7 วัน ตะลุยอลาสก้า...พรมแดนสุดท้ายแห่งโลกธรรมชาติ (ตอนที่1)

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย k.kwan, 3 กรกฎาคม 2008.

  1. เฮียปอ ตำมะลัง

    เฮียปอ ตำมะลัง ทุกสิ่งจบสิ้นลงด้วยความตาย วุ่นวายทำไม ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มีนาคม 2007
    โพสต์:
    24,969
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +91,129
    มาเจอ โรส ไททานิค....ไม่รู้ แจ๊ค ไปอยู่ที่ไหน

    -.- -.- -.- -.- -.- -.- -.- -.- -.-

    ขอบคุณครับ คุณขวัญ ... น่าท่องเที่ยวมากมาย ภาพและคำบรรยายดีครับ

     
  2. อดุลย์ เมธีกุล

    อดุลย์ เมธีกุล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 กันยายน 2007
    โพสต์:
    7,363
    ค่าพลัง:
    +11,793
    เจออย่างนี้ร้องให้ หิวก๋วยเตี๋ยวแน่เลยๆ ที่โน้นไม่มีต้มยำเส้นใหญ่แน่ๆ หนาวอีกตั้งหาก
     
  3. สังขารไม่เที่ยง

    สังขารไม่เที่ยง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    5,943
    ค่าพลัง:
    +24,697
    สวยมากค่ะ ชอบน้องหมี แต่สงสารตัวที่เค้าฆ่ามันเอาหนังมันมาทำเสื้อค่ะ
     
  4. Aqua-ma-rine

    Aqua-ma-rine เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2008
    โพสต์:
    820
    ค่าพลัง:
    +1,242
  5. mali

    mali เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 สิงหาคม 2005
    โพสต์:
    1,020
    ค่าพลัง:
    +2,326
    เคยเข้าไปดูในเว็ปที่จองเรือนี่แหละค่ะ แต่ที่เขียนเล่ามามีอะไรให้ดูเยอะกว่าค่ะ ต้องหาโอกาสไปให้ได้ แถบอิตาลี นั่งเรือเหมือนกัน เขาบอกว่าก็สนุกเหมือนกัน เพลงเพราะนะคะคุณสันโดษ
     
  6. เวฬุวัล

    เวฬุวัล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 ธันวาคม 2007
    โพสต์:
    1,843
    ค่าพลัง:
    +505
    ชอบรูปนี้จังเลยค่ะ

    สวยมากมาย;18



    [​IMG]
     
  7. k.kwan

    k.kwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    15,903
    ค่าพลัง:
    +7,316
    วันนี้ไปท่องเน็ตเจอคุณCherokee1 พาไปจ๊ะเอ๋ กะหมีขาวขั้วโลก พวกเค้าน่าร้ากกกกมากเลยต้องเอามาฝาก

    ภาพชุดนี้ผมมีเป็นการ์ดอวยพร ไม่ใช่โปสการ์ด ใบละตั้งแพงแน่ะ ซื้อไว้นานแล้วพอมีคนถามก็เลยเพิ่งนึกออกว่าเก็บไว้นานมาก

    ภาพทั้งหมดเป็นฝีมือของนาย Thomas D. Mangelsen มีเว็ปไซต์ด้วย เข้าไปชมงานของเขาได้ที่นี่
    http://www.mangelsen.com/

    ภาพแรกมีชื่อว่า Bear Hug หลังการ์ดเล่าว่าหลังจากฤดูหนาวอันยาวนาน หมีโพลาร์ก็มักจะเล่นปล้ำกันเพื่อออกกำลัง เพื่อฆ่าเวลา และเพื่อฝึกซ้อมสำหรับหน้าผสมพันธุ์ที่ต้องแย่งชิงตัวเมียกัน

    [​IMG]

    Polar Comfort

    [​IMG]

    Polar dance
    [​IMG]

    Bad boy of the Arctic
    [​IMG]

    Polar kiss
    [​IMG]

    อีกรูปนึงของช่างภาพคนเดียวกัน แต่เป็นรูปนากทะเล
    ชื่อรูปว่า California sea otter in kelp นอนเล่นสบายใจเฉิบ
    [​IMG]

    หมดแล้วครับสำหรับวันนี้ คราวหน้าจะหาอะไรมาให้ชมใหม่นะคร้าบ

    ราตรีสวัสดิ์ครับ <!--MsgFile=6-->

    จากคุณ : <!--MsgFrom=6-->Cherokee1 [​IMG] - [ <!--MsgTime=6-->4 ก.ย. 50 00:42:17 <!--MsgIP=6-->]<!--pda content="end"-->

    ขอขอบคุณ http://topicstock.pantip.com/blueplanet/topicstock/2007/09/E5782424/E5782424.html
    เอื้อเฟื้อข้มูล
    <!--MsgFile=0-->
     
  8. k.kwan

    k.kwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    15,903
    ค่าพลัง:
    +7,316
    สัตว์น่ารักจากโลกน้ำแข็ง

    โลกเราทุกวันนี้ดูจะแปลกไปนะคะ เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เอาแน่เอานอนไม่ค่อยจะได้ แต่ก็มีอยู่บางแห่งเหมือนกันที่ดูเผินๆแล้วจะไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงกับใครเขา นั่นคือบริเวณ “ขั้วโลก” ที่ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็เป็นดินแดนแห่งน้ำแข็งอยู่ตลอดกาล

    แต่จะเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า เดี๋ยวจะเฉลยให้ได้รับทราบกันค่ะก่อนจะบอกเล่าเก้าสิบถึงสถานการณ์อากาศขั้วโลก เห็นทีจะต้องเล่าแจ้งแถลงไขกันก่อนว่า โลกเรานี้มี 2 ขั้ว ขั้วโลกเหนือ อยู่บริเวณมหาสมุทร อาร์กติก ที่นี่เย็นจัดจนน้ำเป็นน้ำแข็งมหึมา ในขณะที่ขั้วโลกใต้นั้น อยู่บนทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ก็เป็นน้ำแข็งเหมือนกัน สรุปว่าขั้วโลกทั้งด้านบนและด้านล่าง ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่สีขาว เพราะมองไปทางไหนก็เจอะแต่น้ำแข็งทั้งนั้น

    ด้วยอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งมาก ทำให้ยากจะเชื่อได้ว่ามี สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ บริเวณขั้วโลกได้ แต่เอาเข้าจริง ก็มีสัตว์หลายชนิดที่ยึดเอาขั้วโลกเป็นแหล่งพักพิง และส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่น่ารักน่าชังเสียด้วย อย่างที่รู้จักมักคุ้นกันดี เช่น หมีขาวขนปุกปุยที่มีบ้านอยู่ขั้วโลกเหนือ และนกเพนกวินที่ใช้ขั้วโลกใต้ เป็นเรือนตาย
    [​IMG]เมื่อพูดถึงนกเพนกวินแล้ว บางคนบอกว่าไม่น่าจะเรียกว่านก เพราะบินก็ไม่ได้ เอาแต่เดินทำท่าดุ๊กดิ๊กๆ แต่นั่นก็เป็นเพราะสิ่งที่เรียกว่า “วิวัฒนาการ” กล่าวคือ เพนกวินได้ดัดแปลงอวัยวะที่เคยใช้ในการบิน ซึ่งก็คือปีกให้กลายเป็นอวัยวะที่ช่วยในการว่ายน้ำ เพราะบ้านที่อาศัยอยู่คือมหา สมุทร อาหารการกินก็อยู่ในน้ำทั้งนั้น ถ้าว่ายน้ำไม่เป็นก็เห็นทีจะอดตาย ว่าแล้วจะบินไปทำไมให้ เหนื่อย เจ้าเพนกวินก็เลยขอเอาดีทางว่ายน้ำจะดีกว่า

    ย้อนขึ้นไปที่ขั้วโลกเหนือ หมีขาว หรือหมีขั้วโลก (โพลาร์ แบร์) เป็นหนึ่งในพี่เบิ้มที่สำคัญของย่านนี้ หมีขั้วโลกเป็นนักว่ายน้ำที่ใช้ได้ เวลาดำผุดดำโผล่เพื่อไล่จับอาหารนั้น ปราดเปรียวจนยากจะเชื่อว่าเป็นหมีอ้วนๆเลยทีเดียว ส่วนสีที่ออกโทนขาวล้วนนั้น แต่เดิมมันเคยเป็นหมีสีน้ำตาลมาก่อนค่ะ แต่เมื่อมาใช้ชีวิตอยู่ในทุ่งน้ำแข็งสุดลูกหูลูกตาแห่งขั้วโลกเหนือ ก็เลยปรับตัว เปลี่ยนสีขนจนกลายเป็นสีขาว ซึ่งช่วยพรางไม่ให้ใครมองเห็นง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นศัตรู หรือเหล่าสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่เป็นเหยื่อในฐานะอาหาร
    พูดเรื่องสีแล้ว เหล่าสัตว์ขั้วโลกเป็นพวกที่เปลี่ยนสีกันเป็นว่าเล่นทีเดียว อย่างอาร์กติกฟ็อกซ์ หรือหมาป่าขั้วโลกนั้น จะเปลี่ยนจากสีน้ำตาลเทาในช่วงหน้าร้อน เป็นสีขาวในฤดูหนาว ด้วยจุดประสงค์ คือไม่ให้เหยื่อเห็นได้ง่ายๆ

    แต่จะเปลี่ยนกันเฉพาะผู้ล่าก็กระไรอยู่ ผู้ถูกล่าเองก็มีวิวัฒนาการเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าอาร์กติกแฮร์ สัตว์ตัวเล็กๆคล้ายกระต่าย หรือตัวเออร์ไมน์ ที่เหล่าไฮโซฝรั่งชอบถลกหนังมาทำเป็นเสื้อผ้าขนสัตว์ ก็ขอแปลงโฉมจากสีน้ำตาลเป็น สีขาวในช่วงที่มีหิมะโพลนไปทั่วทุ่งเหมือนกัน เพื่อพรางไม่ให้เหล่าสัตว์นักล่าเห็นได้ชัดนัก เรียกว่า ต่างฝ่ายต่างหลบกันงั้นเถอะ

    นอกจากพฤติกรรมในเรื่องการล่า และถูกล่าแล้ว สัตว์ขั้วโลกเหล่านี้ก็ยังมีนิสัยแปลกๆ อย่างหมาป่าขั้วโลกนั้น พออากาศเย็นทีไร ก็จะขดตัวเป็นก้อนกลมๆ แล้วเอาหางยาวๆมาปิดหน้าปิดจมูกไว้ เรียกว่ามีหางยาวปุกปุยก็ดีอย่างนี้ ช่วยกันหนาวได้เป็นอย่างดีทีเดียว ส่วนอุ้งเท้าก็มีขนนุ่มๆช่วยให้เดินบนหิมะได้สบายๆไม่ลื่นปรื๊ด...ลื่นปรื๊ด...แถมยังอุ่นอีกต่างหาก

    ด้านอาร์กติกแฮร์นั้น อย่างที่บอกแล้วว่าเป็นสัตว์ตัวจ้อยคล้ายกระต่าย แต่ที่แตกต่างคือ หูสั้นกว่า และหูที่สั้นนี่เองที่เป็นตัวช่วยสำคัญ ทำให้ไม่ หนาว เพราะตามปกติของสัตว์พวกนี้จะมีเส้นเลือดมาเลี้ยงที่หูมาก และทำให้เสียความร้อนในร่างกายได้ง่าย แต่พอหูสั้นลง ก็ไม่ค่อยจะเสียความร้อน แถมเจ้าพวกนี้ยังมีนิสัยเป็นสัตว์สังคม ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ก็ทำให้อุ่นได้ไปอีกแบบ เสียแต่ว่าขี้ตกใจ เพราะฉะนั้น พอเจอะศัตรูทีไร แทนที่จะรวมกลุ่มสู้ กลับแตกกระเจิงไปคนละทิศละทางอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีอุ้งเท้าใหญ่ พร้อมขนหนา ที่ให้ทั้งความอบอุ่น และทำให้วิ่งเร็ว เท้าไม่จมลงไปในหิมะเหมือนเวลาคนเราเดินกันพรวดๆ
    [​IMG]
    เห็นเจ้าอาร์กติก แฮร์ไม่ค่อยสู้อย่างนั้น อย่านึกว่าชีวิตที่ขั้ว โลกจะหวานหมูสำหรับสัตว์นักล่า เพราะเหยื่อที่ยืนหยัดไม่ยอมถอยก็มีเหมือนกัน อย่างวัวขั้วโลก ที่เรียกว่า มูสค์ พวกนี้ชอบยืนเบียดให้ไออุ่นแก่กันและกัน และหากมีศัตรูอย่างหมาป่าบุกเข้ามาทีไร มูสค์ก็จะยืนล้อมพวกลูกเล็กเด็กแดงเอาไว้ไม่ให้หมาป่ามาพรากไปง่ายๆ เป็นเทคนิคการต่อสู้แบบหนึ่งที่ทำให้คนได้เห็นคำว่า “สามัคคี” เป็นตัวอย่าง
    ส่วนการต่อสู้กับความหนาวนั้น มูสค์อาศัยขนที่มี 2 ชั้น ชั้นนอกเป็นขนยาวถึงพื้น ส่วนชั้นในเป็นขนที่เปลี่ยนได้ คือหน้าร้อนจะสั้นหน่อย แต่พอหน้าหนาว ขนจะงอกมาหนาขึ้น บางทีหนาตั้ง 3-4 นิ้วเลยทีเดียว
    [​IMG]แต่หากจะพูดถึงการปรับตัวที่ต้องถือว่า “สุดๆ” จริงๆ เห็นทีต้องยกนิ้วให้กระรอกดินอาร์กติก เจ้าพวกนี้มักจะขุดรู สร้างอุโมงค์มากมายไว้ใต้ดิน พอฤดูร้อนก็จะกิน...กิน...กิน เพื่อเก็บสะสมอาหารไว้ยามนอนหลับ

    ใช่แล้ว...พวกมัน “จำศีล” เป็นการจำศีลที่นักชีววิทยาลงความเห็นว่า เป็นการจำศีลแท้ๆต่างกับสัตว์อื่นๆในขั้วโลก ที่จำศีลเทียม คือได้แต่ นอนนิ่งๆเพื่อประหยัดพลังงาน แต่กระรอกดินอาร์กติกจำศีลแบบเอา จริงเอาจัง ตั้ง 7 เดือน ที่ขดตัวกลม หลับลึก หัวใจเต้นช้า อุณหภูมิร่างกายลดลงมาอย่างมาก เหนือจุดเยือกแข็งไปนิดเดียว และจะออกจากโพรงมาอีกทีก็เมื่ออากาศอุ่นกำลังเหมาะ
    อันว่าโพรงใต้ดินนี้ เป็นที่อาศัยของสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะพวกที่ตัวเล็กๆอย่างเลมมิ่ง ที่พอหนาว มาเยือนก็จะหายซ่า เข้าไปอยู่ในอุโมงค์ใต้น้ำแข็งแบบเจียมเนื้อเจียมตัว แต่พอหน้าร้อนมาถึง ก็ค่อยทำซ่ามาหากินข้างนอกได้ใหม่

    แล้วพวกตัวใหญ่ๆล่ะ จะทำยังไงเวลาหนาว ไม่ยาก...ไม่ยาก ดูพี่วอลลัสเป็นตัวอย่าง ด้วยขนาดใหญ่โตมโหฬาร บางตัวหนักตั้งตันครึ่ง แต่พอบทจะปรับตัวก็ปรับได้รวดเร็ว จากผิวหนังหนาสีชมพูอมน้ำตาลในหน้าร้อน ก็จะมีสีอ่อนลงในฤดูหนาว เพราะเส้นเลือดที่ผิวหนังเกิดการหดตัวเนื่องจากวอลลัสปรับระบบหมุนเวียนเลือด เพื่อช่วยกักเก็บความร้อนในร่างกายไว้

    นอกจากนี้ การมีผิวหนาก็ทำให้วอลลัสสามารถนอนบนพื้นน้ำแข็งเย็นเจี๊ยบได้สบายๆไม่เคยบ่น และด้วยขนาดร่างกายอันตุ๊ต๊ะตุ้มตุ้ยนั้น แม้จะทำให้ มองเผินๆแล้วหลายคนหัวเราะเยาะว่าเดินไปไหนก็อุ้ยอ้าย แต่ลองดูในน้ำซะก่อนเถอะ วอลลัสของเราว่ายน้ำคล่องปรื๋อ หากินปลาเล็กปลาน้อยได้สบายใจเฉิบเชียวละ
    [​IMG]
    ย้อนกลับไปที่พวกตัวเล็กๆอีกหน อย่างแมลง...ช่ายแล้ว...ขั้วโลกก็มีแมลงอยู่กับเขาด้วยเหมือนกัน จากการศึกษาพบว่า แมลงขั้วโลกมีลักษณะพิเศษ ด้วยลักษณะทางเคมีภายในเลือดที่มีสารโปรตีนต่อต้านความเย็น ไม่งั้นเลือดคงแข็งไปหมด (ส่วนคนเราที่มีนิสัยเป็นพวกเลือดเย็นนั้น ไม่จำเป็นต้องมาจากขั้วโลก แต่เวลาอากาศร้อนๆก็เป็นกันได้ สรุปแล้ว คนเรานี่แหละที่แปลกกว่าสัตว์อื่น)

    แต่เห็นสัตว์ขั้วโลกเก่งในเรื่องการปรับตัวกันขนาดนี้ เอาเข้าจริงๆ เมื่อเวลาลำบากที่สุดมาเยือน พวกมันก็เอาไม่อยู่เหมือนกัน ดังที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้นว่า จริงหรือที่ขั้วโลกเป็นสถานที่ที่ไม่เคยเปลี่ยน
    ถึงตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นจุดไหนในโลก ต่างก็กำลังเปลี่ยน แถมยังเป็นการเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และรุนแรง จากความน่ากลัวของภาวะ “โลกร้อน” ซึ่งเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ น้ำแข็งที่เคยมีปริมาณมหาศาลในขั้วโลก กำลังลดลงไปเรื่อยๆ และสัตว์ที่ยึดเอาดินแดนสีขาวเป็นบ้าน ก็ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงนี้ และคาดว่า สัตว์หลายชนิดอาจจะถึงคราวสูญพันธุ์ได้ ยกเว้นเสียแต่ว่า พวกมันอาจจะต้องปรับตัวหนีตายด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้สามารถต่อสู้กับความโหดร้ายที่มนุษย์หยิบยื่นให้ ในขณะที่คนซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการทำให้โลกร้อนก็จะต้องช่วยกันลดปัญหา และทำความ “เข้าใจ” กับความเป็นไปของโลก และสัตว์ร่วมโลกให้มากขึ้น

    ว่าแล้ว ทีมผู้สร้างสารคดีดังเรื่อง March of the Penguins ซึ่งเคยนำเสนอเรื่องราวของนกเพนกวิน ก็ได้เข้าไปติดตามชีวิตของแม่ช้างน้ำ และหมีขาวแห่งขั้วโลกเหนือ ถ่ายทอดออกมาเป็นสารคดีที่น่าติดตาม อีกเรื่องหนึ่งคือ อาร์กติก เทล มหัศจรรย์ชีวิตโลกน้ำแข็ง (Arctic Tale) ที่จะบอกถึงเรื่องราวอันน่ารักแห่งพัฒนาการ และอะไรจะเกิดขึ้น หากโลกน้ำแข็งค่อยๆละลายไปทีละน้อย...
    แล้วเรายังจะเฉยเมยกับภาวะโลกร้อนนี้ได้หรือ??
    ทีมงาน ต่วย'ตูน

    ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

    ขอขอบคุณ http://wwwback.dek-d.com/board/view.php?id=1120533
    เอื้อเฟื้อข้อมูล
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 กรกฎาคม 2008
  9. k.kwan

    k.kwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    15,903
    ค่าพลัง:
    +7,316
    เจอข่าวเรื่องหนังที่น่าสนใจเกี่ยวกับสัตว์ขั้วโลกเหนือมาฝากค่ะ

    17/06/08 3:02 pm
    The White Planet สารคดีที่มนุษย์ทุกคนต้องดู!

    คุณเชื่อหรือไม่ นี่เป็นสารคดีที่โด่งดังที่สุดในรอบปี
    คุณเชื่อหรือไม่ นี่เป็นสารคดีที่นักวิจารณ์ต่างส่งเสียงเชียร์
    คุณเชื่อหรือไม่ นี่เป็นสารคดีที่จะทำให้คุณตื่นตะลึง
    คุณเชื่อหรือไม่ นี่เป็นสารคดีที่เด็กๆ อยากดูซ้ำเป็นรอบที่สอง
    ถ้าคุณอยากเชื่อ ขอท้าให้คุณมาชม The White Planet


    The White Planet เป็นสารคดีที่จะนำคุณไปสู่ดินแดนขั้วโลกที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งตลอดปี เก็บภาพวิถีการดำเนินชีวิตของสัตว์ขั้วโลกที่เรากล้ารับประกันว่าเป็นภาพสุดมหัศจรรย์ที่คุณไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ทีมงานต้องใช้เวลากว่า 2 ปี ในการเฝ้ามองพฤติกรรมของพวกมัน ทั้งหมีขาว จิ้งจอกหิมะ แมวน้ำ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้น มีการดำรงชีวิตที่แผกต่างไปจากการรับรู้ของมนุษย์


    ประเด็นที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ จะมีมนุษย์สักกี่คนที่ทราบว่า สัตว์ขั้วโลกเหล่านี้ เป็นสิ่งมีชีวิตชุดแรกๆ บนโลก ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างรุนแรง วิถีการเอาตัวรอดของพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง


    The White Planet กวาดรางวัลจากสถาบันและเทศกาลหนังน้อยใหญ่มาแล้วทั่วโลก กลายเป็นหนังขวัญใจเด็กๆ ในแคนาดาทันทีที่มันออกฉาย ด้วยเสียงเชียร์กึกก้องจากรัฐบาลแคนาดา โดยมีการแนะนำให้เด็กๆ ชั้นประถม ไปจนถึงชั้นมัธยมปลายไปชมภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้อย่างพร้อมเพรียง


    สำหรับเมืองไทยนั้น นี่เป็นหนังที่คุณควรพาลูกหลานมาชม หรือจะมาดูกันยกครอบครัวเลยยิ่งดี หรืออย่างน้อยๆ คุณก็ควรมาสัมผัสความเป็นอยู่ของเขา ที่คุณได้เมินเฉยมาตลอดหลายสิบปีนี้


    ไม่ว่าคุณจะชอบของแปลกหรือไม่
    ไม่ว่าคุณจะรักสัตว์หรือไม่
    และไม่ว่าคุณจะเมินเฉยเรื่องโลกร้อนมากแค่ไหน
    เราขอให้คุณมาชม The White Planet และคุณจะทราบว่า เราควรจะรักษาโลกใบเล็กๆ ที่น่าอยู่นี้อย่างไร


    The White Planet เข้าฉายวันที่ 19 มิถุนายนนี้ ที่โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอ แห่งเดียวเท่านั้น (ไม่รู้ออกจากโรงฯไปรึยัง สงสัยต้องรอดู DVD ซะแร้ว)

    ขอขอบคุณ http://www.nangdee.com/webboard/viewtopic.php?p=33737
    เอื้อเฟื้อข้อมูล



    </TD></TR></TBODY></TABLE>
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 4 สิงหาคม 2008
  10. k.kwan

    k.kwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    15,903
    ค่าพลัง:
    +7,316
    โปรตีนต้านการเยือกแข็ง (antifreeze protein) ชนิดที่ I บนดินแดนขั้วโลกที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง



    <TABLE cellSpacing=0 cellPadding=0 width="100%"><TBODY><TR><TD>[​IMG]
    โปรตีนต้านการเยือกแข็ง (antifreeze protein) ชนิดที่ I บนดินแดนขั้วโลกเต็มไปด้วยน้ำแข็ง

    นักวิทยาศาสตร์ ชาวแคนาดาจาก มหาวิทยาลัยควีน ใน เมือง ออนติโอ ค้นพบโปรตีนต้านการเยือกแข็ง ชนิดที่ I ซึ่งช่วย ป้องกันของเหลวในร่างกายไม่ให้กลายเป็นน้ำแข็งและยังอธิบายว่า ทำไมสัตว์ เช่นแมวน้ำ นกแพนกวีน และ หมีขั้วโลก ทนอยู่ที่ขั้วโลกได้อย่างไร? ต้องทนอยู่ท่ามกลางอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งหลายองศาเซลเซียส ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ของเหลวในตัวสัตว์เหล่านี้จะไม่กลายไปเป็นน้ำแข็งปลาทะเลเกือบทั้งหมดจะถูกแช่แข็งและตายที่อุณหภูมิต่ำกว่า –2 องศาเซลเซียส สัตว์เหล่านี้มีกลไกในการป้องกันของเหลวในร่างกายไม่ให้กลายเป็นน้ำแข็งได้อย่างไร การใช้โปรตีนต้านการเยือกแข็งของน้ำ (antifreeze protein) ในการป้องกันไม่ให้ของเหลวในสัตว์ขั้วโลกแข็งตัว โดยปกติ น้ำทะเลจะกลายเป็นน้ำแข็งที่–1.9 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิในฤดูหนาวของมหาสมุทรบริเวณขั้วโลก ในขณะที่ของเหลวในสัตว์ทะเลโดยทั่วไปจะกลายเป็นน้ำแข็งที่อุณหภูมิ –0.8 องศาเซลเซียส
    โปรตีนต้านการเยือกแข็งซึ่งมีส่วนช่วยในการดำรงชีวิตอยู่ในอุณหภูมิต่ำได้โดยไม่ให้เกิดผลึกน้ำแข็งทิ่มแทงเซลล์เนื้อเยื่อต่าง ๆ จนก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตได้ ซึ่งผลึกน้ำแข็งที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตขยายตัวไปทิ่มแทงเซลล์ต่าง ๆ และทำความเสียหายให้กับอวัยวะต่าง ๆ เป็นอย่างมาก และส่งผลให้สิ่งมีชีวิตนั้นตายไปในที่สุดโปรตีนต้านการเยือกแข็งของน้ำ เป็น ไกลโคโปรตีน (glycoprotein) คือ โมเลกุลของโปรตีน และคาร์ไฮเดตร ที่เข้ามาสร้างพันธะร่วมกัน โดย ไกลโคโปรตีน จะมีน้ำหนักโมเลกุลระหว่าง 2600 ถึง 34000 ดาลตัน โดยทั่วไป โครงสร้างของโปรตีนชนิดนี้ในสารละลายจะมีรูปร่างเป็น เกลียวแท่งเดี่ยว (helical rods) ที่มีความเสถียรสูงมาก และเป็นโมเลกุลแบบ amphipathic คือ ด้านหนึ่งของโมเลกุลจะชอบน้ำ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งจะไม่ชอบน้ำ ในด้านของโมเลกุลของโปรตีนที่ชอบน้ำ จะประกอบด้วยส่วนย่อยซ้ำ ๆ กัน แต่ละส่วนจะอยู่ห่างกัน 4.5 อังสตรอม โดยที่แต่ละส่วนย่อยจะประกอบด้วย กรดอะมิโนทรีโอนีน (threonine) และกรออะมิโนแอสพาติก ซึ่งส่วนย่อยนี้จะสามารถจับกับโครงร่างโมเลกุลของน้ำแข็ง (ice lattice) สัตว์ขั้วโลกจะมีโปรตีนต้านการเยือกแข็งอยู่ในร่างกาย จะสามารถป้องกันของเหลวในร่างกายไม่ให้กลายเป็นน้ำแข็งได้ โดยเมื่ออุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมลดลงถึงจุดเยือกแข็ง ส่งผลให้ของเหลวในร่างกายของสัตว์เหล่านี้เริ่มมีผลึกน้ำแข็งเกิดขึ้น โปรตีนต้านการเยือกแข็งที่มีอยู่จำนวนมากในร่างกายของสัตว์เหล่านี้จะกระจายตัวกันไปจับบริเวณขอบแนวหน้าของผลึกน้ำแข็งเฉพาะที่ขยายตัวออกมาในแนวนอน เท่านั้น การจับของโปรตีนเข้ากับผลึกน้ำแข็งนี้จะขัดขวางม่ให้โมเลกุลน้ำเข้ามาเชื่อมตัวกับผลึกน้ำแข็งบริเวณที่โปรตีนมาจับได้ ส่งผลให้น้ำแข็งขยายตัวออกไปในแนวแกนนอนไม่ได้ ทำให้ผลึกน้ำแข็งพยายามขยายตัวขึ้นในแนวตั้งแทน แต่เมื่อน้ำแข็งที่ขยายตัวออกมาในแนวแกนตั้งชั้นใหม่จะเริ่มขยายตัวแผ่ออกไปในแนวแกนนอน โมเลกุลของโปรตีนต้านการเยือกแข็งจะจับกับขอบแนวหน้าของการขยายตัวของน้ำแข็งในแนวนอนไว้เช่นเดิม ทำให้ผลึกน้ำแข็งขยายได้ในลักษณะที่เป็นแผ่นแบน ๆ ที่แต่ละชั้นมีขนาดเล็กลงและซ้อนกันขึ้นไปเรื่อย ๆ ไปในแกนตั้งเท่านั้นจนกว่าจะขยายตัวต่อไปอีกไม่ได้ สุดท้ายผลึกน้ำแข็งจะมีขนาดเล็กและมีลักษณะคล้ายกับปิระมิดฐานหกเหลี่ยม ที่ประกบฐานเข้าด้วยกันรูปทรงของน้ำแข็งที่เกิดขึ้นนี้มีขนาดเล็กมาก และผลึกน้ำแข็งไม่สามารถขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น

    http://www.cbc.ca/stories/2004/05/13/sci-tech/fish_cold040513
    http://www.afprotein.com/table.htm
    http://www.chem.uwec.edu/Chem406/Webpages/Carol/CAROL.HTM
    All BIOTECH (เทคโนโลยีชีวภาพปริทรรศน์) ปีที่ 2 ฉบับที่ 18 มิ.ย. 2547
    http://www.canada.co.nz/media/images/72-Pbear2.jpg </TD></TR></TBODY></TABLE>

    ขอขอบคุณ http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Pid=20087
    เอื้อเฟื้อข้อมูล
     
  11. k.kwan

    k.kwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    15,903
    ค่าพลัง:
    +7,316
    หิมะ ธารน้ำแข็ง และการแข่งขันที่ทรหดที่สุดในโลก

    เรื่องและภาพ : มงคลสวัสดิ์ เหลืองวรพันธ์


    สนามบินเมืองแองเคอเรจ (Anchorage) กลางเดือนมกราคมยามดึก เงียบเหงาจนแทบจะกลายเป็นสนามบินร้าง มีเพียงรถสองสามคันที่แวะเข้ามาจอดรอรับผู้โดยสารก่อนจะแล่นจากไป และเมื่อก้าวพ้นประตู สายลมเย็นเยือกจากภายนอกก็กรูเข้ามาต้อนรับแทบจะทันที...
    ภาพสนามบินวันนี้ผิดตาไปจากเมื่อสองครั้งก่อนที่ผมมาที่นี่แทบจะหน้ามือเป็นหลังมือ สองคราวก่อนผมเลือกมาอะแลสกาในช่วงฤดูร้อนซึ่งถือเป็นฤดูท่องเที่ยวของที่นี่ จึงได้เห็นผู้คนเบียดเสียดเต็มสนามบิน ทั้งยังมีรถราใหญ่น้อยมาจอดคอยรับผู้โดยสารแน่นขนัด สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่านักท่องเที่ยวที่มาเยือนอะแลสกากว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์จะพร้อมใจกันเข้ามาในฤดูร้อน ซึ่งกินระยะเวลาราวสามเดือนจากมิถุนายน-สิงหาคม ทั้งนี้ก็คงด้วยเหตุผลที่ว่า มีแต่ช่วงเวลานี้เท่านั้นที่อะแลสกาจะไม่หนาวเย็นเกินไปสำหรับคนต่างถิ่นผู้มาเยือน
    และก็ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่แปลกใจอะไรนักกับภาพสนามบินร้างที่ได้เห็น เพราะเวลานี้ นอกจากจะไม่ใช่ฤดูร้อนของอะแลสกาแล้ว มันยังเป็นฤดูหนาว--ช่วงเวลาที่ความหนาวเหน็บและความมืดกินเวลายาวนานเกือบ ๒๐ ชั่วโมงในหนึ่งวัน และอุณหภูมิที่เราต้องเผชิญอาจลดต่ำลงได้ตั้งแต่ -๓๐ ไปจนถึง -๖๐ องศาเซลเซียส
    ว่ากันว่าอะแลสกาในช่วงเวลาที่หนาวที่สุดในรอบปี อาจทำให้คนที่คิดว่าตัวเองพิศมัยความเย็นกลับใจได้ ผมเองไม่ใช่คนทนหนาวอะไรนัก เพื่อนฝูงจึงถึงกับเอ่ยปากว่า--ก็แล้วจะ (หาเรื่อง) ไปทำไม ?
    แต่ผมมีคำตอบให้ตัวเองรออยู่แล้วที่ Fairbanks

    --------------------------------------------------------------------------------

    ๑.
    คำตอบของผมอยู่เหนือขึ้นไปจากแองเคอเรจหลายร้อยไมล์ ดังนั้นหลังจากพักผ่อนที่แองเคอเรจได้ไม่นาน ผมก็ต้องรีบออกเดินทาง
    Fairbanks จุดหมายปลายทางของผม เป็นเมืองที่อยู่ทางด้านตะวันออกของอะแลสกา ใกล้กับแคนาดา ที่ผมต้องมาที่นี่ และจำเพาะว่าจะต้องมาในหน้าหนาว ก็เนื่องมาจากเหตุสองประการ ประการแรก Fairbanks เป็นสถานที่ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกสำหรับการชมและศึกษา "แสงเหนือ" (aurora borealis) อันเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของแสงสีบนท้องฟ้ายามค่ำคืน ที่มีความมหัศจรรย์และสวยงามเหนือคำบรรยาย ส่วนอีกประการหนึ่งก็คือ ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันสุนัขลากเลื่อนที่รู้จักกันในชื่อ "Yukon Quest" ซึ่งจัดว่าเป็นการแข่งขันสุนัขลากเลื่อนที่ทรหดที่สุดในโลก (The toughest sled dog race in the world)
    การแข่งขันสุนัขลากเลื่อนในอะแลสกาจะจัดขึ้นปีละสองครั้ง คือ Iditarod และ Yukon Quest ทั้งสองการแข่งขันมีระยะทางใกล้เคียงกัน แต่ต่างกันตรงที่ว่า Iditarod มีจุดเริ่มต้นที่แองเคอเรจและไปสิ้นสุดที่เมือง Nome ทางทิศตะวันตกของอะแลสกา โดยการแข่งขันจะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคม ส่วน Yukon Quest นั้นมีจุดเริ่มต้นที่เมือง Fairbanks และไปสิ้นสุดที่เมือง Whitehorse ในประเทศแคนาดา (จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดการแข่งขันจะสลับกันไปทุกปี โดยปีหน้าการแข่งจะเริ่มต้นที่ Whitehorse และสิ้นสุดลงที่ Fairbanks) โดยที่ Yukon Quest ขึ้นชื่อเรื่องเส้นทางที่มีความลำบากหรือทุรกันดารกว่า
    ผมรู้มาว่าทางคณะผู้จัดการแข่งขัน Yukon Quest เปิดโอกาสให้นักข่าวจากที่ต่าง ๆ เข้าร่วมชมและถ่ายภาพการแข่งขันด้วย ในการเดินทางคราวนี้ผมจึงแบ่งเวลา หันมาสวมวิญญาณนักข่าวและช่างภาพอีกครั้ง เพื่อติดตามการแข่งขันที่น่าตื่นเต้นและหาชมได้ยากนี้
    เมื่อไปถึง Fairbanks อากาศกำลังหนาวเย็นได้ที่ หิมะปกคลุมขาวโพลนไปทั่ว ดูคล้ายเมืองทั้งเมืองเป็นภาพถ่ายที่มีเพียงสีขาว-ดำ ตามถนนหนทางมีกองน้ำแข็งแฉะ ๆ ที่ถูกไถไปรวมกันริมถนนเพื่อเปิดทางให้รถราแล่นผ่าน ส่วนอุณหภูมิจะลดต่ำลงเท่าไรนั้นผมไม่อยากจะคิด เพราะชักไม่แน่ใจตัวเองแล้วว่าจะทนกับสภาพอากาศที่ราวกับอยู่ในตู้แช่เนื้อไปได้สักกี่น้ำ...
    การแข่งขัน Yukon Quest จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ ๒ ของเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ ๙ สองวันก่อนการแข่งขัน ผมเข้าร่วมประชุมนักข่าวในงานแถลงข่าวที่โรงแรมแห่งหนึ่งในตอนสาย ๆ เมื่อไปถึง ทั้งผู้สื่อข่าวและผู้อ่านข่าวโทรทัศน์ท้องถิ่น ต่างยืนอออยู่หน้าห้องประชุมซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป ผมชะเง้อมองเข้าไปข้างในก็เห็นคนนั่งกันอยู่เต็มห้อง กำลังเซ็นชื่อลงบนแผ่นโปสเตอร์ ถามไถ่คนที่ยืนออกันอยู่จึงได้รู้ว่าคนในห้องก็คือผู้เข้าแข่งขันนั่นเอง
    หลังจากนั้นไม่นาน ผู้เข้าแข่งขันก็เริ่มทยอยออกนอกห้อง และทักทายกับผู้สื่อข่าวอย่างเป็นมิตร แต่ไม่ทันได้ซักถามอะไร คณะผู้จัดงานก็เรียกบรรดานักข่าวเข้าห้องประชุม ผู้สื่อข่าวต้องกรอกแบบฟอร์มโดยละเอียด ตั้งแต่ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ ตำแหน่งหน้าที่ สำนักข่าวที่สังกัด ชนิดของสื่อ รวมทั้งอีเมลและเว็บไซต์ ผมกาเครื่องหมายลงในช่องตำแหน่งหน้าที่ไว้สองช่อง คือเป็นทั้งผู้สื่อข่าวและช่างภาพ ในนามนิตยสาร สารคดี
    การประชุมไม่มีอะไรซับซ้อน เป็นเพียงการให้คำแนะนำและชี้แจงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ผู้สื่อข่าวควรและไม่ควรปฏิบัติต่อทีมผู้เข้าแข่งขัน เช่น ห้ามสัมผัสหรือให้ความช่วยเหลือแก่ทีมแต่อย่างใดทั้งสิ้น, เวลาที่เหมาะสมที่จะสัมภาษณ์ผู้เข้าแข่งขันคือเวลาที่ทีมหยุดพักรับประทานอาหาร, ผู้สื่อข่าวไม่ควรแบกข้าวของหรือสัมภาระมากเกินควร เพราะการติดตามการแข่งขันบางครั้งต้องนั่งเครื่องบินเล็ก ฯลฯ เรื่อยไปจนถึงคำแนะนำเรื่องเสื้อผ้า ที่เขาแนะว่าให้ใส่ตัวละหลาย ๆ วัน นอกจากนี้ทาง Yukon Quest ยังมีเฮลิคอปเตอร์บริการผู้สื่อข่าวในช่วงสองวันแรกของการแข่งขันด้วย โดยใช้กฎว่าใครมาถึงก่อนก็ใช้บริการก่อน น่าแปลกใจว่า เมื่อกรรมการจัดการแข่งขันคนหนึ่งถามขึ้นว่า มีใครต้องการใช้บริการเฮลิคอปเตอร์บ้าง กลับมีนักข่าวเพียงไม่กี่คน (รวมทั้งผมด้วย) ที่ยกมือ
    หลังจากคณะกรรมการเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวซักถามจนพอใจแล้ว และกำลังจะปิดการประชุม ผมก็ถือโอกาสแนะนำตัวว่ามาจากเมืองไทย โดยบอกว่าเดินทางมาคนเดียว และเป็นครั้งแรกที่มาในฤดูหนาว ทั้งนี้เพื่อขอความช่วยเหลือและคำแนะนำในด้านต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องยานพาหนะที่จะติดตามทีม คำร้องของผมได้รับการตอบรับง่าย ๆ จากร็อกกี้ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดงาน เขาเป็นผู้จัดรายการวิทยุท้องถิ่น และในวันแข่งขันก็จะทำหน้าที่เป็นโฆษกด้วย ร็อกกี้บอกผมว่าให้ไปหาเขาในวันแข่งขัน ซึ่งจะหาตัวเขาได้ไม่ยากในวันนั้น
    --------------------------------------------------------------------------------

    ๒.
    ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
    กลางเมือง Fairbanks ใต้สะพานถนน Cushman สายน้ำที่เคยไหลรินอยู่เบื้องล่างในฤดูอื่นและบัดนี้กลายเป็นธารน้ำแข็ง คือจุดเริ่มต้นของการแข่งขัน ผู้คนนับพันยืนเกาะรั้วส่งเสียงให้กำลังใจแก่ทีมผู้เข้าแข่งขันที่รวมตัวกันอยู่บริเวณนั้น แม้อุณหภูมิในวันนี้จะติดลบกว่า ๒๐ องศาเซลเซียสก็ตาม
    ผมตามตัวร็อกกี้ได้ง่าย ๆ อย่างที่เขาว่าไว้จริง ๆ รอจนเขาเสร็จงานตรงหน้า เราก็ออกเดินสังเกตการณ์บริเวณจุดเริ่มต้นของการแข่งขันด้วยกัน
    นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นทีมผู้เข้าแข่งขันพร้อมหน้า "ทีม" ที่ผมพูดถึงประกอบไปด้วย ผู้ควบคุมเลื่อน (musher หรือ driver) ๑ คน สุนัขลากเลื่อน ๑๔ ตัว (บางทีม ๑๒ ตัว) และเลื่อน ๑ คัน สุนัขทั้ง ๑๔ ตัวในแต่ละทีมถูกผูกเรียงกันไว้เป็นคู่ ๆ ด้วยเชือกยาวหลายเมตร แต่ละตัวท่าทางคึกคัก พร้อมที่จะกระโจนลงสู่สนาม ร็อกกี้บอกผมว่าพวกมันรู้ดีว่าการแข่งขันกำลังจะเริ่มต้น และพร้อมแล้วสำหรับการเดินทางอันแสนทรหด เพราะแต่ละตัวได้รับการฝึกฝนมาตลอดสามเดือน นับตั้งแต่วันแรกที่หิมะตกเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว
    สุนัขที่ใช้ในการแข่งขันเป็นสุนัขพันธุ์ Huskie ซึ่งเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่แม้จะตัวไม่ใหญ่นัก แต่ก็มีความทรหดอดทนเป็นเลิศ รูปร่างและขนาดใกล้เคียงกับสุนัขบ้านเรา แต่มีขนค่อนข้างหนาและยาวกว่า ส่วนใหญ่จะมีขนสีขาวและดำ แต่บางตัวก็มีสีแปลกออกไป เช่นสีน้ำตาลหรือสีเหลืองอ่อน ตีนทั้งสี่ของสุนัขทุกตัวที่เข้าแข่งจะถูกห่อหุ้มไว้ด้วยถุงเท้าเล็ก ๆ สีสันสดใส เพื่อช่วยให้อบอุ่นและทนต่อการเดินทางอันยาวนานได้
    สุนัขคู่แรกซึ่งอยู่หัวขบวน (เรียกกันว่า lead dog) เป็นคู่ที่มีความสำคัญและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี มันจะทำหน้าที่คอยฟังคำสั่งจาก musher ส่วนสุนัขอีกหกคู่จะถูกผูกเรียงถัดกันลงมา เชือกนี้จะผูกโยงเข้ากับตัวเลื่อน (sled) ซึ่งบรรจุสัมภาระยังชีพ ตัวเลื่อนเป็นอะลูมิเนียมโปร่ง ๆ หัวเชิด รูปร่างคล้ายเรือท้ายเปิด มีแผ่นเหล็กคู่ลักษณะคล้ายสกีรองรับอยู่ด้านล่าง โดยเว้นแผ่นเหล็กส่วนท้ายไว้ราว ๒ ฟุตใช้เป็นที่ยืนของ musher โครงด้านข้างกั้นสูงสำหรับวางสัมภาระและเป็นที่ให้ musher จับยึดเพื่อใช้ในการทรงตัว ท้ายเลื่อนมีอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับชะลอความเร็วหรือหยุดเลื่อน ตั้งแต่แผ่นยางสีดำแข็งที่มีปุ่มนูน ๆ ผูกเชือกไว้ เมื่อต้องการใช้ก็เพียงทิ้งแผ่นยางดังกล่าวลงกับพื้น แล้วใช้เท้ากดเพื่อชะลอความเร็ว, เบรกซึ่งเป็นแผ่นเหล็กหนา มีรอยหยักเหมือนเลื่อย ไว้สำหรับเหยียบเพื่อหยุดเลื่อน โดยแผ่นเหล็กจะจิกลงบนพื้นน้ำแข็ง, เชือกสำหรับผูกกับต้นไม้หรือหลักที่ถาวร รวมถึงสมอหรือตะขอเหล็กอันใหญ่สำหรับปักลงบนพื้นน้ำแข็ง กรณีที่ต้องการหยุดพักทีมแต่ไม่มีต้นไม้หรือหลักอะไรที่พอจะผูกเชือกได้ โดยต้องเหยียบซ้ำแรง ๆ อีกหลายครั้งเพื่อให้เหล็กแหลมยึดแน่นและสามารถต้านแรงกระชากจากสุนัขทั้งทีมได้
    Yukon Quest เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๘๔ มีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด๒๖ ทีม ด้วยระยะทาง ๑,๐๐๐ ไมล์ มี ๒๐ ทีมที่เข้าเส้นชัย โดยผู้ชนะการแข่งขันใช้เวลาเพียง ๑๒ วัน ส่วนในปีนี้ ผู้เข้าแข่งขันมีทั้งหมด ๔๑ ทีม ๑๑ ทีมเป็นผู้หญิง ซึ่งนับว่าเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีมา
    ในครั้งนี้ ระยะทางทั้งหมดที่ทีมผู้เข้าแข่งขันและสุนัขลากเลื่อนทั้ง ๑๔ ตัวต้องเผชิญคือ ๑,๖๐๐ ไมล์ เลื่อนจะต้องวิ่งผ่านเส้นทางอันทุรกันดารที่ตัดผ่านผืนป่าและธารน้ำแข็ง ท่ามกลางความหนาวเหน็บในช่วงเวลาที่หนาวที่สุดในรอบปี ทั้งจะต้องพิชิตเทือกเขาสูงถึงสามช่วงในระดับความสูง ๓,๘๐๐ ฟุต และหากโชคร้ายทีมก็อาจจะต้องผจญกับพายุหิมะที่จะพัดปกคลุมทุกสิ่งจนขาวโพลน มองไม่เห็นอะไรนอกจากความขาว อย่างที่เรียกกันว่า "white out condition" นอกจากนี้เนื่องจากจุดตรวจ (check point) บางจุดอยู่ห่างกันถึง ๒๐๐ ไมล์ จึงทำให้ทีมต้องเผชิญกับช่วงเวลาแห่งความโดดเดี่ยวไม่ต่ำกว่าสองสามวัน ระยะทางดังกล่าวทำให้แต่ละทีมต้องบรรทุกสัมภาระ และเครื่องยังชีพเผื่อไว้ให้เพียงพอสำหรับ ๑๕ ชีวิตด้วย
    ๑๑ โมงตรง ทีมของ Kelly Griffin ก็เตรียมตัวออกจากจุดเริ่มต้นเป็นทีมแรก Kelly เป็นหญิงชาวอะแลสกา อายุ ๔๒ ปี ครั้งนี้เป็นการแข่งขันครั้งแรกของเธอ เมื่อทีมถูกพามายังจุดเริ่มต้น สุนัขทั้ง ๑๔ ตัวก็เห่าเสียงดังและโก่งตัวอย่างคึกคักพร้อมที่จะออกวิ่ง จนต้องใช้เจ้าหน้าที่หลายคนช่วยหยุดทีมเพื่อรอการจับเวลา
    กรรมการเริ่มนับถอยหลัง ๒๐ วินาที musher สาวใหญ่ใช้เท้าเหยียบเบรกซึ่งเป็นแผ่นเหล็กจิกลงบนพื้นน้ำแข็งเพื่อรอเวลา เมื่อถึงเลขศูนย์ musher ก็ยกเท้าขึ้น เบรกเหล็กดีดกลับโดยสปริงตัวใหญ่ สุนัขทุกตัวกระโจนออกวิ่งพุ่งตรงไปข้างหน้าโดยไม่ต้องรอคำสั่ง ดูเหมือนใครปล่อยลูกศรยักษ์ทะยานไปบนพื้นน้ำแข็ง เสียงเชียร์ เสียงปรบมือและผิวปากดังสนั่น เหมือนจะฝากตามเป็นกำลังใจไปจนถึงเส้นชัยในอีก ๑,๖๐๐ กิโลเมตรข้างหน้า จากนั้นทีมอื่น ๆ ก็ทยอยพุ่งตามไป ภาพสุนัขลากเลื่อนทีมแล้วทีมเล่าที่วิ่งห่างออกไป ดูเหมือนลูกศรสีดำค่อย ๆ เลือนหายไปในความขาวของผืนหิมะเบื้องหน้า...
    ตกเย็น ผมและร็อกกี้ก็นั่งรถไปยังจุดพักสุนัข (rest stop) จุดแรกที่ North Pole ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๓๐ ไมล์ บริเวณจุดพักดังกล่าวเป็นโค้งแม่น้ำ (แข็ง) ที่ทีมสุนัขลากเลื่อนต้องวิ่งผ่าน และมีบริเวณโล่งกว้างเหมาะกับการตั้งเต็นท์สังเกตการณ์
    กระโจมขนาดใหญ่พร้อมเครื่องทำความร้อนถูกตั้งขึ้นสำหรับเจ้าหน้าที่และผู้สื่อข่าว เมื่อเราไปถึง เฮลิคอปเตอร์กำลังวุ่นอยู่กับการพาผู้สื่อข่าวและช่างภาพขึ้น-ลงตลอดเวลา ตรงโค้งแม่น้ำ ทีมสุนัขลากเลื่อนกำลังตีวงเข้าโค้งมาที่จุดพัก หลายทีมแวะพักเพียงครู่เดียวก็ไปต่อ บางทีม musher ก็จะโยนปลาแซลมอนดิบแช่แข็งที่แข็งราวกับหินให้สุนัขตัวละชิ้น บางตัวก็เคี้ยวกินอย่างหิวโหย แต่บางตัวก็ไม่กินอาจจะเพราะเหนื่อย หลังจากนั้นไม่นานทีมสุนัขลากเลื่อนก็ออกเดินทางต่อ
    เมื่ออาทิตย์ลาลับขอบฟ้า ผู้คนที่มาเฝ้าดูการแข่งขันก็เริ่มทยอยกลับ ร็อกกี้จึงชวนผมกลับไปพักรอเวลาที่บ้านของเขาที่ Fairbanks
    บ้านของร็อกกี้เป็นบ้านไม้สีขาวชั้นเดียว มีหิมะปกคลุมขาวโพลนไปทั่ว เมื่อไปถึง ร็อกกี้ก็แนะนำให้รู้จักกับภรรยาและไบรอัน--ลูกชายวัย ๔ ขวบแสนน่ารักของเขา ภรรยาของร็อกกี้ไม่พูดพล่ามทำเพลง รีบขอตัวเข้าครัวเพราะรู้ว่าเราสองคนหิวโซกันมาทั้งวัน ปล่อยให้ผมนั่งดูสองพ่อลูกเล่นมวยปล้ำกันอย่างสนุกสนาน ร็อกกี้บอกว่าเขากับลูกชายต้องเล่นกันรุนแรงอย่างนี้ทุกวัน
    ไม่นาน สลัดถ้วยใหญ่ก็ถูกเสิร์ฟบนโต๊ะ เราสองคนกินกันอย่างตะกละ จากนั้นภรรยาของร็อกกี้ก็ออกมาจากครัวอีกครั้ง คราวนี้เธออุ้มชามสปาเกตตีมีตบอลชามใหญ่ควันฉุยออกมาด้วย ...ผมอยู่อเมริกามาหลายปี เพิ่งจะเคยกินอาหารที่ได้ชื่อว่าแสนจะธรรมดาจานหนึ่งแต่อร่อยที่สุดก็มื้อนี้ ร็อกกี้กำชับผมให้กินเยอะ ๆ เพราะคืนนี้ยังอีกยาวไกล เราจะต้องเดินทางไปยังจุดตรวจจุดแรกที่ชื่อว่า Angel Creek ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเริ่มต้นของการแข่งขันถึง ๗๕ ไมล์
    .............................................
    เมื่อได้เวลา ผมกับร็อกกี้ก็ต้อง "แต่งตัว" กันหนาวกันอีกครั้ง ตกค่ำอย่างนี้อากาศคงยิ่งหนาวเย็น ผมชักไม่อยากจะรู้แล้วว่าอุณหภูมิติดลบอยู่เท่าไหร่ เพราะยิ่งรู้ตัวเลข ความหนาวเหน็บก็ดูจะเสียดแทงเข้ากระดูก ตั้งแต่ยังไม่ก้าวออกนอกบ้าน ร็อกกี้สวมเสื้อผ้าหนาขึ้นกว่าเมื่อเช้า ส่วนผมหนาที่สุดเท่าเมื่อเช้า เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมที่จะออกไปเผชิญกับความหนาวที่น่าจะติดอันดับ "หนาวที่สุด" ในชีวิตการเดินทางของผม
    ไบรอันเข้านอนแล้ว ผมได้แต่บอกลาและขอบคุณภรรยาของร็อกกี้สำหรับอาหารที่แสนอร่อย พอเปิดประตูได้ ผมกับร็อกกี้ก็รีบวิ่งขึ้นรถตู้ที่จอดอยู่หน้าบ้าน พยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสภาพอากาศ (หนาวเย็น) ภายนอกให้มากที่สุด
    รถตู้แล่นไปในความเงียบ บนถนนลาดยางที่กว้างแค่พอให้รถวิ่งสวนกันได้ สองข้างทางมืดสนิท มีเพียงแสงไฟจากหน้ารถของเราเท่านั้น รถแล่นมาได้ราวหนึ่งชั่วโมง เราก็สังเกตเห็นแสงริบหรี่เล็ก ๆ จากริมทาง ร็อกกี้ชี้ให้ดูแล้วบอกว่า นั่นคือทีมสุนัขลากเลื่อนที่เข้าร่วมการแข่งขัน แสงไฟที่เห็นมาจากดวงไฟที่ติดอยู่บนหน้าผากของ musher ซึ่งสว่างพอที่จะนำทีมวิ่งไปได้ในยามค่ำคืน
    ทีมสุนัขลากเลื่อนแล่นขนานไปกับรถของเราครู่หนึ่งก็ถึงจุดที่จะต้องแล่นตัดข้ามถนน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้สัญญาณอยู่ เราต้องหยุดรถเพื่อให้ทีมผู้เข้าแข่งขันข้ามผ่านไปก่อน จากนั้นทั้งทีมก็วิ่งหายเข้าไปในราวป่าอันมืดมิด...
    เมื่อมาถึงจุดตรวจจุดแรกที่ Angle Creek เพียงวูบแรกที่ก้าวออกนอกรถก็สัมผัสได้ถึงความหนาวเหน็บที่มาพร้อมกับลมแรง เราพบว่าอุณหภูมิขณะนั้นติดลบประมาณ ๓๐ องศาเซลเซียส
    บริเวณลานจอดรถมีรถจอดอยู่เต็มจนผมคิดในใจว่าเรามาถึงช้าไปหรือเปล่า ใกล้ ๆ กันมีร้านอาหารและบาร์เล็ก ๆ เปิดอยู่ริมทาง ร็อกกี้เดินนำเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่งซึ่งมีคนอยู่เต็ม ทั้งนักข่าวทีวีและหนังสือพิมพ์กำลังสัมภาษณ์ผู้เข้าแข่งขัน musher บางคนนั่งซดซุปร้อน ๆ โดยที่หนวดเครายังเต็มไปด้วยเกล็ดน้ำแข็ง
    ร็อกกี้พาผมเดินฝ่าผู้คนมาออกทางด้านหลังร้านซึ่งเป็นลานกว้าง มีดวงไฟสีเหลืองสาดแสงสว่างไสว ผู้คนนับสิบยืนเกาะกลุ่มคุยกัน รวมทั้งช่างกล้องทีวีและลูกมือที่ถือไมค์อันใหญ่ ทั้งหมดกำลังรอคอยแสงไฟดวงเล็กที่จะนำ ๑๕ ชีวิตวิ่งฝ่าความมืดและสายลมอันหนาวเหน็บเข้ามา
    จากจุดเริ่มต้น แต่ละทีมจะออกวิ่งห่างกันทุก ๒ นาที แต่จากจุดพักแรก ๓๐ ไมล์ถัดมา ระยะเวลาที่ทีมทิ้งห่างกันจะอยู่ที่ประมาณ ๑๕ นาที เพราะฉะนั้นในจุดตรวจนี้ซึ่งอยู่ห่างออกมา ๗๕ ไมล์ จึงต้องใช้เวลารอแต่ละทีมกว่าอีกเท่าตัว อากาศที่หนาวเหน็บยิ่งหนาวขึ้นไปอีกเมื่อต้องอยู่กลางลมแรง
    ครู่ใหญ่ แสงไฟดวงเล็กที่ทุกคนรอคอยก็ปรากฏขึ้นแต่ไกล สายตาทุกคู่จับจ้องไปยังทิศทางเดียว ช่างกล้องทีวีก้มลงปรับกล้อง เสียง "Ho Ho Ho" ของ musher ที่ทุ้มกังวานฟังคล้ายเสียงซานตาคลอสดังนำเข้ามาก่อนที่ทีมลากเลื่อนจะปรากฏตัว ร็อกกี้บอกว่าเสียงนั้นเป็นเสียงสั่งให้สุนัขหยุดนั่นเอง
    เลื่อนแล่นมาหยุดลงตรงจุดตรวจ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการบันทึก และตรวจดูสัมภาระที่ทุกทีมต้องมี ทั้งถุงนอน, เตา (สำหรับละลายหิมะ), ขวาน, ถ่านไฟฉาย ฯลฯ จากนั้น musher ก็เดินไปเอากองฟางมัดใหญ่และถุงอาหารอีกหนึ่งใบใหญ่ขนาดถุงปุ๋ยที่มีชื่อเขียนติดอยู่ เอาทุกอย่างวางบนเลื่อนแล้วเคลื่อนไปหลบพักผ่อนตรงชายป่า
    นี่เป็นการหยุดพักทีม (อย่างจริงจัง) ครั้งแรก musher นำฟางมัดใหญ่ที่ดูคล้ายรังนกออกปูกับพื้นน้ำแข็งให้สุนัขทั้ง ๑๔ ตัวนอนพัก จากนั้นก็จัดการกรอกวิตามินหลายเม็ดใส่ปากสุนัขแต่ละตัว ถอดถุงเท้า (สุนัข) ตรวจดูสภาพ ทายา แล้วลงมือนวดขาให้บรรดาลูกทีมทุกตัวทีละข้าง โดยอาศัยเพียงแสงสว่างจากหลอดไฟที่ติดหน้าผากเพียงดวงเดียว โดยไม่มีผู้ช่วยแต่อย่างใด ตามกฎข้อที่ว่าห้ามบุคคลภายนอก (ยกเว้นแพทย์) กระทำการช่วยเหลือใด ๆ แก่ musher รวมทั้งสุนัข
    ผมพูดคุยกับ musher เพียงเล็กน้อยเพราะไม่อยากรบกวนเวลา อีกอย่างก็คือปากของผมมันไม่ค่อยจะยอมขยับเอาเสียเลยด้วยความหนาว musher ที่ผมคุยด้วยชื่อ Dave Dalton อายุ ๔๔ ปี เป็นชาวอะแลสกา ช่วงฤดูร้อนเขามีอาชีพสาธิตการบังคับสุนัขลากเลื่อนให้นักท่องเที่ยวชม เดฟเข้าแข่งขัน Yukon Quest ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๑๔ แล้ว เขาบอกว่าพื้นน้ำแข็งที่ลื่นเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้สุนัขได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด หากสุนัขตัวใดในทีมไม่สามารถวิ่งต่อไปได้ ก็จะต้องเอาออกจากการแข่งขันโดยไม่อนุญาตให้เปลี่ยนสุนัขตัวใหม่เข้าไปแทน ทีมที่เข้าแข่งต้องเดินทางต่อไปด้วยสุนัขจำนวนเท่าที่มี จนกว่าจะถึงเส้นชัยหรือถอนตัวออกจากการแข่งขัน เพราะฉะนั้นหัวใจของการแข่งขันจึงไม่ได้อยู่ที่ความเร็ว แต่ขึ้นอยู่กับการรักษาจำนวนสุนัขให้มากที่สุด
    คืนนั้นผมรออยู่ที่ Angle Creek จนเที่ยงคืนกว่า แต่ก็ได้เจอกับทีมสุนัขลากเลื่อนเพียงไม่กี่ทีมเท่านั้น ลมยังคงพัดจัดและอุณหภูมิลดต่ำลงเรื่อย ๆ ผมได้แต่ยืนตัวแข็ง ปล่อยให้น้ำมูกใส ๆ ไหลออกมาอย่างไม่สามารถบังคับมันได้ ใบหูและมือแม้จะถูกปกปิดมิดชิดก็ยังเจ็บปวดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เลยพอจะเข้าใจแล้วว่าความหนาวชนิดที่ฝรั่งเรียกว่า "Frost Bite" นั้นเป็นอย่างไร
    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมเผชิญอยู่คงเทียบไม่ได้เลยกับบรรดา musher และลูกทีมทั้ง ๑๔ ที่ต้องวิ่งฝ่าความหนาวอันทารุณนี้เพื่อไปให้ถึงเส้นชัย และเท่าที่รู้มา ในอีกสิบกว่าวันข้างหน้า พวกเขาอาจต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่อาจติดลบถึงกว่า ๖๐ องศาทีเดียว
    หลังจากนั้นไม่นานร็อกกี้ก็แวะเข้ามาหาและบอกให้เตรียมตัวกลับ ผมเห็นด้วยทันทีเพราะนานหลายชั่วโมงทีเดียว ที่ยืนอยู่กลางที่โล่ง และลมพัดจัดแห่งนี้ ร็อกกี้พาผมกลับที่พัก ส่วนตัวเขาเองต้องกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว เพราะนับตั้งแต่วันพรุ่งนี้เขาจะต้องออกเดินทางติดตามทีมผู้เข้าแข่งขันไป และจะไม่ได้กลับบ้านอีกถึงสิบกว่าวัน
    --------------------------------------------------------------------------------

    ๓.
    เช้าวันใหม่ ผมตั้งนาฬิกาปลุกไว้ตั้งแต่ตีห้า เพราะวันนี้เป็นอีกวันเดียวที่ผมจะไปติดตามการแข่งขันได้ เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างจำกัด
    พอรถตู้สีขาวคันเดิมติดสติกเกอร์ "Yukon Quest" และมีรูปรอยเท้าสุนัขแปะอยู่รอบคันรถแล่นมาจอด ผมก็รีบจัดการสวมเสื้อผ้าที่เตรียมไว้ซ้อนทับเข้าไปอีกหลายชั้น เพราะถ้าใส่ไว้ก่อนตั้งแต่ตอนที่นั่งรออยู่ในห้องพักก็จะร้อนและเหงื่อออกท่วมตัวทีเดียว และหากมาสัมผัสกับความหนาวด้านนอก ความชื้นจากเหงื่อในร่างกายและเสื้อผ้าก็จะยิ่งดูดซับความหนาวยิ่งขึ้นไปอีก
    ร็อกกี้ซึ่งมารอรับอยู่ด้านล่างยิ้มทักทายอย่างอารมณ์ดีเช่นเคย คราวนี้เราต้องไปแวะรับผู้สื่อข่าวอีกสามคนเพื่อร่วมเดินทางไปด้วยกัน เนื่องจากจุดพักจุดต่อ ๆ ไปจะยิ่งห่างไกลและกันดารขึ้นทุกที
    จุดพักถัดไปคือ Mile 101 ซึ่งอยู่ไกลออกไปกว่า ๑๐๐ ไมล์ เราขับออกจากเมืองแต่เช้ามืด ถนนหนทางเริ่มคดเคี้ยวมากขึ้น สองข้างทางเป็นหุบเขา ทั้งบางช่วงยังต้องไต่ระดับสูงชันน่ากลัว แต่ที่อันตรายกว่านั้นก็คือ หิมะและน้ำแข็งที่ละลายไหลเลื่อนจากสองข้างทาง ลงมากองอยู่บนพื้นถนนเป็นบริเวณกว้าง ยากที่จะขับรถข้ามไปได้ โชคดีที่วันนี้มีการแข่งขันจึงมีรถคอยเกลี่ยหิมะ และดูแลพื้นถนนเพื่อให้รถแล่นผ่านไปได้ ร็อกกี้บอกว่าปรกติพื้นถนนจะถูกเกลี่ยวันละสองครั้งเช้า-เย็นเท่านั้น คนแถวนี้รู้กันดีว่าหากขับรถมาผิดเวลาอาจไม่สามารถแล่นผ่านไปได้ แต่ละปีทางการต้องเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมากในการนี้
    หิมะและน้ำแข็งที่เริ่มละลายไม่ใช่เพียงกีดขวางถนน หากยังเป็นอุปสรรคสำคัญและเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อทีมผู้เข้าแข่งขันด้วย อุณหภูมิที่สูงขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูหนาว ทำให้พื้นน้ำแข็งบนผิวแม่น้ำบางช่วงที่เป็นเส้นทางแข่งขันบางลงและเปราะแตกง่าย เมื่อทีมวิ่งผ่าน แผ่นน้ำแข็งอาจเปราะแตกและยุบตัวลง ทำให้น้ำเย็นจัดใต้ผืนน้ำแข็งไหลทะลักขึ้นมา ถ้าโชคดีวิ่งพ้นไปได้ สุนัขก็อาจจะเพียงเปียกชุ่มไปด้วยน้ำ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความเร็วลดลงและต้องใช้พลังงานมากขึ้น แต่หากทีมใดโชคร้ายเกิดพลัดตกลงในน้ำ ก็คงยากแก่การกู้กลับขึ้นมา...
    ท้องฟ้าวันนี้ไม่เป็นสีฟ้า ดวงอาทิตย์ยังคงถูกเมฆหมอกคลุมไปทั่ว ร็อกกี้จอดรถริมทางชี้ให้ดูทีมที่วิ่งอยู่ข้างล่าง บนธารน้ำแข็งที่เวิ้งว้างเย็นเยียบบริเวณหุบเขาที่ไกลออกไป มีเพียงสีขาวของหิมะตัดกับสีดำของต้นไม้ที่ไร้ใบกับต้นสนที่ขึ้นเลาะริมฝั่งแม่น้ำ โดยมีเทือกเขาขาวโพลนเป็นฉากใหญ่อยู่ด้านหลัง เรานั่งรถผ่านอีกสามสี่ทีมด้านล่างก่อนที่จะถึง Mile 101
    Mile 101 เป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ มีกระต๊อบเล็ก ๆ หนึ่งหลังเป็นที่ทำการชั่วคราว ข้างในมีโต๊ะเล็ก ๆ หนึ่งตัวและชั้นวางของซึ่งมีกระติกน้ำร้อนและชากาแฟตั้งอยู่ สามารถรับรองแขกได้ครั้งละไม่เกินหกคน
    แท็งก์น้ำร้อนขนาด ๑,๐๐๐ ลิตรตั้งอยู่กลางที่โล่งพ่นไอกรุ่นสู้กับลมหนาว เมื่อเราไปถึง ทีมผู้เข้าแข่งขันนับสิบทีมที่เดินทางมาถึงก่อน นอนพักเรียงเป็นแถวยาวอย่างเป็นระเบียบ สุนัขนับร้อยนอนนิ่งด้วยความอ่อนเพลียบนกองฟาง musher บางคนกำลังให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าว ขณะที่หลายคนยังวุ่นอยู่กับการดูแลสุนัข บ้างก็กำลังเตรียมอาหารสุนัขคลุกกับก้อนไขมันราดด้วยน้ำร้อน อาหารที่อุดมด้วยไขมันจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสุนัขในทีม รวมทั้ง musher ด้วย
    เมื่อเฮลิคอปเตอร์ร่อนลง คราวนี้ก็ถึงคิวผมและช่างภาพอีกสามคน ผมถูกเรียกให้ขึ้นไปนั่งด้านหน้าคนเดียว รู้สึกตื่นเต้นเพราะครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ในอะแลสกา
    เมื่อเครื่องทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ภาพที่เห็นคือภาพทิวทัศน์ขาว-ดำสุดสายตาของหิมะและต้นไม้ ผมสอดส่ายสายตามองหาสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวอยู่เบื้องล่าง พยายามนึกถึงขนาดและความยาวของทีมที่จะเห็นได้ในช่องมองภาพของกล้อง เพราะตามกฎที่ทางผู้จัดการแข่งขัน Yukon Quest วางไว้ นักบินจะต้องบินห่างจากทีมอย่างน้อย ๑,๐๐๐ ฟุต (๔๐๐เมตร) ไม่ว่าจะทางด้านบนหรือด้านข้าง
    ครู่ใหญ่ นักบินก็ชี้ให้ดูเส้นสีดำยาว และเล็กขนาดไม้จิ้มฟันเบื้องล่าง ที่เคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าเมื่อเทียบกับพื้นที่อันกว้างใหญ่ เฮลิคอปเตอร์ร่อนต่ำแล้วเอียงลงด้านซ้าย ก่อนจะวนอีกรอบแล้วเอียงขวา เพื่อให้คนที่นั่งอยู่ทั้งสองด้านมีโอกาสได้เก็บภาพเท่า ๆ กัน เรามีโอกาสได้เห็นผู้เข้าแข่งขันสองทีมวิ่งไล่ตามกันมาติด ๆ จนดูไกล ๆ อย่างนี้แทบจะกลายเป็นทีมเดียวกัน บางทีมก็กำลังข้ามบึงน้ำ (แข็ง) สีเขียวมรกต
    ฟ้าในยามบ่ายยังคงฝ้ามัว นักบินยังตระเวนหาทีมอื่น ๆ ที่เบื้องล่าง พลาสติกใสแผ่นใหญ่ตรงที่วางเท้าทำให้มองเห็นอีกทีมหนึ่ง เบื้องหน้าไกล ๆ เป็นยอดเขาสูงที่เรียกว่า Eagle Summit ความสูง ๓,๖๕๐ ฟุตจากระดับน้ำทะเล- -นั่นเป็นยอดเขาที่ทุกทีมจะต้องพิชิตหลังจากหยุดพักในคราวนี้
    ก่อนที่จะกลับ นักบินก็บินวนให้เราถ่ายภาพเหนือบริเวณ Mile 101 ที่สุนัขหลายร้อยตัวนอนนิ่งอยู่เป็นทิวแถว ...เป็นการพักผ่อนให้ร่างกายพร้อมก่อนที่จะต้องเผชิญกับความสูงชันของ Eagle Summit ในค่ำคืนนี้
    ...........................................
    พอลงจากเฮลิคอปเตอร์ เราก็สวนทางกับเด็ก ๆ กลุ่มใหญ่ที่เดินถือโปสเตอร์ Yukon Quest มาเป็นปึก และกำลังพยายามไล่ล่าลายเซ็นของ musher ให้ครบทุกคน--นี่คงเป็นกิจกรรมยอดฮิตของเด็กที่นี่
    ร็อกกี้ชวนผมไปเยี่ยมเยียนพูดคุยกับผู้คนแถวนั้น ซึ่งหลายคนเมื่อเห็นชุดกันหนาวเต็มยศ (เท่าที่มี) ของผม ก็ถึงกับส่ายหน้า เดินไปคว้าเสื้อกันหนาวหนาหนักของเขาออกมาให้ผมยืมใส่ แม้มันจะดูเทอะทะเพราะใหญ่กว่าที่ผมใส่อยู่หลายเท่า แต่ทุกคนก็บอกว่ากำลังดีแล้ว เพราะถ้าหากยังขืนใส่ตัวเดิมต่อไป เห็นทีจะไปไม่รอดแน่ นอกจากเสื้อแล้วก็ยังมีถุงมืออย่างหนา และที่สำคัญที่สุดคือ bunny boot สีขาวที่ทั้งใหญ่ทั้งหนัก รองเท้าดังกล่าวถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ สำหรับกิจกรรมกลางแจ้งที่ต้องใช้เวลานานในฤดูหนาว ผมเคยเห็นภาพตัดขวางของรองเท้าชนิดนี้ในร้านรองเท้าแห่งหนึ่ง พื้นรองเท้ามีแผ่นโลหะกั้นอยู่ ภายในบุด้วยเส้นใยหนาอีกสองชั้น แม้มันจะหนักและไม่กระชับเท้า (ใหญ่ไปหนึ่งเบอร์) แต่เมื่อเทียบกับรองเท้ากันหนาวที่ผมใส่อยู่ มันก็คงดีกว่ามาก เพราะเท่าที่ผ่านมา เพียงอยู่กลางแจ้งไม่ถึงชั่วโมง เท้ายังเย็นและปวดสุดจนจะทน
    วันทั้งวันจากเช้าจรดเย็นที่ผมเดินตระเวนถ่ายภาพ musher และบรรดาสุนัข แทบไม่น่าเชื่อว่าผมจะสามารถอยู่กลางที่โล่งและหนาวเหน็บ เป็นเวลาไม่ต่ำกว่าแปดชั่วโมงได้โดยไม่แข็งตายไปเสียก่อน ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องยกความดีให้แก่ชาวบ้านผู้มีน้ำใจ หากไม่โดนบังคับให้ใส่เครื่องกันหนาวเหล่านี้ด้วยความเมตตา ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าสภาพของตัวเองตอนนี้จะเป็นเช่นไร...
    musher หลายคนที่มาถึงก่อนและพักผ่อนเพียงพอแล้วเริ่มเตรียมตัวออกเดินทางอีกครั้ง โดยทั่วไป หากทีมวิ่งมาเป็นระยะเวลา ๕ ชั่วโมง เมื่อหยุดพัก ก็ต้องพักเป็นเวลา ๕ ชั่วโมงเช่นกัน จนเมื่อไปได้ครึ่งทาง แต่ละทีมจึงจะใช้เวลาหยุดพักนาน ๓๖ ชั่วโมง บรรดาลูกทีมนั้น หลังจากกินอิ่มนอนหลับพักผ่อนเต็มที่ก็ดูคึกคักมีกำลังวังชาขึ้นมาทันที บ้างก็เห่าหอน ทะเลาะกันเองบ้าง หรือไม่ก็ไปหาเรื่องเอากับทีมข้าง ๆ จน musher ต้องเข้ามาห้ามปราม
    ดวงอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้า ผมต้องแยกทางกับร็อกกี้และคนอื่น ๆ ที่จะติดตามทีมต่อไป วันพรุ่งนี้อีกหนึ่งวันเท่านั้นที่ทีมงานยังมีโอกาสใช้รถ เพราะถนนจะไปสุดที่ Circle City ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกประมาณ ๑๕๐ ไมล์ จากนั้นทีมงานทั้งหมดจะต้องเดินทางด้วยเครื่องบินเล็กและหรือติดตามทีมผู้เข้าแข่งขันด้วย snow mobile
    ผมบอกลาร็อกกี้และขอบคุณเขาด้วยใจจริง สำหรับความช่วยเหลือมากมายตลอดหลายวันที่ผ่านมา ร็อกกี้แนะนำให้ผมรู้จักกับ Brian Patrick O" Donoghue เพราะผมต้องติดรถเขากลับ Fairbanks ไบรอันเคยเข้าแข่งขัน Yukon Quest เมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนการเขียนอยู่ที่University of Alaska at Fairbanks (UAF)
    เราออกจาก Mile 101 เมื่อหลายทีมทยอยกันออกเดินทาง อีกร่วม ๑๐๐ ไมล์กว่าจะถึงที่พัก ฟ้าเริ่มครึ้ม บนถนนสายเล็ก ๆ ไม่มีอะไรให้ดูนอกจากความมืดมิด ขับมาได้ครึ่งทาง หิมะก็เริ่มโปรยปรายและดูจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ --ค่ำคืนอย่างนี้ กับการเดินทางที่มีเพียงดวงไฟเล็กส่องนำทาง หิมะที่ตกหนักจะสะท้อนแสงไฟตัดกับความมืดมิด จนทำให้ทัศนวิสัยที่แย่อยู่แล้วยิ่งแย่หนักขึ้นไปอีก ไบรอันถอนใจและเปรยว่าทีมสุนัขต้องเผชิญกับอุปสรรคถึงสองสิ่งพร้อมกัน
    ......................................................................
    คืนนั้นเมื่อกลับเข้าที่พัก หิมะยังคงตกหนักอย่างไม่มีทีท่าจะหยุด ผมมองออกไปนอกหน้าต่าง นึกเห็นภาพทีมสุนัขแต่ละทีมกำลังต่อสู้และฟันฝ่าความชันของ Eagle Summit ท่ามกลางความมืดมิดและหิมะที่โปรยปราย นึกถึงดวงไฟเล็ก ๆ เพียงหนึ่งดวงที่จะต้องฉายแสงนำทาง ๑๕ ชีวิตไปกว่าจะถึงจุดหมาย...
    บางที ระยะทาง ความยากลำบาก และแม้แต่ชัยชนะ อาจไม่ได้พิสูจน์อะไรมากไปกว่าความผูกพันอันลึกซึ้งระหว่าง musher กับลูกทีมทั้ง ๑๔ ของเขา
    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG] [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG] [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG] [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 กรกฎาคม 2008

แชร์หน้านี้

Loading...