หลวงพ่อกัสสปมุนี วัดปิปผลิวนาราม
ในหนังสือปกิณกสารธรรม อนุสรณ์ ๑๐ ปี แห่งการมรณภาพของหลวงพ่อ ภายในหนังสือเล่มดังกล่าวมีบทความที่กล่าวถึงความประทับใจสมัยเมื่อหลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ หลายบทความเป็นเรื่องที่กล่าวถึงอภินิหาริย์ที่ตนเองเคยพบเห็น และก็อีกหลายบทความครับที่สอนถึงเรื่องของการปฏิบัติธรรม
โดยเฉพาะในเรื่องของ “อานาปนสติ” ซึ่งก็คือ “การพิจารณาลมหายใจเข้าออก”
อย่างไรก็ตามในตอนท้ายของบทความทุกเรื่องล้วนมาหยุดตรงที่ว่า
“หลวงพ่อเป็นเสมือนผู้นำทางให้พวกเขาเหล่านั้นพบแสงสว่างในการดำเนินชีวิต คือแนวทางของพระพุทธศาสนา”
ว่ากันว่าธรรมะที่หลวงพ่อได้เคยอบรมสั่งสอนไว้ ล้วนแล้วแต่ฟังง่าย เข้าใจง่ายและสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ความยากลำบากที่สุดในการฝึกปฏิบัติตามคำสอนของท่านก็คือ
“ความเพียรในการปฏิบัติธรรม”
วันนี้พวกเราอยู่ที่ “วัดปิปผลิวนาราม” ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ครับ
ปิป-ผะ-ลิ-วะ-นา-ราม คือชื่อเรียกที่ถูกต้อง
พูดถึงวัดปิปผลิวนาราม อาจจะไม่คุ้นหูคุ้นตาเท่าใดนัก แต่สำหรับผู้ที่เกิดทันยุคทันสมัยนั้น จะทราบกันดีว่า
ที่นี่มีคำสอนที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งทางธรรมและทางโลก
ที่นี่มีเรื่องราวที่ลึกลับซับซ้อนเกี่ยวโยงกันแบบข้ามมิติแห่งกาลเวลา
ที่นี่มีที่เรื่องราวของ “เจ้าแม่จัมปากะสุนทรี” ซึ่งมีความผูกพันกับ “เจ้าแม่วิสาขา” แห่งภูกระดึง
ที่นี่มีเรื่องราวของเทพารักษ์ที่มีวิมานอยู่ต้นไม้พันกันสามต้นและมีช่องที่โคน นามว่า “ท้าวสุโรดม”
และที่นี่มีเรื่องราวของ “หลวงพ่อกัสสปมุนี อดีตเจ้าอาวาส” ผู้มีอัจฉริยภาพในหลายๆด้านครับ
ในพระพุทธศาสนา “สัปปุริสธรรม” หรือ “สัปปุริสธรรม ๗” หมายถึงธรรมของสัตบุรุษ ผู้ใดที่ได้ปฏิบัติธรรมหมวดนี้ ย่อมเป็นผู้ถึงซึ่งความเจริญ ไม่มีวันเสื่อม....
หลวงพ่อกัสสปมุนีเกิดที่กรุงเทพมหานคร มีนามก่อนบวชเป็นพระภิกษุว่า “ประจงวาศ” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ประยุทธิ วรวุธิ” นามสกุล “อาภรณ์ศิริ” บิดาของหลวงพ่อคือ “พระยาหิรรัชฏพิบูลย์ (ประวัติ อาภรณ์ศิริ) มารดานาม “นางพาหิรรัชฏพิบูลย์ (เผื่อน อาภรณ์ศิริ)”
หลวงพ่อมีพี่น้องสามคนครับ คนโตชื่อ“ประไพวงศ์” คนเล็กชื่อ “ประสาทศิลป์” ส่วนหลวงพ่อเป็นคนกลาง ในชีวิตของหลวงพ่อก่อนบวชท่านสมรส “นางประชุมศรี อาภรณ์ศิริ” มีบุตรชาย ๒ คนและบุตรี ๒ คน
สังคีติสูตรในพระไตรปิฏกได้บรรยายไว้ว่า
“ผู้รู้จักเหตุ ผู้รู้จักผล ผู้รู้จักตน ผู้รู้จักประมาณ ผู้รู้จักกาล ผู้รู้จักบริษัทและผู้รู้จักบุคคล”
ซึ่งการรู้จักในประเด็นทั้ง ๗ ข้อนี้ เราเรียกว่า “สัตบุรุษ ๗” กล่าวกันว่าธรรมทั้ง ๗ ข้อนี้คือคุณสมบัติของคนดี
คุณกฤษฤกษ์ เปรมรัตนา ได้เขียนบันทึกถึงความประทับใจที่มีกับหลวงพ่อในแง่ที่ช่วยให้เขาสามารถต่อสู่ชีวิตและมีกำลังใจที่จะสร้างสมบารมีต่อไปดังนี้ครับ
ตนเองโชคดีมีโอกาสได้พบและได้รับฟังคำสอนของท่าน ถึงแม้ว่าจะเป็นเวลาที่น้อยนิดเสียเหลือเกินและคำสอนก็แสนจะสั้น แต่คำสอนที่ท่านได้เมตตาสอนไว้นั้นเมื่อเขาได้นำมาพิจารณาในคำสอนก็พบว่ามันได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับตัวของเขาเอง เรื่องราวมีอยู่ว่า
มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาได้ไปกราบนมัสการหลวงพ่อที่ศาลาหงษ์ยนต์ ในวันนั้นเป็นช่วงจังหวะที่ดีมากเพราะบนศาลามีเพียงเขากับหลวงพ่อ
“โยมรู้จักธรรมของสัตบุรุษไหม”
คุณกฤษฤกษ์ได้เรียนตอบท่านว่าเขาไม่ทราบ หลวงพ่อจึงได้เมตตาบอกให้เขาไปหาดูได้จาก”หนังสือนวโกวาท” ซึ่งมีอยู่ ๗ หัวข้อ พร้อมกับกล่าวว่า
“สัตบุรุษนั้นย่อมรู้เหตุแห่งความเสื่อม เหตุแห่งความเจริญ เพราะฉะนั้น เมื่อเรารู้เหตุแล้ว เราก็หมั่นพิจารณาปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่างๆให้ดี เราก็จะไม่เสื่อม มีแต่ความสุข ความเจริญ”
ใช่แล้วครับการเป็นคนดีไม่มีวันเสื่อม.....
จะว่าไปแล้วในบรรดาความต้องการของมนุษย์นั้น “ความดี” ถึงจะไม่ได้เป็นความต้องการขั้นสูงสุดก็จริง แต่ที่สุดแล้ว “ความดี” กลับถูกใช้เป็นตัวเชื่อมหรือสื่อที่เข้าถึงความต้องการของมนุษย์ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะกับชีวิตในปัจจุบันนั้นแทบจะเรียกได้ว่าต้องใช้ “ความดี” เป็นตัวกำกับแนวทางชีวิตไว้เสมอ
คงไม่มีใครหรอกครับที่อยากมีชีวิตแบบที่ปราศจาก “ความดี”
ว่ากันว่าการสร้างอนาคตเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องสร้างรากฐานในปัจจุบันให้ดี
หลวงพ่อเคยเล่าไว้ว่า ตอนที่ท่านอายุได้ ๔๖ ปี ขณะนั้นท่านรับราชการอยู่ ในตอนเย็นของวันหนึ่งท่านได้ไปงานเลี้ยงกับเพื่อนร่วมเมา จบงานเลี้ยงก็ประมาณ ๒๓.๐๐ น. เพื่อนจึงขับรถไปส่งท่านที่บ้าน รุ่งเช้ายังไม่ทันตื่น ลูกชายของเพื่อนมาบอกท่านว่า
“พ่อตายแล้ว”
หลวงพ่อเล่าว่าในจังหวะนั้นเกิดเป็น “มรณานุสสติกรรมฐาน” ปรากฏกับจิตใจ ทำให้ท่านหวนคิดว่า
“แล้วเราล่ะ”
หลังจากวันนั้นเป็นต้นมาท่านจึงเริ่มปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจังและได้ออกธุดงค์ตามถ้าต่างๆ จนสุดท้ายแล้วท่านเห็นว่าชีวิตในทางธรรมเป็นเส้นทางที่ถูกต้องและต้องการของชีวิต ท่านจึงได้ขอลาออกจากราชการ ลาออกทั้งๆที่มีคำสั่งอนุมัติท่านเป็น”รองอธิบดี”
หลังจากได้รับอนุมัติให้ลาออก ท่านจึงได้อุปสมบทที่วัดโพธิ์ ท่าเตียน โดยมีสมเด็จพระวันรัต (ต่อมาสมเด็จพระวันรัตได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระราชสังวราภิมนฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ) วัดประดู่ฉิมพลี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ตลอดชีวิตในสมณเพศของหลวงพ่อ ท่านได้สมาทานธุดงควัตร ๔ ข้อมาตลอด คือ ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ครองจีวรชุดเดียว (จะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อเก่าหรือชำรุด) เป็นวัตร รับบิณฑบาตเป็นวัตรและอยู่ป่าเป็นวัตร จนกระทั่งท่านมรณภาพครับ
เรื่องราวในชีวิตของหลวงพ่อเป็นเรื่องที่น่าสนใจครับ
ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งที่มีความเป็นอยู่สุขสบายและมีตำแหน่งหน้าที่การงานชั้นสูงแต่กลับละทิ้งอย่างไม่ยี่หระ โดยเดินทางเข้าสู่ถนนชีวิตสายพระพุทธศาสนา การฝึกปฏิบัติธรรมอย่างมุ่งมั่นและมั่นคง ได้สร้างศรัทธาให้กับผู้ที่ได้พบเห็น
นอกจากนี้ในชีวิตของท่านที่น่าแปลกใจคือท่านไม่เคยเข้าศึกษาวิชาอาคมจากสำนักใดๆเลย แต่ก็สามารถเรียกศรัทธาได้จากผู้คนด้วยวัตถุมงคลที่มีความขลังแบบไม่จำกัด และที่สร้างศรัทธาได้แบบคาตาชาวต่างชาติคือ
“การใช้พลังจิตช่วยขบวนรถไฟให้เคลื่อนที่ไปจอดยังสถานีที่มีความชันในประเทศอินเดีย”
ย้อนหลังไปในสมัยที่หลวงพ่อกัสสปมุนีได้เดินทางไปแสวงบุญที่ประเทศอินเดีย คุณเอื้อ บัวสรวง หนึ่งในผู้ติดตามได้เล่าถึงที่มาที่ไปของเรื่องนี้ว่า...
ในการเดินทางครั้งนั้นมีอุปสรรคเกิดขึ้นกับคณะของเรา ในตอนเช้ามืดวันหนึ่งตู้นอนรถไฟที่เราเช่าไว้สำหรับคณะของเรา ณ สถานีรถไฟแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของอินเดีย ถูกจอดทิ้งไว้อยู่ห่างจากตัวสถานี ๒๐ เส้นและเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข็นมาไว้ที่ใกล้ๆสถานีเพื่อใช้ประกอบกิจส่วนตัว เมื่อไปขอร้องให้เจ้าหน้าที่ของสถานีรถไฟช่วยเข็นก็พบว่าทั้งสถานีมีเจ้าหน้าที่อยู่เพียงสองคน
หมู่คณะจึงลงมติว่า”ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ด้วยการระดมแรงงานคนหนุ่มและแรงงานพระสงฆ์ที่ร่วมคณะอีก ๕-๖ รูปเพื่อช่วยกันเข็นรถไฟตู้นอนไปไว้ในสถานี แต่เนื่องจากสถานีตั้งอยู่บนเนิน การใช้แรงงานดังกล่าวจึงไม่ประสบความสำเร็จ เข็นเท่าไรก็ไม่ขยับ
คุณเอื้อจึงได้ลองอาราธนาหลวงพ่อกัสสปมุนีด้วยสำเนียงที่เป็นเชิงเล่นว่า
“ช่วยที หลวงพ่อ ช่วยที หลวงพ่อ”
หลวงพ่อท่านตอบว่า
“ก็ลองดูยังได้”
ว่าแล้วหลวงพ่อกัสสปมุนีจึงได้ใช้ไม้เท้ายาวราว ๑.๕๐ เมตรยกชูขึ้นไปในอากาศแล้วก็ส่งหัวไม้เท้ามาที่คุณเอื้อ จากนั้นท่านจึงได้ตั้งท่าเดินนำหน้า คุณเอื้อจึงรีบคว้าไม้เท้าที่ท่านส่งมาทันที คุณเอื้อได้บันทึกถึงเรื่องราวตอนนี้ไว้ว่า
“ทันใดนั้น ผมรู้สึกราวกับถูกไฟฟ้าดูด หรือเหมือนผมไปจับสายไฟฟ้าแบตเตอรี่รถยนต์ แล้วรถไฟก็เคลื่อนตามหลวงพ่อกัสสปมุนีไป ผมยังได้ร้องขอให้พระอาจารย์วิริยังค์ช่วยด้วย ท่านอาจารย์วิริยังค์ตอบว่าไม่ได้ศึกษามาทางนี้”
เหตุการณ์ดังกล่าวจบลงตรงที่รถตู้นอนได้มาจอดที่ชานชาลาสถานีอย่างเรียบร้อย ซึ่งการที่หลวงพ่อกัสสปมุนีสามารถทำให้ตู้นอนรถไฟเคลื่อนที่จากที่ต่ำผ่านเนินสูงได้นั้น หลายความเห็นมีความเชื่อตรงกันว่า
“เป็นผลมาจากอำนาจฌานสมาบัติที่หลวงพ่อได้บำเพ็ญเพียรมา”
และเมื่อมีลูกศิษย์ถามว่าหลวงพ่อสามารถทำได้อย่างไร ท่านตอบว่า
“ใช้การรวมพลังเข้ามาเป็นหนึ่งและออกเดินนำหน้าทันทีไม่เหลียวหลัง ไม่ใช่ อิทธิวิธี ( อภิญญา)หากแต่เป็นการใช้ อาโลกกสิณ (ความว่าง) “
ครับนี่คือตัวอย่างที่แสดงถึงบารมีของหลวงพ่อ อันเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความศรัทธาขึ้นในหมู่คณะ โดยมีความมหัศจรรย์ของพลังจิตเป็นแรงหนุน ซึ่งผมเชื่อว่าอย่างน้อยมันก็เป็นการบอกให้เพื่อนๆทราบว่า
“ความสำเร็จไม่ใช่เรื่องที่จะได้มันมาโดยง่าย”
ในชีวิตของหลวงพ่อกัสสปมุนี ท่านได้อนุโลมให้สร้างวัตถุมงคลเพื่อเป็นอนุสติน้อมนำคนที่ยังต้องการสิ่งยึดมั่นทางจิตใจ
สิ่งที่น่าสังเกตุคือ “ตัวยันต์” ที่ท่านได้นำมาไว้ด้านหลังขององค์พระ
จะว่าไปแล้ว ตัวยันต์ดังกล่าวถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของหลวงพ่อเลยครับ พบเห็นที่ไหนไม่ผิดฝาผิดตัวแน่นอน
จากความรู้ส่วนตัวที่ได้สะสมมาพบว่าในรูปแบบของตัวยันต์ดูอย่างไรก็ไม่อาจเข้าใจได้ครับ เมื่อสอบถามจากบรรดาลูกศิษย์จึงทราบว่าตัวยันต์ดังกล่าวหลวงพ่อท่านได้จากนิมิตในขณะที่ท่านนั่งสมาธิ คุณสมบัติทราบเพียงแต่ว่า “ครอบจักรวาล”
พระยันต์นี้ชื่อว่า “พุทธเกษตร”
พุทธะ หมายถึง ผู้รู้
เกษตร เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ที่อยู่ ที่ตั้ง
ชะรอยหรือว่านี่คือ “ปริศนาธรรม” ด้วยเหตุผลที่ว่าจักรวาลนี้ไม่ว่ามันจะกว้างใหญ่แค่ไหน มันก็ยังมีที่ตั้งของมัน แน่นอนครับเมื่อมีที่ตั้ง มันก็ต้องดำรงอยู่ และดับไปในที่สุด เพียงแต่คนที่จะทราบก็คือ “พุทธะ” เท่านั้น
เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ากับพระภิกษุทั้งหลายกำลังเดินกันอยู่ในป่า พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงกอบใบไม้ที่มีมากมายเกลื่อนกลาดอยู่ขึ้นมากำมือหนึ่งและทรงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
“ใบไม้ในกำมือนี้มากหรือน้อยเมื่อเทียบกับใบไม้หมดทั้งป่า”
ภิกษุทั้งหลายก็ตอบว่า
“ใบไม้ทั้งป่ามีอยู่มากกว่ากันมากจนมิอาจนำมาเปรียบเทียบได้”
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
“เรื่องที่ตรัสรู้และรู้นั้นมันมาก เท่ากับใบไม้ทั้งป่า แต่เรื่องที่จำเป็นที่ควรรู้ ควรนำมาสอนและนำมาปฏิบัติ อันได้แก่ "เรื่องการดับทุกข์" นั้น เท่ากับใบไม้กำมือเดียว”
ในพระพุทธศาสนาเชื่อว่า “ผู้ที่บรรลุแล้วสามารถอธิษฐานอยู่อีกโดยยังไม่เข้านิพพานและสามารถปรากฏกายให้ผู้อื่นได้พบเห็นได้”
คำถามจึงมีต่อไปว่า
“ใครล่ะจึงจะเหมาะสมให้พบเห็น”
ย้อนหลังไปในสมัยที่หลวงพ่อยังไม่ได้บวชแต่ได้ปฏิบัติธรรมเป็นผ้าขาว ท่านเล่าว่าท่านได้พบ “ท่านอริยวังโส” ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่บรรลุอรหันต์ตั้งแต่สมัยพุทธกาลแต่ได้อธิษฐานขอให้ตนเองมีอายุอยู่ถึงห้าพันปีจึงจะเข้าสู่ปรินิพพาน
พระอริยวังโสได้มาพบท่านในสมาธิและบอกกับท่านว่า “เธอชื่อกัสสปมุนี” (ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ใช้ชื่อนี้มาตลอดจนกระทั่งอุปสมบท ซึ่งสมเด็จพระอุปัชฌาย์ก็ทรงอนุญาตให้ใช้ชื่อนี้โดยมิได้ตั้งฉายาให้ใหม่)
หลวงพ่อเล่าว่า ท่านเป็นหนึ่งใน “กัสสปโคตร” ในสมัยพุทธกาล เป็นน้องเล็กสุดท้องมีชื่อว่า “จุลกัสสปะ” พี่ชายทั้งหกของท่านที่ได้บรรลุเป็นอรหันต์ทั้งหมดแล้ว คือ มหากัสสปะ อุรุเวลกัสสปะ คยากัสสปะ นทีกัสสปะ กุมารกัสสปะ และอเจลกัสสปะ ส่วนที่ว่าทำไมท่านยังคงอยู่ ท่านเคยเล่าว่า ท่านเคยบวชในสมัยพุทธกาลแต่สึกออกมาใช้ชีวิตฆราวาสเสียก่อนครับ
โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เคยพบกับหลวงพ่อกัสสปะมุนีครับ ดังนั้นธรรมะหรือคำสอนของท่านจึงรับทราบเพียงจากหนังสือที่ท่านเคยเขียนไว้หลายๆ เรื่อง เช่น หมื่นโลกธาตุและอนันตจักรวาล ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาวะสังขารธรรมในฝ่ายสรรพสัตว์ สังโยชน์ ว่าด้วยเรื่องของกิเลสที่ผูกใจผู้ที่เป็นกิเลสชนให้ติดอยู่กับทุกข์ ฯลฯ
ซึ่งก็นั่นแหละครับกระบวนการรับรู้เข้าสู่สมองน้อยมาก แต่ถ้าเป็นเรื่องอภินิหาริย์ คงกระพัน หนังเหนียว ข้ามภพ ข้ามชาติ พรหมลิขิต ฯลฯละก็ พอเอ่ยปากอยากรู้เท่านั้น หลั่งไหลมาดั่งอุทกภัยดีๆนี่เอง
เคยมีคนบอกผมว่า “การที่เราได้ยินเพียงแค่เสียงเดินแล้วสามารถบอกได้ว่าเป็นเสียงเดินของอะไร นั่นย่อมหมายถึงสัญญาหรือความผูกพันที่เราเคยมีต่อกัน เฉพาะเพียงเราเท่านั้น”
หลวงพ่อเล่าว่าหลังจากที่ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อย ท่านได้ขออนุญาตต่อสมเด็จพระอุปัชฌาย์เพื่อขอออกเดินธุดงค์ไปยัง “ภูกระดึง” ซึ่งในช่วงระยะเวลาหกเดือนบนภูกระดึงได้เกิดประสบการณ์ประหลาดๆขึ้นกับท่านมากมาย
โดยเฉพาะท่านได้พบกับนางฟ้าที่ชื่อ “เจ้าแม่วิสาขา” ซึ่งเป็นเจ้าที่เจ้าทางอยู่บนภูกระดึงและเป็นพี่สาวของนางฟ้าชื่อ “เจ้าแม่จำปากะสุนทรี” ได้เข้ามาอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือท่านจากเหล่าสัตว์ร้ายต่างๆ
ซึ่งเจ้าแม่วิสาขานี่แหละครับที่เปิดเผยความลับสวรรค์และนำท่านมาสู่ภาคตะวันออก ณ เขาสุนทรีบรรพต ที่มี “เจ้าแม่จำปากะสุนทรี” เป็นผู้ปกครองและได้เข้ามาช่วยเหลือท่านในการสร้างวัด
เรื่องราวเหล่านี้หลวงพ่อได้เขียนบันทึกไว้ในเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้ามาพบที่ใหม่” ครับ เรื่องมีอยู่ว่า..
ตอนค่ำของวันหนึ่งหลังจากได้ยกพระประธานเข้าที่เข้าทางแล้ว หลวงพ่อท่านได้ปิดกุฏิและนั่งสมาธิ พร้อมกับน้อมจิตถึงเจ้าแม่ที่มาช่วยท่าน หลังจากที่ท่านได้อุทิศส่วนกุศลผลบุญแล้ว
ทันใดนั้นท่านก็ได้ยินเสียงตอบรับที่แผ่วเบาแต่ชัดเจน ท่านจึงหันไปมองดูตามเสียงนั้นก็พบเจ้าแม่จำปากะสุนทรีนั่งพับเข่า คะเนว่าเจ้าแม่องค์นี้เหมือนหญิงสาวในวัย ๑๘-๑๙ ปี หลังจากที่ท่านได้นั่งพิจารณาพักใหญ่ ท่านจึงได้เอ่ยถามว่า
“อาตมาขอโอกาส อาตมาจะเรียกคุณโยมว่าอย่างไร”
เจ้าแม่ได้ตอบว่า....
“เรียกโยมว่า จำปากะสุนทรี เจ้าค่ะ”
“ขอให้ท่านจงสถิตย์อยู่ ณ เขาสุนทรีบรรพตนี้ จนตลอดชนมายุของท่าน”
หลวงพ่อจึงตอบไปว่า ท่านควรจะปฏิบัติอย่างไร ซึ่งเจ้าแม่ได้ขอให้ท่านสร้างสำนักสงฆ์แห่งนี้ให้มีความเจริญรุ่งเรือง แต่ท่านก็บอกว่าท่านไม่มีเงิน ไม่มีปัจจัย เจ้าแม่จำปากะสุนทรีจึงได้ทิ้งคำพูดสุดท้ายก่อนจะหายตัวไปว่า
“ท่านคอยดูไป แล้วจะเห็นเอง”
ครับเรื่องราวในการสร้างสำนักสงฆ์บนยอดเขาแห่งนี้ เต็มไปด้วยปัญหาและมีอุปสรรค์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย แต่ด้วยบารมีของหลวงพ่อกัสสปมุนีที่มีเจ้าแม่จำปากะสุนทรีคอยสนับสนุนข้ามมิติแห่งกาลเวลา สำนักสงฆ์แห่งนี้จึงแล้วเสร็จในที่สุด หลวงพ่อกัสสปมุนีได้ตั้งชื่อสำนักสงฆ์แห่งนี้ว่า
“สำนักสงฆ์มหากัสสปภพพนาวันอรัญญิกาวาส”
ต่อมาสมเด็จพระอุปัชฌาย์ได้เดินทางมาเยี่ยมและหลังจากนั้นจึงได้ทรงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า
“ปิปผลิวนาราม”
“ขอตั้งชื่อสำนักสงฆ์ที่พระกัสสปมุนีสร้างว่า “ปิปผลิวนาราม” ขอให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อพระศาสนาตลอดไปชั่วกาลนาน”
เรื่องราวที่เป็นเหมือนนิทาน ถูกตอกย้ำว่ามันคือเรื่องจริงมีอยู่หลายเรื่องครับ ดังเช่นเหตุการณ์นี้...
คณะปฏิบัติธรรมคณะหนึ่งได้เข้าฝึกปฏิบัติ ณ วัดปิปผลิวนารามแห่งนี้ ชายผู้หนึ่งที่อยู่ในคณะต้องถูกรบกวนจากภรรยาของตนซึ่งไม่ชอบภารกิจนี้ จะด้วยเหตุผลใดก็ไม่มีใครทราบ
วันหนึ่งโทรศัพท์ที่เคยกระหน่ำโทรอยู่ทุกวันได้เงียบเสียงลงไป หลังจากการปฏิบัติธรรมเสร็จสิ้น เมื่อเขาเดินทางกลับถึงบ้านจึงได้ทราบว่า
ในวันหนึ่งภรรยาของเขานอนหลับและฝันเห็นนางฟ้าองค์หนึ่งทรงชุดสีชมพูได้มาบอกว่าท่านคือใครและต่อว่าเรื่องที่เธอเข้าไปขัดขวางการปฏิบัติธรรมของสามี พร้อมกำชับว่าต่อไปนี้ห้ามไปยุ่ง ด้วยความกลัวเมื่อตื่นขึ้นจึงไม่ได้โทรไปรบกวน
หลังจากที่ชายผู้นี้ลำดับเหตุการณ์และสอบถามจากผู้รู้ทั้งหลายแล้ว พบว่านางฟ้าที่ภรรยาของเขาพูดถึงมีชื่อและลักษณะตรงกับ “เจ้าแม่จำปากะสุนทรี” ตามที่หลวงพ่อกัสสปมุนีเคยเล่าไว้ทุกประการ
ครับฟังจบแล้ว เพื่อนๆนึกถึงอะไรบ้าง
เจ้าที่เจ้าทาง จำปากะสุนทรี นางฟ้า ฯลฯ หรือทุกข้อถูกต้อง
ไม่ว่าจะเป็นคำตอบข้อใด หรือจะเป็นคำตอบแบบไหน หรือไม่ว่าเพื่อนๆจะคิดอย่างไร สิ่งที่ภรรยาของชายผู้นี้พบเห็น มันก็เป็นการบอกเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทั้งๆที่หญิงผู้นี้ยังไม่รู้เลยว่า “จำปากะสุนทรี” คือใคร
พระมหาสำรวม เอกจิตโต ได้เคยเขียนบันทึกไว้ว่า เดิมทีท่านเคยมีความคิดว่า พระอริยบุคคลไม่มีในโลกแล้ว คุณวิเศษหรืออิทธิฤทธิ์เป็นแต่เพียงมายากลที่หลอกคนดูให้หลงเชื่อเท่านั้น เพื่อเรียกร้องลาภสักการะ จนท่านได้ประสบกับเหตุการณ์ในครั้งหนึ่งซึ่งทำให้ท่านหมดความสงสัยในเรื่องดังกล่าว
ท่านเล่าว่าก่อนที่ท่านจะมาอยู่วัดปิปผลิวนาราม ในเวลาที่ท่านทำสมาธิ ท่านก็จะภาวนา “พุทโธ” ในใจตลอดจนติดเป็นนิสัย และเมื่อท่านมาอยู่ที่วัดปิปผลิวนารามท่านก็ยังคงภาวนาแบบเดิม
โดยปกติแล้วในเวลาปฏิบัติกัมมัฏฐาน นั่งสมาธิ หลวงพ่อกัสสปมุนีท่านจะพูดทางไมค์เพื่อคอยเตือนให้ผู้นั่งสมาธิ มีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออกเท่านั้น
“ให้มีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออกเท่านั้น ไม่ต้องภาวนาพุทโธหรือภาวนาอย่างอื่น ให้มีสติรู้สึกตัวทั่วพร้อม ดูลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว....”
ท่านเล่าว่าหลวงพ่อกัสสปมุนีพูดสอนอย่างนี้ถึงสองวัน แต่ท่านก็ยังภาวนาพุทโธอยู่เหมือนเดิม เพราะท่านคิดว่า
“ไม่มีใครสามารถรู้ถึงความนึกคิดของบุคคลอื่นได้”
เหตุผลที่คิดอย่างนี้ท่านว่าเพราะเป็นการคิดในใจ ไม่มีเสียง..
จนวันที่สามหลังจากนั่งสมาธิเสร็จ ในวันนั้นมีหมู่คณะของพระเณร ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกาอยู่เป็นจำนวนมาก หลวงพ่อกัสสปมุนีท่านได้พูดออกไมค์เสียงดังลั่นศาลา
“เณรสำรวม หลวงพ่อบอกเณรว่า ไม่ต้องภาวนาพุทโธ เณรไม่ได้ยินรึ ทำไมไม่เชื่อหลวงพ่อ”
ท่านว่านี่คือตัวอย่างบางตอนของคำต่อว่า ซึ่งแน่นอนครับมีต่อมาอีกมากมาย นับไม่ถ้วนถ้าจะถามต่ออีกว่าความรุนแรงขนาดไหน ท่านตอบว่า
“ถ้าท่านดำดินได้ คงดำดินหายไปจากโลกนี้แล้ว”
จะว่าไปแล้วเรื่องของการรับรู้หรือล่วงรู้วาระจิตใจของคน เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติธรรมอย่างเอกอุและสำเร็จในเรื่องฌาณสมาบัติหรืออภิญญา ผมเองก็ไม่บรรลุในเรื่องแบบนี้อะไรมากนักแต่เท่าที่สอบถามผู้รู้ทั้งหลายพอจะสรุปได้ความว่า
ในการรับรู้ด้วยวาระจิตมีสองลักษณะ ซึ่งทั้งสองลักษณะมีความเหมือนกันคือสามารถ “รู้” ได้ แต่ที่แตกต่างกันคือ “วิธีการรู้” อธิบายแบบกระชับระดับตั้งไข่ครับว่า
เจโตปริยญาณ คือการรู้ความคิดของบุคคลอื่น เป็นการรับรู้ที่เป็นอัตโนมัติ เปิดปิดการรับรู้ได้ตามใจหมาย ซึ่งผู้ที่จะทำได้ขนาดนี้ต้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานขนาดหนัก
ฌาณสมาบัติ คือการรู้ความคิดของผู้อื่นเหมือนกันครับ เพียงแต่หากต้องการจะรู้ต้องใช้วิธีเพ่งดู และก็ไม่อัตโนมัติครับ เปิดปิดเป็นเวลาและต้องลงทะเบียนก่อน
แต่ถ้าจะถามผมว่าหลวงพ่อกัสสปมุนีท่านอยู่ในขั้นไหน
ผมคงจะตอบไม่ได้ครับ เพราะไม่อาจทราบ”วาระจิตของท่าน”
หากแต่ถ้าเราพิจารณาด้าน “จิตใจและคุณธรรม” จากปฏิปทาทางกายกรรมและวจีกรรม เราก็จะเห็นความเป็นคนจริง คนเด็ดเดี่ยว มั่นคง ฯลฯ การสั่งสมบารมีของท่าน เช่น วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี ฯลฯ การสละครอบครัวและทรัพย์สมบัติ ตลอดจนการปฏิบัติแบบ “มอบกายถวายชีวิต” ก็คงจะเป็นแนวทางให้ทราบเป็นนัยๆได้ครับว่า
“ชั้นอ๋องหัวเมืองใหญ่เป็นอย่างน้อย”
หลวงพ่อกัสสปมุนี มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๑ อายุ ๗๙ ปี จากวันนั้นจนถึงวันนี้หากหลวงพ่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะต้องมีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี
ปัจจุบันทางวัดยังคงเก็บสรีระของหลวงพ่อเอาไว้ เพราะหลวงพ่อได้เคยกล่าววาจาไว้ว่า
“หลวงพ่อจะอยู่จนอายุ ๑๓๐ ปี แต่ต้องเปลี่ยนธาตุขันธ์”
จะว่าไปแล้วก็มีแรงจูงใจหลายอย่างครับ ที่ทำให้ลูกศิษย์ของหลวงพ่อทุกคนมั่นใจว่าทุกวันนี้หลวงพ่อกัสสปมุนีท่านยังอยู่และคอยดูแลคุ้มครองพวกเขาตลอดเวลา...
โดยเฉพาะกับคนๆนี้ครับ
“ป้าเตียง”
บ้านของป้าเตียงเป็นร้านขายของชำเล็กอยู่หน้าวัด ในชีวิตของป้าเตียงเคารพนับถือหลวงพ่อกัสสปมุนีมากๆ ชนิดเข้าขั้นแฟนพันธ์แท้
เรื่องแบบนี้มีที่มาที่ไปครับ....
หลังจากที่หลวงพ่อกัสสปมุนีได้มรณภาพลง คืนหนึ่งป้าเตียงฝันว่าหลวงพ่อได้มาบอกให้ป้าเตียงเตรียมตัวเอาไว้เพราะจะมีไฟไหม้ ในวันนั้น เวลานั้น ซึ่งในความฝันป้าเตียงขอร้องให้หลวงพ่อช่วยเหลือ
หลวงพ่อตอบว่า....
”จะพยายามเต็มที แต่มันเป็นวิบากกรรมไม่สามารถห้ามกันได้ ยังไงเสียป้าเตียงต้องได้รับผลแน่นอน”
ครั้นพอตื่นจากความฝัน ด้วยความเชื่อมั่นว่าเรื่องที่หลวงพ่อมาบอกคือความจริง ป้าเตียงจึงได้ระดมน้ำสำรองเตรียมตัวไว้เต็มที และในวันดังกล่าวป้าเตียงได้เกณฑ์บรรดาญาติพี่น้องมาคอยเฝ้าบ้าน เฝ้าสวนเต็มอัตราศึก
ผลปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาดังกล่าวได้เกิดไฟไหม้สวนข้างเคียงและได้ลุกลามเข้ามาถึงสวนของป้าเตียง ชะรอยว่าป้าเตียงเตรียมความพร้อมตลอดเวลา จึงสามารถสยบพระเพลิงได้อย่างสงบราบคาบ แต่กระนั้นก็ตามต้นไม้ในสวนก็ถูกไฟไหม้ไปบ้างแต่เสียหายไม่มากนัก
คนที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า พอรุ่งเช้าพบว่ารอบๆบ้านของป้าเตียงหายไปเรียบเหลือแต่บ้านของป้าเตียงเท่านั้นที่ยังยืนเด่นเป็นสง่ามาตราบจนถึงทุกวันนี้.....
“สังโฆอัปปมาโณ”
คุณของพระสงฆ์หาประมาณมิได้
“เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ”
นี่แหละคือสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า
หลวงพ่อกัสสปมุนีเคยกล่าวไว้ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ว่า...
“หลวงพ่อมาอยู่ที่นี่ด้วยมือเปล่าและบาตรเปล่า สร้างวัดนี้ได้ทั้งหมดก็ด้วยอานิสงฆ์ของลมหายใจเท่านั้น....”
“นะโม อโห โอม กัสสโปมุนิ อะราธะนัง”
ขออภิวาทต่อหลวงพ่อกัสสปมุนี ผู้สงบระงับด้วยความนอบน้อม….
ที่มา
อานิสงฆ์ของลมหายใจ... หลวงพ่อกัสสปมุนี
ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 27 เมษายน 2012.