ชมเมืองดุสิตธานีคัดลอกมาจากคำบรรยายของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาติในงานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๓
ทิวทัศน์อำเภอดุสิต ดุสิตธานี
ภาพนี้เป็นภาพที่สวยงามมากที่สุด คล้ายกับว่าถ่ายจากอากาศ (ความจริงนั้นถ่ายจากเฉลียงชั้นบนของพระตำหนักอุดมวนาภรณ์) และเห็นภูมิประเทศทางด้านตะวันตก ของพระราชวัง พระวัชรินทร์ราชนิเวศน์เห็นส่วนหนึ่งของป้อมคงเขื่อนเพชรทางด้านซ้ายมือ มีลำน้ำดุสิตอยู่เบื้องล่าง เลี้ยวซ้ายลอดสะพานไปแล้วเลี้ยวขวา แยกเป็นสองสายเกิดเกาะแก้วพิศดารซึ่งมีพระวัชรเจดีย์ตั้งอยู่ และเกาะแมนสรวง ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดธรรมธิปไตย แลเห็นพระอุโบสถอยู่ทางขวามือ สะพานที่มีลักษณะแบบนี้มีอยู่ ๔ สะพาน คือ
สะพานพระรามทรงศรี
สะพานจักรีทรงสวัสดิ์
สะพานจอมกษัตริย์ทรงเดช
สะพานนเรศทรง ฤทธิ์
ถ้าจะถือหลักเวียนทักษิณาวรรต เช่นเดียวกับพระทวาร และป้อมที่กำแพงพระราชวัง สะพานที่เห็นอยู่นี้ก็จะต้องเป็นสะพาน “นเรศทรงฤทธิ์” ซึ่งเชื่อมถนนหน้าพระลาน กับถนนสยาม ชนะศึก พื้นที่ตรงกลางภาพนี้ คือสวนในบริเวณ “บ้านนันทา” ของพระยาอนิรุทธเทวา แลเห็นอาคารใหญ่อยู่ตรงกลาง
เมื่อท่านเข้าไปชมดุสิตธานีทางด้านอัฒจันทร์ พระที่นั่งอุดร เลี้ยวขวาเข้าไปถึงอำเภอเขาหลวง ท่านจะเห็นภาพนี้ ถนนใหญ่ที่เห็นคือถนนอาคเณยาสตร์ อาคารใหญ่ทางมุมซ้ายบน คือ โฮเต็ลเมโตรโปล ที่ทวยนาครเข้าไปได้จริงๆ แทนที่จะเข้าโฮเต็ลเมโตรโปลหลังเล็ก ซึ่งเข้าไปไม่ได้
.oO เรื่องสั้น ปั้นแต่ง Oo.
ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย สร้อยฟ้ามาลา, 22 กุมภาพันธ์ 2012.
หน้า 4 ของ 169
-
-
บ้านคหบดีที่อำเภอปากน้ำ
ดุสิตธานีมีอาคารไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ หลัง ส่วนใหญ่เป็นอาคารสองชั้น แต่อาคารสามชั้นงามๆ ก็มีมาก เช่น บ้านหลังนี้ซึ่งอยู่ในอำเภอปากน้ำดูแบบที่สร้าง เห็นว่าคงจะอยู่สบายมาก
บ้านคหบดี ในอำเภอเขาหลวง
เข้าใจว่าบ้านนี้คือ “บ้านมาลากุล” ของเจ้าพระยาธรรมธิกรณาธิบดี อยู่ที่ถนนพายวาสตร์
การวางผังถนนในอำเภอเขาหลวงนี้น่าสนใจมาก ถนนสายใหญ่ ๕ สาย คล้ายกับนิ้วมือ ๕ นิ้ว ถ้าท่านวางมือซ้ายของท่านคว่ำลง หันหน้าไปทางทิศใต้ หัวแม่มือก็คือถนนวารุณาสตร์ นิ้วชี้คือ ถนนอาคเณยาสตร์นิ้วกลางคือถนนพายวาสตร์ นิ้วนางคือถนนพรหมาสตร์ และนิ้วก้อยคือถนนเอนทราสตร์ ซึ่งพุ่งตรงเข้าไปในเขตตำบลบางไทร ทางด้านใต้สุดมีถนนชื่อเข้าชุดเดียวกัน คือ ถนนมายาสตร์ ท่านทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นเยาวชน ท่านอาจค้นคว้าดูว่าชื่อเหล่านี้มาจากอะไร ที่ไหน “จึงชักพายวาสตร์ขึ้นพาดสาย พระเนตรหมายเขม้นเข่นฆ่า ฯลฯ
ในอำเภอนี้ยังมีถนนสายอื่นอีก ท่านทั้งหลายก็คงจะทราบแล้วว่าพระนารายณ์สี่กร ทรงถือ คฑา จักร สังข์ ธรณี เราก็มีถนน ธนูศักดิ์ จักรขลัง, สังข์สง่า, คฑาศรี และธรณีสวัสดิ์ เรียงลำดับกันมาจากใต้ไปหาเหนือ เช่นเดียวกับ 1st Street, 2nd Street, 3rd Street ฯลฯ ในนคร New York
บางบ้านก็มีแบบสถาปัตยกรรมแปลกๆ ไม่ทราบว่ากี่ชั้น เช่นบ้านนี้ ซึ่งอยู่ในอำเภอเขาหลวง ริมลำน้ำดุสิตด้านตะวันออก
บ้านคหบดีที่อำเภอเขาหลวง
-
กลุ่มอาคารที่มีความสำคัญอันดับ ๑ ก็คือพระราชวังที่มีชื่อว่า พระราชวัชรินทร์ราชนิเวศน์นั่นเอง ส่วนใหญ่จำลองมาจากพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ ในภาพนี้จะเห็นพระราชวัง มองจากทิศพายัพ เห็นกำแพงพระราชวังพระทวาร ป้อมและพระที่นั่งต่าง ๆ มีกลุ่มพระมหาปราสาทเห็นในระยะไกล ส่วนพระที่นั่งองค์ใกล้ คือพระที่นั่งสุทไธสูรย์ปราสาท ภาพนี้ถ่ายจากถนนราชดำเนิน เห็นลำน้ำดุสิต ถนนริมกำแพงพระราชวัง คือถนนหน้าพระลาน และที่เลี้ยวไปทางขวาคือถนนเขื่อนเพชร ป้อมใหญ่ที่เห็นคือป้อมคงเขื่อนเพชร พระทวารทั้งสองที่แลเห็นคือ ประตูกุเวรรังสรรค์และประตูเวสสะวัณรังสฤษฏ์
พระราชวังพระวัชรินทร์ราชนิเวศน์ ริมลำน้ำดุสิต
ภาพนี้คือพระราชวังมองจากทิศอุดร เห็นกลุ่มพระมหาปราสาทอยู่บนเนินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ป้อมทางขวามือคือป้อมเผด็จฤทธิ์แรง และป้อมที่มุมทางซ้ายมือคือป้อมแผลงฤทธิ์กล้า อาคารหลังเล็กหลังป้อมนี้คือ หอแก้ว หรือ ศาลพระพิฆเณศวร
กลุ่มพระมหาปราสาทในพระราชวัง
พระที่นั่งองค์ใหญ่ที่คล้ายพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังนี้คือ พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท ขอให้ท่านผู้มีเกียรติสังเกตความประณีตของสถาปัตยกรรมด้วย พระที่นั่งองค์ข้างซ้ายมือ คือพระที่นั่งบรมราชพิมาน คล้ายกับว่าจะแทนพระที่นั่งพิมานรัถยาในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งองค์เล็กบนกำแพงแก้วทางซ้ายมือ คือพระที่นั่งอาภรณ์พิรายุธสร้างตามแบบพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ ที่ข้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทนั้นเอง ส่วนอาคารเล็กทางขวามือนั้น คือ ศาลท้าวหิรันยพนาสูร
พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท
-
ท่านผู้มีเกียรติคงจะบอกได้ทันทีว่าภาพนี้เหมือนพระที่นั่งสุทไธสวรรค์ระหว่างประตูเทวาพิทักษ์ และ ประตูศักดิ์ชัยสิทธิ์ ของพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ แต่ภาพนี้คือพระที่นั่งสุทไธสูรย์ปราสาท ระหว่างประตูกุเวรรังสรรค์ และประตูเวสสะวัณรังสฤษฏ์ ของพระวัชรินทร์ราชนิเวศน์ ในดุสิตธานี ถ่ายจากภายในของพระราชวัง ภาพที่เป็นฉากหลังเบื้องบนนั้นคือ พระตำหนักอุดมวนาภรณ์
พระที่นั่งสุทไธสูรย์ปราสาท
ภาพนี้คือพระที่นั่งสถานชโลทร ริมลำน้ำดุสิต นี่คือ “ตำหนักแพ” ของดุสิตธานีนั่นเอง อยู่ตรงประตูอุทกราชาของพระราชวังทางด้านถนนเขื่อนเพชร แลเห็นพระที่นั่งสุทไธสูรย์ปราสาทอยู่เบื้องหลัง
พระที่นั่งสถานชโลธร
ภาพนี้คือบริเวณพระราชวังทางซีกตะวันตก เห็นจากใกล้ไปหาไกล คือ พระที่นั่งสุทไธสูรย์ปราสาท หอพระพุทธรัตนสถาน และพระที่นั่งจันทรกานต์มณี (เก๋งจีน) ถนนด้านล่างคือถนนหน้าพระลาน ถนนจากมุมขวาล่างตรงขึ้นไปเบื้องบน คือถนนเขื่อนเพชร บริเวณด้านขวามือคือเขตของบ้าน “สามเหลี่ยม” และสวนนันทอุทยาน
พระราชวังพระวัชรินทร์ราชนิเวศน์ ด้านตะวันตก
-
หอพระพุทธรัตนสถานนี่คือหอพระพุทธรัตนสถาน ซึ่งตั้งอยู่บนเนินริมกำแพงพระราชวังด้านตะวันตก มองจากทิศอุดร
ภายในบริเวณพระราชวังทางทิศทักษิณ มีพระที่นั่งชื่อพระที่นั่งเทวอาสน์จำรูญ ซึ่งสร้างคล้ายพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ (เปลี่ยนชื่อเป็นพระที่นั่งบรมพิมาน) ในพระบรมมหาราชวัง
พระที่นั่งเทวอาสน์จำรูญ
ภายในบริเวณพระราชวังมีลำน้ำและสระน้ำที่สวยงามดังภาพนี้ แลเห็นพระที่นั่งเทวอาสน์จำรูญในระยะไกล
พระที่นั่งเทวอาสน์จำรูญ และสระน้ำ -
พระตำหนักเฟด์รายานี
ทางด้านบูรพา มีอาคารทรงอินเดีย มีนามว่าพระตำหนักเฟด์รายานีมีน้ำพุเป็นแถวอยู่เบื้องหน้า คล้ายกับว่าจะล้อทาชมาฮาลที่เมืองอัครา
“พระตำหนักแบบแขกดูแปลกดี
ชื่อเฟด์รายานีดีนักหนา
หน้าตำหนักมีพุพุ่งธารา
เป็นเทือกแถวแววตาแสนน่าชม”
พระตำหนักเรือนต้น
ภายในพระราชวัง สุดทางด้านอาคเนย์ มีพระตำหนักเรือนต้น
“ตำหนักไทยได้นามว่าเรือนต้น ฝาปะกนมุงกระเบื้องเรืองอร่าม
มีหอนกหอนั่งสพรั่งงาม แบบสยามโบราณท่านแตงไว้
อีกเรือนชานบริเวณก็มีพร้อม ทั้งแวดล้อมพระที่นั่งทั้งน้อยใหญ่
เป็นที่พักบริพารสำราญใจ ได้อาศัยพึ่งพระบารมี”
แต่ตามทะเบียนบัญชีสำมะโนครัวทวยนาครในตำบลดุสิต ปรากฏว่า พระราชวัง พระวัชรินทร์ราชนิเวศน์ ตั้งอยู่ที่ถนนหน้าพระลาน มี ๓๕ หลังคาเรือน มีคนอยู่เพียง ๑ คน ชื่อ พระวิสุทธิ เป็นคนเฝ้าพระราชวัง -
บัดนี้ ข้าพเจ้าจะนำท่านออกไปนอกพระราชวัง
ทิวทัศน์อำเภอดุสิต ดุสิตธานี
ภาพนี้เป็นภาพที่สวยงามมากที่สุด คล้ายกับว่าถ่ายจากอากาศ (ความจริงนั้นถ่ายจากเฉลียงชั้นบนของพระตำหนักอุดมวนาภรณ์) และเห็นภูมิประเทศทางด้านตะวันตก ของพระราชวัง พระวัชรินทร์ราชนิเวศน์เห็นส่วนหนึ่งของป้อมคงเขื่อนเพชรทางด้านซ้ายมือ มีลำน้ำดุสิตอยู่เบื้องล่าง เลี้ยวซ้ายลอดสะพานไปแล้วเลี้ยวขวา แยกเป็นสองสายเกิดเกาะแก้วพิศดารซึ่งมีพระวัชรเจดีย์ตั้งอยู่ และเกาะแมนสรวง ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดธรรมธิปไตย แลเห็นพระอุโบสถอยู่ทางขวามือ สะพานที่มีลักษณะแบบนี้มีอยู่ ๔ สะพาน คือ
สะพานพระรามทรงศรี
สะพานจักรีทรงสวัสดิ์
สะพานจอมกษัตริย์ทรงเดช
สะพานนเรศทรง ฤทธิ์
ถ้าจะถือหลักเวียนทักษิณาวรรต เช่นเดียวกับพระทวาร และป้อมที่กำแพงพระราชวัง สะพานที่เห็นอยู่นี้ก็จะต้องเป็นสะพาน “นเรศทรงฤทธิ์” ซึ่งเชื่อมถนนหน้าพระลาน กับถนนสยาม ชนะศึก พื้นที่ตรงกลางภาพนี้ คือสวนในบริเวณ “บ้านนันทา” ของพระยาอนิรุทธเทวา แลเห็นอาคารใหญ่อยู่ตรงกลาง
พระอุโบสถ วัดธรรมาธิปไตย
พระอุโบสถ วัดธรรมาธิปไตย ซึ่งสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมเขมร ฝีมือประณีตงดงามมาก ขอให้สังเกตพระพุทธรูปยืนในซุ้มเหนือประตูพระอุโบสถนั้นด้วย
วัดธรรมาธิปไตยด้านตะวันตก คือส่วนที่เป็นสังฆาวาส มีกำแพงล้อมรอบ ภาพนี้ถ่ายจากถนน ๒๒ กรกฎาคม อาคารหลังวัด หลังใหญ่คือ ศาลารัฐบาลมณฑลดุสิต (ด้านหลัง) หลังเล็กทางขวาคือจวนสมุหเทศาภิบาล ทางซ้ายหลังเล็กต่อจากศาลารัฐบาลมณฑลดุสิต คือ ที่ทำการอำเภอ ต่อไปทางซ้ายคือสถานีตำรวจ อาคารเหล่านี้ หันหน้าออกทางถนนสยามชนะศึก มุมซ้ายบนคือ วนวิจิตรมาลีของอำเภอปากน้ำอาคารใหญ่ที่เป็นฉากหลังคือพระตำหนักอุดมวนาภรณ์
สังฆาวาส วัดธรรมาธิปไตย
-
ภาพประตูและกำแพงวัดธรรมาธิปไตย ถ่ายจากด้านถนน ๒๒ กรกฎาคม เป็นภาพศิลปะ ทางมุมซ้ายบนในระยะที่ไกลมาก แลเห็นพระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท และพระที่นั่งบรมราชพิมาน ในพระราชวังพระวัชรินทร์ราชนิเวศน์
ประตูและกำแพง วัดธรรมาธิปไตย
ภาพหอนาฬิกา ตั้งอยู่ที่ริมลำน้ำดุสิต ตรงสุดเขตวัดธรรมาธิปไตย ด้าน ถนน ๒๒ กรกฎาคม ไม่ห่างศาลมณฑล หอนาฬิกาแบบนี้ที่กรุงเทพฯ หามีไม่
หอนาฬิกา ในอำเภอดุสิต
ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๑๗ ถนนสยามชนะศึก อาคารหลังนี้คือศาลารัฐบาลมณฑลดุสิตที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๒ และได้พระราชทานพระราชดำรัสตอบคำกราบบังคมทูลของสมุหเทศาภิบาลมณฑลดุสิต มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า
ศาลารัฐบาลมณฑลดุสิต
“...วิธีการดำเนินการในธานีเล็กๆ ของเราเป็นเช่นไร ก็ตั้งใจว่าจะให้ประเทศสยามได้ทำเช่นเดียวกัน แต่จะให้เป็นการสำเร็จรวดเร็วทันใจดังธานีเล็กนี้ ก็ยังทำไปทีเดียวยังไม่ได้ โดยมีอุปสรรคบางอย่าง
เพราฉะนั้น ข้าพเจ้าขอให้ข้าราชการทั้งหลายตลอดจนทวยนาคร จงตั้งใจกระทำกิจการของตนตามหน้าที่ให้สมกับธานีซึ่งได้จัดตั้งขึ้นนี้ ในไม่ช้าจะได้แลเห็นผลของประเทศสยามว่าจะเจริญไปได้เพียงไร...” -
โรงทหาร ถนนพิลึกฤทธิ์ไทย
โรงทหารก็มีอยู่ที่ถนนพิลึกฤทธิ์ไทย ดังภาพนี้ ด้านหน้าเป็นสวนสาธารณะ
อนุสาวรีย์ทหารอาสาในสวนนันทอุทยาน
ภาพนี้มีประวัติที่ควรทราบคือ เมื่อทหารอาสากลับจากราชการสงคราม ณ ทวีปยุโรป ได้มีการเรี่ยไรบรรดาทวยนาคร เพื่อสร้างอนุสาวรีย์เป็นที่ระลึกถึงทหารที่ได้เสียชีวิต ภายใน ๗ วัน ได้เงิน ๑,๖๘๙ บาท จึงได้สร้างอนุสาวรีย์ที่เห็นนี้ ทำด้วยศิลาขาว ประดิษฐานอยู่บนเนินในสวน นันทอุทยาน ถนนชัยชนะสงคราม อำเภอดุสิต มีงานฉลองเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินในพิธี ทรงวางพวงมาลาดอกไม้สด ซึ่งแลเห็นอยู่ในภาพนี้
ในภาพนี้ ทางขวามือในระยะไกลคือ พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาทในพระราชวัง อาคารใหญ่ที่เป็นฉากหลังนั้นคือ นาครศาลาหลังใหญ่ที่ทวยนาครไปประชุมเลือกตั้งเชษฐบุรุษ และนคราภิบาล
ข้าพเจ้าได้พาท่านชมอำเภอดุสิตมาเป็นเวลาช้านาน ก่อนที่จะออกจากอำเภอนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะเรียนให้ท่านทั้งหลายทราบด้วยว่า ข้าพเจ้าเองมีบ้านอยู่ในอำเภอนี้ คืออยู่ที่เลขที่ ๙ ถนนชัยชนะสงคราม ตรงกันข้ามกับสวนนันทอุทยานนี้เอง เพื่อนบ้านของข้าพเจ้าที่อยู่บ้านเลขที่ ๘ คือ หม่อมเจ้าดิศานุวัติ ดิศกุล และเพื่อนบ้านที่อยู่บ้านเลขที่ ๑๐ คือ ขุนสันทานมาลากร แถบที่บ้านข้าพเจ้าตั้งอยู่ มีโรงไฟฟ้า ตลาด บ้านเช่า ร้านค้า ร้านค้าที่สำคัญ คือ ร้านสุจริตเกศากันต์ (ตัดผม), ร้านสว่างนาน (ขายเครื่องเขียน), ร้านฉายาลัย (ถ่ายรูป), ห้างซีซูโอกาสาขาบุณยเกียรติ (ขายของต่าง ๆ) กับมีสำนักงานหนังสือพิมพ์ดุสิตสมัยด้วย -
บัดนี้ ข้าพเจ้าจะพาท่านไปยังอำเภอปากน้ำ
คลองมิ่งเมือง
ภาพนี้คือคลองมิ่งเมือง ซึ่งกั้นเขตระหว่างอำเภอดุสิตทางขวามือ และอำเภอปากน้ำทาง ซ้ายมือ มองจากตะวันตกไปตะวันออก คลองนี้เป็นคลองลัด ขณะที่ลำน้ำดุสิตวกไปทางทิศใต้
เขาวัดพระพุทธบาท
สิ่งที่สำคัญที่สุดในอำเภอปากน้ำนี้ คือเขาพระพุทธบาท ซึ่งอยู่ทางทิศพายัพของดุสิตธานี ในภาพนี้จะแลเห็นวิหารพระพุทธบาทอยู่ทางซ้ายและพระเจดีย์ทางขวา
พระอุโบสถวัดพระพุทธบาท
ภาพพระอุโบสถวัดพระพุทธบาท
นอำเภอปากน้ำ มีพระราชวังพระวรุณราชนิเวศน์ และบ้านใหญ่ ๆ หลายหลัง นอกจาก บ้านที่อยู่อาศัยของทวยนาครมีอู่เรือ มีโรงทหารราชนาวี มีตลาดปลาทู มีโรงสีโม่วโล่งฮั้ว มีกองดับเพลิงที่ ๑ พร้อมทั้งหอคอยของนาครผู้หนึ่ง จำได้ว่ามีเพลิงไหม้ ๒ ครั้ง ข้อที่ควรทราบอย่างยิ่งข้อหนึ่ง คือ ในอำเภอนี้มีถนนสายหนึ่งหลังเขาพระพุทธบาทริมคลองขวัญเมือง ชื่อถนนราษฎรมรรคา เขียน ร-า-ษ-ฎ-ร
ในลำน้ำดุสิต ใกล้ปากน้ำมีทุ่นสำหรับจอดเรือด้วย -
ตำหนักของท่านสมุหเทศาภิบาล ที่อำเภอปากน้ำ
ภาพนี้เข้าใจว่าเป็นตำหนักของท่านสมุหเทศาภิบาล ในอำเภอปากน้ำก่อนที่จะย้ายไปตั้งที่อำเภอบางไทร
ในอำเภอปากน้ำนี้ยังมีสถานที่สำคัญอีกคือ สวนวิจิตรมาลี ในสวนวิจิตรมาลีนี้ มีบ่อนาก และบ่อปลามีผู้ชมความงามของสวนวิจิตรมาลีนี้ไว้เป็นโคลงสี่สุภาพ ซ้ำยังบอกด้วยว่า มีต้นไม้อะไรขายบ้าง ท่านที่เป็นนักพฤกษศาสตร์ควรทราบไว้พรรณไม้มีหมดไม้.........มากมวล
งามสวนพิเศษพร้อม.......พฤกษี
ชื่อวิจิตรมาลี............ เลิศล้ำ
อรุณวงศ์วัฒกี........... ผู้จัด ทำเฮย
แสนสุขสนุกกล้ำ..........เก่งแม้นเมืองแมน
ฯลฯ
ต่างดอกต่างสีชวน.........ชื่อแท้
แลชอุ่มชุ่มสมสวน..........สรวยสด สีเฮย
ใครชอบเชิญซื้อแล้..........เลือกได้ดั่งใจ
สีนวน สำมะรส พล้า.........ใบลาย
เล็บครุฑ หญ้าซุ้มกระต่าย.....ซ่มเช้า
ชาใบใหญ่ บัวสาย...........ชาดัด
ปากเป็ดแดง ครุธเท้า -.......เต่า งุ้มเขาแกะ
สมอเจ็ดคด เจ้า.............อินเดีย
ยี่เข่งหนู เจ้าเมีย.............มากไซร้
สระแหยะด่าง ปัตเวีย.........อรุณเรื่อ
เข็มมะดัน เข็มไม้............ครุธไส้ง่อน สน
เกล็ดหอย กระส้ม ยี่-.........สุ่นหนู
อังกาบสีชมพู...............มากล้น
เบ็ญจรงค์ ทับทิมหนู .........เฟิน ไผ่-จีนนา
มะสังดัด พังแพวต้น .........และทั้ง กล้วยจีน
“อรุณวงศ์วัฒกี” ที่กล่าวถึงนั้น คือ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง มีสำนักงานอยู่ที่ถนนเยี่ยมสมุทรในอำเภอนี้ และมีสาขาอยู่ในอำเภอบางไทร -
ข้าพเจ้าจะขอพาท่านไปชมอำเภอดอนพระราม และบึงพระรามต่อไป
ที่ดอนพระราม มีถนนสายใหญ่ชื่อคล้องกัน คือ พระรามประพาส สุรราชเรืองเดช บุณยเกษตรสีมา ถนนซอยนั้นไม่เรียกว่าซอย เรียกว่า แพรก มี แพรกหณุมาน แพรกชมภูพาน และ แพรกองคต มีโรงพยาบาลชื่อโรงพยาบาลสุนทรเวช มีสวนสาธารณะชื่อสวนพระรามประทาน นาครผู้หนึ่งใช้นามปากกาว่า “นายกลอนพาไป” ได้กล่าวชมไว้ดังนี้
“มาถึงสวนพระรามตามสังเกต
ในขอบเขตแลวิจิตรประดิษฐาน
สารพันมิ่งไม้ในอุทยาน
พระประทานสวนหลวงไม่หวงกัน
ให้เป็นสาธารณะสมบัติประดับ
ไว้สำหรับดุสิตธานีสวรรค์
ประกอบกิจวิจิตรประสิทธิครัน
จัดสร้างสรรตามประโยชน์โปรดประทาน”
บึงพระราม
ส่วนบึงพระรามนั้น มีบึงใหญ่และเกาะเล็กเกาะน้อย รู้สึกว่าเป็นชนบทของดุสิตธานี บ้านโปร่งใจของท่านราม ณ กรุงเทพ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของบึงก็มุงหลังคาจาก และรั้วบ้านเป็นรั้วไม้ไผ่ บ้านโปร่งใจนี้มีถึง ๓๐ หลังคาเรือน ท่านราม ณ กรุงเทพ ทำพิธีขึ้นบ้าน เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๒ ตำบลบึงพระรามนี้
มีสภาพเป็นชนบทจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระราชวังอังกฤษมาตั้งที่บึงพระรามทางด้านตะวันตก
ภาพเดียวกันแต่มองจากทิศตะวันตก เลยบ้านโปร่งใจไปติดต่อกับอัฒจันทร์พระที่นั่งอุดร คือที่ตั้งของสวนลุมพินี
บ้านโปร่งใจ ที่บึงพระราม
ในภาพนี้ ทางขวามือมีอนุสาวรีย์ปรศุราม อยู่กลางวงเวียนถนนบุณยเกษตรสีมา
อนุสาวรีย์ปรศุรามนี้ มีอยู่สองแห่งด้วยกัน อีกแห่งหนึ่งอยู่ในอำเภอบางไทร ปรศุรามวตาร คือพระนารายณ์อวตาร ปางที่ ๖ อวตาร ลงมาปราบท้าวการตะวีรยะ -
พระที่นั่งอนันตนาคมโหฬาร์ (ในพระราชวังอังกฤษ)
ภาพนี้คือพระที่นั่งอนันตนาคมโหฬาร์ สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมทิวดอร์ สมัยพระนางเจ้าอลิซาเบทแห่งประเทศอังกฤษ เมื่อ ๔๐๐ ปีมาแล้ว จึงเรียกกันติดปากว่า พระราชวังอังกฤษ แท้จริงดูเหมือนว่าจะชื่อพระราชวังบึงพระราม มีพระที่นั่งต่าง ๆ ๔ องค์ด้วยกัน
ข้าพเจ้าเห็นว่าภาพนี้งดงามมาก มีเงาอยู่ในน้ำ แต่ที่น่าพิศวงก็คือเงาสีขาวทางขวามือนั้นเงาอะไร ต้องกลับภาพให้ข้างล่างขึ้นข้างบน จึงจำได้ว่าเป็นภาพระเบียงทางเดินชั้นบนจากพระที่นั่งอัมพรสถาน ไปยังพระที่นั่งอุดร ซึ่งฉายเงาลงไปในน้ำ
สะพานเข้าพระราชวังอังกฤษ ที่บึงพระราม
ภาพนี้คือส่วนหนึ่งของพระราชวังอังกฤษ มีสะพานข้ามไปยังถนนบุณยเกษตรสีมา ตรงหน้าวัดสุขสมาวาส โปรดสังเกตสะพานนี้ด้วยว่าสร้างสวยงามและมั่นคงเพียงใด
พระอุโบสถ วัดสุขสมาวาส
นี่คือพระอุโบสถของวัดสุขสมาวาส อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอบึงพระราม
บัดนี้ข้าพเจ้าจะพาท่านไปชมอำเภอเขาหลวงต่อไป อำเภอนี้มีชื่อตามเขาซึ่งอยู่ทางทิศอาคเนย์ และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำคลองส่วนใหญ่ การประปาในอำเภอบางไทรก็รับน้ำไปจากเขาหลวง ีคลองส่งน้ำยกระดับสูงลาดไปสู่ที่ทำการประปา อำเภอเขาหลวงนี้มีลักษณะคล้ายตำบลที่เราเรียกกันว่า “บางกะปิ” ในกรุงเทพฯ บรรดาท่านเจ้าพระยาทั้งหลาย คือ เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาอภัยราชา เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี และ เจ้าพระยารามราฆพ ก็มีบ้านอยู่ในอำเภอนี้
ท่านราม ณ กรุงเทพ มีบ้านอยู่หลังหนึ่งบนเขาหลวง ชื่อ บ้านหย่อนใจ และที่มุมทิศหรดีของอำเภอนี้มีสวนชื่อสวนสราญรมย์ -
บางบ้านก็มีแบบสถาปัตยกรรมแปลกๆ ไม่ทราบว่ากี่ชั้น เช่นบ้านนี้ ซึ่งอยู่ในอำเภอเขาหลวง ริมลำน้ำดุสิตด้านตะวันออก
บ้านคหบดีที่อำเภอเขาหลวง
แต่สิ่งที่สวยงามที่สุดในอำเภอนี้ น่าจะเป็นพระราชวังที่มีชื่อว่า พระมหาคีรีราชปุระ ดังภาพนี้ ลักษณะอาคารคล้ายกับอาคารที่ฝรั่งเศสเรียกว่า Chateau หรือที่อังกฤษเรียกว่า Castle เยอรมันเรียกว่า Schloss พระที่นั่งที่เห็นนี้คือ พระที่นั่งศิวะวิมานมณี
พระที่นั่งศิวะวิมานมณี ในพระมหาคีรีราชปุระ
ในบริเวณพระราชวังพระมหาคีรีราชปุระนี้ มีภาพปั้นคนวิ่งถือกิ่งชัยพฤกษ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “ไชโย” หมายถึงม้าใช้ในสมัยโบราณที่นำข่าวชัยชนะในการศึกสงครามมาให้ ซึ่งเป็นคติทางยุโรป มีชื่อภาษาฝรั่งเศสว่า “Gloire en guerre”
“ไชโย” (Gloire en guerre)
-
บัดนี้ ข้าพเจ้าเชิญให้ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายในยังอำเภอบางไทร
ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว อำเภอนี้เกิดขึ้นใหม่แต่เจริญรวดเร็ว ขยายเขตไปจนจดด้านเหนือของ
ถนนพรหมาสตร์ของอำเภอเขาหลวง ท่านราม ณ กรุงเทพ ย้ายบ้านจากอำเภอปากน้ำมาอยู่ในอำเภอ
นี้ สมุหเทศาภิบาลมณฑลดุสิตก็ย้ายมาเช่นเดียวกัน นอกจากนี้โรงละครคนธรรพนาฏศาลาก็ย้ายมาจากอำเภอดุสิต
ท่านราม ณ กรุงเทพ นั้น เป็นผู้มีฐานะดี ท่านมีบ้านอยู่ในตำบลต่าง ๆ ถึง ๑๕ แห่ง ท่าน
ให้เช่าไปเสีย ๑๒ แห่ง คือ บ้านเย็นใจ บ้านสบายใจ บ้านยาใจ บ้านชื่นใจ บ้านสมใจ บ้านถูกใจ
บ้านยวนใจ บ้านยั่วใจ บ้านเย้าใจ บ้านปลื้มใจ บ้านเปรมใจ และบ้านปลอดใจ ตัวท่านเองอยู่ที่บ้านผูกใจในอำเภอบางไทรนี้ ท่านเก็บบ้านไว้สำหรับเปลี่ยนบรรยากาศสองแห่ง คือ บ้านหย่อนใจบนเขาหลวง และบ้านโปร่งใจซึ่งเป็นบ้านแบบไทยที่บึงพระราม
วัดพระบรมธาตุ ที่อำเภอบางไทร
ขอเชิญให้ท่านชมวัดสำคัญในอำเภอนี้ก่อน ชื่อว่าวัดพระบรมธาตุ ท่านจะเห็นพระอุโบสถและเจดีย์อยู่ทางขวา และสังฆวาสอยู่ทางซ้าย วัดนี้มีท่านราม ณ กรุงเทพเป็นมรรคนายก อาคาร ๓ ชั้น ทางซ้ายมือคือส่วนหนึ่งของโรงละครคนธรรพนาฏศาลา (หรือดุสิตนาฏศาลา) อาคารที่มีลักษณะเป็นบ้านทางขวามือนั้น เข้าใจว่าเป็น “บ้านเย็นใจ” ที่ท่านราม ณ กรุงเทพ ให้เช่าไป อาคารที่เป็นฉากหลังนั้น คือ โฮเต็ลเมโตรโปล (ใหญ่)
ภาพเจดีย์ช้างล้อมในวัดพระบรมธาตุ ขอให้ท่านสังเกตดูฝีมือสถาปัตยกรรม ดูเหมือนจะประณีตยิ่งกว่าที่สุโขทัย หรือ ศรีสัชชนาลัยเสียอีก
พระเจดีย์ช้างล้อม ในวัดพระบรมธาตุ
สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในอำเภอนี้ คือพระราชวังอังกฤษ แต่ได้ทรงพระกรุณาโปรด-เกล้าฯ ให้ย้ายไปปลูกสร้างใหม่ ณ บึงพระรามดังที่ได้กล่าวแล้ว ย้ายไปเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๖๒ เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อได้ย้ายพระราชวังไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระ กรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่พระราชวังเดิมให้ท่านราม ณ กรุงเทพ
ท่านรามจึงได้ย้าย “บ้านผูกใจ” ของท่าน ข้ามฟากถนนไปอยู่ ณ ที่นั่นยกที่บ้านเดิมของท่านถวายวัดพระบรมธาตุ
ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้น่าดูมาก เป็นภาพ “บ้านผูกใจ” เดิม ของท่านราม ณ กรุงเทพ ถนนทางซ้ายมือ คือถนนบัลลังก์นาถจักรี ทางขวามือคือถนนมหาศารทูลธวัช บ้านผูกใจอยู่ระหว่างสองถนนนี้แต่ต้นไม้บังอาคารใหญ่เสียบ้าง ท่านรามยกที่ดินตรงมุมบ้านนี้ให้สร้างอนุสาวรีย์นางพระธรณีบิดมวยผม แบบเดียวกับที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลาในกรุงเทพฯ (สร้างทีหลังที่กรุงเทพฯ ราว ๑ ปีเท่านั้น) ข้างลำน้ำสุดทางขวามือ คือ ส่วนหนึ่งของพระราชวังอังกฤษก่อนที่จะย้ายไป ส่วนหลังที่แลเห็นในภาพนี้ คือเขาหลวง เห็นคลองส่งน้ำของการประปาจากเขาหลวงยกสูงข้ามลำน้ำไทร และมีถนนครุฑพ่าห์ยกสูงเป็นสะพานลอยข้ามคลองประปาอีกชั้นหนึ่ง งานวิศวกรรมโยธาของดุสิตธานีเจริญพอควรทีเดียว
บ้านผูกใจ และ “นางพระธรณี”
-
วัชรพยาบาล ที่อำเภอบางไทร
สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในอำเภอนี้ คือวัชรพยาบาล ใช้ศัพท์ “วัชระ” เช่นเดียวกับ พระวัชรินทร์ราชนิเวศน์ และพระวัชรเจดีย์ แต่ทวยนาครไม่ระมัดระวังในการพูด จึงมักจะกลายเป็น “วชิรพยาบาล” ไป โรงพยาบาลแห่งนี้ใหญ่มาก มีพระยาบำเรอภักดิ์ เป็นผู้อำนวยการ หมอ อาร์ ปัวร์ เป็นนายแพทย์ใหญ่ มีตึกบัญชาการตรวจโรคและจำหน่ายยาหลังหนึ่ง โรงเลี้ยงเด็กหลังหนึ่ง ตึกแพทย์ผดุงครรภ์หลังหนึ่ง ตึกที่อยู่คนป่วยหลังหนึ่ง ตึกที่ออกกำลังกายหลังหนึ่ง ตึกเอ็กซเรย์หลังหนึ่ง ตึกผ่าตัดหลังหนึ่ง ตึกตรวจโรคหลังหนึ่ง ตึกโรงอาบน้ำร้อนหลังหนึ่ง ตึกที่ไว้ศพหลังหนึ่ง ตึกนายแพทย์ใหญ่หลังหนึ่ง
ท่านทั้งหลายโปรดสังเกตด้วยว่า หลังโรงพยาบาลแห่งนี้มีอาคารหนาแน่นที่อาจเรียกได้ว่า
ศูนย์การค้า ในแถบนี้เองมีที่ตั้งสำนักงานกรุงเทพและพึ่งบุญ บริษัทอรุณวงศ์วัฒกี (สาขา) ฉายาดุสิต และฉายาบรรทมสินธุ์ ฉายาบรรทมสินธุ์นี้เองเป็นผู้ถ่ายภาพเหล่านี้ไว้ ทำให้ท่านผู้มีเกียรติได้ชมในครั้งนี้
เสาสีขาวสี่เสาทางมุมซ้ายบน คือเสาของสะพานพระรามทรงศรี
ภาพนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่ง เพราะแสดงที่ตั้งของนาครศาลา(ใหญ่) อย่างชัดเจน ท่านจะแลเห็นประตูทางเข้าสองประตู ประตูทางซ้ายเป็นทางเข้าไปยังนาครศาลา(ใหญ่) ประตูทางขวาเป็นทางเข้าไปยังสวนของโฮเต็ลเมโตรโปล (ใหญ่)
อาคารในวัชรพยาบาล
ภาพนี้คืออาคารหลังหนึ่งของวัชรพยาบาล ถ่ายจากทิศอุดรไปยังทิศทักษิณ เห็นพระที่นั่งอัมพรสถานอยู่ไกลๆ
โฮเต็ลเมโตรโปล ที่อำเภอบางไทร
ภาพนี้แสดงให้เห็นกลุ่มอาคารของโฮเต็ลเมโตรโปล (เล็ก) ซึ่งประกอบด้วยอาคารใหญ่น้อย ๑๒ หลัง อยู่ที่ถนนเอนทราสตร์ ตรงทางแยกถนนกระบี่ธุช ในอำเภอนี้มีถนนชื่อคล้องกัน คือ
ถนนอโยธยารังสรรค์
ถนนอนันตนาคราช
ถนนบัลลังก์นาถจักรี
ถนนกระบี่ธุช
ถนนครุฑพ่าห์
ถนนมหาศารทูลธวัช
ถนนสวัสดิ์ไตรรงค์
เลยไปตามถนนเอนทราสตร์นี้ ถ้าท่านสังเกตให้ดีจะแลเห็นโรงละครคนธรรพนาฏศาลา อาคารใหญ่ที่เป็นฉากหลังอยู่ที่มุมซ้าย คือ โรงบิลเลียดของโฮเต็ลเมโตรโปล (ใหญ่) ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากโฮเต็ลเมโตรโปล (เล็ก)
ข้าพเจ้าขออนุญาตกล่าวถึงรายละเอียดของโฮเต็ลเมโตรโปล (ใหญ่) สักเล็กน้อย โฮเต็ลแห่งนี้มีกุ๊กฝีมือดี จึงมีการเลี้ยงกันระหว่างทวยนาครบ่อยๆ ข้าพเจ้าได้พบใบรับเงินค่าอาหารเข้าฉบับหนึ่ง ออกให้นายจ่ายวด ในการเลี้ยงฉลองสัญญาบัตร เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ มีผู้มากินเลี้ยง ๖๕ คน อาหารเย็นอิ่มละ ๓ บาท แชมเปญขวดละ ๘ บาท บุหรี่ฝรั่งมวนละ ๑๐ สตางค์ ให้ผู้รับใช้ ๑๖ คน คนละ ๑ บาท รวมค่าใช้จ่ายเลี้ยง ๖๕ คน เป็นเงิน ๕๓๓ บาท ๖๐ สตางค์ จมื่นเด็กชาเป็นผู้รับเงิน ข้าพเจ้าส่งใบรับเงินฉบับนั้นไปดุสิตธานีที่ศาลาแดง กรุงเทพฯ ท่านผู้จัดการฝ่าย บริการจัดอาหาร กรุณาตีราคาให้ว่า ถ้าจำนวนคนเท่านี้ มารับประทานอาหารอย่างนี้ จะเสียเงินเท่าไร ปรากฏว่าจะเสียเงิน ๒๐,๕๔๐ บาท ๘๕ สตางค์ แพงกว่าเดิมเกือบ ๓๘ เท่า ภายในเวลา ๕๑ ปี (พ.ศ. ๒๕๑๓) -
นี่คือภาพคนธรรพนาฏศาลา หรือ ดุสิตนาฏศาลา (มีสองชื่อ) ที่ชื่อคนธรรพนาฏศาลาก็เพราะว่าเดิมอยู่ในสวนคนธรรพอุทยาน เมื่อขยายเขตอำเภอบางไทรจึงย้ายมาที่นี่
คนธรรพนาฏศาลา ที่อำเภอบางไทร
ภาพนี้คือลำน้ำไทร ซึ่งมีถนนอนันตนาคราชเลียบอยู่ทางขวา และถนนบัลลังก์นาถจักรีเลียบอยู่ทางซ้าย ลำน้ำไทรนี้ไหลไปรวมกับลำน้ำดุสิตแล้วลอดสะพานพระรามทรงศรีอันสวยงาม ที่แลเห็นเสาสีขาวอยู่ในภาพ
ลำน้ำไทร
ภาพนี้เป็นภาพสุดท้าย ข้าพเจ้าได้พาท่านทั้งหลายมาถึงนาครศาลา ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนอโยธยารังสรรค์ ข้าพเจ้ายกให้สถานที่แห่งนี้เป็นหัวใจของดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุใดข้าพเจ้าจึงกล่าวว่าเป็นหัวใจของดุสิตธานี ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายคงจะได้ฟังจากการอภิปรายต่อไป
นาครศาลา ของดุสิตธานี
-
พาชมดุสิตธานี
คำบรรยายของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาติ
ในงานพระบรมราชานุสรณ์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๓
**********************
ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
วันนี้ ข้าพเจ้ามีความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ประการแรกยินดีที่ได้มาอยู่ ณ ที่นี้ร่วมกับท่านทั้งหลาย เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในอดีต ประการที่สองคือได้รับเกียรติให้มาบรรยาย ณ สถานบันแห่งชาติ ในเรื่องที่ไม่เคยมีการบรรยาย พาท่านไปชมเมืองที่ได้สูญหายไปแล้วโดยไม่มีร่องรอย ยิ่งกว่าเมืองปอมเปย์ในสมัยโรมัน หรือกรุณศรีอยุธยา เมื่อ ๒๐๐ ปี มาแล้ว
ก่อนดำเนินการในหน้าที่มรรคุเทศก์ ข้าพเจ้าขอชี้แจงแก่ท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่เป็นเยาวชนว่า ดุสิตธานีคืออะไร อยู่ที่ไหน ซึ่งเห็นจะต้องเริ่มกล่าวว่า
“ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างอุทยานสถานให้เป็นที่สำราญพระราชหฤทัย ได้เสด็จประพาสเนืองๆ และทรงพระราชดำริเห็นว่า ที่ซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมข้างทิศใต้ คลองสามเสนข้างทิศเหนือ เป็นที่สวนและทุ่งนา มีชัยภูมิดีสมควรเป็นที่เสด็จประพาส จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่ตำบลนี้ตามราคาอันสมควรจะราษฎรเจ้าของที่ ด้วยเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ใช้จ่ายการในพระองค์
เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ร. ศ. ๑๑๗ ได้เสด็จทอดพระเนตรภูมิสถานที่นั้นและได้โปรดเกล้าฯ ให้ลงมือเริ่มตัดต้นไม้เป็นปฐมฤกษ์ แล้วได้ทำการสืบมามีตัดถนน ขุดคลอง ทำสะพาน และสร้างพระราชอุทยาน ปลูกรุกขชาติต่าง ๆ พระราชทานนามว่า “ สวนดุสิต”
นี่แหละคือต้นเรื่องของสวนดุสิต หรือคำว่า “ ดุสิต” ข้าพเจ้าขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า ร. ศ. ๑๑๗ นั้น คือ พ. ศ. ๒๔๔๑ คือ ๗๒ ปีมาแล้ว และสิ่งที่ควรทราบอีกข้อหนึ่งก็คือ วัดเบญจมบพิตร ซึ่งมีพระอุโบสถสวนงามมากนั้น ก็มีกำเนิดมาในระยะเดียวกันนั่นเอง ที่แถวนั้นเคยเป็นสวนและทุ่งนาอย่าง ไม่มีปัญหา มีพยานหลักฐานที่มองเห็นด้วยตาในขณะนี้อยู่บ้างคือ ถ้าท่านขึ้นรถยนต์จากลานพระบรมรูปทรงม้าไปทางถนนศรีอยุธยา พอเห็นพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรทางขวามือ เหลียวกลับมาทางซ้ายจะเห็นต้นตาลอยู่ต้นหนึ่ง ต้นตาลต้นนี้แหละคือสิ่งที่เหลืออยู่จากสมัยที่บริเวณที่แห่งนี้ยังเป็นทุ่งนา
ย้อนกลับไปกล่าวถึงสวนดุสิต หรือพระราชวังดุสิต ซึ่งเริ่มสร้างใน พ. ศ. ๒๔๔๑ หลังจากนั้น ๔ ปี จึงได้สร้างพระที่นั่งอัมพรสถาน และต่อจากนั้นอีก ๖ ปี คือ ใน พ. ศ. ๒๔๕๑ จึงได้เริ่มสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นรัฐสภาในปัจจุบันนี้
ท่านทั้งหลายคงจะทราบอยู่แล้วว่า พระที่นั่งอัมพรสถานนั้นอยู่หลังพระที่นั่งอนันตสมาคมทางทิศตะวันตก และมีพระที่นั่งองค์เล็กองค์หนึ่งเป็นตึกสองชั้น มีนามว่าพระที่นั่งอุดร อยู่ทางทิศเหนือของพระที่นั่งอัมพรสถาน มีระเบียงสองชั้นเป็นทางเดินติดต่อกันระหว่างพระที่นั่งสององค์นั้น ที่รอบ ๆ พระที่นั่งอุดรนี้เอง คือ “ ดุสิตธานี” ที่ข้าพเจ้าจะพาท่านไปชม
แผนผังที่ท่านเห็นอยู่นี้ คือ บริเวณสวนดุสิตที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงท่านจะเห็นลานพระบรมรูปทรงม้า สวนอัมพร สนามเสือป่า เขาดินวนา พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งอัมพรสถาน และพระที่นั่งอุดร บริเวณที่ลูกศรขึ้นนั้น คือ “ ดุสิตธานี” ทางที่จะไปยังดุสิตธานีก็คือ อ้อมเป็นครึ่งวงกลมตามกำแพงพระราชวังรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วเข้าประตูพระราชวังตรงเข้าไปไม่เลี้ยวเลย ก็จะถึงดุสิตธานี
เพื่อความสมบูรณ์ กันมิให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่า “ ดุสิตธานี” เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีอยู่ ๒ แห่ง มีประวัติโดยย่อดังนี้
แห่งที่ ๑ ดุสิตธานีรอบ ๆ พระที่นั่งอุดร ในพระราชวังดุสิต ดังที่ข้าพเจ้าได้ชี้ให้ดูในแผนผังนั้นแล้ว เริ่มสร้างเมื่อ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๖๑ และตั้งอยู่ ณ ที่นั้นจนเดือนธันวาคม ๒๔๖๒
แห่งที่ ๒ เนื่องด้วย “ ดุสิตธานี” แห่งแรกคับแคบ มีทวยนาครเพิ่มขึ้นประจวบกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้แปรพระราชฐานไปประทับที่วังพญาไทตั้งแต่เดือน ธันวาคม ๒๔๖๒ และอยู่ต่อมาจนสิ้นรัชกาล สถานที่ “ ดุสิตธานี” แห่งที่สองนี้ ใน ปัจจุบันเป็นสวนด้านหลังของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ
ส่วนโรงแรมดุสิตธานีที่ศาลาแดงนั้น แม้จะสูงตระหง่าน ก็เป็นเด็กที่เกิดใหม่สร้างขึ้นเสมือนว่าฉลองอายุครบ ๕๐ ปี ของดุสิตธานีแห่งแรก แต่ก็ไม่มีผู้ใดนอกจากข้าพเจ้าที่กล่าวว่าเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบว่ามีผู้ใดแต่งคำประพันธ์ชมดุสิตธานีที่ศาลาแดงหรือไม่ แต่ “ ดุสิตธานี” เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีผู้เขียนชมความงามไว้มากด้วยกัน เช่น บุคคลผู้เป็นนาครผู้หนึ่ง ใช้นามปากกาว่า “ ขันตี” ได้ประพันธ์โคลงสี่ไว้ดังนี้
“ เรื่อเรื่อสุริยะโพล้ เพล้แสง
จวนจะสิ้นแสงแดง จับน้ำ
จวบจันทร์แจ่มโลกแปลง มาเปลี่ยน
แสงต่อแสงทอกล้ำ ทั่วท้องชโลทร
จันทราคลาเคลื่อนขึ้น เวหา
แสงส่องทั่วพารา แหล่งน้อย
นามจังหวัดดุสิตธา นีรุ่ง เรืองเฮย
งามสุดจะกล่าวถ้อย ถูกถ้วนขบวนงาม”
ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ข้าพเจ้าเห็นจะต้องเริ่มทำหน้าที่มรรคุเทศก์เสียที เพื่อพาท่านไปชมดุสิตธานีแห่งแรกรอบพระที่นั่งอุดร และจะกล่าวถึงดุสิตธานีแห่งนี้แห่งเดียวเท่านั้น “ ดุสิตธานี” เป็นจังหวัดที่ตั้งศาลารัฐบาลมณฑลดุสิต ตามระบบการปกครองที่เรียกว่า “ เทศาภิบาล” แต่เกิดระบบการปกครอง “ นคราภิบาล” ขึ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทดลองปกครองระบอบประชาธิปไตย เห็นความจริงข้อนี้ได้จากกระแสพระราชดำรัส เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลารัฐบาลมณฑลดุสิต เมื่อ ๙ กรกฎาคม ๒๔๖๒ ว่า
“ วิธีการที่ดำเนินเป็นไปนี้ เป็นการทดลองว่าจะเป็นประโยชน์ได้เพียงใด เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับธานีให้แน่ชัดเสียก่อน … วิธีดำเนินการในธานีเล็ก ๆ ของเราเป็นไปเช่นไร ก็ตั้งใจไว้ว่าจะให้ประเทศสยาม กระทำเช่นเดียวกัน”
ดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยนี้ มีทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ปราสาทพระราชวัง วัดวา อาราม สถานที่ราชการ โรงทหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาดร้านค้า ธนาคาร โรงละคร โรงภาพยนต์ สโมสร บริษัท สำนักงาน แต่อาคารสถานที่เหล่านั้นย่อส่วนลงให้เล็กเหลือประมาณหนึ่งในยี่สิบของของจริง ที่ขาดไปก็คือมหาวิทยาลัย ปั๊มน้ำมัน และสถานโบว์ลิ่ง
ส่วนเวลานั้นย่อให้เหลือหนึ่งในสิบสอง หนึ่งปีดุสิตเท่ากับหนึ่งเดือนธรรมดา ภาษีอากรซึ่งควรจะเสียกันปีละครั้ง ก็ต้องเสียกันทุกเดือน รายได้ต่าง ๆ นั้น ก็นำมาใช้จ่ายสำหรับธานีบ้าง ส่งสมทบทุนซื้อเรือรบ “ พระร่วง” บ้าง เมื่อซื้อเรือ “ พระร่วง” สำเร็จแล้วก็ส่งสมทบทุนซื้อปืนให้เสือป่า
จังหวัดดุสิตธานีตั้งอยู่ในพระราชวังดุสิต คล้ายกับกรุงวาติกันตั้งอยู่ในกรุงโรมในประเทศ อิตาลี
ท่านผู้มีเกียรติคงจะเห็นจากแผนผัง ว่า ดุสิตธานีตั้งล้อมรอบพระที่นั่งอุดรอยู่ มีอำเภอและกิ่งอำเภอคือ ดุสิต- ปากน้ำ- ดอนพระราม- บึงพระราม- เขาหลวงและบางไทร
ด้านเหนือของดุสิตธานีจดอ่างหยก ( ๑) มีสะพานข้ามไปยังพระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งรื้อย้ายมาจากเกาะสีชัง ริมอ่างหยกทางด้านใต้คือด้านที่ดุสิตธานีตั้งอยู่ มีอาคารใหญ่ตั้งอยู่ จากซ้ายไปขวาหรือตะวันตก ไปตะวันออก คือ พระตำหนักอุดมวนาภรณ์ ( ๒) นาครศาลา ( ๓) โฮเต็ลเมโตรโปล ( ๔) และโรงบิลเลียด ( ๕) ทางทิศตะวันตกมีคลอง ชื่อคลองเม่งเส็ง ระบายน้ำจากอ่างหยกผ่านหลังพระที่นั่งอัมพรสถาน หลังสวนอัมพร หลังวังปารุสกวัน และหลังกระทรวงศึกษาธิการ ไปออกคลองผดุงกรุงเกษม ที่หน้าวัดมกุฎกษัตริยาราม ริมคลองนี้ตรงที่ดุสิตธานีตั้งอยู่มีอาคารเป็นตึกยาว ใช้เป็นที่ทำการสมุหเทศาภิบาล และสโมสรของพรรคแพรแถบสีน้ำเงิน ( ๖)
ในดุสิตธานีมีสวนสาธารณะหลายแห่ง เช่น สวนลุมพินี ( ๗) สวนพระรามประทาน ( ๘) สวนคนธรรพอุทยาน ( ๙) สวนวิจิตรมาลี ( ๑๐) สวนนันทอุทยาน ( ๑๑) และสวนสราญรมย์ ( ๑๒)
มีทางเข้าไปยังดุสิตธานี ๓ ทาง ทางแรกนั้นข้าพเจ้าได้แจ้งให้ทราบแล้ว คือ อ้อมกำแพงพระราชวังรอบพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นครึ่งวงกลม แล้วตรงเลยเข้าไปจนถึงอำเภอบางไทรของดุสิตธานี ตรงข้าง “ วังนวรัตน” ของ หม่อมเจ้าปรานีนวบุตร นวรัตน สมุหเทศาภิบาล ทางทิศตรงกันข้ามมีประตูเข้าออกได้ ตรงบ้านนายจ่ายง ในอำเภอดุสิต ส่วนอีกทางหนึ่งเป็นทางที่ใช้มากที่สุด คือทางด้านใต้ตรงอัฒจันทร์ พระที่นั่งอุดร ถ้าขึ้นบนพระที่นั่งอุดรมาก่อนแล้วลงจากพระที่นั่งทางอัฒจันทร์ด้านเหนือ จะมาถึงพระราชวังพระวัชรินทร์ราชนิเวศน์ ที่ใจกลางดุสิตธานีเลยทีเดียว ถ้าเดินเลาะตามบาทวิถีรอบพระที่นั่งทางด้านตะวันตกจะเข้าถึงอำเภอบึงพระรามทางด้านสวนลุมพินี ถ้าเลาะทางด้านตะวันออกจะถึงอำเภอเขาหลวงทางด้านสวนสราญรมย์ ผู้ที่เข้ามายังดุสิตธานีโดยมากย่อมมุ่งที่จะไปยังนาครศาลาและโฮเตลเมโตรโปล พอเดินเลาะตามบาทวิถีรอบพระที่นั่งอุดรแล้ว ก็มักจะลงจากบาทวิถี เดินลัดผ่านบ้านเจ้าหมื่นไวยวรนาถไปยังถนน วารุณาสตร์ จนเกิดเรื่อง “ คุณพระนาย” ผู้เป็นเจ้าของบ้านบ่อยๆ เพราะบริเวณบ้านถูกเหยียบย่ำจนเกิดความเสียหาย
ดุสิตธานีนี้มีประวัติว่า พระบาทสเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงที่บริเวณทิศเหนือของพระที่นั่งอุดร เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๖๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจับจองที่ดินกัน ขณะนั้นประเทศสยามได้เข้าสู่มหายุทธสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้ครบหนึ่งปีพอดี พอถึงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๔๖๑ ก็ได้ยินคำว่า “ ดุสิตธานี” กันแล้ว จึงพอจะสันนิษฐานได้ว่า ได้พระราชทานนาม “ ดุสิตธานี” ให้แก่เมืองใหม่ภายในระยะเวลาวันสองวันนั้นเอง ในชั้นต้นมีเพียง ๓ อำเภอ คือ อำเภอดุสิต ซึ่งเป็นที่ตั้งจังหวัดและมีพระราชวัง คือ พระรวัชรินทร์ราชนิเวศน์ อีดสองอำเภอคือ อำเภอปากน้ำ และอำเภอดอนพระราม ทวยนาครนั้นเป็นชายล้วนทีแรกย่อมมีจำนวนน้อย แต่ภายใน ๑ ปี ก็เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ ๒๕๐ คน ส่วนจำนวนหลังคาเรือนนั้นกว่า ๑ , ๐๐๐ เพราะสถานที่บางแห่ง เช่นพระราชวังและวัด มีอาคารแห่งละหลายหลัง มีการเลือกตั้งนคราภิบาลครั้งแรกในเดือนตุลาคม ๒๔๖๑ นั้น และข้าพเจ้าดูเหมือนจะเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดที่มีสิทธิเลือกตั้ง คือ มีอายุเพียง ๑๕ ปี กับ ๓ วันเท่านั้น ภายในระยะเวลาเดือนครึ่งหลังจากนั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นดังนี้
๑. เกิดมีหนังสือพิมพ์ขึ้นในดุสิตธานีถึงสามฉบับ คือ “ ดุสิตสมัย” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับที่ ๒ และ “ ดุสิตสมิต” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ “ ดุสิตสักขี” นั้นมีชื่อที่ใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษปนว่า ดุสิตเรคอร์เด้อร์ด้วย
๒ . เยอรมันยอมแพ้ในมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ ดุสิตธานีตกแต่งธงทิว และโคมไฟเพื่อ ฉลองเป็นการใหญ่ งดงามมาก อีก ๒๐ วันต่อมาจึงมีการฉลองที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ
๓ . ขยายดุสิตธานีออกไปทางทิศอาคเนย์ ตั้งแต่วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ตั้งเป็นอำเภอเรียก ว่า อำเภอเขาหลวง
๔ . ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ “ ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล ดุสิตธานี พ. ศ. ๒๔๖๑ “ เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๖๑ แล้ว ได้มีการเลือกตั้งนคราภิ บาลตามธรรมนูญนั้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๖๑
การที่สัมพันธมิตรมีชัยในมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้น ส่งผลมาถึงดุสิตธานีเป็นอันมาก ทำให้เกิดถนนชัยชนะสงคราม ถนนสยามชนะศึก ถนนพิลึกฤทธิ์ไทย ถนน ๒๒ กรกฎาคม และ ถนน ๑๑ พฤศจิกายน ขึ้นในอำเภอดุสิต
ในปีต่อมาหนังสือพิมพ์ดุสิตสมัยลงข่าวดังนี้
“ เราได้อ่านหนังสือพิมพ์ยักษ์ฉบับหนึ่ง ลงวันที่ ๑๘ เดือนนี้ มีความเห็น บรรณาธิการแนะนำรัฐบาลให้ตัดถนนเพื่อเป็นอนุสาวรีย์ในการสงคราม ถ้าถนน ที่กล่าวนั้นได้มีขึ้นจริงแล้ว ตัวท่านบรรณาธิการผู้ออกความเห็นคงกระโดดโหยงยิ้มจนแก้มกระตุก คุยกับเพื่อนได้หลายร้อยครั้งว่า รัฐบาลได้ทำตามความเห็นของตนแต่ความจริงนาครดุสิตได้ชมถนน ๒๒ กรกฎาคม , ถนน ๑๑ พฤศจิกายน, ถนนชัยชนะสงคราม , ถนนสยามชนะศึกมากกว่า ๖ เดือนแล้ว”
ตามที่ใช้ศัพท์ “ นาครดุสิต” นั้น ท่านทั้งหลายคงจะทราบว่า หมายความว่าชาวดุสิตธานีนั่นเอง ถ้าจะกล่าวว่าราษฎรทั้งหลาย หรือประชาชน ก็ใช้ศัพท์ว่า “ ทวยนาคร” นาครทุกคนจะต้องมีอาชีพ นายราม ณ กรุงเทพ ก็เป็นนาครผู้หนึ่งมีอาชีพเป็นทนายความ เราเรียกว่า “ ท่านราม”
ตำบลและอำเภอต่าง ๆ ในดุสิตธานีนั้น มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลสมัย ได้ลดฐานะอำเภอปากน้ำและอำเภอดอนพระรามเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้นอำเภอดุสิต หลังจากนั้นได้ขยายเขตอำเภอเขาหลวงขึ้นไปทางทิศอีสาน ต่อมาได้แยกที่ตรงนั้นเป็นตำบลหนึ่งต่างหาก เรียกว่า ตำบลบางไทร ซึ่ง เจริญก้าวหน้ารวดเร็วมาก ทางทิศหรดีก็มีการพัฒนา ตั้งตำบลใหม่มีชื่อว่า ตำบลบึงพระราม แล้วยกฐานะ ดอนพระรามกลับเป็นอำเภอตามเดิมมีข่าวในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับสถานที่ในตำบลใหม่นี้ที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง ดังนี้
“ สวนลุมพินี ได้สร้างขึ้นที่กิ่งอำเภอดอนพระราม ข้างบึงพระราม เราเชื่อว่าสวนนี้ ถ้าแล้ว คงจะเป็นสถานที่ที่งดงามแห่งหนึ่งในกิ่งอำเภอนั้น”
สวนลุมพินีที่กล่าวนี้ มีกำเนิดเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๖๒ ก่อนสวนลุมพินีของนาครกรุงเทพฯ ที่ศาลาแดง แต่การตกแต่งให้เป็นสวนที่งดงามนั้น ดูเหมือนจะไม่เคยสำเร็จ เพราะมีผู้ขอเช่าเอาไปทำเป็นโรงเรียนศรีวรรธนาลัย และทางการได้สั่งอนุญาตเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ศกเดียวกันนั้นเอง สวนลุมพินีแห่งแรกในกรุงสยาม จึงมีอายุเพียง ๔๐ วันเท่านั้น
เขาหลวงทางทิศอาคเนย์เป็นแหล่งน้ำสำคัญ มีลำธารไหลไปทางบางไทร กลายเป็นลำน้ำไทรสายหนึ่ง ลำธารที่ไหลไปทางตะวันตกชื่อธารพิกุล ไปรวมกับธารสายหยุดกลายเป็นลำน้ำดุสิต ซึ่งเป็นลำน้ำสำคัญที่สุดของดุสิตธานี ไหลไปทางทิศเหนือแล้ววกไปทางทิศตะวันตก ธารสายหยุดนั้นไหลมาจากเขาเตี้ย ๆ ทางทิศทักษิณ ทางด้านหรดีมีน้ำพุขึ้นในเขตบ้านโปร่งใจของท่านราม ที่บึงพระราม แล้วไหลไปทางเหนือ เข้าคลองศรีเมือง แล้วไปออกลำน้ำดุสิต ในอำเภอดุสิตนั้นมีลำน้ำและคลองเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไหลไปออกทะเลทางอำเภอปากน้ำด้วยกันทั้งสิ้น แยกเป็นสองสาย คือ ลำน้ำดุสิตทางหนึ่ง และคลองขวัญเมืองอีกทางหนึ่งยังมีคลองสำคัญอีกคลองหนึ่ง คือคลองมิ่งเมือง เป็นคลองลัดขณะที่ลำน้ำดุสิตวกเวียนไปทางใต้และเป็นคลองที่แบ่งอาณาเขตระหว่างดุสิตและปากน้ำ
............................................
เมืองจำลองดุสิตธานี ก็จบเรื่องราวเพียงเท่านี้......
-
พระราชวังพญาไท
ปีมะโรง ปีพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปปูนปั้น อยู่ด้านหลังพระที่นั่งพิมานจักรี
-
วันนี้กะว่าจะโพสต์ภาพเก็บตกชุดสุดท้าย
เพราะว่ากระทู้นี้ยืดเยื้อมานาน เกรงว่าหลายคนคงจะเบื่อแล้ว
ต้องขออภัย หากกระทู้นี้ไปเกะกะขวางหู ขวางตา หรือขัดความรู้สึกใคร
เพราะตั้งใจจะนำเสนอแต่สาระความรู้และภาพที่พูดได้ว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์
ที่หาดูหาชมได้ยากของ ดุสิตธานี นครที่ถูกลืม...
ไม่อยากจะพูด ซื้อกินได้แต่พอหมดก็ทิ้งให้เกลื่อน
ขอบคุณเพื่อนทุกๆ ท่าน และผู้ที่ผ่านมา เข้ามาเยี่ยมชม
ขอจบกระทู้ตามหาความทรงจำที่ขาดหาย ตอน พระราชวังพญาไท เพียงเท่านี้
โอกาสหน้า จะไปตามหาความทรงจำที่ไหนต่อนั้น ถ้าไม่เบื่อกันเสียก่อน
ก็คอยติดตามชมกันนะเจ้าคะ...
สร้อยฟ้ามาลา
............................
หน้า 4 ของ 169