มาชมพระพุทธรูปปูนปั้นปางต่างที่อยู่โดยรอบพระเจดีย์นะเจ้าคะ
ต้นพระศรีมหาโพธิ์
เจ้าแม่กวนอิม มี ๒ องค์ นะ
.oO เรื่องสั้น ปั้นแต่ง Oo.
ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย สร้อยฟ้ามาลา, 22 กุมภาพันธ์ 2012.
หน้า 3 ของ 169
-
-
วันนี้ที่วัดป่าสิริวัฒนาวิสุทธิ์ มีการสรงน้ำพระกัน แต่สร้อยฟ้ามาลาลงมาจากเจดีย์ศรีพุทธคยาไม่ทัน เลยอดสรงน้ำพระเลย กลับจากวัดออกมาประมาณเกือบบ่าย ๓ โมง หิวมาก ยังไม่ได้ทานข้าวกลางวัน ขับรถผ่านอำเภอท่าตะโกหวังว่าจะหาร้านอาหารทานแต่เงียบเชียบเนื่องจากปิดร้านเที่ยวสงกรานต์กันหมด ทำอย่างไรดี เลยขับรถเข้าบึงบอระเพ็ดได้ข้าวเหนียว ส้มตำไทยใส่ปู ไก่ย่าง หมูน้ำตก ฯลฯ อิ่มแล้วเลยเที่ยวบึงบอระเพ็ดต่อเลย เสียค่าบัตรเข้าชมอุโมงค์น้ำผู้ใหญ่คนละ ๒๕ บาทมั้งจำไม่ได้ ส่วนจะมีปลาอะไรบ้างสร้อยฟ้ามาลาก็จำไม่ได้อีกและก็ไม่รู้จักด้วยเจ้าค่ะ ไม่ทราบว่าจะมีใครพอจะอนุเคราะห์บอกได้ไหมว่ามีปลาอะไรบ้าง
ห้องจัดแสดงนิทรรศการเครื่องจับสัตว์น้ำ ชั้น๒
บริเวณด้านนอกของอาคาร ชั้น ๒
ที่จริงเรื่องนี้ไม่อยากบอกใครให้ทราบ สร้อยฟ้ามาลาสับสนระหว่างบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ กับบึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร เพราะขึ้นชื่อว่าบึงเหมือนกันเลยจำสับกันแถมเป็นจังหวัดที่มีเนื้อที่ติดกันเสียอีกเลยสับสนไปกันใหญ่ ออกจากบึงพอระเพ็ดประมาณ ๔โมงเย็น มุ่งหน้ากลับบ้าน.....
สรุปว่า วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สวยงามมาก สงบ และเป็นสถานที่เหมาะแก่การเจริญธรรมเป็นอย่างยิ่ง ใครไม่เคยไป อยากให้ลองไปสักครั้ง แล้วจะทราบว่าต้องมีครั้งที่ ๒ และครั้ง ๓ และครั้งต่อๆ ไป อย่างแน่นอน
ปล. อย่าลืมร่ม หมวก และถุงเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถุงเท้า เพราะว่าถ้าจะเดินเข้าไปยังเจดีย์พุทธคยา ต้องถอดรองเท้า และพื้นที่เป็นกระเบื้องดินเผาถูกกับแดดก็จะร้อนมาก เห็นหลายคนต้องวิ่งกันเลยทีเดียว แต่เผอิญสร้อยฟ้ามาลาสวมถุงเท้าเลยไม่ร้อน เดินถ่ายรูปได้สบายๆ แต่จะร้อนตรงที่ไม่มีร่มนี่แหล่ะกลับมาตัวดำเลย...
แต่ถ้าถือร่ม ใสหมวกเข้าวัด รู้สึกขัดๆ พิกล... ถ้าทนร้อนได้อย่าใส่เลยดีกว่าเนอะ เป็นการเคารพสถานที่ด้วย...
สุดท้ายนี้อันกุศลที่ข้าพเจ้าได้กระทำในครั้งนี้ขออุทิศถวายแด่ คุณพระพุทธ คุณพระธรรมคุณพระสงฆ์ คุณบิดาคุณมารดา วงศาคณาญาติ คุณครูบาอาจารย์ เจ้าฟ้า พระมหากษัตริย์เทพยดาทั้งหลาย พระอินทร์ พระพรหม พระยม พระกาฬ ท่านท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ท่านท้าวเวสสุวรรณ คุณเจ้ากรุงพาลี ภูมิเจ้าที่ทั้งหลาย คุณแม่พระธรณี พระคงคา พระพาย พระเพลิง พระโพสพ พระยายมราช เจ้ากรรมนายเวรและขอให้ผลบุญจงได้สำเร็จผลแด่เพื่อนๆ สมาชิกในเว็ปพลังจิต ทุกท่าน
.....................
-
ภาพ
วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์
ภาพวิหารเทพสถิตย์
ในวิหารเทพสถิตย์ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมา แต่ถ่ายรูปมาเพียงเท่านี้เอง
แถมโบกี้รถไฟ ที่ตั้งอยู่ด้านนอก ใกล้ๆ กับทางเข้าวิหารเทพสถิตย์ ไว้เป็นที่นั่งพักชมวิว และหลบแดด ดีทีเดียว
-
เรื่องที่ ๗
สร้อยฟ้ามาลาพาเที่ยว ตอน : ยามบ่ายที่พระนครศรีอยุธยา
เนื่องจากสัปดาห์นี้มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน และเผอิญมีเหตุต้องไปจังหวัดนครสวรรค์เพราะว่าต้องไปงานฌาปนกิจศพอาจารย์สนาน เจริญโพธิ์ ซึ่งเป็นอดีตคุณครูเกษียณอายุราชการเป็นแม่พิมพ์ของชาติที่น่ายกย่อง อีกทั้งยังมีความสามารถในการประพันธ์กลอนสุภาพแล้วส่งกระจายเสียงทางสถานีวิทยุของจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งรู้จักมักคุ้นกันเสมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม แต่ในสัปดาห์นี้มีวันตรงกับวันวิสาขบูชา(วันศุกร์ที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒) และเพื่อให้เพื่อนร่วมรุ่นที่จบจากฝึกอาชีพครู นครสวรรค์ รุ่น ๒๕๐๐ และบรรดาศิษย์มาร่วมงานทัน จึงต้องเลื่อนวันฌาปนกิจเป็นวันเสาร์ที่ ๙ พฤษภาคมแทน สร้อยฟ้ามาลาจึงต้องอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์หลายวัน และได้ไปเวียนเทียนที่วัดหัวดงใต้ ก็ไม่เคยเวียนเทียนที่นี่สักที ก็ดีเหมือนกันเปลี่ยนบรรยากาศจากกรุงเทพมหานครเป็นนครสวรรค์ เลยเก็บภาพมาให้ชมกันเล็กๆ น้อยๆ
ภาพไม่ค่อยชัดเพราะรีบถ่าย...แล้วกระเป๋ากล้องก็แขวนไว้ที่มือเลยเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาก็ไม่ชัดเข้าไปใหญ่
หลังจากงานฌาปกิจเสร็จสิ้น ในวันรุ่งขึ้นตอนเช้าประมาณ ๙.๓๐ น. ของวันที่ ๑๐ พฤษภาคม สร้อยฟ้ามาลาจึงเดินทางกลับบ้านที่นนทบุรี ถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาประมาณ ๑๑.๓๐ น. มีเวลาเหลือเฟือไม่รู้จะไปไหนดี จึงแวะอยุธยาไหว้พระดีกว่า ไปวัดไหนดีหนอ ไปวัดที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักและไม่ค่อยมีใครไปดีกว่า จากถนนสายเอเซีย(ทางหลวงหมายเลข ๓๒) สร้อยฟ้ามาลาใช้เส้นทางบางปะหัน(ทางหลวงหมายเลข ๓๔๗) ขอบอกก่อนว่าวันนี้ไม่มีแผนที่ติดรถ ขับเดาสุ่มไปตามป้ายบอกทาง ความตั้งใจคือจะไปวัด เอ่อ จำชื่อวัดไม่ได้ ทราบแต่ชื่อว่า “วัดบรม” แล้วอะไรต่อก็ไม่รู้แล้ว แต่ถ้าเห็นป้ายชื่อวัดก็จะนึกออกทันที และแล้วก็เจอป้ายชื่อวัด ก็คือ “วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร” นั่นแหล่ะใช่เลย เมื่อถึงสี่แยกไฟแดงแรกเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๐๙(อยุธยา – อ่างทอง)ทางเข้าไปสู่วัดจะอยู่ตรงข้ามกับสวนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และวัดจะอยู่ใกล้กับเพนียดคล้องช้าง เป็นทางราดยางถนนดีทีเดียว ระยะทางประมาณไม่น่าจะถึง ๔ กิโลเมตรได้มั้ง
ซุ้มประตูทางเข้าวัด
ในที่สุดก็เดินทางมาถึงวัดได้โดยไม่หลงทาง และไม่ขับรถเลยไปไหน เข้ามาในวัด ภายในบริเวณเงียบสงบ ไม่มีนักท่องเที่ยวเลยสักคนเดียว ทางผู้ดูแลวัดซึ่งเป็นชาวบ้านละแวกนั้นได้ต้อนรับเป็นอย่างดี แนะนำถึงประวัติความเป็นมาของวัด ความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์เป็นการตามรอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช และได้ขอร้องให้ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้อื่นได้ทราบและมาเยี่ยมมาเยือนวัดนี้บ้าง ของดีมิได้มีอยู่แต่ภายในบริเวณด้านในเกาะเมืองที่เป็นพระราชวังเก่าเท่านั้น ขอให้มาชมรอบนอกเกาะบ้าง ซึ่งสร้อยฟ้ามาลาได้ถวายปัจจัยและชำระหนี้สงฆ์ให้กับทางวัดด้วย
ภายในบริเวณวัด สงบร่มรื่น และเงียบไม่มีนักท่องเที่ยวเลย
หลวงพ่อศิลา
มาอ่านประวัติของวัดกันนะเจ้าคะ
วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ริมคลองน้ำยาใกล้กับเพนียด อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำป่าสัก เดิมชื่อ วัดทะเลหญ้า พวกกรมพระคชาบาลสร้างขึ้นเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้ย้ายเพนียดเดิมที่ตั้งอยู่วัดซอง ย้ายไปตั้งที่ตำบลทะเลหญ้า(ตำบลสวนพริกในปัจจุบัน) อยู่ในเขตอำเภอกรุงเก่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้ขุดคลองสระบัวซึ่งเป็นคลองแยกจากแม่น้ำลพบุรีทางทิศเหนือ จากท่าข้างกำแพงพระนครต่อออกไปจนถึงเพนียด เพื่อทรงใช้เป็นทางเสด็จทอดพระเนตรการจับช้างป่าที่เพนียดที่โปรดให้สร้างขึ้นใหม่นี้
สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์(องค์กลางด้านบน) อยู่ภายในพระอุโบสถ
พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์
เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล)
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร หรือ วัดทะเลหญ้า เดิมมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ตลอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ก็ทรุดโทรมเรื่อยมา ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เสด็จไปทอดพระเนตรการซ่อมเพนียดคล้องช้างที่พระนครศรีอยุธยาทอดพระเนตรเห็นว่าวัดทะเลหญ้าซึ่งอยู่ใกล้กับเพนียดเป็นวัดที่ชำรุดทรุดโทรมหมดทั้งวัด โบสถ์ วิหารการเปรียญและศาลาต่างๆ ตลอดจนกุฏิสงฆ์ ซึ่งชำรุดไปมาก จึงทรงพระราชดำริว่า “วัดนี้ไม่ใช่วัดร้างยังมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ถ้าจะปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมอย่างนี้ต่อไป อีกไม่นานก็ไม่สามารถจะใช้ประโยชน์ในศาสนกิจได้” อีกประการหนึ่งเมื่อแขกบ้านแขกเมืองที่จะไปชมการจับช้างเถื่อนที่เพนียด เห็นสภาพของวัดเข้าแล้วจะทำให้ขายหน้าไปตลอดถึงประเทศชาติได้ จึงเป็นเหตุให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงสร้างวัดทะเลหญ้าขึ้นใหม่ ซึ่งผู้ที่เคยเห็นเหตุการณ์ตอนนั้นเล่าว่า “สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ได้ทรงปรารภว่า วัดทะเลหญ้าอยู่ใกล้เพนียด เป็นวัดของพวกกรมช้างมาแต่ก่อน คนภายนอกจะมาทำบุญก็ยากเพราะกลัวช้าง บริเวณนี้เป็นที่เลี้ยงช้าง ส่วนพวกเลี้ยงช้างก็ไม่มีเวลาจะไปทำบุญตามวัดต่างๆ ได้ ควรจะสร้างวัดขึ้นใหม่ให้พวกกรมช้างได้อาศัยทำบุญ พระองค์ท่านทรงมีพระปิติโสมมนัสเปี่ยมด้วยศรัทธาอันแรงกล้า จึงได้ทรงเริ่มก่อสร้างวัดทะเลหญ้าขึ้นใหม่ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ เสร็จเรียบร้อยบริบูรณ์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๑๘ ในรัชกาลที่ ๕ แล้วทรงถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดพระราชทานชื่อใหม่ว่า วัดบรมวงศ์อิศรวราราม วรวิหาร
พระอุโบสถ
พระพุทธรูปหน้าพระอุโบสถ
วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร ปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันของรัชกาลที่ ๕ ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานพระกฐินหลายคราว โดยเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งจากพระราชวังบางปะอินบ้าง และเสด็จตรงไปจากกรุงเทพฯ บ้าง การเสด็จไปพระราชทานพระกฐินในแต่ละครั้งนั้น มีขบวนตามเสด็จมากมาย มีทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน และเมื่อพระราชทานพระกฐินเสร็จแล้ว ก็เลยเสด็จประพาสตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ ในพระนครศรีอยุธยา เป็นที่สำราญพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง
พระประธานในพระอุโบสถ
หลวงพ่อเพชร
บานหน้าต่างลงรักปิดทอง เป็นลายเดียวกันทุกบาน
ตราประจำราชสกุล
ประตูลงรักปิดทองลายกนกเปลวและตราประจำราชสกุล
ครั้ง พ.ศ.๒๔๔๔ หลังจากสมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์สิ้นพระชนม์แล้ว ๑๕ ปี ปรากฏว่าผนังอุโบสถด้านทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ได้ทรุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงช่วยเหลือซ่อมแซม ส่วนเสนาสนะอื่นๆ นั้น พระยาปริยัติวงศาจารย์ ได้บูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา สิ่งก่อสร้างภายในวัดเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย พระอุโบสถทำเป็นซุ้มรูปพระมหามาลา บานประตูบานหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ ผนังพระอุโบสถตอนล่างประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายคราบสลับหินอ่อน พื้นพระอุโบสถปูหินอ่อน มีเจดีย์ฐานย่อเป็น ๘ เหลี่ยม สูงประมาณ ๑๐ เมตร เจดีย์องค์นี้บรรจุพระอังคารของสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ มีแท่นหินอ่อนอยู่ทางทิศเหนือแท่น ๑ ซึ่งเป็นแท่นทรงกราบ ส่วนในพระวิหารนั้นมีพระพุทธรูปทรงเครื่องสูงประมาณ ๒ เมตร
พระเจดีย์ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถกับพระตำหนัก
ลายปูนปั้นหน้าบันตราประจำรัชกาลที่ ๕
วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร เป็นอนุสรณ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ต้นราชสกุล มาลากุล ณ อยุธยา และปัจจุบัน ยังเป็นที่เก็บสะสมพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นจำนวนมาก
เดินเข้าประตูพระตำหนักจะพบพระรูปของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช
พอเข้ามาภายในด้านซ้ายมือจะพบพระพุทธรูปปางต่างๆ ซึ่งผู้ดูแลได้แนะนำให้จุดธูปไหว้พระก่อน ๓ ดอก แล้วค่อยจุดธูปบูชาพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช จำนวน ๕ ดอก
ส่วนด้านขวามือก็จะพบพระพุทธรูป ๓ ปาง
ภายในพระตำหนังจะมีพระรูปของพระองค์ประดิษฐานอยู่มากมาย
-
ออกจากวัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร สร้อยฟ้ามาลาก็ขับรถผ่านเพนียดคล้องช้าง ไหนๆ ก็ผ่านแล้ว อย่าให้เสียเที่ยวจึงจอดแวะชมเสียหน่อย แต่แดดร้อนนะนี่ เที่ยงครึ่ง ค่อนบ่าย (เริ่มบ่นอีกแล้ว รู้สึกว่าตัวเองชักจะแพ้แดดแล้วสิ เริ่มจะมีอาการคัน หลังจากที่ไปทริปเหนือสุดแดนสยามต่อด้วยเที่ยววัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ก็มีอาการตลอดเลย แย่แล้ว.....) มาอ่านประวัติเพนียดคล้องช้างกันดีกว่า
พระที่นั่งเพนียด
เพนียดคล้องช้าง และ พระที่นั่งเพนียด อยู่บริเวณ ตำบลสวนพริก(เดิมเรียกตำบลทะเลหญ้า) ข้างวัดบรมฯในปัจจุบัน อำเภอกรุงเก่า(หรืออำเภอพระนครศรีอยุธยา) พระที่นั่งองค์เดิมซึ่งสร้างในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชนั้น ถูกไฟเผาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พระที่นั่งและตัวเพนียดคล้องช้างที่เก็บอยู่ในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯ ให้ซ่อมครั้งหนึ่ง และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้กรมหลวงเทพพลภักดิ์ เป็นแม่กองซ่อมอีกครั้งหนึ่งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ซ่อมอีก ๒ คราว เพราะชำรุด ปัจจุบันใช้เป็นโรงเรียนประถมอาชีพช่างไม้และช่างต่อเรือ(ปัจจุบัน ณ ตอนนั้น พ.ศ.๒๕๐๒ นะคัดมาจากหนังสือ ศึกษาและเที่ยวในเมืองไทย โดย ประพัฒน์ ตรีณรงค์ ธ.บ. :- ข้อมูลอาจเก่าสักนิดเพราะว่านำมาจากหนังสือที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ อ่านแล้วอาจจะไม่ตรงกับสภาพ ณ ปี พ.ศ.๒๕๕๒ ก็ ๕๐ ปี พอดี แต่ที่นำมาลงให้อ่านไม่ใช่ต้องการให้เกิดความสับสนเพราะต้องการให้ทราบว่าเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว สถานที่นี้เป็นอย่างไร )
ประตูที่ให้ช้างเข้ามาภายในบริเวณลานที่จะทำการคล้องช้าง สูงน่าดูเลย
ออกจากเพนียดคล้องช้าง มาได้ก็ย้อนกลับเส้นทางเดิมที่เข้ามา ซึ่งตรงปากทางเข้ามาก็จะพบ พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่สร้อยฟ้ามาลาไม่ได้ถ่ายภาพมาให้ชมต้องขออภัยด้วยอย่างยิ่ง ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ร่วมกับ กรมศิลปากรจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงม้าไว้บริเวณด้านหน้าวัดภูเขาทอง ในบริเวณใกล้เคียงกันกับพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยที่กรมโยธาธิการฯ ได้สร้างไว้ก่อนหน้านั้น โดยเชื่อกันว่าบริเวณนี้เดิมเป็นทุ่งโล่งที่มีการตั้งทัพข้าศึก และเกิดการทำการยุทธหัตถีในหลายครั้งหลายสมัย และถ้าขับรถเข้าไปในสวนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็จะพบกับ วัดภูเขาทอง
พระเจดีย์วัดภูเขาทองสูงประมาณ ๘๐ เมตร
เห็นอะไรไหม ถุงพลาสติกที่คนมือบอนนำมาเสียบไว้ตรงหัวเสาของกำแพง
วัดภูเขาทอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ออกจากตัวเมืองตามเส้นทางอยุธยา – อ่างทอง ประมาณ ๒ กิโลเมตร สมเด็จพระราเมศวรทรงสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๙๓๐ ใน พ.ศ. ๒๑๑๒ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกษัตริย์พม่าได้กรีฑาทัพมาตีพระนครศรีอยุธยาได้จึงให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่ไว้เป็นอนุสรณ์ ต่อมาเจดีย์ได้พังลงมา ครั้นถึงรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงโปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์ใหม่หมดทั้งวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๒๘๘ พร้อมโปรดให้สร้างเจดีย์ใหม่อีกองค์หนึ่งบนฐานภูเขาทอง แล้วเปลี่ยนรูปเป็นเจดีย์ไทยย่อมุมไม้สิบสอง ขณะนี้จึงปรากฏว่าฝีมือช่างมอญเดิมเหลือเพียงรากฐาน ทักษิณสูงขึ้นไปเป็นพระเจดีย์ฝีมือช่างไทย ในพระอุโบสถของวัดมีพระประธานสมัยเชียงแสน และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ภายใน และวัดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของคลองมหานาค ซึ่งมีเรื่องปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า เมื่อคราวที่พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๒๐๙๑ พระมหานาคซึ่งบวชอยู่ที่วัดนี้ได้ทูลลาสึก ออกมารับอาสาตั้งค่ายป้องกันข้าศึกตั้งแต่วัดภูเขาทองลงมาจนถึงวัดป่าพลู พรรคพวกของ มหานาคได้ช่วยกันขุดคูนอกค่ายป้องกันทัพเรือ คือ ขุดแยกจากคลองวัดภูเขาทองลงมาข้าง ใต้ถึงวัดศาลาปูน เลี้ยวมาทางตะวันตกผ่านหลังวัดพรหมนิวาส (วัดขุนยวน) และผ่านหน้าวัด ป่าพลูไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่เหนือตลาดหัวแหลม เรียกกันว่า คลองมหานาค ยังมีแนว คลองปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๑ วัดนี้ได้เป็นแหล่งกำเนิดของนิราศในวรรณคดีไทยเรื่องหนึ่ง คือ นิราศภูเขาทอง โดยสุนทรภู่ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสมณะเพศเป็น ท่านได้เดินทางมานมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง และพรรณนาสภาพของภูเขาทองที่เห็น ในครั้งนั้นไว้ในนิราศภูเขาทองของท่านด้วย ดังนี้
“ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ เจริญรสธรรมาบูชาฉลอง
ไปเจดีย์ที่ชื่อ "ภูเขาทอง" ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย
อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดดเด่น เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส
ที่พื้นลานฐานปัทม์ถัดบันได คงคาไหลล้อมรอบเป็นขอบคัน
มีเจดีย์วิหารเป็นลานวัด ในจังหวัดวงแขวงกำแพงกั้น
ที่องค์ก็ย่อเหลี่ยมสลับกัน เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม
บันไดมีสี่ด้านสำราญรื่น ต่างชมชื่นชวนกันขึ้นชั้นสาม
เวียนทักษิณจินตนาพยายาม ได้เสร็จสามรอบคำนับอภิวันทน์
มีห้องถ้ำสำหรับจุดเทียนถวาย ด้วยพระพายพัดเวียนดูเหียนหัน
เป็นลมทักษิณาวรรตน่าอัศจรรย์ แต่ทุกวันนี้ชราหนักหนานัก
ทั้งองค์ฐานรานร้าวถึงเก้าแฉก เผยอแยกยอดทรุดก็หลุดหัก”
ด้านบนของพระเจดีย์
อุโมงค์ภายในพระเจดีย์
พระพุทธรูปภายในอุโมงค์
งานนี้สร้อยฟ้ามาลาขอซนหน่อย ขอเดินขึ้นไปบนพระเจดีย์ พอขึ้นไปถึงด้านบนมองไปรอบๆ สามารถมองเห็นพระปรางค์วัดวรเชษฐาราม และเมืองพระนครศรีอยุธยาด้วย บนพระเจดีย์นี้ยังมีอุโมงค์เข้าไปภายในพระเจดีย์ ซึ่งด้านในจะพบพระพุทธรูปอยู่ ๒ องค์ ขาขึ้นไม่เท่าไหร่ มีหอบเหนื่อยบ้าง แต่ขาลงนี่สิ สูงจังเลย จะกลิ้งตกลงมาไหมนี่ เป็นตะคิวเลยเจ้าค่ะ กลัวความสูงด้วย.....
สูงจัง.....
สรุป วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ซึ่งตั้งอยู่ด้านนอกของเกาะเมือง ค่อนข้างห่างจากกลุ่มโบราณสถานที่สำคัญๆ จึงทำให้ไม่ค่อยมีใครรู้จักและให้ความสนใจเท่าใดนัก แต่สร้อยฟ้ามาลาใคร่ขอเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ลองมาเที่ยวที่วัดแห่งนี้ดูบ้างแล้วจะพบว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมีอะไรที่น่าสนใจอยู่ในวัดนี้มากมายทีเดียว และไม่ต้องไปแย่งกัน เบียดกันไหว้พระอีกด้วย สบายใจ ระยะทางก็ไม่ไกลจากเกาะเมือง และขอขอบคุณชาวบ้านที่ช่วยดูแลวัดที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและเป็นกันเองมาก....
(ข้อมูลจาก หนังสือ อยุธยามหามงคล ไหว้พระ ๙ วัด, หนังสือ ศึกษาและเที่ยวในเมืองไทย โดย ประพัฒน์ ตรีณรงค์ ธ.บ.)
ภาพและคำโม้โดย สร้อยฟ้ามาลา
สุดท้ายนี้อันกุศลที่ข้าพเจ้าได้กระทำในครั้งนี้ขออุทิศถวายแด่ คุณพระพุทธ คุณพระธรรมคุณพระสงฆ์ คุณบิดาคุณมารดา วงศาคณาญาติ คุณครูบาอาจารย์ เจ้าฟ้า พระมหากษัตริย์เทพยดาทั้งหลาย พระอินทร์ พระพรหม พระยม พระกาฬ ท่านท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ท่านท้าวเวสสุวรรณ คุณเจ้ากรุงพาลี ภูมิเจ้าที่ทั้งหลาย คุณแม่พระธรณี พระคงคา พระพาย พระเพลิง พระโพสพ พระยายมราช เจ้ากรรมนายเวร ๑๖ชั้นฟ้า ๑๕ ชั้นดิน อาจารย์สนาน เจริญโพธิ์ สัตว์โลก วิญญาณโลก และขอให้ผลบุญจงได้สำเร็จผลแด่เพื่อนๆ สมาชิกในเว็ปพลังจิต ทุกท่าน
..........................
.................. -
เรื่องที่ ๘
สร้อยฟ้ามาลาพาเที่ยว : ตอน วันวาร ณ เกาะเสม็ด
พอดีได้ย้อนรำลึกไปดูรูปภาพเก่าๆ ที่เคยถ่ายภาพไว้กับกล้องดิจิตอลตัวแรก(แต่ตอนนี้ทำหายไปแล้ว) จึงทำให้หวนนึกถึงไปเมื่อวารวันที่ได้ไปเที่ยวครั้งแรกในชีวิตกับเกาะกลางทะเล ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเป็นคนกลัวน้ำ(ไม่ใช่โรคกลัวน้ำนะ)และการลงเรือ ว่ายน้ำไม่เป็นและเคยจมน้ำจนเกือบสิ้นชื่อมาแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งแรกเรือล่มตอนยังเด็กรอดมาได้อย่างหวุดหวิด ครั้งที่สองจมน้ำในสระน้ำเพื่อนช่วยทันเกือบตาย ล่าสุดเกือบจะเป็นครั้งที่ ๓ ได้ไปทำบุญขึ้นบ้านใหม่ที่บ้านญาติโดยต้องนั่งเรือเข้าไปในคลองเล็ก แต่ต้องนั่งเรือข้ามแม่น้ำเสียก่อน ซึ่งเรือลำนี้เป็นเรือเล็กและมีรูรั่วตรงหัวเรือ นายท้ายเรือเป็นญาติกันเมาได้ที่ ได้บรรทุกคนลงเรือเกินอัตรา ทำให้น้ำเข้าหัวเรืออย่างรวดเร็วจนเรือเกือบจะล่มกลางแม่น้ำแล้ว โอ้นี้ฉันจะต้องจมน้ำตายอีกแล้วหรือนี่ แต่โชคยังดีที่ประคองเรือเข้าหาฝั่งทันโดยน้ำท่วมในเรือเหลือแค่ไม่กี่เซ็นตเมตรก็จะจมกาบเรือแล้ว สร้อยฟ้ามาลาจึงรีบปีนขึ้นฝั่งโดยเร็วและตอนนั้นกางเกงทั้งตัวที่สวมอยู่เปียกน้ำหมดแล้ว เกือบสิ้นชีวิต...
แผนที่เกาะเสม็ด
นอกเรื่องอีกแล้ว เข้าเรื่องละกัน เพื่อนที่เคยทำงานด้วยกันที่กระทรวงแรงงานได้ชวนไปเที่ยวเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง เห็นเพื่อนๆ บอกว่าสวยและไม่ไกล ไปค้าง ๑ คืน กลับวันรุ่งขึ้น ไหนๆ ก็ไหนๆ ไม่ได้พบปะกันก็ ๒ – ๓ ปี เพื่อนมาชวนแล้ว ไปก็ไป โดยกลุ่มของเรามีกัน ๑๓ คน ชาย ๕ หญิง ๘ คน แต่ในจำนวนนี้ สร้อยฟ้ามาลาไม่รู้จักอยู่ ๖ คน โดยนัดเจอกันที่สถานีขนส่งสายตะวันออก(เอกมัย)เวลา ๖ โมงเช้าของวันเสาร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๘(ก็บอกแล้วว่าวันวาร) ได้ขึ้นรถ บขส. สายกรุงเทพฯ – บ้านเพ เวลา ๘ โมงเช้า ค่าโดยสารประมาณร้อยกว่าบาทเกือบๆ สองร้อยได้มั้งจำไม่ได้ ไปถึงบ้านเพ เวลาประมาณเกือบ ๑๑.๐๐ น. ก็ไปหาอะไรทานกันก่อนที่จะขึ้นเกาะ หลังจากทานอาหารเสร็จแล้ว คณะของเราก็ไปหาเรือที่จะข้ามไปยังเกาะเสม็ด ซึ่งราคา ๖๐ บาทต่อคนต่อเที่ยว ตอนนั้นด้วยความกังวลกลัวเรือจะโคลงเคลงตามกระแสคลื่น เพื่อนๆ เลยให้ทานยาแก้เมาคลื่น ซึ่งสร้อยฟ้ามาลาเกิดมายังไม่รู้จักว่าอาการเมารถและเมาเรือเป็นอย่างไร เลยกันไว้ดีกว่า ทานไป ๑ เม็ด
บนเรือยังอยู่ที่ฝั่งบ้านเพ เป็นเพื่อนที่เคยทำงานอยู่กระทรวงแรงงาน ๒ คน ส่วนอีก ๑คนไม่รู้จัก มาทราบภายหลังว่าเป็นตำรวจ
ท้องทะเล คลื่นสงบ แต่สร้อยฟ้ามาลาตาลาย
เกาะเสม็ด หรือเกาะแก้วพิสดาร ตั้งอยู่ในเขตตำบลเพ อ.เมือง จ.ระยอง อยู่ห่างจากฝั่งบ้านเพประมาณ ๖.๕ กิโลเมตร สภาพของเกาะเสม็ด มีสันเขา เป็นแนวยาว จากตัวเกาะด้านเหนือมาทางใต้ ส่วนฝั่งตะวันตก ของเกาะ เป็นหน้าผาสูง และลาดชันลงสู่ฝั่งตะวันออก ที่มีชายหาดเว้า ทำให้เกิดชายหาด ที่สวยงามหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ จะอยู่ทางด้านเหนือ และตะวันออก ของเกาะเสม็ด
เกาะเสม็ด เป็นเกาะที่มีความสำคัญ ในประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมไทย ในยุคต้น ของกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏในวรรณคดีไทย เรื่อง พระอภัยมณี ซึ่งเป็นกวีนิพนธ์ ของกวีเอกของไทย นามสุนทรภู่ โดยเกาะเสม็ด ได้รับการขนานนาม ในกวีนิพนธ์ ว่า "เกาะแก้วพิศดาร" ซึ่งอาจจะมีที่มาจาก หาดทรายบนเกาะเสม็ด ที่ขาวปานแก้ว อยู่ทั่วไปก็ได้
ส่วนสาเหตุที่เกาะแห่งนี้ ได้ชื่อว่า เกาะเสม็ด ก็เพราะว่า เกาะแห่งนี้ มีต้นเสม็ดขาว และเสม็ดแดง ขึ้นอยู่มาก ชาวบ้าน นำมาใช้เป็นไต้จุดไฟ ทำให้เกาะแห่งนี้ ได้ชื่อว่าเกาะเสม็ด จากสาเหตุนี้เอง
ชายฝั่งบ้านเพ
ยังอุตสาห์ชะโงกออกไปถ่ายภาพอีกนะนี่ แต่ขอบอก เกาะราวไว้แน่นเชียว...
บนเรือ
ลิบๆ นั่นใช่เกาะเสม็ดหรือเปล่า....
ธงนี้คืออะไรเหรอ แสดงล่องน้ำหรือเปล่า ใครทราบ ช่วยบอกที
ชายฝั่งของเกาะเสม็ด รู้สึกตรงนี้จะเป็นแหลมใหญ่ เลยอ่าวป่าช้ามาแล้ว
ยังเป็นบริเวณของแหลมใหญ่อยู่
อ่าวต่างๆ บนเกาะเสม็ดก็จะมี....
อ่าวน้อยหน่า
บริเวณอ่าวน้อยหน่านี้ เหมาะสำหรับผู้ที่รักความเงียบสงบ และเป็นส่วนตัว ถึงอ่าวน้อยหน่า จะอยู่ใกล้หาดทรายแก้ว แต่ความพลุกพล่านเรียกว่าต่างกัน เหมือนอยู่คนละเกาะ ใครที่ชอบความเงียบสงบ อ่านหนังสือ อาบแสงแดดเคล้าน้ำทะเล บริเวณนี้มีหาดทรายที่สะอาด พอที่จะเล่นน้ำได้อย่างสบายใจ
อ่าวกลาง
บริเวณอ่าวกลางนี้ เป็นที่ตั้งของชุมชนหมู่บ้านเกาะเสม็ด และเป็นที่ตั้งของท่าเรือ บริเวณนี้ ไม่ค่อยจะมีหาดทรายสวยๆ ให้ลงเล่นน้ำมากนัก แต่เหมาะที่จะมาฝากท้องทานอาหาร กับร้านอาหาร บริเวณท่าเรือ มีอยู่หลายร้านให้เลือก สนนราคา เรียกว่า ถูกที่สุดบนเกาะเสม็ดก็ว่าได้
อ่าวป่าช้า
พื้นที่บริเวณอ่าวป่าช้านี้ แต่ก่อนราวๆ ๔๐- ๕๐ ปี ที่แล้วเป็นสถานที่ฝังศพของชาวเกาะเสม็ด แต่ในปัจจุบันนี้ บริเวณนี้ไม่มีการฝังศพอีกแล้ว ส่วนป่าช้าเก่าที่ว่านี้ ได้รับการฌาปนกิจเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี พื้นที่บริเวณนี้ ก็ไม่มีหาดทรายสวยๆ ให้เล่น จะมีก็แต่แนวโขดหิน ให้ปีนป่าย หรือถ้าใครชอบตกปลาโขดหิน บริเวณนี้ก็เหมาะทีเดียว สำหรับนักตกปลาทั้งหลาย ถ้าชอบแค้มปิ้งที่บริเวณนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า กล้าพอหรือเปล่า แต่ถ้าให้ดี ไปพักที่อ่าวลูกโยนจะเหมาะกว่า
อ่าวลูกโยน
เป็นอีกอ่าวหนึ่งที่มีหาดทรายให้เล่นน้ำ ถึงไม่กว้างมากนัก ที่หาดทรายบริเวณอ่าวลูกโยน ค่อนข้างจะสงบเงียบ ไม่พลุกพล่าน นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเลยดูจะชอบมาพัก ที่อ่าวลูกโยนกัน ถ้าเป็นคนหนึ่งที่ชอบความสงบ อ่าวลูกโยน ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ขอแนะนำ
แหลมใหญ่
บริเวณนี้เหมาะ ที่จะชมพระอาทิตย์ขึ้นมากที่สุด เพราะเป็นแหลมหัวเกาะ และมีเนินเขาเตี้ยๆ ที่พอจะอาศัยเป็นที่ชมพระอาทิตย์ขึ้นได้ หรือจะเลือกวิวถ่ายรูปสวยๆ บริเวณโขดหินก็เหมาะดี
หาดทรายแก้ว
ชายหาดที่คุ้นหู ที่สุดของนักท่องเที่ยว ที่มาถึงเกาะเสม็ด ถ้าเป็นนักท่องเที่ยว ที่ชอบความหลากหลาย หาดทรายแก้ว เป็นอีกหนึ่งหาด ที่จะชอบ เพราะหาดนี้ไม่เคยหลับ เรียกว่า ตอนเช้าเล่นน้ำทะเล กลางวันอาบแดด ตอนเย็นชมพระอาทิตย์ตก พอค่ำหน่อยก็ดื่มกินอาหาร หรือจะมีแอลกอฮอล์นิดหน่อย เคล้าแสงจันทร์ก็ดูไม่เลว มีกิจกรรมให้ทำ ทั้งวันที่หาดทรายแก้ว เหมาะสำหรับคนขี้เหงา และชอบความพลุกพล่าน ของผู้คน ที่หาดนี้ เป็นแหล่งรวมของเครื่องเล่นกีฬาทางน้ำ ทุกประเภท ที่มีบนเกาะทั้งเจ็ทสกี บานาน่าโบต เรือใบ ฯลฯ เอาเป็นว่า หาดนี้ หาดเดียวกับวันพักผ่อนหรือ วันหยุดสุดสัปดาห์ ก็ทำให้ลืมเวลาได้ไม่ยาก
ข้อแนะนำ สำหรับนักท่องเที่ยว ที่รักความสะดวกสบาย ที่หาดทรายแก้ว มีบ้านพักหลายประเภทให้เลือก ในสนนราคาที่ขึ้นอยู่กับว่า มีออฟชั่นอย่างแอร์ พัดลม ตู้เย็น มีให้เพียบพร้อมขนาดไหน
อ่าวไผ่
อ่าวไผ่มีชายหาด ที่ติดกับหาดทรายแก้ว คั่นกันแค่โขดหิน ไม่ใหญ่นัก นักท่องเที่ยวส่วนมาก จะเหมาเดินเที่ยว หาดทรายแก้ว ไล่ไปจนถึงอ่าวไผ่ แล้วเดินย้อนกลับมา ใช้เวลาไม่มากนัก ที่อ่าวไผ่ บริเวณโขดหิน มีวิวที่สวยงาม เหมาะที่จะอาบแดด ถ่ายรูป ฯลฯ หาดทรายบริเวณอ่าวไผ่ ก็เป็นอีกแห่งหนึ่ง ที่จะเห็นนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติ มานอนอาบแดดกัน ถ้าหาที่ว่างที่หาดทรายแก้วไม่ได้ อ่าวไผ่นี่แหละ บรรยากาศคล้ายๆ กัน ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ สำหรับนักท่องเที่ยว อย่างเราๆ
ข้อแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยว ที่มาเล่นน้ำที่อ่าวไผ่ จะมีจุดน้ำวนอยู่ ไม่ควรลงเล่นน้ำที่บริเวณนั้น (สังเกตได้จากธงสีแดง ที่ปักอยู่)
อ่าวพุทรา
อ่าวเล็กๆ ที่เงียบสงบ ไม่ค่อยจะมีนักท่องเที่ยว มาส่งเสียงรบกวนสักเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะว่าหาดนี้ เป็นหาดเล็กๆ เดินแป๊บเดียวก็ทั่ว นักท่องเที่ยว ชาวไทย เลยไม่ค่อยจะสนใจ แต่สำหรับชาวต่างชาติแล้ว อ่าวพุทรา เป็นเหมือนกับที่พักผ่อนโดยแท้ ถ้ามาที่อ่าวนี้ ภาพที่เห็นจนชินตาคือ นักท่องเที่ยว นั่งบ้าง นอนบ้าง อ่านหนังสือ อาบแดด จิบกาแฟ เหมือนกับไม่ได้มาเที่ยวทะเลอย่างนั้นแหละ
อ่าวทับทิม
อ่าวเล็กๆ ที่มีพื้นที่ติดกันหรือ จะเรียกว่าเป็นพื้นที่เดียวกับอ่าวพุทราก็ว่าได้ รวมๆ แล้ว ก็เป็นอ่าวเล็กๆ ที่เงียบสงบน่าพัก สำหรับหาดทรายและสถานที่เล่นน้ำทะเลแล้ว ที่อ่าวทับทิม เรียกว่าสะอาดพอสมควร ที่อ่าวทับทิม เป็นอีกอ่าวหนึ่งที่น่าพักผ่อนในวันหยุด
อ่าวนวล
อ่าวเล็กๆ ที่หลายคนมองข้าม แต่สำหรับนักท่องเที่ยว ที่รักความสงบเงียบ อย่างแท้จริงแล้ว อ่าวนวล เป็นอีกอ่าวหนึ่งที่ขอแนะนำ มีนักท่องเที่ยวไม่มากนัก ที่ชอบมาพักผ่อนที่อ่าวนี้ แต่ถ้าใครมาพักผ่อนที่อ่าวนี้ ก็บอกได้เลยว่า เป็นนักท่องเที่ยวที่มากินลม ชมความเงียบโดยแท้ สิ่งอำนวยความสะดวก ที่อ่าวนวล มีไม่มาก บังกาโล มีเพียงแห่งเดียว ที่เปิดรองรับนักท่องเที่ยว
อ่าวช่อ/อ่าวทานตะวัน
ที่รวมสองอ่าวนี้ เป็นอ่าวเดียวกัน ก็เพราะว่าอ่าวนี้ เดิมชื่อว่า อ่าวช่อ แต่ต่อมามีเรียกกันหลายชื่อ ทำให้เกิดความสับสน กับนักท่องเที่ยว พอสมควร ถ้าดูจริงๆ แล้ว อ่าวช่อ และอ่าวทานตะวัน ก็มีโค้งอ่าวที่ติดต่อกัน แต่เรียกชื่อกันตามรีสอร์ท ที่ตั้งอยู่ ในแต่ละตำแหน่งเท่านั้น
โดยรวมอ่าวช่อ เป็นอ่าวที่เงียบสงบ เหมาะแก่การพักผ่อน ผู้คน ไม่พลุกพล่าน หาดทรายขาว และสวยงาม ลงตัวดี กับวันพักผ่อน
อ่าววงเดือน
อ่าวที่คุ้นหูนักท่องเที่ยวอีกอ่าวหนึ่ง เพราะเรือโดยสารประจำทาง ที่มาจากท่าศาลา จะมาส่งนักท่องเที่ยว ที่อ่าวนี้ เป็นประจำ ถ้าจะบอกว่า เป็นป้ายสุดท้าย ของเรือโดยสารก็ไม่ผิดนัก
อ่าววงเดือน คึกคักพอๆ กับหาดทรายขาว แต่ที่อ่าววงเดือน สามารถเลือกได้หลายบรรยากาศ ถ้าต้องการความสงบเงียบ ก็ต้องทางด้านหัวอ่าว ส่วนคนที่รักความคึกคัก ต้องเลือกกลางอ่าว ถ้าชอบนั่งกินบรรยากาศ ให้เลือกตามความต้องการอย่างที่บอก
อ่าวแสงเทียน
อ่าวแสงเทียน เป็นอ่าวที่ เงียบสงบ ผู้คนไม่ค่อยพลุกพล่าน นักท่องเที่ยวที่มาพักอ่าวนี้ โดยมาก เน้นความสงบ เป็นส่วนใหญ่ หาดทรายของอ่าวแสงเทียน ถ้าจะว่าไปแล้ว สะอาดกว่าด้าวหัวเกาะเสียด้วยซ้ำไป ก็เป็นเพราะนักท่องเที่ยวที่มาพักที่หาดนี้ น้อยกว่า ทำให้ธรรมชาติบริเวณนี้ ยังคงรักษาความสวยงาม ตามธรรมชาติได้ ถ้าเป็นนักท่องเที่ยว ประเภทกินลมชมวิว นอนนับดาวแล้วละก็ อ่าวแสงเทียน เป็นอีกอ่าวหนึ่ง ที่ไม่ควรพลาด ที่จะมาพักผ่อน
อ่าวหวาย
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ยิ่งไกลจากหัวเกาะ และนักท่องเที่ยวน้อยลงเท่าไหร่ ธรรมชาติ ก็ยังคงความสวยงามแบบเดิมไว้มากเท่านั้น อ่าวหวาย ก็เป็นอีกอ่าวหนึ่ง ยังคงความสวยงามแบบเดิมไว้
ที่อ่าวหวาย เหมาะกับนักท่องเที่ยว ที่รักความสงบ และเป็นส่วนตัว ที่อ่าวหวาย มีรีสอร์ทเพียงแห่งเดียว ดูแล้วค่อนข้างจะเป็นส่วนตัว และสงบพอสมควร เป็นอีกอ่าวหนึ่ง ที่ขอแนะนำ
อ่าวกิ่วนอก
อ่าวที่เหมาะสำหรับผู้ต้องการสัมผัสธรรมชาติ อย่างแท้จริง ที่นี่ หาดทรายขาวเสียจนน่าอิจฉา จากจุดนี้สามารถมองเห็นเกาะหินขาวได้อย่างชัดเจน
ที่อ่าวกิ่วหน้านอก นี้ เป็นจุดที่สามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้ โดยใช้เวลาเดินไม่นาน ระยะทางประมาณ ๑๐๐ เมตร ก็จะถึง อ่าวกิ่วหน้าใน ซึ่งเป็นจุดชมวิว ที่หลายคนมองข้ามไป เนื่องจากด้านอ่าวกิ่วหน้าใน เป็นแนวโขดหิน สถานที่ท่องเที่ยว จึงมีไม่มาก แต่เหมาะจะเป็นจุดชมวิว ดื่มกินบรรยากาศ ของเสม็ดที่ดีอีกแห่งหนึ่ง
อ่าวกะรัง
อ่าวที่สงบเงียบ และไม่มีผู้คนพลุกพล่านอย่างแท้จริง อ่าวนี้มีหาดทรายเล็กๆ พอที่จะลงเล่นน้ำ และชมปะการังได้ จุดชมวิวบริเวณแหลมกุด ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ไม่ควรพลาด ถ้ามาท่องเที่ยวที่เกาะเสม็ด โดยเจาะจงมาพักที่อ่าวกะรัง (ปะการัง แค้มปิ้ง) ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมจะได้พบกับนักตกปลา มาที่นี่กันมากสักหน่อย เพราะว่าช่วงนั้น จะเป็นช่วงที่ปลาอินทรีย์ จะมีมาก บริเวณอ่าวกะรัง โดยเฉพาะหมายตกปลาที่คุ้นหู นักตกปลากันทั่วไปคือ ร่องจันทร์ และสันฉลาม ซึ่งเป็นเกาะหินเล็กๆ ที่สามารถมองเห็นจากอ่าวกะรังได้
อ่าวเตย
สุดท้ายปลายเกาะเสม็ด บริเวณนี้ เป็นโขดหินเสียเป็นส่วนใหญ่ เหมาะเป็นสถานที่ตกปลา และกินลมชมวิว มากกว่า จุดนี้ สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ตกได้ โดยมีโขดหินเป็นโฟร์กราวด์
แหลมเรือแตก
จุดชมวิวที่ไม่เหมาะลงเล่นน้ำอีกเช่นกัน เพราะพื้นที่นี้เป็นหน้าผาชัน และเป็นแนวโขดหิน เหมาะจะใช้เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตก และทอดสายตาไปสู่ฝั่งแผ่นดินมากกว่า ข้อดีของจุดนี้คือ มีลมโกรกทั้งวัน ถึงจะไม่มีหาดทรายให้เล่น แต่วิวที่จุดนี้ก็สวยไม่น้อย
อ่าวพร้าว
จุดชมพระอาทิตย์ที่ติดปากนักท่องเที่ยว จากปากต่อปากของนักท่องเที่ยว ที่อ่าวพร้าว เป็นจุดชมพระอาทิตย์ที่สวยที่สุด การเดินทางจากท่าศาลา ใช้เวลาไม่มากนัก อ่าวพร้าวจึงเป็นอีกแห่งหนึ่ง ที่จะเห็นนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาพักกันมากที่อ่าวนี้
อ่าวขาม
เป็นอ่าวหิน ที่ไม่ค่อยมีคนนิยมไปเที่ยว กันมากนักนอกจากจะนั่งเรือผ่านมาขึ้นทางอ่าวพร้าว ลักษณะภูมิประเทศ ของอ่าวขาม คล้ายๆกับแหลมเรือแตก
ถึงแล้ว อ่าววงเดือน...
จากท่าเรือบ้านเพ คณะของเราจุดหมายอยู่ที่อ่าววงเดือน เกาะเสม็ด ใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง แต่เรือที่นั่งมาเป็นเรือลำค่อนข้างใหญ่ ไม่สามารถเทียบชายหาดได้ ต้องถ่ายคนลงเรือเล็ก
เรือเล็ก -
เอาหละสิ เดินก็ไม่ตรง หูก็อื้อ ตาก็ลาย แล้วยังต้องถ่ายเรืออีก ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันอยู่ว่า ณ จุดตรงนั้นน้ำลึกขนาดไหน เอาทำใจกล้าไว้ไม่ให้รู้ว่าเรากลัว ลงเรือเล็กได้โล่งอก แต่ก็ต้องนั่งตรงกาบเรือเป็น ๒ แถว คราวนี้เกาะกาบเรือไว้แน่นเลย แขนเคล็ดเลยเพราะเกร็ง ถึงฝั่งแล้ว
อุ้ยตายจริง รองเท้าเอามาคู่เดียวคือคู่ที่ใส่อยู่ ถึงฝั่งก็จริงแต่ก็ต้องลงลุยน้ำทะเลขึ้นหาดอยู่ดี ก็ถอดรองเท้าเดินเท้าเปล่าขึ้นชายหาดซึ่งมีทรายขาวละเอียดยิบสวยงามประทับใจ และมีเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติมาต้อนรับถึงชายหาด อะไรจะบริการดีขนาดนี้ เปล่าหรอกมาเก็บตังก์ค่าเหยียบแผ่นดินคนละ ๒๐ บาท อ้าว! งง เจ้าค่ะ นี่ประเทศไทยไม่ใช่เหรอ ทำไม่ยังต้องเสียตังก์ค่าเหยียบแผ่นดินด้วยอ่ะ แล้วถ้าไม่จ่ายเขาจะไล่เรากลับไปไหม ไม่ได้งก แต่ งง ก็จ่ายไปถือเป็นค่าบำรุงสถานที่และค่าเข้าก็แล้วกัน แต่ไม่น่าใช้คำว่าค่าเหยียบแผ่นดินเลย....ฟังแล้วเหมือนกับเราไม่ได้อยู่ในประเทศไทยเลย.... หรือฟังแล้วดูเหมือนเราไม่ใช่คนไทยซะอย่างนั้นแหล่ะ.... -_-!
นั่งพักผ่อนระหว่างเช็คอิน...
บริเวณบ้านพัก
ชานบ้านพัก กับร่มไม้
จากนั้นคณะของเราก็ไปเช็คอินที่พักเป็นบ้าน ๒ หลัง ราคาหลังละ ๑,๒๐๐ บาท แอร์ เครื่องทำน้ำอุ่น โทรทัศน์พร้อม UBC แต่คืนนี้บางคนก็ไม่ดูหนัง เพราะมีกิจกรรมยามค่ำ อิ อิ หลายคนคงเดาถูกว่าคืออะไร...
มาเล่นน้ำทะเลดีกว่า สร้อยฟ้ามาลาว่ายน้ำไม่เป็นก็อยู่แค่ที่ตื่นๆ พอใครว่ายน้ำเป็นก็ไปเถอะ แต่สักพัก พวกเพื่อนๆ ก็จูงให้ไปที่ลึกๆ หน่อย หวา... หวา... ไม่เอา แต่ทำงัยได้สู้แรงไม่ไหว โดนฉุดไปแล้ว ลึกถึงอกเรื่อยมาถึงคอ พอแล้วไม่ไปแล้ว เลยกลับเข้าหาฝั่ง น้ำทะเลใสมากๆ เห็นพื้นทรายเลย สร้อยฟ้ามาลาเดินลุยน้ำเล่นไปชายหาดที่เริ่มมีโขดหิน เห็นมีซากปะการังเป็นหินปูนโผล่พ้นผืนทรายที่จมอยู่ในน้ำ เลยลองใช้เท้าหยั่งๆ ดูเบา ปรากฏว่า บาดฝ่าเท้าเข้าไปลึกเลือดไหลเลย แสบเจ้าค่ะน้ำเค็มของทะเลบวกกับทรายเม็ดละเอียดเข้าไปในปากแผลทนที ต้องเดินเขยกขึ้นชายหาดคราวนี้เม็ดทรายยิ่งอุดเข้าไปในแผลใหญ่ แต่สักพักเพื่อนที่มาด้วยกันก็โดนเหมือนกัน เตือนไม่ทัน ซากปะการังคมมาก เพิ่งจะทราบ ได้บทเรียนแล้ว กลับเข้าบ้านพักอาบน้ำล้างแผล แสบมากๆ ฮือ ฮือ มีพลาสเตอร์ปิดแผลแป๊บเดียวยางก็หมด ก็อยู่ชายทะเลต้องล้างเท้าบ่อยๆ เพราะเปื้อนทรายแล้วพลาสเตอร์ที่ไหนจะปิดอยู่
น้ำทะเลเลยอดเล่น ณ บัดนี้ ได้แต่เดินเล่นชายหาดแบบโขยกเขยก
ไม่มีภาพเล่นน้ำมาให้ดูหรอก.... ถึงจะมีก็ไม่ให้ดู...... นึกภาพเองนะ...
ค่ำแล้ววันนี้คณะของเราก็ใช้บริการร้านอาหารของบ้านพัก บรรยากาศดี สงบ สบายๆ ผู้คนไม่พลุกพล่านวุ่นวาย ลืมบอกอีกกอย่างคณะของเราเลือกที่พักที่ไม่มีผับกลางคืน ต้องการความเงียบสงบ แต่หากเดินเลาะชายหาดเรื่อยไปอีกประมาณ เกือบ ๒๐๐ เมตร ชายหาดตรงนั้นจะมีผับบาร์เสียงอึกทึกครึกโครมและมีชาวต่างชาติเยอะแยะมากมาย
บรรยากาศร้านอาหาร
โรแมนติก ดีจัง...
พอทานอาหารเสร็จต่างคนก็ต่างออกเดินให้อาหารย่อย ไปชมบรรยากาศครึกครื้นของผับบาร์บ้าง แค่เดินผ่านๆ นะไม่ได้เข้าไป....
ตรงนี้แหละ อึกทึก เสียงดังน่าดู แต่ก็เป็นสีสัน อีกมุมหนึ่งของอ่าววงเดือน
ทะเลยามมืด..
อีกโค้งของอ่าววงเดือน
มืดๆ ค่ำๆ อย่างนี้เหมาะแก่การเล่าตำนาน เรื่องเล้นลับ เรื่องมีอยู่ว่า.....
เรื่องนี้เป็นตำนานเขาบ่อทอง เป็นตำนานขุมทรัพย์ทองคำ ขุมทรัพย์โจรสลัด ซึ่งเป็นเรื่องเล่าร่วมร้อยปีมาแล้ว เขาบ่อทองจะมีรอยพระพุทธบาทอยู่ ชื่อของเขาบ่อทองเป็นเขาที่สูงอันดับ ๒ ของเกาะเสม็ด ได้มาจากหลุมลึกขนาดใหญ่ ลึกประมาณ ๘ เมตร มีระฆังใบใหญ่แขวนอยู่ปากหลุม เกิดจากความเชื่อที่ว่าภูเขาแห่งนี้มีทองคำของโจรสลัดซ่อนอยู่ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ หลวงภิรมย์ได้มาที่เกาะเสม็ดพร้อมกับแผนที่ที่ซ่อนทองและทำการระเบิดหินเพื่อค้นหาทองแต่ก็ไม่พบ ทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นบ่อ ต่อมาเมื่อกรมทรัพยกรธรณีเข้ามาตรวจสอบเกี่ยวกับหินปรากฏว่าชนิดของหินบนเกาะเสม็ดไม่ใช่หินที่จะมีทอง บ่อทองจึงกลายเป็นเรื่องเล่าต่อๆ กันมา การขึ้นเขาบ่อทองควรมากับคนที่รู้ทางเพราะเป็นป่ารกไม่ได้รับการปรับปรุง ทางขึ้นอยู่บริเวณถนนทางไปหน้าด่านกับทรายแก้ววิลล่า เป็นสามแยกตรงปากทางเข้า บริเวณเชิงเขาเคยเป็นที่ทิ้งขยะเก่าของเกาะ มีป้อมยามเก่าๆรกร้างตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นเขา เส้นทางผ่านสถานที่เรียกว่าบันไดสวรรค์ที่ชันมากๆ เส้นทางมุ่งตรงไปบริเวณบ่อทองประมาณ ๑.๗ กิโลเมตร ชาวเกาะเสม็ดได้เล่าต่อๆ กันมาว่าเคยมีคนขึ้นไปพิสูจน์เพื่อขุดทอง พบแต่เห็นทองลอยขึ้นมาต่อหน้าต่อตา แล้วก็ลอยหายไป
นี่เป็นตำนานเรื่องเล่า.....
ทางเดินมืดๆ กับแสงโคมสลัวๆ ระหว่างบ้านพัก
บรรยากาศดีนะ
ดึกพอประมาณแล้วก็กลับเข้ามายังบ้านพักเพื่อเริ่มกิจกรรมยามค่ำ นั่นคือ .....ถูกต้องแล้ว กิจกรรมบวกเลข(หลายคนเดาถูก) แต่เพื่อนบางคนก็ดูหนังบ้าง แต่สร้อยฟ้ามาลาไม่ได้เล่นหรอกคิดเลขในใจไม่เก่ง ขอนอนหลับดีกว่า..... ราตรีสวัสดิ์เจ้าค่ะ..... -
พระอาทิตย์กำลังขึ้นแล้ว...
อากาศยามเช้า สดชื่น..
หาดทรายสวยๆ กับระลอกคลื่น..
แต่...เมฆบังพระอาทิตย์ไปแล้วอ่ะ
อรุณสวัสดิ์ พระอาทิตย์ขึ้นแล้ว รีบตื่นมาเพื่อถ่ายภาพดวงอาทิตย์ แต่ถูกเมฆบังเรียบร้อยไปแล้ว อดเลย อากาศยามเช้าสดชื่น ถ่ายภาพเสร็จก็เดินเล่นเข้าไปในเกาะ เป็นทางค่อนข้างลาดชันขึ้นเนินเขา สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ มีนักท่องเที่ยวเดินไปเดินมาบ้างไม่มากนัก คงจะยังเช้าอยู่ แต่นึกไปนึกมาก็ไม่รู้จะมาเดินทำไม ทำไมไม่ไปเดินริมหาด อ้อ ที่นี่มีรถจักรยานยนต์ให้เช่าขับเล่นด้วยนะ เดินชมนกชมไม้ไปเรื่อยๆ เริ่มเดินลึกเข้าไปยังข้างในเกาะ อย่างที่บอกมีแต่ต้นไม่กับเดินขึ้นเนินเขา สักพักเริ่มได้ยินเสียง ไม่ใช่เสียงคลื่น แต่เป็นเสียงของแมลง ไม่ใช้จักจั่น แต่เป็น แมลงวัน เรียกได้ว่ากองทัพแมลงวันเลยทีเดียว ก็จะไม่ให้มีแมลงวันได้อย่างไร เล่นทิ้งขยะกันกลางเกาะนี่หน่า มิน่าเคยอ่านข่าวพบว่าที่เกาะเสม็ดมีปัญหาเรื่องแมลงวัน ไม่เดินแล้วกลับไปเดินเล่นที่ชายหาดดีกว่า ก็โขยกเขยกเช่นเดิมเจ็บแผล... แต่ก็อดทนเพราะอยากชมธรรมชาติที่สวยงามยามเช้าของเกาะเสม็ด...
เดินเล่นเลาะริมหาดทรายดีกว่า
ใครก็ไม่รู้มานั่งอยู่ ยืนคอยจะถ่ายรูปตั้งนานก็ไม่ยอมขยับไปไหนเสียที ก็เลยถ่ายรูปเสียเลย ไม่คอยแล้ว
ถ่ายภาพย้อนแสง เสี่ยงLens พัง
อาหารเช้านี้ก็ใช้บริการร้านอาหารเดิม สร้อยฟ้ามาลาวันนี้สั่งข้าวผัดอเมริกัน บางคนสั่งข้าวต้ม หรืออย่างอื่นตามอัชฌาสัย ....
บรรยากาศยามเช้า ที่ร้านอาหาร
-
๔.
ดาหลา
เพื่อนในคณะ แต่ไม่รู้จักสักคน..
เพื่อนๆ ต่างนั่งคอยเวลาขึ้นเรือกลับฝั่ง
ว้า... เวลาผ่านไปเร็วจัง ต้องเตรียมเก็บข้าวของเพื่อเช็คเอาท์แล้ว คราวนี้ถึงช่วงระทึกของสร้อยฟ้ามาลาอีกแล้ว คือ ลงเรือขึ้นฝั่ง แต่ก็โชคดีเหมือนขามา คลื่นไม่มี ลมไม่แรง เรือไม่โคลงเคลง รอดแล้วเรา..... เอ....แล้วถ้าถึงฝั่งบ้านเพ ต้องเสียค่าเหยียบแผ่นดินอีกหรือเปล่านี่??? ....
ลงเรือเล็กแล้ว รีบถ่ายภาพแล้วก็รีบนั่งเลย รู้สึกเหมือนยืนไม่อยู่..ขาสั่น...
ขึ้นเรือใหญ่แล้ว แต่ลำเล็กกว่าขามา..
เห็นชายฝั่งบ้านเพแล้ว ดีใจจัง..
สรุปว่า นี่คือครั้งแรกในชีวิตที่ได้ไปอยู่เกาะกลางทะเล ๒ วัน ๑ คืน และครั้งแรกในชีวิตที่ได้ขึ้นเรือที่แล่นในทะเล กลัวนะ... แต่เมื่อลงจากเรือได้เห็นหาดทรายขาวๆ ทรายละเอียดยิบ ก็ลืมเรื่องลงเรือเลย เกาะเสม็ดหาดทายสวยสมคำล่ำลือจริงๆ ในอ่าวเดียวกันแต่มีหลายบรรยากาศให้ได้เห็น ก็ดีไม่ต้องเดินไปดูไกล....
ข้อมูล ททท
ภาพและคำโม้โดย สร้อยฟ้ามาลา
..................................
-
เรื่องที่ ๙
ตามหาความทรงจำที่ขาดหาย ตอน พระราชวังพญาไท
จากคราวที่แล้ว สร้อยฟ้ามาลาพาเที่ยว ตอน เมื่อสาว สาวพลังจิตไปเที่ยวอยุธยา ซึ่งคุณพี่พิชญ์ ได้ชวนคุณครูอำนวยกรณ์ เข้าวังพญาไท แต่ยังไม่ทันเข้า จึงติดค้างกันอยู่ว่าจะเข้าแต่ไม่ได้เข้าสักที ต่อมาคุณพี่พิชญ์ก็ชวนอีกและบอกว่า ทริปนี้ไม่มีล้มแน่ แต่จากวันนั้นก็เป็นเวลาเกือบครึ่งปี กว่าจะได้เข้าวังกันสักที วันนี้ได้ฤกษ์เข้าวังแล้วจ้า
วันเสาร์ที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ นัดกับคุณพี่พิชญ์ ที่หน้าพระราชวังพญาไท เวลา ๑๓.๐๐ น. แต่สร้อยฟ้ามาลา ก็มาช้าตามเคย ช้าไปประมาณ ๑๕ นาที ซึ่งกำหนดการที่พี่ๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของวังพญาไท จะพาชมและบรรยายนั้น จะเริ่มประมาณ ๑๓.๓๐ น. สร้อยฟ้ามาลา มาเกือบไม่ทัน แหม ก็ช้านิดช้าหน่อยเดียวเอง ไปถึงก็ลงชื่อมาเยี่ยมชมวังในสมุดซึ่งเขาจะนำไปทำสถิติการเยี่ยมชมวัง ลืมบอกอีกอย่างต้องเข้าห้องน้ำก่อนอั้นมานานระหว่างเดินทางเพราะรถติด แต่เข้าห้องน้ำก็ต้องตกตะลึงกับความงามแล้ว.....(ลืมถ่ายรูปห้องน้ำมาให้ชม)
พี่เจ้าหน้าที่พาชมและบรรยายให้ความรู้
เวลา ๑๓.๓๐ น. พี่เจ้าหน้าที่ก็พาเข้าไปชมวิดิทัศน์ก่อนซึ่งเป็นห้องท้องพระโรงของพระที่นั่งพิมานจักรี ความยาวประมาณ ๓๐ นาที แบ่งเป็น ๒ ชุด ชุดแรกจะเป็นการเล่าประวัติวังพญาไท ชุดที่ ๒ ดุสิตธานี เมื่อชมวิดิทัศน์เสร็จแล้ว พี่เจ้าหน้าที่ก็จะแบ่งกลุ่มพาชมวังกัน ซึ่งในวันนี้แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มละประมาณ ๒๓ คน
ระเบียงทางเดินชั้นล่างของพระที่นั่งพิมานจักรี
ตื่นเต้น ตื่นเต้น(หรือเปล่า) เปล่าไม่เลย ไม่ตื่นเต้นหรอกที่ได้มาวังพญาไท แม้สภาพของพระราชวังยังคงเหมือนเดิม ความงดงามของพระราชวังยังคงเหมือนเดิม เครื่องของใช้ยังคงเหมือนเดิม แต่วิญญาณแห่งอดีตไม่เหมือนเดิม เพราะรู้สึกว่ากลิ่นไออันเก่าก่อนจางหายไปแทบหมดสิ้น ซึ่งส่วนตัวเองก็สงสัยว่าทำไมถึงไม่ค่อยจะอยากมาสักเท่าไหร่และก็ได้รับคำตอบแล้วเมื่อมาเยือนในครั้งนี้ T^T
ชั้นล่างของพระที่นั่งพิมานจักรี
พระราชวังพญาไท ตั้งอยู่ ณ สวนริมคลองสามเสนต่อกับทุ่งพญาไท เดิมเป็นพระตำนักสำหรับเสด็จประพาส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๕๒ วังจึงมีอายุการเป็นวังมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ปัจจุบันไม่ปรากฏว่ามีโบราณสถานที่สร้างครั้งรัชกาลที่ ๕ หลงเหลืออยู่เลย
พระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนี พระพันปีหลวง ในวังพญาไท ปัจจุบันไม่มีแล้ว
เมื่อแรกสร้างวังนี้ ที่ดินบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิทั้งหมดรวมทั้งส่วนที่เป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบันนี้ยังเป็นท้องทุ่งและสวนมีคลองสามเสนไหลผ่าน ที่ว่างบริเวณนี้มีอาณาเขตต่อไปถึงทุ่งพญาไท เมื่อแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ มีการสร้างพระราชวังดุสิตและตัดถนนเพิ่มอีกหลายสาย สายหนึ่งตัดมายังบริเวณดังกล่าว เรียกว่า ถนนซังฮี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงโปรดฯ ให้ซื้อสวนผักตอนหนึ่งที่ทำนาตอนหนึ่ง สำหรับสร้างพระตำหนักเพื่อเสด็จประพาส มีเนื้อที่ ๖๓ ไร่ ๓ งาน ๕๔ ตารางวา ทรงพระราชทานนามว่า “ตำหนักพญาไท” ซึ่งชาวบ้านเรียกกันต่อมาว่า วังพญาไท ส่วนถนนซังฮี้ในปัจจุบันคือถนนราชวิถี
พื้นหินอ่อน(ลืมถ่ายรูปหินอ่อนที่มีซากฟอสซิลมาให้ชม)
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงลงดำนาที่ทุ่งพญาไท
แรกนาขวัญที่พระราชวังพญาไท
ที่พระตำหนักพญาไท สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้เป็นที่ใช้ทดลองปลูกธัญพืชต่างๆ เพราะพระองค์มีความสนพระทัยในด้านกสิกรรมอันเป็นผลเนื่องมาจากการได้เสด็จประพาสสต่างประเทศและได้ทอดพระเนตรเกี่ยวกับการกสิกรรมจึงทรงตั้งพระทัยจะใคร่ริเริ่มทดลองทํานาทําสวนครัวเลี้ยงไก่เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้อื่นปฏิบัติตามพร้อมทั้งเป็นการประทับพักผ่อนพระอิริยาบถไปด้วย มีการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นที่วังนี้และยังได้โปรดให้สร้างโรงพระราชพิธีไว้ที่ผั่งใต้ของถนนซังฮี้ตรงข้ามกับฝั่งพระตําหนักทรงเรียกโรงพระราชพิธีนี้ว่าโรงนาเมื่อถึงฤดูทํานา สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงนำเจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จลงดำนาด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นการประเดิมชัยในการกสิกรรมของประเทศ แต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประทับที่พระตำหนักนี้บ่อยครั้งและครั้งสุดท้ายที่เสด็จ ตรงกับวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันก็เสด็จสวรรคตที่พระราชวังดุสิต
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงเสียพระทัยในการเสด็จสวรรคตครั้งนั้นจนทรงพระประชวรเรื้อรังเรื่อยมา แม้จะเสด็จแปรพระราชฐานจากพระราชวังดุสิตไปประทับที่พระบรมมหาราชวังแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทูลเชิญเสด็จมาประทับรักษาพระองค์ที่พะตำหนักพญาไท เพราะเป็นที่สงบและอากาศดี สมเด็จฯจึงเสด็จกลับมาประทับพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก
กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฏ์ และพระราชธิดาในสมเด็จพระศรีศวรินทิรา พระบรมราชเทวี คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ซึ่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ทรงรับอุปการะไว้เป็นพระราชธิดาในพระองค์ กับยังมีพระราชนัดดาอีก ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ รวมทั้งพระประยูรญาติกับข้าราชบริพารตามเสด็จอีกจำนวนมาก
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง เสด็จประทับที่วังนี้จน พ.ศ.๒๔๖๓ จึงสิ้นพระชนม์ รวมเวลาเสด็จอยู่ในวังนี้ ๑๐ ปี พระตำหนักที่ประทับได้รื้อไปปลูกไว้ที่วัดราชธิวาสส่วนอาคารอื่นรื้อลงหมด เหลือเพียงท้องพระโรง หรือพระที่นั่งเทวราชสภารมย์ที่อยู่มาจนทุกวันนี้ ภายหลังจากการเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้สร้าง พระราชมณเฑียรสถานขึ้นแทนที่อาคารเดิม เป็นพระที่นั่ง ๔ หลัง มีพระราชอุทยานประกอบเรียกว่า
“สวนโรมัน” พระที่นั่งบางองค์ในพระราชมณเฑียรสถานก็เกือบจะเป็นหลังเดียวกันกับพระที่นั่งที่อยู่ติดกัน แต่เรียกกันคนละชื่อ บางองค์เชื่อมต่อกันด้วยสะพานคอนกรีต ซึ่งจะมีลักษณะเป็นทางเดินสองชั้น นอกจากนี้ยังมีการสร้างตำหนักน้อยเพิ่มเติมขึ้นอีก ปัจจุบันพระที่นั่งต่างๆ ในพระราชมณเฑียรสถานยังอยู่ครบ ส่วนตำหนักเล็กเหลือเพียงแห่งเดียว
-
พระราชมณเฑียรสถานพระที่นั่งในพระราชวังพญาไท สถาปัตยกรรมและการตกแต่งลวดลายต่างๆส่วนใหญ่เป็นศิลปะที่ได้กลิ่นอายของอิตาลีมีทั้งหมด ๕ องค์ คือ
พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน
๑. พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน อยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งพิมานจักรี เมื่อแรกสร้างมีสองชั้น ต่อมาจึงได้ต่อเติมเป็นสามชั้นเพื่อใช้เป็นห้องพระบรรทม ลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์เป็นตึกก่ออิฐถือปูนมีหลังคาอย่างเรือนมะนิลา แต่แบบแผนทั่วไปเป็นแบบตะวันตก และได้ใช้หน้าต่างกระจกซึ่งมีการออกแบบเป็นพิเศษ เพราะตึกสมัยนั้นโดยมากยังใช้บานหน้าต่างทึบหรือบานเกล็ดไม้ หน้าต่างกระจกจัดเป็นของใหม่มาก พระที่นั่งนี้ตั้งอยู่ติดทางเข้าสวนโรมัน และยังคงสภาพดีทั้งภายนอกและภายใน
บันไดภายในพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานขึ้นสู่ชั้น ๓ ของพระที่นั่ง
ช่องอากาศมีตระแกรงที่กันไม่ให้นกเข้า
โคมไฟในห้องพระบรรทม
ภาพเขียนสีบนเพดานห้องพระบรรมทม
มองออกไปทางประตูของห้องทรงพระอักษร
ประตูห้องสมุด
-
พระที่นั่งพิมานจักรี
๒. พระที่นั่งพิมานจักรี เป็นพระที่นั่งประธานของหมู่พระราชมณเฑียรสถาน มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีสองชั้น ที่น่าสนใจมากคือมีหอคอยยอดแหลมหรือโดมอย่างปราสาทสมัยโกธิคของยุโรปสีแดงซึ่งในอดีตใช้สำหรับชักธงมหาราชขึ้นเหนือพระที่นั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับ[รวมทั้ง บริเวณฝาผนังใกล้กับเพดานและเพดานของพระที่นั่งมีภาพเขียนลายดอกไม้แบบปูนเปียกซึ่งมีความงดงามมากและบานประตูเป็นไม้จำหลักปิดทอง มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อเหนือบานประตูว่า "ร.ร.๖" ซึ่งหมายถึง สมเด็จพระรามรามาธิบดี รัชกาลที่ ๖ พระที่นั่งพิมานจักรีใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระมเหสี
รร๖สมเด็จพระรามรามาธิบดี รัชกาลที่ ๖
รูปปั้นน้ำพุที่เคยอยู่พระที่นั่งเทวราชสภารมย์แต่ชำรุด จึงนำมาเก็บไว้ตรงบันไดทางขึ้นชั้น ๒ ของพระที่นั่งพิมานจักรี
บันได้ขึ้นชั้น๒ และเป็นทางเสด็จลงห้องท้องพระโรงชั้นล่างของพระที่นั่งพิมานจักรี
ลวดลายบันได
ภายในพระที่นั่งชั้นบนมีห้องขนาดใหญ่ ๔ ห้องด้วยกันคือ
๑) ห้องโถงกลางเป็นห้องเสด็จออกให้เฝ้าส่วนพระองค์หรือแบบเสวยง่ายๆ ภายในตกแต่งแบบยุโรปมีเตาผิงก่อเป็นประธานของห้องประดับด้วยพระบรมสาทิศลักษณ์สีน้ำมันประดิษฐานอยู่เหนือพระแท่นภายใต้วชิรมหามงกุฎ
-
๒)ห้องบรรทมพร้อมห้องสรงอยู่ทางด้านทิศตะวันออกภายในตกแต่งลายเพดานงดงามด้วยภาพเขียนแบบปูนเปียกเป็นภาพบนเพดานเหนือศีรษะมีรูปมังกร ๕ เล็บ ซึ่งปีมะโรงเป็นปีที่เสด็จพระราชสมภพนอกจากภาพมังกรที่ห้องนี้ ยังมีภาพมังกรประดับอยู่รายรอบพระราชวังอีกด้วย นอกจากนี้รายรอบเพดานยังตกแต่งด้วยรูปพระพุทธบาทพระคัมภีร์ไทยดำ-ไทยขาวเพื่อทอดพระเนตรก่อนบรรทม
ห้องพระบรรทม
ลายมังกร ๕ เล็บ
ลายพระคัมภีร์บนเพดาน
ภายในห้องสรง
๓)ห้องประทับของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายา อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมาณจักรีภายในมีภาพเขียนแบบปูนเปียก(Fresco Secco)บนเพดานเป็นลายดอกไม้มีภาพเทพธิดาน้อยกับกลีบกุหลาบซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจีทรงเป็นผู้ถวายคำแนะนำให้ใช้ดอกกุหลาบเป็นดอกไม้สำหรับคำสาปที่เทพธิดามัทนาได้รับในพระราชนิพนธ์เรื่องมัทนะพาธาตอนนี้ห้องพระบรรทมนี้มีเรือนมหิธรซึ่งเป็นเรือนจำลองในดุสิตธานีที่ได้กลับคืนมาเพียงหลังเดียว
ลวดลายบนเพดานในห้องพระบรรทมสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายา
เรือนมหิธร
ลวดลายประดับฝา -
๔)ห้องใตโดมเปนห้องทรงพระอักษรยังปรากฎตู้หนังสือแบบติดผนัง(Built in) ปรากฎอยู่ที่ตู้หนังสือดังกล่าวเป็นสีขาวลายทองมีพระปรมาภิไธยย่อ“รร๖” อยู่ภายใต้วชิรมหามงกุฎทุกตู้ ชั้นลางมีหองเชนเดียวกับชั้นบนมีบันไดพระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะพิเศษคือเปนพระที่นั่งทีทมียอดโดมสูงเพดานเป็นภาพเขียนแบบปูนเปียกเช่นเดียวกันเป็นลายดอกไม้งดงามมากบานประตูไม้สักจําหลักลายปัดทองตอนบนเหนือบานประตูจารึกพระปรมาภิไธยยอ “รร๖”
ห้องทรงพระอักษร ครุฑที่งามที่สุดในประเทศ...เอ หรือว่าในโลกนะ
ลวดลายบนเพดาน
โคมไฟ
หน้าต่างในห้องทรงพระอักษร -
พระที่นั่งศรีสุทธินิวาส
๓. พระที่นั่งศรีสุทธินิวาส ชื่อเดิมว่า พระที่นั่งลักษมีพิลาส ซึ่งตั้งตามพระนามของ พระนางเธอลักษมีลาวัณ อดีตพระคู่หมั้นในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมานจักรี เป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูนสูง ๒ ชั้น ประกอบด้วยหอคอยที่มียอดแหลมตัวอาคารมีสถาปัตยกรรมแบบอิงลิช กอธิค (ENGLISH GOTHIC) บริเวณเพดานประดับลวดลายจิตรกรรมแบบอาร์ต นูโว และผนังเป็นภาพเขียนสีน้ำมันในแบบตะวันตก แต่การตกแต่งภายนอกและภายในทำอย่างเรียบๆ ภายในมีการตกแต่งเพดานด้วยภาพเขียนสีเป็นลายดอกไม้ แต่ในห้องสำคัญจะมีภาพเป็นภาพชายหญิงแบบตะวันตก ซึ่งไม่พบที่อื่น พระที่นั่งองค์นี้ในอดีตใช้เป็นที่รับรองสำหรับเจ้านายฝ่ายใน
ไปขอยืมรูปมาจากเว็ปอื่น ไม่ได้ถ่ายภาพภายในพระที่นั่ง
สะพานทางเดินเชื่อมระหว่างพระที่นั่งพิมานจักรีกับพระที่นั่งศรีสุทธินิวาส
ลายเพดาน ใกล้กับสะพานเชื่อมระหว่างพระที่นั่งพิมานจักรีกับพระที่นั่งศรีสุทธินิวาส
บันไดลงชั้นล่างของพระที่นั่งศรีสุทธินิวาส
-
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์
๔. พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ เป็นโบราณสถานเพียงแห่งเดียวที่สร้างตั้งแต่เมื่อครั้งวังพญาไทเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพันปีหลวง มีฐานะเป็นท้องพระโรง โดยมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบไบแซนไทน์ ภายในท้องพระโรงทาสีฉูดฉาดหลายสี โดยเฉพาะมีโดมตรงกลางเหมือนกันแต่ไม่สูงนัก ภายในพระที่นั่งมีลักษณะเป็นห้องใหญ่เปิดโล่งถึงสองชั้น มีระเบียงเดินได้รอบโดม และมีพระปรมาภิไธยย่อ "สผ" (เสาวภาผ่องศรี พระนามเดิมของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง) อยู่ตอนบนใกล้หลังคาภายในพระที่นั่ง ต่อมาเมื่อสร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้น ทำให้วังพญาไทมีสถานะเป็นพระราชวังอีกแห่งหนึ่ง พระที่นั่งแห่งนี้ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับงานต่าง ๆ เช่น ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาในโอกาสต่าง ๆ ใช้รับรองแขกส่วนพระองค์ ใช้เป็นโรงละคร เป็นต้น
๕. พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งไวกูญฐเทพยสถาน เป็นพระที่นั่งก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น เน้นการออกแบบที่เรียบง่าย โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและมีเหล็กโครงสร้างดัดเป็นแบบอาร์ต นูโว (ART NOUVEA) ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว จุดเด่นอยู่ที่รางน้ำบนหลังคาจะเห็นเห็นหัวสิงห์สวยงาม ยามฝนตกน้ำฝนก็จะไหลจากปากสิงห์เป็นสิงห์พ่นน้ำเรียกว่า “นรสิงห์” พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประทับของพระสุจริตสุดาและพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระสนมเอกและพระวรราชเทวีในรัชกาลที่ ๖ ตามลำดับ ในห้องพระบรรทมประดับด้วยกระเบื้องสีขาวสะอาดตาบานประตูเพนต์เป็นรูปกุหลาบซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ทรงโปรดดอกกุหลาบมากและทรงเปรียบพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เป็นเสมือนกุหลาบซึ่งพระราชนิพนธ์เรื่อง "มัทนะพาธา"ก็ถือกำเนิด ณ ที่แห่งนี้เองสันนิษฐานว่าการสร้างพระที่นั่งองค์นี้ไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับหมู่พระที่นั่งพิมานจักรี จึงมีการสร้างทางเชื่อมกับพระที่นั่งไวกูญฐเทพยสถานในชั้นที่ ๒ ทำให้สามารถเดินถึงกันกับหมู่พระที่นั่งพิมานจักรีได้
สะพานทางเดินจากพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานสู่พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ ไม่ได้ถ่ายรูปภายใน เนื่องจากไม่ได้เปิดให้เข้าชม ถ้าฟังไม่ผิดรู้สึกว่าตอนนี้จะเป็นที่พักของผู้บริหาร ...
นรสิงห์ตรงชายคา -
พระตำหนักเมขลารูจี
พระตำหนักเมขลารูจีซึ่งเป็นเรือนไม้สัก๒ ชั้น หลังเล็กๆอยู่ริมอ่างหยกและมีความสำคัญมากเพราะเป็นอาคารหลังแรกที่รัชกาลที่ ๖ประทับชั่วคราวก่อนที่จะสร้างพระที่นั่งต่างๆและยังทรงใช้เป็นที่สรงน้ำหลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ (ตัดผม)
ยืมภาพของเขามา
ภายในของพระตำหนัก(ไปยืมภาพของคนอื่นมา อิ อิ) พอดีไม่เปิดให้ชมเพราะว่าทรุดโทรมมากแล้ว..
ห้องสรงในพระตำหนัก.... -
สวนโรมัน
สวนโรมัน
ตกแต่งตามแบบสถาปัตยกรรมอิตาลีเรอเนสซอง ขนาบด้วยศาลาเปิดโล่ง ลักษณะที่น่าสนใจคือเสาของอาคารเป็นแบบเซาะร่อง หัวเสาเป็นแบบผสมระหว่างลายมั้วนรูปก้นหอยในศิลปะไอโอนิคและลายใบผักกาดในศิลปะโดริเธียนของกรีก แล้วสลักรูปคนไว้ตรงกลาง หัวเสาแบบผสมนี้เป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะโรมันเรียกว่า COMPOSITEORDER เดิมในสวนแห่งนี้มี ดุสิตธานี หรือเมืองจำลองที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นเพื่อทดลองรูปแบบการปกครองระบบประชาธิปไตย เมืองจำลองนี้สร้างขึ้นอย่างงดงามด้วยอาคารจำลองในสภาพพื้นที่ย่อส่วนจากของจริง อาคารแต่ละหลังมีเจ้าของเป็นขุนนางที่ตามเสด็จ มีคณะบุคคลสำหรับปกครองโดยไม่มีเจ้านายเข้าร่วมเลย มีการออกเสียงเลือกตั้งตามแบบประชาธิปไตย มีการออกหนังสือพิมพ์ ฯลฯ แต่ภายหลังดุสิตธานีถูกรื้อไป เหลือแต่ภาพถ่ายไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ด้านหน้าของสวนโรมันเป็นสระน้ำ มีรูปหล่อพระวรุณซึ่งหล่อที่ฟลอเรนซ์
สระน้ำพุหน้าสวนโรมัน
พระวรุณ
-
พระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช
ท้ายสวนด้านเหนือของพระราชวังใกล้คลองสามเสนเป็นที่ประดิษฐานพระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช พระพุทธรูปประจำพระราชวังพญาไทปางนาคปรกซึ่งดูแปลกตา (จำลองแบบจากพระมหานาคชินะ ซึ่งรัชกาลที่ ๖ทรงสร้างไว้ที่พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งทรงผนวช)
ท้าวหิรัญพนาสูร
มีตำนานว่าเป็นอสูรผู้ติดตามอารักขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ครั้งยังเป็นมงกุฏราชกุมารครั้นพระราชมณเฑียรแล้วเสร็จ ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปสัมฤทธิ มีพิธีบวงสรวงเชิญท้าวหิรัญพนาสูรเข้าสิงสถิตย์เพื่อเป็นเทพารักษ์ประจำพระราชวังพญาไทสืบไป
เมื่อรัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคต วังพญาไทก็เริ่มเงียบเหงาลง มา สมัยรัชกาลที่ ๗ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงปรับปรุงวังพญาไทเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งสำหรับให้ชาวต่างประเทศพัก เปิดเมื่อ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๘ ตามพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ ๖ ที่จะพระราชทานพระราชวังแห่งนี้ให้เป็นโฮเต็ลชั้นหนึ่งของประเทศ ตั้งแต่มีพระราชดำริจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ เพื่อพัฒนาการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ระหว่างนั้น ได้มีการใช้ พระราชวังพญาไทได้เป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียง วิทยุแห่งแรกของไทย ออกอากาศเมื่อ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๓ กรมรถไฟดำเนินการโรงแรมวังพญาไทได้ ๖ – ๗ ปีก็เลิกกิจการเมื่อ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๕ เนื่องจากคณะราษฎรต้องการนำวังพญาไทสร้างโรงพยาบาลทหาร ปัจจุบันกลายมาเป็นที่ตั้งกรมแพทย์ทหารบกในสังกัดกองทัพบก วังพญาไทจึงกลายเป็นศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า สังกัดกรมแพทย์ทหารบกและเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันพระราชวังพญาไทอยู่ในสภาพทรุดโทรมและกำลังอยู่ในระหว่างระดมทุนเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ และจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวร ภายใต้การดำเนินงานของ ชมรมคนรักวัง และ มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งพระราชวังแห่งนี้ เปิดให้ประชาชนชาวไทยเข้าชมในวันเสาร์ เวลา ๙.๓๐ น. และ๑๓.๓๐ น. โดยมีวิทยากรพาท่านนำชมประวัติและสถาปัตยกรรม
สรุป พระราชวังพญาไท ในวันนี้ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา ผ่านยุคสมัยมาหากแต่ไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควรจะเป็น ให้สมกับฐานะเป็นพระราชวังมากก่อนเก่า ผู้คนส่วนมากผ่านไปผ่านมาก็รู้จักกันแค่โรงพยาบาลพระมงกุฎหรือวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎ แต่หากลองถามว่าพระราชวังพญาไท อยู่ตรงไหน หลายคนคงตอบไม่ได้ สำหรับสร้อยฟ้ามาลาก็คงทิ้งไว้แต่ความทรงจำ ณ ที่นี่ ช่างว้าเหว่เสียยิ่งกระไร...
สุดท้ายขอขอบพระคุณพี่เจ้าหน้าที่ที่ใจดีพาชมพระราชวังและให้ความรู้ต่างๆ มากมายทีเดียวเชียว
ข้อมูลจากหนังสือวังเจ้า วังเดิม ของกิตติ วัฒนะมหาตม์,www.nairobroo.com,
travel manager online,
วิกีพีเดีย
คำโม้และภาพถ่ายโดย สร้อยฟ้ามาลา
อีกเดี๋ยวมีประมวลภาพมาให้ชมกันต่ออีกนะ........
....................
................. -
วันวารในอดีตเมื่อเวลาเดินทางมาถึงปัจจุบัน ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างลบเลือนออกจากความทรงจำ เมื่อมาเยือนพระราชวังพญาไทก็อดไม่ได้ที่ต้องนึกถึง นั่นก็คือ เมืองเล็กๆ ที่ถูกลบเลือน "ดุสิตธานี"
ดุสิตธานี
พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มีพระราชประสงค์จะนำการปกครองระบอบประชาธิปไตยเข้ามาใช้ในประเทศไทยเพราะพระองค์ทรงได้รับการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ มีพระราชดำริว่าขณะนั้นประเทศไทยมีข้าราชการที่มีความรู้สูงขึ้น และราษฎรก็ได้รับการศึกษามากขึ้นเนื่องจากการศึกษาระบบโรงเรียนได้เริ่มขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ ๕และมีเจ้านายตลอดลูกหลานข้าราชบริพารได้ไปศึกษาวิชาการ ณต่างประเทศเป็นจำนวนมากสมควรที่จะได้มีส่วนรู้เห็นในการปกครองประเทศพระองค์จึงมีพระราชดำริริเริ่มการอบรมระบอบประชาธิปไตย พระราชกรณียกิจชิ้นสำคัญของพระองค์ท่าน ซึ่งมักจะไม่ได้รับการกล่าวถึงในหน้าประวัติศาสตร์ และเกือบจะลืมเลือนไปสำหรับคนสมัยนี้ ก็คือเมืองจำลองซึ่งโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า ดุสิตธานี หรือเมืองสวรรค์ ซึ่งนักเขียนพระราชประวัติผู้หนึ่งวิจารณ์ว่า “เป็นความคิดทางการเมืองที่แปลกที่สุดในโลก” พระราชดำริในเรื่องนี้อาจเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๘ เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร และประทับที่พระตำหนักจิตรลดา ทรงโปรดเกล้าฯให้จัดเรือนแถวสำหรับพวกมหาดเล็ก และทรงทดลองการปกครองระบบนคราภิบาลหลายรูปแบบ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๑ เมื่อเสด็จไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบทที่หาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี และในโอกาสที่ทรงสำราญพระราชหฤทัยร่วมกับข้าราชบริพารก่อสร้างเมืองทราย และมีพระราชดำริสร้างเมืองจำลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพ ฯ เมืองดุสิตธานีถือกำเนิดที่พระราชวังสวนดุสิต อีกหนึ่งปีต่อมาเมื่อทรงแปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังพญาไท ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ทรงโปรดเกล้าฯให้ย้ายเมืองดุสิตธานีมาตั้งบริเวณสวนหลังหมู่พระที่นั่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ครึ่ง สิ่งก่อสร้างต่าง ๆในธานีมีขนาดสูง ๒-๓ ฟุต ประกอบด้วย บ้านเรือนเอกชนพระราชวัง ศาสนสถาน และอนุสาวรีย์ สถานที่ราชการโรงทหาร ร้านค้า โรงพยาบาล ตลาด โรงแรม ธนาคาร สถานประกอบธุรกิจต่าง ๆ ทั้งมีถนนหนทางร่มรื่น แม่น้ำคูคลอง มีทั้งสวนสาธารณะ ชุ่มชื่นด้วยน้ำพุ และน้ำตก อีกทั้งกองดับเพลิง และ บริษัทไฟฟ้า ในเมืองดุสิตธานีมีงานรื่นเริงและงานพิธีเป็นประจำ อีกทั้งการแข่งเรือในแม่น้ำเกือบทุกคืน อาคารบ้านเรือนในเมืองจำลองนี้สร้างอย่างประณีต มีลวดลายละเอียดงดงาม และมีแบบแปลกแตกต่างกันไปทั้งแบบยุโรป ไทย มัวร์ แล้วแต่รสนิยมของผู้เป็นเจ้าของ เช่นบ้านหลังหนึ่งมีโดมแบบมัวร์ หน้าต่างและประตูโค้งรับกัน หลังหนึ่งมีสวนแบบโมกุลพร้อมด้วยน้ำพุในสระตามแบบแผน อีกหลังหนึ่งสร้างบนเนินเขาเป็นแบบสวิสซาเล่ แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือเจดีย์ ซึ่งสร้างแบบปรางค์ขอมบนฐานช้างล้อม พระราชวังวัชรินทร์งดงามแบบไทยแท้ ล้อมรอบด้วยคูน้ำ ทวยนาครหรือพลเมืองดุสิตธานี ส่วนใหญ่เป็นพวกข้าราชบริพารและพระสหายใกล้ชิด หรือข้าราชการพลเรือน ทรงอนุญาตให้แต่ละคนเลือกแบบก่อสร้างตามใจชอบ การปลูกบ้านในดุสิตธานีนั้น ผู้ปลูกจะต้องยื่นเรื่องราวขอซื้อที่ดินสำหรับแต่ละหลังซึ่งมีขนาดประมาณ ๑ ตารางเมตร เมื่อได้รับพระราชานุญาตจากเจ้าหน้าที่แล้วเนื่องจากบ้านแต่ละหลังมีราคาแพง จึงมีห้องแถวให้เช่าสำหรับผู้ไม่มีเงินสร้าง ซึ่งเจ้าของบ้านทุกคนจะต้องคอยดูแลบ้านของตนให้สะอาดเรียบร้อย มีการบริการด้านสาธารณูปโภค มีพนักงานชาวที่คอยดูแลตรวจตรา เจ้าของบ้านจะต้องเสียค่าน้ำ ค่าไฟ เก็บเงินเป็นเสมียนของท่านราม ซึ่งต่างก็แข่งขันกันสนองพระราชประสงค์ให้เป็นหลังที่สวยงามที่สุด ทว่าดุสิตธานี เมืองที่สว่างไสวด้วยไฟฟ้า และถนนหนทางที่คับคั่งไปด้วยผู้คนสมมติ ไม่ได้เป็นแค่ของเล่นของผู้ใหญ่ เป็นเมืองในนิยายดังเช่นบางคนในหมู่ข้าราชบริพารเคยชอบเอ่ยอ้าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงตั้งพระทัยให้เป็นเมืองตัวอย่างในหลาย ๆด้าน ดังพระราชดำรัสในวันเปิดศาลารัฐบาลเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๔๖๒ ว่า “…วิธีการดำเนินงานในธานีเล็กๆของเราเป็นเช่นไร ก็ตั้งใจไว้ว่าจะให้สยามประเทศได้ทำเช่นเดียวกัน แต่จะให้เป็นการสำเร็จรวดเร็วทันใจดังธานีเล็กนี้ ก็ยังทำไปทีเดียวยังไม่ได้ โดยมีอุปสรรคบางอย่าง”
“เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอให้ราชการทั้งหลายตลอดจนทวยนาคร จงตั้งใจกระทำกิจการของตนตามหน้าที่ให้สมกับธานีซึ่งได้จัดตั้งขึ้นนี้ ในไม่ช้าก็จะได้แลเห็นผลของประเทศสยามว่าจะเจริญไปได้เพียงไร”
พระองค์โปรดเกล้าฯให้พระยาบุรีนวราษฎร์ราชเลขานุการในพระองค์ แปลธรรมนูญการปกครองเทศบาลของอังกฤษแล้วทรงนำมาพิจารณาดัดแปลงแก้ไขใช้ในดุสิตธานีพระองค์ทรงร่างธรรมนูญลักษณะปกครองคำในอารัมภบทแสดงชัดถึงพระราชเจตนารมย์ว่าก่อตั้งเมืองดุสิตธานีเพื่อส่งเสริมความคิดในเรื่องการปกครองตนเองให้มีขึ้นในราษฎรไทย บรรดาทวยนาครกว่า ๒๐๐ คน ทั้งหญิงและชาย มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งนคราภิบาล ตำแหน่งซึ่งทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงก็สามารถเป็นได้หากมีทวยนาครอื่นรับรองอีกหนึ่งคน นคราภิบาล มีอำนาจแต่งตั้งคณะนคราภิบาล ประกอบด้วย เจ้าพนักงานการคลังเจ้าพนักงานโยธา ผู้รักษาความสะดวกของประชาชน และคณะนคราภิบาลจะเลือกตั้งสภาเลขาธิการ มีหน้าที่ดำเนินการด้านงานประจำของคณะนคราภิบาล
ดุสิตธานีมีพรรคการเมืองสองพรรค คือ พรรคแพรแถบสีน้ำเงิน (ทำหน้าที่คล้ายฝ่ายค้าน) และพรรคแถบแพรสีแดง (ฝ่ายปกครอง) การเลือกตั้งดำเนินการตาม “ธรรมนูญลักษณะการปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พระพุทธศักราช ๒๔๖๑” ซึ่งมี ๕๑ มาตรา และมีการแก้ไขเพิ่มเติม ๒ ครั้ง วิธีการสำคัญที่ทรงกระทำคือการปูพื้นฐานทางการเมืองให้แก่ประชาชนโดยผ่านกระบวนการของการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล ซึ่งเป็นการบริหารแบบประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้น จึงทรงรื้อฟื้นการทดลอง ปกครองในรูปแบบเทศบาลหรือที่ทรงเรียกว่า นคราภิบาล โดยทรงจัดตั้งเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” ณ บริเวณรอบๆ พระที่นั่งอุดรในพระราชวังดุสิต สมมุติให้ดุสิตธานีมีฐานะเป็นมณฑลหนึ่งในราชอาณาจักรสยามช่อว่า “มณฑลดุสิต” มีหม่อมเจ้าปราณีเนาวบุตร์ ทรงดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภาล ทำหน้าที่ว่าราชการมณฑล ซึ่งอาจเทียบได้กับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบัน เป็นหัวหน้าดำเนินการปกครองโดยทั่วไป เมืองดุสิตธานีแบ่งออกเป็น ๖ เขตการปกครอง แบ่งเป็นอำเภอและกิ่งอำเภอคือ ดุสิต, ปากน้ำ, ดอนพระราม, บึงพระราม, เขาหลวงและบางไทร แต่ละเขตอำเภอจะเลือกเชษฐบุรุษหนึ่งคนเป็นตัวแทนในคณะนคราภิบาล มีการเลือกตั้งและเสียภาษีอากรทุกเดือน เพราะทรงกำหนดให้นับเวลา ๑ เดือน ในดุสิตธานีเท่ากับ ๑ ปี ในสองปีแรกของเวลาดุสิตธานี มีการเลือกตั้ง ๗ ครั้งด้วยกัน และทุกสองปีจะมีการประกวดและให้รางวัลบ้านที่ได้มีการดูเเลรักษาดีเยี่ยม จัดการทำนุบำรุงด้านสุขาภิบาลและการป้องกันโรคภัย จัดการเก็บภาษีที่ดิน สนับสนุนให้มีการออกหนังสือพิมพ์ สนับสนุนการตั้งพรรคการเมือง จัดตั้งธนาคาร เรียกว่า ดุสิตธนาคาร ขึ้น ซึ่งต่อมาได้เป็นต้นแบบของธนาคารออมสิน
ดุสิตธานีออกหนังสือพิมพ์รายวันสองฉบับคือ ดุสิตสมัยกับดุสิตสักขี ดุสิตสักขีมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่าดุสิตรีคอร์ดเดอร์ และรายสัปดาห์ออกทุกวันเสาร์หนึ่งฉบับคือดุสิตสมิต เนื่องด้วยพระองค์ท่านทรงห่วงใยและทรงตระหนักในพระทัยว่ามาตรฐานการหนังสือพิมพ์ของไทยยังต้องปรับปรุง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่พระองค์ท่านทรงเอาพระทัยใส่หนังสือพิมพ์ของดุสิตธานีเป็นพิเศษและทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการองค์หนึ่งของหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต ซึ่งมีขนาด ๑๒ หน้า ประกอบด้วยบทความกวีนิพนธ์ และภาพวาด ทั้งยังทรงมีพระราชนิพนธ์ลงพิมพ์ด้วยอย่างสม่ำเสมอ เช่น เรื่อง หัวใจชายหนุ่ม ซึ่งแสดงความรู้สึกนึกคิดของหนุ่มไทยคนหนึ่งที่กลับมาบ้านเกิดเมืองนอน หลังจากได้ไปศึกษาต่างประเทศเป็นเวลานาน ทรงนิพนธ์เป็นเรื่องยาวถึง ๑๐ ตอน ลงในหนังสือดุสิตสมิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐
ภาพล้อเลียนในหนังสือพิมพ์
บุคคลนอกวงการบางคนที่ทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานธรรมนูญลักษณะปกครองสำหรับเมืองดุสิตธานี เริ่มมีกำลังใจและคาดหวังว่าพระองค์จะทรงมีแนวคิดเดียวกันในระดับชาติ แต่การณ์มิได้เป็นเช่นนั้น ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯจะมีพระราชดำริโน้มเอียงในทางประชาธิปไตย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หัวโบราณยังยืนกรานไม่เห็นชอบด้วย เสนาบดีท่านหนึ่งทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นว่า “พลเมืองยังขาดความรู้ความเข้าใจ... ผู้ที่ต้องการให้มีรัฐสภาคิดได้แต่ประโยชน์ของตนเองยิ่งกว่าประโยชน์ของบ้านเมือง”
ในจำนวนบ้านเล็ก ๆ นั้น มีศาลาว่าการมณฑลดุสิตธานีและมีนาคาศาลา ซึ่งมีความหมายว่า ศาลาของประชาชน เท่ากับว่าเป็นที่ตั้งสภาจังหวัด รัชกาลที่ ๖ ทรงเป็นนาคาแห่งดุสิตธานีผู้หนึ่ง ทรงใช้นามแฝงว่า นายราม ณ กรุงเทพ ทรงเป็นทนายและทรงเป็นมรรคทายกวัดพระบรมธาตุ ทรงเป็นพระราชมุนี เจ้าอาวาสวัดธรรมธิปไตย และทรงแสดงพระธรรมเทศนาจริง ๆ ด้วย นอกจากนี้ทรงให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องที่ดิน แม้ในแวดวงของดุสิตธานีก็มีปัญหาในการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงพยายามเป็นพลเมืองธรรมดาๆ คนหนึ่ง ทวยนาครทั้งหลายไม่อาจเล่นบทตามพระองค์ท่านได้จึงต้องถวายตำแหน่งเชษฐบุรุษพิเศษยกให้เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล
เมืองดุสิตธานียุติบทบาทเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๖๘ เมื่อพระชนฉายเพียง ๔๔ ปี เมืองจำลองถูกรื้อถอน อาคารบ้านเรือนหลายหลังเจ้าของขนย้ายออกไป ส่วนที่เหลือก็ปล่อยให้ขึ้นราอยู่ในห้องเก็บของ เมืองดุสิตธานีทั้งเมืองจึงเหลือแต่ภาพถ่าย และเรื่องราวเบื้องหลังรวบรวมขึ้นด้วยความอุตสาหะของข้าราชบริพารบางท่าน ที่ยังจดจำเรื่องนี้ไว้เป็นอนุสรณ์พระราชปณิธานในพระเจ้าอยู่หัว
ข้อมูลจาก มูลนิธิพระราชวังพญาไท,วิชาการดอทคอม, สกุลไทย
เรียบเรียงโดย สร้อยฟ้ามาลา
หน้า 3 ของ 169