<TABLE cellSpacing=0 cellPadding=0 width="94%" align=center border=0><TBODY><TR><TD class=postbody vAlign=top>
"ทุกข์"
หลวงพ่อชา สุภัทโท
๘๑. ทุกข์
ในธรรมะย่อๆ ท่านว่า อะไรทุกข์มันก็เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป นอกเหนือนี้ไม่มีอีกแล้ว มีแต่ทุกข์มันเกิดแล้วมันก็ดับไป มีเท่านี้ เราจึงทุกข์ เราจึงวุ่นวายในวัฏสงสารนี้ ทำไมจึงวุ่นวาย เพราะเราไม่รู้จักอันนี้ตามเป็นจริงของมัน ไม่รู้จักทุกข์ จับเอาทุกข์มาเลี้ยงนึกว่ามันจะสุข ต่อมามันก็กัดเอาเข้าอีก เพราะมันเป็นทุกข์
คล้ายๆกับงูเห่ากับชาวนา มันนอนตัวแข็งอยู่ก็สงสารมัน ก็นึกว่าเรามีเมตตาพอสมควรจะช่วยสัตว์นี้ให้มันมีความสบายอย่างนี้คือไม่รู้จักมัน ไม่รู้จักว่าอันนั้นตัวงูนะมันจะกัดคน ไม่รู้จักก็เลยไปอุ้มเอางูขึ้นมามา แล้วมันถูกความอบอุ่นขึ้น มันก็กัดตัวของเราเสียอย่างนี้เป็นต้น
๘๒. สิ่งย้อมใจ
ความเป็นจริงนั้น ใจของเรามันเป็นปกติอยู่เปรียบเหมือนน้ำฝนเป็นน้ำที่สะอาด มีความใสสะอาดบริสุทธิ์เป็นปกติ ถ้าหากเราเอาสีเขียวใส่เข้าไปเอาสีเหลืองใส่เข้าไป น้ำก็จะกลายเป็นสีเขียว สีเหลืองไป จิตเรานี้ก็เหมือนกัน เมี่อไปถูกอารมณ์ที่ชอบใจใจก็สบาย เมื่อถูกอารมณ์ไม่ชอบใจแล้วใจก็ไม่ดี ไม่สบาย
๘๓. เป็นโรคประสาทเพราะขาดหลักใจ
อย่างขณะนี้เรานั่งอยู่ในป่า มีความสงบเหมือนกันกับใบไม้ ใบไม้นั้น ถ้าไม่มีลมพัดมันก็นิ่ง สงบระงับอยู่ ถ้ามีลมมาพัดใบมันก็กวัดแกว่งไปตามลม จิตใจนี้ก็เหมือนกัน ถ้าอารมณ์มาถูกมันก็กวัดแกว่งไปตามอารมณ์ ยิ่งมันไม่รู้เรื่องธรรมะแล้วก็ยิ่งปล่อยไปตามอารมณ์ของเจ้าของเรื่อยๆไป อารมณ์สุขก็ปล่อยตามไป อารมณ์ทุกข์ก็ปล่อยตามไป วุ่นวายไปเรื่อยๆ จนชาวมนุษย์ ทั้งหลายเกิดเป็นโรคประสาท เพราะไม่รู้เรื่อง
๘๔. ดูแลจิต
จิตของเรานี้เมื่อไม่มีใครตามรักษามันก็เหมือนคนคนหนึ่งที่ปราศจาก พ่อแม่ ที่จะดูแลเป็นคนอนาถา
ความอนาถานั้นเป็นคนที่ขาดที่พึ่งคนที่ขาดที่พึ่งก็เป็นทุกข์ จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าหากขาดการอบรมบ่มนิสัยทำความเห็นให้ถูกต้องแล้ว จิตนี้ก็ลำบากมาก
๘๕. ไม่ฉลาดรักษาใจ จึงกวัดแกว่งไปตามอารมณ์
เปรียบน้ำฝนมันเป็นน้ำที่สะอาด มันจะมีความใสที่สะอาดปกติ ถ้าหากเราเอาสีเขียว สีเหลือง ใส่เข้าไป น้ำมันก็เป็นสีเหลือง สีเขียว จิตใจเรานี้ก็เช่นกันฉันนั้น เมื่อมันถูกอารมณ์ที่ชอบใจ ใจมันก็สบาย ถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ใจมันก็ไม่สบาย เหมือกับใบไม้ที่มันถูกลม มันก็กวัดแกว่งเอาแน่นอนไม่ได้
ดอกไม้ ผลไม้ มันก็ถูกลมเหมือกัน ถูกลมมาพัดมันก็ตกไป เลยไม่มีสุก จิตใจมนุษย์เรานี้ก็เหมือนกัน ถูกอารมณ์มาพัดไป ถูกอารมณ์มาฉุดไปมาดึงไป ตกไป ก็เหมือนกันกับผลไม้
๘๖. รู้จักบุญ
การกระทำบุญ บุญนั่นคืออะไร บุญนั้นคือความที่ถูกต้องคือความสงบจากความชั่วทั้งหลายอย่างนี้ อย่างญาติโยมที่รวมกันมานี้ก็รวมกันทำบุญแต่ตัวบุญจริงๆ นั้น มันก็ต้องดูเอาเอง อันนี้มันก็เป็นวัตถุ มันก็เป็นวัตถุหลายอย่างเหมือนกันกับเราบริโภคอาหารนั่นแหละโยม มันเอร็ดอร่อยเพราะวัตถุนะ ถ้ามันอิ่มแล้ว มันอิ่มที่ตรงไหนก็ไม่รู้
ตัวอิ่มไม่มีตัวมีตรแต่รู้สึกทุกคนว่ามันอิ่ม บางคนก็ไม่เห็นตัวบุญคนไม่เห็นตัวบุญก็ไม่เห็นตัวอิ่ม อย่างเราทานข้าวทุกคน แกงก็หมด ข้าวก็หมด ขนมก็หมด หมดแล้ว บุญตรงไหน ได้อะไร ได้อิ่ม อิ่มไม่มีตัวมีตนมันโผล่ขึ้นมาในใจของเรานั่นแหละ นี้ได้เรียกว่ามันเกิดจากอะไรนี่นะ มันเกิดจากวัตถุ เกิดจากการกระทำนั้น บุญนี้ก็เหมือนกัน อาตมาเคยได้ยินว่า ทำบุญก็ไม่เห็นบุญไม่เห็นตัว อย่างนั้นก็ทานข้าวไม่รู้จักอิ่มละมัง ไม่รู้จักความอิ่มเหรอนั่น ความอิ่มน่ะนะมันเกิดผลมาจากการกิน การบริโภค การกระทำเช่นนี้เรียกว่า การกระทำบุญเป็นเรื่องสมมุติ จิตใจเราเบิกบาน จิตใจเราสบาย
๘๗. ธรรมะคือธรรมชาติ
อย่างหบนี้นะ มันทำเสร็จแล้วนะ จะเอาอะไรมาทำมันอีกละ ก็ตั้งโชว์มันไว้เท่านั้นแหละนะ ใครจะเอาขวานมาฟันมันอักไหม เอากบมาไสมันอีกไหม เอาอะไรมาทำมันอีกไหม ก็โชว์มันไว้เท่านี้เรียกว่าไม่ต้องมีอะไรมัน มันเป็นอยู่อย่างนี้แล้ว นี่สำเร็จมาจากการกระทำมา ไอ้หบใบนี้สมัยก่อนมันก็เป็นต้นไม้ เป็นต้นไม้ธรรมชาติ ธรรมดาเรานั่นแหละ ถ้ามีคนเป็นช่างก็เอาธรรมชาติอันนั้นน่ะ มาทำให้มันสะอาด มีลวดมีลายขึ้นก็เลยเป็นของสวยงาม
มนุษย์เรานี่ก็เหมือนกันฉันนั้น เหมือนต้นไม้ในป่านั่นแหละ เรามาสร้างบ้านอยู่ ต้นไม้ในป่ามันได้มาเป็นบ้านคน ก็เพราะความฉลาดของคนเอามาทำเรานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ตามองไปเห็นรูป หูฟังไปได้ยินเสียง อะไรทุกสิ่งทุกอย่างนั้นน่ะ มันทุกอย่างที่มันเป็นนะ ฉะนั้นท่านจึงว่าอันนั้นมันเป็นธรรมชาติ ธรรมชาตินั่นก็คือธรรมะ ธรรมะนั่นก็คือธรรมชาติ หบนี้ก็คือต้นไม้ ต้นไม้นี้ก็คือหบ ถ้าคนมีความฉลาดคิดแล้วก็เห็นหบอย่างงดงามอย่างนี้ จิตใจพวกเราท่านทั้งหลายก็เหมือนกันอย่างนั้น
ให้ตั้งใจไว้ในใจ มีสติอยู่สม่ำเสมอ ให้จิตสงบสติอารมณ์เหลือแต่ความรู้ปล่อยไว้เหมือน ตุจโฉโปฏฐิละ ท่านไปฟังธรรมสามเณร ท่านสอนย่อๆ ว่าจอมปลวกมันมีอยู่ ๖ รู เราจะไปเอาเหี้ย อยู่ในรูปลวกนั่นจะทำอย่างไร ท่านบอกว่าให้อุดเสีย ๕ รู ปล่อยไว้รูเดียวเพื่อจะจับเหี้ย ตา หู จมูก สิ้น กาย ใจ ปล่อยความรู้ไว้ที่ใจ คือให้ตั้งใจไว้นั่นเอง วันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น เพื่อจะจับความรู้สึกอะไรต่างๆ ที่เรารวมเข้ามา อินทรีย์สังวร สังวรสำรวมอินทรีย์ ๖ คือ หา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูปทั้งรูปร่างทั้งร่างนี้ ปล่อยให้รู้อยู่ที่ใจแห่งเดียว เรียกว่า จงตั้งใจไว้ในใจ
ที่มา :: พันทิพดอดคอม
</TD></TR><TR><TD>
</TD></TR><TR><TD class=postdetails vAlign=bottom height=40>
</TD></TR></TBODY></TABLE>