สงสัยเรื่องพระอนาคามี ครับ ใครเชี่ยวชาญช่วยตอบทีครับ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย bankzar, 21 มิถุนายน 2013.

  1. tjs ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 เมษายน 2012
    โพสต์:
    3,654
    ค่าพลัง:
    +20,364
    ความเป็นอนาคามีอริยะบุคคลยังสามารถแบ่งได้หลายระดับ เพราะแบ่งชั้นตามความสามารถในการลดละกิเลสเครื่องปรุงแต่งจิตที่เป็นนามขันธ์
    วิถีแห่งจิตหากยังมีขันธ์เป็นเครื่องอาศัยอยู่ หากยังมีอุปทานกิเลสเป็นเครื่องปรุงแต่ง หากยังมีสัญญา เป็นเครื่องปรุงแต่งอยู่ ย่อมไม่สามารถชี้ชัดได้ทั้งหมดว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นหรืออย่างนี้ แต่โดยส่วนใหญ่ย่อมต้องเป็นไปตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้แล้ว

    อนึ่งทุกอย่างย่อมเป็นไปโดยเหตุคืออุปทานขันธ์ที่ปรุงแต่งจิต เพราะพระอนาคามี ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ดังนั้น หากจะตอบว่าท่านพระอนาคามีพระองค์นั้นเมื่อดับจิตไปแล้วท่านจะไปยังที่ใด ตรงนี้ จะสามารถตอบได้ก็ต้องตรวจดูว่าเหตุปัจจัยที่จะหนุนจิตให้ไปนั้น ขณะนั้นจิตพระอนาคามีมีอะไรเป็นอุปทานปรุงแต่งอยู่ จึงจะสามารถตอบได้ก็เท่านั้นเอง

    แม้จิตอื่นๆทั้งหลายก็เช่นกัน การเปลี่ยนอัตภาพเคลื่อนไปของจิต มีวิธีการเช่นเดียวกัน คืออาศัยอุปทานขันธ์ที่ปรุงแต่งและประกอบด้วยแรงกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมเป็นเครื่องหนุนไป

    กระผมแสดงความเห็นทั้งหลายก็มิได้คัดค้านหรือขัดแย้งต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือครูอาจารย์ แต่เพราะพยายามจะอธิบายในบางกรณีบางเงื่อนไขที่มีเหตุปัจจัยนอกเหนือสภาวะปกติ ให้ ทุกท่านได้เห็นตามสภาพความเป็นจริง เพราะทุกอย่างย่อมเกิดจากเหตุปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยเปลี่ยนไป ผลที่จะเกิดตามมาก็เปลี่ยนไปเช่นกัน

    สุดท้ายก็สรรพสิ่งทั้งหลายก็ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นอนัตตาทั้งนั้น นอกจากความเป็นอรหันต์เท่านั้น ที่เที่ยงแท้ที่สุดเพราะอยู่เหนือเหตุปัจจัยปรุงแต่งทั้งปวงแล้วนั่นเองครับ

    เราสนทนาธรรมกัน ผิดถูกสำหรับผมไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญเราได้ข้อคิดปัญญา มากน้อยแค่ไหนเพิ่มปัญญาทางจิตมากน้อยแค่ไหน แล้วเราเองได้นำเอาสิ่งที่เราพูดคุยกัน นำไปปฏิบัติ เพื่อความรู้แจ้งในสิ่งเหล่านั้น มากน้อยแค่ไหน หรือเราคุยกันถกกันก็แค่นั้นฉันพอใจรู้แค่นี้เท่านั้นก็พอแล้ว แต่ความจริงที่ยิ่งกว่าคือการปฏิบัติเพื่อไปให้ถึงสิ่งที่พูด อันเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ความจริงแท้ได้วิธีเดียวเท่านั้นด้วยจิตท่านไปถึงแล้ว

    ขออนุโมทนาในทุกความเห็นครับ เพราะจิตดวงนี้ไม่มีคิดร้ายหรือไม่ร้ายใดๆ มีแต่ความปราถนาดีต่อทุกท่าน ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปครับ สาธุ
     
  2. จิตนิพพาน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 ธันวาคม 2009
    โพสต์:
    233
    ค่าพลัง:
    +414
    วิปัสสนูปกิเลส..

    (หลวงพ่อทูล ขิปปฺปญฺโญ)

    จากนี้ไปจะได้อธิบายเรื่อง วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่าง เพื่อให้นักปฏิบัติได้เข้าใจเอาไว้สำหรับป้องกันตัว วิปัสสนูปกิเลสนี้เกิดขึ้นจากมิจฉาทิฏฐิที่มีความเห็นผิด ในส่วนลึกของใจยังไม่ได้แก้ไข เมื่อทำสมาธิให้ใจมีความสงบแล้ว ความเห็นผิดนี้ก็แสดงกิริยาออกมาจากใจ ลักษณะของวิปัสสนูปกิเลสนี้มีความใกล้เคียงกันกับวิปัสสนามาก ผู้ที่ไม่เข้าใจก็จะเกิดความมั่นหมายว่าเป็นวิปัสสนาไป แม้ผู้อื่นที่ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ก็รู้ได้ยาก ไม่ทราบว่าของจริงหรือของปลอม เพราะกิริยามรรยาท ความเคลื่อนไหวทางกายและวาจามีความสำรวมดีมาก ตลอดความเพียรก็โดดเด่นน่าเชื่อถือ การอธิบายธรรมะในทางปฏิบัติแล้วมีทั้งละเอียดอ่อนและโลดโผน การวิจัยวิเคราะห์ในหมวดธรรมต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ถ้าผู้ได้รับฟังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ก็จะรับรองว่าถูกต้องและส่งเสริมกันต่อไป ดังจะอธิบายในวิปัสสนูปกิเลส ดังนี้ ขอให้นักภาวนาปฏิบัติทั้งหลายได้มีความระวังตัว


    ๑.โอภาส ความสว่าง ความสว่างนี้จะเกิดขึ้นจากทำสมาธิ เมื่อจิตมีความสงบแล้วจะปรากฏเห็นแสงสว่างขึ้น แสงสว่างนั้นจะมีความนุ่มนวลลักษณะไม่เหมือนกัน บางครั้งก็เป็นแสงสว่างพุ่งออกไปเหมือนแสงไฟฉาย บางครั้งเป็นวงแคบ บางครั้งเป็นวงกว้าง และเป็นในลักษณะหลายอย่างที่ต่างกัน แต่ก็เป็นโอภาสความสว่างทั้งหมด เมื่อทำสมาธิมีลักษณะนี้เกิดขึ้น ถ้าผู้ไม่เข้าใจก็จะเกิดความเชื่อไปว่านี้เป็นแสงธรรมที่เกิดขึ้นที่ใจเราแล้ว หรือเข้าใจว่าเป็นปัญญาได้เกิดขึ้นแก่เรา หรือเข้าใจว่าตรงกับภาษิตบทหนึ่งคือ นัตถิ ปัญญาสมา อาภา แสงสว่างอื่นใดเสมอด้วยปัญญาไม่มี ก็เลยเข้าใจเอาเองว่าสิ่งที่เกิดความสว่างอย่างนี้เป็นตัวปัญญาไป ก็เลยเข้าใจว่าปัญญาได้เกิดขึ้นกับเรา จะมีความพอใจยินดีอยู่กับความสว่างนั้น ถ้าวันใดนั่งสมาธิ ไม่มีแสงสว่างอย่างนี้เกิดขึ้น จะนั่งต่อไปไม่ได้เลย จึงขอเตือนแก่นักปฏิบัติว่า เมื่อมีแสงสว่างลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นแก่เราก็ให้มันเกิดไป อย่าไปสนใจว่าเป็นแสงธรรมแสงปัญญาแต่อย่างใด นั้นเป็นสังขารจิตอาการของจิตที่เป็นมารหลอกใจให้เราหลงเท่านั้น ถ้ามีความพอใจยินดีกับแสงสว่างนี้อยู่ ก็เริ่มจะเข้าสู่วิปัสสนูปกิเลสทันที


    ๒.ปีติ ความเอิบอิ่มใจ เบิกบานใจ จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็จะมีความเอิบอิ่มใจตลอดทั้งวันทั้งคืน มีความยิ้มแย้มแจ่มใสเพลิดเพลินอยู่กับปีตินี้อยู่ตลอดเวลา จะไม่กินข้าวกินน้ำทั้งวันทั้งคืนก็ไม่มีความอยากความหิว หรือเป็นลักษณะขนพองสยองเกล้า น้ำตาไหลในบางขณะ ผู้มีความปีติ ในลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น จะมีความรู้สึกว่าสบายใจเบิกบานใจเป็นอย่างมากทีเดียว อยากให้ลักษณะอย่างนี้มีอยู่กับตัวตลอดไป และเข้าใจว่าเป็นคุณธรรมที่เกิดขึ้นกับตน และเป็นผลของการปฏิบัติอย่างแท้จริง ถ้าหากนักภาวนาเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ ให้มีความรู้เท่าว่าไม่ใช่ความเป็นจริงของธรรมะ เมื่อเกิดขึ้นได้มันก็ต้องเสื่อมไปได้ อย่าไปดีใจพอใจกับเรื่องนี้เลย


    ๓.ปัสสัทธิ เกิดความสงบกายสงบใจเป็นอย่างมาก ใจไม่คิดวอกแวกออกไปสู่ภายนอกเหมือนที่เคยเป็นมา ใจมีความสงบเยือกเย็น ไม่ร้อนไม่หนาวไปตามอากาศที่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เพราะใจไม่รับเอาความร้อนความหนาว มีแต่ความสงบใจเหมือนไม่มีอะไรจะก่อให้เกิดทุกข์ได้ ถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอยู่ก็ตาม ความผูกพัน ความยินดี จะไม่มีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นที่ใจ จะยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ที่ไหนใจก็มีความสงบแน่วแน่อยู่ทั้งวันทั้งคืน ความพอใจ ความยินดีในความสงบนี้ อยากให้มีตลอดไป ในขณะใจมีความสงบอยู่อย่างนี้ เหมือนกับว่า กิเลสตัณหา ความรัก ความใคร่ ความพอใจในกามคุณไม่มีในใจเลย อาจเข้าใจว่า กิเลสตัณหาได้หมดไปจากใจแล้วก็เป็นได้ หรืออาจเข้าใจว่าเราได้บรรลุมรรคผลขั้นใดขั้นหนึ่งไปแล้ว ถ้านักปฏิบัติเป็นไปในลักษณะนี้ก็อย่าตื่นเต้น อย่าเข้าใจผิดว่าคุณธรรมได้เกิดขึ้นกับเรา นี้เป็นเพียงอาการของจิตที่เกิดขึ้นจากความสงบเท่านั้น


    ๔.สุขะ มีความสุขกาย มีความสุขใจเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีความสุขใดในโลกเสมอเหมือน ชีวิตที่เกิดมาเพิ่งได้พบเห็นอยู่ในขณะนี้เอง ความติดใจ ความสุขใจ ความดีใจ อยากจะร้องตะโกนให้คนทั้งโลกได้ยินว่า ข้าพเจ้าได้พบความสุขอย่างแท้จริงแล้ว จะเดินก็เป็นสุข จะนั่งก็เป็นสุข จะยืนก็เป็นสุข จะนอนก็เป็นสุข จะอยู่ในที่ไหนก็มีแต่ความสุข ทั้งวันทั้งคืน อยากจะให้ความสุขอย่างนี้มีอยู่กับเราตลอดไป ดังภาษิตว่า ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความสุขนี้ไม่เหมือนกับความสุขในทางโลกแต่อย่างใด ฉะนั้นนักปฏิบัติจึงมีความพอใจในความสุขนี้เป็นอย่างมาก อยากให้มีความสุขอย่างนี้มีอยู่กับใจตลอดไปไม่เสื่อมคลาย เมื่อนักปฏิบัติเป็นอย่างนี้ก็อย่าให้เกิดความหลงอยู่กับความสุขนี้เลย อีกไม่นานความสุขนี้ก็เสื่อมจากใจไปเท่านั้นเอง เพราะความสุขนี้เจือด้วยสังขาร อีกไม่นานก็เสื่อมไป


    ๕.ญาณะ มีญาณรู้เกิดขึ้นที่ใจ บางครั้งก็เป็นความรู้เกี่ยวกับทางโลก บางครั้งก็เป็นความรู้ทางธรรมในหมวดต่างๆ บางครั้งก็เข้าใจในธรรมหมวดนั้นๆ บางครั้งไม่รู้เลยต้องไปหาถามคนนั้นถามคนนี้จึงรู้ได้ ถ้าธรรมะที่ตรงกับตำราที่เคยศึกษามา หรือธรรมะที่ได้ยินจากครูอาจารย์เคยสอนมาแล้ว เมื่อเกิดความรู้ตรงตามนี้ก็จะเกิดความมั่นใจว่า ธรรมะที่เกิดขึ้นกับเราเป็นหลักความจริง ตรงตามที่ได้ศึกษามา บางครั้งก็เป็นความรู้เกิดขึ้นในทางโลก เช่นรู้ว่าเหตุการณ์ต่างๆ จะเป็นอย่างนี้ๆ เมื่อไม่นานนักก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามที่รู้มาอย่างนี้จริงๆ สิ่งทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดความมั่นใจในตัวเองสูงมาก จึงเกิดความมั่นใจว่า คุณธรรม ปัญญาธรรมได้เกิดขึ้นกับเราแล้ว เมื่ออยากรู้ในสิ่งใดก็กำหนดถามใจตัวเอง แล้วก็มีความรู้ตอบขึ้นมาที่ใจ ญาณรู้นี้ ถ้าเร่งความเพียรมากขึ้นเท่าไรก็จะเกิดญาณรู้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อญาณรู้เกิดขึ้น ใครผู้นั้นจะชอบพูดชอบถามในความรู้ที่เกิดขึ้นกับตัวเองอยู่เสมอ คำพูดคำถามนั้นเป็นลักษณะข่มผู้อื่นไปในตัว และพูดด้วยความจริงจังมาก แต่ก็มีความเย่อหยิ่งอวดดีไปในตัว อยากลองภูมิจากผู้อื่นว่าจะรู้ธรรมอย่างนี้เหมือนเราหรือไม่ ถ้าผู้อื่นไม่รู้ ก็จะพูดอวดธรรมะนั้นๆ ให้ฟัง พูดในลักษณะให้เขาสยบยอมรับความรู้ของตัวเอง ญาณรู้นี้ถ้าเกิดขึ้นกับนักเทศน์นักคุยแล้ว จะมีความโดดเด่นในการแสดงธรรมอาจหาญมาก ในขณะที่แสดงธรรมอยู่ก็จะมีความรู้นี้ผุดขึ้นๆ เป็นระยะๆ แทบจะพูดออกมาเป็นเสียงไม่ทัน ลีลาการแสดงธรรมนั้นน่าเชื่อถือ และพูดไม่รู้จักจบด้วย ถ้าผู้เป็นในลักษณะญาณรู้นี้เหมือนกัน จะคุยกันกี่วันกี่คืนก็ไม่จบ บางคนจึงพยากรณ์ตัวเองว่าได้บรรลุธรรมไปแล้วก็มี นี้ก็ขอฝากกับนักปฏิบัติทั้งหลายเอาไว้ เมื่อเกิดญาณรู้ในลักษณะอย่างนี้ขึ้นก็อย่าลืมตัว นี้เป็นเพียงสังขาร เป็นญาณรู้เกิดขึ้นเท่านั้นเอง


    ๖.อธิโมกข์ คือน้อมใจเชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดว่าเป็นความจริง เริ่มมีความเชื่อมั่นมาจากโอภาส ความสว่างมาแล้ว จากนั้นก็มาเชื่อ ปีติ ที่มีความเอิบอิ่มใจในตัวเอง แล้วก็มาเชื่อปัสสัทธิ คือความสงบสงัดใจตัวเอง แล้วก็มาเชื่อใน สุขะ คือความสุขที่เกิดขึ้นจากใจตัวเอง แล้วก็มาเชื่อใน ญาณะ คือความรู้ที่เกิดขึ้นทางใจ เมื่อมีญาณรู้เกิดขึ้นอย่างนี้ จะมีความเชื่อมั่นในส่วนลึกของใจอย่างฝังแน่นทีเดียว และเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นแนวทางที่ถูกต้อง การน้อมใจเชื่ออย่างนี้เป็นความเชื่อที่ขาดจากเหตุผล จึงเรียกว่า ศรัทธาวิปปยุต คือความเชื่ออย่างงมงาย ไม่มีความฉลาดรอบรู้ทางปัญญาเลย คำว่าความเชื่อมิใช่ว่าจะเชื่ออะไรทั้งหมด ให้เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อเท่านั้น ก่อนจะเชื่อในสิ่งใดต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบคอบรอบรู้ด้วยเหตุด้วยผล จึงเรียกว่า ศรัทธาญาณสัมปยุต คือเชื่ออย่างมีความฉลาดทางสติปัญญา จึงขอเตือนนักภาวนาไว้ว่า อะไรเกิดขึ้นจากทำสมาธิ อย่าพึงน้อมใจเชื่อว่าเป็นของจริงทั้งหมด การปักใจเชื่อเร็วเกินไปจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย ถ้าผิดพลาดไปแล้วก็ยากที่จะแก้ไข ก็จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดจนตลอดวันตาย


    ๗.ปัคคาหะ มีความเพียรที่เข้มแข็งดีมาก จะเดินจงกรม นั่งสมาธิ มีความขยันหมั่นเพียรเป็นพิเศษ เป็นผู้มีความตั้งใจจริงจังในการปฏิบัติ เป็นผู้ไม่ประมาทจะปรารภความเพียรอยู่ตลอดเวลา มีความขยันอดทนเพื่อมรรคผลนิพพานเป็นที่ตั้ง จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนในที่ไหน อยู่อย่างไร ใจจะมีความมั่นคงแน่วแน่อยู่กับความเพียรไม่ลดละ มีปณิธานตั้งไว้ในใจว่า ความเพียรอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ความเพียรของผู้เป็นวิปัสสนูปกิเลสนี้ จะเน้นหนักในการทำสมาธิอย่างจริงจังทีเดียว จะเดินจงกรมก็เดินกำหนดจิตให้เป็นสมาธิ จะนั่งก็กำหนดจิตนึกคำบริกรรมให้เป็นสมาธิ จะยืนจะนอนก็เพื่อสงบในสมาธิอยู่ตลอดเวลา จะปรารภความเพียรในอิริยาบถใด ก็เป็นไปในสมาธิเพียงอย่างเดียว มีความเข้าใจว่าการใช้ปัญญาพิจารณานั้นจะทำให้จิตเกิดความฟุ้งซ่าน ไม่มีความสงบตั้งมั่น ไม่เป็นเอกัคตารมณ์ ฉะนั้นจึงทำสมาธิให้จิตเป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ความเพียรในลักษณะอย่างนี้จะเป็นกำลังหนุนให้วิปัสสนูปกิเลสข้ออื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น ได้เกิดความเด่นชัดมากขึ้น หลงว่าเป็นความจริงโดยไม่รู้ตัว จึงได้น้อมใจปักใจ เชื่ออย่างฝังใจ อย่างแนบแน่นทีเดียว


    ๘.อุปัฏฐาน มีสติระลึกได้อย่างชัดเจนมาก จะระลึกในคำบริกรรมทำสมาธิด้วยอุบายใด สติก็จะระลึกในคำบริกรรมนั้นไม่ให้เผลอ ถ้ากำหนดในอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้า กำหนดลมหายใจออก ก็มีสติระลึกรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออกไม่ให้เผลอ ลมหายใจจะเข้ายาวออกยาวก็รู้ ลมหายใจเข้าสั้นออกสั้นก็รู้ ลมหายใจเข้ายาวออกสั้นก็รู้ ลมหายใจเข้าสั้นออกยาวก็รู้ ลมหายใจหยาบก็รู้ ลมหายใจละเอียดก็รู้ จะปรารภความเพียรด้วยอุบายใด สติก็จะอยู่กับความเพียรนั้นๆ อยู่ตลอดเวลา จะยกขาก้าวขาอย่างไรจะมีสติระลึกได้ทันตามก้าวขาทุกครั้งไป จะคู้แขนเหยียดแขนมองซ้ายแลขวา สติก็จะระลึกได้ในความเคลื่อนไหวของกายทุกส่วนไป คำพูดออกมาอย่างไร พูดเรื่องอะไร สติก็มีความระลึกได้ในคำพูดของตัวเองทุกครั้งไป แม้แต่จิตมีความนึกคิดอย่างไร สติก็จะมีความระลึกได้ในความนึกคิดของตัวเองอยู่เสมอ นักปฏิบัติอาจมีความสงสัยอยู่ว่า ทำไมมีสติดีถึงขนาดนี้ จึงเป็นวิปัสสนูปกิเลสได้ ตอบ สติดีก็จริง แต่ดีในปลายเหตุ ความผิดเดิมที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ที่ฝังลึกอยู่ในหัวใจมาก่อนยังไม่ได้แก้ไข เหมือนขวดยาพิษยังไม่ได้ล้าง จะเอายาดีๆ อะไรกรอกลงไปในขวดยาพิษนั้นแล้ว ยาที่ดีมีคุณภาพทั้งหมดนั้น ก็จะแปรเปลี่ยนไปตามยาพิษนั้นทันที นี้ฉันใด สติที่เป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติ เมื่อเข้าไปรวมอยู่กับมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดเมื่อไร ก็จะกลายเป็นมิจฉาสติ ระลึกผิดไปตามกันทั้งหมด ขอให้นักภาวนาปฏิบัติทั้งหลาย จงเข้าใจตามนี้เถิด


    ๙.อุเบกขา ความวางเฉยของใจ ความวางเฉยในที่นี้มิใช่ว่า จะวางเฉยไปเสียทั้งหมด ความเพียรเคยปฏิบัติมาอย่างไร ก็จะปฏิบัติตามความเพียรอย่างนั้นไป เคยเดินจงกรมนั่งสมาธิมาอย่างไรก็ทำไปตามนั้น ความวางเฉยเป็น อกิริยา มีอยู่เฉพาะใจโดยตรง ส่วนกิริยาเคยทำทางกายมาอย่างไร และเคยพูดอย่างไรก็พูดไปตามปกติ ส่วนใจที่เป็น อกิริยานั้นจะวางเฉยเฉพาะใจเท่านั้น จะมีคนอื่นพูดดุด่าว่ากล่าว พูดส่อเสียดเบียดบังอย่างไรใจก็วางเฉย หรือพูดยกยอสรรเสริญอย่างไรใจก็ไม่ฟูไปตามคำพูดนั้นๆ จะสัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่มีความน่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจยินดี ใจก็ไม่เกิดอารมณ์ตามในสิ่งที่เข้ามาสัมผัสนั้นเลย อารมณ์แห่งความรัก อารมณ์แห่งความชัง อารมณ์ของราคะตัณหา อารมณ์แห่งความใคร่ความยินดีไม่มีในใจนี้เลย จะยืน เดิน นั่ง นอน ในอิริยาบถใด ใจก็วางเฉย ไม่มีความกระตือรือร้นไปกับสิ่งใดๆ เพราะใจวางเฉยอยู่แล้ว ถึงจะมีความเพียรภาวนาปฏิบัติอยู่ก็เป็นลักษณะเฉยๆ เช่นกัน ถึงเขาจะมีสติก็มีเฉยๆ ถ้านักปฏิบัติเป็นอุเบกขาอย่างนี้ การสำรวมกาย การสำรวมวาจาและการสำรวมใจจะเยี่ยมยอดทีเดียว จะเป็นความเคารพเชื่อถือแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก ถ้าอุเบกขาในวิปัสสนูนี้เกิดขึ้นกับผู้กำลังศึกษาอยู่ ผู้นั้นก็จะหมดอนาคตในการศึกษานี้ไปเลย เพราะไม่มีจิตใจเกิดความฝักใฝ่ในการศึกษานั่นเอง ถ้าเป็นลักษณะอย่างนี้จะแก้ไขได้ยากมาก หรือแก้ไขไม่ได้เลย นี้ก็เป็นเพราะพื้นฐานเดิมมีความเห็นผิดในมิจฉาทิฏฐิมาก่อน ผลจึงออกมาในลักษณะอย่างนี้ ฉะนั้นขอให้นักภาวนาปฏิบัติทั้งหลายต้องระวังสำรวมต่อไป


    ๑๐.นิกันติ จะเกิดความพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดที่ผ่านมาแล้ว ว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุด ใครจะมาแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นนั้นไม่ได้เลย นี้คือวิปัสสนูปกิเลสตัวสุดท้าย ถ้าใครได้พบเห็นผู้ที่เป็นลักษณะอย่างนี้ จะช่วยชี้แนะแนวทางให้เขากลับใจเป็น สัมมาทิฏฐิ นั้นยากมาก เพราะแนวทางปฏิบัติของเขาเป็นมาอย่างนี้ ผลที่ได้รับก็ออกมาอย่างนี้ ความเชื่อถือ ความพอใจ ความยินดี ได้หยั่งรากฝังลึกในความรู้สึกอย่างนี้แล้ว จะไม่ยอมกลับใจอย่างแน่นอน จะมอบกายถวายชีวิตอุทิศตัวเองให้เป็นไปในลักษณะนี้จนตลอดวันตาย ไม่มีใครแล้วในยุคนี้จะแก้ไขได้ แต่ถ้าผู้นั้นเป็นเพียงข้อ ๑ ถึงข้อ ๔ พอมีทางแก้ไขได้ แต่ถ้าเป็นข้อ ๕ ขึ้นไปก็ยากที่จะแก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้เลย เพราะผู้เป็นวิปัสสนูนี้มีมานะทิฏฐิสูงมาก มีความรู้เห็นเฉพาะตัว ใครจะไปพูดว่าผิดนั้นไม่ได้เลย ยกเว้นผู้มีนิสัยเคยเกี่ยวข้องกันมาในอดีตชาติเท่านั้น พอจะแก้ไขได้ ถ้าไม่อย่างนี้ เขาก็จะไม่เข้าใจในคำตักเตือนจากใครๆ ทั้งนั้น


    ฉะนั้น นักภาวนาปฏิบัติทั้งหลาย เมื่อท่านได้อ่านเรื่องของ วิปัสสนูปกิเลส ทั้ง ๑๐ ข้อนี้แล้ว ท่านจะมีความคิดเห็นเป็นอย่างไรนั้น ขอมอบให้ท่านพิจารณาตัดสินด้วยตนเอง ข้าพเจ้าเป็นเพียงชี้แนะแนวทางความผิดความถูกให้รับรู้เท่านั้น เพราะหลักการในการทำสมาธิมีมากมายในปัจจุบัน แต่ละสำนักแต่ละชมรมก็มีหลักการวิธีทำสมาธิเป็นของตนเอง วิธีภาวนาทำสมาธิแต่ละสำนักก็มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อจิตมีความสงบเหมือนกัน การศึกษาแนวทางก็เป็นหมวดธรรมเล่มเดียวกัน แต่ว่าใครจะตีความหมายในหมวดธรรมนั้นๆ ไปอย่างไรก็เป็นเรื่องของผู้นำ ถ้าผู้นำตีความหมายถูก ก็นำมาสอนลูกศิษย์ให้ปฏิบัติถูกต่อไป ถ้าผู้นำตีความหมายในหมวดธรรมนั้นผิด ก็จะนำมาสอนลูกศิษย์ให้ปฏิบัติผิดต่อไป ในยุคปัจจุบันนี้มีความนิยมภาวนาทำสมาธิเป็นส่วนมาก การทำสมาธิ ขอให้เป็นสัมมาสมาธิก็แล้วกัน เพราะสัมมาสมาธิเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุด เป็นแนวทางที่จะให้เกิดเป็นวิปัสสนา ไม่เหมือนทำสมาธิแล้วกลายเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะมิจฉาสมาธิจะทำให้เกิดเป็นวิปัสสนูปกิเลสขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ มีความสงบได้เหมือนกัน แต่ความเห็นที่เกิดขึ้นจะไม่เหมือนกัน สัมมาสมาธิจะมีความเห็นเป็นไปในสายของพระอริยเจ้า มิจฉาสมาธิจะมีความเห็นผิดสายทางของพระอริยเจ้า ฉะนั้น ข้าพเจ้าได้เขียนเรื่อง มิจฉาสมาธิที่เป็นสายทางให้เกิดเป็นวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่างนี้เอาไว้ เพื่อจะได้ศึกษาและสังเกตดูตัวเองว่า เป็นไปในวิปัสสนูปกิเลสนี้หรือไม่ ถ้าเป็นไปในลักษณะนี้เกิดขึ้นแก่เราก็ให้หยุดเอาไว้ เพื่อจะมาทำความเข้าใจในตัวเองเสียใหม่ หรือไปถามครูอาจารย์ผู้ที่มีความชำนาญในการทำสมาธิที่ถูกต้อง อย่าฝืนทำสมาธิที่ผิดให้มากไปกว่านี้ มันจะเกิดปัญหาตามมาทีหลัง เพราะวิปัสสนูปกิเลสเป็นผลเกิดขึ้นจากมิจฉาสมาธิ คือความตั้งใจไว้ผิด มิจฉาสมาธิเป็นผลเกิดขึ้นจากมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดเป็นต้นเหตุ เมื่อต้นเหตุเป็นฐานความเห็นผิดไว้แล้ว จะภาวนาปฏิบัติอย่างไรด้วยอุบายใดก็ตาม ก็จะภาวนาผิดไปทั้งหมด ฉะนั้นขอให้นักภาวนาปฏิบัติทั้งหลาย จงมีความรอบรู้ในการปฏิบัติของตนนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป..
     
  3. tjs ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 เมษายน 2012
    โพสต์:
    3,654
    ค่าพลัง:
    +20,364
    ===========

    ขออนุโมทนาครับ สาธุ เพราะในวิชา นั้นยังมีอวิชา ที่สุดแล้วแห่งความอยากหรืออปุทานในวิชาดับไป อวิชานั้นก็ดับไป คงเหลือเพียง วิชา คือธรรมเอกรู้แจ้งไม่หลงอีกแล้ว เมื่อรู้แล้ว จึงปล่อยวางลงทั้งหมด เหลือเพียงความว่างเปล่าไม่ยึดมั่นอยู่กับอะไรเป็นจิตที่ว่างเปล่าครับ สาธุ
     

แชร์หน้านี้