พระพุทธเจ้าทรงแบ่งแนวทางปฏิบัติใหญ่ๆ ไว้ ๔ สาย

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย tamsak, 12 เมษายน 2012.

  1. tamsak ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    7,857
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +161,172
    พระอาจารย์ กล่าวว่า แต่ละคนมีความชอบในการปฏิบัติไม่เหมือนกัน พระพุทธเจ้า แยกแยะเป็นแนวใหญ่ๆ ไว้ ๔ แนว สุกขวิปัสสโก เป็นแนวที่ยากที่สุด ต้องอาศัยศรัทธาเป็นอย่างมาก ความเพียรเป็นอย่างมาก ความอดทนเป็นอย่างมาก เหมือนกับเป็นสายที่ปิดตาเดิน ไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย พากเพียรปฏิบัติไปอย่างเดียว จนเข้าถึงธรรมส่วนใดส่วนหนึ่ง ถึงจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าตัวเองทำมาถูกและมั่นใจในคุณพระรัตนตรัย

    สายที่ ๒ เป็น เตวิชโช มีความรู้ ๓ ประการ ได้แก่ การระลึกชาติได้ เห็นความทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิด รู้ว่าคนและสัตว์ก่อนเกิดมาจากไหน แล้วตายแล้วไปไหน ก็จะเห็นว่าทำดีทำชั่วแล้วจะส่งผลอย่างไร รู้วิธีทำกิเลสให้สิ้นไป ตรงนี้สำคัญที่สุด ในเมื่อเห็นทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิด มั่นใจว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วแน่ ก็จะตั้งหน้าตั้งตาทำเพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์นั้น

    สายนี้จะมีทิพจักขุญาณ เห็นผี เห็นเทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์ได้ แต่ว่าต้องอาศัยบารมีพระเป็นหลัก ไม่อย่างนั้นการรู้เห็นจะไม่ชัดเจน"

    "สายที่ ๓ ฉฬภิญโญ หรือเรียกง่ายๆ ว่า อภิญญา สายนี้ค่อนข้างที่จะโลดโผนหน่อย มีทิพโสต ทิพจักษุ และอาสวักขยญาณ คือการทำกิเลสให้สิ้นไปเหมือนกัน สายนี้ต้องเล่นกสิณ โดยเฉพาะกสิณ ๑๐ เป็นหลัก ก็จะผาดแผลงสำแดงฤทธิ์ เดินน้ำ ดำดิน แต่น่าเสียดายที่มีส่วนหนึ่งมัวแต่เพลิดเพลินอยู่ เลยทำให้เสียประโยชน์ ไม่เข้าถึงธรรมที่แท้จริง

    พอไปสายสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าท่านแบ่งไว้ คือ ปฏิสัมภิทาญาณ หรือ ปฏิสัมภิทัปปัตโต นอกจากมีความสามารถครอบคลุม ๓ สายที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีความสามารถพิเศษอีก ๔ อย่าง คือ ธรรมปฏิสัมภิทา รู้เหตุทั้งหมด อะไรเกิดขึ้นอย่างไร อรรถปฏิสัมภิทา รู้ผลทั้งหมด สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดมาจากอะไร สืบสาวไปได้หมด

    นิรุกติปฏิสัมภิทา เข้าใจภาษาทั้งหมด ทั้งภาษาคน ภาษาสัตว์ ภาษาของโลกทิพย์ และ ปฏิภาณปฏิสัมภิทา มีปัญญาเฉียบคม ว่องไวเป็นพิเศษ อธิบายของยากให้ง่าย อธิบายของสั้นให้ยาว อธิบายของยาวให้สั้น ย่อได้ ขยายได้ มีปฏิภาณแจ่มใส ใครก็ต้อนไม่จน สายนี้อาศัยกสิณเป็นหลักแล้วก็บวกอรูปฌาน ๔

    ถ้าจะกล่าวต่อไป ก็แยกออกในลักษณะว่าใครชอบกรรมฐานหมวดไหน มีกสิณ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อสุภกรรมฐาน ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อรูปฌาน ๔ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความชอบเฉพาะตัว ว่ากันคร่าวๆ ก็ปาไป ๔๐ อย่างแล้ว

    แต่ความจริงแล้วที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสมาทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าหากว่าผู้ใดตั้งใจฟังพิจารณาในเนื้อความสามารถเข้าถึงธรรมได้ทั้งสิ้น แม้กระทั่งชาดกที่เราเห็นเป็นเหมือนนิทาน บุคคลที่มีปัญญาก็จะเห็นว่าแม้กระทั่งองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าก็ต้องทนทุกข์เวียนว่ายตายเกิดไปไม่รู้จบ ส่วนตัวเราจะพ้นไปได้อย่างไร ? ก็เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หมดความอยากที่จะเกิดมาอีก กำลังใจตัดขาดลงได้ก็กลายเป็นพระอริยเจ้าไป"




    .
     
  2. tamsak ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    7,857
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +161,172
    .

    "เท่าที่อ่านพระไตรปิฎกมา มี สามัญญผลสูตร ที่พระพุทธเจ้าท่านเทศน์แล้วไม่มีบุคคลได้มรรคผล เพราะว่าเทศน์โปรด พระเจ้าอชาตศัตรู ที่จิตใจวุ่นวาย เครียดที่ตัวเองทำปิตุฆาต คือฆ่าพ่อ แย่งชิงพระราชสมบัติ พระพุทธเจ้าได้สร้างความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาให้เกิดขึ้นแก่พระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าอชาตศัตรูก็เลยปวารณาอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนา จนกระทั่งเป็นผู้สนับสนุนการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๑

    ถ้าจะเอาเรื่องของมรรคผล สามัญญผลสูตรเป็นพระสูตรที่เทศน์แล้วไม่มีผู้ได้มรรคผล แต่ว่าทำให้เกิดความเลื่อมใส ปฏิญาณตนถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต

    ส่วนพระสูตรที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์แล้วได้มีผู้ได้มรรคผลมากที่สุด ก็น่าจะเป็น พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ เทศน์แล้วพรหมเทวดาบรรลุมรรคผล ๘๐ โกฏิ ถ้าเอาตัวเลขตามหลักบาลีคือ ๘๐๐ ล้าน เพราะ ๑๐ ล้านเท่ากับ ๑ โกฏิ

    สมัยก่อนเขาถือว่าพระอภิธรรมเป็นคำสอนที่เป็นมงคลอย่างยิ่ง ดังนั้น..จึงมีการสวดสาธยายพระอภิธรรมในงานขึ้นบ้านใหม่ ในงานแต่งงาน ในงานมงคลอื่นๆ แต่พอมาระยะหลังเอาพระอภิธรรมไปสวดในงานอวมงคล ก็คืองานศพ ทำให้เกิดพวกจิตอ่อน กลัวว่าถ้าเอามาสวดสาธยายในงานมงคลแล้วจะทำให้ไม่ดี จึงต้องมีการเปลี่ยนมาสวดสาธยาย ๗ ตำนาน หรือ ๑๒ ตำนานในงานมงคล แล้วก็ไปสวดสาธยายพระอภิธรรมในงานอวมงคลหรืองานศพแทน จากของดีแต่เพราะความเชื่อของคนทำให้กลายเป็นของไม่ดีไปได้"

    "แม้กระทั่งในเรื่องความเชื่อของพระที่บิณฑบาต ถ้าไปบิณฑบาต ๔ รูปเขาถือว่าไปสวดศพ บางบ้านไล่เลย หารู้ไม่ว่า ๔ รูปครบสังฆทานพอดี ทิ้งบุญใหญ่ไปอย่างน่าเสียดาย

    อย่างที่วัดท่าขนุนก็จะกำชับเหมือนกัน ถ้าหากว่าสายไหนไปบิณฑบาตน้อย ให้พยายามไป ๕ รูปไว้ เกิน ๔ เอาไว้ก่อน มากเท่าไรก็ได้ แต่ถ้าลง ๔ พอดีให้ตัดหางแถวไปสายอื่น ให้เหลือ ๓ ไว้ โยมเสียประโยชน์ก็ช่าง ดีกว่าพระอดข้าว..!

    เขาถือจริงๆ บางบ้านไล่เลย "นิมนต์ข้างหน้าเจ้าค่ะ" เรียบร้อยเลย.. ถ้าเจอบ้านที่ไม่ถือก็แล้วไป"


    สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
    เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๕



    ที่มา : www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=3194&page=6




    .
     

แชร์หน้านี้