-
ไม่มาเกิดไม่มาตายเรียกว่าชาติสุดท้าย หลวงปู่ขาว อนาลโย "มรรค"
หมายเหตุ - ในโอกาสวันถวายเพลิงสรีระสังขาร หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะศิษย์วัดภูสังโฆ ได้จัดทำหนังสือ ไม่มาเกิดมาตายเรียกว่า “ชาติสุดท้าย” แจกเป็นที่ระลึก ก่อนหน้านี้คณะผู้จัดทำได้เคยจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้แล้วนำถวายหลวงตามหาบัวครั้งยังดำรงขันธ์อยู่มาก่อนแล้ว เนื่องจากการพิมพ์ครั้งล่าสุดนี้หนังสือมีจำนวนจำกัด
ทางกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์จึงได้ขออนุญาต พระอาจารย์วันชัย วิจิตโต เจ้าอาวาสวัดภูสังโฆ นำรายละเอียดของหนังสือมาเผยแผ่ซึ่งท่านได้แจ้งว่า ให้พิจารณาว่าจะเป็นประโยชน์หรือไม่ ทางกองบรรณาธิการจึงจะนำเสนอต้นฉบับตามเดิม โดยเพิ่มเนื้อหาที่เป็นเทศนาของพ่อแม่ครูอาจารย์แต่ละรูปเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง แล้วนำเสนอต่อเนื่องไปคราวละสัปดาห์จนกว่าจะสิ้นความหลักในหนังสือ มีรายละเอียดดังนี้
***********************
เกิดมาชาตินี้ก็เป็นผู้สมบูรณ์บริบูรณ์ พ้นจากใบ้ บ้า บอด หนวก เสียจริต มีร่างกาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สมบูรณ์ บริบูรณ์แล้ว เราต้องเอามันทำประโยชน์เสีย เอากะมันเสีย อย่าไปปล่อยให้มันแก่ขึ้นตายขึ้นซื่อๆ สมบัติอันนี้เป็นแต่ภายนอกเอานำมันเสีย เอาทรัพย์ภายใน เอาอริยทรัพย์ ทรัพย์อันติดตามตนไปได้ ทรัพย์สมบัติที่เราแสวงหาอยู่แต่ชาตินี้ ได้เป็นมหาเศรษฐี ได้เป็นอิหยังก็ตามเป็นของกลางหมด เป็นทรัพย์ภายนอกที่เราได้อาศัยมันชั่วชีวิตนี้เท่านั้น
ครั้นขาดลมหายใจแล้ว สมบัตินี้ก็เป็นสมบัติของโลก อัตภาพร่างกายนี้ก็เป็นสมบัติของโลก มันเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ แล้วผู้ที่ไปนั่นคือผู้ที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารจักรไม่มีที่สิ้นสุด คือดวงวิญญาณ ดวงจิต ดวงวิญญาณนี่แหละที่ท่องเที่ยวอยู่ เกิดอยู่บ่อยๆ นั่นแหละ
สํสรนฺตา ภวาภเว สงฺสาเร สงฺสรนฺโตโส สงฺสาราทุกฺคโตโนติ สงฺสารํ อินิมา
พวกเราที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารจักรนี้ไม่ใช่เราเกิดมาชาติเดียวเท่านี้ นับภพนับชาติที่เราท่องเที่ยวอยู่ ต่ำๆ สูงๆ จนเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน สารพัดมันเป็น เราไปสวรรค์ก็ได้ขึ้นไป เราไปพรหมโลกก็ได้ขึ้นไป ลงไปนรกก็นับกัปนับกัลป์ไม่ได้
เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว เราควรประพฤติแต่กรรมอันดี
เมื่อพวกเรารู้อย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าว่า จะดีก็ดี จะชั่วก็ดี เป็นเพราะกรรมดอก เกิดมาต่างๆ กัน ไม่เหมือนกัน สมมติว่าเกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ต่างพันธุ์กัน วิชาความรู้ก็ต่างกัน สมบัติก็ต่างกัน รูปร่างก็ต่างกัน ความยากจนข้นแค้น ความมั่งคั่งสมบูรณ์ก็ต่างกัน อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะกรรมแม่นหมดทั้งก้อน ก้อนธรรมสิ่งที่เป็นใหญ่นั่นในตัวเขา
พระพุทธเจ้าว่า มโนปุพฺพํ คมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโน มยา มีใจนั่นแหละเป็นใหญ่ มีใจนั่นแหละเป็นหัวหน้า มีใจนั่นแหละประเสริฐสุด สิ่งทั้งหลาย บาปก็ดี บุญก็ดี สำเร็จได้ด้วยใจ
มนะ เรียกว่าใจ
ครั้นใจไม่ดี มนสาเจ ปทุจเตน ใจไม่ดี ใจขุ่นมัว ใจเศร้าหมอง ลุอำนาจความโลภ ความโกรธ ความหลง ใจเหล่านั้น แม้นบุคคลจะพูดอยู่ก็ตาม จะทำการงานด้วยกายอยู่ก็ตาม เพราะจิตเศร้าหมอง จิตไม่ดีแล้ว ความทุกข์นั้นย่อมติดตามบุคคลผู้นั้นไป เหมือนกันกับล้ออันตามรอยเท้าโคไป มนสาเจ ปสนฺเนน ครั้นจิตผ่องใส ผุดผ่อง ไม่เศร้าหมองแล้ว แม้นจะพูดอยู่ก็ตาม จะทำการงานอยู่ก็ตาม จะไปที่ไหนก็ตาม ความสุขย่อมติดตามเขาไป เหมือนเงาเทียมตนไปอย่างนั้น
ครั้นรู้ว่าใจเป็นหัวหน้า ใจเป็นใหญ่ ดีก็ต้องมีใจเป็นผู้คิดให้ทำ ทำชั่วก็มีใจเป็นผู้คิดให้ทำ เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว เราจงเอาแต่ส่วนดี ส่วนไม่ดี มีราคะ โทสะ โมหะ นั่น ตัดมันออกไป ไล่มันออกไป อย่าให้มันไปยึดไปถือ อย่าให้มันไปเป็นเจ้าเรือน แล้วแม้นจะทำอะไรก็ดี จะพูดก็ดี จะคิดก็ดี ขอให้มีสติอยู่ประจำ ครั้นมีสติแล้ว พูดก็ไม่พลาด ทำอยู่ก็ไม่พลาด คิดก็ไม่พลาด
ให้พากันหัดทำสติ ให้สำเหนียก ให้แม่นยำ พระพุทธเจ้าจึงว่า เยเกจิ กุสลา ธมฺมา สพฺเพเต อปฺปมาทมูลกา อปฺปมาทสโมสรณา อปฺปมาโท ครั้นมีสติแล้ว กุศลธรรมทั้งหลายก็เกิดขึ้น ก็มีแต่ทำความดีทุกสิ่งทุกอย่าง
รู้อย่างนี้แล้วให้พากันหัดทำสติ มันผิดก็ให้รู้ เราจะพูดให้ระลึกได้เสียก่อน เราจะทำด้วยกายก็ให้ระลึกได้เสียก่อน จะคิดก็ให้ระลึกได้เสียก่อน มันถูกเราจึงทำ มันถูก เราจึงพูด มันคิดไม่ผิด เป็นศีล เป็นธรรม เราจึงระลึก จึงนึก ให้ทำสติ สำเหนียกให้แม่นยำ หัดทำสติให้ดี แล้วก็ให้สมาทานเอาศีลของเรา เอาอธิศีล ทิฏฺฐ สมาทาเน ให้พากันสมาทานเอาศีลของเรา เอาศีลของเราให้เป็นอธิศีลที่เป็นใหญ่ เป็นอธิบดี ให้เป็นศีลมั่นคง
อย่าให้เป็นศีลที่ง่อนแง่นคลอนแคลน อธิจิตฺตํ ทิฏฺฐสมาทาโน ให้พากันสมาทานเอา มีสติตั้งใจ ควบคุมจิตใจของตนไว้ให้ตั้งมั่นอยู่อย่างนั้น
จะทำการทำงานพูดจาอะไรก็ตาม มีสติ จิตตั้งมั่น หรือนั่งภาวนา ก็ให้จิตตั้งมั่นเป็นอธิบดี อธิ เรียกว่าเป็นใหญ่กว่าสิ่งทั้งปวง เรียกว่าไม่หวั่นไหวต่อสิ่งทั้งปวง
อธิปญฺญา สิกขา สมาทาเน ให้สมาทานเอาอธิปัญญา ความจริงรอบคอบ รู้เท่าสังขาร ปัญญา ความรู้เห็น เห็นชาติความเกิดเป็นทุกข์ แม้นทุกข์เกิดขึ้นในกาย ความไม่ดีเกิดขึ้นในกาย เวทนาไม่ดีเป็นทุกข์ เกิดขึ้นแต่สัมผัสทางกาย อันนี้เรียกว่าความทุกข์กาย ให้มันรู้ ความทุกข์เกิดขึ้นที่ใจ ความไม่ดีเกิดขึ้นที่ใจ เวทนาไม่ดีเกิดขึ้นจากสัมผัสที่ใจ อันนั้นได้ชื่อความโกรธ ความเศร้าใจ ความเสียใจ ให้กำหนดรู้ ให้มันเป็นเรื่องทุกข์เสีย พระพุทธเจ้าว่าเป็นทางไปพระนิพพาน ทางดับทุกข์ ความประจวบกับสัตว์และสังขารอันไม่เป็นที่รักที่เจริญใจ มีความไปร่วม มีความมาร่วม มีความประพฤติร่วม มันเป็นสิ่งที่ไม่ชอบใจ อปฺปิเยหิ สมฺปโยโค ทุกฺโข ทุกข์น่าเกลียดน่าชัง ทุกข์ไม่พอใจ ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รักที่เจริญใจ มีญาติพี่น้องไปทางไกล หรือพลัดพรากไปไกล หรือล้มหายตายเสียจากกัน ก็มีความทุกข์เกิด เรียกว่า ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกฺโข
ความไม่ไปร่วม ความไม่ประชุมร่วมกับสิ่งที่ชอบใจ อันนี้ก็เป็นทุกข์ บุคคลปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นสมหวัง อันนี้ก็เป็นทุกข์ อันนี้มันมาจากไหน เราได้รับผลอยู่เดี๋ยวนี้ มันมาจากไหน ต้องใช้สติปัญญาค้นคว้า มันก็จะเห็นกัน เมื่อทำจิตให้สงบ มันก็จะเห็นกัน คือความอยาก มันเกิดมาจากความอยาก เรียกว่ากามตัณหา ความใคร่ ความพอใจในรูป ในสิ่งที่มีวิญญาณ ความทุกข์มันเกิดขึ้นจากความอยาก ความใคร่ ภวตัณหา ความอยากได้ อยากเป็น อยากมี อยากกอบโกยเอา อยากได้มาเป็นของตัว อยากเป็นเศรษฐีคหบดี อยากเป็นราชามหากษัตริย์ เรียกว่า ภว
ความอยากเป็นอยากมี ความไม่พอใจเหมือนอย่างความแก่หง่อมแห่งชีวิต ความเปลี่ยนแปลงแห่งชีวิต ความมีหนังหดเหี่ยวเป็นเกลียว ผมหงอก ฟันหัก อันนี้ไม่พอใจ เสียใจ อยากให้มันเป็นหนุ่มตึงอยู่อย่างเก่า ผมหงอกมันก็ไปเอายาดำๆ มาย้อม แล้วมันก็ป่งขึ้นอีก มันก็ขายหน้าล่ะ มันก็ดำอยู่ปลายนั่น โคนๆ มันก็ขาว มันก็ขายหน้าอีก แล้วก็ไม่พอใจ นี่เรียกว่า วิภวตัณหา
ตัณหาสามอย่างนี้แหละเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
เมื่อรู้เท่ามันสามอย่างนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดความเศร้าโศก แล้วก็ใช้ปัญญาค้นหา มันเกิดจากไหน ตัณหามันเกิดอยู่ที่ไหน มันตั้งอยู่ที่ไหน
พระพุทธเจ้าว่า จกฺขุ? โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ สิ่งใดเป็นที่รักสนิทใจในโลก อะไรเป็นที่รักสนิทใจในโลก คือ จกฺขุ? ตา ฯลฯ สนิทใจในโลก ตัณหาจะเกิดขึ้นที่ตา ตัณหาจะตั้งอยู่ ตั้งอยู่ที่ตา เกิดที่หู ตั้งอยู่ที่หู เกิดที่จมูก ตั้งอยู่ที่จมูก เกิดที่ลิ้น ตั้งอยู่ที่ลิ้น กายสัมผัสอ่อนนุ่ม มีความชอบใจ กำหนัด พอใจ อารมณ์อดีตล่วงมาแล้ว อนาคตยังมาไม่ถึง เอามาเป็นอารมณ์ เรียกว่าธรรมารมณ์ มันเกิดขึ้นที่ใจ รู้จักว่ามันเกิดขึ้นจากอายตนะภายนอก กับอายตนะภายในกระทบกัน แล้วไปเกิดวิญญาณความรู้ขึ้นจากสัมผัส เวทนาเกิดขึ้นเรื่อยๆ ไป
เรารู้แล้ว อายตนะภายใน กับภายนอกกระทบกัน เกิดสัมผัส เราเพียรดับมัน เวทนาเกิดขึ้นจากสัมผัส เมื่อรู้แล้วเราควรละควรปล่อยวาง จึงว่าดับทุกข์ อยู่นี่ อยู่ในนิโรธ ดับตัณหาทั้งสามได้ นั่นคือนิโรธ นิโรธคือความเฉยต่อสิ่งทั้งปวง ความไม่หวั่นไหว เรียกว่านิพพาน
พระพุทธเจ้านิพพานไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่กายนี่แหละไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่กับอาการสามสิบสอง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อยู่กับธาตุสี่สิบสอง
เราฟังแล้วให้พากันตั้งใจทำ เหมือนกันกับเครื่องทัพสัมภาระ เราจะปลูกบ้านปลูกเรือน มีดเราจะใช้ทำการทำงาน ลับดีแล้วเอามาวางไว้
ทัพสัมภาระเอามาวางไว้ แล้วไม่ทำมัน ของจะทำครบหมดแล้วแต่เราไม่ทำ จะปลูกเรือนก็ไม่ปลูก เอามากองอยู่อย่างนั้น ก็ชำรุดทรุดโทรม ไม่มีประโยชน์
จะอาศัยทำต้องอดทน อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน พระพุทธเจ้าไม่ห้าม นิสัยจริตของเราถูกกับอะไร ถูกกับพุทโธ หรือ ธัมโม หรือ สังโฆ หรือถูกกับ ขน เล็บ ฟัน หนัง เอาเข้าอย่างหนึ่ง ถ้ามันถูก จิตมันจะสงบ จิตสงบไม่ฟุ้งซ่าน จิตเบิกบานแยบยล ร่าเริง อันนี้ก็หมายความว่า มันถูกกับจริต ก็เอาอย่างนั้น บริกรรม พุทโธๆ เรียกว่า สมถะ
ครั้นมันไม่ถูกไม่ลง ต้องพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นั่นพิจารณามันเห็นเป็นอสุภะอสุภัง ของเน่าของเหม็นของปฏิกูลโสโครก พิจารณาให้มันเห็นศพอยู่ในใจเรา ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา อนิจฺจา ขันธ์ห้าเป็นของไม่เที่ยง ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา อนตฺตา ของอันนี้ไม่ใช่ของตน ไม่ใช่ผู้หญิง ผู้ชาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลตัวตน นี่ละรวมกัน คือ
ถ้ามันไม่สงบ ยังฟุ้งซ่าน ก็ต้องเอาปัญญาค้นคว้าพิจารณาให้มันเห็น เห็นของโสโครกไม่สวยไม่งาม พิจารณาไป จิตมันก็เห็น มันก็เกิดความสลดสังเวช เบื่อหน่ายในความเป็นอยู่ คืออัตภาพ
เบื่อหน่ายมันก็เกิดความคลายกำหนัด ไม่ยึดขันธ์อันนี้ว่าตัวว่าตน จิตลงไปถึงที่มัน มันไม่ไปไหนแล้ว มันเป็นอธิจิต มันจะเกิดแสงสว่างโร่ขึ้น ดวงปัญญามันก็จะพุ่งขึ้น การภาวนาอบรมจิตให้มันอยู่นี่ เพื่อต้องการจะเอาปัญญานั่นแหละ มันต้องเกิดขึ้น มันจึงจะรู้เท่าความเป็นจริง มันจะเห็นทุกขสัจจะ เหตุเกิดทุกข์ ทางที่จะดับทุกข์ ทางให้ถึงความดับทุกข์ ทางมันราบรื่นสบาย
พระพุทธเจ้าก็บอกแล้ว อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค เสทโถ มรรคแปดเป็นทางอันประเสริฐ พวกเราได้ยินได้ฟังแล้ว เร่งทำเอาให้เกิดให้มี ทำแล้วจะได้รับความสุขกายสบายใจ ไม่มีความเดือดร้อนใจ ความโศกความเศร้าก็ไม่มี เพราะรู้เท่าตามความเป็นจริงแล้วของเรื่องโลกเรื่องสังขาร บ้านเมืองเกิดวุ่นวายฆ่าตีกัน เราไม่วุ่นวายฆ่าตีกับเขา เขาด่าก็เราไม่ด่าเขา บ้านเมืองเขาร้อง เขาไห้ เราก็ไม่ร้องไห้อย่างเขา
โพสต์ทูเดย์ ธรรมะ-จิตใจ : หลวงปู่ขาว อนาลโย "มรรค"