สมเด็จโตมหาปราชญ์แห่งรัตนโกสินทร์ ตอน พบเจ้าฟ้ารัชทายาท
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงฯ พระองค์นั้น ทรงพระเกษมสันต์โสมนัสยิ่งนัก จึงเสด็จตรงเข้าจับมือสามเณรโตแล้วจูงให้มานั่งพระเก้าอี้เคียงพระองค์ แล้วทรงถามว่าอายุเท่าไรฯ ทูลว่า ขอถวายพระพรอายุได้ ๑๘ เต็มในเดือนนี้ฯ ทรงถามว่า เกิดปีอะไรฯ ทูลว่า ขอถวายพระพรเกิดปีวอกอัฐศกฯ รับสั่งถามว่า บ้านเกิดอยู่ที่ไหนฯ ทูลว่าขอถวายพระพรฯ บ้านเดิมอยู่ใต้เมืองกำแพงเพชร แล้วย้ายลงมาตั้งบ้านอยู่เหนือเมืองพิจิตร ขอถวายพระพรฯ รับสั่งถามว่า โยมผู้ชายชื่ออะไรฯ ทูลว่า ขอถวายพระพร ไม่รู้จักฯ รับสั่งถามว่า โยมผู้หญิงชื่ออะไรฯ ทูลว่า ขอถวายพระพร ชื่อแม่งุดฯ รับสั่งถามว่า ทำไมโยมผู้หญิงไม่บอกตัวโยมผู้ชายให้เจ้ากูรู้จักบ้างหรือฯ ทูลว่า โยมผู้หญิงเป็นแต่กระซิบบอกว่าเจ้าของรัดประคดนี้เป็นเจ้าคุณแม่ทัพขอถวายพระพร
ครั้นทรงได้ฟัง ตระหนักพระหฤทัยแล้ว ทรงพระปราโมทย์เอ็นดูสามเณรยิ่งขึ้น จึงทรงรับสั่งทึกทักว่า แน่ะ คุณโหรา เณรองค์นี้ ฟ้าจะทึกเอาเป็นพระโหรานำช้างเผือกเข้ามาถวาย จงเป็นเณรของฟ้าต่อไป ฟ้าจะเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงเอง แต่พระโหราต้องเป็นผู้ช่วยเลี้ยงช่วยสอนแทนฟ้า ทั้งพระวิเชียรและเสมียนตราด้วง ช่วยฟ้าบำรุงเณร เณรก็อย่าสึกเลยไม่ต้องอนาทรอะไร ฟ้าขอบใจพระโหรามากทีเดียว แต่พระโหราอย่าทอดธุระทิ้งเณรช่วยเลี้ยง ช่วยสอนต่างหูต่างตาช่วยดูแลให้ดีด้วย และเห็นจะต้องย้ายเณรให้มาอยู่กับสมเด็จพระสังฆราชมี จะได้ใกล้ๆ กับฟ้า ให้อยู่วัดนิพพานารามจะดี (วัดนิพพานาราม คือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์เดี๋ยวนี้)
ครั้นรับสั่งแล้ว จึงทรงพระอักษรเป็นลายพระราชหัตถเลขามอบสามเณรโตแก่สมเด็จพระสังฆราช (มี) แล้วส่งลายพระราชหัตถเลขานั้นมอบพระโหราธิบดีให้นำไปถวาย พระโหราธิบดีน้อมเศียรคำนับรับมาแล้วกราบถวายบังคมลา ทั้งพระวิเชียรและเสมียนตราด้วง สามเณรโตก็ถวายพระพรลา แล้วก็เสด็จขึ้น
ฝ่ายขุนนางทั้ง ๓ ก็พาสามเณรลงเรือแจวข้ามฟากมาขึ้นท่าวัดมหานิพพานารามตามคำสั่ง พาเณรเดินขึ้นบนตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (มี) ครั้นพบแล้วต่างถวายนมัสการ พระโหราธิบดีก็ทูลถวายลายพระราชหัตถเลขาแก่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ คลี่ลายพระหัตถออกอ่านดูรู้ความในพระกระแสรับสั่งนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้พระครูใบฎีกาไปหาตัวพระอาจารย์แก้ว วัดบางลำภูบน ซึ่งเป็นเจ้าของสามเณรเดิมนั้นขึ้นมาเฝ้า ครั้นพระอาจารย์แก้วมาถึงแล้วจึงรับสั่งให้อ่านพระราชหัตถ์เลขา พระอาจารย์แก้วอ่านแล้วทราบว่าพระยุพราชนิยมก็มีความชื่นชอบ อนุญาตถวายเณรให้เป็นเณรอยู่วัดนิพพานารามต่อไป ได้รับนิสัยแต่สมเด็จพระสังฆราชด้วยแต่วันนั้นมา
สามเณรโตนั้นก็อุตส่าห์ทำวัตรปฏิบัติแก่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และเข้าเรียนคัมภีร์พระปริยัติธรรม จนทราบสันธวิธีของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าจนชำนิชำนาญดี และเรียนกับพระอาจารย์เสมวัดนิพพานารามอีกอาจารย์หนึ่งด้วย
ครั้นถึงเดือน ๖ ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๑๕๙ เป็นปีที่ ๑๖ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพพระมหานครฯ จึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงพระคำนวณปีเกิดของสามเณรโต เป็นกำหนดครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ควรอุปสมบทได้แล้ว จึงรับสั่งให้พระโหราธิบดีกับเสมียนตราด้วงมาเฝ้า แล้วทรงรับสั่งโปรดว่า พระโหราฯต้องไปบวชสามเณรโตแทนฟ้า ต้องบวชที่วัดตะไกร เมืองพิษณุโลก แล้วทรงมอบกิจการทั้งปวงแก่พระโหราธิบดี พร้อมทั้งเงินที่จะใช้สอย ๔๐๐ บาท ทั้งเครื่องบริกขารพร้อม และรับสั่งให้ทำขวัญนาค เวียนเทียนแต่งตัวนาคอย่างแบบนาคหลวง การซู่ซ่าแห่แหนนั้นอนุญาตตามใจญาติโยมและตามคติชาวเมือง แล้วรับสั่งให้เสมียนตราด้วงแต่งท้องตราบัวแก้วขึ้นไปวางให้เจ้าเมืองพิษณุโลก ให้เจ้าเมืองเป็นธุระช่วยการบวชนาคสามเณรโต ให้เรียบร้อยดีงาม ตลอดทั้งการเลี้ยงพระเลี้ยงคน ให้อิ่มหนำสำราญทั่วถึงกัน กับทั้งให้ขอแรงเจ้าเมืองกำแพงเพชร เจ้าเมืองพิจิตร เจ้าเมืองพิชัยและเจ้าเมืองไชยนามบุรี ให้มาช่วยกันดูแลการงาน ให้เจ้าเมืองพิษณุโลกจัดการงานในบ้านในจวนนั้นให้เรียบร้อยและให้ได้บวชภายในข้างขึ้นเดือน ๖ ปีนี้ แล้วแต่จะสะดวกด้วยกันทั้งฝ่ายญาติโยมของเณร
รับสั่งให้สังฆการีในพระราชวังบวรวางฎีกาอาราธนาสมเด็จพระวันรัต วัดระฆังให้ขึ้นไปบวชนาคที่วัดตะไกร ให้ขึ้นไปแต่ข้างขึ้นอ่อนๆ ให้สำเร็จกิจบรรพชาอุปสมบทภายในกลางเดือน ให้ไปนัดหมายการงานต่อเจ้าเมืองพิษณุโลกพร้อมด้วยญาติโยมของเณร และตามเห็นดีของเจ้าเมืองด้วย
พระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง รับพระกระแสรับสั่งแล้วถวายบังคมลาออกมาจัดกิจการตามรับสั่งทุกประการ
ฝ่ายข้างญาติโยมของสามเณรโต ทราบพระกระแสร์รับสั่งแล้ว จึงจัดเตรียมเข้าของไว้พร้อมสรรพ แล้วไปนิมนต์ท่านพระอาจารย์แก้ววัดบางลำพูบนให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ รับขึ้นไปพร้อมด้วยตน แล้วนิมนต์ท่านเจ้าอธิการวัดตะไกรเป็นอนุสาวนาจารย์ จะเป็นวัดไหนก็แล้วแต่สมเด็จพระอุปัชฌาย์จะกำหนดให้ และเผดียงพระสงฆ์อันดับ ๒๕ รูป ในวัดตะไกรบ้าง วัดที่ใกล้เคียงบ้าง ให้คอยฟังกำหนดวันที่สมเด็จพระอุปัชฌาย์จะกำหนดให้
ฝ่ายพระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง จึงจัดเรือญวนใหญ่ ๖ แจว ๑ ลำ เรือญวนใหญ่ ๘ แจว ๑ ลำ, เรือครัว ๑ ลำ คนแจวพร้อม และจัดหาผ้าไตรคู่สวดอุปัชฌาย์ จัดเทียนอุปัชฌาย์คู่สวด จัดเครื่องทำขวัญนาคพร้อมผ้ายก ตาลอมพอก แว่น เทียน ขันถม ผ้าคลุม บายศรี เสร็จแล้ว เอาเรือ ๖ แจว ไปรับสมเด็จพระวันรัต ลาเณรจากสมเด็จพระสังฆราช แล้วนำมาลงเรือ ๖ แจว ส่วนพระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง ไปลงเรือ ๘ แจว
เรือสมเด็จพระวันรัตและสามเณรโต เรือพระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง ออกเรือแจวขึ้นไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ตามกันเป็นแถวขึ้นไปรอนแรมค้างคืนตามหนทางล่วงเวลา ๒ คืน ๒ วัน ก็ถึงเมืองพิษณุโลก ตรงจอดที่ที่หน้าจวนพระยาพิษณุโลก เสมียนตราด้วงจึงขึ้นไปเรียนท่านผู้ว่าราชการเมืองให้เตรียมตัวรับท้องตราบัวแก้ว และรับรองเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตวัดระฆังตามพระกระแสรับสั่ง
ครั้นท่านพระยาพิษณุโลกทราบแล้ว จึงจัดการรับท้องตราก่อน เสมียนตราด้วงจึงเชิญท้องตราบัวแก้วขึ้นไปบนจวน เชิญท้องตราตั้งไว้ตามที่เคยรับมาแต่กาลก่อน เมื่อเจ้าเมือง ยกกระบัตร กรมการมาประชุมพร้อมกันแล้ว เสมียนตราด้วงจึงแกะครั่งประจำถุงตรา เปิดซองออกอ่านท้องตรา ให้เจ้าเมือง ยกกระบัตร กรมการฟัง ทราบพระประสงค์ และพระกระแสร์รับสั่งตลอดเรื่องแล้ว เจ้าเมืองกรมการน้อมคำนับถวายบังคมพร้อมกันแล้ว เสมียนตราด้วงจึงวางไว้บนพานถมบนโต๊ะแล้วคุกเข่าถวายบังคม ภายหลังแล้วจึงคำนับท่านเจ้าเมือง ไหว้ยกกระบัตร กรมการทั่วไป ตามฐานันดรแลอายุ ท่านเจ้าเมืองจึงลงไปอาราธนาสมเด็จพระวันรัต และสามเณรโตขึ้นพักบนหอนั่งบนจวน กระทำความคำนับต้อนรับเชื้อเชิญตามขนบธรรมเนียม โดยเรียบร้อยเป็นอันดี ผู้ว่าราชการจึงสั่งหลวงจ่าเมือง หลวงศุภมาตรา ๒ นาย ให้ออกไปบอกข่าวท่านสมภารวัดตะไกรให้ทราบว่า สมเด็จพระวันรัตวัดระฆัง มาถึงตามรับสั่งแล้ว ให้ท่านสมภารจัดเสนาศ์ปูอาศนะให้พร้อมไว้ ขาดแคลนอะไร หลวงจ่าเมือง หลวงศุภมาตรา ต้องช่วยท่านสมภาร สั่งหลวงแพ่ง หลวงวิจารณ์ ให้จัดที่พักคนเรือและนำเรือเข้าโรงเรือ เอาใจใส่ดูแลรักษาเหตุการณ์ทั่วไป สั่งขุนสรเลขให้ขอแรงกำนันที่ใกล้ๆ ช่วยยกสำรับเลี้ยงพระเลี้ยงคนในตอนพรุ่งนี้ จนตลอดงาน สั่งพระยายกกระบัตรให้มีตราเรียกเจ้าเมืองทั้ง ๔ ให้มาถึงปะรืนนี้ สั่งหลวงจู๊ให้ขอกำลังเลี้ยงฝีพายบางกอก สั่งรองวิจารณ์ รองจ่าเมือง ให้นัดประชุมกำนันในวันปะรืนนี้ สั่งรองศุภมาตราให้เขียนใบเชิญพ่อค้าคฤหบดี ครั้นเวลาเย็นเห็นว่าที่วัดจัดการเรียบร้อยแล้ว จึงอาราธนาสมเด็จพระวันรัต ออกไปพักผ่อนอิริยาบถที่วัด สบายกว่าพักบ้านตามวิสัยพระ ส่วนท่านเจ้าเมืองพร้อมด้วยเสมียนติดตามส่งสมเด็จพระวันรัต ณ วัดตะไกร และนัดหมายสามเณรโตให้นัดญาติโยมพร้อมหาฤากันใน ๒ วันนี้
ครั้นท่านเจ้าเมืองมาส่งสมเด็จพระวันรัตที่วัดตะไกรถึงแล้ว ได้ตรวจตราเห็นว่าเพียงพอถูกต้องแล้ว จึงสั่งกรรมการ ๒ นายให้อยู่ที่วัดคอยระวังปฏิบัติ และให้กำนันตำบลนี้คอยดูแลระวังพวกเรือญาติโยมของสามเณรโต อย่าให้มีเหตุการณ์ได้ ครั้นสั่งเสียเสร็จแล้วจึงนมัสการลาสมเด็จพระวันรัต นัดหมายกับท่านว่า อีก ๒ หรือ ๓ วัน จึงจะออกมาให้พร้อม จะได้นัดหมายการงานให้รู้กัน แล้วนมัสการลามาจัดแจงการเลี้ยงดุที่บ้านอีก ท่านเจ้าเมืองได้สั่งให้หลวงชำนาญคดีจัดห้องนอนบนจวนให้ข้าหลวงและเสมียนตราพักให้เป็นที่สำราญ สั่งในบ้านหุงต้มเลี้ยงคนเลี้ยงแขกเลี้ยงกรรมการที่มีหน้าที่ทำงานในวันพรุ่งนี้ ต่อไปติดกันไปในการเลี้ยง
(สิ้นใจความในรูปภาพประวัติเขียนไว้ในฉากที่ ๓ เท่านั้น ในประวัติที่ฝาผนังโบสถ์เป็นฉากที่ ๔ เจ้าของท่านให้เขียนไว้ดังนี้ เขียนรูปสมเด็จพระวันรัต เขียนรูปอาจารย์แก้ว เขียนรูปวัดตะไกร เขียนบ้านเจ้าเมือง เขียนคนมาช่วยงานทั้งทางบกทางน้ำ เขียนพวกกระบวนแห่นาค เขียนรูปท่านนิวัติออกเป็นเจ้านาค เขียนพวกเต้นรำทำท่าต่างๆ เขียนคนพายเรือน้ำเป็นคลื่น จึงอนุมานสันนิษฐานใคร่ครวญกอรปเหตุกอรปผลเข้าได้ความดังนี้)
ครั้นล่วงมาอีก ๓ วัน เจ้าเมืองกำแพงเพชร์ ๑ เจ้าเมืองพิจิตร ๑ เจ้าเมือง ไชยนาทบุรี ๑ เจ้าเมืองพิชัย ๑ พ่อค้าคฤหบดี กำนันในตำบลเมืองพิษณุโลก กรมการเมืองพิษณุโลกทั้งสิ้น มาประชุมพร้อมกันที่จวนท่านเจ้าเมืองพิษณุโลก ท่านเจ้าเมืองพิษณุโลกจึงได้พาคนทั้งปวงออกไปประชุมที่ศาลาใหญ่วัดตะไกร โดยอาราธนาสมเด็จพระวันรัต ให้ลงมาประชุมร่วมด้วยพร้อมทั้งตาผลนางงุด และคณะญาติของสามเณรโต ครั้นเข้าในที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว ท่านเจ้าเมืองพิษณุโลกจึงขอความตกลงที่แม่งุดเจ้าของนาคหลวงนั้นก่อน ว่าการบวชนาคหลวงครั้งนี้ มีพระกระแสร์รับสั่งโปรดเกล้าให้เจ้าเมือง กรมการอำเภอ เจ้าภาษี นายอากร คฤหบดี ทั้งปวงนี้เป็นผู้ช่วยสนับสนุนการจนตลอดแล้วโดยเรียบร้อย แต่รับสั่งให้อนุมัติตามเจ้าของนาคหลวง ก็ฝ่ายแม่งุดเป็นมารดาจะคิดอ่านอย่างไรขอให้แจ้งมา ฝ่ายบ้านเมืองจะเป็นผู้ช่วยอำนวยการทั้งสิ้น
ฝ่ายนางงุดจึงเรียนท่านเจ้าเมืองพิษณุโลกว่า ดิฉันกะไว้ว่าจะบวชแต่เช้า บวชแล้วเลี้ยงเช้าทั้ง ๒๙ รูป เลี้ยงเพลอีก ๒๙ รูป ดิฉันจะตั้งโรงครัวที่วัดนี้ ดิฉันใคร่จะมีพิณพาทย์ กลองแขกตีกระบี่กระบอง มีแห่นาค มีแห่พระใหม่ มีการสมโภชฉลองพระใหม่ ดิฉันใคร่จะนิมนต์ท่านพระครูวัดใหญ่ที่เมืองพิจิตร ๑ ท่านพระครูที่สัดเมืองไชยนาท ๑ มาสวดมนต์ฉันเช้าในการฉลองพระใหม่ มีการทำขวัญเวียนเทียน มีการสมโภชพระใหม่ มีการมหรสพด้วยเจ้าค่ะ ท่านเจ้าเมืองพิษณุโลก ก็รับที่จะจัดทำตามทุกประการ
ท่านเจ้าเมืองพิษณุโลก หันเข้าขอประทานมติ ต่อสมเด็จพระวันรัต ต่อไปว่าเมื่อวันไหนจะสะดวกในรูปการเช่นนี้ สมเด็จพระวันรัตตอบว่า โครงการที่ร่างรูปเช่นนี้เป็นหน้าที่ที่เจ้าคุณจะดำริห์และสั่งการจะนานวันสักหน่อยข้าเจ้าคิดเห็นเหมาะว่าวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง นพศกนี้ เป็นวันนิวัติสามเณรออกมาเป็นเจ้านาค สามโมงเย็นวันนั้นห้อมล้อมอุปสัมปทาเปกข์เข้าไปทำขวัญในจวน ให้นอนค้างในจวน เช้ามืดจัดขบวนแล้วแห่มา วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เวลา ๑ โมงเช้า บวชเสร็จ ๒ โมงเช้า พระฉัน มีมหรสพเรื่อยไปวันยังค่ำ พอ ๕ โมงเย็นจัดกระบวนแห่พระใหม่ เข้าไปในจวนเจ้าคุณ เริ่มการสวดมนต์ธรรมจักร์ต่อ ๑๓ ตำนาน ตามแบบหลวง แล้วรุ่งเช้าฉัน ฉันแล้วเลี้ยงกัน มีเวียนเทียน แล้วมีการเล่นกันไปวันยังค่ำอีกค่ำลงเสร็จการ เจ้าเมืองรับเถรวาทว่า สาธุ เอาละ
ครั้นท่านเจ้าเมืองพิษณุโลก หารือด้วยสมเด็จพระวันรัต ลงมติกำหนดการกำหนดวันเป็นที่มั่นคงแล้ว จึงประกาศให้บรรดาที่มาประชุมกันรู้แน่ว่า วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันทำขวัญ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันบวชเช้า ตามโครงการบวชนาคหลวงคราวนี้มีรายการอย่างนั้นๆ ท่านทั้งหลายทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย จงได้กำหนดไว้ทุกคน และขอเชิญไปฟังคำสั่งที่แน่นอนที่จวนอีกครั้ง แล้วท่านเจ้าเมืองพิษณุโลกก็นมัสการลาสมเด็จพระวันรัตและพระสงฆ์ทั้งปวง นำเจ้าเมืองทั้ง ๔ กับบรรดาที่มาประชุมกันสู่จวน ท่านเจ้าเมืองพิษณุโลกจึงแสดงสุนทรกถาชะลอเกียรติคุณของทางพระรัฏฐะปสาสน์ ปลุกน้ำใจข้าราชการ และราษฎรทั้งปวงให้มีความเอื้อเฟื้อต่อพระกุศลอันนี้ พอเป็นที่พร้อมใจกันแล้ว จึงสั่งกิจการทั้งปวงและแบ่งหน้าที่ทุกแห่งตำแหน่งการ ทั้งทางที่วัดและจัดที่บ้าน ตลอดการปรุงปลูกมุงบังบุดาษปูปัดจัดตั้งแบกหามยกขน และขอแรงมาช่วยเพิ่มพระบารมีกุศลตามมีตามได้ตามสติกำลังความสามารถจงทุกกำนัน เป็นต้นว่าของเลี้ยงกันเข้าโรงครัวถั่วผัก มัจฉมังสากระยาการตาลโตนด ตาลทราย หมาก มะพร้าว ข้างเหนียว ข้าวสาร เจ้าภาษีนายอากรขุนตำบลช่วยกันให้แข็งแรง พวกที่ไม่มีจะให้มีแต่ตีเป่าเต้นรำทำท่าพิณพาทย์กลองแขก กระบี่กระบอง ชกมวย มวยปล้ำ ใครมีอะไรมาช่วยกันให้พร้อม ทั้งของข้าวนำมาเข้าโรงครัว แต่ ณ วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นต้นไป จนถึงขึ้น ๑๓ ค่ำ สิ้นกำหนดส่งจะลงบัญชีขาด การโยธาเล่าให้เรียบร้อยแล้วเสร็จ ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำเหมือนกัน ฝ่ายท่านเจ้าเมืองทั้ง ๔ จงนำฎีกาสวดมนต์ฉันเช้า ไปวางฎีกาอาราธนาพระครูจังหวัดทั้ง ๔ มาสวดมนต์พระธรรมจักรและ ๑๒ ตำนาน ในการสมโภชพระบวชใหม่ที่จวนนี้ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ รุ่งขึ้นวันแรม ๑ ค่ำเดือนนี้ ศกนี้ นิมนต์ฉัน เจ้าเมืองทั้ง ๔ ต้องนำบอกงานแก่ผู้มีชื่อในจังหวัดของเมืองนั้นๆ จงทั่วหน้า
ถ้าหากว่าผู้ที่จะมาช่วยงานในการนี้ ติดขัดมาไม่สดวก ขอเจ้าเมืองจงเป็นธุระส่งแลรับให้ไปมาจงสะดวกทุกย่านบ้านบึงบาง ขอให้เจ้าเมืองมอบเมืองแก่ยกกระบัตรกรมการ ให้กำนันเป็นธุระเฝ้าบ้านเฝ้าควายเฝ้าเกวียน แก่บรรดาผู้ที่จะมาในงานนี้ แต่ ณ วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนนี้ศกนี้ ท่านเจ้าเมืองทั้ง ๔ จงมาถึงให้พร้อมกัน คำสั่งดังกล่าวนี้จงอย่าขาดเหลือได้ กิจการทั้งวัดทั้งบ้านทั้งใกล้ทั้งไกล ขอให้ยกกระบัตรเป็นพนักงานตรวจตรา แนะนำตักเตือน ต่อว่าเร่งรัดจเรทั่วไปจนตลอดงานนี้ หลวงจ่าเมือง รองจ่าเมือง เป็นหน้าที่พนักงานตรวจตราอาวุธ การทะเลาะวิวาทอย่าให้มีในการนี้ หลวงแพ่ง รองแพ่ง เป็นหน้าที่รับแขกคนเชิญนั่ง หลวงวิจารณ์ รองวิจารณ์เป็นพนักงานจัดการเลี้ยงน้ำร้อนน้ำชาทั้งพระทั้งแขกคนที่จะมาจะไป หลวงชำนาญ รองชำนาญเป็นพนักงานหมากพลูยาสูบ ทั้งพระทั้งแขกทั้งคนเตรียมเครื่องด้วย หลวงศุภมาตรา รองศุภมาตราเป็นพนักงานจัดการหน้าฉากทุกอย่าง ทั้งการพระการแขก ขุนสรเลข เป็นเสมียนจดนามผู้นำของมา จดทั้งบ้านเมืองอำเภอ หมู่บ้านให้ละเอียด ทั้งมากทั้งน้อย พระธำรงผู้คุมต้องเป็นพนักงานปลูกปรุงมุงบังบุดาษ เสมียนทนายดูเลี้ยง หลวงจ่าเมือง ต้องจัดหาตะเกียงจุดไฟทั่วไป ขัดข้องต้องบอกข้าพเจ้า ช่วยกันให้เต็มฝีมือด้วยกัน สั่งการเสร็จแล้ว สั่งแขกที่เชิญมากลับไปสั่ง ส่งเจ้าเมืองทั้ง ๔ กลับขึ้นบ้านเมือง
ส่วนผู้ว่าราชการเมืองพร้อมด้วยพระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง คิดการจัดไทยทานถวายพระ จัดซึ้อผ้ายี่โป้ไว้สำหรับสำร่วยการมหรสพทั้งปวง ขอแรงภรรยากรมการเป็นแม่ครัว ท่านผู้หญิงเป็นผู้อำนวยการครัว พระยกกระบัตรเป็นพนักงานเลี้ยงพระเลี้ยงคนด้วย พวกผู้หญิงลูกหลานพี่น้องกรมการ ขอแรงเย็บบายศรีเจียนหมากจีบพลู มวนยาควั่นเทียน ตำโขลกขนมจีน ทำน้ำยาเลี้ยงกัน ครั้นท่านผู้ว่าราชการเมืองจัดการสั่งการเสร็จสรรพแล้วพักผ่อนพูดจากับท่านเสมียน ท่านพระโหราธิบดีตามผาสุขสำราญคอยเวลา
ตั้งแต่วันที่กำหนดส่งของเข้าครัว อาหารก็ไหลเรื่อยมาแต่ขึ้น ๘ ค่ำ จนถึง ๑๓ ค่ำ ท่านเจ้าเมืองส่งไปครัวทางวัดบ้าง เข้าครัวบ้านบ้าง คนทำกิจการงานได้บริโภคอิ่มหนำตลอดถึงกรมการและลูกเมีย กำนันและลูกบ้านที่ยังค้างอยู่ก็ได้บริโภคอิ่มหนำทั่วหน้ากัน นายอากรสุราก็ส่งสุรามาเลี้ยงกันสำราญใจ ต่างก็ชมเชยบารมีพ่อเณร และชมอำนาจเจ้าคุณผู้ว่าราชการเมือง และชมเชยพระยุพราชกุศลกัลยาณวัตรของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าพระองค์นี้ เป็นที่สนุกสนานทั่วกัน
(ถามว่า เรื่องนี้ทำไมผู้เรียบเรียงจึงเรียงความได้ละเอียด ตอบว่าเสมียนด้วง พระโหรา ได้เห็นได้รู้ นำมาเล่าสืบๆ มา)
ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนหก ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๑๕๙ ปี เวลาเช้า เจ้าเมืองทั้ง ๔ ก็มาถึง พระครูจังหวัดก็มาถึง ผู้มีชื่อที่มาช่วยกิจการอุปสมบทนี้ก็มาถึงทั้งใกล้ไกล ท่านเจ้าเมืองพิษณุโลกก็ยิ้มแย้มทักทายต้อนรับ พระยกกระบัตร ก็ดูแลเลี้ยงดูเชื้อเชิญให้รับประทานทั่วถึงกัน ตลอดพวกมหรสพ ฝีพาย ทั้งเรือพระ เรือเจ้าเมือง เรือคฤหบดี ก็เรียกเชิญเลี้ยงดูอิ่มหนำทุกเวลา
ครั้นเวลาเที่ยงแล้ว ท่านผู้ว่าราชการเมืองพิษณุโลก พร้อมด้วยเจ้าเมืองทั้ง ๔ และพระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง กับทั้งพวกกระบวนแห่ก็เตรียมออกไปรับนาคที่วัด สมเด็จพระวันรัตก็ให้สามเณรโตลาสิกขาบท นิวัติออกเป็นนาค ท่านสมภารวัดตะไกรก็สั่งพระให้โกนผมเจ้านาคแล้ว พระโหราก็แต่งตัวเจ้านาค นำเครื่องผ้ายกออกมาจากหีบ เสื้อกรุยเชิงมีดอกพราวออกแล้ว นุ่งจีบโจงหางโหง ชักพก แล้วติดผ้าหน้าเรียกว่าเชิงงอน ที่ภาษาชะวาเรียกว่าซ่าโปะ แล้วคาดเข็มขัดทองประดับเพชร สอดแหวนเพชร ถือพัชนีด้ามสั้น สรวมเสริดยอดประดับพลอยทับทิมแลมรกตที่คำสามัญเรียกว่าตะลอมพอกทรงเครื่อง แต่งตัวเสร็จแล้ว ท่านผู้ว่าราชการก็นำนาค พระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง เดินแซงข้างนาค ญาติโยมตามหลังเป็นลำดับลงไป พวกกระบวนแห่ก็เต้นรำตามกันมา ตามเจ้าคุณพระยาพิษณุโลกนำนาคเข้ามาทำขวัญที่จวนเมื่อเวลาบ่าย ๓ โมงเย็น วันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๖ ศกนั้น
ครั้นถึงจวนเจ้าเมืองก็นำนาคเข้าโรงพิธีที่จัดไว้บนหอนั่ง แล้วเรียงรายเจ้าเมือง กรมการ เจ้าบ้านคหบดี เจ้าภาษีนายอากร ราษฎรสูงอายุ และญาติโยมของเจ้านาค พระโหราธิบดีเรียกคนเชิญขวัญ ที่นำไปแต่กรุงเทพทั้งพราหมณ์พรหมบุตรชุดหนึ่งขึ้นมาจากเรือ แล้วเข้านั่งทำขวัญๆ แล้วเวียนเทียน พิณพาทย์ก็บรรเลงตามเพลงกระ, กรม กราว เชิด ไปเสร็จแล้วจัดการเลี้ยงเย็น ค่ำลงจุดไฟแล้วมีการเต้นรำร้องเพลงสนุกจริง
ครั้นเวลาย่ำรุ่ง ท่านผู้ว่าราชการเมืองพิษณุโลก พร้อมด้วยเจ้าเมืองทั้ง ๔ แลกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อย พ่อค้าแม่ค้า เจ้าภาษีนายอากร อำเภอ กำนัน พันทนายบ้าน ขุนตำบล พระธำมะรงค์ผู้คุม ผู้ใหญ่มาพร้อมกันที่หน้าจวน จึงจัดกระบวนแห่ เป็น ๗ ตอน ตอน ๑ พวกกระบี่กระบอง ตอน ๒ พวกชกมวยมวยปล้ำ ตอน ๓ กลองยาว ตอน ๔ เทียนอุปัชฌาย์ ไตรบาตร์ ไตรอุปัชฌาย์ ตอน ๕ เจ้าเมืองทั้ง ๕ กรรมการเสมียนตราข้าหลวง ตอน ๖ ญาติมิตรคนช่วยงานถือของถวายอันดับ ตอน ๗ พวกเพลงพวกเต้นรำต่างๆ เป็นแถวยืดไป แห่แหนห้อมล้อมเป็นขบวนเดินมา จนถึงเขตกำแพงวัดตะไกรผ่อนๆ กันเดินเข้าไป ตั้งชุมนุมเป็นกองๆ แต่พวกกลองยาวพวกขบวนถือเทียน ถือไตรบาตร์บริขารของถวายพระนั้นเวียนโบสถ์ไปด้วย พวกพิณพาทย์ กลองแขกนั่งตีที่ศาลาหน้าโบสถ์ ครบสามรอบแล้ว เจ้านาควันทาสีมาเจ้าเมืองทั้ง ๔ แวดล้อม พระโหราเป็นผู้คุมและสอน แล้วขึ้นโบสถ์สาก็ทิ้งทานเปลื้องเครื่องที่แต่งแห่มา ผลัดเป็นยกพื้นขาว ผ้ากรองทองห่มสไบเฉียง เปลื้องเสื้อกรุยออกถอดตะลอมพอก ถอดแหวนแลสร้อยส่งให้เสมียนตราๆ รับบรรจุลงหีบลั่นกุญแจมอบเจ้าเมืองทั้ง ๕ เป็นผู้รักษา แล้วโยมญาติช่วยกันจูงช่วยกันรุมเข้าโบสถ์ พระโหราธิบดีนำเข้าวันทาพระประธาน แล้วมานั่งคอยพระสงฆ์ ฝ่ายพระสงฆ์ ๒๙ รูป มีสมเด็จพระวันรัตเป็นปรานที่พระอุปัชฌาย์ ลงโบสถ์พร้อมกันแล้ว นางงุดจึงยื่นผ้าไตรบวชส่งให้นาคๆ น้อมคำนับรับเอาเข้ามาในท่ามกลางสงฆ์ พวกกรมการยกเทียนอุปัชฌาย์ ไตรอุปัชฌาย์พร้อมด้วยกรวยหมาก เข้ามาส่งให้เจ้านาคถวายอุปัชฌาย์ แล้วให้เจ้านาคยืนขึ้นวันทาอ้อนวอนขอบรรพชาเป็นภาษาบาฬี (ตามวิธีบวชพระมหานิกาย) ครั้นเสร็จเรียนกัมมัษฐาน แล้วออกไปครองผ้าเข้ามาถวายเทียน ผ้าไตร แก่พระกรรมวาจา แล้วยืนขึ้นประทานวิงวอนขอพระสรณาคมน์ นั่งลงรับพระสรณาคมน์เสร็จ รับศีล ๑๐ ประการเป็นเณรแล้วเข้ามายืนขอนิสสัยพระอุปัชฌาย์ สำเร็จเป็นภิกษุในเพลา ๓๒ ชั้น คือ ๗ นาฬิกาเช้า วันพุธขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๑๕๙ ปี ประชุมสงฆ์ ๒๘ รูป เป็นคณะปักกะตัดตะในพัทธสีมาของวัดตะไกร เมืองพิษณุโลก สมเด็จพระวันรัต วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แก้ว วัดบางลำภูบน เป็นกัมมาวาจา พระอธิการวัดตะไกร เมืองพิษณุโลกเป็นอนุสาวะนะ ครั้นเสร็จการอุปสมบทแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงออกจากโบสถ์ ลงมาฉันเช้าที่ศาลาวัดตะไกรพร้อมกันทั้งภิกษุโตด้วย
ที่มา พระพุทธรูป - วิหารทาน - สิ่งก่อสร้าง - PaLungJit.org[BIGVDO][/BIGVDO]%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%92%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B9%96%E0%B9%99%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A7.548123/
สมเด็จโตมหาปราชญ์แห่งรัตนโกสินทร์ ตอน พบเจ้าฟ้ารัชทายาท
ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 14 เมษายน 2015.