ย้อนตำนานสุดทึ่ง “อุ้มพระดำน้ำ” ประเพณีหนึ่งเดียวในโลกที่ จ.เพชรบูรณ์

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 22 กันยายน 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590

    เป็นศูนย์รวม ดวงใจ ให้ยึดเหนี่ยว
    ผูกพันกลมเกลียว ผนึกประสาน
    ความศักดิ์สิทธิ์ เล่าขาน เป็นตำนาน
    เทพบันดาล ประทานให้ ในสายชล
    จนเกิดมี ประเพณี สี่ร้อยฉนำ
    อุ้มพระดำน้ำ แต่คราวหน
    ปฏิบัติ สืบเนื่องครั้ง บรรพชน
    มหาพิธีมงคล ประจำเมือง…

    บทกลอนข้างต้นจากผลงานการร้อยรจนาโดย “ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์” ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นการเล่าเรื่องฉายภาพให้เห็นถึงความผูกพันของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์กับประเพณี “อุ้มพระดำน้ำ” ที่สืบสานกันมากว่า 400 ปี (สี่ร้อยฉนำ)

    อุ้มพระดำน้ำเป็นประเพณีอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของเมืองมะขามหวาน ที่มาของประเพณีนี้มีเรื่องเล่าขานและตำนานที่ชวนทึ่งไม่น้อย ซึ่งช่วยไขความกระจ่างว่า ทำไมพ่อเมืองเพชรบูรณ์ทุกคนต้องมาทำพิธีอุ้มพระดำน้ำกันในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 (เดือนไทย) ของทุกปี ?

    พระพุทธมหาธรรมราชา พระคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์

    สำหรับพระพุทธรูปที่ใช้ในพิธีอุ้มพระดำน้ำก็คือ “พระพุทธมหาธรรมราชา” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ ปัจจุบันองค์จริงประดิษฐานอยู่ที่ “วัดไตรภูมิ” ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ใครที่มากราบไหว้ขอพรจะประสบความสำเร็จสมหวังดังปรารถนา

    ด้วยความศักดิ์สิทธิ์เลื่องลือของพระพุทธมหาธรรมราชา ในจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงมีการสร้างพระพุทธมหาธรรมราชาขึ้นมาอีกหลายองค์ ไม่ว่าจะเป็น พระพุทธมหาธรรมราชา (องค์สีดำ) ที่ประดิษฐานตามที่ว่าการอำเภอต่าง ๆ, พระพุทธมหาธรรมราชา ที่หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย

    และที่สำคัญคือ “พระพุทธมหาธรรมราชาองค์ใหญ่” ที่สร้างขึ้น ณ “พุทธอุทยานเพชบุระ” ใน อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เนื่องในวโรกาสทรงมีพระชนมายุ 84 พรรษา ในปี 2554 โดยพระพุทธมหาธรรมราชาองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ที่พุทธอุทยานเพชบุระ ใน อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์

    พระพุทธมหาธรรมราชา เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางสมาธิ (องค์จริง) มีหน้าตักกว้าง 13นิ้ว สูง 18 นิ้ว ไม่มีฐาน หล่อด้วยทองสำริด ทรงชฎาเทริด อีกทั้งยังดูขรึมขลังน่าเกรงขาม มีพุทธลักษณะงดงาม เป็นศิลปะลพบุรี (ศิลปะขอม) สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

    ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ให้ข้อมูลว่า เหตุที่เชื่อว่าพระพุทธมหาธรรมราชาสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เนื่องจาก กษัตริย์ขอม (ในยุคอาณาจักรขอมเรืองอำนาจ) ปกติแล้วจะนับถือศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู แต่มีกษัตริย์ขอมอยู่พระองค์เดียว คือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่นับถือศาสนาพุทธ

    “เราเชื่อว่าพระพุทธมหาธรรมราชา สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ร่วมสมัยเดียวกันกับพ่อขุนผาเมือง เพราะมีบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า พ่อขุนผาเมือง เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งก็น่าจะได้รับพระราชทานพระองค์นี้มา” ดร.วิศัลย์กล่าว

    ทั้งนี้ชาวเพชรบูณ์เชื่อกันว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้พระราชทานพระพุทธมหาธรรมราชา และ “พระขรรค์ไชยศรี” (ดาบอาญาสิทธิ์มีอำนาจดุจกษัตริย์ขอม) ให้แก่ “พ่อขุนผาเมือง” พระราชบุตรเขย เมื่อครั้งทรงอภิเษกสมรสกับ “พระนางสิงขรมหาเทวี” พระราชธิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

    นอกจากนั้นยังเชื่อกันว่าหลังจากที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างพระพุทธมหาธรรมราชาขึ้นมาแล้ว ได้อัญเชิญองค์พระไปประดิษฐานที่อโรคยศาลหรือโรงพยาบาล ที่ได้สร้างไว้ตามรายทางราชมรรคา

    “พระพุทธรูปที่เป็นลักษณะนี้ คือพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิ และบนพระหัตถ์จะมีหม้อยาหรือหม้อน้ำมนต์อยู่ เนื่องจากพระปางนี้เมื่อสร้างแล้วจะนำไปประดิษฐานที่อโรคยศาล เมื่อชาวบ้านไปหาหมอที่อโรคยศาลก็จะนำน้ำมนต์นี้กลับบ้านไปด้วย”

    ดร.วิศัลย์ กล่าว พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปกติแล้วพระพุทธรูปปางแบบนี้จะมีอยู่เยอะ โดยเรียกขานกันทั่วไปว่า “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา” แต่เฉพาะองค์ที่มาอยู่ที่เพชรบูรณ์มีการตั้งชื่อใหม่ว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา”

    พระพุทธมหาธรรมราชาหายไปในน้ำ

    เรื่องราวตำนานขององค์พระพุทธมหาธรรมราชายังมีปรากฏในหลักศิลาจารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุม สรุปความได้ว่า หลังจากพ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาว (พ่อขุนบางกลางท่าว) ยกทัพไปตีสุโขทัยคืนจากขอม “สบาดโขลญลำพง” ได้สำเร็จแล้ว พ่อขุนผาเมืองเดินทางกลับมายัง “เมืองราด” ซึ่งเป็นเมืองที่พ่อขุนผาเมืองเคยปกครองก่อนยกทัพไปตีสุโขทัย (สันนิษฐานว่าปัจจุบันอยู่ที่บ้านห้วยโปร่ง ต.บ้านหวาย อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์)

    ความนี้เมื่อทราบถึงพระนางสิงขรมหาเทวี พระนางทรงโกรธแค้นอย่างมาก เนื่องจากพ่อขุนผาเมืองได้ยกทัพไปตีเมืองของพระราชบิดา จึงจุดไฟเผาเมืองราดจนไหม้เป็นจุล และหนีไปกระโดดน้ำตายที่แม่น้ำป่าสัก

    ส่วนองค์พระพุทธมหาธรรมราชานั้น เมื่อเมืองราดถูกเผา ก็ได้มีการอันเชิญท่านหนีไฟมาตามลำน้ำสักที่คดเคี้ยว ครั้นพอมาถึงแถวเมืองเพชรบูรณ์แพก็แตก แล้วองค์พระพุทธรูปก็จมน้ำหายไป เหตุการณ์นี้สันนิษฐานว่า เกิดก่อนสมัยสุโขทัย เมื่อราว 800 ปีที่แล้ว

    อุ้มพระดำน้ำ ประเพณีกว่าสี่ร้อยฉนำ

    “หลังเหตุการณ์พระนางสิงขรมหาเทวีเผาเมืองราด เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านมาถึงในช่วงกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา ปกติในลำน้ำสักจะมีปลาอยู่เป็นจำนวนมาก แต่พอถึงวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ก็เกิดปาฏิหาริย์ วันนั้นชาวบ้านหาปลาไม่ได้เลยสักตัว แล้วก็เกิดฝนฟ้าคะนอง ในลำน้ำสักมีน้ำวนเกิดขึ้น จากนั้นก็มีพระพุทธรูปผุดขึ้นมาในลำน้ำ (สถานที่บริเวณนั้นปัจจุบันคือ วัดโบสถ์ชนะมาร) ชาวบ้านก็เลยไปอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาจากน้ำ ซึ่งก็คือพระพุทธมหาธรรมราชาองค์นี้ แล้วก็นำไปมอบให้เจ้าเมืองเพื่อให้เก็บรักษาไว้ที่วัดไตรภูมิ”

    ดร.วิศัลย์ เล่าความเป็นมา ก่อนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ต่อมาอีกหนึ่งปี ในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 อยู่ ๆ พระพุทธรูปองค์นี้ก็หายไป ไปหาที่ไหนก็ไม่เจอ แล้วก็มีคนบอกว่าให้ไปลองดูที่ที่พบท่านครั้งแรก บริเวณนั้นเรียกว่าวังมะขามแฟบ ปรากฏว่าเห็นพระพุทธรูปองค์นี้กำลังดำผุดดำไหว้อยู่ในน้ำ ก็เลยไปอัญเชิญกลับมาที่เดิม แล้วก็ตกลงกันว่าจากนั้นทุกวันสารทไทยก็จะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ไปดำน้ำที่เดิมที่พบท่าน แล้วให้ปฏิบัติเช่นนี้สืบไป ซึ่งคนเพชรบูรณ์ก็ได้ยึดถือปฏิบัติกันมาโดยตลอดเป็นเวลากว่า 400 ปีแล้ว (สี่ร้อยฉนำ) ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมา บางปีน้ำน้อย บางปีน้ำมาก ก็จะจัดพิธีขึ้นทุกปี

    ทั้งนี้ชาวเมืองเพชรบูรณ์ มีความเชื่อกันว่า การได้จัดพิธีอุ้มพระดำน้ำ จะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้างอกงาม พืชผลทางการเกษตรเจริญสมบูรณ์ โดยผู้ที่จะทำพิธีอุ้มพระดำน้ำจะต้องเป็นระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเปรียบได้กับเจ้าเมืองในสมัยโบราณ

    สำหรับพิธีอุ้มพระดำน้ำ จะมีการดำเฉพาะทิศเหนือและทิศใต้ เพื่อเป็นการจัดสมดุลให้แม่น้ำ เนื่องจากลำน้ำสักเป็นต้นน้ำ และมีพื้นที่ลาดชัน เวลาน้ำมาก็จะขึ้นเร็วลงเร็ว และคนเพชรบูรณ์มีความผูกพันกับระดับน้ำมาก ปีไหนที่น้ำมาเยอะ ก็จะดำน้ำโดยหันพระพุทธมหาธรรมราชาไปทางทิศใต้ก่อน ส่วนปีไหนที่น้ำน้อยก็จะหันไปทางทิศเหนือก่อน เป็นการขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยควบคุมธรรมชาติ

    ดร.วิศัลย์ เล่าเพิ่มเติมว่า ประเพณีอุ้มพระดำน้ำที่เพชรบูรณ์ ไม่ใช่เป็นพิธีกรรมงมงายหรือเป็นเรื่องไสยศาสตร์ แต่จริง ๆ แล้วก็คือการแฝงด้วยกุศโลบายของคนโบราณที่จะทำให้คนได้เกิดขวัญกำลังใจ ได้ช่วยการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นจุดรวมใจเพื่อช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง และเป็นการที่ทำให้คนได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนามากขึ้น

    “ในพิธีอุ้มพระดำน้ำจะต้องมีเจ้าเมืองเป็นผู้ลงดำน้ำ เป็นกุศโลบายของคนโบราณที่จะให้ช่วยกันรักษาคุณภาพของน้ำให้สะอาด ไม่อย่างนั้นเจ้าเมืองก็ต้องดำลงไปในน้ำเน่า” ดร.วิศัลย์ กล่าว

    เตรียมยกระดับงานอุ้มพระดำน้ำสู่นานาชาติ

    ปัจจุบัน “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)” ได้ชูประเพณีอุ้มพระดำน้ำว่าเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลก โดยปีนี้มีการจัดงานดังกล่าวขึ้นในระหว่างวันที่ 26 ก.ย. – 1 ต.ค. 62 ที่วัดไตรภูมิ วัดโบสถ์ชนะมาร (สถานที่ที่พบเจอองค์พระมหาธรรมราชาในแม่น้ำ) และ พุทธอุทยานเพชบุระ

    ภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ พิธีรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา-พุทธอุทยานเพชบุระ, อลังการขบวนแห่องค์พระพุทธมหาธรรมราชา-รอบเมืองเพชรบูรณ์, นมัสการพระพุทธมหาธรรมราชาและแข่งเรือทวนน้ำ-วัดไตรภูมิ, การแสดงตำนานอุ้มพระดำน้ำ-พุทธอุทยานเพชบุระ

    และไฮไลท์ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของงานคือ “พิธีอุ้มพระดำน้ำ” ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 28 ก.ย. 62 (แรม 15 ค่ำ เดือน 10) โดยงานจะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.39 ด้วยขบวนอัญเชิญองค์พระแห่ไปทางน้ำ จากท่าน้ำวัดไตรภูมิปไปประกอบพิธีที่วัดโบสถ์ชนะมาร จากนั้นเวลา 10.39 น. จะเป็นพิธีอุ้มพระดำน้ำ หนึ่งเดียวในโลก บริเวณท่าน้ำโบสถ์ชนะมาร

    ประเพณีอุ้มพระดำน้ำในปีนี้ ยังมีความพิเศษต่างจากปีก่อน ๆ โดย นายเสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ให้ข้อมูลว่า ปีนี้จะมีการเปลี่ยนโขนเรือที่ใช้ในงานใหม่จากปีที่แล้วใช้โขนเรือกุญชรวารี มาเป็นโขนเรือ “เหมวาริน” ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานป่าหิมพานต์ มีจำนวนนางรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชาเท่ากับจำนวนปี คือ 2,562 คน ส่วนขบวนแห่องค์พระรอบเมืองนั้น ปีนี้ได้จัดให้ยิ่งใหญ่อลังการยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ระดับนานาชาติกับงาน “มหาพุทธบูชาแห่งอาเซียน” ที่จะจัดขึ้นในปี 2563

    ด้านนายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ คนปัจจุบัน ผู้ซึ่งจะอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงดำน้ำในปีนี้ เปิดเผยว่า ตนมีโอกาสเข้าร่วมพิธีอุ้มพระดำน้ำเป็นปีที่ 2 ปี ในปีนี้ก่อนเริ่มพิธีได้ถือศีลปฏิบัติธรรมก่อน 10 วัน เพราะถือว่านี่เป็นสิริมงคลต่อชีวิตตนเองและครอบครัว

    “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำเป็นการสักการะพระพุทธมหาธรรมราชา จึงอยากจะเชิญชวนประชาชนและชาวเพชรบูรณ์ทุกคนในฐานะชาวพุทธได้ถือศีลมุ่งทำความดีและร่วมงานนี้ด้วยความศรัทธา ทั้งนี้หากสังเกตคำอธิษฐานระหว่างทำพิธีจะมุ่งให้มีความเจริญพระพุทธศาสนา หากพุทธศาสนาได้รับการจรรโลงจนเจริญรุ่งเรืองแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเจริญรุ่งเรืองตามไปด้วย” พ่อเมืองเพชรบูรณ์กล่าวทิ้งท้าย


    ขอขอบคุณที่มา
    https://mgronline.com/travel/detail/9620000091372
     

แชร์หน้านี้