มงคลยอดชีวิต ข้อ ๑ อเสวนา จ พาลานํ - ไม่คบพาล

ในห้อง 'ทวีป อเมริกา' ตั้งกระทู้โดย Wat Pa Gothenburg, 1 ธันวาคม 2008.

  1. Wat Pa Gothenburg

    Wat Pa Gothenburg เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    920
    ค่าพลัง:
    +260
    <table border="0" cellpadding="7" cellspacing="7" width="500"><tbody><tr><td colspan="3" align="center">[​IMG]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+2]สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( พิมพ์ ธมฺมธโร)[/SIZE]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+1]วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร[/SIZE]</td> </tr> </tbody></table>

    <center> มงคลยอดชีวิต ข้อ ๑ </center>
    <center> อเสวนา จ พาลานํ - ไม่คบพาล </center> เชิญเถอะ เรามาพากันศึกษาในมงคลยอดชีวิต ซึ่งว่าด้วยการไม่คบพาล แต่ในชั้นต้นนี้ ควร ทราบใจความของมงคลไว้ก่อน ในมังคลัตถทีปนี หมายเอาเหตุถึงความเจริญด้วยมนุษยสมบัติ และ นิพพานสมบัติเป็นมงคล ในปรมัตถโชติกาหมายเอาคุณให้บรรลุความสำเร็จ และความเจริญเป็นมงคล ในอภิธานัปปทีปิกาสูจิหมายเอาคุณที่ทำลายความชั่วเลวทราม และคุณเครื่องดำเนินไปสู่ความบริสุทธิ์ เป็นมงคล นี่ไวพจน์ของมงคลที่จะช่วยเรา ให้ทราบใจความของ มงคลชัดขึ้นอีก ซึ่งมีอยู่ ๖ คำ คือ ถทฺทํ เจริญ, เสยฺโย ประเสริฐกว่า, กลฺยาณํ ดี, สุภํ งาม, เขมํ เกษม, และ สิวํ สงบ
    เหตุให้เจริญด้วยสรรพสมบัติ มีวัฒนธรรมสมแก่สังคม ให้เลื่อนฐานะของบุคคลขึ้นสูงกว่า ภาวะเดิม ให้มีกิริยาวาจาใจดีงาม ให้มีชีวิตเกษมปลอดภัย ปราศจากอุบาทว์และอุปสรรค และให้มี กายสงบวาจาสงบใจสงบ นี่แหละคือมงคล ตรงกันข้ามกับอัปมงคล ซึ่งเป็นเหตุทำให้เสื่อม ฉุดฐานะ ของบุคคลลงให้ต่ำกว่าภาวะเดิม ให้ใจเลวร้าย กิริยาวาจาขัดสังคม ชีวิตเดือดร้อนวุ่นวายด้วยภัย อุบาทว์และอุปสรรค นี่ใจความของมงคลและอัปมงคล

    คนพาลเป็นคนชนิดไร คนเราคือสัตว์เมือง ชอบอยู่รวมกันเป็นหมู่ และคนในหมู่นั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือคนดีกับคน เสีย คนดีเป็นคนมีความดี หรือเก็บความดีไว้ในตน ส่วนคนเสียเล่า ก็คือคนหมดความดี คนเสื่อมไป จากความดี หรือคนตายจากความดี ความดีหายไปจากเขา พระพุทธองค์ทรงเรียกคนดีว่าบัณฑิต ทรงเรียกคนเสียว่าคนพาล
    พาล แปลว่า "อ่อน" บ้าง ว่า "ตัดประโยชน์ทั้งสอง" บ้าง หมายความว่า คนอ่อนความคิด ไม่อาจคิดริเริ่มสร้างชีวิตให้ดีขึ้นกว่าภาวะเดิมได้ คนอ่อนสติ ไม่มีกำลังพอจะปลุกตนให้ตื่นตัวตื่นใจ และคนอ่อนปัญญาไม่มีปรีชาสอดส่องให้รู้ดีรู้ชั่วหรือรู้เหตุรู้ผล เป็นคนมีชีวิตอยู่แค่ลมหายใจเข้าออก เท่านั้น มิหนำซ้ำตัดประโยชน์ทั้งสองที่ตนควรบำเพ็ญเสียด้วย นี่คือคนพาล
    แท้จริง ประโยชน์ทั้งสองคือประโยชน์ชาตินี้ และประโยชน์ชาติหน้านั้น เป็นเครื่องมือสำหรับ พัฒนาชีวิตให้ก้าวหน้า คนพาลตัดทอนประโยชน์ทั้งสองนั้นเสีย ชื่อว่าฉุดชีวิตของตนไว้ไม่ทันก้าวหน้า และเหยียบย่ำชีวิตให้ตกต่ำอับเฉาเศร้าหมอง เขาไม่เข้าใจเลยว่าความก้าวหน้าเป็น เช่นไร ในโลกนิติ ว่า "คนพาลชอบแสดงท่าทีเทียมบัณฑิต แต่ถูกบัณฑิตถามเข้า ก็ได้แต่พูดว่า ครับครับ เหมือนกับเจ้า กบแม้จะยกตัวขึ้นเทียมราชสีห์ แต่เพียงถูกกาเฉี่ยวไป ก็ได้แต่ร้องปอด ปอด"
    กบจะนั่งตัวตรงกระเหย่งขา
    แสดงท่าเยื้องกรายคล้ายราชสีห์
    แต่กาจับกลับขานวานอารี
    ว่าช่วยทีช่วยด้วยจะม้วยปราณ.
    แม้พาลโง่เยี่ยงกบบัดซบยิ่ง
    ก็ทำหยิ่งเคียงปราชญ์ผู้อาจหาญ
    เมื่อปราชญ์ถามทายทักชักลนลาน
    ได้แต่ขานว่าครับขอรับเอย
    ประโยชน์ชาตินี้ ย่อมเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาชีวิตให้อุ่นหนาฝาคั่ง ตั้งหลักฐานได้มั่นคงใน ปัจจุบัน ที่คนพาลตัดทอนเสียนั้น มีอยู่ ๔ ประการ คือ
    ๑. อุฏฐานสัมปทา สมบูรณ์ด้วยความขยันหมั่นเพียร มุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียน เพียรหาทรัพย์ เลี้ยงชีวิต และเสริมสร้างชีวิตให้มีหลักฐาน ด้วยรีบเร่งทำธุระที่กะไว้ไม่ทอดทิ้ง ทำงานที่มา ถึงมิชักช้า ทำงานตามเวลา ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง แต่คนพาลเป็นคนเกียจคร้าน ทอดทิ้งธุระที่กะไว้ว่าจะทำเสีย เป็นคนกระปลกกระเปลี้ยละเหี่ยใจ หนักไม่เอาเบาสลัด เบื่อหน่ายการงาน ผลัดเพี้ยนเวลาร่ำไป นี่ชื่อ ว่าตัดประโยชน์ข้อต้น
    พาลเฉาเซาซบซ้ำ ซมซาน
    หลับสนิทเนานมนาน บ่เว้น
    ไป่ลุกเร่งกอบการ กิจใหญ่ น้อยนา
    ทิ้งทับถมซ่อนเร้น เริศร้างทางเจริญ
    ๒. อารักขาสัมปทา สมบูรณ์ด้วยการรักษา คือรู้จักถนอมทรัพย์ที่หามาได้ รู้จักเก็บงำ รู้จัก บูรณะ รู้จักทำให้เกิดดอกออกผล เข้าใจคุ้มครองให้ปลอดภัย และเอาธุระรักษาหน้าที่ของตนให้ไม่ เสื่อมเสีย แต่คนพาลไม่รู้จักรักษาทรัพย์ ไม่เอาธุระหน้าที่การงาน แม้จะเกิดมาบนกองเงินกองทอง อาศัยร่มเงาของพ่อแม่เชิดหน้าชูตา ให้อยู่เย็นเป็นสุขชื่นบานสำราญใจ แต่เขาก็ประมาทเสีย มัวเพลิน อยู่ในความมั่งมีของพ่อแม่ เพลินเอาจนหลง หลงเอาจนเหลิง และเหลิงเอาจนเสียคน แทนที่จะเอา ธุระหน้าที่และรักษาทรัพย์มรดกไว้ ก็กลับเป็นคนสุรุ่ยสุร่าย ไม่เอางานเอาการอะไร กลายเป็นเสือเจ้าชู้ ตัวเก่ง เป็นนักเลงสุราตัวยง เป็นนักหลงการพนันตัวลือ นี่ชื่อว่า ตัดประโยชน์ข้อสอง
    พาลเกิดในชาติเชื้อ สูงวงศ์
    ประมาทจิตคิดทะนง ทั่วหน้า
    มัวหลงกลับพาพงศ์ ตนเสื่อม สูญแฮ
    นานหน่อยค่อยต่ำช้า หมดเชื้อเครือสูง
    ๓. กัลยาณมิตตตา คบเพื่อนที่ดีงาม คือเพื่อนมีอุปการะเกื้อกูลอุดหนุดกัน เพื่อนร่วมสุข ร่วมทุกข์ด้วยกัน เพื่อนคอยตักเตือนให้สติ แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ และเพื่อนมีความรักใคร่กันจริง แต่คนพาลนั้นชอบคบคนชั่ว ซึ่งมีลักษณะเป็นคนปอกลอก เป็นคนดีแต่พูด เป็นคนหัวประจบสอพลอ และเป็นคนชักจูงไปในทางฉิบหาย เช่นนี้ นี่ชื่อว่าตัดประโยชน์ข้อสาม
    ๔. สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตตามกำลังทรัพย์ ที่มีอยู่หรือที่หามาได้ รู้จักประหยัดใช้ทรัพย์ให้ไม่ฝืด เคืองนัก ไม่ฟูมฟายนัก ตั้งจำกัดรายจ่ายให้พอเหมาะ เลี้ยงชีวิตให้เป็นอยู่อย่างง่าย ให้ไม่สิ้นเปลือง ไปในทางที่มิจำเป็น ตั้งใจประหยัดตามหลักธรรมในพระศาสนา คือ แบ่งใช้จ่ายเลี้ยงชีวิตส่วนหนึ่ง แบ่งไว้ประกอบการงาน ๒ ส่วน แบ่งไว้ช่วยตัวในคราวมีการจำเป็นเกิดขึ้นส่วนหนึ่ง
    แต่คนพาลไม่รู้จักประมาณพอดี เป็นคนก้นถุงรั่ว มีทรัพย์อยู่มากน้อยเท่าไรไม่เหลือหรอ เมื่อ หมดเนื้อหมดตัวลงต้องกู้หนี้ยืมสิน ด้วยหวังว่าจะเปลื้องทุกข์ออกจากตน แต่กลับจะรนเข้าหาทุกข์เสีย ซ้ำ ทำนองนกติดแร้วยิ่งดิ้นก็ยิ่งติดแน่นเข้า เป็นการยันตัวลงเหว ให้เพื่อนบ้านเอาใจออกห่าง เหมือน ต้นไม้ไร้ผลนกไม่จับ ป่าไร้ร่มสัตว์ไม่อาศัย เช่นนี้ นี่ชื่อว่าตัดประโยชน์ข้อสี่
    มีทรัพย์บ่เลือกใช้ สิ่งใด ควรนา
    ทรัพย์หมดก่อหนี้ไป เกียรติสิ้น
    หวังสุขแต่ทุกข์ภัย มาสู่ ตนแฮ
    ดุจนกติดแร้วดิ้น เพื่อพ้นภัยถึง
    แม้ประโยชน์ชาติหน้า คนพาลก็ตัดทอนเสียสิ้นเช่นกัน ที่จริงประโยชน์ชาติหน้านั้น ย่อมเป็น เครื่องมือสำหรับพัฒนาชีวิตให้รุ่งเรืองดีเด่นในโลกหน้า มีอยู่ ๔ ประการ พึงทราบคำบรรยาย ต่อไปนี้
    ๑. สัทธาสัมปทา สมบูรณ์ด้วยศรัทธา คือ เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรมว่า ทำดีได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว เชื่อว่าผู้ทำกรรมใดดีหรือชั่ว กรรมดีหรือชั่วนั้นก็เป็นของผู้ทำ และเชื่อว่าพระรัตนตรัยมีคุณดีจริง เพราะพระพุทธตรัสรู้สัจธรรมจริง พระธรรมเป็นสัจธรรมแท้ พระสงฆ์ปฏิบัติสัจธรรมได้ถูกต้อง ประกาศให้ประชาชนทราบว่า มีผู้ปฏิบัติได้จริง และผู้ถือปฏิบัติตาม ก็เป็นคนดีได้แน่นอน
    แต่คนพาลเป็นอศรัทธา คือไม่เชื่อเหตุเชื่อผล ไพล่ไปเชื่อมงคลตื่นข่าว ตื่นผู้วิเศษ หลง งมงายในข่าวลือที่เหลวไหล เชื่อฤกษ์เชื่อยาม เชื่อโชคเชื่อลาง ถือว่าผู้มีโชคดีอยู่ที่เทวดาหรือผีให้คุณ ผู้ประสบเคราะห์ร้ายก็ว่าเทวดาหรือผีให้โทษ และเมื่อแสดงความเก่งก๋าตามถนนหนทาง เที่ยวพาลคน โน้นแขวะคนนี้ ชวนทะเลาะวิวาท ตีฟันรันทำกัน ฝ่าฝืนกฎหมายข้อบังคับได้ ถือว่าตัวเป็นคนดีเด่น เช่นนี้ นี่คือตัดประโยชน์ชาติหน้าข้อต้น
    พาลโทษไทท้าวท่วย เทวา
    และโทษสถานภูผา ย่านกว้าง
    โทษถึงหมู่วงศา มิตรญาติ
    ไป่โทษกรรมเองสร้าง ส่งให้เป็นผล
    ๒. สีลสัมปทา สมบูรณ์ด้วยศีล คือมีศีลบริสุทธิ์สะอาดไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย ทำแก่เขาในสิ่งที่ตนต้องการให้เขาทำแก่ตน ไม่ทำแก่เขาในสิ่งที่ตนไม่ต้องการให้เขาทำแก่ตน แต่คน พาลเป็นคนทุศีล ชอบเบียดเบียนเขาทางกายบ้าง เบียดเบียนทรัพย์สมบัติของเขาบ้าง เบียดเบียนเขา ในทางประเวณีบ้าง เบียดเบียนเขาทางวาจาบ้าง ชื่อว่าทำแก่เขาในสิ่งที่ตนไม่อยากให้เขาทำแก่ตน นับเป็นคนก่อเวรภัย ซึ่งจะถูกเขาจองเวรตอบเช่นนี้ นี่คือตัดประโยชน์ชาติหน้าข้อสอง
    คนโลภรือห่อนได้ ครองศีล
    คนมักมังษากิน บาปสู้
    มักเมาเล่าห่อนยิน คำเที่ยง
    คนมักมากเล่นชู้ ห่อนรู้กลัวอาย
    ๓. จาคสัมปทา สมบูรณ์ด้วยจาคะ คือยอมสละประโยชน์สุขส่วนน้อย ออกแผ่เผื่อเจือจาน ผู้อื่นด้วยเมตตากรุณา เพื่อประโยชน์สุขส่วนใหญ่ เช่นสละทรัพย์สินของตนออกบำรุงเขา โดยฐาน เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ช่วยคนป่วยให้หายโรคภัยไข้เจ็บ และเกื้อกูลชาติในคราวที่ชาติต้อง การ ตลอดถึงอุปถัมภ์พระศาสนาที่สั่งสอนคนให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ
    แต่คนพาลมีนิสัยคับแคบ ทำตนเป็นดั่งน้ำเค็มที่คนดื่มไม่ได้ และเหมือนเถาวัลย์ไร้ดอกแมลง ไม่เกาะ ลำธารไร้กระแสน้ำปลาไม่อยู่ เป็นคนใจจืดใจดำแข็งกระด้าง ละโมบโลภมาก ไม่สนใจในข้อ ว่า "นี่ของฉัน นั่นของท่าน และนั่นของเรา" จ้องแต่จะหยิบฉวยกอบโกยเอาของท่านและของเรามา เป็นของตนเสียเช่นนี้ นี่คือตัดประโยชน์ชาติหน้าข้อสาม
    ๔. ปัญญาสัมปทา สมบูรณ์ด้วยปัญญา คือมีปรีชาฉลาดหลักแหลม มีสติครองตนให้ เฉลียว รู้จักเหตุให้เกิดสุขว่า เมื่อทำแล้วให้ชื่นใจ ไม่เดือดร้อนในภายหลัง และรู้จักเลือกเฟ้นทำแต่ ส่วนดี หลีกเลี่ยงส่วนชั่วเสียหาย แต่คนพาลเป็นคนอ่อนสติปัญญา ไม่รู้จักเหตุเจริญเหตุเสื่อม ไม่รู้จัก เลือกทำส่วนที่ดี ไม่รู้จักหลีกเลี่ยงส่วนที่ชั่ว แม้รู้น้อยก็กลับว่ารู้มาก เขามีตาเหมือนตาบอด มีหูเหมือน หูหนวก มีปัญญาเหมือนคนใบ้ มีกำลังเหมือนไร้กำลัง เมื่อประโยชน์เกิดขึ้นเฉพาะหน้าแล้ว ก็นอนแอ้ง แม้งกลดั่งคนตายเช่นนี้ นี่คือตัดประโยชน์ชาติหน้าข้อสี่
    รู้น้อยว่ามากรู้ เริงใจ
    กลกบเกิดอยู่ใน บ่อจ้อย
    ไป่เห็นชะเลไกล กลางสมุทร
    ชมว่าน้ำบ่อน้อย มากล้ำลึกเหลือ
    (โลกนิติ)
    พาลมีตาดูได้สีใสปลอด
    แต่เหมือนบอดอับแสงทุกแห่งหน
    หูฟังมีน่าเบื่ออื้อเหลือทน
    ปัญญาตนมีไว้เหมือนใบ้บ้า
    มีกำลังเป็นดั่งกำลังโหด
    เมื่อประโยชน์เกิดเหมาะจำเพาะหน้า
    ไม่รีบร้อนนอนซ้ำมินำพา
    ประหนึ่งว่าคนตายน่าหน่ายเอย
    อาการของคนพาล
    เมื่อเราทราบความหมายของคำว่าพาล ว่าเป็นคนอ่อนความคิด อ่อนสติ อ่อนปัญญา ไม่คิด ก้าวหน้าไปในทางที่มีเหตุผล คิดวนเวียนอยู่แต่ในเรื่องไร้เหตุผล เช่นเรื่องโชค เรื่องเคราะห์ ของขลัง ลางดีลางร้าย ฤกษ์ยาม ไม่มีสติครองตน รังแต่จะแตกตื่นไปตามข่าวเล่าลือ ไม่มีปรีชาสอดส่องหาเหตุ ผล และเป็นคนตัดประโยชน์ทั้งสองดังกล่าวแล้ว จึงควรมาสำเหนียกอาการของพาลใน ๓ จุด ดัง ปรากฎในพาลบัณฑิตสูตร คือ
    ๑. ทุจฺจินฺติตจินฺตี มีคิดเรื่องชั่วที่ตนเคยคิดมาเป็นปกติ
    ๒. ทุพฺภาสิตภาสี มีพูดถ้อยคำชั่วที่ตนเคยพูดมาเป็นปกติ
    ๓. ทุกฺกฏกมฺมการี มีทำกรรมชั่วที่ตนเคยทำมาเป็นปกติ
    ตามพระพุทธโอวาทนี้ เราได้จุดสำเหนียกอาการของพาลเป็น ๓ จุด คือ คิด พูด และทำ หมายความว่า ความคิดชั่วเป็นพาลลักษณะ ถ้อยคำชั่วเป็นพาลนิมิต การทำชั่วเป็นพาลาปทาน พึง สำเหนียกอาการของพาล ๓ ประการนั้นดังนี้
    ๑. พาลลักษณะ ข้อสังเกตในอัธยาศัยของคนพาล ให้กำหนดได้ว่าอัธยาศัยของคนพาลนั้น โน้มเอียงไปเข้าข้างมโนกรรมที่ต่ำทราม ๓ ประการ เรียกว่าพาลลักษณะ มี
    ๑.๑ โลภัชฌาสัย คืออัธยาศัยโลภ ซึ่งอยากได้ อยากมี อยากเป็นเกินขอบเขต เห็น แก่ตัวจัด มุ่งแต่จะได้จะมีจะเป็น โดยมิเลือกทาง เช่น โลภในทางอำนาจวาสนาเกินตัว โลภทรัพย์ สมบัติ ให้แสวงหาในทางที่มิบังควร ใช้กโลบายกอบโกยเอาของเขามาเป็นของตน โลภอาหารการกิน ให้ไม่รู้จักประมาณ และโลภในทางกามคุณให้หมกมุ่นมึนเมารัก ฝักใฝ่ในกามารมณ์จนเกินพอดี
    ๑.๒ โทสัชฌาสัย คืออัธยาศัยโหดร้าย มีความโกรธเป็นเบื้องต้น ให้ครุ่นคิดฉุนเฉียว ขุ่นเคืองแค้นเขา มีความถือโกรธเป็นท่ามกลาง ให้คิดผูกเอาโกรธไว้ให้ร้อนกรุ่นอยู่ในใจ กลดั่งไฟที่ เถ้ากลบไว้ให้ร้อนระอุอยู่ภายใน โดยผูกใจเจ็บแค้นไว้ไม่รู้จักลืม และมีความพยาบาทเป็นเบื้องปลาย ให้คิดจองล้างจองผลาญเขา และคิดหมายมั่นปองปลิดชีพเขาเป็นที่สุด
    ๑.๓ โมหัชฌาสัย คืออัธยาศัยลุ่มหลง เข้าครอบงำใจให้งมงายอยู่ภายใน มีอวิชชา เป็นตัวนำให้ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี หรือบาปบุญคุณโทษได้ และมีมิจฉาทิฎฐิเข้าสนับสนุน ให้เห็นผิดเป็น ชอบ เช่นให้คิดลบหลู่บุญคุณของผู้มีคุณ และเกิดหลงรักหลงชังไปไม่รู้จักยั้ง แม้ถึงกับได้ประสบทุกข์ ขนาดหนัก ก็ยังหลงงมงายอยู่อย่างถอนตนไม่ขึ้น
    ๒. พาลนิมิต ข้อสังเกตในวจีกรรมของคนพาล ซึ่งให้หมายรู้ได้ว่าวจีกรรมของคนพาลนั้น โน้มเอียงไปเข้าข้างวจีกรรมที่ต่ำทราม ๔ ประการ เรียกว่าพาลนิมิต มี
    ๒.๑ พูดเท็จ คือพูดปด โกหกพกลม พูดเหลาะแหละ เดาประจบเอาง่ายๆ ปั้นน้ำเป็น ตัว หลอกลวง อำพราง ซึ่งเป็นการหักล้างประโยชน์ของคนอื่น
    ๒.๒ พูดส่อเสียด คือพูดยุยงให้เขาแตกกัน พูดแหย่ให้เขาผิดใจกัน และกระซิบกระ ซาบให้เขาเข้าใจผิด สอพลอใส่ร้ายเขา ทำลายสามัคคีของหมู่ให้ต้องแยกออกเป็นฝักเป็นฝ่าย
    ๒.๓ พูดคำหยาบ คือพูดหยาบคาย เช่นด่า แช่ง ประชด ค่อนขอด เหน็บแนม กระ ทบกระแทก แดกดัน อันยั่วให้เขาโกรธ เจ็บแสบระคายเคือง และพูดหยาบโลน เช่นพูดคำลามกผิด วิสัยผู้ดี ให้เป็นที่อัปยศอดสูแก่ผู้ถูกว่า
    ๒.๔ พูดสำรากเพ้อเจ้อ คือพูดพล่ามและพูดเหลวไหล พูดไม่มีหลักฐานอ้างอิง คือพูด ไม่อิงธรรมไม่อิงวินัย พูดพล่อยๆโปรยประโยชน์ พูดไม่ระมัดระวังปากทำให้คนอื่นเสีย
    ๓. พาลาปทาน ข้อสังเกตในพฤติกรรมไม่ขาดของคนพาล ที่เปิดเผยออกให้เรารู้เห็นว่า กาย กรรมของคนพาลนั้น โน้มเอียงไปเข้าข้างกายกรรมที่ต่ำทราม ๓ ประการ เรียกว่าพาลาปทาน มี
    ๓.๑ การฆ่า คือผลาญชีวิตและทำร้ายร่างกายเขา ฆ่าฟันรันทำให้เขาต้องล้มตาย ทำ การทรมานทรกรรมให้เขาต้องลำบาก เกะกะอาละวาดชกต่อยขู่เข็ญเขา
    ๓.๒ ลักฉ้อ คือผลาญทรัพย์สินของเขา ด้วยฉกลัก กรรโชก จี้ปล้น ตู่ ฉ้อโกง หลอกลวง ตระบัด ยักยอก เบียดบัง สับเปลี่ยน ลักลอบ ค้าของเถื่อน ปลอมแปลงสินค้า
    ๓.๓ ประพฤติผิดในกาม คือล่วงละเมิดกันทางกาม เช่น ทำชู้กับคู่ครองของเขา ทำ การฉุดคร่าอนาจาร มักมากในเรื่องกามารมณ์ ลุอำนาจแก่ความใคร่ เหยียบย่ำประเพณี ซึ่งไม่น่าจะ เกิดมีแก่มนุษย์ผู้รู้เดียงสาแล้ว
    โลภโมห์โทส์โทษเค้า บาปธรรม สิ้นแฮ
    ใครโง่เข้าครอบงำ ใส่ร้อน
    ถึงโทษทุกข์เวรกรรม หลายแหล่ นักเฮย
    ที่สุดท้ายถูกต้อน สู่ห้องจำขัง
    มูลเหตุแห่งการไม่ควรคบคนพาล
    เมื่อเราทราบอาการของคนพาล คือ พาลลักษณะ พาลนิมิต และพาลาปทานแล้ว ควรมา ศึกษาในมูลเหตุแห่งการไม่ควรคบคนพาล ซึ่งมีอยู่ ๓ ประการ ดังต่อไปนี้
    ๑. ภัยเกิดแต่คนพาล สิ่งที่น่าหวาดกลัวชื่อว่าภัย ข้อว่าภัยเกิดแต่คนพาลนั้น ก็คนพาลนั่น เองที่เป็นตัวภัย หรือมีภัยที่น่าหวาดกลัวอยู่ในตัว เพราะสัญชาติพาลกลับกลอกวอกแวกดุจวานร รัก ง่ายหน่ายเร็วเหมือนขมิ้นคายสี แสร้งยกยอสรรเสริญต่อหน้า ลบหลู่คุณความดีลับหลัง ที่ปลายลิ้นมี น้ำผึ้งติดอยู่ ปากพล่อยชมเพื่อนให้เย็นหู แต่หัวใจมีน้ำพิษร้ายแรงหล่อเลี้ยง เห็นเพลี่ยงพล้ำตรงไหน เมื่อได้ช่องเป็นต้องซ้ำส่ง โดยไม่มีตะขิดตะขวงใจเลย
    ดูเถิด ในตัวของคนพาลมีแต่ภัย ดูที่ร่างกายมีกิริยาขะโมย มือไวใจเร็วอยู่เต็ม ดูที่ปากมีโกหก พกลมตลบตะแลงอยู่ตอม ดูที่ดวงหน้ามีอาการกลิ้งกลอกออกพล่าน ดูที่หัวใจมีโลภโมห์โทสันขวัก ไขว่ เป็นอันว่าในตัวคนพาลไม่มีส่วนไหน จะไม่มีสิ่งร้ายยิ่งอยู่เต็ม นับเป็นคนมีภัยอยู่ในตัว เที่ยวก่อภัย เป็นไส้ศึกในหมู่ แบบสงครามเย็น ซึ่งน่าพรั่นพรึงหวาดเสียวสะดุ้งกลัวทั้งสิ้น
    ๒. อุบาทว์เกิดแต่คนพาล สิ่งที่เป็นอัปมงคล เสื่อมทราม อัปรีย์น่าเกลียด และสิ่งที่จัญไร ชั่วร้าย เลวทราม ชื่อว่าอุบาทว์ ข้อว่าอุบาทว์เกิดแต่คนพาลนั้น ก็คนพาลนั่นแหละเป็นตัวอุบาทว์ ดูเถิด เขามีอุบาทว์อยู่ที่ปาก ปากเป็นอุบาทว์ ปากอัปรีย์จัญไร ชอบเผยโทษคนอื่น และปกปิดโทษของ ตน ซึ่งมีลักษณะ ๔ อย่าง ดังปรากฎในจตุกนิบาต อังคุตรนิกาย ว่า
    ๒.๑ คนพาลชอบเผยโทษของคนอื่น แม้ไม่มีใครถาม เมื่อมีคนถามก็พูดทับถม ให้ ได้เนื้อถ้อยกระทงความยิ่งขึ้น
    ๒.๒ คนพาลไม่ชอบเผยคุณงามความดีของคนอื่น แม้เมื่อมีคนถามก็พูดอ้อมแอ้มไป ไม่ให้ได้เนื้อถ้อยกระทงความเลย
    ๒.๓ คนพาลไม่ยอมเผยโทษของตนเอง ถึงจะมีผู้ซักถาม ก็พูดกลบเกลื่อนเงื่อนงำ เสีย
    ๒.๔ คนพาลชอบพูดอวดคุณงามความดีของตน แม้ไม่มีใครถาม เมื่อมีใครถามก็ยิ่ง เล่าให้ละเอียดถี่ถ้วน
    โทษชั่วร้ายของใคร คนไม่ถาม
    แต่พาลพล่ามชอบขาน ประจานผล
    ความดีใครทั้งสิ้น ไม่ยินยล
    ทำฉ้อฉลถูกถาม ก็อำพราง
    ชั่วตนมีมากนัก ถูกซักไซ้
    คนพาลไม่ชอบอ้าง อางขนาง
    แต่ชอบเผยคุณตน ทุกหนทาง
    แม้เขาวางไม่ถาม ก็พล่ามลิ้น
    ๓. อุปสรรคเกิดแต่คนพาล สิ่งที่เข้าขัดขวางกีดกัน ทำให้กิจการทุกอย่างขัดข้องต้องชะงัก ชื่อว่าอุปสรรค ข้อว่าอุปสรรคเกิดแต่คนพาลนั้น ก็คนพาลนั่นแลเป็นตัวอุปสรรค คอยเข้าขัดขวางตัด รอนคนอื่นอยู่ทุกวิถีทาง ดูเถิด เขาเป็นคนชอบวางท่าขัดเชิง ประพฤติไปในทางตรงกันข้าม ชอบคว้า ภาระที่ยังมาไม่ถึง สลัดภาระที่มาถึงตัว ไม่เห็นโทษเป็นโทษ ไม่เห็นคุณเป็นคุณ อับปัญญาเจรจาอวด ฉลาด เมื่อมีผู้ชี้โทษชี้คุณให้เห็น ก็ไม่ยอมรับตามทางที่ถูก
    อกิตติบัณฑิตชาวเมืองพาราณสี สละสมบัติออกบวชเป็นดาบส ได้จาริกไปสำนักบำเพ็ญเพียร อยู่ในแคว้นกปิฬะ ซึ่งเป็นถิ่นขาดแคลนอาหาร ท่านถึงกับต้องฉันผลไม้ใบไม้ต่างอาหาร เมื่อพระอินทร์ ทรงทราบข่าวเกิดเลื่อมใส จึงเสด็จไปประทานพรเพื่อให้ท่านได้อยู่ผาสุกกว่าเดิม แต่ท่านเห็นว่าคนพาล เป็นตัวอุปสรรคที่แรงร้าย แทนที่จะรับพรให้บำรุงด้วยปัจจัยสี่ ก็ขอรับพรว่า "ขออาตมะอย่าได้พบเห็น คนพาล อย่าได้ยินข่าวคราวของคนพาล อย่าได้อยู่ร่วมกับคนพาล อย่าได้ทำกิจการเกี่ยวข้องกับคน พาล และอย่าได้ชอบพอโอภาปราศรัยกับคนพาล"
    พระอินทร์ทรงรู้สึกแปลกพระทัยยิ่ง ในเมื่อท่านขอรับพรอย่างนั้น จึงตรัสถามว่า "คนพาลน่ะ ได้ทำอะไรแก่พระคุณเจ้า เป็นเหตุดังฤา พระคุณเจ้าจึงไม่ต้องการพบเห็นคนพาล โปรดบอกเหตุนั้นให้ โยมทราบด้วย" ท่านได้ชี้แจงเหตุถวายท้าวเธอว่า "คนพาลเป็นคนอ่อนปัญญา แนะนำสิ่งที่ไม่ควรแนะ นำ ประกอบในสิ่งที่มิใช่ธุระ การแนะนำในทางชั่วเป็นดีของคนพาล คนพาลแม้คนอื่นพูดดีก็โกรธ เขา ไม่รู้จักอุบายแนะนำ การไม่พบเห็นคนพาลนั้นได้ จึงดีนัก"
    เมื่อสรุปพฤติการณ์ของคนพาล ที่เป็นเหตุให้ท่านอกิตติดาบสไม่ต้องการพบเห็นเขา และแถลง ถวายพระอินทร์ให้ทรงทราบนั้น คงได้ข้อมูลเป็น ๕ ประการ ดังนี้
    ๓.๑ คนพาลชอบแนะนำสิ่งที่มิควรแนะนำ
    ๓.๒ คนพาลชอบประกอบในสิ่งที่มิใช่ธุระ
    ๓.๓ คนพาลถือชั่วเป็นดี
    ๓.๔ คนพาลแม้เราพูดดีๆ ก็โกรธ
    ๓.๕ คนพาลไม่รู้จักอุบายแนะนำ
    พาลโง่เจ้ามารยา แส่หาเหตุ
    แนะประเภทไม่ควร ชวนให้ขำ
    ธุระใดผิดยิ่ง ไม่อิงธรรม
    ชอบแนะนำด้วยเห็น ว่าเป็นดี
    แม้นใครพูดดีงาม ตามเหตุผล
    พาลก็ก่นเกรี้ยวกราด สัญชาติผี
    ไม่รู้กฎวินัย ว่าไหนดี
    เราหลบหนีเขาได้ ปลอดภัยเอย
    ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนไว้ว่า "ไฟลุกลามจากเรือนไม้อ้อหรือเรือนหญ้า ต้องลุกลาม ไหม้ไปถึงเรือนยอด ที่ช่างโบกทั้งภายในและภายนอก มีบานประตูหน้าต่างปิดสนิท จนลมพัดเข้าไม่ได้ ฉันใด บรรดาภัยอุบาทว์และอุปสรรคก็ฉันนั้น จะเกิดต้องเกิดแต่คนพาล หาเกิดแต่บัณฑิตไม่ เพราะคน พาลมีภัยอุบาทว์และอุปสรรคประจัญหน้า บัณฑิตหามีภัยอุบาทว์และอุปสรรคประจัญหน้าไม่ ภัย อุบาทว์และอุปสรรคมีแต่คนพาลเท่านั้น หามีแต่บัณฑิตมิได้"

    <center> การไม่คบคนพาล </center> เมื่อเราทราบมูลเหตุแห่งการไม่ควรคบคนพาลแล้ว จากนี้จึงควรมาหาความเข้าใจในการไม่คบ คนพาลต่อไป แต่ควรทราบใจความแห่งการคบ ตามภาษาบาลีว่าเสวนาก่อน เราพูดกันอยู่โดยมากว่า คบค้า คบหา และคบคิด แม้กระนั้นความก็ยังมัวอยู่ จะคบค้าคบหาหรือคบคิดกันเพียงแค่ไหน จึงจะ เข้าขั้นเสวนา ที่จริง การร่วมชีวิตจิตใจ มีนิสัยใจคอถูกต้องเข้ากันได้สนิท ร่วมคิดร่วมเห็น และตกลง กระทำการร่วมกัน นี่คือการคบกัน พึงพิจารณาพฤติการณ์ ๗ อย่าง จะช่วยให้เราทราบความหมาย ของการคบให้แจ่มชัดขึ้น คือ
    ๑. อุปสังกมนะ การไปมาหาสู่
    ๒. ปยิรุปาสนะ การเข้าตีสนิทชิดชอบ
    ๓. สัมปิยะ ความจงรักคือรักใคร่กันจริง
    ๔. ภัตติ ความภักดีคือเลื่อมใสนับถือซื่อตรงต่อกัน
    ๕. สันทิฏฐะ เป็นเพื่อนร่วมคิดร่วมเห็น
    ๖. สัมภัตตะ เป็นเพื่อนร่วมกินร่วมอยู่
    ๗. ทิฏฐานุคติ ดำเนินตามอย่างกัน
    ผู้เข้าคลุกคลีกับคนพาล ด้วยการไปมาหาสู่ ตีสนิทชิดชอบจงรักภักดี เป็นเพื่อนร่วมคิดร่วม เห็น เป็นเพื่อนร่วมกินร่วมอยู่ และดำเนินตามอย่าง คือทำตามข้อประพฤติของคนพาล นี่ชื่อว่าคบคน พาล แต่คนพาลนั้นเป็นคนที่ใครๆไม่ควรคบ เพราะเป็นคนเน่าเฟะสิ้นทั้งตัว และมีตัวเป็นศัตรูแก่คนอื่น ทุกส่วน เขาชอบก่อเวรภัย สร้างอุบาทว์และอุปสรรคไว้ในตัว คอยขัดขวางกีดกันตนและคนอื่นให้ไม่ เจริญขึ้นได้ ใครคบเข้าต้องเปื้อนผู้คบ ใครถูกเข้าก็ต้องเปื้อน ผู้ถูกที่ไม่เปื้อนมาก่อน เหมือนลูกศรกำ ซาบด้วยยาพิษ เปื้อนแล่งที่ไม่เปื้อนมาก่อน หรือเหมือนใบคาที่ห่อปลาเน่า ต้องพลอยเปื้อนเหม็นเน่า คลุ้งไปด้วย
    อันพาลผิดเข้าชิด ย่อมติดเปื้อน
    ผู้อื่นเหมือนตนชั่ว มัวราศี
    เช่นศรซาบอาบพิษ ติดราคี
    เปื้อนแล่งที่สอดใส่ อยู่ในตัว
    ผู้คบพาลพาลพา ราศีเสื่อม
    ชั่วจะเชื่อมเสียชื่อ ให้ลือทั่ว
    เหมือนใบคาปลาเน่า เข้าพันพัว
    จะเหม็นทั่วใบคา ห่อปลาเอย
    คนพาลนอกจากเป็นคนเน่าแล้ว ยังเป็นศัตรูแก่คนอื่นทุกส่วน ดูเถิด ดูเขาเที่ยวผลาญชีวิตและ ทำร้ายร่างกายคนอื่น ฉ้อโกงจี้ปล้น เป็นนักเลงเจ้าชู้ พูดเท็จ ดื่มน้ำเมา ใจง่าย มารยาสาไถย หึงหวง ละโมบ ลามก ไม่เห็นคุณใคร นี่โทษที่ฝังจมอยู่ในใจของเขา และเขาชอบกล่าวหาคนดีว่าเป็นคนโหด ร้าย ซึ่งที่แท้เขาเองคือคนโหดร้าย ในโลกนี้จึงไม่มีอะไร จะเป็นที่ชอบใจของเขายิ่งกว่าความโหดร้าย
    โบราณว่า "เหล็กพืดถูกเผาร้อนเข้ายังอ่อนได้ แต่ใจของศัตรูไม่มีอะไรจะทำให้อ่อนได้ สภาพ ของศัตรูเหมือนผลมะเดื่อสุก ภายนอกดูสีแดงสดใส แต่ภายในเต็มไปด้วยตัวแมลง ผู้หลงไว้ใจในศัตรู ก็คือ กำลังก้าวเข้าสู่ประตูแห่งมฤตยู ใครนะที่พลาดลงในข่ายของศัตรูแล้ว จะกลับรอดตัวออกมาได้ โดยเกษม ลมเป็นเพื่อนของไฟช่วยให้ไหม้สถานที่ แต่ลมนั้นก็กลับกระพือไฟให้ดับได้ ส่วนความเป็น ไมตรีกับศัตรูเป็นเคราะห์ร้ายถ่ายเดียว หากลับเป็นโชคดีได้ไม่ เศษหนี้ เศษไฟ และเศษศัตรู ก็ปานกัน จะพูนทวีขึ้นร่ำไป ไม่ควรปล่อยให้เหลืออยู่เลย อยู่ในที่แออัดยัดเยียดหมักหมมเป็นทุกข์ อยู่ใกล้ศัตรู อัปรีย์ยังทุกข์กว่า ยิ่งอยู่กับคนเนรคุณก็ยิ่งทุกข์กว่านั้น"
    เศษอัคคีหนี้ศัตรู อย่าดูหมิ่น
    ไม่สุดสิ้นสืบสาย กระจายผล
    พูนทวีทีละนิด ติดตามตน
    ควรตัดต้นตอถอน อย่านอนใจ
    ฅ อยู่คับแคบแทบขยาย กายไม่เคลื่อน
    เบียดเสียดเปื้อนโสมม ทุกข์ถมใหญ่
    ใกล้ศัตรูผู้หมายมั่น ยิ่งจัญไร
    ยิ่งเข้าใกล้เนรคุณ ยิ่งรุนแรง
    เมื่อคนพาลเป็นคนเน่าสิ้นทั้งตัว และเป็นศัตรูแก่คนอื่นดังกล่าวมา เราคนดีๆ ถ้าคบกับคนพาล แล้ว ก็จะพลอยถูกหาว่าเป็นพาลไปด้วย ดูถนนที่ตรงราบเรียบเถิด แต่สกปรกรกรุงรังด้วยขยะมูลฝอย ย่อมจะพลอยหมดงาม เป็นความจริง เมื่อเราขืนครบคนชั่วแล้ว แม้เราไม่ได้ทำชั่วเลย ก็จะถูกรังเกียจ ในเรื่องความชั่ว และเรื่องใส่ร้ายป้ายสีก็จะติดตามมาด้วย เพราะคลุกคลีกับคนชั่ว กดดั่งถ่านไฟที่ลุก โชนอยู่ เราจับเข้าต้องไหม้มือ แม้ดับเย็นแล้ว เราถูกเข้าก็ดำติดมืออีก
    โบราณว่า "ผู้ยอมสมานมิตรกับคนเคยทุจริตมาครั้งหนึ่งแล้ว ชื่อว่ารับเอามฤตยูเข้ามาด้วย เหมือนแม่ม้าอัสดรที่พกลูกไว้ในท้อง คนชั่วมีความรู้ฝังอยู่ในใจ จะมีสภาพดีไม่ได้เลย ดูสะเดาเถิดแม้ มีน้ำผึ้งขังอยู่ในโพรง ก็จะพึงกลายเป็นไม้มีรสหวานได้ไฉน คนชั่วร้ายย่อมกระทำความวุ่นวายให้แก่ผู้ คบหา กลดั่งน้ำครึ่งหม้อ ถึงจะทูนศีรษะก็ต้องกระฉอกรด ท่านว่าหลีกสัตว์มีเขาห่างห้าสิบศอก หลีก ม้าห่างร้อยศอก หลีกช้างงาห่างพันศอก แต่หลีกคนชั่วร้ายให้ละทิ้งถิ่นหนีเสียเลย คนชั่วร้ายแม้จะ ประดับด้วยวิชาก็ควรเว้น เพราะเขาเป็นดั่งอสรพิษ ที่ประดับด้วยแก้วมณีแล้ว มันจะไม่ก่อภัยแก่ใคร เลยละหรือ"
    ก่อนอื่น เราควรทราบประเภทของพาลไว้เสียด้วยว่า พาลนั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือ พาลภาย นอก ได้แก่คนอื่นที่เป็นพาล และพาลภายใน ได้แก่ตัวเราเองที่มีใจชั่วกายชั่ววาจาชั่วอยู่ การไม่คลุก คลีกับพาลภายนอกด้วยเลิกติดต่อไม่ไปมาหาสู่ ไม่ตีสนิทชิดชอบ ไม่จงรักภักดี ไม่เป็นเพื่อนร่วมคิด ร่วมเห็นร่วมอยู่ และไม่ดำเนินตามอย่างเขา นี่ชื่อว่าไม่คบพาลภายนอก ส่วนตัวเราเองไม่คบกับมโน-ทุจริต ไม่โลภไม่โกรธไม่หลง ไม่คบกับกายทุจริต เว้นฆ่ากัน เว้นลักฉ้อ เว้นประพฤติผิดในกาม และ ไม่คบกับวจีทุจริต พูดแต่คำจริง คำไพเราะอ่อนหวาน คำสมัครสมานประสานสามัคคี คำมีประโยชน์ นี่ชื่อว่าไม่คบพาลภายใน
    การคบคนพาลจัดเป็นอัปมงคล เพราะเป็นเหตุให้ผู้คบเป็นคนเสื่อม ฉุดคร่าฐานะของตนลงให้ ตกต่ำกว่าภาวะเดิม มีใจเลวร้าย และกิริยาวาจาขัดสังคม ชีวิตเดือดร้อน วุ่นวายด้วยภัยอุบาทว์ และ อุปสรรค เป็นคนยุ่งทั้งข้างในและข้างนอก ถูกตัวยุ่งพันกันนุง
    อันตัวยุ่งนุงนัง เข้าสังหาร
    ยุ่งลนลานเพราะโลภ ละโมบหลาย
    ยุ่งใจคิดริษยา นัยน์ตาลาย
    ยุ่งสอดส่ายหากิน ไร้ศีลธรรม
    ยุ่งจุกจิกในตัว มัวพะวง
    ยุ่งลุ่มหลงไม่อาย ในฝ่ายต่ำ
    ยุ่งเหยิงไม่รอบคอบ ประกอบธรรม
    มุ่งแต่ทำยุ่งยิ่ง เหมือนลิงเอย
    ส่วนการไม่คบคนพาลนั้น เป็นอุบายเลิกการติดต่อคนพาล เลี่ยงความเป็นคนเน่าใน หลีก ความเป็นศัตรูแก่ตนและคนอื่น ด้วยพฤติการณ์ ๗ อย่าง คือไม่ไปมาหาสู่ ไม่เข้าตีสนิทชิดชอบ ไม่จง รักภักดี ไม่เป็นเพื่อนร่วมคิดร่วมเห็น เว้นความเป็นเพื่อนร่วมกินร่วมอยู่ และไม่ดำเนินตามอย่างของ คนพาล
    ดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า การไม่คบคนพาลเป็นมงคลยอดชีวิตข้อหนึ่งในมงคล ๓๘ เพราะเป็นเหตุให้เจริญด้วยสรรพสมบัติ มีวัฒนธรรมเหมาะแก่สังคม เลื่อนฐานะของตนให้ดีขึ้นกว่า ภาวะเดิม มีกิริยาวาจาใจดีงาม มีชีวิตเกษมปลอดภัย ปราศจากอุบาทว์และอุปสรรค อยู่สงบสุขชื่น บานสราญรมย์ มุ่งมั่นแต่ปฏิบัติสิ่งที่เป็นมงคล สร้างบารมี อบรมวาสนา ดำเนินชีวิตให้ก้าวขึ้นสู่คุณ ความดี จนเป็นคนดีในโลก และดีเหนือโลกเป็นที่สุด

    <table border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="500"> <tbody><tr> <td align="center">*********</td> </tr> </tbody></table>
     

แชร์หน้านี้

Loading...