5 หนังสือดีที่ชาวพุทธควรอ่าน

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย aprin, 8 มิถุนายน 2011.

  1. aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    การศึกษาให้รู้อย่างถูกต้องถ่องแท้ว่า พระพุทธศาสนาที่แท้มีเนื้อหาสาระว่าอย่างไร คือ วิธีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ได้ผลดีที่สุด ด้วยเหตุนั้น ในบทความนี้ จึงขอแนะนำหนังสือดีที่ชาวพุทธควรอ่านเป็นเบื้องต้นสัก 5 เรื่อง

    เรื่อง : ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย

    การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเมืองไทยของเราในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้ มีการนำเอาทัศนคติ ความคิด ความเชื่อส่วนบุคคล มาปลอมปนลงไปในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็อ้างว่า นั่นเป็นคำสอนของพระพุทธองค์ จนเป็นเหตุให้มีผู้หลงเชื่อมากมาย ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางทั้งแก่ตน แก่สังคม และแก่สถาบันศาสนา การปล่อยให้สภาพเช่นนี้ ยังคงดำรงอยู่ต่อไป ย่อมไม่เป็นผลดีต่อวิถีชีวิตของบุคคล สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว ดังนั้น เราจึงควรร่วมมือกัน นำเสนอพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง ตรงตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ให้คนไทยได้รู้จักกันอย่างทั่วถึง เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้พระพุทธศาสนาเสื่อมทรุดไปมากกว่านี้ และขณะเดียวกัน ก็เป็นการช่วยกันฟื้นฟูเนื้อหาสาระที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาให้กลับคืนมาสู่สังคมไทยอย่างยั่งยืนสืบต่อไป


    การศึกษาให้รู้อย่างถูกต้องถ่องแท้ว่า พระพุทธศาสนาที่แท้มีเนื้อหาสาระว่าอย่างไร คือ วิธีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ได้ผลดีที่สุด ด้วยเหตุนั้น ในบทความนี้ จึงขอแนะนำหนังสือดีที่ชาวพุทธควรอ่านเป็นเบื้องต้นสัก 5 เรื่อง ดังต่อไปนี้ (หนังสือทุกเล่ม สามารถหาซื้อตามร้านหนังสือชั้นนำ หรือตามห้องสมุดทั่วไป)

    1. พระไตรปิฎก
    พระไตรปิฎก คือ คัมภีร์ที่ประมวลหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาไว้อย่างเป็นระบบ ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด จนถึงขนาดที่กล่าวได้ว่า ตัวคัมภีร์พระไตรปิฎกเองมีสถานะเป็นดังหนึ่งองค์พระพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนม์อยู่ ทั้งนี้เพราะก่อนแต่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ว่า “เมื่อเราตถาคตล่วงลับไปแล้ว พระธรรมและวินัยที่เราได้แสดงและบัญญัติเอาไว้ จักเป็นศาสดาของชาวพุทธสืบต่อไป”

    ในเมื่อพระธรรมวินัยถูกประมวลไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ดังนั้น คัมภีร์พระไตรปิฎก จึงเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าที่เราชาวพุทธสามารถศึกษา ค้นคว้าหาแก่นธรรมด้วยตัวเองได้ทุกเมื่อ สงสัยเรื่องใดก็สามารถเปิดขึ้นมาศึกษาหาความกระจ่างแจ้งได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องผ่านการตีความหรืออธิบายของผู้อื่น การศึกษาพระพุทธศาสนาโดยตรงจากคัมภีร์พระไตรปิฎก จึงเป็นวิธีเข้าถึงพระพุทธศาสนาที่ดีที่สุด ทั้งยังสามารถป้องกันความเข้าใจผิด วิปลาต คลาดเคลื่อนจากคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดเช่นกัน

    วรรคทองของหนังสือ
    พระไตรปิฎกมีหลักธรรมคำสอนมากมาย ที่แม้เวลาจะผ่านไปอย่างไร ก็ยังคงทันสมัยอยู่เสมอ เช่น คำสอนเรื่อง “ท่าทีในการบริโภคข่าวสารข้อมูล” ที่ตรัสไว้ในกาลามสูตร (เล่มที่ 20) ดังต่อไปนี้ จะเห็นว่า มีท่าทีที่เป็นวิทยาศาสตร์และมีประโยชน์อย่างยิ่งในยุคข้อมูลสารข้อมูลเช่นทุกวันนี้
    1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามๆ กันมา
    2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการสืบๆกันมา
    3. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
    4. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา/คัมภีร์
    5. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรกะ
    6. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอนุมาน
    7. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
    8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะสองคล้องกับทิฐิของตน
    9. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
    10. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
    ต่อเมื่อใดรู้ เข้าใจ ด้วยตนเองว่า ธรรม/ข้อมูล เหล่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี หรือเป็นสิ่งที่ดี มีโทษ หรือ มีคุณ เป็นต้น จึงควรปฏิเสธ หรือยอมรับ...”

    2. พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน
    คัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นแหล่งประมวลพระธรรมวินัยหรือคำสั่งสอนที่สมบูรณ์ที่สุดของพระพุทธเจ้านั้น เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ชาวพุทธว่า มีเนื้อหามากเป็นอเนกอนันต์ หากไม่มีความสนใจใฝ่รู้จริงๆ แล้ว ก็เป็นการยากที่คนธรรมดาจะศึกษาให้ทั่วถึงได้ ด้วยเหตุที่พระไตรปิฎกมีเนื้อหามากนี่เอง อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ (เปรียญธรรม 9 ประโยค ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดร่วมยุคกับท่านพุทธทาสภิกขุ) ซึ่งมีความปรารถนาที่จะให้ชาวพุทธได้เรียนรู้ธรรมะจากพระไตรปิฎกโดยตรง จึงได้ใช้ความเพียรอย่างยิ่งยวดจัดทำพระไตรปิฎก “ฉบับสำหรับประชาชน” โดยย่อพระไตรปิฎกจาก 45 เล่ม ให้เหลือเพียง 1 เล่ม และนับแต่นั้นเป็นต้นมา คนไทยจึงได้อ่านพระไตรปิฎกที่เนื้อหาน้อยลง แต่ทว่ากลับยังคงอุดมด้วยแก่นสารอย่างครบถ้วนเหมือนเดิม ทั้งภาษาก็อ่านง่าย ไพเราะ ใครก็ตามที่อยากศึกษาพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎกโดยตรง แต่ประหวั่นพรั่นพรึงต่อเนื้อหาอันมากมายมหาศาล การเริ่มต้นอ่านพระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน จึงนับว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

    วรรคทองของหนังสือ
    อะไรคือแก่นพุทธศาสน์ ?
    1. ลาภสักการะชื่อเสียง เปรียบเสมือนกิ่งไม้ใบไม้
    2. ความสมบูรณ์ด้วยศีล เปรียบเหมือนสะเก็ดไม้
    3. ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ เปรียบเสมือนเปลือกไม้
    4. ญาณทัสสนะ หรือปัญญา เปรียบเสมือนกะพี้ไม้
    5. ความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบ เปรียบเสมือนแก่นไม้
    (หน้า 50)

    3.คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา
    ในวรรณกรรมเรื่อง “กามนิต-วาสิฏฐี” ตัวเอกของเรื่อง คือ กามนิต มีความปรารถนาจะเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อรับฟังคำสอนสักครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ครั้นได้พบพระพุทธองค์จริงๆ เขากลับไม่รู้จักว่า คนที่อยู่ตรงหน้าเป็นใคร ในที่สุดก็จึงเดินจากไปอย่างผิดหวัง ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็คงไม่ต่างอะไรกับกามนิตหนุ่มที่บอกตัวเองว่า เป็นชาวพุทธ แต่ทว่าไม่รู้จัก “โฉมหน้าอันแท้จริง” ของพุทธศาสนา ผลก็คือ เขาได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนาน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย
    ในหนังสือชื่อ “คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา” อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ปราชญ์ผู้เป็นเลิศทางด้านพระพุทธศาสนา ได้ชี้ให้เราเห็นว่า พระพุทธศาสนาที่แท้นั้น มีลักษณะเช่นไร มีจุดเด่น จุดเน้น จุดหมายอยู่ตรงไหน และจะนำเอาหลักคำสอนในพระพุทธศาสนามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร หนังสือเล่มนี้ จะทำให้เรารู้จักพระพุทธศาสนาในภาพรวมถึงขั้นที่กล่าวได้ว่า เหมือนกับเรารู้จักลายมือของตัวเองอย่างละเอียดเลยทีเดียว

    วรรคทองของหนังสือ
    “แม้จะตัดความเชื่อในเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ออกหมด ก็ไม่ทำให้พระพุทธศาสนากระทบกระเทือนอะไรแม้แต่น้อย เพราะพระพุทธศาสนามิได้มีรากฐานอยู่บนเรื่องฤทธิ์เดชปาฎิหาริย์ หากอยู่ที่เหตุผลและคุณงามความดีที่พิจารณาเห็นได้จริง ๆ” (หน้า 34)

    “ถ้าบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้เพราะการรดน้ำ (ศักดิ์สิทธิ์) แล้ว, กบ เต่า งู จระเข้ และสัตว์น้ำทั้งปวง ก็จักไปสวรรค์ได้เป็นแน่...” (พุทธพจน์) (หน้า 202)

    “เราเอาน้ำมันเทลงไปในน้ำแล้วจะอ้อนวอนให้จมลงอย่างไร น้ำมันก็จะคงลอยขึ้นเหนือน้ำเสมอไป เราทิ้งก้อนหินลงในน้ำ แม้จะอ้อนวอนให้ลอยอย่างไร มันก็ไม่ลอยขึ้น คงจมลงโดยส่วนเดียว ฉันใด การทำความดี ย่อมเป็นเหตุให้เฟื่องฟู การทำความชั่ว ย่อมเป็นเหตุให้ล่มจม เมื่อทำแล้ว จะใช้วิธีอ้อนวอนให้เกิดผลตรงกันข้าม ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉันนั้น...” (พุทธพจน์) (หน้า 348)

    โพสต์ทูเดย์ ธรรมะ-จิตใจ : 5 หนังสือดีที่ชาวพุทธควรอ่าน (ตอนแรก)-
     
  2. aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    สัปดาห์ที่แล้วเชิญชวนให้อ่านหนังสือ ที่ได้นำเสนอไปแล้ว 3 เล่ม คือ พระไตรปิฎก พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน และคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา สัปดาห์นี้มาเชิญชวนต่ออีกสองเล่มที่เหลือ....

    เรื่อง : ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย

    สัปดาห์ที่แล้วเชิญชวนให้อ่านหนังสือ ที่ได้นำเสนอไปแล้ว 3 เล่ม คือ พระไตรปิฎก พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน และคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา สัปดาห์นี้มาเชิญชวนต่ออีกสองเล่มที่เหลือ

    4.หลักชาวพุทธ (ชาวพุทธที่ดีต้องมีมาตรฐาน)
    ในทางสถิติ เราทราบกันดีว่า มีคนไทยกว่า 95% เป็นชาวพุทธ แต่ในทางปฏิบัติจะมีคนที่เป็นชาวพุทธจริงๆ กันสักกี่เปอร์เซ็นต์ ทุกวันนี้ สังคมไทยเต็มไปด้วยปัญหามากมาย แต่พอเกิดมีปัญหาอะไรที่หนักหนาสาหัสเกิดขึ้นมาจนทำท่าว่าจะแก้ไขกันไม่ได้ คนไทยไม่น้อยก็มักเลือกที่จะกล่าวโทษพุทธศาสนา เช่น เรามักได้ยินคำอุทานด้วยความสิ้นหวังเชิงประชดประเทียดอยู่บ่อยๆ ว่า “นี่หรือเมืองพุทธ...” หรือบางทีก็ตั้งข้อสังเกตกันแรงๆ ว่า “เป็นเมืองพุทธ ทำไมจึงทรุดลง” การที่ชาวพุทธจำนวนมาก กล่าวโทษพุทธศาสนาเช่นนี้ก็เป็นเพราะว่า เขาเหล่านั้นไม่รู้จักพุทธศาสนา ไม่ได้นำเอาพุทธศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าการเป็นชาวพุทธนั้น ต้องมีแนวทางปฏิบัติอย่างไรบ้าง

    เพื่อแก้ปัญหาชาวพุทธด้อยคุณภาพดังกล่าวมานี้เอง พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) จึงเรียบเรียงหนังสือ “หลักชาวพุทธ” ขึ้นมาให้เป็นแนวทางสำหรับยึดเป็นหลักแม่บทในการปฏิบัติตนของชาวพุทธ 12 ข้อ ซึ่งเมื่อใครก็ตามปฏิบัติตามหลักแม่บทของการเป็นชาวพุทธทั้ง 12 ข้อได้เป็นอย่างดี คนคนนั้นก็จะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธชั้นนำ และย่อมจะได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนาอย่างคุ้มค่าที่สุด

    วรรคทองของหนังสือ

    หลักชาวพุทธ

    หลักการ
    1.ฝึกแล้วคือเลิศมนุษย์ : ข้าฯ มั่นใจว่า มนุษย์จะประเสริฐเลิศสุด แม้กระทั่งเป็นพุทธะได้ เพราะฝึกตนด้วยสิกขา คือการศึกษา
    2.ใฝ่พุทธคุณเป็นสรณะ : ข้าฯ จะฝึกตนให้มีปัญญา มีความบริสุทธิ์และมีเมตตา ตามอย่างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    3.ถือธรรมะเป็นใหญ่ : ข้าฯ ถือธรรม คือความจริง ความถูกต้อง ดีงาม เป็นใหญ่ เป็นเกณฑ์ตัดสิน
    4.สร้างสังคมให้เยี่ยงสังฆะ : ข้าฯ จะสร้างสรรค์สังคมตั้งแต่ในบ้าน ให้มีสามัคคี เป็นที่มาเกื้อกูลร่วมกันสร้างสรรค์
    5.สำเร็จด้วยกระทำความดี : ข้าฯ จะสร้างความสำเร็จด้วยการกระทำที่ดีงามของตน โดยพากเพียรอย่างไม่ประมาท

    ปฏิบัติการ
    ข้าฯ จะนำชีวิต และร่วมนำสังคมประเทศชาติไปสู่ความดีงาม และความสุขความเจริญ ด้วยการปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

    ก) มีศีลวัตรประจำตน
    1.บูชาบูชนีย์ : มีปกติกราบไหว้ แสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย บิดามารดา ครูอาจารย์ และบุคคลที่ควรเคารพ
    2.มีศีลห่างอบาย : สมาทานเบญจศีล ให้เป็นนิจศีลคือหลักความประพฤติประจำตัว ไม่มืดมัวด้วยอบายมุข
    3.สาธยายพุทธมนต์ : สวดสาธยายพุทธวจนะหรือบทสวดมนต์ โดยเข้าใจความหมาย อย่างน้อยก่อนนอนทุกวัน
    4.ฝึกฝนจิตด้วยภาวนา : ทำจิตใจให้สงบ ผ่องใส เจริญสมาธิ อันค้ำจุนสติที่ตื่นตัว หนุนปัญญาที่รู้ทั่วชัดเท่านั้น และอธิษฐานจิตเพื่อจุดหมายที่เป็นกุศล วันละ 5-10 นาที

    ข) เจริญกุศลเนืองนิตย์
    5.ทำกิจวัตรวันพระ : บำเพ็ญกิจวัตรวันพระ ด้วยการตักบาตร หรือแผ่เมตตา ฟังธรรม หรืออ่านหนังสือธรรม โดยบุคคลที่บ้าน ที่วัด ที่โรงเรียน หรือที่ทำงาน ร่วมกัน ประมาณ 15 นาที
    6.พร้อมสละแบ่งปัน : เก็บออมเงิน และแบ่งมาบำเพ็ญทาน เพื่อบรรเทาทุกข์ เพื่อสนับสนุนกรรมดี อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
    7.หมั่นทำคุณประโยชน์ : เพิ่มพูนบุญกรรม บำเพ็ญประโยชน์ อุทิศแด่พระรัตนตรัย มารดาบิดา ครูอาจารย์ และท่านผู้เป็นบุพการีของสังคมแต่อดีตสืบมา อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
    8.ได้ปราโมทย์ด้วยไปวัด : ไปวัดชมอารามที่รื่นรมย์ และไปร่วมกิจกรรมทุกวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันที่สำคัญของครอบครัว

    ค) ทำชีวิตให้งามปราณีต
    9.กินอยู่พอดี : ฝึกความรู้จักประมาณในการบริโภคด้วยปัญญาให้กินอยู่ดี
    10.มีชีวิตงดงาม : ปฏิบัติกิจส่วนตัว ดูแลของใช้ของตนเอง และทำงานชีวิต ด้วยตนเอง ทำได้ ทำเป็น อย่างงดงามน่าภูมิใจ
    11.ไม่ตามใจจนหลง : ชมรายการบันเทิงวันละไม่เกินกำหนดที่ตกลงกันในบ้าน ไม่มัวสำเริงสำราญปล่อยตัวให้เหลิงหลงไหลไปตามกระแส สิ่งล่อเร้าชวนละเลิง และมีวันปลอดการบันเทิงอย่างน้อยเดือนละ 1 วัน
    12.มีองค์พระครองใจ : มีสิ่งที่บูชาไว้สักการะประจำตัว เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย และตั้งมั่นอยู่ในหลักชาวพุทธ
    (หน้า 55-56)


    5.เชื่อกรรม รู้กรรม แก้กรรม
    ทุกวันนี้ มีผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้รู้บ้าง เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณบ้างอยู่มากมายในสังคมไทย บรรดากูรูเหล่านี้ต่างก็พากันนำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ออกมาเผยแผ่แก่ประชาชนจนได้รับการเคารพ นับถือ ยกย่อง อย่างกว้างขวาง มีศิษยานุศิษย์เลื่อมใสศรัทธามากมาย แต่ก็นั่นแหละ ในบรรดาผู้นำทางจิตวิญญาณเหล่านี้ บางคนก็เผยแผ่พุทธศาสนาถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย แต่บางคน บางสำนัก ก็เชื่อผิด รู้ผิด สอนผิด และนำประชาชนไปในทางที่ผิดจนเกิดความเสื่อมเสียทั้งแก่ตน แก่สังคม และแก่สถาบันศาสนาโดยรวม

    ปัญหาประการหนึ่งที่มีการเชื่อผิด รู้ผิด สอนผิดกันมากที่สุดในสังคมไทยก็คือ ความเชื่อเรื่องกรรม หรือกฎแห่งกรรม ที่มีการเข้าใจวิปลาสคลาดเคลื่อนกันไปไกลถึงขนาดที่เรียกได้ว่า “ออกทะเล” ก็คงได้ แต่ถึงจะมีการเชื่อผิด สอนผิดอยู่เสมอ แต่ถึงกระนั้น ก็มีผู้ที่รู้เท่าทันน้อยมาก เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ถูกต้อง พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) จึงเขียนหนังสือชื่อ “เชื่อกรรม รู้กรรม แก้รรม” ออกมาเผยแผ่แก่ประชาชนทั่วไป

    ใครก็ตามที่อยากรู้ว่า หลักกรรมตามแนวพุทธเป็นอย่างไร หรืออยากรู้ว่า การแก้กรรมตามแนวพุทธต้องทำอย่างไร หากได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ความสงสัยดังกล่าวจะได้รับการอธิบายอย่างแจ่มกระจ่างและจะไม่ตกเป็นเหยื่อของลัทธิกรรมพาณิชย์อีกต่อไป

    วรรคทองของหนังสือ

    สามลัทธิที่ขัดต่อหลักกรรม
    ภิกษุทั้งหลาย ลัทธิเดียรถีย์ 3 ลัทธิเหล่านี้ ถูกบัณฑิตไต่ถามซักไซ้ไล่เลียงเข้า ย่อมอ้างการถือสืบๆ กันมา ดำรงอยู่ในอกิริยา (การไม่กระทำ) คือ
    1.สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพราะกรรมที่กระทำในปางก่อน (ปุพเพกตวาท) = ลัทธิกรรมเก่า
    2.สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า (อิศวรนิรมิตวาท) = ลัทธิเทพเจ้าบันดาล
    3.สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนหาเหตุปัจจัยมิได้ (อเหตุวาท) = ลัทธิบังเอิญ
    (หน้า 14-16)

    การแก้กรรมตามแนวพุทธแท้

    พระพุทธองค์ตรัสว่า

    “เราจะแสดงกรรมเก่า กรรมใหม่ ความดับกรรม และทางดับกรรม...
    กรรมเก่าคืออะไร? จักขุ(ตา) โสตะ(หู) ฆานะ(จมูก) ชิวหา(ลิ้น) กาย มโน(ใจ) นี้ชื่อว่ากรรมเก่า;

    อะไรชื่อว่ากรรมใหม่ การกระทำที่เราทำอยู่ในบัดนี้ นี่แหละชื่อว่ากรรมใหม่
    อะไรคือความดับกรรม? บุคคลสัมผัสวิมุตติ เพราะความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมนั้นชื่อว่าความดับกรรม; (=การหลุดพ้นจากกิเลส คือ ภาวะดับกรรม)

    อะไรเป็นทางดับกรรม? มรรคมีองค์ 8 ประการอันประเสริฐคือ สัมมาทิฏฐิเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน นี้เรียกว่า ทางดับกรรม”
    (หน้า 19)

    ลองพิจารณาพระพุทธวัจนะดูเถิด แล้วจะรู้ด้วยตนเองว่า หลักกรรมและวิธีแก้กรรมที่สอนกันอยู่ในสังคมไทยของเราในเวลานี้ ผิดเพี้ยน หรือวิปลาสคลาดเคลื่อนออกไปจากหลักการที่แท้ของพระพุทธศาสนามากน้อยเพียงไร

    โพสต์ทูเดย์ ธรรมะ-จิตใจ : 5 หนังสือดีที่ชาวพุทธควรอ่าน (ตอนจบ)-
     

แชร์หน้านี้