พุทธะ 3 จำพวก

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย evatranse, 25 เมษายน 2013.

  1. evatranse เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 กันยายน 2006
    โพสต์:
    182
    ค่าพลัง:
    +571
    บุคคลผู้ตรัสรู้จะเรียกว่า “พุทธะ” แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทยังจำแนกลงไปได้อีกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

    1. พระสัมมาสัมพุทธะ

    2. พระปัจเจกพุทธะ

    3. พระอนุพุทธะหรือพระสาวกพุทธะ

    ถึงแม้ผู้ตรัสรู้ (พุทธะ) ทั้ง 3 ประเภทจะรู้แจ้งในอริยสัจ 4 เหมือนกัน ส่งผลนำไปสู่การดับทุกข์และเข้าสู่นิพพานเช่นเดียวกัน แต่ด้วยการบำเพ็ญสั่งสมบารมีธรรมมาในอดีตที่แตกต่างกัน ในรายละเอียดของคุณสมบัติปลีกย่อยอื่นๆ จึงมีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างกันตามไปด้วย กล่าวคือ พระสัมมาสัมพุทธะ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “พระพุทธเจ้า” นั้นจะทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง และสามารถสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามได้ด้วย ถือเป็นภาวะแห่งการตรัสรู้ที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา ในโพธิราชกุมารสูตร (ม.ม.13/505) มีบันทึกเล่าถึงเรื่องราวการตรัสรู้ของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า (ดูอธิบายศัพท์) ไว้ว่าเมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 35 พรรษา ภายหลังการบำเพ็ญเพียรมาด้วยวิธีการต่างๆ เป็นเวลาถึง 6 ปี ในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 พระองค์ประทับนั่งใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทรงตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ว่าจะบรรลุโพธิญาณให้จงได้ แล้วจึงทำสมาธิจนบรรลุรูปฌานทั้ง 4 ขั้น (ดูอธิบายศัพท์) เมื่อจิตตั้งมั่นดีแล้วด้วยอำนาจแห่งสมาธินั้น พระองค์จึงน้อมจิตไปสู่การใช้สติปัญญาพิจารณา (วิปัสสนาญาณ) จนเกิดความรู้แจ้งไปเป็นลำดับขั้น กล่าวคือ ในช่วงเวลาปฐมยาม ทรงได้ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ความรู้เป็นเหตุให้ระลึกชาติได้ เวลามัชฌิมยาม ทรงได้จุตูปปาตญาณ (ทิพยจักษุญาณ) คือรู้เรื่องเกิด-ตายของสัตว์ทั้งหลายว่า เป็นไปตามกรรมที่ตนกระทำไว้ และเวลาปัจฉิมยาม ทรงได้อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะหรือกิเลส นำไปสู่การตรัสรู้ “อริยสัจ 4”

    ดังที่กล่าวแล้วว่าในบรรดาพุทธะทั้ง 3 จำพวกนี้ ถึงแม้จะเป็นการตรัสรู้เช่นเดียวกันก็ตาม พระสัมมาสัมพุทธะถือว่าเป็นภาวะแห่งการตรัสรู้ที่สูงที่สุด มีปัญญามากที่สุด มีขอบเขตของความรู้หรือ “ความจริง” ที่บรรลุกว้างขวางที่สุด จนนำไปสู่ความสำเร็จในการประกาศพระศาสนาให้บุคคลอื่นรู้ตามได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ก็เพราะอาศัยความรู้อันเป็นคุณสมบัติพิเศษที่ไม่มีในพุทธะอื่นๆ ความรู้อันเป็นคุณสมบัติพิเศษที่ว่านี้มีด้วยกัน 6 ประการ ได้แก่

    อินทริยโรปริยัตตญาณ คือ ญาณหยั่งรู้อินทรีย์อันยิ่งหย่อนของสัตว์ หมายถึง การหยั่งรู้ภาวะทางจิตใจของสัตว์ทั้งหลายว่ามีลักษณะที่แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องแนวความคิด ความรู้ ความสามารถ ความมีกิเลสมาก กิเลสน้อย ความเป็นคนสอนง่าย สอนยาก ฯลฯ

    อาสยานุสยญาณ คือ ญาณหยั่งรู้ภาวะที่แฝงอยู่ในกมลสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมีทั้งภาวะที่ดีงาม (อาสยะ) และภาวะที่ชั่ว (อนุสัย) มีกามราคะ เป็นต้น

    ยมกปาฏิหาริยญาณ คือ ญาณอันทำให้สามารถแสดงปาฏิหาริย์ได้ คือปาฏิหาริย์เนื่องด้วยธาตุน้ำและธาตุไฟ แสดงออกพร้อมกัน

    มหากรุณาสมาบัตติญาณ คือ ญาณในการเข้าสมาบัติ มีมหากรุณาเป็นอารมณ์ ไปสำรวจภาวะทางจิตของผู้ที่พร้อมจะตรัสรู้ตาม ทำให้หมู่สัตว์ได้รับประโยชน์จากการตรัสรู้ของพระองค์

    สัพพัญญุตญาณ คือ ญาณหยั่งรู้สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นอดีตปัจจุบันและอนาคต

    อนาวรญาณ คือ ญาณอันไม่มีความข้องขัดไม่มีเครื่องกั้น (ขุ.ปฏิ.31/269-290)

    ในบรรดาความรู้เฉพาะของพระสัมมาสัมพุทธะทั้ง 6 ประการนี้ สัพพัญญุตญาณ น่าจะถือได้ว่าเป็นข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายถกเถียงกันมากที่สุด ไม่ว่าจะในประเด็นเรื่องของความหมาย หรือขอบเขตของความรู้แบบนี้ ตัวอย่างเช่น ข้อถกเถียงของพระยามิลินท์และพระนาคเสนในมิลินทปัญหา (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือมิลินทปัญหา ตอนที่ 18 ปัญหาที่ 8 ถามเรื่องสำเร็จสัพพัญญุตญาณ)

    ในกรณีของพระปัจเจกพุทธะก็จะบรรลุการตรัสรู้ได้ด้วยตัวท่านเองเช่นเดียวกันกับพระสัมมาสัมพุทธะ แต่จะต่างออกไปก็ตรงที่เป็นการรู้เฉพาะตน ไม่สามารถสั่งสอนแนะนำให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ถือเป็นภาวะแห่งการตรัสรู้ที่มีลำดับรองลงมาจากสัมมาสัมพุทธะ แต่ก็ยังสูงกว่าพระอนุพุทธะ ในพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาทมีพุทธพจน์ตรัสยืนยันการมีอยู่จริงของพระปักเจกพุทธะด้วยกันหลายแห่ง เช่น ในปักเจกพุทธปาทาน (ขุ.อป.32/2) ได้มีบันทึกเล่าไว้ว่า ในขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่พระเชตวันวิหาร พระอานนท์เถระเกิดความสงสัยอย่างแรงกล้าในเรื่องพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงได้เข้าไปทูลถามพระพุทธองค์ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ ถ้ามีจริงท่านทั้งหลายจะเป็นเช่นไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และเพราะใดจึงได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสตอบพระอานนท์พอสรุปความได้ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเป็นผู้สร้างบุญญาธิการไว้ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย แต่ยังไม่ได้ตรัสรู้ในศาสนาอันเป็นสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น แต่ท่านก็เป็นผู้มีปัญญาแก่กล้าพร้อมที่จะตรัสรู้ได้เองโดยไม่ต้องรับฟังคำสั่งสอนจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนอกจากนั้น ท่านจะยังไม่บังเกิดขึ้นมาในโลกพร้อมกับการอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย แต่เมื่อตรัสรู้แล้วนั้น ด้วยความจำกัดของการบำเพ็ญบารมีบางประการ ท่านจะดำรงชีวิตอยู่ในลักษณะของบุคคลผู้เดียวเที่ยวไป (เอโก จเร) ไม่สามารถสั่งสอนให้ผู้หนึ่งผู้ใดตรัสรู้ตามได้

    ส่วนพระอนุพุทธะหรือพระสาวกพุทธะนั้นก็คือผู้ที่สามารถตรัสรู้ได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือก็คือพระอริยสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง ตัวอย่างเช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอานนท์ หรือที่เป็นเพศหญิง เช่น พระมหาปชาบดีเถรี พระอุบลวรรณาเถรี เป็นต้น ท่านผู้เป็นพระอนุพุทธะหรือพระสาวกพุทธะทั้งหลายเหล่านี้เมื่อตรัสรู้ได้ตามพระสัมมาสัมพุทธะแล้วนั้น ยังสามารถสั่งสอนให้ผู้อื่นรู้ตามได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับพระสัมมาสัมพุทธะ ความสามารถในการสั่งสอนผู้อื่นนี้ก็ยังนับว่าห่างกันไกลอยู่มากเลยทีเดียว พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้มีระบุลำดับการบรรลุธรรมหรือการรู้แจ้งของพระอนุพุทธะไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามความสามารถในการละกิเลสที่เรียกว่าสังโยชน์ (ส.ม.19/349 , อัง.ทสก.24/13 , อภิ.วิ.35/976-977) ซึ่งผูกมัดใจสัตว์ไว้กับความทุกข์ มี 10 ประการ ได้แก่ 1. สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าขันธ์ห้าที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวของเราหรือของคนอื่น ไม่ได้เห็นตามความเป็นจริงปรมัตถ์ว่า นั่นเป็นแต่เพียงการเรียกกันตามที่สมมติกันขึ้นมาเท่านั้น 2. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในหลักพระธรรมคำสอน และพระสงฆ์สาวกของพระองค์ ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจในการฏิบัติธรรมเพื่อให้พ้นจากทุกข์ 3. สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดถือแต่เพียงพิธีกรรมของศาสนาอันเป็นแต่เพียงเปลือกนอกโดยไม่เข้าใจในเนื้อแท้ของสิ่งที่ตนนับถือและปฏิบัติอยู่ 4. กามราคะ คือ ความยินดีในกามคุณห้า ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย ที่น่ารักน่าพอใจ 5. ปฏิฆะ คือ ความคับแค้นขุ่นเคืองใจ เมื่อความยินดีความปรารถนานั้นไม่ได้ดังใจ 6. รูปราคะ คือ ความติดใจยินดีในความสุขของรูปฌาณอันเป็นรูปธรรมที่ปราณีตละเอียดอ่อนมากกว่ากาม 7. อรูปราคะ คือความติดใจยินดีในความสุขของอรูปฌาณซึ่งละเอียดอ่อนมากกว่ารูปฌาณ 8. มานะ คือ ความถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่โดยการเปรียบเทียบกับคนอื่น 9. อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญใจ 10. อวิชชา คือ ความไม่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต หรือก็คือการไม่รู้ในอริยสัจ 4 นั่นเอง

    ความสามารถในการละสังโยชน์จะเรียงจากต่ำไปหาสูง ดังนั้น ตามทัศนะของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทการตรัสรู้ การรู้แจ้ง หรือการบรรลุธรรมจึงมีลำดับขั้นที่เป็นระบบกฎเกณฑ์แน่นอนชัดเจน ดังนี้

    พระโสดาบัน เป็นผู้ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสได้

    พระสกิทาคามี เป็นผู้ละสังโยชน์ 3 อย่างได้เช่นเดียวกับที่พระโสดาบันละได้ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถทำราคะ โทสะ และโมหะให้เบาบางลงไปได้อีก

    พระอานาคามี เป็นผู้ละสังโยชน์เพิ่มขึ้นได้อีก 2 อย่าง (จากที่พระโสดาบันและพระสกิทาคามีละได้) ได้แก่ กามราคะและปฏิฆะ รวมเป็น 5 อย่าง

    พระอรหันต์ เป็นผู้ละสังโยชน์ทั้ง 10 อย่างได้โดยสมบูรณ์ (อภิ.วิ.35/837)

    ขอให้สังเกตว่าพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบันและพระสกิทาคามีนี้ยังคงละกามราคะไม่ได้ ดังนั้น พระอริยบุคคลทั้งสองประเภทนี้จึงยังคงมีครอบครัวและเกี่ยวข้องกับกามอยู่ แต่เป็นการเกี่ยวข้องภายใต้กรอบของศีลธรรม จะไม่มีการประพฤติผิดศีลเป็นอันขาด ตัวอย่างเช่น นางวิสาขามหาอุบาสิกา ผู้บรรลุโสดาบันตั้งแต่อายุได้ 7 ขวบ มีลูกชาย หญิง ถึง 20 คน เป็นต้น ส่วนพระอานาคามีและพระอรหันต์ ด้วยเหตุที่สามารถละกามราคะได้แล้ว จึงไม่มีการยุ่งเกี่ยวกับกามอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม พระอนาคามีก็ยังคงสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในเพศฆราวาสหรือมีครอบครัวได้อยู่ (ในกรณีที่ท่านแต่งงานก่อนที่จะบรรลุพระอานาคามี) เป็นแต่เพียงจะไม่มีการยุ่งเกี่ยวทางเพศกับคู่สมรสต่อไปอีกแล้วเท่านั้น

    การแบ่ง “พุทธะ” ออกเป็น 3 ประเภทดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นการแบ่งโดยใช้ระดับของผู้บรรลุตามระดับความจริง หรือความรู้ที่บรรลุถึงเป็นเกณฑ์ นอกจากการแบ่งแบบนี้แล้ว ในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาก็ยังมีวิธีการแบ่งแบบอื่น ๆ ไว้อีก เช่น การแบ่งโดยใช้รายละเอียดของวิธีปฏิบัติที่เน้นแตกต่างกัน เป็น “ปัญญาวิมุติ” และ “เจโตวิมุติ” (อัง.ทุก.20/276) ประเภทแรกคือผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาหรือด้วยการเจริญวิปัสสนาโดยมิได้อรูปสมาบัติมาก่อน ส่วนประเภทหลังคือผู้หลุดพ้นด้วยอำนาจการฝึกจิตหรือด้วยกำลังสมาธิ

    กล่าวโดยสรุป ในทัศนะของพุทธศาสนาเถรวาท การตรัสรู้มีหลายลักษณะ ในแง่ของปัญญา ความรู้ที่เพียงพอหรือจำเป็นต่อการดับทุกข์การตรัสรู้ทุกลักษณะมีเท่ากัน ส่วนปัญญา ความรู้ที่อยู่นอกเหนือความจำเป็นในการดับทุกข์ในลักษณะต่างๆ อาจมีไม่เท่ากัน เช่น ความรู้ที่นำไปสู่ความสามารถในการสั่งสอนให้ผู้อื่นได้รู้ตาม เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบำเพ็ญบารมีสั่งสมมาในอดีตที่แตกต่างกัน



    3. โพธิปักขิยธรรม: ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ 37 ประการ

    โพธิปักขิยธรรม (ขุ.อิติ.25/277 , ส.ม.19/1023 และ 1070-1081 , อภิ.วิ.35/611) คือ ธรรมที่เกื้อกูลแก่การตรัสรู้ มีทั้งหมด 37 ประการ ความหมายของ “โพธิปักขิยธรรม 37” นี้เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว น่าจะหมายถึงแนวปฏิบัติเพื่อเข้าสู่การบรรลุความจริงสูงสุด (การตรัสรู้) ซึ่งเมื่อดูแล้วคล้ายกับว่ามีหลายวิธีที่จะนำไปสู่การตรัสรู้ ธรรมทั้ง 37 ประการนี้สามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 7 หมวดธรรม ในฐานะเป็นข้อธรรมที่เกี่ยวข้องกับการตรัสรู้โดยตรงและเพื่อเป็นประโยชน์ในการสืบค้นต่อไป จึงจะขอนำมากล่าวไว้ในที่นี้พอให้เห็นความหมายและลักษณะแต่เพียงสังเขป ดังนี้

    1. สติปัฏฐาน 4 คือการตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้เห็นตามความเป็นจริงที่สิ่งนั้นๆ เป็น มี 4 ประการ ได้แก่ 1) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า มันเป็นแต่เพียงกาย หาใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาแต่อย่างใดไม่ 2) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการตั้งสติกำหนดเวทนา (ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ) ให้เห็นตรงตามความเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา และรู้ชัดว่าเวทนาที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร กล่าวคือ เป็นสุข เป็นทุกข์หรือเฉยๆ 3) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการตั้งสติพิจารณาจิตให้เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา และรู้ชัดว่าจิตของตนเป็นไปอย่างไรในขณะนั้นๆ กล่าวคือ มีหรือไม่มี ราคะ โทสะ โมหะ เศร้าหมองหรือผ่องใส เป็นต้น 4) ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรมให้เห็นตรงตามที่มันป็นจริงว่า มันเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา และรู้ชัดตรงตามเป็นจริงว่าธรรมเหล่านั้นคืออะไร เป็นอย่างไร เกิดขึ้น เจริญขึ้นหรือดับอย่างไรในตน เป็นต้น (ที.ม.10/273-300 , ม.มู.12/131-152)

    2. สัมมัปปธาน 4 คือธรรมหมายถึงความเพียร ประกอบด้วย 1) สังวรปทาน เป็นการเพียรระวังยับยั้งบาปหรืออกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้นมิให้เกิดขึ้น 2) ปหานปธาน เป็นการเพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้ลดลงหรือหมดไป 3) ภาวนาปธาน เป็นการเพียรกระทำบุญอันเป็นกุศลที่ยังไม่มีให้เกิดมีขึ้น 4) อนุรักขสัมปทาน เป็นการเพียรรักษาบุญอันเป็นกุศลที่มีอยู่แล้วให้ตั้งมั่นและเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป (อัง.จตุกก.21/13 , 14 และ 69)

    3. อิทธิบาท 4 คือ คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ (ในที่นี้หมายถึงการตรัสรู้) ได้แก่ 1) ฉันทะ คือ ความพอใจ ต้องการที่จะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ 2) วิริยะ คือ ความพยามยาม ขยัน หมั่นเพียรที่จะทำสิ่งนั้น 3) จิตตะ คือ การเอาใจใส่ อุทิศตัวอุทิศใจให้แก่สิ่งที่ทำนั้น 4) วิมังสา คือ การใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองในสิ่งที่ทำนั้น (ที.ปา.11/231 , อภิ.วิ.35/505)

    4. อินทรีย์ 5 คือ ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจของตน หมายความว่าเป็นใหญ่ในการกระทำหน้าที่แต่ละอย่างของตน

    5. พละ 5 คือ ธรรมอันเป็นกำลัง หมายความว่าเป็นกำลังหรือพลังทำให้เกิดความมั่นคง

    อินทรีย์ 5 และ พละ 5 จริงๆ แล้วเมื่อจำแนกลงไปก็คือธรรมอย่างเดียวกัน เพียงแต่เรียกชื่อแต่งกันออกไปเท่านั้น ได้แก่ 1) ศรัทธา คือ ความเชื่อมั่น 2) วิริยะ คือ ความเพียรพยายาม 3) สติ คือ ความระลึกได้ 4) สมาธิ คือ ความตั้งจิตมั่น 5) ปัญญา คือ ความรู้ทั่วชัด (ที.ปา.11/300 , อัง.ปัญจก.22/13 , อภิ.วิ.35/844)

    6. โพชฌงค์ 7 คือ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ ได้แก่ 1) สติสัมโพชฌงค์ คือ ความระลึกได้ 2) ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ คือ ความเฟ้นธรรม ความสอดส่องสืบค้นธรรม 3) วิริยะสัมโพชฌงค์ คือ ความเพียรพยายาม 4) ปิติสัมโพชฌงค์ คือ ความอิ่มใจ 5) ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือ ความสงบกาย สงบใจ 6) สมาธิสัมโพชฌงค์ คือ ความมีใจตั้งมั่น 7) อุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือ ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามจริง (ที.ปา.11/327,434 , อภิ.วิ.35/542)

    7. มรรค 8 เรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “อริยอัฏฐังคิกมรรค” คือ ธรรมอันเป็นทางมีองค์ 8 ประการอันประเสริฐ เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นทางสายกลาง(มัชฌิมาปฏิปทา)นำไปสู่การตรัสรู้ ไม่ติดข้องใน กามสุขัลลิกานุโยค และอัตติกิลมถานุโยค ประกอบด้วย 1) สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ 2) สัมมาสังกัปปะ คือความดำริชอบ 3) สัมมาวาจา คือการเจรจาชอบ 4) สัมมากัมมันตะ คือการกระทำชอบ 5) สัมมาอาชีวะ คือการเลี้ยงชีพชอบ 6) สัมมาวายามะ คือความพยายามชอบ 7) สัมมาสติ คือการระลึกชอบ 8) สัมมาสมาธิ คือการตั้งมั่นชอบ (ที.ม.10/299 , ม.มู.12/149 , ม.อุ.14/704 , อภิ.วิ.35/569)


    4. การบรรลุธรรม (ตรัสรู้) ในพระพุทธศาสนามหายาน นิกายเซ็น

    จากหัวข้อที่ 2 และ 3 ที่ผ่ามมา เราจะเห็นได้ว่าในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท การตรัสรู้หรือการบรรลุธรรมหรือการรู้แจ้งนั้น เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างเป็นระบบชัดเจน สามารถจำแนกเป็นขั้นตอนจากต่ำไปหาสูงตามความมากน้อยของกิเลสที่แต่ละขั้นตอนละได้ การบรรลุธรรมจึงเป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้นมาลอยๆ ด้วยความบังเอิญ หากแต่ต้องเกิดมาจากการฝึกฝนตนเองอย่างหนักด้วยกระบวนการบางอย่าง ความเข้าใจเช่นนี้สำคัญมากในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจะพบว่า พระพุทธศาสนาฝ่ายหลังนี้กลับมิได้ให้ความสำคัญหรือพูดถึงการบรรลุธรรมอย่างเป็นขั้นเป็นตอนนี้ไว้มากนัก ถึงแม้ในบางพระสูตรเช่น วัชรเฉทิกาสูตร สุขาวดีวยูหสูตรและอมิตายุรธยานสูตร เป็นต้น จะมีการกล่าวถึงพระอริยบุคคลสี่จำพวกอยู่บ้างก็ตาม แต่การกล่าวถึงนั้นก็มิได้มุ่งเพื่อชักชวนให้เกิดการปฏิบัติตาม (สมภาร พรมทา, 2540: 211) ในเบื้องต้นนี้มโนทัศน์เรื่องการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจึงดูเหมือนจะมีแบบฉบับเป็นของตนเองแตกต่างออกไปจากฝ่ายเถรวาทจนอาจเกิดปัญหาได้ว่า หากมองด้วยมุมมองของเถรวาทแล้ว แท้จริงนั้นการตรัสรู้ธรรมของฝ่ายมหายานจะยังคงเป็นคำสอนที่อยู่ในกรอบของพระพุทธศาสนาหรือไม่อย่างไร

    การตรัสรู้ธรรมตามแบบฉบับของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายเซ็นมีศัพท์เฉพาะภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ซาโตริ” (satori) ดี. ที. ซูสุกิ (D. T. Suzuki) นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนานิกายเซ็นคนสำคัญของญี่ปุ่นได้กล่าวถึงลักษณะของซาโตริพอสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

    1. วิถีชีวิตของคนเราตามปกตินั้นจะเวียนว่ายไปตามจิตสำนึกแบบหนึ่ง ซูสุกิ เรียกจิตสำนึกแบบที่ว่านี้ว่าจิตสำนึกแบบแบ่งแยกโลกออกเป็นสองส่วน (dualistic view) คนที่มองโลกด้วยทัศนะแบบนี้ย่อมเห็นว่าสรรพสิ่งในโลกนี้ คู่ที่ตรงกันข้ามกัน เช่น มีความดี ความเลว มีความน่ารัก น่าเกลียด เป็นต้น

    2. สรรพสิ่งที่เรามองผ่านจิตสำนึกแบบแบ่งแยกออกเป็นสองนั้นจะมีอยู่สองส่วนด้วยกันคือ ส่วนหนึ่งเราพอใจ อยากได้ อยากให้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นของเรา และเมื่อได้ครอบครองแล้วก็ไม่อยากให้สิ่งเหล่านั้นจากไป และอีกส่วนหนึ่งเราเกลียดขยะแขยง กลัว ไม่ต้องการเข้าใกล้ ไม่ต้องการให้เกิดกับตน และหากว่าเกิดแล้วก็อยากให้สิ่งเหล่านี้หนีไปให้พ้นตัวเรา สิ่งแรกนั้นเราอาจเรียกตามศัพท์พุทธศาสนาว่าโลกธรรม ส่วนที่เป็นอิฎฐารมณ์ สิ่งหลังคือโลกธรรมส่วนที่เป็นอนิฏฐารมณ์

    3. ชีวิตถูกฉุดดึงไปตามอำนาจของโลกธรรม สองส่วนนี้ย่อมเป็นชีวิตที่เร่าร้อน ปราศจากความสงบ แม้ว่าบางครั้งเราอาจปลื้มใจ ปีติ เป็นสุข เพราะได้ครอบครองโลกธรรมฝ่ายที่น่าปรารถนา เช่น ลาภ ยศ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน เป็นต้น แต่เนื่องจากว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอนิจจัง เมื่อมาได้ก็สูญสลายไปได้ วันหนึ่งเมื่อสิ่งเหล่านี้สูญสลายไป เราจะเศร้าโศกเสียใจและเป็นทุกข์ ชีวิตที่ยังสลัดความยึดติดในโลกธรรมไม่ได้จึงจะยังเวียนว่ายและขึ้น ๆ ลง ๆ ไปตามคลื่นสองคลื่น คลื่นแรกคือ คลื่นความเอิบอิ่ม ปีติ สุขใจ ฟูใจ คลื่นที่สองคือคลื่นความเศร้าโศก หดหู่ จิตใจฟุบแฟบ สองคลื่นนี้จะซัดพาชีวิตของเราสลับสับเปลี่ยนกันไป วนแล้ววันเล่า ตราบเท่าที่เรายังไม่สามารถสลัดความยึดมั่นในโลกธรรมได้

    4. หากว่าเราเห็นว่าวิถีชีวิต แบบที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่เร่าร้อน น่าเบื่อหน่าย ควรหลีกเร้น เซ็นก็สอนให้เราแก้ที่ต้นตอของมัน ต้นตอที่ว่านี้ก็คือทัศนะที่มองสรรพสิ่งอย่างแยกเป็นสอง โลกธรรมนั้นเป็นสิ่งที่คนเราไม่สามารถหลีกเว้นได้ มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาต้องประสบทั้งสิ่งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีใครสามารถบังคับให้ชีวิตประสบแต่สิ่งที่น่าพอใจได้ ชีวิตเราทุกคนต้องพบทั้งสิ่งที่นำความยินดีมาให้และนำความเดือดร้อนใจมาให้คละเคล้ากันไป แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เซ็นสอนว่า เพียงแต่เราเลิกมองสิ่งต่าง ๆ ด้วยทัศนะเดิมเสียเท่านั้น โลกธรรมก็ไม่อาจก่อทุกข์ให้เกิดแก่เราได้ คนที่ไม่มองโลกด้วยทัศนะแบบแบ่งแยกสรรพสิ่งเป็นสองจะไม่เป็นทุกข์เพราะโลกธรรม

    5. ซูสุกิกล่าวว่า เมื่อเกิดซาโตริ สิ่งที่จะเป็นผลตามมาก็คือการเปลี่ยนทัศนะที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ซาโตริคือจุดเปลี่ยนจากการมองสิ่งต่าง ๆ แบบแบ่งเป็นคู่ตรงกันข้ามมาเป็นการมองแบบไม่แบ่งแยกเช่นนั้น ดังนั้นหากมองตามทัศนะของท่านผู้นี้ เมื่อนายเขียวยังไม่บรรลุซาโตริ นายเขียวก็เหมือนคนทั่วไปที่มีชีวิตล่องลอยไปตามกระแสโลกธรรม บางครั้งเขาจะปลื้มปีติ บางครั้งเขาจะเศร้าเสียใจ เป็นเช่นนี้คละเคล้ากันไปไม่รู้จบสิ้น ต่อเมื่อบรรลุซาโตริแล้ว จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในชีวิตของเขา นายเขียวยังมีชีวิตเกี่ยวข้องกับลาภยศชื่อเสียงความเสื่อมลาภ เสื่อมเกียรติ และความล้มเหลวอันอาจจะเกิดในชีวิตเหมือนคนทั้งหลาย แต่เขาจะไม่ปลื้มใจ ฟูใจจนหลงเมื่อได้ลาภ ยศ และเกียรติอย่างคนอื่น และเมื่อประสบความล้มเหลว เสื่อมเกียรติ ยศ และทรัพย์สิน เขาก็ไม่กังวลกลัดกลุ้มอย่างคนทั่วไป นี่คือความเปลี่ยนแปลงในชีวิตอันเป็นผลมาจากซาโตริ (อ้างถึงใน สมภาร พรมทา, 2540: 221-222)

    สมภาร พรมทา ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า สิ่งที่เรียกว่าซาโตริตามทัศนะของซูสุกิในข้างต้นนี้ แท้จริงแล้วดูจะไม่ต่างจากการบรรลุธรรมในพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมเท่าไหร่นัก จริงอยู่ที่ในการบรรลุซาโตริ ท่านไม่พูดเอาไว้ชัดเจนว่ากิเลสภายในใจของคนผู้นั้นได้ถูกทำลายลงไป แต่พฤติกรรมของบุคคลผู้เข้าถึงซาโตริกับพระอริยบุคคลในพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมดูจะไม่ต่างกันเลย ชีวิตของท่านเหล่านี้เป็นชีวิตที่สงบเยือกเย็น แม้จะอยู่ท่ามกลางโลกที่เร่าร้อนก็ตาม (สมภาร พรมทา, 2540: 223)

    ต่อประเด็นปัญหานี้ท่านพุทธทาสภิกขุเองก็ได้ให้ความคิดเห็นไว้ค้อนข้างสอดคล้องกับ สมภาร พรมทาเช่นเดียวกัน โดยท่านได้กล่าวว่า การตรัสรู้มีเพียงอย่างเดียว ผู้บรรลุความหลุดพ้นตามแบบเซ็นนี้เมื่อเทียบกับของเถรวาทแล้วต้องจัดให้เป็นพวก “ปัญญาวิมุติ” ไม่ใช่ “เจโตวิมุติ” อย่างแน่นอน เหตุเพราะว่าวิธีการปฏิบัติของเซ็นนั้นเป็นแบบวิปัสสนากัมมฐานล้วนๆ ส่วน สมถกัมมฐานซึ่งเป็นบุพพภาคของวิปัสสนากัมมฐาน (ซึ่งนิกายนี้เรียกว่าการทำ “ซาเซ็น”) นั้นมีเพียงเพื่อเป็นเครื่องช่วยเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ต้องการถึงสมาบัติ (พุทธทาสภิกขุ, ม.ป.ป.: 43-60)


    5. ตัวอย่างการบรรลุธรรม (ตรัสรู้) ที่น่าสนใจ

    5.1 ตัวอย่างการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท

    ในพระไตรปิฎกมีบันทึกเหตุการณ์การบรรลุธรรมหรือ การตรัสรู้ หรือการรู้แจ้งของบุคคลต่างๆ ไว้ด้วยกันมากมาย ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเป็นขั้นเป็นตอนให้มองเห็นได้ชัดเจนว่าการบรรลุธรรมในกรณีนั้นๆ เป็นผลจากการฝึกฝนตนเองด้วยความตั้งอกตั้งใจอย่างยากลำบากของผู้ปฏิบัติ แต่อย่างไรก็ตามในบรรดาเหตุการณ์เหล่านั้นมีอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งดูคล้ายกับว่าจะเป็นการบรรลุธรรมที่เกิดขึ้นอย่างบังเอิญและง่ายดาย การบรรลุธรรมในกรณีเช่นนี้จึงมีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจ และมักจะมีการอ้างอิงถึงอยู่เสมอ ดังนั้นจึงจะขอนำมากล่าวไว้ในที่นี้เพื่อให้เป็นตัวอย่างและเพื่อประโยชน์ในการสืบค้นต่อไป

    กรณีที่ 1 การบรรลุธรรมของพระอานนท์ มีเรื่องเล่าอยู่ว่าภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ไม่นาน พระมหากัสสปะซึ่งเป็นพระเถระที่มีอาวุโสมากในขณะนั้นได้ปรารภกับเหล่าพระภิกษุถึงเรื่องการทำสังคายนา โดยท่านได้ยกการกระทำของพระสุภัททวุฑฒบรรพชิต (พระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่) ที่ได้กล่าวจ้วงจาบพระพุทธเจ้าและพระธรรมวินัยของพระองค์ ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปได้เพียง 7 วันเท่านั้น มาเป็นเหตุสมควรให้มีการทำสังคายนา ด้วยเหตุนี้ปฐมสังคายนาในพุทธศาสนาจึงได้มีกำหนดจะจัดขึ้น ณ กรุงราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ ในการนี้จะมีพระภิกษุร่วมทำสังคายนาทั้งสิ้น 500 รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธานและองค์ปุจฉา พระอุบาลีเป็นองค์วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เป็นองค์วิสัชนาพระธรรม พระภิกษุที่จะเข้าร่วมทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น ยกเว้นพระอานนท์คนเดียวเท่านั้นที่ยังคงเป็นแต่เพียงพระโสดาบันอยู่ พระอานนท์เกิดความละอาย จนต้องเร่งรีบปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุพระอรหันต์ทันวันทำสังคายนา แต่ไม่ว่าพระอานนท์จะคร่ำเคร่งอยู่กับการบำเพ็ญเพียรสักปานใดก็ไม่มีทีท่าว่าจะบรรลุตามที่ได้ตั้งใจไว้ จนกระทั้งถึงวันสุดท้ายก่อนสังคายนา พระอานนท์เห็นว่าตนเองคร่ำเคร่งปฏิบัติธรรมมาแล้วหลายวันจนทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย ท่านจึงคิดจะพักผ่อน ขณะที่ท่านกำลังเอนตัวลงนอน หัวยังไม่ทันถึงหมอน ท่านก็ได้บรรลุธรรมในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนนั่นเอง (วินย.7/617)

    กรณีที่ 2 การบรรลุธรรมของท่านพาหิยะ มีเรื่องเล่าว่าท่านเป็นนักบวชนอกศาสนาผู้นุ่งเปลือกไม้ ท่านได้ดำเนินชีวิตทำนองนี้เรื่อยมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งวันหนึ่งท่านได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธเจ้า ท่านจึงได้เดินทางเพื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นระยะทางถึง 120 โยชน์(192 ก.ม) ทั้งวันทั้งคืนด้วยความเร่งรีบ จนในที่สุดท่านก็ได้มาพบกับพระพุทธเจ้า ตอนนั้นเป็นเวลาเช้าขณะที่พระองค์กำลังเสด็จบิณฑบาตอยู่ ท่านพาหิยะได้ขอร้องให้พระองค์แสดงธรรมให้ฟัง พระองค์ตรัสว่าเวลานั้นไม่เหมาะ แต่ท่านพาหิยะได้ทูลอ้อนวอนอยู่ถึง 3 ครั้ง พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงธรรมอย่างสั้นๆ ไม่กี่คำว่า “พาหิยะ เธอจงสำเหนียกอยู่เสมอว่าเมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น” เพียงคำตรัสสั้นๆ เท่านี้เอง ท่านพาหิยะก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในทันที ภายหลังจากบรรลุแล้วท่านได้ทูลลาพระพุทธเจ้าเข้าไปในเมืองเพื่อหาบาตรและจีวรนำมาใช้ในการอุปสมบท แต่ในระหว่างที่ท่านกำลังหาอยู่นั้น ท่านก็ถูกวัวบ้าขวิดตายเสียก่อน จากการที่ท่านบรรลุธรรมได้ด้วยความรวดเร็วเช่นนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะ คือเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทางขิปปาภิญญา คือ ตรัสรู้เร็วพลัน (ขุ.ขุ.25/4750)

    กรณีที่ 3 การบรรลุธรรมของพระโคธิกะ ท่านพระโคธิกะเป็นภิกษุผู้ได้ฌาณบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา แต่เนื่องด้วยสุขภาพของท่านไม่ค่อยดีจึงทำให้ฌานของท่านเสื่อมอยู่บ่อยๆ จนท่านรู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิตอันเต็มไปด้วยความทุกข์ที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บนี้ ในที่สุดท่านจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายโดยการใช้มีดโกนเชือดคอ ก่อนที่ท่านจะตาย ท่านได้ใช้โอกาสในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนสิ้นชีวิตเจริญวิปัสสนาจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ (สัง.ส.15/488-495)

    กรณีที่ 4 การบรรลุธรรมของพระจูฬปันถกะ ตามประวัติท่านได้เข้ามาบวชเป็นภิกษุอยู่ในพระพุทธศาสนาตามคำชักชวนของพี่ชาย คือ พระมหาปันถกะ ผู้ซึ่งมาบวชและตั้งใจปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์อยู่ก่อนแล้ว เมื่อแรกบวชท่านพระจูฬปันถกะเป็นภิกษุที่มีปัญญาทึบมาก พี่ชายสอนอย่างไรก็ไม่ได้ผล จึงดุว่าแล้วขับไล่ให้ออกไปเสียจากสำนักของท่าน พระจูฬปันถกะเกิดความน้อยอกน้อยใจไปยืนร้องไห้อยู่ที่หน้าประตูสังฆารามด้วยความอาลัยในพระศาสนา ขณะนั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จมา เมื่อทรงตรัสถามจนทราบเรื่องทั้งหมด จึงได้ใช้พระหัตถ์ลูบศีรษะและทรงจับแขนของพระจูฬปันถกะพาไปสู่ที่ประทับของพระองค์ เมื่อถึงที่ประทับพระองค์ทรงประทานผ้าขาวอันบริสุทธ์ให้พระจูฬปันถกะนั่งลูบคลำ เวลาผ่านไปไม่นาน ผ้านั้นก็หม่นหมองลง พระจูฬปันถกะเกิดความคิดว่าผ้านี้แต่เดิมเคยเป็นของขาวบริสุทธิ์อย่างยิ่ง แต่เมื่อถูกกระทำเช่นนี้จึงละภาวะเดิมเสียกลายเป็นผ้าที่หม่นหมองไป สังขารทั้งหลายก็เช่นเดียวกันคือไม่เที่ยงหนอ พระพุทธเจ้าทรงทราบวาระจิตของท่านพระจูฬปันถกะ จึงตรัสสั่งสอนด้วยพระคาถาและเมื่อจบพระคาถา ท่านพระจูฬปันถกะก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ขณะที่ยังลูบคลำผ้าอยู่นั่นเอง (ขุ.เถร.26/373)

    กรณีที่ 5 การบรรลุธรรมของพระวักกลิ มีบันทึกไว้ว่าท่านพระวักกลิเมื่อครั้งยังถือเพศคฤหัสถ์อยู่นั้นได้มีโอกาสพบเห็นพระพุทธเจ้า ทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใสในพระรูปโฉมของพระองค์ อยากจะดูอยากจะเห็นอยู่ทุกเมื่อ ไม่รู้จักอิ่มหรือเบื่อหน่าย จึงตัดสินใจบวชเป็นภิกษุอยู่ในพระพุทธศาสนา เพื่อที่จะได้มีโอกาสเห็นพระพุทธองค์ทุกๆ วัน เมื่อบวชแล้วท่านก็ได้แต่ตั้งหน้าตั้งตาตามดูพระรูปโฉมของพระพุทธเจ้า ไม่เป็นอันที่จะได้ปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด ในช่วงแรกพระพุทธองค์เองก็ยังทรงนิ่งอยู่ไม่ว่าอะไร ครั้นต่อมานานวันเข้าพระพุทธองค์จึงทรงตรัสสอนแก่พระวักกลิว่า เธอต้องการดูกายที่เปื่อยเน่านี้เพื่อประโยชน์อะไร ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่า เห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้พระพุทธองค์จะทรงตรัสสอนอย่างนี้แล้ว พระวักกลิก็ยังไม่ลดละการการะทำเช่นนี้แล้วหันไปสนใจศึกษาปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด จนในที่สุดพระพุทธองค์จึงทรงประกาศท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ให้ขับไล่พระวักกลิออกไปเสียจากสำนักของพระองค์ ท่านพระวักกลิเกิดความเศร้าโศกเสียใจอย่างมาก แล้วคิดว่าเราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อประโยชน์อะไร สู้กระโดดภูเขาตายไปเสียเลยจะดีกว่า เมื่อคิดเช่นนั้นแล้ว จึงขึ้นไปสู่ยอดเขาคิชกูฏ ขณะที่กำลังจะกระโจนลงมา พระพุทธองค์ซึ่งล่วงรู้วาระจิตของพระวักกลิว่าพร้อมแล้วที่จะรับการสั่งสอนจากพระองค์ จึงทรงปรากฏให้พระวักกลิได้เห็นในที่เฉพาะหน้า และตรัสสอนด้วยธรรมกถามีประการต่างๆ ส่งผลให้พระวักกลิเกิดความปีติปราโมทย์อย่างมาก พร้อมกับการตั้งจิตพิจารณาไปตามพระโอวาทที่พระพุทธองค์ตรัสสอน จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ต่อหน้าพระพักตร์ของพระบรมศาสดาในขณะเดี๋ยวนั้นเอง ภายหลังพระพุทธองค์จึงได้ทรงตั้งท่านพระวักกลิไว้ในตำแหน่งเอตทัตคะ คือ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในด้านสัทธาวิมุตติหรือการตรัสรู้พ้นจากกิเลสได้ด้วยศรัทธา (ขุ.อป.33/122)

    5.2 ตัวอย่างการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนามหายาน นิกายเซ็น

    กรณีที่ 1 การบรรลุธรรมของท่านเคียวเงน (ออกเสียงตามสำเนียงญี่ปุ่น ถ้าเป็นสำเนียงจีนจะออกเสียงว่า “เสี้ยงเหยินฉีเสี้ยน”) ท่านรูปนี้เป็นพระภิกษุชาวจีนปลายสมัยราชวงค์ถัง มีชื่อเสียงตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่มในฐานะผู้มีความแตกฉานด้านปริยัติ สามารถอธิบายเนื้อหาของคัมภีร์ต่างๆ ในนิกายเซ็นสมัยนั้นได้อย่างชำนาญ แต่ต่อมาท่านกลับรู้สึกว่าความรู้ด้านปริยัตินี้มิใช่สิ่งที่จะช่วยให้ความทุกข์ความเดือดร้อนในใจของท่านหมดสิ้นไปได้ ท่านจึงละทิ้งการศึกษาด้านปริยัตินี้เสียแล้วไปฝากตัวเป็นศิษย์ขอเรียนวิชาเซ็นกับท่านอิซัน ด้วยความหวังว่าจะได้ฟังเทศนาธรรมอันเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติธรรมจากท่านอิซัน แต่แล้วท่านเคียวเงนก็ต้องผิดหวังเหตุเพราะในช่วงแรกที่ไปอยู่ศึกษานั้นปรากฏว่าท่านอิซันไม่ได้สนใจที่จะเทศนาธรรมเพื่อเป็นการสั่งสอนใดๆ แก่ท่านเคียวเงนเลยแม้แต่น้อย ในช่วงต่อมาเมื่อถูกรบเร้าให้สอนมากเข้าๆ ท่านอิซันจึงให้ปริศนาธรรมเพื่อให้ท่านเคียวเงนได้นำไปขบคิดหนึ่งข้อมีใจความว่า “อะไรคือตัวตนที่แท้ของเธอ ก่อนหน้าที่เธอจะคลอดจากครรถ์มารดาและก่อนที่เธอจะรู้จักสิ่งต่างๆ จากตะวันออกจรดตะวันตก”

    ท่านเคียวเงนได้ใช้เวลาอยู่หลายวันเพื่อขบคิดปริศนาธรรมนี้ แต่คิดเท่าไรก็ไม่สามารถขบปริศนาธรรมนี้ให้แตกได้ เมื่อคิดว่าตนเองคงตอบไม่ได้แน่จึงไปหาท่านอิซันอีกครั้งเพื่อให้ช่วยอธิบายปริศนาธรรมนี้ ท่านอิซันปฏิเสธที่จะอธิบายโดยให้เหตุผลว่าหากตอบ คำตอบนั้นก็จะเป็นของท่านไม่ใช่เป็นของเคียวเงน ท่านเคียวเงนกลับมาพยายามลองคิดใหม่อีกครั้งด้วยความรู้สึกผิดหวังและกระวนกระวายใจ จนในที่สุดก็คิดว่าตลอดชีวิตนี้ของตน คงไม่มีวันคิดออกแน่แล้ว ท่านจึงตัดสินใจเลิกสนใจเซ็นแล้วลาท่านอิซันไปทำหน้าที่ดูแลหลุดฝังศพของท่านเอะชูแทน ตลอดเวลาที่ท่านพำนักอยู่ที่นี้ ท่านได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ จิตใจปลอดโปร่ง สงบร่มเย็นอย่างยิ่ง ผิดกับเมื่อตอนพยายามขบปริศนาธรรมอยู่กับท่านอิซัน แต่แล้ววันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังกวาดลานดิน ไม้กวาดของท่านบังเอิญไปปัดเอาก้อนหินกระเด็นไปโดนต้นไผ่จนเกิดเสียงดังขึ้น จากเสียงนั้นเองท่านก็ได้บรรลุธรรม เกิดความรู้แจ้งขึ้นอย่างฉับพลันทันที (สมภาร พรมทา, 2540: 211-213)

    กรณีที่ 2 การบรรลุธรรมของท่านอิคคิว หรือที่เรารู้จักกันดีในนามอิคคิวซังเณรน้อยเจ้าปัญญา ท่านเป็นพระอาจารย์เซ็นชาวญี่ปุ่น ตามประวัติกล่าวกันว่าท่านมีนิสัยชอบพายเรือเพื่อไปนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมอยู่กลางทะเลสาบในเวลากลางคืน จนกระทั่งใกล้รุ่งของคืนหนึ่งขณะที่ท่านกำลังนั่งสมาธิอยู่นั้น ด้วยบรรยากาศที่เงียบสงัดท่านก็ได้ยินเสียงอีกาตัวหนึ่งร้องขึ้นมา ทันใดนั้นท่านก็บรรลุธรรม (สมภาร พรมทา, 2540: 213)

    กรณีที่ 3 การบรรลุธรรมของท่านไป่ฉาง ท่านเป็นพระอาจารย์เซ็นชาวจีนในสมัยราชวงค์ถังผู้ซึ่งบรรลุธรรมเพราะถูกอาจารย์ของตนคือท่านหม่าจือบิดจมูกอย่างแรง กล่าวกันว่าตอนที่ท่าน ยังเป็นพระบวชใหม่อยู่นั้น ท่านได้ติดตามอาจารย์ของท่านไปทำธุระในที่แห่งหนึ่ง ระหว่างเดินทางมีห่านป่าฝูงหนึ่งได้บินผ่านพวกท่านไป อาจารย์หม่าจือจึงเอ่ยถามลูกศิษย์ว่า “พวกมันจะบินไปไหนกัน” ท่านไป่ฉ่างได้ยินดังนั้นก็ตอบว่า “พวกมันไปกันหมดแล้วขอรับ” อาจารย์หม่าจือได้ยินดังนั้นก็ตรงเข้าไปบิดจมูกท่านไป่ฉางอย่างแรง พร้อมกับตะคอกว่า “ใครเป็นคนพูดว่าพวกมันบินไปกันหมดแล้ว” เพียงเท่านี้เองท่านไป่ฉางก็บรรลุธรรม (สมภาร พรมทา, 2540: 213-214)

    สมภาร พรมทาได้วิเคราะห์การบรรลุธรรมทั้งสามกรณีข้างต้นนี้โดยนำไปเปรียบเทียบกับการบรรลุธรรมของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไว้อย่างน่าสนใจ (ผู้ที่สนใจรายละเอียดของประเด็นการเปรียบเทียบดังกล่าวนี้สามารถดูเพิ่มเติมได้ในหนังสือของ สมภาร พรมทา เรื่อง “พุทธศาสนามหายานนิกายหลัก”) พอสรุปได้ดังนี้

    กรณีของท่านเคียวเงนนั้นอาจเทียบได้กับการบรรลุธรรมของพระอานนท์ ทั้งสองท่านเริ่มต้นปฏิบัติธรรมด้วยความเคร่งเครียดจริงจัง แต่แล้วก็ไม่เกิดผลใดๆ ขึ้น ต่อเมื่อปล่อยวางจากการหักโหมปฏิบัติธรรม ทั้งสองท่านจึงได้บรรลุธรรม

    กรณีของท่านอิคคิวก็เช่นเดียวกัน การบรรลุธรรมของท่านอาจเทียบได้กับกรณีท่านพาหิยะ หากผู้ฟังมีปัญญา การได้ยินเสียงการ้องของท่านอิคคิวก็อาจไม่ต่างกับการได้ยินเสียงพุทธวจนะเพียงไม่กี่คำของท่านพาหิยะ สิ่งที่แฝงอยู่ในเสียงการ้องกับที่อยู่ในพุทธวจนะก็อาจมีพลังผลักดันให้คนบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกัน

    กรณีสุดท้าย คือ กรณีของท่านไป่ฉางที่ถูกอาจารย์บิดจมูกแล้วบรรลุธรรม ก็อาจไม่ต่างจากการที่ท่านโคธิกะเชือดคอตนเองแล้วบรรลุธรรม ทั้งสองท่านต่างอาศัยความรู้สึกเจ็บปวดในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นเป็นอุปกรณ์ในการพิจารณาจนเกิดความรู้แจ้งขึ้นในทันที

    ดังนั้น ตามทัศนะของ สมภาร พรมทา การบรรลุธรรมของพุทธศาสนามหายานที่ตอนแรกอาจดูแตกต่างจากของเถรวาท แท้จริงแล้วอาจจะไม่แตกต่างกันก็ได้ ท่านผู้เขียนวรรณกรรมเซ็นอาจบรรยายถึงการบรรลุธรรมของพระเซ็นไว้อย่างรวบรัด ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นอย่างง่ายดายและบังเอิญ แต่หากจะย้อนกลับไปสืบสาวดูที่มาของการบรรลุธรรมในนิกายเซ็น เราจะเห็นได้ว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการบังเอิญและไม่มีเหตุผล การรู้แจ้งของพระเซ็นอาจดูเหมือนง่ายดาย แต่กว่าที่ท่านเหล่านั้นจะผ่านมาสู่จุดนี้ได้ ทุกท่านต้องฝึกฝนตนเองมาอย่างหนักและเป็นระบบ (สมภาร พรมทา, 2540: 219)

    ไพรินทร์ กะทิพรมราช (ผู้เรียบเรียง)

    อธิบายศัพท์

    1. “อภิญญา” คือ ความรู้ยิ่ง, ความรู้เจาะตรงยวดยิ่ง, ความรู้ชั้นสูง มี 6 ประการ ได้แก่ 1. อิทธิวิธิ แสดงอิทธิ์ต่างๆ ได้ 2. ทิพยโสต หูทิพย์ 3. เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่นได้ 4. ปุพเพนิวาสานุสติ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ 5. ทิพพจักขุ ตาทิพย์ 6. อาสาวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป (พระธรรมปิฎก, 2543 :380)

    “ปฏิสัมภิทา” คือ ความแตกฉาน ความรู้แตกฉาน ปัญญาแตกฉาน มี 4 ประการคือ 1. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ 2. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม 3. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ คือ ภาษา 4. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ (พระธรรมปิฎก, 2543 :146)

    2. “จารวาก” เป็นปรัชญาสสารนิยม (materialism) สำนักเดียวของอินเดีย ที่เชื่อว่าสิ่งจริงแท้ของโลกหรือจักรวาลมีสิ่งเดียวเท่านั้นและสิ่งนั้นก็คือสสาร มนุษย์ก็คือกลุ่มก้อนของสสาร ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านี้ มนุษย์เกิดหนเดียวตายหนเดียว จิตวิญญาณ การเวียนว่ายตายเกิด ชาติภพหน้า นรก สวรรค์ เทพเจ้า บาปบุญ สิ่งนามธรรมเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่จริง

    3. “ญาณวิทยา” (Epistemology) คือปรัชญาสาขาหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องของบ่อเกิด ลักษณะหน้าที่ ประเภท ระเบียบวิธีการของ “ความรู้” – ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในคำว่า ญาณวิทยา(Epistemology)

    4. เป็นพระนามของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ที่เรียกตามชื่อตระกูล(โคตมโคตร)ของพระองค์ บางครั้งก็เรียกว่า พระโคดม หรือ พระโคตรมะ หรือ พระศากยมุนีโคดม

    5. “รูปฌาน 4” คือ ฌาน (ความสงบ) ที่มีรูปธรรมเป็นอารมณ์ มี 4 ขั้น ได้แก่ 1.ปฐมฌาน มีองค์ 5 คือ วิตก (ตรึก) วิจาร (ตรอง) ปีติ (อิ่มใจ) สุข (สบายใจ) เอกัคคตา (จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง) 2.ทุติยฌาน มีองค์ 3 คือ ปีติ สุข เอกัคคตา 3.ตติยฌาน มีองค์ 2 คือ สุข และเอกัคคตา 4.จตุตถฌาน มีองค์ 2 คือ อุเบกขา (การวางเฉย) และเอกัคคตา




    อักษรย่อชื่อคัมภีร์พระไตรปิฎกที่ใช้อ้างอิง

    การอ้างใช้ระบบ เล่ม / ข้อ ตัวอย่างเช่น ม.ม.13/505 = มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่มที่ 13 ข้อที่ 505

    อัง.จตุกก. อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
    อัง.ทสก. อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต
    อัง.ทุก. อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต
    อัง.ปัญจก. อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต
    อภิ.วิ. อภิธรรมปิฎก วิภังค์ ม.ม.
    ขุ.อป. ขุททกนิกาย อปทาน
    ขุ.อิติ. ขุททกนิกาย อิติวุตตก
    ขุ.ขุ. ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ
    ขุ.เถร. ขุททกนิกาย เถระคาถา
    ขุ.ปฏิ. ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
    ที.ปา. ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
    ที.ม. ทีฆนิกาย มหาวรรค
    ม.อุ. มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
    ม.มู. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
    วินย. วินัยปิฎก
    สัง.ม. สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
    สัง.ส. สังยุตตนิกาย สคาถวรรค


    เรียบเรียงจาก
    ·
    กรมการศาสนา. 2521. พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง. 45 เล่ม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา.
    ·
    พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). 2535. พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
    ·
    พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). 2546. พุทธธรรมฉบับขยายความ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
    ·
    พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). 2543. พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมาลศัพท์.พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
    ·
    พุทธทาสภิกขุ. 2546. พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ . พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ : ธรรมทานมูลนิธิ.
    ·
    พุทธทาสภิกขุ. ม.ป.ป. เซ็นและวิธีทำซาเซ็น มหายาน-หินยาน ปุจฉา-วิสัชนา พุทธศาสนาต่างนิกาย. กรุงเทพฯ: ธรรมสภา.
    ·
    ลักษณ์วัต ปาละรัตน์. 2535. ญาณวิทยาในพุทธปรัชญาเป็นประสบการณ์นิยมหรือไม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต, ภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
    ·
    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ. 2541. พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร?. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย.
    ·
    สมภาร พรมทา. 2540. พุทธศาสนามหายานนิกายหลัก. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
    · แสง จันทร์งาม. 2535. พุทธศาสนวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์.
    · Gimello, Robert M. 2004. “Bodhi (Awakening).” In Robert E. Buswell, ed. Encyclopedia of Buddhism, Vol.2: pp. 50-53. New York: Macmillan.


    เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม
    ·
    ซูสุกิ, ดี.ที. 2547. เซนกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น. แปลโดย จำนงค์ ทองประเสริฐ. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. (เป็นหนังสือที่กล่าวถึงพระพุทธศาสนานิกายเซนของประเทศญี่ปุ่นว่า เซนคืออะไร เซนสัมพันธ์กับศิลปะ วัฒนธรรมอื่นๆ ของญี่ปุ่น เช่น ศิลปะการชงชาอย่างไร เป็นต้น)
    ·
    Hoover, Thomas. 1980. The Zen Experience. New York: New American Library. (เป็นหนังสือที่อธิบายถึงประสบการณ์ทางศาสนาของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายเซน)
    ·
    Jayatilleke, K. N. 1963. Early Buddhism Theory of Knowledge. London: George Allen & Unwin. (เป็นหนังสือที่กล่าวถึงญาณวิทยาของพุทธปรัชญายุคเริ่มต้น โดยตีความว่ามีแนวโน้มเป็นแบบประสบการณ์นิยม)
    ·
    Kalupahana, David J. 1992. A History of Buddhist Philosophy: Continuities and Discontinuities. Honolulu: University of Hawaii Press. (เป็นหนังสือที่ตีความว่าญาณวิทยาของพุทธปรัชญามีแนวโน้มเป็นแบบปฏิบัตินิยม)
    ·
    Radhakrihnan, S. 1977. Indian Philosophy Volume I. London: George Allen & Unwin Ltd. (เป็นหนังสือที่กล่าวถึงปรัชญาอินเดียสำนักต่างๆ ในส่วนของพุทธปรัชญามีการตีความว่าญาณวิทยาของพุทธปรัชญามีแนวโน้มเป็นแบบเหตุผลนิยม)
     
  2. supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,361
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    อนาวรญาณ คือ ญาณอันไม่มีความข้องขัดไม่มีเครื่องกั้น (ขุ.ปฏิ.31/269-290)
    . .
     

แชร์หน้านี้