ภูมิจิตพระอรหันต์ โดย หลวงตามหาบัว
<!--Main-->
[SIZE=-1]- จิตของพระอรหันต์เป็นอริยจิต เป็นจิตที่บริสุทธิ์
จิตของสามัญชน เป็นสามัญจิต, เป็นจิตที่มีกิเลสโสมม
-เมื่อจิตผู้เป็นเจ้าของเข้าครองอยู่ในร่างใด และจิตเป็นจิตประเภทใด - ร่างนั้นอาจจะกลายไปตามสภาพของจิตที่เป็นเจ้าเรือนพาให้เป็นไป
- จิตอรหันต์เป็นจิตที่บริสุทธิ์ -อาจจะมีอำนาจซักฟอกธาตุขันธ์ ให้เป็นธาตุที่บริสุทธิ์ไปตามส่วนของตน - ฉะนั้น อัฐิของพระอรหันต์จึงกลายเป็นพระธาตุได้
- แต่อัฐิของสามัญชน แม้จะเป็นธาตุดินเช่นเดียวกัน
ส่วนจิตผู้เป็นเจ้าของเต็มไปด้วยกิเลส ไม่มีอำนาจซักฟอกธาตุขันธ์ให้เป็นของบริสุทธิ์ไปตามส่วนของต้นได้ -อัฐิจะกลายเป็นธาตุที่บริสุทธิ์ได้อย่างไร - ก็ต้องเป็นสามัญธาตุไปตามจิตของคนมีกิเลสอยู่ดี
- เพราะคุณสมบัติของจิต ของธาตุ ระหว่างพระอรหันต์กับสามัญชนต่างกัน -> อัฐิจำต้องต่างกันอยู่โดยดี
___________________________________________________________________________________
- บรรดาสาวกทั้งหลายที่ได้รับพระโอวาทจากพระองค์ท่านแล้ว นำไปสร้างตนเอง
บางท่านทำความเพียรกล้าถึงกับฝ่าเท้าแตกก็มี
บางท่านก็ไม่หลับไม่นอน
อุบายวิธีทั้งหมดนี้ ก็เป็นการสร้างตนของท่านจนได้สำเร็จรูปขึ้นมาอย่างสมบูรณ์
คือเป็นสาวกอรหันต์ที่บริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าแต่ละท่านๆ - เนื่องมาจากการสร้างตนของท่านด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่ท้อถอยต่อหน้าที่ของตน
____________________________________________________________________
- พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ ไม่ทรงแสดงความสูญไว้กับจิตพระอรหันต์และจิตของสัตว์โลก
- จิตที่จะหมดปัญหาแล้วมันสูญไหม?
จิตยิ่งเด่น แล้วจะเอาอะไรมาสูญเล่า?
เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ จะเอาอะไรมาสูญ?
ขุดคนเรื่องสูญเท่าไร - จิตยิ่งเด่น ยิ่งชัดไม่มีอะไรสงสัย
เด่นจนพูดไม่ถูก บอกไม่ถูกตามโลกนิยมสมมุติซึ่งหาที่สิ้นสุดยุติไม่ได้
- นิพพานํ ปรมํ สุญฺญํ - นิพพานสูญแบบนี้เอง คือสูญแบบนิพพาน มิใช่สูญแบบโลกๆ ที่เข้าใจกัน
- สูญแบบนิพพาน คือ ไม่มีอะไรบรรดาสมมุติเหลืออยู่ภายในจิต
- ผู้ที่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายสูญสิ้นแล้วจากใจนั่นเลย- นั่นแหละ คือตัวจริง, นั่นแหละคือผู้บริสุทธิ์- ผู้นี้จะสูญไปไม่ได้ - ยิ่งเด่น ยิ่งชัด ยิ่งเข้าใจแจ่มแจ้งทุกสิ่งทุกอย่าง - ผู้นี้ไม่สูญ - ผู้นี้แลเป็นผู้ทรงคุณสมบัติอันยอดเยี่ยม - นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ -ผู้นี้แลเป็นสุขอย่างยิ่ง นอกสมมุติทั้งปวง
____________________________________________________________________
- พระสาวกองค์หนึ่งที่มีอติเรกลาภมาก คือ พระสีวลี -ในอดีตชาติท่านเป็นนักเสียสละ ไปที่ไหนก็มีแต่ให้ทานเป็นพื้นเป็นนิสัย ทานอย่างไม่อัดไม่อั้น ให้ทานตามนิสัยจริงๆ
จะอดอยากขาดแคลน หรือจะมั่งมีศรีสุขขนาดไหน ก็ไม่เคยลดละในการให้ทาน - จึงเป็นเลิสในทางอติเรกลาภมาก ไม่มีองค์ใดเสมอเหมือน ยกพระพุทธเจ้าเสียเท่านั้น
- บางองค์สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีคนเคารพนับถือ ไม่มีอติเรกลาภก็เยอะ - แต่ท่านดีในทางอื่น - แม้ถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว สิ่งที่ได้ก็คือ -ไม่มีคนถวายจตุปัจจัยไทยทานมากสมกับความเป็นพระอรหันต์ของท่านก็มี- นี่เป็นเพราะอุปนิสัยที่เคยสร้างมาต่างกัน
____________________________________________________________________
- พระอรหันต์ท่านมีความเพียรแก่กล้าสามารถขนาดไหน ท่านจึงเอื้อมถึงภูมินั้นได้ - ทั้งนี้ท่านต้องเป็นนักรบจริงๆ เหนือคนธรรมดาอยู่มาก - ต่างองค์ก็มีความเพียร สมเหตุสมผล -ความเพียรมีมาก กิเลสก็ตายไปเรื่อยๆ ตามทางจงกรม
- เข้าไปเดินจงกรมอยู่ท่านก็ฆ่ากิเลส, นอนอยู่ท่านก็ฆ่ากิเลส เว้นแต่เวลาหลับเท่านั้น
- แม้เวลาขบฉันอยู่ ท่านก็ฆ่ากิเลสด้วยสติปัญญาซึ่งทำงานอยู่ตลอดเวลา - ในอิริยาบถต่างๆ เป็นอิริยาบถของนักรบเพื่อฆ่ากิเลสอาสวะทั้งนั้น
- ไม่ได้นั่งสั่งสมกิเลส, ยืนสั่งสมกิเลส, นอนสั่งสมกิเลส, แม้ขณะเดินจงกรมอยู่ ก็สั่งสมกิเลสเหมือนอย่างพวกเรา เพราะความไม่มีสติ มันผิดกันอย่างนี้
- พระอรหันต์ก็รับทราบ "กายเวทนา"เหมือนกัน แต่เป็นเรื่องธรรมดา
ท่านทราบทั้ง 3 ระยะ คือระยะที่เกิด ตั้งอยู่และดับไป
____________________________________________________________________
- พระอรหันต์ท่านตายไม่ยาก ทุกท่าอิริยาบถตามแต่ท่านถนัดในอิริยาบถใด
- ในระหว่างความเป็นอยู่ กับการตายไป ของผู้สิ้นกิเลสแล้ว มีความหนักเบาเสมอกัน
- เมื่อมีชีวิตอยู่จะได้ทำประโยชน์ให้โลกอย่างนั้นๆ - การเป็นอยู่ก็ดี เพราะจะได้ทำประโยชน์ให้โลกผู้หวังพึ่งธรรม ผู้หวังประโยชน์กับท่านยังมีอยู่มาก
- ถ้าไม่คิดถึงประโยชน์ทางโลกแล้ว - ไปเสียดี ไม่ต้องมายุ่งกับธาตุกับขันธ์ที่แสนรบกวนตลอดเวลา
- ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา - ขันธ์ทั้งห้า เป็นภาระอันหนักนี้ ขันธ์นี้ต้องแบกหาม ต้องรับผิดชอบ ทั้งขันธ์ของปุถุชน และขันธ์ของพระอรหันต์
- ต่างแต่ขันธ์ของพระอรหันต์ท่านไม่มีอุปาทานเท่านั้น
- ไม่มีอะไรที่หนักยิ่งกว่าขันธ์ของเรารบกวนเรา - ต้นไม้เราก็ไม่ได้ไปแบกไปหามเขา , ภูเขาทั้งลูก เราก็ไม่เคยไปแบกหามเขา สิ่งเหล่านั้นมันจะหนักอะไร
- แต่ส่วนธาตุขันธ์ คือร่างกายของเรานี้แบกหามอยู่ตลอดเวลา - พาอยู่ พากิน พาหลับ พานอน พาขับถ่าย พาเปลี่ยนอิริยาบถ บำบัดด้วยหยูกยาไม่มีเวลาว่างเว้นเลย - เพราะความบกพร่อง เพราะความรบกวนของธาตุขันธ์
- แม้สิ้นอุปาทานในขันธ์แล้ว ยังมีความรับผิดชอบในขันธ์ที่ยังครองตัวอยู่
- เมื่อขันธ์สลายตัวลงไปหมดแล้ว เป็นอนุปาทิเสสนิพพานล้วนๆ- นั่นแลจึงจะเป็นสุขล้วนๆ ไม่มีสมมุติใดๆเข้าเกี่ยวข้องเลย
- พระขีณาสพท่านไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหญ่โต ถือเป็นเรื่องวุ่นวายในเรื่องการเป็นการตาย
- ท่านอยู่ที่ไหน ท่านก็นิพพานที่นั่นได้สบายๆ -ไม่ต้องกลุ้มต้องรุม ต้องวุ่นต้องวายกันเหมือนอย่างปุถุชนจำพวกชนดะเราที่ถือการตายเป็นเรื่องใหญ่โตเกินโลก
____________________________________________________________________
- พระพุทธเจ้า สาวกทั้งหลาย ท่านหลุดพ้นจากกิเลสได้ เพราะความเพียร
แต่ครั้นพ้นจากกิเลสไปแล้ว ท่านทำความเพียรเพื่ออะไรกันอีก -
ในธรรมก็มีบอกไว้ว่าเพื่อวิหารธรรมในทิฏฐธรรมขณะครองขันธ์อยู่
- ทิฏฐธรรม แปลว่า ธรรมที่รู้เห็นอยู่ในวงขันธ์ที่ครองตัวอยู่คือปัจจุบันนี้ เป็นธรรมเครื่องอยู่ระหว่างขันธ์กับจิตในปัจจุบัน
- ความจริงพระธาตุพระอาการทุกส่วนของพระพุทธเจ้า, ธาตุขันธ์ทุกส่วนทุกอาการของพระอรหันต์ทั้งหลาย - เป็นสมมุติทั้งสิ้น
- ธาตุขันธ์ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ด้วย, รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ได้เป็นพระอรหันต์, ไม่ได้บริสุทธิ์ด้วยเลย - มันเป็นเครื่องมือของใจ เป็นเครื่องมือทำงานของใจ
- คนจะดีจะชั่ว เครื่องมือก็ไม่ได้ดีได้ชั่วด้วย - เพราะเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว
- ความคิดปรุง เป็นสิ่งสำคัญอยู่มากที่จะทำให้อาการภายในไม่สะดวก
เมื่อใช้ความคิดปรุงมาก - ธาตุขันธ์ก็อ่อนเพลีย และอ่อนเพลียภายในอวัยวะส่วนละเอียด
- จะปฏิบัติยังไงถึงจะระงับความอ่อนเพลียเหล่านี้ให้อยู่ในความพอดีปกติทางส่วนร่างกาย
- ที่จิตคิดเรื่องนั้น วาดภาพเรื่องนี้ ก็เพื่อการใช้งานนั่นเอง - ยิ่งเป็นการกะ การตวง การคำนวณด้วยแล้ว ยิ่งจะใช้สัญญากับสังขารเกี่ยวข้องกันอย่างมากมาย - ทีนี้เวลาใช้นานๆ เข้า มันก็ทำให้อ่อนเพลียได้ - ต่อไปก็ไม่ทำงานให้ ย่อมเหนื่อยภายในธาตุขันธ์ -เฉพาะอวัยวะส่วนละเอียด ก็ปรากฎเหนื่อยอ่อนเพลียขึ้นมา - ก็จำต้องระงับเสียด้วยวิธีสมาธิภาวนา -ดังพระพุทธเจ้าทรงเข้าสมาธิสมาบัติ พระสาวกก็เข้าที่ภาวนา เพราะเป็นเครื่องบังคับกันอยู่ในตัว
-งานของพระขีณาสพท่านไม่ได้มีอะไรเสียดาย ทำไปตามความจำเป็นเกี่ยวกับสมมุติเท่นั้น คิดปรุงด้วยเรื่องราวที่มีความจำเป็น- พอคิดจะปล่อยเท่านั้น ท่านก็ปล่อยของท่านได้อย่างรวดเร็ว - อาหารแห่งขันธ์ทั้งหลายก็สงบตัว - จะสงบนานเท่าไรนั้น แล้วแต่ความพอของธาตุขันธ์
- การที่จะทรงธาตุขันธ์ให้เป็นไปตามอายุขัยนั้น -ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติระหว่างจิตกับขันธ์ให้เหมาะสมกัน ไม่ให้มากเกินไป ซึ่งเป็นการตัดทอนอายุขัยลงดดยลำดับที่ฝืนความพอดี
- นี่คือความจริงที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี พระสาวกก็ดี ท่านทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งถึงวันปรินิพพาน เพื่อความรับผิดชอบในธาตุขันธ์นี้เท่านั้นเป็นสำคัญ
____________________________________________________________________
- พระอรหันต์ท่านรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเหรอ-
รู้ในสิ่งที่ควรรู้, ไม่รู้ในสิ่งที่ไม่อาจรู้
- แล้วท่านจำได้หมดเหรอ ท่านจำอะไรได้หมดเหรอ ท่านหลงลืมไหม -
ท่านก็มีหลงลืมเหมือนกันกับคนทั่วๆไป
- สิ่งที่ไม่ลืมมีไหม - มี คืออะไร - คืออริยสัจ ท่านไม่หลงไม่ลืม จะหลงลืมอย่างไง
อริยสัจกับจิตมันอยู่ด้วยกันตลอดเวลา
- จำนั้นจำนี้ จำชื่อจำเสียง จำตำรับตำราคาถาบทนั้นบทนี้ มันลืมไปได้เหมือนกับคนทั่วๆไป
สญฺญา อนิจฺจา สญฺญา วาสฺส วิมุยฺหติ ก็มี บอกแต่เรื่องหลงลืม เรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ทั้งนั้น ขันธ์จะเหนือโลกไปไหน
____________________________________________________________________
- ท่านไม่มีปัญหาอะไรกับสมมุติ คือการตาย - กิริยาแห่งการตายต่างๆ นั้นเป็นเรื่องสมมุติทั้งหมด
ความบริสุทธิ์ บริสุทธิ์เต็มภูมิ จึงไม่วิตกวิจารณ์เรื่องการเป็นการตาย
จะตายแบบไหนท่าไหน จะยืนตาย เดินตาย นั่งตาย นอนตาย ไม่มีปัญหา - เพราะเป็นเรื่องอาการของสมมุติต่างหาก
- อาการของท่านขณะที่ท่านปลงขันธ์นิพพานในท่าต่างๆ นั้นเหมือนปุยนุ่น อ่อนนิ่มไปเลย - ไม่มีอากัปกิริยาที่เป็นเหมือนโลก ที่ว่าทุรนทุราย หรือระส่ำระส่าย - จะเอาอะไรมาระส่ำระสาย ลงจิตขนาดนั้นแล้ว
____________________________________________________________________
- จริตนิสัยของใครของเรา ก็เป็นสมบัติของใครของเรา
จริตนิสัยไม่เป็นโทษเป็นกรรมอะไร
- คนก็คาดว่าพระอรหันต์ต้องมีกิริยามารยาทที่สวยงามนิ่มนวลมาก - นี่เป็นความคิด แต่ไม่ได้คำนึงถึงนิสัย
- นิสัยเป็นของดั้งเดิม ความเป็นอรหันต์เป็นความสิ้นจากกิเลส - กิเลสไม่ได้อยู่ในกิริยาอันนี้ เพราะสิ่งนี้มันยังไม่ดับ ดับได้เฉพาะพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น พร้อมทั้งนิสัยและวาสนา - นอกนั้นดับไม่ได้
- พระสันตกาย มารยาทเรียบร้อยสวยงาม -เธอเคยเป็นราชสีห์มาตั้ง 500 ชาติ
- ราชสีห์นั้นเป็นสัตว์ที่มีสติดีมากเหมือนกับเสือ - เวลาจะนอนราชสีห์จะต้องกำหนดอวัยวะทุกสัดทุกส่วนไว้เรียบร้อย - ตื่นขื้นมาแล้ว เมื่อเห็นอวัยวะส่วนใดเคลื่อนจากที่วางไว้เดิมแล้ว ราชสีห์จะไม่ลุกขึ้นหากิน จะนอนใหม่ ตั้งใหม่ -จนกระทั่งตื่นขึ้นมา อวัยวะส่วนใดที่วางไว้ เช่น หู หาง อย่างนี้เป็นปกติแล้ว จึงจะลุกขึ้นหากิน แผดเสียงเอี้ยวกาย บิดกายแล้วออกหากิน
____________________________________________________________________
- พระอรหันต์ท่านไม่มีเวทนาทางใจ
เวทนามีอยู่เฉพาะภายในขันธ์เท่านั้น -ไม่มีอยู่ภายในจิตของพระอรหันต์
- ทุกข์เกิดขึ้นภายในกายเฉยๆ เกิดขึ้นภายในกายนี้เท่านั้น - ไม่สามารถจะไปเกิดภายในจิตของพระอรหันต์ได้เลย - เพราะจิตนั้นเป็นวิสุทธิจิต เป็นวิมุตติจิตที่พ้นจากสมมุติแล้ว - ท่านจึงไม่มีเวทนาใดที่จะให้เสวย
- เวทนาทั้งปวงเป็นสมมุติ - แต่จิตของท่านเป็นวิมุตติจิต จะเข้ากันได้อย่างไร
- ฉะนั้นจึงไม่มีเวทนาใดที่จะเข้าเหยียบย่ำทำลายจิตใจของท่านได้ - นอกจากสุขในหลักธรรมชาติ
นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป้นสุขอย่างยิ่ง
- สุขในนิพพาน ไม่ใช่สุขเวทนา -เป็นสุขของวิมุตติจิต เหนือสมมุตินี้ไปแล้ว
สุขนั้นจึงไม่มีคำว่า อนิจฺจํ เวทนา อนิจฺจา อย่างนี้ก็ไม่มี
- ถ้าเป็นเวทนาแล้วต้องมี อนิจฺจํ เป็นคู่กันเสมอไป
[/SIZE]
ภูมิจิตพระอรหันต์ โดย หลวงตามหาบัว
ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย นวกะ36, 30 พฤษภาคม 2010.
-
- มรรค4 ผล4 นิพพาน1 ใครจะไปแยกได้ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์, ใครจะไปทราบได้ ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ - พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงแยกแล้ว - ผู้ที่จะรู้ตามนี้ได้ก็คือพระอรหันต์เท่านั้น
- นิพพาน1 ชื่อว่า จริมรรคจิต - คือจิตวิ่งผ่านแย็บเดียวเท่านั้นก็เป็นนิพพาน 1 ขึ้นมา
- ขณะจิตที่เป็น จริมรรค นั่นท่านเรียกว่าเป็นมรรค4 ผล4 กำลังทำงานต่อกันอยู่ยังไม่ยุติ- พอขณะนั้นสิ้นลงไป ดับลงไปพับ ทางนี้ก็สมบูรณ์เป็นนิพพาน1 ขึ้นมา - หมดกิริยา จึงเรียกว่านิพพาน1
- เวลาเข้าไปถึงจริงๆแล้ว เป็นพระอรหันต์เท่านั้นเองที่จะเข้าถึง และที่จะรู้
ความจำได้หมายรู้จากการเรียน ไม่มีทางรู้ได้ในความจริงอันนั้น
____________________________________________________________________
- ภาคแห่งความจำ ภาคแห่งความคาดคะเน จะไปตรงกับความจริงไม่ได้
ยกตัวอย่างเช่น เขาออกเป็นหนังสือว่า ถ้าผู้ใดหรือพระองค์ใดยังมีการนอนหลับอยู่แล้ว พระองค์นั้นไม่ใช่พระอรหันต์ นั่น
- พระอรหันต์แท้ไม่ได้หลับ เพียงพักผ่อนธาตุขันธ์เท่านั้น - ส่วนจิตใจของท่านตื่นอยู่ตลอดเวลา คือ หมายความเอาชาครธรรมที่มีอยู่ประจำจิตที่บริสุทธิ์ของท่าน
- การหลับนอนเป็นเรื่องของธาตุของขันธ์
แล้วผู้รู้อันบริสุทธิ์ซึ่งครองร่างอยู่นั้นคืออะไร
คือ ชาคร = ธรรมชาติที่ตื่นอยู่ นอกจากวงสมมุติทั้งปวง มีขันธ์ เป็นต้น
- ชาคร นั้นคือชาคร - เมื่อหลับก็เป็นเรื่องของขันธ์นี้ระงับตัวลงไป
ไม่ใช่อาการทุกส่วนของขันธ์ของสมมุติที่มีอยู่ในขันธ์นี้
ส่วนชาครนั้น - ขันธ์จะตื่นไม่ตื่นจากหลับก็ตาม - ชาคร ก็คือชาครอยู่นั้น โดยหลักธรรมชาติของตัวเอง ไม่มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหลับและตื่น
- อาการทั้งหมดที่แสดงในขันธ์ล้วนเป็นสมมุติด้วยกันทั้งนั้น
เพราะขันธ์เป็นรากฐานของสมมุติอยู่แล้ว - ขันธ์กระดิกอะไรออกมาก็เป็นสมมุติทั้งหมด
- พอขันธ์ระงับตัวลงไป สมมุติในวงขันธ์นี้ก็ระงับตัวไปด้วย
แล้วชาครนั้นจะมามีส่วนได้ส่วนเสียกับขันธ์นี้อย่างไร - เพราะไม่ใช่ฐานะที่จะมาเกี่ยวข้องกันได้ หรือมาสัมผัสสัมพันธ์กันเหมือนโลกทั่วๆ ไปได้ ต่างอันต่างเป็นหลักธรรมชาติของตัวอยู่เช่นนั้น
____________________________________________________________________
- ขันธ์ก็เป็นขันธ์ จะมีอะไรกัน - ทำให้งอ ให้หงิก ให้กระตุกกระติก ให้บางทีทิ้งเนื้อทิ้งตัวไปได้ - เพราะเส้นมันกระตุก -มันเป็นขันธ์
- นิสัยที่เคยมีครวญคราง อาจเป็นได้ พระอรหันต์น่ะ- แต่จิตของท่านไม่เป็น - เป็นด้วยอาการของขันธ์ที่มันกระทบกระเทือนกันนี้ - เวลาสุดท้ายของมันที่จะแตกกระจายออกจากกันมันเป็นได้ เรายอมรับอันนี้
- แต่เรื่องจิตของพระอรหันต์ที่เข้ามาสุงสิงกับอันนี้ ให้มามั่วมาสุมมาหลงใหลอันนี้ นั่นเป็นอฐานะ เป็นไปไม่ได้
____________________________________________________________________
- พระอรหันต์ทุกๆองค์จะเป็นแบบกามลามสูตรนี้ทั้งนั้น คือ ไม่เชื่อใคร
- ว่าไง สารีบุตร ได้ทราบว่าเธอไม่เชื่อเราตถาคตใช่ไหม?
- ใช่พระองค์ ในส่วนที่ข้าพระองค์เชื่อข้าพระองค์เอง ข้าพระองค์แน่นอนในข้าพระองค์เอง
ข้าพระองค์ไม่ให้พระองค์มาเป็นภาระเป็นกังวลวุ่นวายหนักหน่วงเลย เป็นเรื่องของข้าพระองค์รู้เอง เห็นเอง เรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก ของข้าพระองค์เอง
- เออ! ใช่ สารีบุตร ธรรมแท้ต้องเป็นอย่างนั้น
- พระพุทธเจ้าสอนสอนนี้ เป็นอุบายในแง่ต่างๆ เข้าไป - พอถึงขั้นที่จะเข้าด้ายเข้าเข็มจริงๆ ก็เป็น สนฺทิฏฺฐิโก นำผลขึ้นมาให้เห็นชัดเจนเอง - ท่านสอนในกาลามสูตรเพื่อธรรมขั้นนี้ต่างหาก
- แม้จะธรรมขั้นใดก็ตาม ก็มี สนฺทิฏฺฐิโก แนบไปทุกขั้นๆ
- แต่ขั้นสุดท้ายต้องเป็นอย่างว่านี้ -เป็นธรรมเพื่อขั้นสุดท้าย ให้เชื่อตัวเอง อย่าเชื่อใคร ให้เชื่อ สนฺทิฏฐิโก
____________________________________________________________________
- ทางด้านจิตใจของท่านดี ดีมาก (ท่านสิงห์ทอง) - ท่านก็เล่าให้เราฟังทุกแง่ทุกมุม
ตั้งแต่ขั้นสำคัญมันก็มี 2 ขั้น กามราคะ กับอวิชชา -ท่านพูดถูกต้องทั้งสองเลย -ถ้าท่านไม่เป็นจะพูดไม่ถูก นี่เราจับเอาตรงนี้
- ในตำราว่า
กัลยาณปุถุชน ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาของพระโสดาบันได้
พระโสดาบัน ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาของพระสกิทาคาได้
พระสกิทาคา ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาของพระอนาคาได้
พระอนาคา ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาของพระอรหันต์ได้
- จะแก้ได้ยังไง มันมีเคล็ดๆ อยุ่นั้นประจำของผู้ปฏิบัตินั่น
เมื่อปฏิบัติลงไปตรงไหนๆ รู้ตรงนั้นๆ ในคัมภีร์ไหนไม่มี - แต่มันรู้เลยนะว่า อันไหนเป็นของจริง
- หลักปฏิบัติต้องของจริง ต้องพูดออกมาได้อย่างจริงจำถูกต้องแม่นยำ
- ความจำ เป็นอย่างหนึ่ง, ความจริงเป็นอย่างหนึ่ง - ความจริงก็ประจักษ์ในเจ้าของผู้ปฏิบัตินั้น เรียกว่าความจริง
- อย่างกามราคะยังงี้ ท่านพูดได้ถูกต้อง - ผมซักเอาจนแหลก เพราะเป็นลูกศิษย์ผมนี่ เอ้า! เล่าให้ฟังชัดๆซิ - ท่านก็เล่าของท่านไปถูกต้อง
- ไปถึงขั้นสุดท้ายท่านก็พูด - แต่มันแปลก -ท่านบอก ท่านก็ยอมรับว่า ท่านไม่มีขณะ แต่สมมุติว่า ถ้าผู้ไม่มีขณะ กับผู้มีขณะ ผลเลยออกไปจากนั้นเหมือนกัน - นี่ซิมันแปลกตรงนี้ ทำไมไปเหมือนกันได้
-ผู้มีขณะเลยจากขณะนี้ไปแล้วก็เป็นอย่างนั้น ผู้ไม่มีขณะก็เป็นอย่างนั้น - นี่ซิจึงทำให้เราพิจารณา เอ! หรือว่า สุกขวิปัสสโก ท่านจะเป็นอย่างนี้กระมัง -ทำให้เราคิด
____________________________________________________________________
- ผู้ท่านไม่เกิด ท่านก็รู้ท่านว่าหมดแล้ว - หมดอะไร- หมดเชื้อตัวเทวทัตพาให้เกิดนั่นแหละ
- พอตัวนี้ถูกกำจัดออกหมดแล้ว ก็เหลือแต่จิตบริสุทธิ์ล้วนๆแล้ว ดวงใดก็ตาม
- พระอรหันต์มีกี่หมื่น กี่แสน กี่ล้านองค์ก็ตาม ไม่เกิดทั้งนั้น ท่านผู้นี้เป็นผู้สำรอกออกหมดแล้ว - ข้าวที่เราหุงสุกมาแล้วนี้เอาอะไรไปเกิด -เอาเปลือกมันออกก็ยังไม่แน่ใจนัก บางทีเชื้อมันฝังอยู่ภายในอาจเกิดได้ - เอามาหุงต้มเสีย ให้สุกเต็มที่เสียแล้วเอาอะไรไปเกิดที่นี่
____________________________________________________________________
- เมื่อจิตได้ถึงขั้นแห่งความบริสุทธิ์แล้ว ต้องเป็นมหากตัญญูมหากตเวทีทันทีเลย
- เรื่องเห็นคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คุณของครูบาอาจารย์นี้ยกไว้- ไม่มีอะไรเทียบแห่งใจของพระอรหันต์ที่เห็นคุณ -เพราะใจของพระอรหันต์ที่เห็นคุณนั้นเป็นใจล้วนๆ ไม่มีกิเลสเข้าไปเคลือบ ไปแฝง ไปคัดค้านต้านทานบ้างเลย
____________________________________________________________________
- ความปรุงคิดเกิดขึ้นแล้วดับไป
- เปือกตม คือ กิเลสได้ตกในจิตของพระอรหันต์ ย่อมกลิ้งตกไปในขณะนั้น -โดยไม่ต้องสลัดปัดทิ้งมันเลย มันหากเป็นของมันเอง
- เพราะกิเลสแท้ๆ นั้นได้แก่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั้นได้พังลงไปแล้วตั้งแต่ขณะได้บรรลุธรรม
- กิเลสในขันธ์เท่านั้นเองที่ปรากฎขึ้นในขณะที่ขันธ์แสดงตัวแย็บๆ เพียงเท่านั้น พอให้จิตรับทราบ - รับทราบแล้วก็ดับไปๆ
- เพราะคำว่าจิต จิตนั้นไม่ใช่หัวตอ - ดีก็รับทราบ ชั่วก็รับทราบ
- ถ้าหากว่ากิเลสมีอยู่เป็นพื้นภายในจิตใจนั้นแล้วจะติด จะยินดีจะยินร้าย
- แต่พื้นฐานของจิตจริงๆ นั้น บริสุทธิ์แล้ว กิเลสไม่มี จึงไม่ได้รับความยินดียินร้าย - เป็นแต่เพียงว่า รับทราบดีชั่วๆ สิ่งที่รักน่าชัง รับทราบๆ ดับไปพร้อมๆ นี้แล
- เปือกตม คือกิเลสตั้งอยู่ในจิตของพระอรหันต์ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้นาน กลิ้งตกไปในทันทีทันใด
____________________________________________________________________
- เรื่องความฝันนี้ก็เป็นเรื่องของธาตุของขันธ์นี่ -ทำไมฝันไม่ได้ นี่เป็นเรื่องของขันธ์5 แท้ๆ
ขันธ์5 เป็นสิ่งที่กระดุกกระดิกได้เหมือนทั่วๆ ไป ทำไมพระอรหันต์จะฝันไม่ได้
- เอ้า! พิจารณาธาตุขันธ์ให้ชัดเจนซิ ทั้งจิตด้วย, ทั้งขันธ์5 ด้วย - รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ด้วย - ท่านบรรลุนิพพาน ท่านสังหารขันธ์ 5 นี้ให้ฉิบหายไปแล้วเหรอ ขันธ์ 5 จึงดีดดิ้นไม่ได้ - การดีดดิ้นได้ก็ฝันได้ล่ะซิ
- ขันธ์เป็นขันธ์นี่ ทำไมจะฝันไม่ได้
- ขันธ์5 เป็นขันธ์5 ก็ต้องแสดงอยู่เป็นธรรมดา - เมื่อเป็นเช่นนั้นทำไมจะฝันไม่ได้
การฝันก็เป็นการแสดงขันธ์5 นี่นะ
- อันหนึ่งที่ว่า ถ้าสำเร็จธรรมขั้นสูงสุด คืออรหัตตภูมิแล้ว ถ้าไม่ได้บวชจะตายภายใน 7 วันนี้ ก็เหมือนกัน
- วิสุทธิธรรม หรือ วิสุทธิจิต นี้เป็นเพชฌฆาตฆ่าขันธ์ 5 เชียวเหรอ? - อันนี้ไม่ใช่เป็นเพชฌฌาตนี่นะ
- สิ่งใดที่ควรไม่ควร พระอรหันต์ท่านจะรู้ของท่านเอง -ถึงขั้นนี้แล้ว จะไม่มีใครมาบอกก็ตาม ท่านจะรู้วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องขันธ์ของท่าน -เหตุใดจะต้องไปตายภายใน 7 วันวะ- มันเกินเหตุเกินผล
- ตัวผู้ไปจดจารึกนั้นน่ะ ถ้ามีความจริงภายในจิตใจ มีภูมิจิตภูมิธรรมแล้ว จะได้ธรรมะละเอียดมามากมาย จะไม่มีแต่ความจำล้วนๆ มา
____________________________________________________________________
- พระอรหันต์เท่านั้นที่จะเป็นผู้ยืนยันในความรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ - เอานี้เป็นหลักใหญ่เลยทีเดียว - หลักอันดับแรกคืออะไร คือ อวิชฺชาปจฺจยา
- พระอรหันต์เป็นผู้ได้สังหารอวิชชานี้ออกจากใจได้หมดโดยสิ้นเชิง เป็นจิตที่บริสุทธิ์เต็มที่ -
นี่เป็นเครื่องยืนยันให้ได้กราบพระพุทธเจ้าอย่างสนิทติดใจฝากเป็นฝากตาย
- ไม่มีใครที่จะกราบพระพุทธเจ้าได้สนิทยิ่งกว่าอรหันต์ท่าน - เพราะกราบด้วยความเห็นบุญเห็นคุณ - กราบด้วยความยอมรับ - กราบด้วยการที่เอาจิตของตนนี้เป็นสักขีพยาน ยืนยันกับความเป็นจริงของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนไว้และเป็นผู้บริสุทธิ์ไปแล้ว
- อวิชชานี่ล่ะ พระอรหันต์ทุกๆองค์จะต้องรู้เหมือนกันหมด
- พระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรก มาให้อุบายวิธีการต่างๆ - เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเป็นผู้ที่เลิศเลอที่สุด
- สยัมภู ทรงรู้เองเห็นเอง
- อวิชชาตัวนี้ล่ะ เป็นตัวสำคัญที่สุด ฝังอยู่ภายในจิตใจ - นี่ตัวนี้พาให้เกิดบุญบาป พาให้ไปสูงไปต่ำ
____________________________________________________________________
- พระอรหันต์ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน
- อยู่ด้วยกันจำนวนมากน้อย -ต่างคนต่างถือธรรมวินัยเป็นแบบเป็นฉบับเป็นหัวใจ - เป็นกิริยาแห่งความเคลื่อนไหว - แล้วจะเป็นความร่มเย็นเป็นสุขด้วยกัน
- ดังพระสาวกท่านมีจำนวนร้อยๆ พันๆ หมื่นๆ แสนๆ องค์ ก็ไม่เคยได้ยินเลยว่าพระอรหันต์เหล่านั้นมีการทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งกันเรื่องความรู้ความเห็นไม่ลงรอยกัน- อย่างนี้ไม่ปรากฎแม้รายหนึ่งเลยในตำรับตำรา
- ธรรมแท้นี้เมื่อได้เข้าถึงใจแล้ว ย่อมเป็นความแท้จริงอยู่ตลอดเวลา - ไม่เคลื่อนไหวจากนั้นสู่ความจอมปลอมแม้แต่น้อยเลย พอที่จะให้เกิดความทะเลาะเบาะแว้งหรือขัดแย้งกัน ในเรื่องหลักธรรมหลักวินัย หรือความประพฤติต่างๆ
____________________________________________________________________
- สาวกอรหันต์ของพระพุทธเจ้า ท่านเหล่านี้เป็นผู้ให้ความอบอุ่นแก่ชาวพุทธ - นอกจากให้ความอบอุ่นแก่ตนเองได้แล้ว ยังให้ความอบอุ่นแก่ผู้เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวโยงกัน มีบริษัททั้งหลาย คืออุบาสกอุบาสิกา
- ท่านเหล่านี้อยู่ด้วยความอบอุ่น แม้จะห่างไกลจากพระพุทธเจ้า ซึ่งปรินิพพานไปนานแล้วก็ตาม - แต่ยังมีพระสงฆ์สาวกผู้ทรงมรรคทรงผลด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ให้ความอบอุ่น, ความไว้วางใจ ,ความตายใจ เป็นหลักใจพึ่งเป็นพึ่งตายแก่ท่านเหล่านั้นเรื่อยมาโดยลำดับ
- ผลของการปฏิบัติที่ได้รู้ได้เห็นจริงๆ , ทรงมรรคทรงผลสำหรับผู้ปฏิบัติจริงๆ สามารถให้ความอบอุ่นแก่โลกได้ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ นี่เราพูดในวงมนุษย์
- ส่วนวงเทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม ทั้งหลายนั้นเป็นประเภทหนึ่ง ซึ่งได้รับความอบอุ่นจากธรรมของพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน
____________________________________________________________________
- ถ้าหากไม่มีความสงบภายในจิตใจ เกี่ยวกับเรื่องธรรมเข้าแทรกบ้างเลยนั้น- อย่างไรก็ร้อยทั้งร้อย พันทั้งพัน เป็นกิเลสทั้งหมด - ความรู้นั้นเป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมด - เราจะหาเอาตัวจริงอะไรจากความรู้ที่เป็นกิเลสได้เล่า
- กิเลสที่หนาแน่นแก่นฉลาดที่สุดขนาดไหนก็ตาม ท่านก็ผ่านไปแล้ว สังหารไปหมดแล้ว ไม่มีซากเหลือ อยู่ภายในจิตใจแล้ว ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา จนถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้นแล้ว
- ทีนี้จิตของท่านเป็นอย่างไร จิตของท่านจะมีอะไรไปเจือปน- นั่นแหละท่านว่าวิเศษ วิเศษตรงนั้น
- ถ้าลงถึงขั้นมหาสติมหาปัญญาแล้ว- จะมีแต่จอมกษัตริย์วัฏจิตโดดเดี่ยว คือ อวิชชาที่แทรกอยู่นั้นเท่านั้น - นอกนั้นตัดเข้ามาหมดแล้วจะมีอะไรเหลือ ไม่มีเลย - แล้วก็ไม่กี่เวลา มหาสติมหาปัญญานี้ก็สังหารกันลงได้
-ทีนี้พอ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ซึ่งเป็นตัวกษัตริย์วัฏจักรที่ฉลาดแหลมคมและละเอียดที่สุดนั้น พังลงไปเท่านั้น - อะไรที่นี่ที่เหนือจากนั้น วิเศษวิโสยิ่งกว่านั้น เอามาเทียบซิ สามแดนโลกธาตุนี่จะมีอะไรเหมือนธรรมชาตินั้น - นั้นแหละที่ท่านไม่ติด ท่านไม่ข้อง คือไม่มีอะไรเหมือนที่จะให้ติด ,ไม่มีอะไรมีคุณค่ายิ่งกว่าความเหนือแล้ว
- โลกุตรธรรม คือ ไม่มีอะไรเหมือนเลย- ถ้าพูดแบบที่ว่าเหนือ ก็หมดแล้ว ,จะหย่อนตัวลงมา จะก้าวตัวลงมาหาอันนี้อะไร - เหมือนกับมูตรคูถที่จมอยู่ในส้วนในถานนั่นเอง ก็มีแต่พวกสัตว์พวกหนอนต่างๆ ที่เต็มไปอยู่ในส้วมในถานซิ - คนที่มีสมบัติผู้ดี ใครก็รู้อยู่แล้ว จะไปยุ่งกับมันอะไร
- ถ้าพูดถึงเรื่องความสมบูรณ์ก็เต็มที่แล้ว, ถ้าพูดถึงเรื่องความรู้ก็ล้วนๆแล้ว
- นั่นแหละ ความรู้ของผู้สิ้นกิเลสเป็นความรู้ล้วนๆอย่างนั้น- ไม่เข้ามาเจือปนกับโลกอันใด กับสมมุติอันใดเลยทั้งสามแดนโลกธาตุ ซึ่งเคยคลุกเคล้ากันมานานเท่าไรกับจิตดวงนี้ - ขาดสะบั้นไปหมด ไม่มีอะไรเหลือเลย นั่นแหละความรู้ของท่าน
- แม้ทรงธาตุทรงขันธ์อยู่ก็ตาม - ขันธ์ก็เป็นขันธ์, ธาตุก็เป็นธาตุ ท่านก็รู้อยู่เป็นของใครของเรา - บังคับให้เข้าคละเคล้ากันก็บังคับไม่ได้ เพราะเป็นอฐานะแล้ว- ระหว่าง วิมุตติจิต กับ สมมุติ ต่างกันอย่างนั้น
____________________________________________________________________
- ท่านผู้ที่จะสามารถรู้เห็นตามที่ทรงแสดงและเชื่อพระองค์ จนถึงขนาดที่ว่าเชื่อจนถึงใจ - เป็นตายยอมถวายพระพุทธเจ้าเลยก็มีจำนวนมากมาย -เช่น พระอรหันต์เป็นอันดับหนึ่ง ที่มอบกายถวายชีวิตต่อต่อพระพุทธเจ้า โดยไม่มีความเยื่อใยเสียดายในชีวิตของตนแม้แต่น้อยเลย
- บูชาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยความเชื่ออย่างฝังใจอันลึกซึ้ง - ไม่มีอะไรซึ้งเกินความเชื่อของพระอรหันต์ท่าน - ได้ฝังลึกในพระโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พร้อมกับสักขีพยานที่รู้ที่เห็นภายในจิตใจของตน อันสืบเนื่องมาจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว -จึงรู้เห็น นี่อันดับหนึ่ง
____________________________________________________________________
- ความรับผิดชอบทางสัญชาตญาณเป็นยังไง
- เวลาเราเดินไปที่ลื่นๆ มันจะหกล้ม - แต่จิตจะช่วยตัวเองอย่างเต็มที่ - คนมีกิเลสเต็มหัวใจก็ตาม พระอรหันต์ก็ตามนะ จะช่วยเจ้าของอย่างเต็มที่ในเวลานั้น ไม่ยอมให้หกล้มง่ายๆ - จนกระทั่งสุดกำลังแล้วถึงจะยอมล้ม
- หรือเดินไปจะเหยียบรากไม้ เข้าใจว่าเป็นงู จะกระโดดทันที - นั่นเป็นกิริยาแห่งสัญชาตญาณรับผิดชอบตัวเองของพระอรหันต์ - ไม่ใช่อุปาทาน
- ที่ต่างกันอยู่คือ จิตของปุถุชนจะร้อนวูบ เพราะตกใจกลัว มันจะสะเทือนมากภายในใจ
- ส่วนจิตของท่านผู้สิ้นกิเลสแล้ว เพียงแต่แสดงอาการแย็บๆ เท่านั้น - เพียงแต่รับทราบว่าจะเป็นอันตรายต่อขันธ์
- จิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆแล้ว เป็นหลักธรรมชาติประจำใจ คือ รับผิดชอบตัวเองทั่วสรรพางค์ร่างกาย คือต้องรู้เจ็บรู้ปวด รู้ร้อนรู้หนาว นี่รับทราบตลอด- เพียงแต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ซึมซาบเข้าสู่ใจได้เท่านั้น - นี้เป็นหลักธรรมชาติ
- ไม่ซึมซาบ ไม่กระเทือนถึงจิต - อันนี้เรียกว่า เวทนาจิตในจิตพระอรหันต์ไม่มี คือ ไม่มีเวทนาจิต - มีเฉพาะเวทนาทางกายอย่างเดียว
- สุขไม่มี ทุกข์ไม่มี ไม่มีร้อน ไม่มีหนาว ที่จะเข้าไปสัมผัสภายในจิต - เพียงแต่รับทราบเท่านั้น -แต่ไม่ซึมซาบเข้าสู่ใจ คือ ไม่ประสานกัน
- เวลาจิตหมดความรับผิดชอบนะ ทุกขเวทนาในร่างกายจะมีมากขนาดไหน ถึงขนาดที่ว่าจะอยู่ไม่ได้ - เวลานั้นทุกขเวทนาทั้งหมดดับไป พร้อมกับร่างกายหมดความหมาย - ตา หู จมูก ร่างกายเป็นท่อนไม้ท่อนซุงฉันใด ทุกขเวทนาก็ไม่มีฉันนั้นเหมือนกัน - เป็นอันว่า ระงับหมด จะเหลือแต่ความรู้เท่านั้น - ถ้าขยับก็ไป - ผู้รู้จะไม่มีทุกขเวทนาทางกายให้รับทราบเลย มันดับหมด
- ขณะเดียวกับร่างกายหมดความหมายนั่นแล -ความรับผิดชอบของจิต จึงหดตัวเข้ามาในจุดจุดเดียว - ถ้าว่าจุดนะเข้ามาอยู่ในนั้น ร่างกายหมดความหมายไปเลย- ไม่มีว่าเจ็บว่าปวด ได้ยินโน่นนี่ไม่มี -ดับหมดทวารนี่ เหลือแต่ความรู้เท่านั้น - ถ้าขยับก็ไป
- คนเรา ถ้าหากว่ามีสติอยู่แล้ว - เวลาจะตายจริงๆ -ทุกขเวทนาทางกายจะต้องดับหมด ก่อนเวลาจิตออกจากเรา
- ส่วนพวกเรามันไม่เป็นอย่างนั้น มันทิ้งเนื้อทิ้งตัว ตกเตียง ตกที่นอน และวุ่นวายตั้งแต่ยังไม่ตาย - ยังไม่จวนจะตายก็ดิ้นไปก่อนแล้ว มันเป็นอย่างนั้นนะ -
____________________________________________________________________
- นี้พูดถึงเรื่องจิตตภาวนา มันสำคัญมากอย่างนี้นะ - เวลาท่านอยู่ในป่าเขา - ท่านมาปรุงมาคิดยุ่งอะไรกับหยูกยา - เวลาจำเป็นจริงๆ ใจท่านจะหมุนติ้วเข้ามาข้างในเลย - เป็นอะไรก็ตาม ท่านจะไม่กลัวคำว่าเป็นว่าตาย - ดูความจริงเท่านั้นว่าเป็นยังไง เอาให้ถึงขีดถึงแดน -ในเวลายังไม่ตาย ดูกันให้ชัดเจน - เวลาตายแล้วก็หมดวิสัยที่จะดู
- เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว กำลังจิตของท่านผู้บริสุทธิ์จะเด่นผึงๆ เลยนะ - เรื่องความทุกข์ทั้งหลาย จะไม่มีอำนาจเหนือจิตเหล่านั้นเลย - จิตนั้นจะฟอกตลอด - เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่า โรคหายได้ด้วยธรรมโอสถ คือการพิจารณา - เวลาตาย ก็ตายอย่างอาจหาญ
- ยกตัวอย่างท่านอาจารย์กู่ของเรา ที่ท่านไปเสียที่บ้านโคกกะโหล่ง - ท่านคงเป็นมะเร็งนั่นแหละ
เขาว่าเป็นฝีหัวปลาไหล เป็นอย่างนี้นานๆแล้ว - หนักๆ เข้า ท่านก็บอกว่า ไม่ไหวแล้วนะ จะไม่ไหวแล้ว ผมจะไปเร็วๆ นี้ - ท่านนั่งให้พระประคองอยู่ แล้วให้หมู่เพื่อนทั้งหลายทำความเข้าใจกับตัวเองให้ดีนะ ท่านสอนย่อๆ -ขอให้อบรมใจให้ดีเถอะ จะไม่มีอะไรกระทบกระเทือนถึงจิตเลย ขอให้ทำจิตให้ดีนะ- แล้วเวลาผมตายไปนี่ อย่าเข้าใจว่าผมตายไปนะ ผมที่แท้จริงไม่ได้ตายนะ นี่เป็นแต่ธาตุสลายตัวไปเพราะหมดกำลังของมัน เอาล่ะนะไปล่ะนะ - เท่านั้นแหละท่านก็ไปเลย
____________________________________________________________________
คัดลอกมาจาก:http//www.bloggang.comviewblog.phpid=katkine&date=03-02-2010&group=4&gblog=11ภูมิจิตพระอรหันต์ 1- หลวงตามหาบัว.mht -
อนุโมทนา สาธุ สาธุ สาธุ -
กราบหลวงตาด้วยเศียรเกล้า เคารพสุดหัวใจดวงนี้