้อนี้ขัดกับบัญญัติเดิมห้ามพระสะสมอาหาร)

    ๒. ฉันอาหารเวลาบ่ายเมื่อเงาแดดคล้อยไปสององคุลีได้ (สมัยนั้นไม่มีนาฬิกาใช้นาฬิกาแดด เมื่อเงาแดดคล้อยไปสองนิ้วก็คงประมาณบ่ายสอง พระฉันได้ ข้อนี้ผิดบัญญัติที่ว่า ห้ามพระฉันอาหารหลังเที่ยง)

    ๓. ฉันอาหารอิ่มแล้ว เข้าบ้านฉันอาหารอีกได้

    ๔. อยู่ในวัดเดียวกัน แยกกันทำอุโบสถสังฆกรรมได้

    ๕. เวลาทำอุโบสถ แม้ว่าพระจะมาไม่พร้อมกัน จะทำอุโบสถก็ได้

    ๖. ครูอาจารย์เคยปฏิบัติมาอย่างใด แม้ผิดก็ปฏิบัติตามเดิมได้

    ๗. ฉันนมสดที่ยังไม่แปรเป็นนมส้มได้

    ๘. ฉันสุราอ่อนๆ ได้

    ๙. ใช้ผ้านิสีทนะ (ผ้าปูนั่ง) ที่ไม่มีชายได้

    ๑๐. รับเงินและทองได้

    พระยสกากัณฑบุตรเดินทางจากเมืองโกสัมพีมายังเมืองไพศาลี ได้ทราบว่าพวกวัชชีบุตรได้ลดหย่อนสิกขาบทเอาเองโดยอัตโนมัติ

    (หมายถึงโดยความคิดเห็นของตน) จึงไปตักเตือน ถูกพวกวัชชีบุตร "ล็อบบี้" โดยเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านได้แล้วให้คนนำเงินไปถวายพระเถระ พระเถระนอกจากไม่รับเงินแล้วยังตำหนิเอาแรงๆ

    วัชชีบุตรก็เลยแค้น จะ "ล้อมกรอบ" ท่าน ท่านจึงหนีไปก่อน โดยเดินทางไปยังเมืองปาฐา เมืองอุชเชนี และทักขิณาบถ ไปเรียนให้พระผู้ใหญ่ชื่อสาณสัมภูตวาสี ปรึกษากันทำสังคายนาพระธรรมวินัย

    พวกวัชชีบุตรพอพระยสกากัณฑบุตรหนีไปแล้ว ก็เกรงว่าท่านจะไปรวบรวมพระเถระผู้ใหญ่อื่นๆ มาร่วมต่อต้านพวกตน จึงหาทางไปเกลี้ยกล่อมพระเจ้ากาฬาโศกให้เข้าข้างตน ซึ่งก็โชคดีพระเจ้าแผ่นดินทรงเห็นดีเห็นงามกับพวกวัชชีบุตรด้วย ร้อนถึงนางภิกษุผู้เป็นพระกนิษฐภคินีของพระราชา ไปชี้แจงให้พระราชาทรงทราบว่าพวกวัชชีบุตรเป็นพวก "ทุมมังกุ" (คนไม่รู้จักอาย) จึงมิได้สนับสนุนอีกต่อไป

    พระเถระทั้งหลายได้ตกลงกันทำสังคายนาชำระสะสาง "วัตถุ ๑๐ ประการ" โดยมีเถระจากเมืองปาฐาจำนวนหนึ่ง จากเมืองอุชเชนี แคว้นอวันตี และจากทักขิณาบถอีกจำนวนหนึ่งตกลงจะไปอาราธนาพระเรวตเถระ พระผู้เฒ่าเชี่ยวชาญพระธรรมวินัยให้เป็นประธาน

    พวกวัชชีบุตรรู้ข่าวชิงตัดหน้าไป "ล็อบบี้" พระเรวตเถระก่อน แต่ถูกปฏิเสธก็จ๋อยไป พระเถระทั้งหลายได้เลือกเอาวาลุการาม เมืองไพศาลี เป็นสถานที่ทำสังคายนา ยกเอาวัตถุ ๑๐ ประการมาวินิจฉัยอย่างละเอียด แล้วมีมติว่ามีวัตถุ ๑๐ ประการนี้ผิดธรรม ผิดวินัย

    ฝ่ายพวกวัชชีบุตรได้แยกตัวออกไปตั้งนิกายใหม่ ชื่อ "มหาสังฆิกะ" แยกทำสังคายนาอีกต่างหาก เรียกว่า "มหาสังคีติ"

    ฟังชื่อก็รู้ว่ามีพรรคพวกมากกว่าฝ่ายเดิมแน่นอน (มหาสังฆิกะ แปลว่า สงฆ์หมู่ใหญ่ มหาสังคีติ แปลว่า การสังคายนาที่ยิ่งใหญ่) เมื่อเกิดนิกายมหาสังฆิกะขึ้น คณะสงฆ์ดั้งเดิมก็จำต้องเป็นนิกายหนึ่งนามว่าเถรวาท

    นิกายศาสนาก็เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ ฝ่ายมหาสังฆิกะจะสืบมาจากท่านปุราณะหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ คือ มหาสังฆิกะมีจุดยืนเช่นเดียวกับพระปุราณะ คือ ถือว่าสิกขาบทเล็กน้อยถ้าจำเป็นก็ยกเลิกได้

    แนวคิดอย่างนี้ได้กลายมาเป็นมหายานในกาลต่อมา

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPUzB3TXc9PQ
     
  7. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ๑๘. พระธรรมวินัยศาสดาแทนพระพุทธองค์

    พระอานนท์หรือสาวกอื่น คงคิดเหมือนกันว่า เมื่อพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พระองค์น่าจะตั้งใครให้เป็น "หลัก" ของพระพุทธศาสนาแทนพระองค์ต่อไป พระพุทธเจ้าจึงตรัสกับพระอานนท์ว่า

    "อานนท์ บางทีพวกเธอพึงมีความคิดเช่นนี้ว่า ปาพจน์ (คือ พระศาสนา) มีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พระศาสดาของเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงคิดเช่นนั้น ธรรมและวินัยอันใดที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา"

    ข้อที่พึงสังเกตก็คือ ธรรม คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรง "แสดง" วินัย คือ สิ่งที่พระองค์ทรง "บัญญัติ" ขึ้นมา ส่วนที่เรียกว่าธรรม มี ๒ ระดับ คือ สัจธรรมสูงสุด หรือเป้าหมายสูงสุดที่มนุษย์พึงได้พึงถึง (ได้แก่ นิพพาน การดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง) และแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดนั้น (อริยมรรคมีองค์ ๘) ธรรมทั้ง ๒ ระดับนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงแจกแจงให้สาวกทั้งหลายเข้าใจ

    สัจธรรมสูงสุดนั้นมีอยู่แล้ว ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเข้าใจสัจธรรมสูงสุดนั้นแล้ว ก็นำมาแสดงเปิดเผยให้คนอื่นเข้าใจ โดยการวางแนวปฏิบัติที่ลัดตรงเพื่อเข้าถึงสัจธรรมนั้น แนวทางที่ทรงแสดงนี้ก็ทรงแสดงเช่นเดียวกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตทรงแสดงไว้ ไม่ใช่สิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติขึ้นใหม่ เพราะฉะนี้ อริยมรรคมีองค์ ๘ บางครั้งทรงเรียกว่า "โปราณมรรค" (หนทางเก่า คือ หนทางที่พระสัมมาสัมพุทธะในอดีตทรงดำเนินแล้วนั้นเอง)

    ในบางแห่งพระพุทธเจ้าจึงตรัสสถานะของพระศาสดาว่าทรงเป็น "กัลยาณมิตร" (เพื่อนที่ดีงามของผู้ปฏิบัติ) มีหน้าที่เพียง "ชี้แนะแนวทางที่ถูกที่ตรง" ให้เท่านั้น (อกฺขาตาโต ตถาคต พระตถาคตทั้งหลายเป็นเพียงผู้บอกทาง)

    ส่วนวินัยนั้น... เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรง "บัญญัติ" หรือตั้งแนวใหม่เพื่อความเรียบร้อยของสังคมสงฆ์ เป็น "พุทธอาณา" คำสั่งหรือกฎระเบียบที่พระองค์ทรงวางไว้เมื่อเกิดการกระทำอันไม่เหมาะสมขึ้นในสังคม

    วัตถุประสงค์การบัญญัติพระวินัย

    พระพุทธองค์เมื่อจะทรงบัญญัติวินัย จะทรงบัญญัติขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมาย ๑๐ ประการ คือ

    ๑. เพื่อความดีงามที่เป็นไปโดยความเห็นชอบร่วมกันของสงฆ์

    ๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์

    ๓. เพื่อกำราบทุมมังกุ (คนหน้าด้านไม่รู้จักอาย)

    ๔. เพื่อความผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม

    ๕. เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสีย ความทุกข์เดือดร้อนในปัจจุบัน

    ๖. เพื่อบำบัดความเสื่อมเสีย ความทุกข์เดือดร้อนที่จะมีในภายหลัง

    ๗. เพื่อความเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส

    ๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไปของผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้ว

    ๙. เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม (พระศาสนา)

    ๑๐. เพื่อสนับสนุนวินัยให้หนักแน่น หรือส่งเสริมความเป็นระเบียบเรียบร้อย

    ผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนามาจากตระกูล และภูมิหลังแตกต่างกัน สมัยพุทธกาลนั้นเห็นชัด เพราะสังคมอินเดียสมัยนั้นยึดถือ "วรรณะ" กันเคร่งครัด พวกที่เกิดในวรรณะสูงก็จะทะนงตัวว่าประเสริฐกว่าคนวรรณะอื่น คนวรรณะสูงเป็นคนดี ส่วนคนวรรณะต่ำเป็นคนเลว ค่านิยมดีและเลว ตัดสินกันด้วยการเกิด ชาติกำเนิด การดูถูกเหยียดหยามกัน เบียดเบียนรังแกกันจึงมีอยู่ทั่วไปในสังคม เมื่อพระพุทธเจ้าทรงนำเอาคนทุกวรรณะมาบวชรวมกันในสังคม "สงฆ์" ของพระองค์ ทรงขจัดความเหลื่อมล้ำนั้นด้วยการบัญญัติวินัยให้ยึดถือปฏิบัติ

    เมื่อมีวินัยมีศีลเหมือนๆ กัน มีระเบียบปฏิบัติเสมอภาคกัน ความดีงามผาสุกก็เกิดขึ้นในสังคมสงฆ์ พระสงฆ์เคารพกันตามอายุพรรษาที่เข้ามาบวช เคารพกันเพราะวินัยเพราะศีล ไม่ได้ยึดเอาชาติชั้นวรรณะมาเป็นเกณฑ์อีกต่อไป

    ภิกษุที่ไม่ปฏิบัติตามพระวินัยก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะได้รับความรังเกียจ และถูกปฏิเสธจากพระสงฆ์มีศีลดีงาม ถ้ามีความผิดเล็กน้อยก็ต้องแก้ไขตามกฎระเบียบ (คือ แสดงอาบัติ) จึงไม่ถูกรังเกียจ ถ้าละเมิดวินัยอย่างหนัก แต่ไม่ถึงกับขาดจากความเป็นพระ (สังฆาทิเสส) พระสงฆ์จะต้องทำโทษตามระเบียบข้อบังคับ (อยู่ปริวาสหรืออยู่กรรม) เสียก่อน จึงจะยอมรับเข้ามาสู่สังคมสงฆ์เหมือนเดิม จะเห็นว่าวินัยที่ทรงบัญญัติไว้นี้ คนหน้าด้านอยู่ลำบาก ยิ่งถ้าต้องปราชิกแล้วจะถูกขับออกจากสังคมสงฆ์ทันที

    แต่ถ้าภิกษุที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่วางไว้ มีศีล มีอาจาระงดงาม จะอยู่ในสังคมนี้อย่างผาสุก ได้รับการยอมรับ ไม่รังเกียจเดียดฉันท์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ร่วมทำสังฆกรรมได้ทุกอย่างเพราะเหตุฉะนี้ ภิกษุที่มีศีลดีงามจึงอยู่ผาสุก

    ภิกษุที่มีศีลดีงาม ใครพบใครเห็นก็เลื่อมใส แม้ว่าแต่ก่อนจะนับถือลัทธิศาสนาอื่นมาก่อนก็ตาม ดังตัวอย่าง พระอัสสชิเถระขณะท่านเดินบิณฑบาตอยู่ในเมืองราชคฤห์ การเดินเหิน การเคลื่อนไหวอิริยาบถเป็นไปด้วยความสงบสำรวม มาณพน้อยคนหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์เจ้าลัทธิ ชื่อ สัญชัย เวลัฏฐบุตร พบเห็นเข้าก็ประทับใจในความสงบสำรวมของท่าน นึกใจในเงียบๆ ว่า (นึกมันก็เงียบสิคะ นึกเสียงดังไม่มีดอก) "ท่านผู้นี้ต้องมีคุณธรรมวิเศษแน่นอน"

    จึงเดินไปตามหลังห่างๆ พอได้โอกาสจึงเข้าไปเรียกถามธรรมจากท่าน ท่านบอกว่าท่านเพิ่งบวช ไม่รู้ธรรมโดยพิสดาร ขอแสดงให้ฟังย่อๆ ก็แล้วกัน ว่าแล้วก็แสดงคาถาสรุปใจความของอริยสัจ ๔ ให้ฟังความว่า "สิ่งใดเกิดจากเหตุ พระตถาคตตรัสเหตุของสิ่งนั้น และการดับเหตุของสิ่งนั้น"

    เมื่อได้ฟังเท่านี้ มาณพน้อยหน้ามนก็ได้ "ดวงตาเห็นธรรม" ทันที นี่แหละครับ พระภิกษุที่มีศีลดีงาม ย่อมสามารถปลูกศรัทธาแก่คนที่ยังไม่เลื่อมใสได้ อ้อ หนุ่มน้อยหน้ามนคนนี้ต่อมาได้มาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ได้รับการยกย่องใน "เอตทัคคะ" (เป็นเลิศ) กว่าผู้อื่นว่ามีปัญญามาก ใช่แล้ว พระสารีบุตรเถระนั้นเอง

    ส่วนคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว เมื่อเห็นพระที่มีศีลงดงามก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใสขึ้นเป็นทวีตรีคูณดังพระอานนท์ผู้มีศีลงดงาม พูดจาก็ไพเราะ กิริยามารยาทก็นุ่มนวล แสดงธรรมก็แจ่มแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รู้จักกาลด้วย ไม่เทศน์ยาวจนคนฟังนั่งสัปหงก ไม่พูดสั้นจู๋จนคนฟังเสียดายว่าทำไมสั้นปานนั้น คนที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว เมื่อพบเห็นและได้สมาคมกับพระผู้มีศีลดีงาม เช่น พระอานนท์ และสาวกองค์อื่นๆ ก็กลับเลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะเหตุฉะนี้ การบัญญัติพระวินัยจึงเป็นไปเพื่อความเลื่อมใสเพิ่มขึ้นของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว

    (อ่านต่ฉบับหน้า)

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPUzB3TkE9PQ
     
  8. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    วัตถุประสงค์การบัญญัติพระวินัยเพิ่มเติม

    ในพระสูตรหนึ่งในอังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าทรงแสดงวัตถุประสงค์ของการบัญญัติสิกขาบทเพิ่มเติมจากที่ตรัสไว้ข้างต้นนั้นอีก ๒ ข้อ คือ

    ๑.เพื่ออนุเคราะห์คฤหัสถ์ทั้งหลาย

    ๒.เพื่อตัดรอนฝ่ายภิกษุผู้ปรารถนาชั่วร้าย

    สองข้อนี้จะเห็นว่า วินัยของสงฆ์เผื่อแผ่ความผาสุกมายังคฤหัสถ์ด้วยในข้อหนึ่งนั้น การบัญญัติพระวินัย หรือการที่พระปฏิบัติตามวินัยอย่างเคร่งครัด เป็นการได้ประโยชน์สุขของชาวบ้านด้วยได้อย่างไร

    พระย่อมพึ่งพาชาวบ้าน ชาวบ้านได้ถวายความอุปถัมภ์บำรุงด้วยปัจจัย ๔ แก่พระ เรียกง่ายๆ ว่าได้ทำบุญ เมื่อทำบุญกับพระที่มีศีลงดงาม เช่น ถวายอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) แก่พระสงฆ์ ทานนั้นย่อมมีอานิสงส์มาก เพราะผู้รับคือพระเป็นผู้มีศีลดีงาม

    พระสงฆ์นั้นเป็นเสมือน "เนื้อนา" สำหรับให้ชาวบ้านหว่านโปรยพืชพันธุ์ข้าว ถ้าเป็นเนื้อนาที่ไม่ดี พืชพันธุ์ข้าวที่หว่านลงก็ไม่ได้ผลเต็มที่ แต่ถ้าเป็นเนื้อนาดี ก็ได้ผลิตผลอุดมสมบูรณ์ ฉันใดก็ฉันนั้น

    พระสงฆ์ไม่มีศีล ไม่เคารพกฎระเบียบที่ทรงบัญญัติไว้ ชาวบ้านก็พลอยเดือดร้อน ดังกรณีพระเมืองโกสัมพีเกิดแตกแยกทะเลาะวิวาทกัน เพราะความเหลื่อมล้ำกันในเรื่องศีล เรื่องวินัย พลอยทำให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อน ถึงขั้นแตกกันเป็นฝักเป็นฝ่ายตามไปด้วย

    ข้อที่สองคงจะหมายถึงว่า เมื่อภิกษุผู้ชั่วร้ายถูกขจัดจากพระศาสนาแล้ว คฤหัสถ์เหล่าที่ถือหางภิกษุชั่วก็ย่อมจะถูกขจัดไปด้วยเช่นกัน พูดอีกนัยหนึ่งว่า เมื่อพระวินัยได้ขับพระชั่วออกจากพระศาสนาแล้ว ก็ไม่มีพระชั่วคอยไปชักจูงให้คฤหัสถ์ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวได้ประพฤติชั่ว หรือสนับสนุนพระชั่วตามไปด้วย พระนั้นเป็นผู้นำชาวบ้าน เมื่อผู้นำนำถูกทาง ชาวบ้านผู้ตามก็ตามไปถูกทาง ถ้านำผิด ผู้ตามก็พลอยตามผิดไปด้วยเป็นของธรรมดา เช่น ปัสสาวะออกมาแล้วใส่ขันแจกชาวบ้าน อ้างว่าพระพุทธเจ้าให้ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่องศาสนาก็พากันดื่มฉี่ทุมมังกุเป็นประจำ มิน่าล่ะถึงศรัทธาหัวปักหัวปําเล่นทำเสน่ห์กันอย่างนี้นี่เล่า!

    เมื่อไม่มีผู้นำที่เลวร้าย ผู้ตามก็จะได้ตามเฉพาะผู้นำที่ดี พระวินัยย่อมตัดรอนฝ่ายของภิกษุผู้ปรารถนาชั่วร้ายด้วยประการฉะนี้

    ๑๙.พระอนุรุทธะ

    พระเถระผู้เป็น "หลัก" ในวาระสุดท้ายแห่งพระพุทธองค์

    ขณะพระพุทธเจ้าเสด็จถึงสาลวโนทยานของพวกมัลลกษัตริย์ติดตามด้วยพระอานนท์นั้น ภิกษุสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ได้ข่าวก็พากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ด้วยความเป็นห่วง เสียดายว่าพระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว

    พระสาวกที่เป็นเถระผู้ใหญ่หลายองค์ได้นิพพานไปก่อนพระพุทธองค์แล้ว อาทิ พระอัญญาโกณฑัญญะ (ท่านผู้นี้อายุ ๑๒๐ ปี แต่บวชเมื่ออายุมากแล้ว จึงนิพพานไปก่อน) พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา และพระโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย ก็นิพพานก่อนหน้านั้นไม่นาน แม้กระทั่งพระราหุลพุทธชิโนรส ซึ่งเป็นที่ "ใคร่ต่อการศึกษา" มีความรู้เป็นพหูสูตมาก ก็นิพพานไปก่อนพระพุทธองค์

    ในมหาปรินิพพานสูตรนี้มีกล่าวถึงพระเถระที่เป็น "หลัก" ในวาระสำคัญนี้อยู่องค์เดียวคือ พระอนุรุทธะ พระมหากัสสปะนั้นมาไม่ทัน "ดูใจ" (พูดแบบภาษาชาวบ้านนะครับ) เพราะท่านอยู่ไกลมาก พอได้ข่าวว่าพระพุทธองค์ทรงประชวรหนัก ก็พาบริวารเดินทางมาเฝ้า แต่ยังไม่ถึง

    เมื่อพระพุทธองค์บรรทมเหนือพระแท่นสำหรับปรินิพพานใต้สาละทั้งคู่ ตรัส "ปัจฉิมพุทธโอวาท" เตือนให้พุทธบริษัทไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตแล้ว (อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สมบูรณ์พร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด) ก็มิได้ตรัสอะไรอีก

    ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้วทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้วทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้วทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้วทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้วทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้วทรงเข้าอากิญจัญญา ยตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนะแล้วทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้วทรงเข้านิโรธสมาบัติ

    ข้อความในย่อหน้าข้างต้นนั้นเป็น "ลีลาการปรินิพพาน" ของพระพุทธองค์ คนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาอ่านแล้วก็คงไม่เข้าใจ ขอพูดเพื่อให้เข้าใจคร่าวๆ ว่า พระพุทธองค์ทรงเข้าฌานจากฌานขั้นต้นไปตามลำดับ คือ เข้ารูปฌาน ๔ (ขั้นที่ ๑-๔) แล้วก็เข้าต่อยังอรูปฌาน ๔ (ขั้นที่ ๕-๘) แล้วก็ต่อไปยังนิโรธสมาบัติ ซึ่งเป็นขั้นสูงสุด ถึงขั้นนี้จะดับสัญญา (ความจำ) เวทนา (ความรู้สึก) ไว้หมด ลมหายใจละเอียดจนไม่มี เหมือนท่อนไม้ก้อนหิน เหมือนคนตายแต่ยังมีอุณหภูมิเครื่องบ่งชี้ว่ามีชีวิตอยู่

    มาถึงตรงนี้ พระอานนท์พุทธอนุชาซึ่งเป็นเพียงพระโสดาบัน ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ทรงอภิญญา ก็เอ่ยถามพระอนุรุทธะว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วหรือ

    พระอนุรุทธตอบว่า "ยังก่อน ท่านอานนท์ พระผู้มีพระภาคกำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ"

    ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคก็ทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ทรงเข้าฌานถอยหลังมายังเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้วทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนะแล้วทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้วทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้วทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้วทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้วทรงเข้าปฐมฌาน

    จากนั้นก็ถอยกลับขึ้นไปใหม่ คือ ออกจากปฐมฌานแล้วทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้วทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้วทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้วก็ "ทรงดับสนิท" ในระหว่างนั้นเอง

    ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนแห่งการเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์ ท่านบันทึกไว้เป็นหลักวิชาสำหรับผู้ศึกษาทฤษฎีพระพุทธศาสนา และเพื่อทดสอบผลการปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติ ผมได้นำมาลงไว้เพื่อสำเหนียกศึกษา

    สำหรับปุถุชนอย่างเราๆ ฟังแล้วก็ "สะลึมสะลือ" เหมือนตื่นนอนใหม่ๆ ไม่รู้ดอกว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่ มีผู้รู้ท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมพระพุทธองค์ไม่ "ดับสนิท" เสียตั้งแต่อยู่ในนิโรธสมาบัติโน้น ทำไมจึงเข้าฌานถอยลงมาจนถึงปฐมฌาน แล้วกลับเข้าไปอีกจนถึงจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้วก็ "ดับสนิท" ตรงนั้น

    แต่ท่านผู้รู้ก็ตอบว่า ที่พระองค์ดับสนิทในระหว่างรูปธรรม (รูปฌาน) กับนามธรรม (อรูปฌาน) เพื่อเตือนให้เหล่าสาวกของพระองค์มิได้ติดอยู่ทั้งในรูปธรรมและนามธรรม ว่าอย่างนั้น ถ้าคิดแบบเซนก็คือ ทรงตั้ง "โกอาน" ไว้ให้คิดด้วยสติปัญญาว่าไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นทั้งในรูปและนามธรรม ดังพุทธวจนะว่า "สัพเพ ธัมมา นาลัง อะภินิเวสายะ สิ่งทั้งปวงไม่พึงยึดมั่นถือมั่น" นั้นแล

    พระอนุรุทธะเป็นผู้นั่งเข้าฌานตามพระพุทธเจ้าแล้วก็จะบอกพระอานนท์และพระสงฆ์ว่า ขณะนี้พระพุทธองค์ทรงเข้าฌานระดับนั้นๆ นับว่าท่านเป็นหลักสำคัญในวาระครั้งยิ่งใหญ่นี้

    เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วก็เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ "กลองทิพย์" ก็บันลือลั่น แผ่นดินไหวนั้นท่านว่าไหวด้วยเหตุ ๘ ประการ ประการสุดท้ายคือ ไหวเพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ส่วนกลองทิพย์หรือกลองเทวดานั้นคงไม่มีใครได้ยินด้วยโสตประสาทธรรมดา ต้องคนที่มีหูทิพย์ตาทิพย์เท่านั้นจึงจะเห็นและได้ยิน ด้วยว่าสิ่งเหล่านี้อยู่คนละ "มิติ" กับประสาทสัมผัสของมนุษย์ปุถุชน เมื่อมองไม่เห็น ไม่ได้ยิน จะหาว่าไม่มีก็คงไม่ได้

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPUzB3Tnc9PQ
     
  9. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    คาถาแสดงธรรมสังเวช

    ที่น่าศึกษาก็คือ พระสาวกที่ท่านมีหูทิพย์ ตาทิพย์ ท่านได้บันทึกเสียงสะท้อนหลังจากพุทธปรินิพพานไว้ด้วย คือ ท้าวสหัมบดีพรหมและพระอินทร์ ได้กล่าวคาถาแสดงธรรมสังเวช (คือปลงเพราะเข้าใจถึงธรรมดาแห่งชีวิต) ไว้ด้วย

    ท้าวสหัมบดีพรหมกล่าวคาถาว่า

    สัตว์ทั้งปวงทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก แม้แต่พระตถาคตศาสดา

    ผู้ไม่มีใครเปรียบปาน ทรงสมบูรณ์ด้วยทศพลญาณ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ยังดับสนิทแล้ว

    เตือนให้คิดว่า อย่าว่าแต่เราเลย แม้พระผู้ประเสริฐอย่างพระสัมมาสัมพุทธะยังปรินิพพานให้พิจารณาเห็นความจริงของสรรพสิ่งเสียเถอะ อย่าได้ยึดติดอะไรจนเกินไป

    พระอินทร์ก็กล่าวคาถาว่า

    สังขาร (สิ่งผสม) ทั้งหลายไม่เที่ยงแท้หนอ เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา การดับสังขารทั้งหลายได้เป็นความสุขแท้

    คาถาของพระอินทร์ได้ถูกนำมาเป็นคาถา "บังสุกุล" ของพระสงฆ์มาจนบัดนี้ ญาติโยมเองก็ได้ยินบ่อยๆ จนจำได้ คือคาถาว่า

    อนิจจา วะตะ สังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน

    อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสะโม สุโข

    ที่ว่า "ดับสังขารได้เป็นสุข" หมายถึงดับกิเลสได้ หรือบรรลุนิพพานนะครับ ไม่ใช่ "ฆ่าตัวตาย" แล้วเป็นสุขนะ อย่าเข้าใจผิด

    พระอนุรุทธเถระได้กล่าวคาถาความว่า

    พระพุทธเจ้าผู้มีพระทัยมั่นคง ผู้คงที่ ไม่หวั่นไหว ทรงหมดลมหายใจแล้ว

    พระมุนีเจ้าทรงทำกาละอย่างสงบแล้ว พระองค์มีพระทัยไม่หดหู่

    ทรงระงับเวทนาได้ พระทัยหลุดพ้น ทรงดับสนิทแล้วดุจเปลวประทีปดับ ฉะนั้น

    พระอานนท์กล่าวคาถาความว่า

    เมื่อพระพุทธองค์ผู้ทรงสมบูรณ์พร้อมด้วยประการทั้งปวงเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้เกิดความสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าแล้ว

    มีข้อน่าเปรียบเทียบก็คือ วาทะของพระอรหันต์ทรงอภิญญา (พระอนุรุทธะ) กับของพระเสขบุคคล (ผู้ยังไม่หมดกิเลสสิ้นเชิงคือพระอานนท์) เนื้อหาแตกต่างกัน พระอนุรุทธะนั้นกล่าวอย่างผู้เข้าใจกฎธรรมดาว่า ทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นแล้วจะต้องดับไป แม้พระพุทธเจ้ายังดับ แต่การดับของพระองค์นั้นดับอย่างสนิท เพราะทรงละกิเลสอาสวะทั้งปวงได้แล้ว

    ส่วนวาทะของพระอานนท์ ยังใส่ความรู้สึกของผู้ยังมีอุปาทานอยู่ แม้ว่าท่านจะเป็นพระโสดาบันแล้วก็ตาม (พระโสดาบันนั่งร้องไห้เสียใจอาลัยอาวรณ์ได้ ดังนางวิสาขาเมื่อหลานตายก็ยังร้องไห้ฟูมฟายไปเฝ้าพระพุทธเจ้า)

    ในสังคมพุทธไทย เมื่อจัดงานเผาศพญาติมิตรผู้ล่วงลับก็จะพิมพ์หนังสืองานศพ เขียนคำไว้อาลัยผู้ตายไว้ด้วย ประเพณีนี้เริ่มมาแต่เมื่อใดไม่ทราบ อาจจะเลียนแบบคาถาแสดงธรรมสังเวชที่มีผู้กล่าวเมื่อครั้งพุทธปรินิพพานก็เป็นได้ แต่เท่าที่สังเกต คำไว้อาลัยนั้นมักเป็นไปในทำนองยกย่องผู้ตายเสียเลอเลิศ และแสดงความอาลัยอาวรณ์เกินความจริง ชักจูงไปทางลุ่มหลงมัวเมาในชีวิตมากกว่าจะเตือนสติตัวเองและผู้อื่นให้เข้าใจธรรมชาติและธรรมดาของชีวิต

    ๒๐. บางแง่มุมเกี่ยวกับมหาปรินิพพานสูตร

    ในมหาปรินิพพานสูตรนี้มีบางแง่บางประเด็นที่ควรพิจารณา เช่น เมื่อพระอานนท์พุทธอนุชากราบทูลพระพุทธเจ้าว่า เพราะเหตุใดพระองค์จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จไปปรินิพพานที่เมืองกุสินาราซึ่งเป็นเมืองเล็กและอยู่ไกลด้วย ไปด้วยความลำบากยิ่ง เพราะพระองค์กำลังประชวรหนัก

    พระพุทธเจ้าทรงให้เหตุผลว่า ถึงกุสินาราจะเป็นเมืองเล็กๆ ในปัจจุบัน แต่ในอดีตอันยาวนานโพ้น กุสินารานั้นเคยเป็นเมืองใหญ่ เป็นที่ประทับของพระเจ้าจักรพรรดิอันยิ่งใหญ่ ดังพุทธวจนะว่า

    "ดูก่อนอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า เมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมือง ดังนี้เลย ดูก่อนอานนท์ แต่ปางก่อนมีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่ามหาสุทัสสนะผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรมเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีอาณาจักรมั่นคงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ เมืองกุสินารานี้มีนามว่า "กุสาวดี" เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ..."

    เหตุผลที่ทรงอ้างแก่พระอานนท์ว่า ถึงเมืองนี้จะเล็ก แต่มันก็ยิ่งใหญ่ในอดีต สมควรที่พระองค์จะมาปรินิพพานที่นี่อะไรทำนองนี้ ฟังดูกระไรอยู่ น่าจะมีเหตุผลอื่นแฝงอยู่ ที่มิได้ระบุไว้ในที่นี้ ขออนุญาตคิดเล่นๆ ก็แล้วกัน อย่าหาว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลย

    คือมีคนเสนอทฤษฎีว่า เผ่าศากยะอาจมิใช่อารยันแท้ๆ หากเป็นเผ่าคนผิวเหลือง (มองโกล) ซึ่งมีวัฒนธรรมเป็นของตนไม่เหมือนพวกอารยันทั้งหลาย วัฒนธรรมเฉพาะตน เช่น

    ความหยิ่งในความบริสุทธิ์แห่งสายเลือดของตน ถือว่าพวกตนเป็นสายเลือดที่บริสุทธิ์จะไม่ยอมให้ปะปนกับสายเลือดอื่นๆ โดยการแต่งงานกันเองระหว่างพี่น้อง

    มีการปกครองเป็นของตนโดยเฉพาะ คือ ปกครองโดยระบบ "สัณฐาคาร" (รัฐสภา) เลือกตั้งประมุขขึ้นมาปกครองโดยสมาชิกรัฐสภา ตัดสินปัญหาโดยถือเสียงข้างมาก วิธีการนี้พระพุทธเจ้าทรงนำมาปรับใช้กับการปกครองสงฆ์ เรียกว่า "เยภุยยสิกา"

    มีประเพณีเฉพาะตัว เช่น ประเพณีที่ผูกพันทางสายเลือดเวลาจะคลอดบุตร (ถ้าเป็นไปได้) ก็จะกลับไปคลอดที่ตระกูลบรรพบุรุษ เวลาจะตาย (ถ้าเป็นไปได้) ก็จะไปตายที่บ้านเกิดเมืองนอน หรือถิ่นบรรพบุรุษ เมื่อตายแล้วเผาศพเอากระดูกบรรจุเจดีย์ไว้บูชา ไม่นิยมฝัง

    การที่พระพุทธองค์ทรงยืนยันจะไปปรินิพพานที่เมืองกุสินาราให้ได้นี้ น่าจะมีเหตุผลอื่นอีกนอกเหนือจากที่ตรัสบอกพระอานนท์ คือ ทรงต้องการไปปรินิพพาน ณ ถิ่นบรรพบุรุษ

    เหล่ามัลลกษัตริย์นี่แหละครับ ปราชญ์บางท่านบอกว่าเป็นเชื้อสายเดียวกับพระพุทธองค์เรียกพวกเขาว่า "วาเสฏฐะ" และที่ทรงต้องการปรินิพพาน ณ เมืองนี้ คงมิใช่เพราะยึดประเพณีประจำเผ่า แต่คงทรงต้องการกระทำ "ญาติสังคหะ" (การสงเคราะห์พระประยูรญาติ) ให้สมบูรณ์นั้นเอง

    พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญ "จริยา" ทั้ง 2 ประการ คือ พุทธัตถจริยา (การบำเพ็ญประโยชน์ในฐานะเป็นพระพุทธเจ้า) และโลกัตถจริยา (การบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ชาวโลก) สมบูรณ์แล้ว ส่วนญาตัตถจริยา (การบำเพ็ญประโยชน์แก่พระประยูรญาติ) ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ พระญาติฝ่ายโกลิยวงศ์และฝ่ายศากยวงศ์ พระองค์ก็ทรงสงเคราะห์หมดสิ้นแล้ว ยังเหลือแต่พระญาติทางฝ่ายมัลลกษัตริย์

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPUzB3T0E9PQ
     
  10. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ถ้าพวกเหล่ามัลลกษัตริย์เป็นพระญาติของพระ องค์จริง ตามที่ปราชญ์บางท่านตั้งข้อสังเกตพระพุทธองค์ก็ยังมิได้สงเคราะห์ จึงเป็นโอกาสสุดท้ายที่พระองค์จะทรงกระทำต่อพวกเขา

    ด้วยการเสด็จมาปรินิพพาน ณ สาลวโนทยานของพวกเขา เหล่ามัลลกษัตริย์จะได้มีโอกาสถวายการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการจัดงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ได้ทำบุญกิริยาอย่างอื่นอีก เช่น ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์จำนวนมากที่หลั่งไหลมาในวาระโอกาสอันสำคัญยิ่งนี้

    เมืองเล็กๆ แต่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมจะมีความสำคัญและเป็นที่เคารพเกรงขามของเมืองใหญ่น้อยอื่นๆ มิใช่น้อย

    เรียกว่า "ได้หน้า" ไม่น้อยทีเดียวครับ

    ลิ้นการทูตโทณพราหมณ์

    ระงับสงครามแย่งพระบรมสารีริกธาตุ

    เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว กษัตริย์เมืองน้อยใหญ่ต่างก็บากหน้ามาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ มีจำนวน ๗ เมืองคือ

    ๑. กษัตริย์ศากยะจากเมืองกบิลพัสดุ์

    ๒. กษัตริย์โกลิยะจากเมืองรามคาม

    ๓. กษัตริย์ถูลิยะจากเมืองอัลลกัปปะ

    ๔. กษัตริย์ลิจฉวีจากเมืองไพศาลี

    ๕. พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธ

    ๖. ผู้ครองนครเวฏฐทีปกะ

    ๗. กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา

    เหล่ามัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา ทีแรกชักจะลืมตนว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นของพวกตนฝ่ายเดียว เนื่องจากพระองค์ทรงเลือกมาปรินิพพานที่เมืองกุสินาราของพวกตน จะไม่ยอมแบ่งให้ สงครามแย่งพระบรม สารีริกธาตุเกือบจะระเบิดขึ้นแล้ว ถ้าไม่ได้คนอย่างพราหมณ์โทณะมาช่วยแก้สถานการณ์ วาทะห้ามศึกของโทณพราหมณ์นั้นมีว่า...

    ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอพวกท่านจงฟังคำสำคัญของข้าพเจ้า พระพุทธเจ้าของพวกเราทั้งหลายทรงสรรเสริญขันติธรรม การจะมาประหัตประหารกันเพราะแย่งส่วนแห่งพระพุทธสรีระของพระองค์ผู้ประเสริฐเช่นนี้ไม่ดีเลย ขอให้พวกเราจงยินยอมพร้อมใจแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนเถิด พระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจะได้แพร่หลายไปในทิศต่างๆ ชนผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามีอยู่จำนวนมาก (จะได้สักการบูชา)

    ด้วยลิ้นการทูตอันมีเหตุมีผลของโทณพราหมณ์ สงครามเลือดที่ทำท่าจะเกิดขึ้นก็ระงับกษัตริย์ทั้ง ๗ เมืองต่างก็ตกลงยอมแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปจำนวนเท่าๆ กัน แล้วนำไปสร้างสถูปบรรจุไว้บูชาในเมืองของตน

    น่าสังเกตว่า กษัตริย์เมืองต่างๆ ที่มาขอพระบรมสารีริกธาตุไปบูชา ล้วนแต่เป็นเผ่าพันธุ์ที่ปกครองประเทศด้วยระบอบรัฐสภาทั้งนั้น ยกเว้นพระเจ้าอชาตศัตรูองค์เดียว ที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเชื่อว่ากษัตริย์เมืองต่างๆ ที่เอ่ยนามมา เป็นเชื้อสายเดียวกับพระพุทธองค์ จึงถือประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษและคนสำคัญแห่งตระกูลเหมือนๆ กัน

    พระเจ้าโมริยะแห่งเมืองปิปผลิวันทราบข่าวทีหลัง ส่งคนมาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุบ้าง ปรากฏว่ามาไม่ทัน เขาแบ่งกันหมดแล้ว จึงได้พระอังคารไป

    ส่วนพราหมณ์โทณะได้ขอ "ตุมพะ" (ทะนานสำหรับตวงพระบรมสารีริกธาตุ) ไว้ ซึ่งก็ได้รับอนุญาตจากเหล่ามัลลกษัตริย์ แต่ในหนังสือรุ่นหลังแต่งเติมว่า โทณพราหมณ์ แกเอาพระเขี้ยวแก้วข้างขวาซ่อนไว้ที่มวยผม หวังจะ "จิ๊ก" ไว้เป็นการส่วนตัวนั่นแหละครับ พระอินทร์เห็นว่าพระเขี้ยวแก้วมิบังควรอยู่กับพราหมณ์ จึงมา "ขมาย" ต่อเอาไปบรรจุไว้ที่พระเจดีย์จุฬามณีบนสรวงสวรรค์ พระอรรถกถาจารย์ท่านก็เขียนเรื่องยังกับคดีเพชรซาอุฯ ยังไงยังงั้น ฝากไว้พิจารณาเอาแล้วกัน

    ๒๑. ประมวลธรรมะในมหาปรินิพพานสูตร

    เขียนเรื่องมหาปรินิพพานสูตรมาหลายตอน คงจะถึงตอนอวสานในครั้งนี้แล้ว ก่อนจบก็ขอบันทึกคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อผู้ศึกษาจะได้ทราบว่า ในช่วงสุดท้ายแห่งพระชนมชีพของพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสสั่งอะไรไว้บ้าง ขอเรียงลำดับตั้งแต่ต้นจนสุดท้ายดังนี้

    ๑. ตรัสสอนเรื่องอปริหานิยธรรม (ธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อความเสื่อม) กษัตริย์ลิจฉวี แคว้นวัชชี ๗ ประการ คือ

    (๑) หมั่นประชุมกันเนืองๆ

    (๒) พร้อมเพรียงกันทำ และพร้อมเพรียงกันเลิก พร้อมเพรียงกันทำกิจที่ควรทำ

    (๓) ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติ ไม่ถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว

    (๔) ให้ความเคารพนับถือ เชื่อฟังท่านผู้อาวุโส และผู้มีประสบการณ์

    (๕) ไม่ฉุดคร่าขืนใจสตรีหรือกุมารีในสกุล

    (๖) จักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ทั้งภายนอกภายใน

    (๗) จักจัดแจงไว้ดีแล้วซึ่งความอารักขาป้องกัน คุ้มครอง อันเป็นธรรมในพระอรหันต์ทั้งหลาย

    ๒. ตรัสสอนอปริหานิยธรรมของภิกษุ

    ก. อปริหานิยธรรม ๗ ของภิกษุ นัยที่ ๑

    (๑) หมั่นประชุมกันเนืองๆ

    (๒) จักพร้อมเพรียงกันประชุม และพร้อมเพรียงกันเลิกประชุม

    (๓) จักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้แล้ว และจักไม่ถอนสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว

    (๔) จักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ภิกษุเป็นเถระ

    (๕) ไม่ลุอำนาจแก่ตัณหาอันจะก่อให้เกิดภพใหม่

    (๖) จักเป็นผู้ยินดีในเสนาสนะป่า

    (๗) จักเข้าไปตั้งสติไว้ภายในป่า เพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลยังมิได้พึงมาเกิด ที่มาแล้วพึงอยู่เป็นผาสุกเถิด

    ข. อปริหานิยธรรม ๗ ของภิกษุ นัยที่ ๒

    (๑) ไม่เป็นผู้ชอบการงาน ไม่ยินดีแล้วในการงาน

    (๒) ไม่เป็นผู้ชอบคุย ไม่ยินดีแล้วในการคุย

    (๓) ไม่เป็นผู้ชอบการนอนหลับ ไม่ยินดีในการนอนหลับ

    (๔) ไม่เป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ยินดีแล้วด้วยความคลุกคลีด้วยหมู่

    (๕) ไม่เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ไม่ลุอำนาจแก่ความปรารถนาลามก

    (๖) เป็นผู้ไม่มีมิตรชั่ว สหายชั่ว หรือคบคนชั่ว

    (๗) ไม่ถึงความนอนใจในระหว่าง เพราะการบรรลุคุณวิเศษเพียงขั้นต่ำ

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPUzB3T1E9PQ
     
  11. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ค.อปริหานิยธรรม ๗ ของภิกษุ นัยที่ ๓

    (๑) เป็นผู้มีศรัทธา

    (๒) เป็นผู้มีใจประกอบด้วยหิริ

    (๓) เป็นผู้มีโอตตัปปะ

    (๔) เป็นพหูสูต

    (๕) เป็นผู้ปรารภความเพียร

    (๖) เป็นผู้มีสติตั้งมั่น

    (๗) เป็นผู้มีปัญญา

    ง. อปริหานิยธรรม ๗ ของภิกษุ นัยที่ ๔

    (๑) เจริญสติสัมโพชฌงค์

    (๒) เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

    (๓) เจริญวิริยสัมโพชฌงค์

    (๔) เจริญปีติสัมโพชฌงค์

    (๕) เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

    (๖) เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์

    (๗) เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์

    จ. อปริหานิยธรรม ๗ ของภิกษุ นัยที่ ๕

    (๑) เจริญอนิจจสัญญา

    (๒) เจริญอนัตตสัญญา

    (๓) เจริญอสุภสัญญา

    (๔) เจริญอาทีนวสัญญา

    (๕) เจริญปหานสัญญา

    (๖) เจริญวิราคสัญญา

    (๗) เจริญนิโรธสัญญา

    ฉ. อปริหานิยธรรม ๖ ของภิกษุ นัยที่ ๕

    (๑) เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

    (๒) เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

    (๓) เข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

    (๔) แบ่งปันลาภอันเป็นธรรมที่ได้มาโดยธรรม แก่เพื่อนพรหมจรรย์

    (๕) มีศีลเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ

    (๖) มีทิฐิเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ

    ๓. ตรัสสอนสิกขา ๓

    (๑) ศีลสิกขา

    (๒) สมาธิสิกขา

    (๓) ปัญญาสิกขา

    สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

    ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ อานิสงส์ใหญ่

    จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นอาสวะโดยชอบ

    ๔.ตรัสโทษแห่งศีลวิบัติและอานิสงส์แห่งศีล

    ก.โทษแห่งศีลวิบัติ ๕ ประการ

    ๑.บุคคลทุศีล ผู้ปราศจากศีลในโลกนี้ ประสบความเสื่อมโภคะเป็นอันมาก เพราะมีความประมาทเป็นเหตุ

    ๒.กิตติศัพท์ชั่วของบุคคลทุศีล ผู้ปราศจากศีลก็อื้อฉาวไป

    ๓.บุคคลทุศีล ผู้ปราศจากศีล เข้าไปสู่บริษัทใดๆ เป็นผู้ไม่องอาจ ขวยเขิน

    ๔.บุคคลทุศีล ผู้ปราศจากศีล เป็นคนหลงทำกาละ (ตายด้วยอาการไม่สงบ)

    ๕.บุคคลทุศีล ผู้ปราศจากศีล ตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก

    ข.อานิสงส์ศีล ๕ ประการ

    ๑.บุคคลผู้มีศีล ย่อมประสบโภคะกองใหญ่ เพราะมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ

    ๒.บุคคลผู้มีศีล กิตติศัพท์อันดีงามของบุคคลผู้มีศีลย่อมกระฉ่อนไป

    ๓.บุคคลผู้มีศีล เข้าสู่บริษัทใดๆ เป็นผู้องอาจ ไม่เก้อเขิน

    ๔.บุคคลผู้มีศีล เป็นผู้ไม่หลงทำกาละ

    ๕.บุคคลผู้มีศีล ครั้นร่างกายแตกดับ จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

    ๕.ตรัสอริยสัจ ๔ ว่า

    "เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง เราตถาคตและเธอทั้งหลายจึงเร่ร่อนไปในชาติทั้งหลายเหล่านั้นตลอดกาลนาน บัดนี้อริยสัจ ๔ นี้ เราตถาคตเห็นแล้ว ตัณหาอันนำไปสู่ภพ เราก็ถอนได้แล้ว รากเหง้าของทุกข์เราถอนทิ้งแล้ว บัดนี้จะไม่มีการเกิดอีกต่อไป" และทรงเน้นไตรสิกขา คืออธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และ อธิปัญญาสิกขา

    ๖.ทรงแสดง "ธัมมาทาส" (แว่นธรรม) ที่พระอริยสาวกสามารถพยากรณ์คติของตนด้วยตนเองได้ คือ ศรัทธาอันมั่นคงในพระรัตนตรัยนั้นเอง

    "ดูก่อนพระอานนท์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประ กอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง เพียบพร้อมด้วยวิชชา (ความรู้) และจรณะ (ความประพฤติ) เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นผู้ฝึกคนที่ควรฝึกอย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบาน เป็นผู้จำแนกธรรม

    อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติพึงเห็นเอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา (ทันสมัยอยู่เสมอ) ท้าให้พิสูจน์ได้ ควรน้อมนำมาปฏิบัติด้วยตน ผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน

    อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ว่าพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงตามอริยมรรค ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ ปฏิบัติชอบยิ่ง คือ บุคคล ๔ คู่ แบ่งเป็น ๘ ประเภท เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรทำบุญ ควรยกมือไหว้ และเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐของชาวโลก"

    อริยสาวกเป็นผู้มีศีลที่พระอริยะชอบใจ (อริยกันตศีล) มีศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญ ไม่เกาะเกี่ยวตัณหาและทิฐิ (คือ ไม่ได้รักษาศีลด้วยความอยากและด้วยความยึดถือผิดๆ) มีศีลอันเป็นเพื่อสมาธิ (ศีลที่เป็นพื้นฐานแก่การพัฒนาสมาธิ)

    นี่แลอานนท์เรียกว่า "ธัมมาทาส"(แว่นธรรม) สำหรับให้อริยสาวกเมื่อต้องการ จะได้ส่องรู้ด้วยตนเองว่า ตนมีตนได้ปิดทางนรกแล้ว ปิดทางแห่งการเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว ปิดทางแห่งกำเนิดเปรตแล้ว ปิดทางอบาย ทุคติ วินิบาตแล้ว เป็นโสดาบันมีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เที่ยงแท้ แน่นอนต่อการตรัสรู้ในภายหน้า

    สรุป คนที่จะมี "ธัมมาทาส" ที่จะส่องรู้อนาคตของตนได้อย่างมั่นใจ ก็คือคนที่มีศรัทธา มั่นในพระรัตนตรัย มีศีลบริสุทธิ์ บรรลุธรรมขั้นโสดาบัน ผู้ก้าวสู่กระแสพระนิพพาน ผู้ไม่มีทางตกต่ำ มีแต่จะก้าวสูงขึ้นไปสู่การตรัสรู้ในที่สุด

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPUzB4TUE9PQ
     
  12. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    หลังจากนั้นทรงเน้นย้ำเรื่องไตรสิกขา ว่าเป็นธรรมที่พระองค์ทรงสอนมากสอนบ่อยว่า ศีลเป็นพื้นฐาน สมาธิที่ศีลหนุนให้เจริญเต็มที่ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาที่มีสมาธิหนุนให้เจริญเต็มที่ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ที่ว่ามีผลมาก คือ อานิสงส์มาก คือ มีผลและอานิสงส์ถึงขั้นทำให้หลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และ อวิชชาสวะ

    ๗.ทรงแสดงสติปัฏฐาน ๔ เน้น สติสัมปชัญญะดังนี้

    "ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกาย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา พิจารณาเห็นจิตในจิต พิจารณาเห็นธรรมในธรรม เป็นผู้มีความเพียร มีความรู้สึกตัว มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้มีสติ

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้สึกตัวทั่วพร้อมในการก้าว การถอย การดูแล การเหลียวดู การคู้ การเหยียด การทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการยืน เดิน นั่ง นอน การตื่น การพูด การนิ่ง อย่างนี้เรียกว่า เป็นผู้มีสัมปชัญญะ

    ๘.ตรัสสอนพระอานนท์หลังจากทรงทุเลาจากพระอาการประชวรหนัก

    (๑) ตรัสว่า พระองค์ไม่มี "อาจริยมุฏฐิ" (กำมือของอาจารย์) คือ ไม่ปิดบังซ่อนเร้น หรือ "ไม้ตาย" ที่สำนวนไทยว่า "สงวนไม้ตายไว้" ทรงสอนหมดทุกสิ่งทุกอย่าง

    (๒) ไม่เคยดำริจะปกครองสงฆ์หรือให้พระสงฆ์เชิดชูให้พระองค์ทรงเป็นใหญ่ (ตรงข้ามทรงมอบความเป็นใหญ่แก่สงฆ์ และพระองค์ก็ทรงเคารพสงฆ์)

    (๓) ตรัสเตือนว่าสังขารร่างกายของพระองค์ล่วงมา 80 ปีแล้วทรุดโทรมดุจเกวียนเก่าจะยังใช้การได้ต่อไปก็ด้วยการซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ ฉะนั้น

    (๔) ตรัสเตือนให้เหล่าสาวกพึ่งตน มิให้พึ่งสิ่งอื่น คำว่า พึ่งตนเอง ทรงหมายความว่าให้พึ่งธรรม คือ ประพฤติธรรมนั่นเอง และวิธีประพฤติธรรมทรงชี้ลงไปว่าให้ปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔

    ๙.ตรัสอานุภาพอิทธิบาท ๔ คือ

    (๑) ฉันทะ พอใจในสิ่งนั้น

    (๒) วิริยะ พากเพียรพยายาม

    (๓) จิตตะ เอาใจฝักใฝ่สิ่งนั้น

    (๔) วิมังสา ใช้ปัญญาไตร่ตรอง

    ตรัสว่า "อิทธิบาท ๔ นี้ ตถาคต (คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน (สำหรับพาไปไหนได้ตามต้องการ) ทำให้เป็นดุจพื้นที่ (ที่มั่นคง) ทำให้ตั้งมั่นแล้วสั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตถ้าต้องการจะพึงดำรงอยู่ได้อีกตลอดกัป หรือเกินกว่ากัปก็ได้

    คำว่า "กัป" ในที่นี้ หมายถึงระยะเวลา ๑๐ ปี "เกินกว่ากัป" ก็คือเกินกว่าสิบปีอีกนิดหน่อย สรุปว่า ถ้าพระองค์จะทรงยืดพระชนมายุออกไปเป็น ๙๐ พรรษา หรือ ๑๐๐ พรรษา ด้วยอำนาจอธิบาท ๔ ที่พระองค์ทรงเจริญสมบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็ย่อมได้

    ๑๐.ตรัสถึง "พุทธปณธาน" ๔ ข้อ

    (๑) ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้เป็นสาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ยังไม่ได้รับการแนะนำ ยังไม่แกล้วกล้า ยังไม่เป็นพหูสูต ยังไม่ทรงธรรม เราตถาคตยังจะไม่ปรินิพพาน

    (๒) ภิกษุเป็นต้นนั้น ยังไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติตามธรรม เราตถาคตยังจะไม่ปรินิพพาน

    (๓) ภิกษุเป็นต้นนั้น เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว ยังบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้งเปิดเผย จำแนกแจกแจง อธิบายธรรมให้ง่ายยังไม่ได้ เราตถาคตยังจะไม่ปรินิพพาน

    (๔) ภิกษุเป็นต้นนั้น ยังไม่แสดงธรรมปาฏิหาริย์ (แสดงธรรมให้เกิดผลมหัศจรรย์) ข่มขี่ปรัปวาท (การว่าร้ายจ้วงจาบพระธรรมวินัย) ที่เกิดขึ้นให้ราบคาบโดยถูกต้องตามธรรม เราตถาคตยังจะไม่ปรินิพพาน

    เท่ากับบอกว่า ถ้าปณิธานทั้ง ๔ ประการนี้ของพระองค์ยังไม่สมบูรณ์พร้อม พระองค์จะยังไม่ปรินิพพาน ปณิธานทั้ง ๔ ประการนี้ สรุปด้วยคำพูดสั้นๆ ง่ายๆ คือ

    (๑) ศึกษา (๒) ปฏิบัติ (๓) เผยแผ่ (๔) แก้ปัญหา

    ๑๑.ตรัสสาเหตุแห่งแผ่นดินไหว ๘ ประการ

    เมื่อพระพุทธเจ้าทรง "ปลงอายุสังขาร" เกิดแผ่นดินไหว พระอานนท์เข้าไปทูลถามพระองค์ตรัสว่า แผ่นดินไหวด้วยสาเหตุ ๘ ประการ คือ

    (๑) มหาปฐพีนี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ ภัยที่ลมพัดใหญ่ ย่อมยังน้ำให้ไหว น้ำไหวแล้วย่อมยังแผ่นดินให้ไหว

    (๒) สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางหรือว่าเทวดาผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เขาเจริญปฐวีสัญญาเล็กน้อย เจริญอาโปสัญญาอย่างแรงกล้า เขาย่อมยังแผ่นดินนี้ให้เกิดหวั่นไหวได้

    (๓) พระโพธิสัตว์จุติจากชั้นดาวดุสิต มีสติสัมปชัญญะลงสู่พระมารดา เมื่อนั้นแผ่นดินนี้ย่อมสะเทือนสะท้านหวั่นไหว

    (๔) พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ ประสูติจากพระครรภ์พระมารดานั้น แผ่นดินนี้ย่อมสะเทือนสะท้านหวั่นไหว

    (๕) พระตถาคตตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อนั้นแผ่นดินนี้ย่อมสะเทือนสะท้านหวั่นไหว

    (๖) พระตถาคตให้อนุตรธรรมจักรเป็นไป (ทรงแสดงปฐมเทศนา) เมื่อนั้นแผ่นดินนี้ย่อมสะเทือนสะท้านหวั่นไหว

    (๗) พระตถาคตมีสติสัมปชัญญะ ทรงปลงอายุสังขาร เมื่อนั้นแผ่นดินนี้ย่อมสะเทือนสะท้านหวั่นไหว

    (๘) พระตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เมื่อนั้นแผ่นดินนี้ย่อมสะเทือนสะท้านหวั่นไหว

    ๑๒.ตรัสอภิภายตนะ ๘ ประการคือ

    (๑) ผู้หนึ่งมีความสำคัญในรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่เล็ก ซึ่งมีผิวพรรณดี และผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็น

    (๒) ผู้หนึ่งมีความสำคัญในรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่ใหญ่ มีผิวพรรณดี และผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็น

    (๓) ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่เล็ก มีผิวพรรณดี และผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็น

    (๔) ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่ใหญ่ มีผิวพรรณดี และผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็น

    (๕) ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันเขียว ล้วนครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญว่า เรารู้เราเห็น

    (๖) ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกเหลือง ล้วนครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญว่า เรารู้เราเห็น

    (๗) ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกแดง ล้วนครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญว่า เรารู้เราเห็น

    (๘) ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกขาว ล้วนครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญว่า เรารู้เราเห็น

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPUzB4TVE9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 20 กันยายน 2009
  13. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ๑๓. ตรัสวิโมกข์ ๘ ประการ คือ

    (๑) ผู้มีรูปมองเห็นรูปทั้งหลาย (คือ รูปฌาน ๔ ของผู้ได้ฌาน โดยเจริญกสิณที่กำหนดวัตถุภายในกาย เช่น สีผม เป็นต้น)

    (๒) ผู้มีรูปเป็นสัญญาภายใน มองเห็นรูปทั้งหลายภายนอก (คือ รูปฌาน ๔ ของผู้ได้ฌานโดยเจริญกสิณกำหนดอารมณ์ภายนอก)

    (๓) ผู้น้อมใจดิ่งไปว่า "งาม" (คือ ฌานของผู้เจริญกสิณสี กำหนดสีที่งาม)

    (๔) อรูปฌานขั้น อากาสานัญจายตนะ

    (๕) อรูปฌานขั้น วิญญาณัญจายตนะ

    (๖) อรูปฌานขั้น อากิญจัญญายตนะ

    (๗) อรูปฌานขั้น เนวสัญญานาสัญญายตนะ

    (๘) สัญญาเวทยิตนิโรธ

    อภิภายตนะ หมายถึงการครอบงำ หรือเอาชนะ "ข้าศึก" หรือสิ่งรบกวนภายในวิโมกข์ หมายถึงภาวะจิตที่ปลอดพ้นจากสิ่งรบกวนทั้งหลาย และน้อมดิ่งเข้าไปใน "อารมณ์" (สิ่งที่กำหนดพิจารณา) เต็มที่ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนต่างๆ

    พูดอีกนัยหนึ่งก็คือการหลุดพ้นขั้นต่างๆ ของผู้เข้าสมาบัติตามลำดับนั่นเอง คัมภีร์อรรถกถาพูดเพิ่มเติมตรงนี้ว่า ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอภิภายตนะและวิโมกข์ให้พระอานนท์ฟังหลังจากตรัสบอกพระอานนท์ว่า พระองค์ได้รับคำเชิญของพญามาร ปลงอายุสังขารแล้วนั้น เพื่อแสดงว่า พระองค์ทรงผ่าน "อภิภายตนะ" และ "วิโมกข์" อย่างช่ำชองแล้ว ผู้ที่เข้าสมาบัติหรือออกจากสมาบัติเหล่านี้ไม่มีความกลัว คือ อยู่เหนือความกลัวต่อสิ่งใดทั้งสิ้น การที่พระองค์ทรงปลงอายุสังขารนั้น มิใช่เพราะกลัวพญามาร พระตถาคตเจ้าไม่กลัว ไม่ขลาด มีสติสัมปชัญญะ ทรงปลงอายุสังขารแล้ว ว่าอย่างนั้น

    ๑๔. ตรัสอิทธิบาท ๔ อภิญญาเทสิตธรรม และ อริยธรรม

    ก. อิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ (พอใจในสิ่งนั้น) วิริยะ (พากเพียรพยายาม) จิตตะ (เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น) วิมังสา (ใช้ปัญญาไตร่ตรอง)

    อิทธิบาท ๔ พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระองค์ทรงบำเพ็ญสมบูรณ์เต็มที่ ถ้าพระองค์ทรงปรารถนา จะยืดพระชนมายุ ออกไปอีกประมาณ ๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปีย่อมได้

    ข. อภิญญาเทสิตธรรม คือ ธรรมที่ทรงแสดงเพื่อความรู้ยิ่ง ทรงแสดงบ่อยที่สุด ได้แก่

    ๑. สติปัฏฐาน ๔ คือ

    (๑) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ให้รู้เห็นตามความเป็นจริง)

    (๒) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ตั้งสติกำหนดพิจารณาความรู้สึกต่างๆ ให้รู้เห็นตามความเป็นจริง)

    (๓) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามความเป็นจริง)

    (๔) ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามความเป็นจริง)

    ๒. สัมมัปปธาน (ความเพียรที่ถูกต้อง) ๔ ได้แก่

    (๑) สังวรปธาน (เพียรระวังมิให้บาปอกุศลเกิดขึ้น)

    (๒) ปหานปธาน (เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว)

    (๓) ภาวนาปธาน (เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น)

    (๔) อนุรักขนาปธาน (เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว)

    ๓. อินทรีย์ (ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน เป็นใหญ่ในทางของตน) ๕ ได้แก่

    (๑) สัทธา (ความเชื่อที่ถูกต้อง)

    (๒) วิริยะ (ความพากเพียร)

    (๓) สติ (ความระลึกได้)

    (๔) สมาธิ (ความตั้งมั่นแห่งจิต)

    (๕) ปัญญา (ความรู้เห็นตามเป็นจริง)

    ธรรมะ ๕ ข้อนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "พละ ๕" (ธรรมที่เป็นพลังธรรมที่ทำให้เป็นกำลังอันสำคัญในการก้าวไปสู่ มรรค ผล นิพพาน ในที่สุด)

    ๔. โพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์ประกอบแห่งการตรัสรู้) ๗ ได้แก่

    (๑) สติ (ความระลึกได้ รู้ตัวทั่วพร้อม ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง ในที่นี้รวมสัมปชัญญะด้วย)

    (๒) ธัมมวิจยะ (ความเฟ้นธรรม ความสอดส่องสืบค้นธรรม)

    (๓) วิริยะ (ความพากเพียร)

    (๔) ปีติ (ความอิ่มใจ)

    (๕) ปัสสัทธิ (ความสงบกายสงบใจ)

    (๖) สมาธิ (ความมีใจตั้งมั่นแน่วแน่ในอารมณ์)

    (๗) อุเบกขา (ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง)

    ๕. มรรค (แนวทางปฏิบัติเพื่อตรัสรู้) ๘ ได้แก่

    (๑) สัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ คือ เข้าใจอริยสัจ ๔ เห็นไตรลักษณ์ รู้กุศลอกุศล รู้ปฏิจจสมุปบาท)

    (๒) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ คือ ดำริออกจากกาม ไม่พยาบาท ไม่เบียดเบียน)

    (๓) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ คือ วจีสุจริต ๔)

    (๔) สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ คือ กายสุจริต ๓)

    (๕) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ คือ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ)

    (๖) สัมมาวายามะ (พยายามชอบ คือ สัมมัปปธาน ๔ ดังข้างต้น)

    (๗) สัมมาสติ (ระลึกชอบ คือ สติปัฏฐาน ๔ ดังข้างต้น)

    (๘) สัมมาสมาธิ (ตั้งใจมั่นชอบ คือ ฌาน ๔)

    ค. อริยธรรม (ธรรมที่ประเสริฐ ธรรมของผู้เจริญ ธรรมที่ทำให้บุคคลเป็นอริยะ) ๔ คือ

    (๑) ศีล (ศีลหรือวินัยสำหรับฝึกฝนอบรมความประพฤติทางกาย วาจา)

    (๒) สมาธิ (ฝึกฝนอบรมจิตใจให้ตั้งมั่นเพื่อให้เกิดคุณธรรมสูงๆ ขึ้นไป)

    (๓) ปัญญา (ฝึกฝนอบรมปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้ง)

    (๔) วิมุตติ (ความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล)

    น่าสังเกตว่า "อริยธรรม" นี้ท่านเรียกว่า "ไตรสิกขา" อันเป็นเรื่องเดียวกับอริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วย ในบางแห่ง "อริยธรรม" หมายถึง "กุศลกรรมบถ ๑๐" ซึ่งก็เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะกุศลกรรมบถ ๑๐ ก็พูดถึงกายกรรม กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ซึ่งอยู่ในขอบข่ายของอริยมรรค มีองค์ ๘ และไตรสิกขานั้นเอง เฉพาะในที่นี้มีอริยธรรมข้อที่ ๔ (วิมุตติ) ที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งก็มิใช่เรื่องอื่น ยังคงเป็นเรื่องเดียวกันนั่นเอง

    มรรคมีองค์ ๘ ก็ดี ไตรสิกขาก็ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี คือ ข้อปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้น ส่วน "วิมุตติ" ก็คือ ความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล

    พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ธรรมข้างต้นนั้นเป็นเหตุ วิมุตติเป็นผลหรือจุดหมายปลายทาง

    ๑๕. ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายมิให้ประมาทในชีวิต

    "คนทั้งหลาย ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งพาล ทั้งบัณฑิต ทั้งมั่งมี ทั้งขัดสน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า ภาชนะดินที่นายช่างหม้อกระทำแล้วทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งสุกทั้งดิบ ทุกชนิด มีความแตกต่างเป็นที่สุดฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น"

    "วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราเหลือน้อย เราจะจากพวกเธอไป เรากระทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีลอันดีเถิด จงเป็นผู้มีความดำริตั้งมั่นดีแล้ว ตามรักษาจิตของตนเถิด ผู้ใดจักเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจักละการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ทำที่สุดทุกข์ได้"

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31


    http://palungjit.org/newreply.php?do=newreply&noquote=1&p=2437748
     
  14. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ๑๖. ทรงแสดงมหาปเทส ๔

    ทรงแสดงหลักว่า หากมีผู้อ้างอย่างนี้อย่างนั้นเป็นธรรม เป็นวินัย เพราะได้ฟังมาจาก

    (๑) พระพุทธเจ้า

    (๒) คณะสงฆ์

    (๓) พระเถระจำนวนมาก

    (๔) พระเถระ (ผู้เป็นพหูสูต) รูปหนึ่ง

    ขอให้เทียบเคียงกับพระสูตรและพระวินัยก่อน ถ้าเทียบกันได้ ลงกันได้ ก็พึงสันนิษฐานว่าเป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแน่นอน ถ้าเทียบกันไม่ได้ ลงกันไม่ได้ ก็พึงสันนิษฐานว่าไม่ใช่

    ๑๗. ตรัสถึงบิณฑบาตสองคราวที่มีอานิสงส์มาก

    "บิณฑบาตสองคราวนี้มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลใหญ่กว่า มีอานิสงส์ใหญ่กว่าบิณฑบาตอื่นๆ ยิ่งนัก คือ

    (๑) ตถาคตเสวยบิณฑบาตใดแล้ว ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอย่างหนึ่ง

    (๒) ตถาคตเสวยบิณฑบาตใดแล้ว ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุอย่างหนึ่ง

    บิณฑบาตครั้งแรก นางสุชาดา (อรรถกถาว่าเป็นมารดาพระยสะ) ถวายข้าวมธุปายาส บิณฑบาตครั้งที่สอง นายจุนทะกัมมารบุตรถวาย "สูกรมัททวะ"

    ๑๘. ตรัสเรื่องการบูชาพระพุทธเจ้า

    (๑) ผู้ที่บูชาพระพุทธเจ้าด้วยอามิสทั้งหลาย ไม่ว่ามากมายใหญ่โตอย่างใด ไม่นับว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมพระพุทธเจ้า

    (๒) ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม จึงจะชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมพระพุทธเจ้า

    ๑๙. ตรัสเรื่องสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล

    กุลบุตรผู้มีศรัทธา พึงจาริกไปเพื่อนมัสการสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง คือ

    (๑) สถานที่พระพุทธองค์ประสูติ (ลุมพินีวัน ปัจจุบันคือ ลุมมินเด ประเทศเนปาล)

    (๒) สถานที่พระองค์ตรัสรู้ พุทธคยา (ปัจจุบัน โบ๊ธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย)

    (๓) สถานที่ประกาศธรรมจักร คือ ทรงแสดงปฐมเทศนา (ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบัน สารนารถ)

    (๔) สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน (สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา ปัจจุบันอยู่ที่กาเซีย รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย)

    พระพุทธองค์ตรัสว่า ชนเหล่าใด ไม่ว่าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จักมาด้วยความเชื่อว่า พระตถาคตประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักร ปรินิพพาน ณ ที่นี้ก็ดี ชนเหล่าใดเที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ มีจิตเลื่อมใสแล้วจักทำกาละลง (ตาย) ชนเหล่านั้นทั้งหมด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก (หลังจากตายแล้ว) จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์"

    ๒๐. ตรัสเรื่องถูปารหบุคคล ๔

    ตรัสว่าคนที่ควรสร้างสถูปหรือเจดีย์บรรจุกระดูกไว้บูชา มี ๔ ประเภท คือ

    (๑) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    (๒) พระปัจเจกพุทธเจ้า

    (๓) พระสาวกของพระพุทธเจ้า

    (๔) พระเจ้าจักรพรรดิ

    ๒๑. ตรัสถึงอนาคตแห่งพระพุทธศาสนา

    ก. ทรงมอบพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทน

    "ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดว่า พระศาสนามีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พระศาสดาของโลกไม่มี พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยอันใดที่เราแสดงแล้วบัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอเมื่อเราล่วงลับไปแล้ว"

    ข. ทรงแนะนำให้เรียกขานกันอย่างเหมาะสม

    "ดูก่อนอานนท์ พวกภิกษุยังเรียกขานกันด้วยวาทะว่า "อาวุโส" เมื่อเราล่วงลับไปแล้วไม่พึงเรียกขานกันอย่างนั้น ภิกษุผู้แก่กว่า พึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า โดยชื่อหรือโคตร หรือโดยวาทะว่า "อาวุโส" แต่ภิกษุผู้อ่อนกว่าพึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า "ภันเต" หรือ "อายัสมา"

    ค. ตรัสเรื่องสิกขาบทเล็กน้อย

    "ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว หากสงฆ์จำนงอยู่ จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยบ้างก็ได้"

    ง. ตรัสเรื่องลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนะ

    "ดูก่อนอานนท์ สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนะภิกษุ" เมื่อพระอานนท์ทูลถามว่าจะลงพรหมทัณฑ์อย่างไร พระองค์ตรัสว่า ปล่อยให้ฉันนะพูดได้ตามที่ปรารถนา แต่พระสงฆ์ไม่พึงว่าไม่พึงสั่งสอน"

    หมายเหตุ สมัยพุทธกาลเรียกขานกันด้วยคำว่า "อาวุโส" ไม่จำแนกว่าแก่พรรษาหรืออ่อนพรรษา คำว่า "อาวุโส" คงจะตรงกับคำไทยว่า "คุณ" ทรงเห็นว่าไม่เหมาะสม จึงทรงแนะให้เรียกขานกันใหม่ผู้แก่พรรษากว่าให้เรียกผู้อ่อนกว่าว่า "อาวุโส" แต่ผู้อ่อนกว่าให้เรียกผู้แก่พรรษากว่าว่า "ภันเต" หรือ "อายัสมา"

    ภาษาไทยนำเอาคำ "อาวุโส" มาใช้ในการเรียกขานกันในรูปปฐมบุรุษ (he she) เช่น รัฐบุรุษอาวุโส ผู้มีอาวุโสทางการเมือง ไม่ใช่ในรูปมัธยมบุรุษ (you) ความหมายตรงข้ามกับที่พระศาสนาใช้ คือ แทนที่จะหมายถึงผู้น้อย กลับหมายถึงผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ

    พระพุทธวจะเรื่องให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อย กลายเป็นประเด็นใหญ่ให้พระสงฆ์อรหันต์ล้วน ๕๐๐ รูป อภิปรายถกเถียงกันว่าสิกขาบทเล็กน้อยกำหนดจากไหนถึงไหน และจะถอนหรือไม่ ในที่สุดมีมติเสียงข้างมากว่าไม่ควรถอน ควรรักษาไว้ตามเดิม เนื่องจากไม่รู้ว่าสิกขาบทเล็กน้อยคือข้อใดบ้าง

    ต่อมาพระเถระบางรูปที่ไม่ได้เข้าประชุมด้วย (พระปุราณะ) กลับเห็นด้วยกับมติที่ว่าให้ถอน เพราะพระพุทธองค์ตรัสเป็นหลักการไว้แล้ว แนวคิดนี้ได้ขยายตัวขึ้นเป็นรูปธรรมเมื่อพวกพระวัชชีบุตรเสนอแก้ไขพระวินัยบางข้อ (จำนวน ๑๐ ข้อ) เมื่อทางคณะสงฆ์ไม่เห็นด้วย ก็แยกตัวออกไปตั้งนิกายใหม่ชื่อ นิกายมหาสังฆิกะ จึงเกิดมีนิกายเถรวาท กับมหาสังฆิกะ แต่บัดนั้น (พุทธศตวรรษที่ ๒)

    พระฉันนะ คือ อดีตนายฉันนะมหาดเล็กคนสนิทที่ตามเสด็จคราวที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช ฉันนะบวชแล้ว ถือตัวว่าเคยเป็นมหาดเล็กคนสนิทของพระพุทธองค์ จึงเป็นคนหัวดื้อไม่เชื่อฟังใครแม้แต่พระศาสดา จนพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานอยู่แล้ว พระฉันนะก็มิได้บรรลุมรรคผลอะไร เพื่ออนุเคราะห์เธอ พระพุทธองค์จึงตรัสสั่งให้พรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ เมื่อพระสงฆ์ประกาศลงพรหมทัณฑ์แล้ว พระฉันนะรู้สึกตัว เพียรพยายามบำเพ็ญสมณธรรม จนได้บรรลุพระอรหัตในที่สุด

    ๒๒. ตรัสปัจฉิมพุทธโอวาท

    "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังกิจของตนและคนอื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"

    จบเรื่องราวในมหาปรินิพพานสูตรเพียงเท่านี้

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPUzB4TlE9PQ
     
  15. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    <TABLE cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=left border=0><TBODY><TR bgColor=#400040><TD>[​IMG]

    </TD></TR></TBODY></TABLE>๑. โครงสร้างมัชฌิมนิกาย

    มัชฌิมนิกาย

    มูลปัณณาสก์ (ล.๑๒) มัชฌิมปัณณาสก์ (ล.๑๓) อุปริปัณณาสก์ (ล.๑๔)

    มูลปริยายวรรค (๑๐ สูตร) คหปติวรรค (๑๐ สูตร) เทวทหวรรค (๑๐ สูตร)

    สีหนาทวรรค (๑๐ สูตร) ภิกขุวรรค (๑๐ สูตร) อนุปทวรรค (๑๐ สูตร)

    โอปัมมวรรค (๑๐ สูตร) ปริพาชกวรรค (๑๐ สูตร) สุญญตวรรค (๑๐ สูตร)

    มหายมกวรรค (๑๐ สูตร) ราชวรรค (๑๐ สูตร) วิภังควรรค (๑๐ สูตร)

    จูฬยมกวรรค (๑๐ สูตร) พราหมณวรรค (๑๐ สูตร) สฬายตนวรรค (๑๐ สูตร)

    ๒. เนื้อหาสาระ

    ก.มูลปัณณาสก์

    (๑) มูลปริยายวรรค

    ๒.๑ มูลปริยายสูตร ว่าด้วยสิ่งอันเป็นมูลแห่งธรรมทั้งปวง หรือสิ่งที่เป็นต้นเดิม เช่น ดิน น้ำ ไฟ ลม ในสายตาของปุถุชนและพระอริยะมองและให้ความสำคัญแก่สิ่งเหล่านี้ไม่เหมือนกัน

    ๒.๒ สัพพาสวสังวรสูตร ว่าด้วยการระมัดระวังอาสวกิเลส หรือหลักการละอาสวกิเลสทุกชนิด

    ๒.๓ ธัมมทายาทสูตร ว่าด้วยมรดกคือธรรม และเหล่าสาวก คือผู้รับมรดกธรรม

    ๒.๔ ภยเภรวสูตร ว่าด้วยอกุศลที่เป็นภัย ทรงเล่าประสบการณ์ของพระพุทธองค์ก่อนตรัสรู้ด้วย

    ๒.๕ อนังคณสูตร ว่าด้วยคนผู้ไม่มีกิเลส เป็นบทสนทนาธรรม ระหว่างพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ

    ๒.๖ อากังเขยสูตร ว่าด้วยผลที่ภิกษุพึงหวัง

    ๒.๗ วัตถูปมสูตร ว่าด้วยอุปกิเลสย้อมจิตดุจผ้าย้อมสี ท้ายพระสูตรมีผู้ชวนพระพุทธเจ้าไปอาบน้ำล้างบาป พระองค์ตรัสว่า ความบริสุทธิ์มิได้มีด้วยการอาบน้ำ

    ๒.๘ สัลเลขสูตร ว่าด้วยวิธีขจัดกิเลส "เพียงแต่คิดในกุศลธรรมยังมีคุณค่ามาก ไม่ต้องกล่าวถึงการลงมือทำ"

    ๒.๙ สัมมาทิฏฐิสูตร ว่าด้วยความเห็นถูกต้อง เป็นเทศนาของพระสารีบุตร ชี้ความเห็นถูกต้อง ๑๕ นัย

    ๒.๑๐ สติปัฏฐานสูตร ว่าด้วยการตั้งสติ ๔ อย่าง เช่นเดียวกับมหาสติปัฏฐานสูตรในเล่มที่ ๑๐

    (๒) สีหนาทวรรค

    ๒.๑๑ จูฬสีหนาทสูตร ว่าด้วยการบันลือสีหนาทสูตร เล็ก ตรัสว่าพระอริยบุคคล ๔ จำพวก มีเฉพาะในธรรมวินัยนี้เท่านั้น

    ๒.๑๒ มหาสีหนาทสูตร ว่าด้วยการบันลือสีหนาทสูตรใหญ่ พูดถึง ตถาคตพละ ๑๐ เวสารัชชะ ๔ บริษัท ๘ กำเนิด ๔ คติ ๕ พรหมจรรย์ ๔ เป็นต้น

    ๒.๑๓ มหาทุกขักขันธสูตร ว่าด้วยกองทุกข์สูตรใหญ่ เน้นโทษของกามคุณ

    ๒.๑๔ จูฬทุกขักขันธสูตร ว่าด้วยกองทุกข์สูตรเล็ก เช่นเดียวกับสูตรใหญ่ สูตรนี้ตรัสสอนมหานามศากยะ

    ๒.๑๕ อนุมานสูตร เทศนาของพระมหาโมคคัลลานะ สอนพระทั้งหลายให้สำรวจตนเอง

    ๒.๑๖ เจโตขีลสูตร แสดงกิเลสดุจ "ตะปูตอกใจ" ๕ ชนิด

    ๒.๑๗ วนปัตถสูตร คุณและโทษของการอยู่ป่า

    ๒.๑๘ มธุปิณฑิกสูตร "สูตรที่แสดงได้ไพเราะดุจขนมหวาน" แสดงความสามารถของพระมหากัจจายนะที่ขยายความพระพุทธวจนะโดยย่อให้พิสดารได้อย่างถูกต้อง

    ๒.๑๙ เทฺวธาวิตักกสูตร สูตรว่าด้วยความตรึก ๒ ทาง คือ กุศลวิตก กับอกุศลวิตก การชี้ทางที่ดีให้เดิน เป็นหน้าที่ของพระศาสดาอยู่แล้ว "นั่นโคนต้นไม้ นั่นเรือนว่าง จงเพ่งเถิด อย่าประมาท อย่าเดือดร้อนในภายหลังเลย นี่คือคำสอนของเรา"

    ๒.๒๐ วิตักกสัณฐานสูตร ว่าด้วยที่ตั้งแห่งความคิด หมายถึงให้รู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้ความคิดฝ่ายชั่วเกิดขึ้น แล้วละเสีย

    (๓) โอปัมมวรรค

    ๒.๒๑ กกจูปมสูตร ว่าด้วยวิธีหักห้ามความโกรธ ให้ทำจิตให้หนักแน่นดุจแผ่นดิน แม้ใครจะเอาเลื่อยมาเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ถ้าภิกษุโกรธแค้นผู้กระทำ ก็ไม่นับว่าทำตามคำสอนของพระพุทธองค์

    ๒.๒๒ อลคัททูปมสูตร สูตรว่าด้วยการเรียนธรรมผิด ย่อมมีโทษเหมือนจับงูพิษแล้วไม่ระวัง อาจถูกแว้งกัดได้ สูตรนี้เปรียบธรรมะดุจแพตราบใดที่ยังไม่ข้ามฝั่ง แพก็ยังมีความหมายต่อเขา ต่อเมื่อข้ามฝั่งแล้วทิ้งแพได้ ฉันใดฉันนั้น พึงละแม้ธรรมะ เมื่อบรรลุเป้าหมายแล้ว

    ๒.๒๓ วัมมิกสูตร สูตรว่าด้วยการขุดจอมปลวก เป็นสูตรปริศนาธรรม สอนพระกุมารกัสสปะ เปรียบร่างกายคนเหมือนจอมปลวกประหลาด "กลางคืนเป็นควัน กลางวันลุกโพลง"

    ๒.๒๔ รถวินีตสูตร บทสนทนาระหว่างพระสารีบุตรกับพระปุณณมันตานีบุตรเปรียบวิสุทธิ ๗ เหมือนเดินทางด้วยรถ ๗ ผลัด

    ๒.๒๕ นิวาปสูตร ว่าด้วยกามคุณเหมือนเหยื่อล่อสัตว์ให้ติดกับดัก

    ๒.๒๖ ปาสราสิสูตร ว่าด้วยกามคุณเป็นดุจบ่วงดักสัตว์ มีเล่าถึงประวัติของพระพุทธองค์ด้วย (ไตร.ฉบับยุโรป เรียก อริยปริเยสนาสูตร)

    ๒.๒๗ จูฬหัตถิปโทปมสูตร สูตรแสดงเปรียบเทียบด้วยรอยเท้าช้างสูตรเล็ก เห็นรอยเท้าช้างใหญ่ก็อย่าเพิ่งปลงใจว่าเป็นช้างพลายใหญ่ จนกว่าจะเห็นด้วยตนเอง ฉันใด เห็นพระพุทธเจ้าตรัสรู้ชอบเอง ก็อย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าตนเองได้ปฏิบัติตามพระพุทธองค์จนตรัสรู้ตามด้วยนั่นแหละ จึงควรปลงใจว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้จริง ฉันนั้น

    ๒.๒๘ มหาหัตถิปโทปมสูตร สูตรเปรียบด้วยรอยเท้าช้างสูตรใหญ่ว่าด้วยธรรมทั้งหมด รวมลงในอริยสัจจ์ ๔ เหมือนรอยเท้าสัตว์ทั้งหลาย รวมลงในรอยเท้าช้างหมด (หมายความว่าไม่มีรอยเท้าอะไรจะใหญ่เท่ารอยเท้าช้าง)

    ๒.๒๙ มหาสาโรปมสูตร สูตรเปรียบเทียบด้วยแก่นไม้สูตรใหญ่ ลาภสักการะเปรียบกิ่งและใบไม้ ความสมบูรณ์ด้วยศีลเปรียบดุจสะเก็ดไม้ ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิเปรียบเปลือกไม้ ญาณทัศนะเปรียบดุจกระพี้ วิมุติเปรียบดุจแก่นไม้

    ๒.๓๐ จูฬสาโรปมสูตร สูตรเปรียบด้วยแก่นไม้สูตรเล็ก คล้ายสูตรข้างต้น ชี้ว่าควรบวชเพื่อแสวงหาแก่นแห่งชีวิตให้ได้ "พรหมจรรย์นี้มีการหลุดพ้นแห่งจิตเป็นแก่นแท้"

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    [FONT=Tahoma,]หน้า 31[/FONT]

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPUzB4Tmc9PQ
     
  16. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    (๔) มหายมกวรรค

    ๒.๓๑ จูฬโคสิงคสาลสูตร ตรัสสรรเสริญพระอนุรุทธะ พระนันทิยะ พระกิมพิละ ว่าอยู่ด้วยกัน ด้วยเมตตาปรารถนาดีต่อกัน มีความเพียร มีคุณธรรมเสมอกัน

    ๒.๓๒ มหาโคสิงคสาลสูตร พระเถระผู้ใหญ่มีพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ สนทนากันว่าป่าเป็นที่สงบสงัดอย่างนี้ควรที่ใครจะอยู่ แต่ละท่านก็ยกภิกษุผู้มีคุณสมบัติที่คล้ายตน เมื่อไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า ป่านี่เหมาะสำหรับพระที่ยังไม่บรรลุธรรม มานั่งบำเพ็ญสมาธิ

    ๒.๓๓ มหาโคปาลสูตร สูตรเปรียบเทียบเด็กเลี้ยงโคสูตรใหญ่ แสดงลักษณะที่ดี เปรียบด้วยคุณสมบัติเด็กเลี้ยงโค ๑๑ ประการ

    ๒.๓๔ จูฬโคปาลสูตร สูตรเปรียบนายโคบาลที่โง่และฉลาด ในการพาฝูงโคข้ามแม่น้ำ สมณพราหมณ์ที่ฉลาด พาผู้เชื่อฟังประสบสุข ส่วนสมณพราหมณ์ที่โง่ พาผู้เชื่อฟังประสบทุกข์

    ๒.๓๕ จูฬสัจจกสูตร ว่าด้วยบทสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้า กับ สัจจกนิครนถ์ เรื่องขันธ์ ๕

    ๒.๓๖ มหาสัจจกสูตร ว่าด้วยการอบรมกาย อบรมใจ พระพุทธองค์ทรงเล่าประวัติของพระองค์ในสูตรนี้ด้วย

    ๒.๓๗ จูฬตัณหาสังขยสูตร ทรงแสดงเหตุทำให้ตัณหาสิ้นไปแก่ท้าวสักกะ ท้าวสักกะทรงเล่าให้พระโมคคัลลานะฟังด้วย

    ๒.๓๘ มหาตัณหาสังขยสูตร ปฏิเสธวิญญาณอมตะ แสดงถึงคนเกิด และพัฒนาการอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งแสดงหลักปฏิจจสมุปบาท

    ๒.๓๙ มหาอัสสปุรสูตร แสดงถึงธรรมที่ทำให้เป็นสมณะและพราหมณ์ กล่าวถึงนิวรณ์ ๕ ด้วยอุปมาน่าฟังยิ่ง

    ๒.๔๐ จูฬอัสสปุรสูตร แสดงว่าสมณะที่ดี จะต้องละมลทินของสมณะ ๑๒ อย่าง

    (๕) จูฬยมกวรรค

    ๒.๔๑ สาเลยยกสูตร กล่าวถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ และอกุศลกรรมบถ ๑๐ ทำให้ผู้ประพฤติไปสู่สุคติและทุคติ

    ๒.๔๒ เวรัญชสูตร เนื้อหาเช่นเดียวกับสูตรข้างต้น เพียงแต่แสดงต่างสถานที่และแก่ต่างบุคคล เวรัญชพราหมณ์ผู้ฟังเทศนาครั้งนี้ เป็นคนเดียวกับที่กล่าวล่วงเกินพระพุทธองค์ (ที่กล่าวถึงในพระวินัยปิฎก)

    ๒.๔๓ มหาเวทัลลสูตร พระสารีบุตรแสดงแก่พระโกฏ ฐิตะ เกี่ยวกับการอธิบายหลักธรรมสำคัญในแง่วิชาการลึกซึ้ง เช่น เรื่องปัญญา วิญญาณ (น่าสังเกตว่าในที่นี้ท่านนิยามวิญญาณว่า รู้สุข รู้ทุกข์ ต่างจากที่ทั่วไปว่ารู้อารมณ์)

    ๒.๔๔ จูฬเวทัลลสูตร พระธัมมทินนาเถรีแสดงแก่วิสาขอุบาสกเรื่องสักกายะ (ทิฐิ) อริยมรรคมีองค์ ๘ และอื่นๆ

    ๒.๔๕ จูฬธัมมสมาทานสูตร ว่าด้วยการประพฤติธรรม ๔ อย่าง คือ สมาทานธรรมที่สุขในปัจจุบันมีทุกข์เป็นวิบาก, ทุกข์ในปัจจุบันมีทุกข์เป็นวิบาก, ทุกข์ในปัจจุบันมีสุขเป็นวิบาก, สุขในปัจจุบันมีสุขเป็นวิบาก

    ๒.๔๖ มหาธัมมสมาทานสูตร ว่าด้วยการสมานธรรม ๔ อย่าง เช่นข้างต้น แต่พิสดารกว่า พร้อมยกอุปมา อุปไมยให้เห็นชัด

    ๒.๔๗ วีมังสกสูตร สูตรว่าด้วยการวิพากษ์หรือสอบสวน ทรงเปิดโอกาสให้สาวกสอบสวนแม้กระทั่งพระพุทธองค์เองว่ามีข้อบกพร่องหรือไม่ ไม่ให้ติดศาสดา (พึงเปรียบเทียบกับอีกสูตรหนึ่งที่คล้ายกัน คือ ปวารณาสูตร. สัง.ส.๑๕)

    ๒.๔๘ โกสัมพิยสูตร แสดงสาราณียธรรมและญาณอันเป็นอริยะ ๗ ประการ แก่ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี หลังจากระงับการทะเลาะครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

    ๒.๔๙ พรหมนิมันตนิกสูตร สูตรว่าด้วยการโปรดพกพรหมให้สละทิฐิผิด

    ๒.๕๐ มารตัชชนียสูตร ว่าด้วยพระมหาโมคคัลลานะปราบมารที่มาคอยแกล้ง

    ข.มัชฌิมปัณณาสก์

    (๑) คหปติวรรค

    ๒.๕๑ กันทรสูตร แสดงถึงบุคคล ๔ ประเภท แก่บุตรควาญช้างชื่อเปสสะ และกันทรกปริพาชก เปสสะแสดงทัศนะน่าฟังว่า "สัตว์เดรัจฉานดูง่าย มนุษย์ดูยาก ปากอย่าง ใจอย่าง" และสรรเสริญสติปัฏฐาน ๔ ว่าเหมาะแม้กระทั่งแก่คฤหัสถ์ทั่วไป

    ๒.๕๒ อัฏฐกนาครสูตร พระอานนท์แสดงทางพระนิพพาน เริ่มตั้งแต่ระดับต้นๆ จนสุดท้ายแก่คฤหบดีเมืองอัฏฐกะชื่อทสมะฟัง ในพระสูตรนี้ใช้คำว่า "โอปปาติกะ" เป็นชื่อเรียกพระอนาคามี (เทียบกับพระสูตรหลายเลข ๒.๑๒ ข้างต้น)

    ๒.๕๓ เสขปฏิปทาสูตร เป็นเทศนาของพระอานนท์ เรื่องเกี่ยวกับข้อปฏิบัติฝึกฝนตนของพระเสขะ (คือ ผู้ที่ยังต้องศึกษาปฏิบัติอยู่) แสดงแก่มหานามศากยะ ที่ "สัณฐาคาร" เมืองกบิลพัสดุ์

    ๒.๕๔ โปตลิยสูตร แสดงว่า "ผู้สละสมมติอย่างโลก" (โวหารสมุจเฉท) ที่แท้จริง ต้องมีคุณธรรม ๘ ประการ เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ เป็นต้น พระสูตรนี้กล่าวถึงโทษของกามไว้อย่างน่าฟังยิ่ง

    ๒.๕๕ ชีวกสูตร หมอชีวกทูลถามเกี่ยวกับเรื่องการฉันเนื้อสัตว์ แก้ข้อสงสัยของคนทั่วไปในเรื่องนี้ได้อย่างดี (ประวัติหมอชีวก อ่าน "ชีวิตตัวอย่างหมอชีวกโกมารภัจจ์" ของผู้บรรยาย)

    ๒.๕๖ อุปาลิวาทสูตร โต้ตอบกับอุบาลีคหบดี สาวกคนสำคัญของนิครนถ์นาฏบุตร (มหาวีระ) เรื่องกรรม (นิครนถ์ใช้ศัพท์ว่า "ทัณฑ์") อุบาลีเลื่อมใส หลังจากได้ฟังอริยสัจ ขอมอบตนเป็นสาวก แทนที่จะทรงรีบรับ พระพุทธองค์ตรัสให้คิดให้ดีก่อน

    ๒.๕๗ กุกกุโรวาทสูตร แสดงแก่ชีเปลือย ชื่อ เสนิยะ และ ปุณณะ โกลิยบุตร ผู้ประพฤติวัตรคลานสี่ขาเหมือนสุนัข เรื่องกรรม ๔ (กรรมดำ, กรรมขาว, กรรมทั้งดำทั้งขาว, กรรมไม่ดำไม่ขาว)

    ๒.๕๘ อภัยราชกุมารสูตร แสดงแก่อภัยราชกุมารโอรสพระเจ้าพิมพิสาร เรื่องวาจาเช่นใดที่พระองค์ตรัสและไม่ตรัส

    ๒.๕๙ พหุเวทนิยสูตร แสดงเรื่องเวทนาประเภทต่างๆ มากมายถึง ๑๐๘ อย่าง และแสดงถึงความสุขระดับต่างๆ ถึง ๑๐ ขั้น

    ๒.๖๐ อปัณณกสูตร ว่าด้วยธรรมะที่ไม่ผิด ๔ ข้อ ซึ่งได้แก่ ความเห็นถูกต้อง ตรงข้ามกับมิจฉาทิฐิต่างๆ เช่น นัตถิกทิฐิ อกิริยทิฐิ เป็นต้น

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPUzB4Tnc9PQ
     
  17. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    (๒) ภิกขุวรรค

    ๒.๖๑ จูฬราหุโลวาทสูตร พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทแก่ราหุลสามเณร ตรัสสอนเรื่องโทษของการพูดเท็จพร้อมทั้งใช้ "สื่อการสอน" ด้วยเพื่อให้เหมาะแก่เด็ก

    ๒.๖๒ มหาราหุโลวาทสูตร ตรัสสอนภาคปฏิบัติที่สูงขึ้น คือ อานาปานสติ เมตตาภาวนา แก่ราหุล

    ๒.๖๓ จูฬมาลุงกโยวาทสูตร ว่าด้วยอัพยากตปัญหา (เรื่องที่ไม่ทรงพยากรณ์ ๑๐ ข้อ) เพราะไม่มีประโยชน์ "อุปมาด้วยบุรุษถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ" น่าฟังและทำให้เข้าใจแจ่มแจ้งดีมาก

    ๒.๖๔ มหามาลุงกโยวาทสูตร ทรงแสดงสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ และปฏิปทาเพื่อละสังโยชน์นั้น (น่าสังเกตว่าพระองค์ตรัสว่า เด็กอ่อนไม่มี "สักกายทิฐิ" แต่อนุสัย หรือกิเลสแฝงตัว เป็นเหตุให้ยึดถือว่ากายของตนนั้นมี

    ๒.๖๕ ภัททาลิสูตร ตรัสสอนภัททาลิภิกษุให้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา พระสูตรนี้กล่าวถึงพระสมัยพุทธกาลฉันอาหารมื้อเดียว พระภัททาลิอ้างว่าไม่สามารถอยู่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า กินเพื่ออยู่สบายมื้อเดียวก็พอ

    ๒.๖๖ ลฏุกิโกปมสูตร สูตรเปรียบด้วยนกไส้ "นกตัวเล็กเห็นเถาวัลย์เล็กๆ มันก็นึกว่า เส้นใหญ่เหลือเกินแทบเอาชีวิตไม่รอด ภิกษุผู้ไม่เอาใจใส่ในสิกขาก็เช่นเดียวกัน ข้อห้ามเล็กๆ น้อยๆ ก็เห็นว่าใหญ่โตปฏิบัติไม่ได้ "พระสูตรนี้แสดงว่าแต่เดิมไม่จำกัดเวลาฉันอาหาร มีเรื่องเล่าว่า พระอุทายีไปบิณฑบาตเวลามืดค่ำ ชาวบ้านนึกว่าผีหลอก ต่อมาตรัสห้ามฉันเวลา "วิกาล" (ปัญหาในเรื่องการตีความคำนี้ไม่เหมือนกัน-ดูข้อสังเกตข้างท้าย)

    ๒.๖๗ จาตุมสูตร สูตรนี้พระพุทธองค์ กำราบภิกษุที่ไม่สำรวม เอะอะส่งเสียงดัง ให้สำนึกด้วยวิธีการรุนแรง คือ ขับไล่ (ประณาม) ไม่ให้เข้าเฝ้า ภายหลังทรงให้เข้าเฝ้า แล้วตรัสสอนภัยของภิกษุ ๔ ประการ คือ คลื่น (การไม่อดทนต่อโอวาท) จระเข้ (เห็นแก่ปากท้อง) วังวน (กามคุณ) ปลาฉลาม (สตรี)

    ๒.๖๘ นฬกปานสูตร ทรงสนทนากับพระสาวกหลายรูป เช่น พระอนุรุทธะ พระภัททิยะ ถึงจุดหมายของการประพฤติพรหมจรรย์ เรื่องอาสวะ เรื่องการที่พระองค์ทรงพยากรณ์ว่า สาวกที่ตายไปคนไหนไปเกิดเป็นอะไร มิใช่เพื่อเรียกร้องให้คนนับถือว่าเก่ง แต่เพื่อกระตุ้นให้เกิดศรัทธาแล้วอยากปฏิบัติ

    ๒.๖๙ โคลิสสานิสูตร ว่าด้วยข้อปฏิบัติของภิกษุอยู่ป่า ๑๗ ข้อ ที่พระสารีบุตรเสนอให้พระป่าถือปฏิบัติ พระมหาโมคคัลลานะถามว่าพระบ้าน ไม่จำเป็นต้องถือตามนั้นใช่หรือไม่ พระสารีบุตรบอกว่า ข้อปฏิบัติเหล่านี้ แม้ผู้อยู่ป่า (คนเดียว) ยังควรประพฤติ ผู้อยู่ชายบ้าน (อยู่ด้วยกันมากคน) ยิ่งจำต้องประพฤติ

    ๒.๗๐ กีฏาคิริสูตร พระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ ไม่ปฏิบัติตามพระบัญญัติที่ให้ฉันมื้อเดียว ยกเว้นเวลาวิกาล อ้างว่าฉันหลายมื้อ (เช้า, กลางวัน, เย็น, กลางคืน) ทำให้สุขภาพร่างกายดีแถมยังชวนให้รูปอื่นทำตาม พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระเหล่านั้นมาสอนเรื่องกุศลธรรม อกุศลธรรม และบุคคล ๗ ประเภท (อุภโตภาควิมุต, ปัญญาวิมุต, กายสักขี, ทิฏฐิปัตตะ, สัทธาวิมุต, ธัมมานุสารี และสัทธานุสารี) เกี่ยวกับคำ "วิกาล" ดูเทียบกับสูตร ๒.๖๕-๒.๖๖ ข้างต้น)

    (๓) ปริพาชกวรรค

    ๒.๗๑ จูฬวัจฉโคตตสูตร ตอบคำถามของวัจฉโคตตปริพาชกว่า ที่มีคนพูดว่าพระองค์เป็นสัพพัญญู เป็นการกล่าวถูกต้อง กล่าวว่าได้วิชชา ๓ ก็เป็นการกล่าวถูกต้อง ตรัสว่า คฤหัสถ์ที่มีกิเลสตายไปไปเกิดในสุคตินับไม่ถ้วน แต่พวกอาชีวกที่ไปสวรรค์ ไม่มี ยกเว้น พวกที่เป็นกัมมวาทีและกิริยวาที (ไตร.ฉบับยุโรป เรียกว่า "เตวิชชวัจฉโคตตสูตร")

    ๒.๗๒ อัคคิวัจฉโคตตสูตร ตอบคำถามของอัคคิวัจฉโคตตปริพาชิกว่า ผู้ที่มีจิตหลุดพ้นแล้ว (พระอรหันต์) ดับขันธ์แล้ว ไม่มีคำว่า "เกิดอีก" หรือ "ไม่เกิดอีก" "เกิดด้วยไม่เกิดด้วย" "เกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่" พูดได้แต่ว่า "ดับสนิท" เหมือนไฟดับเพราะหมดเชื้อ, กล่าวถึงทิฐิ ๑๐ (คือ โลกเที่ยงหรือไม่ เป็นต้นด้วย)

    ๒.๗๓ มหาวัจฉโคตตสูตร แสดงกุศลธรรมและอกุศลธรรม ๓ และ ๑๐ ปริพาชกเห็นว่าพุทธศาสนามีบริษัทมากมายที่บรรลุธรรมชั้นสูง เกิดความเลื่อมใสทูลขอบวชเรียนสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานจนบรรลุธรรม

    ๒.๗๔ ทีฆนขสูตร โต้ตอบกับทีฆนขปริพาชก ผู้ประกาศว่าตนไม่ยึดถือทัศนะใดๆ พระพุทธองค์ตรัสย้อนว่า ที่ไม่ยึดถือนั่นแหละยึดถือทรงสอนเรื่องการละทิฐิ เรื่องเวทนาชี้ให้เห็นความไม่เที่ยงเมื่อรู้ว่าไม่เที่ยงก็เบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็หลุดพ้นในที่สุด "ผู้ที่มีจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมไม่วิวาทกับใคร สิ่งใดที่เขาพูดกันในโลก ก็พูดตามโวหารเท่านั้น แต่ไม่ยึดถือ" (พระสารีบุตรนั่งฟังอยู่ด้วย ได้บรรลุอรหัตเพราะสูตรนี้)

    ๒.๗๕ มาคัณฑิยสูตร ตรัสสอนมาคัณฑิยปริพาชก เรื่องโทษของกามคุณ ทรงเล่าประสบการณ์ในหนหลังของพระองค์เอง ว่าเพียบพร้อมด้วยกามคุณอย่างไรมาก่อน จนเบื่อหน่ายละทิ้งได้ อุปมาการเห็นโทษในกามคุณไว้น่าฟังมาก

    ๒.๗๖ สันทกสูตร บทสนทนาระหว่างพระอานนท์ กับ สันทกปริพาชก เรื่องศาสดา ที่ได้ชื่อว่า ประพฤติพรหมจรรย์ 4 ประเภท และที่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่น่าพอใจ ๔ ประเภท และตอนท้าย พระอานนท์กล่าวว่าการประพฤติพรหมจรรย์ที่ได้ผลดีต้องสละกาม สละอกุศลธรรม ได้ฌาน ๔ วิชชา ๓

    ๒.๗๗ มหาสกุลุทายิสูตร ตรัสสอนว่าสาวกเคารพสักการะพระองค์ เพราะทรงมีคุณธรรม ๕ ข้อ (มีศีล, แสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง, แสดงธรรม มีปาฏิหาริย์, มีปัญญา บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกปฏิบัติตามมากมาย)

    ๒.๗๘ สมณมุณฑิกสูตร ทรงแสดงธรรม ๑๐ ประการ ที่ทำให้คนสมบูรณ์ด้วยกุศลทำให้เป็น "คนดีโดยสมบูรณ์" คือ อเสขธรรม ๑๐ (มรรค ๘ ข้อ กับสัมมาญาณะและสัมมาวิมุติ) บางครั้งเรียกว่า "สัมมัตตะ ๑๐"

    ๒.๗๙ จูฬสกุลุทายิสูตร บทสนทนากับสกุลุทายิปริพาชก ถึงเรื่องวรรณะที่เยี่ยมที่สุดปฏิปทาที่ทำให้โลกมีสุขที่สุด ปริพาชกเล่าทัศนะของลัทธิตนให้ฟัง แล้วพระพุทธองค์แสดงเหตุผลหักล้าง แล้วตรัสแสดงข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุโลกที่มีสุขที่สุด ตั้งแต่ขั้นฌาน จนถึงอาสวักขยญาณ

    ๒.๘๐ เวขณสูตร คล้ายสูตรข้างต้น เวขณปริพาชกพูดเรื่องวรรณะที่ยอดเยี่ยมครั้นถูกซักเข้าก็ชี้ชัดไม่ได้ ทรงแสดงเรื่องกาม สุขในกาม สุขที่เลิศกว่าสุขในกาม คนที่เป็นอรหันตขีณาสพเท่านั้นที่รู้ดี

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPUzB4T0E9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 20 กันยายน 2009
  18. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    (๔)ราชวรรค

    ๒.๘๑ ฆฏิการสูตร ตรัสเล่าเรื่องฆฏิการ (ช่างหม้อ) คนหนึ่งเมื่อครั้งสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะให้พระอานนท์ฟัง สูตรนี้แปลกที่ทรงเล่าเรื่องเก่าๆ ให้พระอานนท์ฟัง โดยไม่มีการสอนธรรมข้อใดแทรกเลย (นอกจากจะหาเอาเองว่าแฝงแง่คิดอะไรไว้)

    ๒.๘๒ รัฐปาลสูตร ประวัติพระรัฐปาล สาวกสำคัญรูปหนึ่งของพระพุทธเจ้า และธรรมเทศนาเรื่องธัมมุเทศ ๔ ที่พระรัฐปาลแสดงแก่พระเจ้าโกรัพยะแห่งรัฐกุรุ

    ๒.๘๓ มฆเทวสูตร ทรงเล่าให้พระอานนท์ฟัง เรื่องพระเจ้ามฆเทพแห่งกรุงมิถิลาในอดีต เห็นศีรษะหงอกแล้วเกิดธรรมสังเวชออกบวช เจริญพรหมวิหาร ๔ ตายไปเกิดในพรหมโลก แล้วทรงแสดงธรรมแทรกว่า ข้อปฏิบัติที่ทำให้ได้ผลสูงกว่าพรหมโลก คืออริยมรรคมีองค์แปด

    ๒.๘๔ มธุรสูตร เทศนาของพระมหากัจจายนะ แก่พระเจ้ามธุระแห่งแคว้นอวันตี เรื่องวรรณะที่พวกพราหมณ์ว่าวรรณะพราหมณ์สูงกว่าวรรณะอื่นเป็นเพียงการอวดอ้างเท่านั้น ผู้ที่ประพฤติดีทางกาย วาจา ใจ นั่นแหละประเสริฐสุด ไม่ว่าจะเกิดในวรรณะไหน

    ๒.๘๕ โพธิราชกุมารสูตร ทรงเล่าให้โพธิราชกุมารฟังว่า เคยทรมานกายต่างๆ ก็ไม่ตรัสรู้ พอบำเพ็ญทางจิตจึงตรัสรู้ เมื่อเขาทูลถามว่าจะใช้เวลานานเท่าไรจึงจะทำที่สุด พรหมจรรย์ได้ ตรัสว่าไม่ขึ้นกับเวลา แต่ขึ้นอยู่กับว่ามีคุณสมบัติพร้อมหรือไม่ (ในอรรถกถาธรรมบทว่า โพธิราชกุมารเป็นหมัน อยากได้บุตรชาย พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่สำเร็จ เพราะชาติก่อนเคยทำกรรมพรากลูกนก แต่พระสูตรนี้ไม่พูดถึง)

    ๒.๘๖ อังคุลิมาลสูตร เล่าประวัติพระองคุลิมาลโดยละเอียด วาทะที่ทราบกันทั่วไปคือ "หยุด สมณะ" (ติฏฺฐ สมณ ติฏฺฐ สมณ) "เราหยุดแล้ว ท่านสิจงหยุด" (ฐิโต อหํ ตฺวญฺจ ติฏฺฐ) สัตยาธิษฐานของพระองคุลิมาล ภายหลังกลายเป็นมนต์ขลัง (ดูข้อสังเกตข้างท้าย)

    ๒.๘๗ ปิยชาติกสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความโศก ความปริเทวนา ความทุกข์ ความโทมนัส ความคับแค้นใจเกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก คำสอนนี้เดิมทีพระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ปักใจเชื่อ ต่อเมื่อพระนางมัลลิกาช่วยชี้แจงยกเหตุผลให้ฟัง จึงเชื่อว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นเป็นจริง

    ๒.๘๘ พาหิติยสูตร พระเจ้าปเสนทิโกศล สดับเทศนาของพระอานนท์แล้วเกิดความเลื่อมใส ถวายผ้าที่ทออย่างดีจากแคว้นพาหิติ เป็นการบูชาธรรม

    ๒.๘๙ ธัมมเจติยสูตร ตรัสถามพระเจ้าปเสนทิโกศล เกี่ยวกับเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศลได้แสดงความเคารพพระองค์อย่างนอบน้อมยิ่ง พระราชากราบทูลว่า ที่เคารพอย่างยิ่งเพราะพระพุทธเจ้ามีคุณสมบัติ ๑๐ ประการ

    ๒.๙๐ กัณณกัตถลสูตร พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามเรื่องสัพพัญญุตา เรื่องวรรณะ เรื่องอธิเทพและเรื่องอธิพรหม ทรงอธิบายให้ฟังจนเข้าใจ ข้อน่าคิดเกี่ยวกับวรรณะ คือ ไฟไม่ว่าจะเกิดจากไม้ชนิดไหนก็มีเปลว สี แสง เหมือนกัน คนไม่ว่าจะมาจากวรรณะไหนก็ไม่ต่างกัน คุณธรรมเท่านั้นทำให้ต่างกัน

    (๕) พราหมณวรรค

    ๒.๙๑ พรหมายุสูตร แสดงอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ แก่พรหมายุพราหมณ์ ผู้ถือเคร่งตำราทายลักษณะ และเชี่ยวชาญพระเวท

    ๒.๙๒ เสลสูตร เสลพราหมณ์เห็นมหาปุริสลักษณะครบ จึงทูลเชิญให้พระองค์ไปครองราชย์ พระองค์ตรัสว่าพระองค์เป็นธรรมราชาอยู่แล้ว มีแม่ทัพธรรม คือ พระสารีบุตรแล้ว ไม่จำเป็นต้องครองราชย์ทางโลก

    ๒.๙๓ อัสสลายนสูตร พวกพราหมณ์ส่งพราหมณ์หนุ่ม ชื่อ อัสสลายนะ อายุ ๑๖ ปี ผู้เชี่ยวชาญพระเวท ไปโต้กับพระพุทธเจ้าเรื่องวรรณะ ผลสุดท้ายอัสสลายนะยอมแล้วมอบตนเป็นสาวก นี่เป็นอีกสูตรหนึ่ง ที่แสดงการโต้ตอบอย่างแหลมคมของพระพุทธองค์เกี่ยวกับเรื่องวรรณะที่น่าศึกษายิ่ง

    ๒.๙๔ โฆฏมุขสูตร พระเถระชื่ออุเทนแสดงบุคคล ๔ ประเภท และบริษัท ๒ ประเภท แก่พราหมณ์ชื่อ โฆฏมุข

    ๒.๙๕ จังกีสูตร พราหมณ์หนุ่มชื่อ กาปทิกะ ตามจังกีพราหมณ์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้โต้เถียงเรื่องต่างๆ กับพระองค์ คือ เรื่องบทมนต์ของพราหมณ์เท่านั้นจริงแท้, เรื่องการรักษาสัจจะ, เรื่องการตรัสรู้สัจจะ, เรื่องการบรรลุความจริง กาปทิกะยอมรับเหตุผลของพระองค์

    ๒.๙๖ เอสุการีสูตร ทรงสนทนากับเอสุการีพราหมณ์ เอสุการีพราหมณ์เชื่อว่า คนวรรณะสูงรับใช้คนวรรณะต่ำไม่ได้ ตรัสว่าวรรณะไม่ใช่สิ่งกำหนดคุณค่าของคน ความประพฤติเท่านั้นเป็นตัวกำหนด

    ๒.๙๗ ธนัญชานิสูตร พระสารีบุตรถามธนัญชานิพราหมณ์ว่าทำไมทำชั่ว พราหมณ์บอกว่า เพราะความจำเป็นต้องหาเลี้ยงบุตรภรรยา พระเถระบอกว่าจะอ้างความจำเป็นมาทำความชั่วไม่ได้ เมื่อพราหมณ์ป่วยหนักใกล้ตายพระเถระมาแสดงธรรมโปรด

    ๒.๙๘ วาเสฏฐสูตร ว่าด้วยมาตรฐานการเป็นพราหมณ์มิใช่อยู่ที่ชาติสกุล แต่อยู่ที่การกระทำความดีต่างๆ ในสูตรนี้พระพุทธเจ้าได้วางมาตรฐานของการเป็นพราหมณ์ในทัศนะพุทธไว้มากมาย (ความเหมือนคาถาธรรมบทพราหมณวรรคโปรดดู "พุทธวจนะในธรรมบท" ของผู้บรรยาย)

    ๒.๙๙ สุภสูตร สุภมาณพแสดงทัศนะว่า คฤหัสถ์บรรลุญาณธรรมได้บรรพชิตบรรลุไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เรื่องนี้ตอบเป็น "วิภัชชวาทะ" (คือ แยกตอบเป็นเรื่องๆ) ไม่ควรตอบแบบ "เอกังสะ" (คลุมไปหมด,ตอบตรงๆ) ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ถ้าปฏิบัติผิดก็ไม่บรรลุ แต่ถ้าปฏิบัติถูกก็บรรลุได้ทุกคน ในเรื่องอื่นๆ ก็เช่นกัน

    ๒.๑๐๐ สคารวสูตร โตเทยยมาณพถามถึงสมณพราหมณ์พวกไหน ที่อยู่จนพรหมจรรย์บรรลุถึงฝั่งอย่างสมบูรณ์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า สมณพราหมณ์มีหลายประเภท ประเภทรู้ไตรเพทก็มี พวกนักเดานักคิดก็มี พวกที่รู้แจ้งธรรมด้วยตนเองก็มี แล้วทรงเล่าประวัติของพระองค์ ตั้งแต่เริ่มแสวงหาทางพ้นทุกข์จนตรัสรู้

    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31


    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPUzB5TVE9PQ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 24 กันยายน 2009
  19. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ค. อุปริปัณณาสก์

    (๑) เทวทหวรรค

    ๒.๑๐๑ เทวทหสูตร ทรงเล่าว่าทรงตอบโต้กับพวกนิครนถ์ ในหลักคำสอนของพวกเขา เช่น พวกเขาเชื่อว่า สุข ทุกข์ หรือไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ที่คนได้รับในปัจจุบัน เป็นผลจากการกระทำในชาติก่อนเท่านั้น ทรงย้อนว่า แล้วที่พวกเขาทรมานกายต่างๆ ได้รับความเจ็บปวดไหม นี้ใช่การกระทำในชาติก่อนหรือไม่ ตอนท้ายทรงแสดงความเพียรพยายามที่ถูกต้อง

    ๒.๑๐๒ ปัยจัตตยสูตร ทรงแสดงให้พระฟังว่า สมณพราหมณ์บางพวกมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องอัตตาต่างๆ ซึ่งพระองค์มิได้เห็นดังนั้น

    ๒.๑๐๓ กินติสูตร ทรงสอนพระให้สามัคคีปรองดองกัน เอาใจใส่ศึกษาโพธิปักขิยธรรม ถ้าความเห็นไม่ตรงกันใน อภิธรรม ก็ให้ซักซ้อมชี้แจงให้เข้าใจเป็นอย่างดี ช่วยประดิษฐานกันและกันในกุศลธรรม (คำว่า อภิธรรม ในที่นี้ มิได้หมายถึงอภิธรรมปิฎก)

    ๒.๑๐๔ สามคามสูตร พระจุนทะเห็นสาวกของนิครนถ์นาฏบุตร ทะเลาะกันหลังจากศาสดานิพพาน ไม่อยากให้สภาพเช่นนั้นเกิดกับพระพุทธศาสนา จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากับพระอานนท์ พระองค์ตรัสว่า สาวกของพระองค์จะไม่วิวาทกัน ถ้าศึกษาโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ทรงแสดงเหตุแห่งการวิวาท และสาราณียธรรม (ความคิดจะร้อยกรองพระธรรมวินัย เกิดแก่พระจุนทะจากจุดนี้)

    ๒.๑๐๕ สุนักขัตตสูตร ทรงแสดงธรรมแก่สุนักขัตตลิจฉวี เรื่องกามคุณ ๕ ทรงขยายความว่ามีบางคนสนใจเรื่องโลกามิส คบคนประเภทเดียวกัน ไม่สนใจเกี่ยวกับเรื่องฌานสมาบัติ บางคนสนใจแต่เรื่องฌานสมาบัติ ไม่สนใจเรื่องโลกามิส มีภิกษุบางรูปทั้งๆ ที่รู้ว่าตัณหาพิษสงร้ายกาจ แต่ปฏิบัติสวนทางสัมมานิพพาน และมีบางรูปที่ไม่เป็นเช่นนั้น

    ๒.๑๐๖ อเนญชสัปปายสูตร ว่าด้วยเรื่องกามและกามสัญญา (ความกำหนดหมายในกาม) เป็นบ่วงแห่งมาร เมื่อภิกษุอริยสาวกพิจารณาเห็นความจริงก็จะครอบงำโลกได้ ปราศจากอกุศล อภิชฌา พยาบาท การแข่งดี ฝึกฝนอบรมจิตใจให้เป็นสมาธิอย่างดีย่อมได้ฌานสมาบัติ หรือหลุดพ้นด้วยปัญญา

    ๒.๑๐๗ คณกโมคคัลลานสูตร สอนอนุปุพพสิกขา (ข้อศึกษาตามลำดับ) และอนุปุพพปฏิปทา (ข้อมูลปฏิบัติตามลำดับ) ๗ อย่าง (คือ ศีล อินทรีย์ สังวร รู้ประมาณในอาหาร เพียร สติสัมปชัญญะ จิตเป็นสมาธิ ปราศจากนิวรณ์ ได้ฌานทั้ง ๔) แก่ คณกโมค คัลลานพราหมณ์ เมื่อพราหมณ์ทูลถามว่าทรงสอนดีๆ อย่างนี้ ทำไมบางคนถึงมิได้บรรลุ ตรัสว่า จะบรรลุหรือไม่อยู่ที่การปฏิบัติตามหรือไม่

    ๒.๑๐๘ โคปกโมคคัลลานสูตร บทสนทนาระหว่างพระอานนท์กับโคปกโมคคัลลานะ และวัสสการพราหมณ์ พระอานนท์บอกว่า พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ชี้ทางให้ และบอกว่าเมื่อสิ้นพระพุทธองค์แล้วพระสงฆ์ก็ไม่ว้าเหว่ เพราะทรงมอบพระธรรมวินัยให้เป็นศาสดาแทน

    ๒.๑๐๙ มหาปุณณมสูตร ตรัสสอนเรื่องอุปาทาน กับอุปาทานขันธ์ ๕ จะเป็นอันเดียวกัน ก็ไม่ใช่ คนละอย่างก็ไม่ใช่ ซักไซ้ไล่เลียงให้เข้าใจว่าขันธ์ 5 เป็นอนัตตาอย่างไร

    ๒.๑๑๐ จูฬปุณณมสูตร ว่าด้วย สัตบุรุษและอสัตบุรุษ โดยมีสัทธรรม ๗ และอสัทธรรม ๗ เป็นตัวกำหนด



    (๒) อนุปทวรรค

    ๒.๑๑๑ อนุปทสูตร ตรัสสรรเสริญพระสารีบุตรว่ารู้แจ้งธรรมต่างๆ ภายในกึ่งเดือน

    ๒.๑๑๒ ฉวิโสธนสูตร สูตรว่าด้วยการสอบสวนตรวจสอบ ว่าผู้ใดสำเร็จมรรคผลหรือไม่

    ๒.๑๑๓ สัปปุริสสูตร ทรงแสดงธรรมของคนดี ควบคู่กับธรรมของคนชั่วด้วย

    ๒.๑๑๔ เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร ทรงแสดงสิ่งที่ควรเคารพ (เกี่ยวข้อง) และไม่ควรเสพโดยย่อ พระสารีบุตรเป็นผู้ขยายความ เรื่องที่แสดง มีกาย-วจี-มโนสมาจาร ความคิด สัญญา ทิฐิ อายตนะ ๖ ปัจจัย ๔ คาม นิคม นคร ชนบท บุคคล

    ๒.๑๑๕ พหุธาตุสูตร ตอบคำถามของพระอานนท์ว่า ภิกษุเช่นใด เรียกว่าผู้เป็นบัณฑิต เป็นผู้มีปัญญาสอบสวน พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ได้แก่ ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุหลายชนิด ฉลาดในอายตนะในปฏิจจสมุปบาทและในสิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้

    ๒.๑๑๖ อิสิคิลิสูตร พระพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องภูเขาอิสิคิลิว่า มีพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปยังภูเขานี้ ๕๐๐ รูป คนเห็นแต่ท่านเข้าไปไม่เห็นออกมา จึงพูดว่า ภูเขากินพระ (อิสิคิลิ) ระบุนามพระปัจเจกพุทธะประมาณ ๑๐๐ รูป สูตรนี้ไม่มีแสดงข้อธรรม

    ๒.๑๑๗ มหาจัตตาฬิสกสูตร ทรงแสดงว่า สัมมาสมาธิ ต้องมีองค์ประกอบอื่น สัมมาทิฐิเป็นประธานขององค์ธรรมอื่น แล้วแสดงธรรม ๔๐ หมวด (ฝ่ายอกุศล ๒๐ คือ มิจฉัตตะ ๑๐ อกุศลกรรมบถ ๑๐ และฝ่ายกุศล ๒๐ คือ สัมมัตตะ ๑๐ และกุศลกรรมบถ ๑๐)

    ๒.๑๑๘ อานาปานสติสูตร ทรงแสดงอานาปานสติที่เจริญให้มาก ทำสติปัฏฐานให้บริบูรณ์ สติปัฏฐานที่ทำให้เจริญมาก ทำโพชฌงค์ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ทำให้มากทำวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์

    ๒.๑๑๙ กายคตาสติสูตร ตรัสสอนเรื่องกายคตาสติโดยละเอียด (แบบที่ทรงแสดงในมหาสติปัฏฐานสูตร) พร้อมด้วยอานิสงส์กายคตาสติด้วย

    ๒.๑๒๐ สังขารูปปัตติสูตร สูตรว่าด้วยคิดอย่างไรไปเกิดที่นั้นได้ตามปรารถนา ตรัสสอนว่าภิกษุที่มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา คิดปรารถนาจะไปเกิดที่ไหนก็ย่อมทำได้



    (๓) สุญญตวรรค

    ๒.๑๒๑ จูฬสุญญตสูตร ทรงแสดงแก่พระอานนท์ว่า พระองค์อยู่โดยมากด้วยสุญญตาวิหาร (ทำในใจให้ถึงความว่าง) ไม่ว่าในอดีต หรือว่าในปัจจุบัน

    ๒.๑๒๒ มหาสุญญตสูตรv ทรงแสดงสุญญตาสูตรใหญ่ ท้ายสูตรว่าด้วยการอยู่ใกล้ชิดพระศาสดาที่ถูกต้องและพุทธวจนะน่าจะตราไว้ คือ "อานนท์เราจักไม่ทนุถนอมพวกเธอเหมือนช่างหม้อปั้นหม้อดินดิบ เราจักข่มแล้วข่มอีกกล่าวสอน (สำหรับผู้ที่ควรข่ม) ยกย่องแล้วยกย่องอีก กล่าวสอน (สำหรับผู้ควรยกย่อง) ผู้ใดแน่จริงผู้นั้นจักอยู่ได้" (นิคฺคยฺห นิคฺคยฺหาหํ อานนฺท วกฺขามิ ปวยฺห ปวยฺหาหํ อานนฺท วกฺขามิ โย สาโร โส ฐสฺสติ)

    ๒.๑๒๓ อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร แสดงความอัศจรรย์ของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่เสด็จลงสู่พระครรภ์มีอะไรบ้าง (ข้อความซ้ำกับมหาปทานสูตร ทีฆนิกาย)

    ๒.๑๒๔ พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร ว่าด้วยความดีวิเศษของพระเถระ ชื่อ พักกุละ

    ๒.๑๒๕ ทันตภูมิสูตร ตรัสสอนว่า ช้าง ม้า โค ที่ได้รับการฝึกอย่างดี ย่อมใช้การได้ตามที่มนุษย์ต้องการ คนที่ฝึกฝนจิต ย่อมได้รับผลที่ต้องการได้เช่นเดียวกัน สูตรนี้ทรงแสดงแนะวิธีฝึกคนเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายสูงสุด พุทธวจนะที่น่าสังเกต "การครองเรือนคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชา โปร่งโล่ง" (สมฺพาโธ ฆราวาโส รชาปโถ อพฺโภกาโส ปพฺพชฺชา)

    ๒.๑๒๖ ภูมิชสูตร พระภูมิชะตอบปัญหาของชัยเสนาราชกุมาร เรื่องการประพฤติพรหมจรรย์ ไม่แน่ใจว่าถูกต้อง จึงกลับมาถามพระพุทธเจ้าได้รับการยืนยันจากพระองค์ว่าถูกต้องแล้ว



    (อ่านต่อฉบับหน้า)

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....nid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPUzB5TWc9PQ˹ѧ
     
  20. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ๒.๑๒๗ อนุรุทธสูตร พระอนุรุทธะอธิบายความแตกต่างระหว่าง อัปปมาณาเจโตวิมุติ (ความหลุดพ้นแห่งจิตไม่มีประมาณ) กับ มหัคคตาเจโตวิมุติ (ความหลุดพ้นแห่งจิตที่เป็นฌาน) ว่าต่างกันโดยอรรถะ (ความหมาย) และพยัญชนะ (ตัวอักษร) แก่ช่างไม้ ชื่อ ปัญจกังคะ

    ๒.๑๒๘ อุปปักกิเลสสูตร ว่าด้วยอุปกิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองแห่งจิต ๑๑ อย่าง อันทำให้การเจริญสมาธิไม่ได้ผลก้าวหน้า (ในที่นี้กล่าวถึงฌาน 5 ซึ่งในที่อื่นกล่าวถึงฌาน ๔ เท่านั้น)

    ๒.๑๒๙ พาลปัณฑิตสูตร แสดงลักษณะของคนพาล ๓ (คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว) และลักษณะของบัณฑิต ๓ ตรงกันข้าม กล่าวถึงการลงทัณฑ์ในนรกแก่คนชั่ว หลายวิธีด้วย

    ๒.๑๓๐ เทวทูตสูตร กล่าวถึงนายนิรยบาลจับคนชั่วไปแสดงแก่พญายมบาล พญายมบาลซักถามว่า เมื่อเห็นเด็ก คนแก่ คนเจ็บ คนตายแล้ว คิดบ้างไหมว่าตนเองก็จะเป็นอย่างนั้น ควรไม่ประมาท ทำความดีทางกาย วาจา ใจ ให้มาก ถ้าเขาปฏิเสธก็จะทำโทษในนรกต่างๆ นานา สองสูตรนี้กล่าวถึงนรกในแง่ "กายภาพ" ค่อนข้างชัด ในขณะที่แห่งอื่นพูดถึงนรกสวรรค์ผ่านๆ เท่านั้น



    (๔) วิภังควรรค

    ๒.๑๓๑ ภัทเทกรัตตสูตร แสดงความสำคัญ ของปัจจุบันขณะ มากกว่าอดีตและอนาคต ให้อยู่ด้วยความไม่ประมาท

    ๒.๑๓๒-๔ อานันทภัทเทกรัตตสูตร มหากัจจายนภัท เทกรัตตสูตร และ โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร เนื้อความเหมือนสูตรข้างต้น เป็นแต่การขยายความของพระอานนท์ พระมหากัจจายนะ และพระโลมสกังคิยะเท่านั้น

    ๒.๑๓๕ จูฬกัมมวิภังคสูตร ว่าด้วยคนทำกรรมแล้วได้รับผลต่างๆ (อายุสั้นเพราะชอบฆ่าสัตว์ ขี้โรคเพราะเบียด เบียนสัตว์ ไม่สวยเพราะขี้โกรธ มีศักดาน้อยเพราะริษยา ยากจนเพราะไม่ให้ทาน เกิดในสกุลต่ำเพราะไม่อ่อนน้อม โง่เพราะไม่เข้าหาสมณพราหมณ์)

    ๒.๑๓๖ มหากัมมวิภังคสูตร กล่าวถึงคน ๔ ประเภท คือ ทำความชั่วไปเกิดในอบาย ทำชั่วไปเกิดในสุคติ ทำดีไปเกิดในอบาย ทำดีไปเกิดในสุคติ ซึ่งผู้ไม่เข้าใจตลอดสายอาจสับสน การอธิบายควรใช้วิธีวิภัชชะ (แยกแยะ) ไม่ใช่วิธีเอกังสิกะ (ตอบแง่เดียว)

    ๒.๑๓๗ สฬายตนวิภังคสูตร อธิบายอายตนะ ๖ หมวดวิญญาณ ๖ หมวดผัสสะ ๖ มโนปวิจาร ๑๘ สัตตบท ๓๖ การตั้งสติของศาสดา ๓ การที่ศาสดาเป็นยอดผู้ฝึกคน

    ๒.๑๓๘ อุทเทสวิภังคสูตร ตรัสอุเทศสั้นๆ ว่า ภิกษุควรพิจารณาโดยประการที่ "วิญญาณ" จะไม่ซัดส่ายไปภายนอก ไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วจะไม่มีชาติ ชรา มรณะ ทุกขะ สมุทัย พระทั้งหลายไม่เข้าใจ ไปขอให้พระมหากัจจายนะอธิบาย ท่านอธิบายว่า "วิญญาณ" ในที่นี้คือจิต

    ๒.๑๓๙ อรณวิภังคสูตร แสดงทางสายกลางที่ไม่ติดอยู่ในกามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค ไม่พึงแสดงธรรมยกย่องหรือรุกรานคนอื่น ไม่พึงส่อเสียด ไม่พึงพูดเลอะเทอะ พูดรีบด่วน ไม่พึงติดถ้อยคำของชาวบ้าน และไม่พึงข้ามบัญญัติโลก (หมายถึงไม่ยึดมั่นในโวหารอย่างโลกๆ นัก ขณะเดียวกันก็ไม่ขวางโลกเสียจนพูดกับเขาไม่รู้เรื่อง) ทั้งหมดนี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ก่อศัตรู

    ๒.๑๔๐ ธาตุวิภังคสูตร ขณะพระพุทธเจ้าพักแรมคืนที่โรงช่างหม้อแห่งหนึ่งในแคว้นมคธ ปุกกุสาติ นักบวชหนุ่ม บวชเองอุทิศพระพุทธเจ้ามาค้างอยู่ด้วย ได้ฟังเรื่องการจำแนกธาตุ ว่ามนุษย์มีธาตุมีอายตนะ 6 มโนปวิจาร 18 มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ 4 ไม่ควรปล่อยให้กิเลสเข้าไปครอบงำ ไม่ควรประมาทปัญญา ควรรักษาสัจจะ ควรเจริญการละ ควรศึกษาความสงบปุกกุสาติแน่ใจว่าเป็นพระพุทธเจ้า ก้มลงกราบแทบพระบาทขอบวช ตรัสสั่งให้หาบาตรมาก่อน ขณะที่เขาไปหาบาตรถูกแม่โคขวิดตาย (เรื่องนี้เป็นเค้าให้คาร์ล เจลเลอรุป นำมาแต่งเรื่องกามนิตตอนพบพระพุทธเจ้า)

    ๒.๑๔๑ สัจจวิภังคสูตร พระสารีบุตรแสดงอริยสัจแก่พระทั้งหลาย ในสูตรนี้มีข้อที่น่าสนใจก็คือ พระองค์ตรัสว่า พระสารีบุตรเป็น "ผู้ให้กำเนิด" พระมหาโมคคัลลานะเป็น "ผู้เลี้ยงดู" ในทางธรรมพระสารีบุตรสามารถสอนให้บรรลุโสดาปัตติผล พระมหาโมคคัลลานะสามารถให้บรรลุคุณธรรมสูงขึ้นไป

    ๒.๑๔๒ ทักขิณาวิภังคสูตร แสดงทักษิณา (การทำทาน) และความบริสุทธิ์แห่งทักษิณามีข้อที่น่าสนใจคือ "ในอนาคตนานไกล จักมีโคตรภู (สงฆ์) ผู้มีผ้ากาสายะพันคอ เป็นผู้ทุศีลมีบาปกรรม บุคคลจักถวายทานแก่โคตรภู (สงฆ์) ทุศีลเหล่านั้น แม้กระนั้นผลทานก็ประมาณมิได้ ทานที่ให้เจาะจงมีผลมากสู้ให้แก่สงฆ์ไม่ได้" ข้อความนี้แสดงผลของ "สังฆทาน" แม้แก่พระทุศีลก็มีผลมากกว่าให้เจาะจงบุคคล



    (๕) สฬายตนวรรค

    ๒.๑๔๓ อนาถบิณฑิโกวาทสูตร พระสารีบุตรแสดงแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้ป่วยหนักหลายข้อ ส่วนใหญ่เน้นไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น เศรษฐีร้องไห้ เมื่อถามว่ายังติดใจอาลัยอะไร ตอบว่าไม่เคยได้ฟังธรรมไพเราะอย่างนี้มาก่อน แล้วขอให้พระสารีบุตร แสดงแก่คฤหัสถ์มากๆ ด้วย อย่าแสดงเฉพาะบรรพชิตเลย

    ๒.๑๔๔ ฉันโนวาทสูตร พระฉันนะอาพาธหนัก พระสารีบุตรแสดงธรรมให้ฟัง ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น ต่อมาพระฉันนะฆ่าตัวตาย พระสารีบุตรไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ฉันนะ "ไม่มีโทษ" อรรถกถาว่าเธอบรรลุอรหัตเป็นอริยบุคคลประเภท "สมสีสี")

    ๒.๑๔๕ ปุณโณวาทสูตร พระปุณณะทูลลาไปสุนาปรันตะ แดนที่มีคนดุร้ายมาก พระพุทธองค์ทรงทดสอบเธอจะมีความอดทนมากน้อยแค่ไหน เมื่อเธอยืนยันเจตนารมณ์แน่วแน่จึงทรงอนุญาตให้ไป

    ๒.๑๔๖ นันทโกวาทสูตร พระนันทกะได้รับพุทธานุมัติให้สอนนางภิกษุณีได้ให้โอวาทเรื่องไตรลักษณะ

    ๒.๑๔๗ จูฬราหุโลวาทสูตร สูตรนี้ทำให้พระราหุลบรรลุอรหัต เนื้อความเกี่ยวกับให้พิจารณา อายตนะภายใน - ภายนอก วิญญาณ สัมผัส สัมผัสสชาเวทนา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    ๒.๑๔๘ ฉฉักกสูตร ว่าด้วยธรรมหมวด ๖ รวม ๖ ข้อ พร้อมทั้งให้พิจารณายกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ พระสูตรนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระ ๖๐ รูป เมื่อจบพระธรรมเทศนาพระเหล่านั้นบรรลุอรหัต

    ๒.๑๔๙ สฬายตนวิภังคสูตร ว่าด้วยจำแนกอายตนะ ๖ อย่างพิสดาร และว่าด้วยธรรมะเทียมคู่ คือ สมถะกับวิปัสสนา ธรรมควรละคืออวิชชากับภวตัณหา ธรรมควรเจริญ คือ สมถะกับวิปัสสนา ธรรมควรทำให้แจ้งคือวิชชากับวิมุติ

    ๒.๑๕๐ นครวินเทยยสูตร ว่าด้วยสมณพราหมณ์ที่ควรสักการะ เคารพ และที่ไม่ควรสักการะ เคารพ ผู้ที่ไม่ควรสักการะเคารพ คือ ผู้มีราคะ โทสะ โมหะ ลุ่มหลงในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ต่างจากคฤหัสถ์ ผู้ที่ควรสักการะ เคารพมีลักษณะตรงข้าม

    ๒.๑๕๑ ปิณฑปาตปริสุทธิสูตร ทรงชมเชยพระสารีบุตรผู้อยู่ด้วยสุญญตาวิหาร โดยมากแล้วแสดงวิธีบิณฑบาตที่บริสุทธิ์

    ๒.๑๕๒ อินทริยภาวนาสูตร พวกพราหมณ์สอนการอบรมอินทรีย์ (ฝึกควบคุมการแสดงออก) โดยไม่พยายามดู ไม่ฟัง ฯลฯ พระพุทธองค์ตรัสว่าไม่ต่างอะไรกับคนตาบอด หูหนวก การอบรมอินทรีย์ที่ถูกต้องได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ฯลฯ ให้มีสติรู้เท่าทัน

    หน้า 31

    http://www.khaosod.co.th/view_news....ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdPUzB5TXc9PQ==
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 24 กันยายน 2009

แชร์หน้านี้

Loading...